Marsmag.net

จับชีพจร…หนังฮ่องกง 'ขาลงที่ยังคงไร้ขาขึ้น'

นับตั้งแต่ผู้กำกับขาบู๊อย่าง “จอห์น วู” พา “โหด เลว ดี” ออกมาระเบิดบ็อกซ์ออฟฟิศเมื่อปี ค.ศ.1986 จนนำไปสู่การเฟื่องขึ้นมาของหนังจากเกาะฮ่องกง ซึ่งกินเวลายาวนานถึงหนึ่งทศวรรษ หนังอย่าง “เถียนมีมี่” (Comrade Almost Love Story) ของปีเตอร์ ชาน ก็ดูเหมือนจะเป็นฉากท้ายๆ แห่งยุคสมัยอันรุ่งเรืองของภาพยนตร์จากเกาะเล็กๆ แห่งนี้ เมื่อแสงริบหรี่มาเยือน หนังฮ่องกงก็เสื่อมความนิยมไปตามวันเวลาอย่างมิอาจจะฝืนทาน
ในขณะที่บ้านเรากำลังจะจัดเทศกาลหนังฮ่องกง ซึ่งหลักๆ คัดสรรเอาผลงานคุณภาพจากฮ่องกง 10 เรื่อง รวมทั้งผลงานที่เพิ่งคว้า 5 รางวัลใหญ่ (หนังยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชาย-หญิงยอดเยี่ยม) มาจากเทศกาลภาพยนตร์ที่ฮ่องกงเมื่อเร็วๆ นี้ อย่าง A Simple Life มาฉายให้คนไทยได้ดูที่โรงหนังเอสเอฟเวิลด์ซีเนม่า ในช่วงวันที่ 27-30 เมษายนนี้ เราจะพาไปสำรวจเส้นทางความตกต่ำของหนังฮ่องกงว่ามีสาเหตุมาจากใดบ้าง พร้อมระลึกถึงความหลังอันหอมหวานของภาพยนตร์จากเกาะแห่งนี้

1.การคืนเกาะฮ่องกงให้กับประเทศจีน
ก่อนการมาถึงของปี ค.ศ.1997 ข่าวคราวเกี่ยวกับการคืนเกาะฮ่องกงกลับสู่อ้อมกอดของประเทศจีน ปั่นป่วนจิตใจของชาวฮ่องกงให้เกิดความรู้สึกถึงความไม่แน่นอน ประชาชนต่างพากันเร่งทำงานเก็บเงินอย่างหนักเพื่อว่าตัวเองจะได้โยกย้ายไปอยู่แผ่นดินอื่นหรือต่างประเทศ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่นเดียวกับคนทำหนังที่ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตผลงานออกมามากมาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อทุกคนคำนึงถึงแต่ตัวเลขในบัญชี ก็ส่งผลให้งานที่ออกมาสุกเอาเผากิน เรียกว่าคนดูในยุคนั้นได้ดูหนังจำพวกแก๊งสเตอร์ มาเฟีย กันจนเอียน เมื่องานที่ออกมาไร้คุณภาพ กระแสตอบรับก็เริ่มเลือนจางตามไปด้วย
และจะว่ากันจริงๆ เมื่อฮ่องกงเดินทางสู่การปกครองของจีนแล้ว การณ์กลับกลายเป็นว่า มันเป็นผลดีต่อธุรกิจการทำหนังด้วยซ้ำ เนื่องจากเมื่อสองจีนรวมเข้าด้วยกัน ก็ก่อให้เกิดการผสมผสานขึ้น คนทำหนังฮ่องกงหลายๆ คน มีการร่วมทั้งทุนสร้างและดารานักแสดงระหว่างคนฮ่องกงกับดาราจีนเข้าด้วยกัน ดังที่จะเห็นได้จากผลงานล่าสุดที่เพิ่งเข้าฉายในบ้านเราไปเมื่อไม่นานมานี้อย่าง “พยัคฆ์ตะลุยพยัคฆ์” (Flying Swords of Dragon Gate)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากก่อนหน้านั้น คุณภาพของผลงานตกไปเยอะ จนถึงทุกวันนี้ แม้จะเกิดการ “ควบรวม” อย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็มิอาจฉุดดึงคืนวันอันแสนสวยของหนังฮ่องกงให้กลับคืนมาได้ดังเดิม

2.หนังฮอลลีวูด + แผ่นผี
ภายหลังการคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ ประเทศเริ่มเปิด นั่นเท่ากับเป็นการเปิดประตูรับหนังจากต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากฮอลลีวูด ผู้คนในประเทศเริ่มมีตัวเลือกในการดูมากขึ้น กอปรกับคุณภาพของหนังฮ่องกงที่ตกต่ำลง ผลงานที่วนเวียนซ้ำทาง เห็นเรื่องหนึ่งทำได้ดีก็แห่ตามกระแส เช่น หนังสไตล์คนตัดคน เซียนตัดเซียน ของผู้กำกับหวังจิง ก็เป็นหนึ่งตัวอย่าง หรือแม้กระทั่ง Erotic Ghost Story ก็เช่นเดียวกัน ทำออกมาหลายภาคจนซ้ำซากจำเจ
ด้วยเหตุนี้ จึงผลักดันให้คนดูเบือนหน้าหนี และเทปผีซีดีเถื่อน ก็คือทางเลือกหนึ่ง ถ้าหากอยากจะดูหนังฮ่องกง
จะว่าไปก็แทบไม่ต่างอะไรกับบ้านเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้านหนึ่งอาจจะกล่าวโทษว่า เป็นการคุกคามของหนังจากต่างประเทศ แต่อีกด้านหนึ่ง ด้วยคุณภาพของหนัง ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า การจ่ายเงินค่าตั๋วเข้าโรงหนังนั้น ไม่คุ้มค่ากับคุณภาพของหนังที่จะได้รับ โรงหนังจึงเปรียบเสมือนสถานที่ซึ่งมีไว้เพื่อการตีตั๋วเข้าไปดูหนังฟอร์มดีๆ จากฮอลลีวูดเพียงเท่านั้น



3.ไร้ดาวดวงใหม่
ถ้าหากสังเกต นับตั้งแต่ยุครุ่งเรืองจนมาถึงเวลาร่วงโรยของภาพยนตร์ฮ่องกง แทบจะเรียกได้ว่า ดารานักแสดงนั้น ยังคงเป็นหน้าเดิมๆ วนๆ เวียนๆ ไม่ว่าจะเป็น โจวเหวินฟะ หลิวเต๋อหัว โจวซิงฉือ หรือแม้แต่เฉินหลง ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกลิ่นอายเกี่ยวกับการคืนเกาะฮ่องกงรุกคืบเข้ามาใกล้รูจมูกด้วยแล้ว ดารานักแสดงเหล่านี้แทบจะเรียกได้ว่า มีหนังใหม่ออกมาแบบเดือนเว้นเดือนกันเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากเนื้อหาของหนังฉีกแปลกแตกต่างไปจากเดิม แต่ความจริงก็คือ ไม่ว่านักแสดงเหล่านั้นจะแสดงสักกี่เรื่อง เนื้อเรื่องหรือคาแรกเตอร์ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในรูปแบบและเนื้อหาเดิมๆ จนคนดูเดาทางได้ และเมื่อไม่รู้สึกว่ามีอะไรใหม่ ก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องตีตั๋วเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์
แต่พูดแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนัก เพราะในขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะปั้นดาราหน้าใหม่ๆ ออกมาเหมือนกัน อย่างเช่น กู่เทียนเล่อ เพียงแต่มิอาจดังเปรี้ยงปร้างถึงขนาดที่ช่วยฉุดดึงกระแสหนังฮ่องกงที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงให้ก้าวขึ้นมาผงาดอีกครั้งหนึ่งได้
4.โกอินเตอร์
ที่ผ่านมา มีทั้งผู้กำกับและนักแสดงหลายต่อหลายคนที่พยายามเดินทางสู่ฮอลลีวูด ไม่ว่าจะเป็นจอนห์ วู เฉินหลง ฯลฯ ซึ่งแม้จะทำได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะสามารถฝ่าความยากลำบากไปจนสร้างชื่อได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะความจริงที่ปรากฏก็คือว่า หลังจากนั้น ผู้คนเหล่านี้ ต่างก็พากันจรลีกลับมาทำ/แสดงหนังในบ้านเกิดของตัวเองเช่นเดิม ดังนั้น การโกอินเตอร์จึงไม่ใช่คำตอบ



5.Pan-Asia
อย่างที่นำเสนอไปแล้วว่า ความพยายามอย่างหนึ่งซึ่งจะทำให้หนังฮ่องกงกลับคืนมา คือ การควบรวมวีการทำเข้ากับจีน ทั้งเรื่องทุนสร้างและดารานักแสดง อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น มีความพยายามจากผู้กำกับอย่างปีเตอร์ ชาน มาแล้ว ในการเป็นผู้บุกเบิกที่จะทำให้หนังจีนฮ่องกง กลายเป็นหนังฮิต
คำๆ หนึ่งซึ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการหนังตอนนั้นก็คือ Pan-Asia ซึ่งให้ความหมายถึง การผสมผสานระหว่างประเทศในเอเชีย ทั้งทุนสร้างและนักแสดง เพื่อจะทำให้เกิดความรู้สึก “เป็นอันเดียวกัน” และนำไปสู่การสนับสนุนที่กว้างขวางกว่าเดิม หนังที่เพิ่งเข้าฉายไปเมื่อปีที่แล้ว อย่าง Camellia ก็เป็นลูกหลานของแนวความคิดดังกล่าว เพราะหลากหลายทั้งในแง่ผู้กำกับ นักแสดง ทุนสร้าง ที่มาจากหลายประเทศในเอเชีย


6.ลมหายใจที่เหลืออยู่
ปัจจุบัน แม้ว่าจะผ่านพ้นยุคสว่างมาเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าหนังฮ่องกงยังงมีการผลิตออกมาอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการแบ่งเซ็ตออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ก็คือ 1.หนังที่สร้างออกมาเพื่อฉายในบ้าน ใช้ภาษาพูดเป็นภาษาถิ่น และเน้นฉายช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น หนังตลก ชุด All's Well Ends Well ที่มีการผลิตออกมาต่อเนื่องหลายภาค หนังกลุ่มนี้ หากเป็นคนต่างถิ่นก็อาจจะไม่เก็ทได้เหมือนกัน เพราะมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสูงมาก
และ 2.หนังที่สร้างเพื่อนำเข้าไปฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ มีความเป็นสากลมากกว่า ทุนสร้างสูง และมักจะได้ฉายในเมืองไทยเราด้วย เช่น หนังของฉีเคอะ และปีเตอร์ ชาน ในยุคหลังๆ

….
สรรพสิ่งรุ่งเรืองแล้วก็กลับร่วงโรย นี่คือสัจธรรมที่มิอาจเลี่ยงพ้น หนังฮ่องกงก็คงไม่ต่างไปจากนี้ ที่ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ได้สูญเสียวันเวลาดีๆ ไปแล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่า เวลาแห่งความรุ่งเรืองจะหวนคืนมาอีกครั้งหนึ่ง หรือไม่ ด้วยวิธีการอย่างไร?