Marsmag.net

“เอาอยู่” แบบ สตีฟ มิลเลอร์ แบนด์

Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

ในคอลัมน์ “ขี้ยาขาร็อก 7 สุดยอดเพลงซี้ด” นั้นมีแฟนนาม Woodsmit ได้มาคอมเมนต์ท้ายคอลัมน์ เกี่ยวกับวง Steve Miller Band ว่า “…Steve Miller Band นี่ก็เทพแห่งยุค 70's ในอเมริกา เลย ไม่อยากบอกว่าเพลงสมัยนี้ 2012 ยังไงก็สู้ยุคก่อนๆ 30, 40, 50 ปีที่แล้วไม่ได้”

วันนี้จะเขียนถึงวงนี้ครับ

สตีฟ มิลเลอร์ แบนด์ หรือในอีกชื่อเต็ม The Steve Miller Blues Band หรือ The Miller Band คือ วงร็อกสัญชาติอเมริกัน จากซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย วงนี้เล่นดนตรีได้หลากหลายรูปแบบมาก คือ เล่นได้ทั้งแนวบลูส์, บลูส์ ร็อก,อาร์ต ร็อก,ไซเคดีลิก ร็อก, พร็อก ร็อก, โฟล์ก ร็อก, ซิมโฟนิก ร็อก กระทั่งถึงป็อป ร็อก แบบฝีมือเหลือกินเหลือใช้ มาตั้งแต่ยุคร็อกรุ่งเรืองและมีความไพเราะที่สุดยิ่งกว่ายุคใด (ยุค 70's-80's) โน่นเชียว

ก็ตั้งวงโดยหัวหอกนามเดียวกับวงสตีฟ มิลเลอร์ (Steven H. “Steve” Miller) เกิดปี 43 โน่น หากทว่าตอนนี้ก็ยัง สว.แบบแจ่มแจ๋ว ไม่โรยรา เล่นดนตรีอยู่แบบเก๋าลายคราม ลูกวงในอดีตก็เปลี่ยนกันไปหลายสิบชีวิต ถึงตอนนี้ก็เหลือตัวหลักๆ ดังนี้

จะว่าไปแล้ว สตีฟ มิลเลอร์ นั้นก็มีสองสถานะหลักๆ ตลอดระยะเวลาการเป็นศิลปินมาหลายทศวรรษ ที่เด่นชัดคือ หนึ่งเป็นราชาบลูส์ ร็อกแห่งซานฟรานซิสโกผู้โด่งดังในปลายปี 60's ถึงต้นยุค 70's แบบกระบี่มือหนึ่งขึ้นทำเนียบ และสอง เขาก็เป็นราชาด้านการขายแผ่นเสียง ขายได้ ขายดี แบบยิ่งใหญ่กับยุค 70's -80's จนถึงปัจจุบันก็ยังเวิร์ก กับสตูดิโออัลบั้ม 18 ชุดและอื่นๆ

กับเพลงซิงเกิลฮิตอย่าง “The Joker” “Fly Like an Eagle” “Rock'n Me” และ “Abracadabra”

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากการสนับสนุนโดย “ป๋าดัน” ยอดคุณพ่อของเขาที่จักกับยอดศิลปินแจ๊ซอย่าง ชาร์ลส์ มิงกัส และเลส พอล เพราะตอนนั้น เมื่อยอดคุณพ่อได้เชิญเลส พอล มาบ้านเพื่อสอนให้ไอ้หนูสตีฟ หัดจับคอร์ดกีตาร์ นับเป็นวาสนาหาใครเปรียบยิ่งแล้ว

ถึง 12 ขวบ จะว่าเด็กฝรั่งแก่แดดหรืออัจฉริยะที่ถูกกระตุ้นก็ได้ สตีฟ มิลเลอร์ ก็ริอ่านจะมีวง ไอ้หนูจึงไปชวนเพื่อนซี้ บอซ สแคกก์ซ เพื่อนรักมาตั้งวง The Ardells และต่อมาถึงปี 1964 เขาก็ย้ายไปชิคาโก เพื่อตั้งวงบลูส์ แบนด์ กับแบร์รี โกลด์เบิร์ก ตอนนั้นทำอยู่ได้ 2 ปี

และแล้วเขาก็ต้องเป็นเสือคืนถ้ำอีกคำรบ เขากลับมาซานฟรานฯ เพื่อสร้างสุดยอดวงร็อกในอนาคต นั่นคือ The Steve Miller Blues Band ซึ่งขณะนั้น มีสมาชิกประกอบด้วย

เจมส์ “คูลีย์” คูก ร้องนำ/ประสาน ลอนนี่ เทิร์นเนอร์ ตำแหน่งเบส และทิม ดาวิส เล่นกลอง ก็ลองเล่นคอนเสิร์ตให้ชิมฟรี/ชมฟรีกันก่อน ต่อมาวงก็บุญพาวาสนาส่งได้มีโอกาสเล่นเป็นวงเปิดให้กับขาใหญ่ในขณะนั้นคือ ชัค เบอร์รี ในปี 1967 ที่ฟิลด์มอร์

ตรงนี้แหละ วงเขาได้แจ้งเกิด พวกเขาทำแผ่นอัลบั้มแสดงสดขาย ถึงตอนนี้ สแคกก์ซ เกลอเก่าก็กลับมาแทนตำแหน่งคูก ได้เล่นที่เทศกาลดนตรีป็อปที่มอนเทอรี และได้เซ็นสัญญาเข้าสังกัดบริษัทแผ่นเสียงแคปปิตอลในเวลาต่อมา ทั้งนี้ วงก็มีการสับเปลี่ยนสมาชิกไปเรื่อย

1968 วงได้บินไปลอนดอน เพื่อออกอัลบั้ม Children of the Future ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีจากบรรดานักวิจารณ์ ถึงตอนนี้ก็มีเพลงออนแอร์ทางวิทยุ เรียกว่าเริ่มดังแล้ว ตอนนั้นก็เล่นกันในแนวบลูส์ ร็อก และเริ่มมีพัฒนาการทางดนตรีเจือมาทางกลิ่นไซเคดีลิก ในอัลบั้ม Sailor ซึ่งชุดนี้สร้างชื่อเสียงให้กับวงในยุคแรกๆ ติดชาร์ตต้นๆ ของบิลบอร์ดทีเดียว

วงเริ่มมีฐานแฟนแน่นหนาแล้วตอนนี้…

เมื่อวงเริ่มมีชื่อเสียงเป็นป็อปสตาร์ จากการเคี่ยวกรำวัตถุดิบ และสร้างสรรค์ในแทร็ก “Space Cowboy” และ “Brave New World” เพลงก็กระหึ่มทางวิทยุอีกครั้ง สร้างที่อยู่ที่ยืนให้กับวงอย่างถาวรแล้วในขณะนั้น

มีขึ้นก็มีลง เมื่อเจอขาลง สตีฟ มิลเลอร์ก็เหมือนจะประสบผีซ้ำด้ำพลอย เมื่ออัลบั้มต่อมา Rock Love ประสบความล้มเหลว ขี้เหร่ที่สุด แฟนๆ ไม่ชอบ จะด้วยเหตุวัตถุดิบไม่ตกผลึกพอหรืออะไรก็ตามที มันแย่มาก ส่งผลทำให้ร็อกเกอร์หนุ่มประสบอุบัติเหตุรถยนต์แบบคอได้รับบาดเจ็บ แค่นั้นยังไม่พอ ยังป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบอีกต่างหาก ทำให้เขาต้องหยุดวงไปในปลายปี 72 ถึงต้นปี 73

เสือพอได้พักฟื้น ก็คืนพละกำลัง สตีฟ มิลเลอร์ ขะมักเขม้นเค้นวัตถุดิบมาสร้างสรรค์เพลงแบบตั้งใจยามนั้น เพลงในอัลบั้มที่เขียนในเวลาต่อมา จึงออกมาสดใส ในแนวป็อป ร็อก กะทัดรัด สวยงาม ประทับใจแฟนๆ ได้ไม่ยาก เป็นอัลบั้มลองเพย์ 1973 แทร็ก The Joker ประดุจดาวเจิดจรัส ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ทำให้อัลบั้มนี้ได้แผ่นแพลทินัม และติดอันดับหนึ่งของป็อปชาร์ต

สตีฟก็ระวังตัวและจับความมั่นใจตรงนี้ไว้ได้ เขาหยุดงานไปซื้อฟาร์มนอกเมืองสร้างสตูดิโอบันทึกเสียง ณ ที่ฟาร์มนี้เขาก็สร้างสรรค์งานอัลบั้มคลาสสิกสุดฝีมือออกมาอย่าง Fly Like an Eagle และ Book of Dreams ซึ่งประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์มากมาย และเขาก็ตอกย้ำความสำเร็จอีกด้วยอัลบั้ม Fly Like an Eagle ในปี 1976 ขายแผ่นได้มากกว่าสี่ล้านก๊อบปี้ ซิงเกิล Rock'n Me และอีกหลายซิงเกิลตามมา ขึ้นฮิตติดชาร์ตเป็นยวง และเขามีอัลบั้มเกร็ตเต็ต ฮิต (1974-78) ที่ขายได้มากกว่า 6 ล้านก๊อบปี้ เขาเป็นสตาร์ขึ้นหิ้งป็อป ร็อกมาตราบกระทั่งทุกวันนี้

ฟังกันดูก่อนดีไหม (ในวิดีโอ แฟนๆ สดชื่นกันมากทั้งหนุ่มสาว ไม่ใช่ฮิปปี้ แต่น่าจะเป็นยัปปี้ผู้ประสบความสำเร็จในการงานแล้วยังรักเพลงร็อกสะอาดๆ)


จากนั้น สตีฟ มิลเลอร์ พักตนเอง เขาหยุดทัวร์ไปอีก ลุถึงปี 81 เขาก็เชนคัมแบ็กกลับมากับอัลบั้ม Circle of Love ที่แสนจะน่าผิดหวัง ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่พอ 6 เดือนต่อมา เขาก็พลิกสถานการณ์ด้วยซูเปอร์ฮิต ด้วยอัลบั้ม แทร็ก Abracadabra นั้นขึ้นถึงอันดับ 1 ของบิลบอร์ดชาร์ต น็อกเพลงฮิตของชิคาโก ถล่มซิงเกิล “Hard to Say I'm Sorry” อันดับหนึ่งของราชาแจ๊ซ แบนด์ชิคาโกในขณะนั้นลงอย่างราบคาบ อันเป็นการถอนแค้นได้สำเร็จ เมื่อซิงเกิล “If You Leave Me Now” ของชิคาโก้เตะซิงเกิล “Rock'n Me” ของเขาหล่นชาร์ตอันดับ 1 ในปี 1976 แบบเอาคืนสำเร็จ

สตีฟ มิลเลอร์ มีอัลบั้มตามมาอีกในยุค 80's มีอีกหลายอัลบั้ม อย่าง Italian X Rays,(1984) Living in the 20th Century (1986) และ Born 2B Blue (1988) ทว่าไม่ได้รับคำวิจารณ์และไม่ประสบความสำเร็จนัก ต่อจากนั้น เขาก็ขุดกรุงานเก่า Wide River มาเล่นแบบกันแฟนๆ จะลืม ก็ยังฮิตติดชาร์ต 100 อันดับกลางๆ

ถึงปี 2008 เขาก็ออกทัวร์ร่วมกับ โจ ค็อกเกอร์ เล่นเพลงคลาสสิกเก่าๆ กล่อมแฟนไม่ขาด

เมื่อปี 2010 เขาก็ออกอัลบั้ม Bingo Let และอัลบั้ม Let Your Hair Down (2011) ออกมา ในสไตล์ย้อนยุค มีเพลงดีๆ มากมาย แฟนตัวจริงไม่ทิ้งกันต้องไม่พลาด ซึ่งผลิตในนามบริษัทแผ่นเสียง สเปซ คาวบอย ของเขา

มาดูเบื้องหลัง อัลบั้มสุตฮิตของเขา Abracadabra ในปี 1982 ซิงเกิล Abracadabra ซึ่งคุณภาพและความดังนั้นพอๆ กับซิงเกิล “The Joker” และ “Rock'n Me” ทีเดียว แทร็กนี้ติดท็อปชาร์ตใน 10 ประเทศ ในอเมริกานั้นติดถึงอันดับ 1 บิลบอร์ดชาร์ต

Abracadabra สตีฟ มิลเลอร์ ร้องเสียงเพราะมากในสไตล์สบายๆ ไม่ต้องรีดเค้นพละกำลัง และน้ำเสียงอะไรมากมายตามแบบฉบับ เพลงโดยรวม เปี่ยมเสน่ห์ เนื้อหาติดหูง่าย นักวิจารณ์ฝรั่งกล่าวว่าโครงสร้างของเพลงมันไม่ได้อยู่เทรดิชันของโครงสร้างเพลงป็อป แต่พฤติกรรมนั้นใช่ (เอ๊ะ… ยังไง) ทว่ามันเป็นเพลงที่เต็มไปด้วยความสดชื่นมีชีวิตชีวาของเมโลดี้ แม้เนื้อหาจะงี่เง่าน่าขบขันไปหน่อยก็ตามที แต่มันก็แปลกใหม่ในยุค 80's นั้นอยู่

I heat up, I can't cool down
You got me spinnin'
'Round and 'round'
Round and 'round and 'round it goes
Where it stops nobody knows

Every time you call my name
I heat up like a burnin' flame
Burnin' flame full of desire
Kiss me baby, let the fire get higher
Abra-abra-cadabra
I want to reach out and grab ya
Abra-abra cadabra Abra cadabra

โดยความเห็นส่วนตัว ผมว่าเขาเขียนเนื้อหาแบบง่ายๆ ทะเล้นปนเซ็กซี่นิดๆ แบบเป่ามนต์คาถา “อะบราคาดาบรา” สมัยดึกดำบรรพ์ ประมาณอยากเป็นนักมายากล เสกให้หล่อนอ่อนระทวย แล้วมาระบายความฮีต ที่หล่อนจุดอารมณ์ของเขาให้พลุโชนแล้วไม่สนใจไยดีจะทำให้มันหงอยสงบลง แบบทำอย่างไรดีล่ะ…จะได้ดับอารมณ์นั้นประมาณว่า

“ I want to reach out and grab ya ”
แบบต้องการคว้าหล่อนไว้ และเอา (ให้) อยู่” (ฮา)