Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com
โลกออนไลน์ ความมีมิตรภาพนั้น ทำให้เกิดการสื่อสารกันได้ทั้งโลก โดยเฉพาะเมื่อจะสื่อสารกันในเรื่องรสนิยมร่วม อย่างเรื่องดนตรีนั้น ช่างไร้กาล ไร้เวลา ไร้วัยมาขวางกั้น เหมือนกับที่ศิลปินแห่งชาติ พยงค์ มุกดา ผู้ล่วงลับ ประพันธ์เนื้อร้องให้นิยามคำว่า “ดนตรี” ให้ดิ อิมพอสสิเบิล ร้องที่ว่า
“ดนตรีซิ…อาถรรพ์สวรรค์บันดาล ครอบครอง ห้วงฟ้าห้วงดินวิญญาณ มนต์แห่งเพลงเปล่งปลั่ง อลังการ กล่อมจิตโจรคิดพาลสยอง”
ผมเป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับไอ้หนูนักกีตาร์ แนวยิปซีแจ๊ส เคยไปทักทายพูดคุยและแจ้งข่าวว่ามีนิตยสารดนตรีฉบับหนึ่งในไทย นำชื่อหนูขึ้นปกนะ และเขียนสดุดีหนูในเนื้อในด้วยทำนองนี้
ไอ้หนูกล่าวขอบคุณ แหม…ผมนึกว่าจะตื่นเต้น ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ไอ้หนูเขาระดับโลก เคยขึ้นปก “กีตาร์ เพลเยอร์” นิตยสารกีตาร์ระดับโลกมาแล้ว ไม่แน่จริง เด็กนักดนตรีแค่อายุ 13 เขาไม่เอาขึ้นปกหรอกครับ
แค่นี้ ก็ยืนยันความเป็นอัจฉริยะของไอ้หนู อังเดรส์ แวราดี้ได้แล้ว
อายุสิบสามขวบตอนนี้ ตอนเป็นเด็กเขาได้รับการประสาทวรยุทธด้านกีตาร์แจ๊สแนวยิปซีมาจากผู้เป็นพ่อ มาตั้งแต่สี่ขวบ พ่อเขาเป็นศิลปินแนวยิปซี มือกีตาร์เช่นกัน อายุสิบสามก็เป็น “ป๋าดัน” ทำให้ไอ้หนูมีอัลบัมแรกแล้ว
ไอ้หนูมีชื่อ มีกระดูกมวยพอจะ/แลได้รับเกียรติ ประฝีมือกับนักกีตาร์แนวแจ๊สรุ่นใหญ่ อย่างมาร์ติน เทย์เลอร์, อังเดรนส์ ออร์เบิร์ก,แฟรงค์ วิกโนลา และทอมมี เอมมานูเอล…และได้รับการกล่าวชื่นชมจากครูที่เขาไปประฝีมือ
ชนเผ่ายิปซี อัตลักษณ์ ของพวกเขาคือ แฟชั่น เพลง ไพ่ยิปซี นางเอกแนวยิปซีแต่งตัวกระโปรงยาวพลิ้ว ผมดำยาวสวย และเครื่องแต่งกายที่เต็มไปด้วยลูกปัด และเครื่องประดับกระจุ๋มกระจิ๋ม เจ้าตำรับการแต่งตัวสไตล์วินเทจยุคนี้แหละ
ทว่าภาพลักษณ์โดยรวมชองชนเผ่าโดยรวมของพวกเขามักไม่ค่อยดีนัก เป็นหัวขโมย นักหยิบฉวย และเป็นนักแซงค์กระเป๋าตัวยง ไปที่ไหนก็มักได้รับการต่อต้านเหยียดหยาม
ประวัติของชนเผ่ายิปซีนั้นเป็นชนชาติที่น่าสงสาร และน่าจะอาภัพมาแต่โบราณแล้ว พวกเขาถูกกดขี่ ถูกตามล้างตามล่า ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประหนึ่งเป็นยิวก็ไม่ปาน
เดิมนั้นมีความเข้าใจกันอย่างผิดๆ ว่า ชาวยิปซีน่าจะเป็นคนที่ถูกเนรเทศมาจากอียิปต์ แต่เมื่อนักประวัติศาสตร์ทางภาษาศาสตร์วิจัยจากการศึกษารากของภาษาที่คนยิปซีใช้ รวมทั้งลักษณะทางพันธุกรรมแล้วปรากฏว่าไม่ใช่
นักประวัติศาสตร์ พบว่าชาวยิปซีมีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณทางเหนือของแคว้นปัญจาบทางภาคเหนือของอินเดีย ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ราวศตวรรษ11-12 นั้นพื้นที่แถบแคว้นปัญจาบถูกชาวอัฟกานิสถานรุกรานจนทำให้ผู้คนแถบนั้นต้องอพยพและแตกออกเป็นสามกลุ่ม โดยสองกลุ่มแรกอพยพไปพื้นที่ใกล้เคียง แต่กลุ่มที่สามนั้นอพยพย้อนศรเข้าสู่อัฟกานิสถาน
ความขัดแย้งระหว่างสองนิกายของศาสนาอิสลามทำให้บรรดาชนเผ่ายิปซี ต้องใช้ความหลักแหลมเอาตัวรอดจนเร่ร่อนผ่านออกไปยังตุรกีเข้าสู่กรีก อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กระจายตัวไปเข้าสู่ยุโรปและถูกกดขี่กีดกันทุกรูปแบบจากชนชาติต่างๆ ในยุโรป
พวกยิปซี ชอบใช้การทำนายอนาคต และสร้างค่าในเวทย์มนต์ให้เป็นที่ดึงดูด คนบางกลุ่มในสังคมอวิชชารากหญ้าของชาวตะวันตก กระทั่งทางคริสตจักรก็เกรงว่าหากมีอิทธิพลมากขึ้นจะอันตรายต่อความเชื่อและศรัทธาในศาสนาคริสต์ต่อไปในอนาคต จึงมีการรังเกียจ/กีดกันกีดมาเรื่อยๆ ในทุกประเทศในยุโรป ให้ยิปซีเป็นคนนอกสังคม
ประมาณศตวรรษที่ 16 มีการไลล่าฆ่าชนเผ่ายิปซีประมาณลัทธิล่าแม่มด ในเมืองสารขัณฑ์ที่ชอบอ้างกันตอนนี้แหละ การล่านี้มีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปลาย ศตวรรษที่19และในปี 1933 เมื่อนาซีขึ้นครองอำนาจก็เริ่มมีการฆ่าล้างชาวยิว คนผิวดำ เพียงแต่ว่าการกำจัดยิปซีเป็นนโยบายต่อเนื่องกันมา ยิปซีถูกเข่นฆ่ามาก่อนหน้านั้นอยู่เนืองๆหากพอยุคนาซีเรืองอำนาจ การถูกไล่ล่าฟันกลับสยดสยองยิ่งกว่ายุคใด
ปัจจุบัน คาดว่ามีชาวยิปซีอยู่ในประเทศต่างๆ ประมาณสิบห้าล้านคน
ไอ้หนูอังเดรส์ แวราดี้ (Andreas Varady) และพ่อบันดิ แวราดี้ (Bandy Varady) บันดิ แวราดี้ อยู่ที่ประเทศสโลวาเกีย หากทว่าครอบครัวนี้มีเชื้อชาติยิปซี และถือสัญชาติฮังการี ก็ต้องซึมซับดนตรีมาตั้งแต่เด็กแหละครับ ไอ้หนูถูกปลูกฝังให้เรียนรู้และซึมซับ กับอัลบั้มของ จังโก้ เรียนฮาร์ดท์ (DJango Rienhardt) ศิลปินยิปซี แจ๊ส รุ่นปู่ที่บั้นปลายชีวิตถูกไฟไหม้จนนิ้วพิการ แต่ไม่เคยเลิกเล่นดนตรี และจอร์จ เบ็นสัน ศิลปิลแจ๊สนามอุโฆษ
พ่อเห็นอัจริยภาพของลูกชายตั้งแต่อายุสี่ขวบ ก็ซื้อกีตาร์สายไนลอน ตัวเล็ก ๆ ให้เป็นของขวัญ ด้วยสวรรค์ประทานพรให้อังเดรส์ แวราดี้ มีหูที่ดี ก็หัดเล่นริธึ่ม ตามซีดีที่พ่อเปิดให้ฝึก เพลงแรกที่แวราดี้ ผู้พ่อสอนเขาให้เล่นคือ เพลง “บลูส์ บอซซา” แล้วก็ค่อยๆ ขยับฝึกฝนฝีมือให้กล้าแกร่ง เพราะพ่อรู้ว่า ลูกชายมีทางดนตรีที่ดี ก็ส่งเสริมให้ฟัง โจ แพส และเวส มอนโกเมอรี่ ไปเพื่อสร้างทักษะ การฟังและการเล่นให้แก่หนูน้อยในเวลานั้น
ถึงปี 2008 ครอบครัวแวราดี้ ก็ร่อนเร่ไปยังไอร์แลนด์ ก็ไปเล่นดนตรี บนฟุตปาธ บนย่านถนนคนเดินแบบยุโรป เมืองที่มากมายต่อการสร้างสรรค์/อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม แบบเห็นคุณค่า
แล้วซื่อเสียงของไอ้หนู ก็เริ่มขจรขจาย เมื่อเขาถูกส่งไปเข้าคอร์ส เรียนกีตาร์แจ๊สในวันหยุด และมีคนนำตัว ตน เอกลักษณ์ และอัจริยภาพของไอ้หนู ไปตีพิมพ์ในแมกกาซีน ส่งผลให้ได้ไปออกรายการวิทยุ/โทรทัศน์แห่งชาติของไอร์แลนด์ แล้วก็วัฒนาการไปถึงวิทยุ BBC อีกต่างหาก นั่นหมายถึงการแจ้งเกิดต่อสาธรณชนโดยแท้
เหนืออื่นใด อังเดรส์ แวราดี้ อันมีสมาชิกในวงคือ พ่อ และเพื่อนๆ อีกสามคนก็ได้ไปร่วมแจม และโชว์ฝีมือในงานดนตรีแจ๊สใหญ่ๆ อย่าง ดิ เอดินเบอร์ก แจ๊ส เฟสติวัล, เดอะ เบรคอน แจ๊ส เฟสติวัล,สลิงโก แจ๊ส เฟสติวัล ฯลฯ เป็นต้น
ต่อมา ไอ้หนูแวราดี้ ก็ได้ร่วมแจมกับนักดนตรีแจ๊สรุ่นพ่ออีกหลากหลาย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ไอ้หนูมหัศจรรย์ มีอัลบัมแรก Questions (สังกัด Lyte Reccord)
จากการดวลและประฝีมือของสุดยอดวรยุทธแห่งแจ๊สภพ กับหลุยส์ สจ๊วต,โซเวโต คินช์ ฝีมืออัลโต้แซ็กโซโฟนกระดับพระกาฬผสานแร็ปเปอร์, เทอเรล สแตฟฟอร์ด มือตรัมเป็ตชื่อก้องโลก ไมเคิล จานิสช์ สุดยอดดับเบิ้ลเบสแห่งยุค และสุดท้าย เดวิด ลิตเติล สุดยอดมือกลองที่ได้รับการยอมรับว่า แมจิก ดรัม แห่งวงการแจ๊ส
อัลบัม Questions งานเปิดตัวของไอ้หนู อังเดรส์ แวราดี้นั้น ได้ลมได้ปีกจากเดวิด ลิตเติล,ไมเคิล จานิสช์ และบันดิ แวราดี้ จึงประสบความสำเร็จโดยง่าย นั่นคือ เสน่ห์ของเจ้าหนู ที่ใครได้ใกล้ชิดจะชอบทุกรายไป เป็นงานอัลบัมแนวกึ่งอิมโพรไวส์ ที่วางแผนพรีโพรดักชั่น กันอย่างรัดกุม ไอ้หนูได้รับการชื่นชมว่า เขามีความเข้าใจและเรียนรู้การอัดเสียงได้รวดเร็ว การเล่นไม่มีอะไรผิดพลาด เขาเรียนรู้เมโลดี้ ด้วยหู จำและแตกแขนงลูกเล่นออกไป กับทางเดินคอร์ดพิสดาร สุดคาดเดา เขาเป็นนักดนตรีที่เป็นธรรมชาติมาก และแม้จะแต่งเพลงก็มีฝีมือดีเกินอายุ
อาวุโสต่างชื่นชม และยกโป้ง ให้ไอ้หลานชายกันถ้วนหน้า
แทร็กแรกในอัลบัมนี้ “A day in New York” นั่นคือ กีตาร์ยิปซีแจ๊ส ที่แสดงศักยภาพการประพันธ์ของไอ้หนู มีกลิ่นและอิทธิพลของจอร์จ เบนสัน อยู่บ้าง
ส่วนเพลงอื่นๆ ในอัลบัมนี้ แม้จะเป็นการทำคัฟเวอร์ หากทว่าจำนวนเพลงอีกเก้าแทร็กในนั้น ไอ้หนูอังดส์ แวราดี้ ก็จัดการโมดิฟายด์เสียอยู่หมัด ด้วยคอร์ด เมโลดี้ และซิงเกิ้ล โน้ตพิสดารพันลึก การเล่นที่ใช้ทางนิ้วแปลกๆ แบบทักษะฝีมือเกินกว่าอายุ
เขาได้รับคำชม จากเดวิด ลิตเติล ที่ร่วมงานว่า “ไอ้หนู มีพลังสร้างสรรค์มากมาย มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองสูง ผมว่าการมีความทะเยอทะยานแบบนี้ และไม่ยึดติดอีโก้ หรือเหลิง เริงรมย์ในโลกศิลปะการแห่งดนตรีนั้นเสียก่อน จะทำให้เขาได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาต้องการได้ เมื่อเติบโตขึ้น…”
มาฟังถ้อยคำของนักดนตรีเสาหลักที่เคยร่วมงานกับ ไอ้หนูอังเดรส์ แวราดี้
มาร์ติน เทย์เลอร์ : “ไอ้หนู เล่นด้วยความรู้สึกของผู้ใหญ่ ความคิดของเขาโตเกินตัว เขาเข้าใจว่าแจ๊สนั้นจะต้องอิมโพรไวส์อย่างไร ไม่ใช่ตะบี้ตะบันเล่นLick ดุ่ยๆ ไปอย่างนั้นแต่ถ่ายเดียว ผมเฝ้าดูพัฒนาการของเขามาตลอด ผมว่าเหล่านี้คือจุดเริ่มต้น อันมหัศจรรย์ ไอ้หนู น่าทึ่งมาก ขอชม…”
อังเดรส์ ออร์เบิร์ก : “ไอ้หนูต่างจากเด็กคนอื่นๆ ที่เล่นแจ๊ส เท่าที่เห็นในยูทูป มักจะผ่านการวางแผน ต่อทางเดินคอร์ด และโซโล่ แบบขนบ ไม่แปลกแหวกแนว หากทว่าแวราดี้ ไม่อย่างนั้น เขาชำนาญและมีทักษะต่อแนวทางบลูส์ การอิมโพรไวส์ที่ลื่นไหล เด็กอื่นพอจะมีฝีมือหน่อย ก็หันเห และเดินไปบนหนทางผิด ทั้งเล่นเหล้าเล่นยา แต่ครอบครัวของแวราดี้ ไม่เป็นเช่นนั้น เขาได้รับการสนับสนุนที่ดี ซึ่งจะต้องประคับประคองแนวความดีนี้ไว้ เพื่ออนาคต ที่สดใส…”
และสุดท้าย…
ทอมมี เอมมานูเอล : “ผมนับถือ ไอ้หนูมากครับ จำได้ว่าตอนนั้น ผมไม่เคยรู้จักไอ้หนู และครอบครัวมาก่อนเลย ตอนนั้นผมกำลังอยู่บนเวที ลิมเมอร์ลิค แจ๊ส เฟสติวัลที่ไอร์แลนด์ อังเดรส์ แวราดี้ กำลังเดินทางอยู่บนรถ มาถึง ไม่ทันหายเหนื่อยกระมัง พอขึ้นเวทีให้หนูก็ขัดเขินนิด หน่อย แล้วเราก็แจมเพลงสแตนดาร์ดกันสามเพลง โห…ผมคิดว่ามันไม่ใช่ไอ้หนู ที่สะพายกีตาร์ตัวโต แบบใหญ่กว่าตัวไม่ แต่ไอ้หนูเขาคือยักษ์ใหญ่ที่เอากีตาร์ และคอนโทรลมันอยู่หมัดยังกะสัตว์เลี้ยงเชื่องๆ ตัวหนึ่ง พรสวรรค์พระเจ้าประทานมาแบบนี้ อนาคตยิ่งใหญ่แน่นอนครับ…”
อังเดรส์ แวราดี้ ยังชอบดนตรี แนวฟังค์ และแร็ป แปลกที่ไอ้หนูบอกว่าไม่ชอบ เฮฟวี่ เมทัล แนวสร้างแบบสวรรค์บันดาลให้ฮิปปี้ และยัปปี้ รุ่นผม แบบที่ครูพยงค์มุกดาว่าไว้ เขาบอกเขาไม่เข้าใจมัน (ฮา)
กับกีตาร์ตัวแรกเป็นกีตาร์สายไนลอน ตัวเล็ก ยี่ห้อ” ริชวูด” ตอนนั้นครอบครัวคงลำบาก ผู้เป็นพ่อจึงจำกัดคุณภาพของกีตาร์ สำหรับของขัวญลูก เสียงมันแย่มาก ไม่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นเลย น่าอนาถที่ผมต้องดีดด้วยนิ้วโป้ง เพราะไม่มีปิ๊กอีกต่างหาก
เมื่อถามว่าตอนนี้มีกีตาร์กี่ตัว ไอ้หนูยิ้มจนแก้มยุ้ย
“ก็พอประมาณครับ ของขวัญที่คนอื่นเมตตาให้มาทั้งนั้นแหละครับ แต่ที่ใช้มาก็คือ โตไก (Tokai) และยามาฮ่า SA2200 แต่ก็ชอบตัวแรกมากกว่าเสียงมันอบอุ่นดี ยังกะสำเสียงกีตาร์ของจอร์จ เบนสัน อือม… การไม่เล่นปิ๊ก เล่นด้วยนิ้ว สำเนียงจะอุ่นขึ้น ผมก็จับปิ๊กไว้ แหม…มันยังกะสำเนียงของ เวส มอนต์โกเมอรี ทีเดียว อีกตัวก็ เฟนเดอร์ แสตตโตคาสเตอร์ ก็ไม่ได้ใช้เท่าไร ของขวัญอีกแหละ ตัวนี้ไม่เหมาะกับแนวทางแจ๊ส แต่พอพ่อเผลอ ผมก็เล่นมันแบบเสียงดังแตกกระจาย ก็…สนุกดี…”
อันเครื่องมือ หลักของวงดนตรีแนว Gypsy Jazz คือกีตาร์โปร่ง ซึ่งไม่ใช่กีตาร์โปร่งธรรมดา แต่ต้องเป็นกีตาร์โปร่งชนิด Gypsy Jazz ด้วย ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากความต้องการอนุรักษ์ทั้งภาพลักษณ์และเสียงของดนตรีแนว Django ให้คงอยู่ตลอดไป
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กีตาร์ Gypsy Jazz จึงยังมีการผลิตอยู่ตามความต้องการของตลาดและแวดวงนักดนตรีแนว Gypsy Jazz ต่างจากกีตาร์โปร่งธรรมดา แน่นอน
กูรูกีตาร์ไว้ไว้เยี่ยงนี้…มีคุณลักษณะ คุณสมบัติพิเศษอย่างไร ผมก็ลืมถาม ไอ้หนู อังเดรส์ แวราดี้ ทำไมไม่อนุรักษ์กีตาร์แบบดั้งเดิม สไตล์รุ่นปู่ใช้ไว้ล่ะ
แต่เมื่อผม ถามเขาในเฟชบุ๊ก ว่าจะมีอัลบัมสองออกมาให้ฟังเมื่อใด เขาตอบว่า คงอีกไม่นาน และจะมีการทัวร์ คอนเสิร์ต มาไทยแลนด์แดนปูแดง ที่นักวิชาการ/วิจารณ์สิลปะ ตั้งปุจฉาว่า “เคยดูหนัง ฟังเพลง บ้างหรือเปล่าไม่รู้…”
ไอ้หนู อังเดส์ แวราดี้ ตอบฉะฉาน
“ยังไม่มีแผนครับ”
ผมอนุโมทนาสาธุ…แบบยกมือท่วมหัว