Marsmag.net

Les Misérables กับละครเพลงที่โลกตกหลุมรัก

Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

ของดี วรรณกรรมชั้นเยี่ยม นิยายคลาสสิกของตะวันตกนั้น มักจะถูกนำมาทำซ้ำอยู่เสมอเช่นกัน ไม่ต่างจากแวดวงละครบ้านเราที่มักชอบทำซ้ำแบบหวังสัมฤทธิผลเชิงพาณิชย์ แต่กลวิธีและเนื้อหานั้น ทำไมวงการละครทีวีไทย ละครเวที หรือภาพยนตร์ ไม่คัดสรรคุณภาพตามอย่างบ้างก็ไม่รู้ คือไม่มาทางด้านสร้างสรรค์ให้สมดุลกับภาคธุรกิจที่ได้รับ

การทำซ้ำ ประโยชน์และคุณูปการต่อผู้คน สังคม และวัฒนธรรมเชิงสติปัญญาเรืองโรจน์ สว่างไสว ไม่ให้จมปลักอยู่แต่บ่อเกรอะกรังคูถเน่านั้น ก็จงพึงพิจารณาใส่ใจบ้าง จึงจะนับว่าเป็นอารยะที่สมบูรณ์

ตัวอย่างการทำซ้ำจากวรรณกรรมระดับโลก ก็โลกยุคโน้นแหละ ยุคก่อนการปฏิวัติ ปฏิรูป ที่มักจะชอบแอบอ้างเป็นหลักไมล์ประชาธิปไตยต้นแบบ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ของดีๆ มี ไม่เอาอย่าง ไม่ปลื้ม ไม่หลง

ละครเพลง (Musical theatre) เป็นอีกรูปแบบของละครเวทีที่นำดนตรี เพลง บทเจรจา และการเต้นรำ รวมเข้าด้วยกัน ก็ตามขนบพื้นๆ แบบละครทั่วๆ ไป มีการแสดงอารมณ์ ความสงสาร ความรัก ความโกรธ รวมไปถึงเรื่องราวที่บอกเล่าผ่านละคร ผ่านคำพูด บทเจรจา ห้วงคำนึง ขับร้อง เล่น เต้นรำ ประกอบดนตรี การเคลื่อนไหวร่ายรำ แบบร้องสุดคำ รำสุดแขน อันเป็นศิลปะขั้นสูง กอปรด้วย เทคนิคต่างๆ ที่หวังให้เกิดความบันเทิงโดยรวมนั่นเอง

ละครเพลงมีมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 การแสดงละครเพลงบนเวทีจะเรียกว่าง่ายๆ ว่า มิวสิคัล (musicals) เวทีละครเพลงได้รับความนิยม และโดดเด่นในหลายประเทศในยุโรป อเมริกา และเอเชีย เรามาฟังและดูคลิป ละครเพลงเด่นๆ ของโลกที่ขึ้นหิ้งคลาสสิกกันในสัปดาห์นี้

ละครเพลงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีมากมาย West Side Story, The Fantasticks, A Chorus Line, The Phantom of the Opera, Les Misérables, ฯลฯ เป็นอาทิ

1. West Side Story
เทียบได้ว่าเป็นบันทึกอีกบทหนึ่งในประวัติศาสตร์ละครเวทีของสหรัฐอเมริกา ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมอมตะของเชคสเปียร์ส เมื่อนักออกแบบท่าเต้นอย่าง เจอโรม ร็อบบินส์ ตัดสินใจที่จะสร้างโรมิโอและจูเลียตในรูปแบบละครเพลงสมัยใหม่ เขาจึงรวบรวมคณะทำงานสุดยอดทางด้านดนตรี ลีโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ และอาเธอร์ ลอเรนต์ส มาดัดแปลงสร้างสรรค์บทละคร แล้วร่วมกันสร้างสรรค์จนเกิดเป็นตำนาน “เวสท์ ไซด์ สตอรี่” หนึ่งในละครเพลงที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และกวาดรางวัลออสการ์ 10 รางวัล เมื่อนำไปสู่ศิลปะอีกแขนงด้านภาพยนตร์

2. The Fantasticks
อีกละครเวทีแนวโรแมนซ์ยิ่งใหญ่ตั้งแต่ปี 1960 ดนตรีโดยฮาวีย์ ชมิดช์ และทอม โจนส์ ในวัยหนุ่มห้าวสร้างสรรค์รจนาถ้อย มันได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย มีการแสดงอันยาวนาน ยุวชนและนักการละครฝึก ที่มีใจรัก ใช้เรื่องนี้ เป็นแบบฝึกหัดขั้นต้น ต่อความสดชื่น และศักยภาพที่จะก้าวต่อไปในโลกมายา

3. A Chorus Line
A Chorus Line อีกละครเวทีมิวสิคัล บรอดเวย์ เก๋ากึ้กมาก แสดงมาตั้งแต่ปี 1975 การันตีด้วย 9 รางวัลโทนี่ ตามมาด้วยรางวัลพูลิตเซอร์ ละครเวทีเรื่องนี้ โดดเด่นด้วยวิธีการนำเสนอ เสมือนผู้ชมได้เข้าไปร่วมออดิชั่นนักร้องนักเต้นบรอดเวย์กับเพลงแสนเพราะฝีมือมาร์วิน แฮมลิช รวมไปจนถึงสุดยอดลีลาท่าเต้นแบบเทพๆ โดยการออกแบบของ ไมเคิล เบนเนต ทำให้ละครเพลงเรื่องนี้เหนือชั้นกว่าละครใดๆ ในยุคนั้น

4. The Phantom of the Opera
อีกวรรณกรรมฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงระดับโลก ของกาสตง เลอรูซ์ เป็นนิยายแนวโกธิกลึกลับสยองขวัญ ซึ่งอิงจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในโรงอุปรากร การ์นิเย ของฝรั่งเศส เนื้อหาว่าด้วยความรักสามเส้าระหว่างชายอัปลักษณ์ชื่ออีริค (แฟนธอม) คริสติน ดาเอ้ ผู้เป็นนักร้องอุปรากรสาว ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเขา และราอูล ซึ่งเรื่องนี้จบด้วยแทรจิดี้ มีการนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์, ละครเวที และละครเพลงหลายครั้ง และยังมีบทประพันธ์ที่ได้อิทธิพลตามมาอีกหลายเรื่อง อาทิ The Phantom โดย ซูซาน เคย์ และ The Phantom of Manhatton (หมายเหตุ : ละครเพลงเรื่องนี้กำลังจะเดินทางมาเปิดการแสดงให้คนไทยได้ดูกันในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ด้วย)

5. Les Misérables
เรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นความทุกข์ยากของประชาชนซึ่งไม่ได้ความเป็นธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคมฝรั่งเศสสมัยก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นความงดงามของจิตใจมนุษย์ที่มีอิทธิพลแน่วแน่ ต่อการผลักดันให้มนุษย์มุ่งมั่นที่จะเปี่ยมปณิธานและอุดมการณ์แห่งความดีให้จงได้ แม้ว่าจะต้องพบพานความยากลำบากก็ตาม

Les Misérables (เหยื่ออธรรม) คือสุดยอดวรรณกรรมคลาสสิกของ Victor Hugo ได้รับการดัดแปลงบทประพันธ์ไปสู่ศิลปะหลากหลายรูปแบบ ทั้งละครเวที ละครทีวี รวมทั้งหนังภาพยนตร์ ที่พากันสร้าง และทำซ้ำกันในหลากหลายประเทศ ขึ้นหิ้งเป็นสมบัติของโลกไปแล้ว

ในอเมริกาก็ได้นำวรรณกรรมเรื่องนี้ไปสร้างเมื่อปี 1909 ซึ่งกำกับการแสดงโดยสุดยอดผู้กำกับ J. Stuart Blackton ต่อมาก็มีเวอร์ชั่นปี 1998 ครั้งนี้ เป็นการประชันบทบาทของสุดยอดเทพดาราระหว่าง Liam Neeson (รับบทวาลฌอง/Valjean) และ Geoffrey Rush (ตำรวจฌาแวร์/Javert) ทั้งยังสมทบด้วยนักแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง Uma Thurman (แสดงเป็นโสเภณี) และ Claire Danes (รับบทโคเซ็ต ลูกสาวของโสเภณี)

โดย Bille August เป็นผู้กำกับการแสดง ต่อมาเขาก็โด่งดังมากจากเรื่อง Goodbye Bafana (2007) ซึ่งมีธีมที่สร้างจากเหตุการณ์เหยียดผิวในแอฟริกาใต้ และใส่เกร็ดของ Nelson Mandela ร่วมไปด้วย
เวอร์ชั่น ปี 2012 ที่จะลงโรงภาพยนตร์ต้นปีนี้ก็เป็นของ ทอม ฮูเปอร์ และดาราระดับซูเปอร์สตาร์ของฮอลลีวูดแห่งยุคอย่าง อแมนด้า ไซย์ฟรี้ด, แอนน์ แฮทธาเวย์, ฮิวจ์ แจ็คแมน, เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์, รัสเซล โครว์, ฯลฯ

ในภาคละครเพลง Les Misérables ก็มีการแสดงตามเวทีชื่อดังทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเวทีที่ทุนสร้างสูงอย่าง เวสต์เอนด์ หรือเป็นละครบรอดเวย์ในลอนดอน และในนิวยอร์ก
………………………..

จากยุคสู่ยุค รูปแบบละครเพลงก็พัฒนาก้าวไกลมาเป็นลำดับ จากยุคแรกๆ ที่เน้นการนำเสนอเรื่องราวของวีรบุรุษ ความรักความยิ่งใหญ่อมตนิรันดร์หรือสูงส่งก็ค่อยๆ หมดไป มีการนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตสังคมในแง่มุมต่างๆ แบบกระจัดกระจายในสไตล์โพสต์ โมเดิร์น หลังสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความสุข หรือสิ่งที่สังคมชอบในมาตรฐานแต่อย่างใด

มีการใช้เพลงร็อกแอนด์โรลล์ประกอบ เช่น Jesus Christ Superstar (1968) Grease (1972) และในยุคต่อจากนี้ นับเป็นการเริ่มต้นละครแบบทดลอง คือ มีการนำเรื่องราวที่แปลกออกไปมานำเสนอ เช่น Cabaret (1966) และ Evita (1970) เป็นต้น ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ได้รับการชื่นชมยอมรับ และกลายเป็นละครเวทีที่ได้รับความนิยม เปิดแสดงติดต่อกันมาเป็นเวลานาน เพลงประกอบที่ได้รับความนิยมสูง จากละครทั้งสองเรื่องนี้ก็คือ Cabaret หรือ Don’t cry for me Argentina ซึ่งประพันธ์โดยกูรูแห่งวงการระดับซียน แอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์

ปัจจุบัน ละครบรอดเวย์ก็ยิ่งใหญ่ ปานเวทีดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกตระการตาในยุคหนึ่ง มีความเฟื่องฟู อลังการงานสร้างสรรค์ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับผสานให้เข้ากับพล็อตและบริบทในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี CG เครื่องยิงเลเซอร์ เครื่องสร้างภาพสามมิติ เครื่องสร้างปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทำให้ละครดูเรียลิสต์มากขึ้น และอาจก้าวหน้าเป็น 4 มิติแบบภาพยนตร์ในไม่ช้า