Marsmag.net

ตำนาน ร็อกเรือเหาะ (1)


Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

เลด เซพพลิน (LED ZEPPELIN)
สมาชิก
จอห์น “บอนโซ” บอนแฮม : มือกลอง
จอห์น พอล โจนส์ : เบส, คีย์บอร์ด
จิมมี เพจ : กีตาร์
โรเบิร์ต แพลนท์ : นักร้องนำ

เลด เซพพลิน (LED ZEPPELIN) เป็นวงที่เกิดจากการรวมตัวกันของพลังความรู้สึกลึกๆ ในจิตใจ และความเข้มข้นของดนตรีฮาร์ด ร็อก ผสานความสุขจากประสาทสัมผัสที่มีความประณีตละเอียดอ่อนของดนตรีที่ได้อิทธิพล พัฒนามาจากแนวพื้นเมืองของบริเตนใหญ่

ชื่อ เลด เซพพลิน คือผู้กำหนดขอบเขตแดนแห่งดนตรีร็อกในยุคทศวรรษที่ 70 และตลอดไป พลังศักยภาพของพวกเขาในยุคทศวรรษนั้นเทียบเท่ากับ เดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) ผู้มาก่อน มีอิทธิพลถึงตอนนี้ก็ขึ้นหิ้งระดับคลาสสิกและโยงวัฒนาการทางรูปแบบดนตรีลงมา ให้อิทธิพลและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบรรดาร็อกเกอร์ทั้งหลายที่มีแนวทางคล้ายคลึงกันขณะนั้น

นับแต่นั้นถึงวันนี้ ศิลปะทางดนตรีของวงเลด เซพพลินใหญ่กว่าพื้นที่และเส้นทางดนตรีด้านร็อก เปรียบเหมือนวงตัวแทนแห่งยุค ซึ่งมีพลังมหัศจรรย์เกือบทั้งหมดต่อการปลุกกระตุ้นต่อความบันดาลใจต่อดนตรีในระยะเริ่มแรกของผู้รักในศิลปะเสียงเพลง ไม่ว่าจะสาขาร็อก หรือแตกแขนงไปเป็นอื่นใด

ทั้งนี้ก็จากผลแห่งพลังการรวบรวมระดับศิลปาการด้านการบรรเลงกีตาร์ของจิมมี เพจ ความเฉียบคมด้านการแต่งเนื้อร้องของโรเบิร์ต แพลนท์ ท่วงทำนองเสนาะของคีย์บอร์ด และเบสจากปลายนิ้วของอัจฉริยะอย่างจอห์น พอล โจนส์ และเสียงกลองฟ้าคำรามของจอห์น บอนแฮม สิ่งเหล่านี้ทำให้วงเลด เซพพลิน เป็นผู้ก้าวนำทำการรังสรรค์เหมือนเล่นแร่แปรธาตุทางดนตรีซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีเสน่ห์น่าเคลิบเคลิ้มหลงใหลและไม่สามารถหักห้ามใจมิให้ตอบสนองรับได้

ซึ่งวงเลด เซพพลิน มีคติประจำวงอย่างที่จิมมี เพจกล่าวไว้ในปี 1977 อยู่ว่า “ต้องก้าวนำไปข้างหน้าตลอดกาล” ซึ่งนี่คือคำคมที่นำไปรวบรวมกับถ้อยรจนาระดับปรัชญาที่เขามักคิดและกระทำล่วงหน้าในวงการเพลง

วงเลด เซพพลิน เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1968 จากการสลายวงของคณะเดอะ ยาร์ดเบิร์ดส์ (The Yardbirds) ภายหลังจากที่จิมมี เพจ ได้เข้าไปทำหน้าที่แทนมือกีตาร์ลีด อีริค แคล็ปตัน และเจฟฟ์ เบค

จิมมี เพจ มีข้อสัญญาระบุร่วมวง 2 ปี (1966-1968) และเป็นมือกีตาร์ชาวอังกฤษร่วมสมัย ที่ฮิตติดทำเนียบ กลายเป็นมือกีตาร์ที่คณะต่างๆ ต้องการให้ร่วมวงมากที่สุด

และจากการเป็นมือปืนรับจ้างในห้องอัดช่วงกลางทศวรรษ 60 ซึ่งประเทศอังกฤษ ในช่วงเวลานั้น มีการแผ่ขยายตัวของธุรกิจการบันทึกแผ่นเสียงอย่างมาก

จิมมี เพจ เริ่มทำงานให้กับจอห์นสัน โดโนแวน (เพลง-“เฮิดดี เกอร์ดี แมน” และ ”กลอเรีย”) วงเดอะ คิงส์ (เพลง-ยู เรียลลี ก็อต มี”) วงเดอะฮู (“ไอ คานท์ เอ็กแพลน”) และวงหรือศิลปินเดี่ยวอื่นๆ เป็นร้อย

ต่อมา จิมมี เพจ รวบรวมพลพรรคขึ้นก่อตั้งวง ”เดอะ นิว ยาร์ดเบิร์ดส์” (The New Yardbirds) เป็นเหตุให้มีความหวังต่อแนวทางใหม่ในทิศทางดนตรี หลังจากการอุทิศตนให้กับวงนั้นส่งผลต่อเนื่องขยับขยายมาเป็นวงที่มีพื้นฐานในแนวทางบลูส์ที่เขาใฝ่ฝันจะตั้งอย่าง ”เลด เซพพลิน”

ส่วนมือเบสของวง จอห์น พอล โจนส์ นั้นสืบเชื้อสายมาจากตระกูลนักดนตรีที่ดี เขาเคยร่วมงานกับวงเดอะ โรลลิง สโตนส์, จอห์นสัน โดโนแวน,เจฟฟ์ เบค และวงดัสตี สปริงฟิลด์

ด้านนักร้องนำ โรเบิร์ต แพลนท์ และมือกลอง จอห์น (บอนโซ) บอนแฮม นั้นมาจากเมืองเบอร์มิงแฮม ซึ่งทั้งสองเคยร่วมงานกันในวง “แบน ออฟ จอย” มาก่อน

จิมมี เพจ กล่าวแถลงเกี่ยวกับวงเลด เซพพลินในงานเปิดตัวอัลบั้มแรกว่า “ผมคงไม่กล้าให้คำนิยามรูปลักษณ์ของดนตรีพวกเราได้ เพราะแต่ละคนก็มีพื้นภูมิของดนตรีมาในแนวทางบลูส์ คงมีแง่คิดและความหมายในตัวมันเองแล้ว แต่พวกคุณจะนำมาตีความมันอย่างไร ผมคิดว่าบางคนคงจะต้องแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกออกมาเอง แต่โดยส่วนตัวแล้วผมสามารถนิยามว่ามันเป็นดนตรีในแนวทางบลูส์ร่วมสมัย”

ดังนั้น สำเนียงของวงเลด เซพพลิน จึงรวมเอาแนวเดลตา บลูส์ และความประทับใจในเพลงพื้นเมืองของสหราชอาณาจักร รวมถึงรูปแบบของร็อกร่วมสมัยมารวมกัน รูปแบบดนตรีเหล่านี้หล่อหลอมให้วงเลด เซพพลิน เกิดเป็นวงที่มีรูปแบบแนวดนตรีมีเอกลักษณ์เป็นฮาร์ด ร็อก ที่เปล่งประกายรัศมีเรืองรองในทศวรรษที่ 70 จากบทเพลง “โฮล ล็อตตา เลิฟ” ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานของเพลงขึ้นกับกีตาร์ริฟฟ์ของจิมมี เพจที่หนักหน่วงในยุคนั้น เสียงร้องของโรเบิร์ต แพลนท์ เป็นการร้องเสียงแหลมครึ่งเสียง และช่วงจังหวะที่ทุ้มลึกของเสียงกลอง เป็นการจู่โจมเสนองานออกมาด้วยความยิ่งใหญ่

ร้านขายแผ่นเสียงทั้งหมดต่างนำเสนอแนวเพลงร็อกอันหนักหน่วงไพเราะเสนาะโสตร่วมสมัยของวงเล็ด เซพพลิน และพึงพอใจในเพลงของพวกเขา

จากถ้อยคำของจิมมี เพจ เขากล่าวว่าบรรลุวัตถุประสงค์ “เป็นรูปแบบโครงสร้างการทำงานที่อยู่ในแสงและเงาที่แตกออกมาเป็นชิ้นๆ” นี่คือ มุมมองทางด้านจิตรกรรมที่เขาเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นศิลปิน แต่นำมาใช้ในการเรียบเรียงเสียงดนตรี

สมาชิกของวงล้วนแต่เป็นคนซึมซับรูปแบบทางดนตรี และเคยท่องไปทั่วโลก ใช้ความหมายของตัวหนังสือคำต่อคำไม่ต้องเสริมแต่งจากการที่ได้ท่องไปในดินแดนต่างประเทศ และแสดงภาพออกมาเป็นถ้อยน้ำเสียง ตามภูมิทัศน์และวัฒนธรรมที่ได้พบเห็นจากประสบการณ์ สื่อสารถึงผู้เสพในรูปแผ่นเสียงทั้งหมดของพวกเขา เป็นการเสาะแสวงหาความสดเพื่อมาเป็นจุดให้เกิดแรงบันดาลใจ ผ่านการครุ่นคิดไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณ

“สิ่งต่างๆ ที่ เลด เซพพลิน ได้เข้าไปเกี่ยวข้องก็คือการไม่จำกัดขอบเขตของการนำเสนออย่างแท้จริง” จอห์น พอล โจนส์ กล่าวภาคภูมิ

“เราทุกคนมีความคิดมีประสบการณ์ผ่านสิ่งต่างๆ มามาก และนำมารวมกันไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นเมือง ดนตรีลูกทุ่ง แนวบลูส์ อินเดีย หรือแถบอาราเบียน”

วงเลด เซพพลิน ใช้แนวทางของรูปแบบบลูส์ ร็อกที่คุ้นเคย ชูรสด้วยรสชาติดนตรีแนวต่างประเทศ ค้นพบความชอบของผู้ฟังที่มีความประทับใจในแนวทางร็อก นำเสนอออกมาในทศวรรษที่ 70 ทางวงประสบความสำเร็จในการวางแผงอัลบัมในตลาดเพลง หลบเลี่ยงการที่สถานีวิทยุเอเอ็ม ได้กำหนดทิศทางเพลงในทศวรรษก่อน

แนวเพลงต่างๆ ในอัลบัมแรกเป็นเพลงแนวบลูส์ที่มีความยาวมากกว่าปกติ ใช้รูปแบบการการเล่นเทคนิคเอฟเฟกต์แบบไซคีดีลิก มันโดดเด่นที่สุด เพราะแปลกจนรับกันไม่ค่อยได้คือเพลง “ดาซเซด แอนด์ คอนฟิวส์ด์” แต่ก็มีเพลงที่สำแดงพลังแห่งร็อกที่ได้รับความชื่นชมอย่างมากสองเพลงคือ  “กูด ไทม์ แบด ไทม์” และ ”คอมมูนิเคชัน เบรกดาวน์”

ลองเพลย์ เลด เซพพลิน II ก้าวออกไปไกลและได้รับความนิยมจากแฟนเพลงแน่นแฟ้นขึ้นอีก ในทำนองบลูส์-ร็อกทันสมัย มีแทร็กที่โด่งดังติดหูทันที คือเพลง “โฮล ล็อตตา เลิฟ”-“ฮาร์ท เบรกเกอร์” และเพลง “แรมเบิล ออน”


เลด เซพพลิน III เป็นลองเพลย์อัลบั้มที่ออกมาในแนวโฟล์ก ที่มีประกายเจิดจ้า ในรูปแบบที่ฉายให้เห็นความสามารถกับแนวทางอะคูสติก นำเสนอโดยการนำเพลงของเลด เบลลี ในเพลง “แกลโลว์ โพล” มาทำซ้ำ และจากฝีมือการสร้างสรรค์ของตนเองอย่างเพลง “แทนเจอรีน” แถมยังมีแนวทางแห่งร็อกที่ไพเราะโด่งดังเป็นเพลงที่เด่นที่สุดคือเพลง “อิมมิแกรนท์ ซอง” ทั้งยังเสนอแนวทางดนตรีบลูส์ที่เล่นด้วยเครื่องไฟฟ้าที่มีความยาวอย่างเพลง “ซิน ไอ แฮฟ บีน เลิฟวิ่ง ยู”

อัลบั้มที่สี่ของทางวงนั้นไม่มีชื่อ วางแผงในปี 1971 ยังคงเป็นหลักไมล์ที่ยืนนานยิ่งใหญ่กับตัวตนผลงานของวง อัลบั้มนี้มีสัดส่วนผสมระหว่างเพลงแนวพื้นบ้านและทิศทางแนวฮาร์ด ร็อก โดยเฉพาะในเพลง “เวน เดอะ เรฟวี เบรกส์” และเพลง “เดอะ บาทเทิล ออฟ เอฟเวอร์มอร์” และเพลง “แบล็ก ด็อก” เป็นเพลงที่นำมาทำใหม่ หลังจากได้ทำพร้อมกับเพลง ”โฮล ล็อตตา เลิฟ”

ที่สุดของอัลบั้มนี้แปดแทร็กจัดเป็นมหากาพย์เพลงหนึ่งคือ “สแตร์เวย์ ทู เฮฟเวน” และจัดเป็นเรื่องราวย้อนยุคแปดนาที ตอนนั้นไม่มีการตัดเป็นแผ่นเดี่ยว ฟังได้แต่เพียงทางวิทยุ และจัดเป็นเพลงร็อกที่ถูกขอให้เปิดมากที่สุดในตอนนั้น

อัลบั้มต่อมาของวงเลด เซพพลิน คือ “เฮาส์ ออฟ โฮลี” เป็นอีกอัลบัมของวงที่นำเสนอด้านที่ใหญ่กว่าชีวิต ซึ่งน่าฉงนต่อการผจญภัยในชีวิตของนักดนตรีและการสร้างงานศิลปะที่แฝงนัยทางด้านบทเพลงออกมา

มีความสะอาดหมดจด บริสุทธิ์ เปี่ยมพลังงานศักยภาพและประสบการณ์ที่ส่งแสงกาววาว มีเพลงซึ่งวงเลด เซพพลิน ได้ประสบการณ์และวัตถุดิบมากลั่นกรองอย่างเพลง “ดานซิง เดย์” เพลง “เดอะ ซอง รีเมน เดอะ เซม” และ “ดี.เยอร์ เมก.เออร์”

ต่อมาก็เปิดอัลบัมคู่ “ฟิสิกคัล แกรฟฟิตี” ยืนยันความแข็งแกร่งภายในสมาชิกของวง ประกอบด้วยเพลง “แทรมเฟรด อันเดอร์ฟุต” เพลง “ซิก อะเกน” เพลง”เทน เยียร์ กอน” และเพลงที่มีกลิ่นอายของทางตะวันออก “แคชเมียร์”

วงเลด เซพพลิน ขายตั๋วคอนเสิร์ตการแสดงสดหมดทุกครั้ง ต่อมาได้หันมาสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับการแสดงดนตรีสดเพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ ก็มีพลังแห่งดนตรีร็อกไม่น้อยหน้าคอนเสิร์ตจริง นั่นคือเรื่อง “เดอะ ซอง รีเมน เดอะ เซม” อันเป็นเรื่องราวส่วนตัวของพวกเขา รวมถึงอัลบั้ม ซาวนด์แทร็กคู่ จากปี 1976 โด่งดังอย่างเกรียงไกร ชื่อเสียง เกียรติยศมาพร้อมสรรพ เป็นข้อพิสูจน์ว่าทางวงมีพลัง และศักยภาพเป็นขวัญใจของแฟนเพลงร็อกถึงจุดสูงสุดอย่างแท้จริง

ส่วนด้านมืดของสมาชิกเลด เซพพลินที่ปรากฎต่อสาธารณชนก็มีข่าวฉาวโฉ่อย่างปฏิเสธไม่ได้ในแง่มุมของสถานการณ์ปัญหาที่ทำตัวเป็นนักสุขนิยมตามใจตัวเองอย่างไม่ลืมหูลืมตา นี่คือจุดด้อยของวงร็อกที่เป็นมาทุกสมัย ในประวัติศาสตร์ของวงการเพลง