เขามักเหน็บแนมกันว่า คนไทยลืมง่าย จริงหรือไม่ เราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นเลย บางเรื่องราวอาจจะสวยงามจนอยากจะเก็บจำไว้ชั่วกาล ขณะที่บางเรื่องก็ร้าวรานจนไม่อยากแม้แต่จะนึกถึง กระนั้นก็ตาม ถ้าไตร่ตรองให้ดี ทุกเรื่องราวล้วนเป็นบทเรียนได้ ทั้งเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น และเพื่อเป็นอนุสติไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้นอีก
รู้สึกแย่ รู้สึกดี ในปีเดียว…ย้อนมองเหตุการณ์ในรอบปีที่ผ่านพ้น ตราบเท่าที่ยังมีคน โลกนี้ไม่พ้นมีเรื่องมีราว เราสุขเราเศร้ากับเรื่องไหนบ้าง มาดูกัน…
“Feel Bad”
1. เณรคำ
หลายครั้งหลายหนที่เราเห็นการนำเสนอข่าวในทางไม่ดีของพระพุทธศาสนาที่ถ่ายทอดให้เห็นเกือบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสังคมไทย อาทิ ข่าวลักลอบพาสีกาขึ้นกุฏิบ้าง, ข่าวการทะเลาะวิวาทของพระสงฆ์บ้าง, ฯลฯ อีกมากมาย และเรื่องดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่สะเทือนไปทั้งวงการพุทธศาสนาเลยทีเดียว เมื่อเณรคำหรือที่ลูกศิษย์ลูกหาหลายคนให้การยกย่องและเรียกว่า “หลวงปู่เณรคำ” ซึ่งจะว่าไปแล้วข่าวเสื่อมเสียในวงการของพระสงฆ์นั้นมีมาเนิ่นนานแล้ว บางเหตุการณ์เราอาจได้พบเจอผ่านสื่อต่างๆ มากมายทั้งในการรายงานข่าวหรือแม้กระทั่งความบันเทิงอย่างภาพยนตร์ก็ได้หยิบจับนำบทบาทของพระมาเล่นเพื่อสะท้อนสังคมอยู่ก็หลายเรื่อง
แน่นอนว่าข่าวของเณรคำหรือ “นายวิรพล สุขผล” นั้นทำให้ประชาชนคนไทยหลายคนต้องสะเทือนใจและนึกคิดไปว่าเกิดเรื่องแบบนี้กับชาวพุทธอย่างเราๆ ได้อย่างไร กรณีที่มีการอื้อฉาวนี้เป็นสิ่งที่หลายคนเกินจะรับไหว ทั้งเรื่องทรัพย์สมบัติที่มีจำนวนมาก ครอบครองรถหรูหลายคัน ครอบครองเครื่องบินส่วนตัว บ้านราคาหลายสิบล้านและอีกทั้งภรรยาที่มีถึง 8 คน พ่วงด้วยลูกอีก 2 คน ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าวล้วนเป็นความเจ็บปวดที่น่าจดจำอย่างมากเพราะการเลื่อมใสศรัทธาที่ขาดปัญญาไตร่ตรองอาจนำมาซึ่งความเสื่อมของศาสนาได้ในที่สุดดั่งเช่นเหตุการณ์ดังกล่าวนี้
2. สภาอันธพาล
หากได้ติดตามดูการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง หลายคนคงอดรนทนต่อพฤติกรรมของผู้แทนไม่ได้ อาทิ พฤติกรรมของ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ ส.ส.จังหวัดสุรินทร์ สังกัดพรรคเพื่อไทย ที่จู่ๆ ก็ยกรองเท้าของตนขึ้นมาบนโต๊ะขณะที่ส.ส.สังกัดพรรคเพื่อไทยอีกคนกำลังกล่าวถึงพ.ร.บ.นิรโทษกรรม, กรณีการวอล์กเอาต์ออกจากการประชุมของพรรคประชาธิปัตย์เหตุไม่พอใจการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ หรือจะกรณีที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาและมีเสียงกรีดร้องของส.ส.ผู้หญิงของพรรคประชาธิปัตย์เป็นระยะๆ จนเป็นเหตุให้ส.ส.ฝ่ายหญิงอีกพรรคคือนางสาวขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.พรรคเพื่อไทย ใช้ถ้อยคำกล่าวว่าตนนั้นข้องใจถึงเสียงกรีดร้อง จนไม่คิดว่าที่นี่เป็นรัฐสภา แต่เป็นสวนสัตว์ดุสิตมากกว่า เพราะมีแต่ชะนีร้องโหยหวน และเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาทำให้เกิดการปะทะคารมณ์ของส.ส.หญิงทั้งสองพรรคขึ้น และเหตุการณ์อื่นๆอีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่ทำให้ประชาชนอย่างเราๆ นั้นข้องใจยิ่งกว่าว่านี่น่ะหรือคือสภาอันทรงเกียรติของคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นตัวแทนของประชาชน
3. แจกแท็บเล็ต ส.ส. ส.ว.
ด้วยเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทำให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่มอบแท็บเล็ต ยี่ห้อแอปเปิล รุ่นไอแพด 4 หน่วยความจำ 64 กิกะไบต์ ราคาเครื่องละ 28,355 บาท จำนวน 500 เครื่อง รวมทั้งหมดประมาณ 14,177,500 บาท ให้กับผู้ทรงเกียรติในสภาจำนวน 500 คน เหตุเพราะต้องการเพิ่มศักยภาพในการทำงานและลดปริมาณกระดาษนั่นเอง แต่ทว่าก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายที่จะดูแพงเกินจริงเพราะเมื่อเปรียบเทียบกับราคาตามจริงที่ศูนย์จำหน่ายแล้วนั้นรุ่นและยี่ห้อดังกล่าวมีราคาเพียง 26,500 บาท หากจัดซื้อ 500 เครื่องจะมีงบประมาณทั้งหมด 13,250,000 บาท อีกทั้งการใช้งานที่ไม่เหมาะสมของผู้ทรงเกียรติบางคนเพราะมีภาพออกมาว่าส.ส.บางคนได้ใช้แท็บเล็ตเล่นเกม บางคนใช้เพื่อดูภาพสยิวใน Google ระหว่างที่มีการประชุมในสภานั่นเอง หรือนี่จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่แบบล้ำสมัยตามอุปกรณ์เทคโนโลยีของท่านผู้ทรงเกียรติกันนะ
4. โครงการจํานําข้าว 2556
นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่ลมปาก เมื่อโครงการรับจำนำข้าวนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่า ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ ปี 2556/2557 เริ่มเปิดโครงการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 หลังจากที่มติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กำหนดกรอบวงเงินสำหรับใช้ในโครงการปี 2556/2557 ไม่เกิน 2.7 แสนล้านบาท ผลผลิตข้าว 15 ล้านตัน โดยราคาจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% อยู่ที่ 15,000 บาท/ตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ 20,000 บาท /ตัน ทว่าตอนนี้ปรากฏแล้วว่ามีปัญหาเกษตรกรบางส่วนยังไม่ได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งรัฐยังคงค้างจ่ายชาวนาเป็นแสนล้านเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการหลายคนให้ความเห็นกับโครงการดังกล่าวนั้นไว้ว่าเป็นการทำลายระบบการแข่งขันในอุตสาหกรรมข้าวเพราะการตั้งราคาการจำนำข้าวของรัฐบาลนั้นให้ราคาสูงเกินกว่าราคาท้องตลาด จริงอยู่ที่อาจทำให้เกษตรกรนั้นมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันนั้นรัฐบาลต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงและเป็นไปได้ที่จะมีปัญหาการขาดทุนตามมาได้นั่นเอง
5. น้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว นั้นเกิดระเบิดขึ้นในขณะที่กำลังส่งผ่านน้ำมันจากเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติกรีซเข้าสู่โรงกลั่นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือที่หลายคนรู้จักและเรียกกันติดปากว่า ปตท. วิกฤตการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อนเลยก็ว่าได้ ซึ่งผลตามมานั่นก็คือน้ำมันดิบจำนวน 50,000 ลิตรไหลลงสู่ทะเลจนกลายเป็นสีดำทมิฬ ส่งผลให้เกาะเสม็ดมีปัญหาตามมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ, การท่องเที่ยว และปัญหาอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้เสม็ดกลับมาน่าเที่ยวดังเดิม จึงมีการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมกันยกใหญ่ ซึ่งล่าสุดหลายคนคงได้เห็นโฆษณาเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวกลับไปเที่ยวเกาะเสม็ดกันแล้ว จะว่าไปแล้วในความโชคร้ายก็ยังแฝงด้วยเรื่องราวดีๆ ที่เห็นทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับทรัพยากรทางธรรมชาติเปรียบเสมือนเพื่อนร่วมโลกคนหนึ่งนั่นเอง
6. พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2556
พ.ร.บ.ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในเวลาเกือบรุ่งสางในขณะที่ประชาชนกำลังหลับใหล ซึ่งหลายคนได้ให้คำนิยาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่าเป็น.พ.ร.บ.ลักหลับของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกทั้งยังเป็นพ.ร.บ.ที่สามารถปลดแอกผู้ต้องหาที่มีความผิดได้นับร้อยชีวิตซึ่งหนึ่งในนั้นคือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต่างไม่พอใจออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ว่านี้กันอย่างล้นหลาม แม้ว่านายกฯจะออกมาแถลงการณ์ถอนพ.ร.บ.แล้วก็ตามที แต่ทว่าก็ไม่ทันเสียแล้วเพราะประชาชนได้ยกระดับการชุมนุมมาเป็นการขับไล่รัฐบาลและระบอบการเมืองเก่าๆ อย่างระบอบทักษิณไปแล้วนั่นเอง
7. มรณกรรมของฟรีทีวี
ขณะที่สถานการณ์ในประเทศกำลังวุ่นวายซึ่งสาเหตุมาจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและนำมาซึ่งการคัดค้านเกิดขึ้น ก็ได้มีหลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามกับทางสื่อทีวีโดยเฉพาะฟรีทีวีว่ามีความเป็นกลางหรือไม่ทำไมถึงได้เพิกเฉย, ปิดข่าวและไร้ซึ่งจรรยาบรรณเฉกเช่นนี้ เพราะตลอดระยะเวลาที่บ้านเมืองวุ่นวายชั่วโมงการนำเสนอข่าวของทางสื่อฟรีทีวีกลับเท่าเดิม แถมยังเสนอรายการปกติของทางช่องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือว่าการที่สื่อยืนมองดูสถานการณ์บ้านเมืองอย่างเป็นเรื่องปกติแบบนี้นั้นเพียงเพราะต้องการปิดหูปิดตาประชาชนอย่างงั้นหรือ?????
8. พ.ร.บ.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท
เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างโจ๋งครึ่มและนับว่าเป็นการกู้เงินครั้งยิ่งใหญ่เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปี พ.ศ. 2556 ด้วยการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท สำหรับระยะเวลา 7 ปี (ปี 2556-2563) ภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อหวังว่าจะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ อาทิ รถไฟฟ้า, รถไฟความเร็วสูง, รถไฟทางคู่ ฯลฯ ที่โดยรวมล้วนแต่เป็นการยกระดับเรื่องการคมนาคมแทบทั้งสิ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการยกระดับสมควรมองในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการศึกษา, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ให้สมค่าเม็ดเงินจำนวน 2.2 ล้านล้านที่กู้มาเสียดีกว่า
“Feel Good”
1. ภาพยนตร์ไทยเรื่องพี่มาก…พระโขนง รายได้ทะล ุ1,000 ล้านบาท
เมื่อย้อนกลับไปดูช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2556 ปี พ.ศ. 2556 นับว่าภาพยนตร์ไทยเข้าฉายมีจำนวนลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านๆ มา หรือนี่จะเป็นโศกนาฏกรรมของวงการภาพยนตร์ไทยที่มีการผลิตภาพยนตร์ออกมาได้ในปริมาณที่น้อยลง แต่ทว่าในความฉงนมึนงงของหลายคนกลับยังมีหนึ่งความภาคภูมิใจให้กับวงการภาพยนตร์ไทยอย่างมาก เมื่อภาพยนตร์ค่าย GTH เรื่องพี่มาก…พระโขนง โดยผลงานการกำกับของ บรรจง ปิสัญธนะกูล สามารถทำรายได้ได้ถึงหลักพันล้านบาท การประสบความสำเร็จดังกล่าวนอกจากเป็นที่กล่าวถึงกันในประเทศไทยแล้วยังไม่พอ สื่อต่างชาติก็ยังให้การตอบรับที่ดีอีกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ยังมีการนำไปฉายยังต่างประเทศอย่างประเทศกัมพูชา, ลาว, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, มาเก๊า, ออสเตรเลีย ซึ่งทุกที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเต็มทุกรอบจนต้องเพิ่มรอบกันเลยทีเดียว ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำเอาคนที่แอนตี้ภาพยนตร์ไทยต้องตบเท้าเข้าไปพิสูจน์กันเป็นแถวเลยล่ะ
2. ประเทศไทยชนะเลิศครั้งที่ 2 วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2013
แม้ว่าวงการกีฬาไทยอย่างกีฬาฟุตบอลจะโดนครหาต่างๆ นานา ซึ่งคำที่หลายคนได้ยินกันบ่อยๆ นั่นก็คือ “เมื่อไหร่บอลไทยจะไปบอลโลก” ซึ่ง วรวีร์ มะกูดี หรือบังยี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เคยออกมาโชว์นโยบายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งไว้ว่าจะพาบอลไทยไปสู่บอลโลกให้ได้ในปี ค.ศ. 2018 แต่บอลไทยจะไปบอลโลกได้หรือไม่เราเองก็ยังคงคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนไทยหลายคนภูมิใจในกีฬาไทยนั่นก็คือ วอลเลย์บอลหญิงของไทยที่สามารถตบชนะเลิศคว้าแชมป์เอเชียเป็นสมัยที่ 2 มาได้นั่นเอง นับว่าเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับวงการกีฬาของประเทศไทยอย่างมากทีเดียว
3. ศศิน เฉลิมลาภ เดินเท้าคัดค้านเขื่อนแม่วงก์
หลายคนคงคุ้นชินกับคำว่า “NO DAM” เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่สมควรได้รับการจดจำอย่างยิ่งเมื่อนักวิชาการผู้มีสายเลือดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เกิดปลุกกระแสลุกขึ้นมาคัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยการเดินเท้าจากนครสวรรค์ โดยจุดหมายอยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งการเดินทางไกลของเขานั้นเพียงเพราะอยากให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ซึ่งก็เกินคาดเพราะเรื่องที่เขาทำดังกล่าวทำให้ประชาชน รวมทั้งนิสิต,นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ รวมไปถึงดารานักแสดงที่เห็นด้วยต่างก็ลุกฮือออกมาร่วมเดินเท้ากับเขาซึ่งเป็นจำนวนเรือนหมื่นเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีประชาชนบางส่วนก็ได้ออกมาคัดค้านกลายเป็นกระแสว่อนโลกออนไลน์อีกด้วย
เรื่องราวของเขาทั้งหมดนั้นถูกนำไปสร้างในรายการคนค้นฅน ตอน ‘388 กิโลเมตร จากป่าสู่เมือง’ ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี เพื่ออยากให้ประชาชนทราบและเข้าใจเหตุผลการออกมาคัดค้านในครั้งนี้ แต่ทว่ากลับถูกงดออกอากาศโดยอ้างเหตุผลที่ว่าไม่มีความสมดุลของข้อมูลทั้งสองด้านนั่นเอง แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่กลับมองว่าหรือนี่จะเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจกันแน่
4. ยกเว้นวีซ่าประเทศญี่ปุ่น
นับว่าเป็นข่าวดีของคนไทยหลายคนที่รักการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศไม่น้อยเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นออกมายกเว้นวีซ่าเข้าประเทศให้กับคนไทยที่ต้องการเดินทางเข้าไปในประเทศญี่ปุ่นในระยะสั้นๆ หรือสามารถพำนักได้ไม่เกิน 15 วันนั่นเอง ถือเป็นสัมพันธภาพระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่ดีไม่น้อย ใครที่มีทุนทรัพย์แล้วอยากไปเจอสาวเอวีตัวเป็นๆ เอ้ยไปเที่ยวกินปลาดิบสดๆ ก็แวะกันไปได้ครับแต่แนะนำว่าหากอยู่เกินกว่าที่กำหนดต้องขอวีซ่าอย่างเป็นทางการด้วยนะครับเพราะหากจำนวนคนไทยที่หลบหนีเข้าญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายเพิ่มจำนวนมากขึ้น การเว้นวีซ่าอาจถูกระงับใช้ขึ้นมาก็เป็นได้
5. ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลนับล้านๆ คน
สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ส่งผลให้คนจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นกับเรื่องดังกล่าวกันอย่างโจ๋งครึ่ม โดยทั้งการออกมาชุมนุม, การแสดงความคิดเห็นบนสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ และเหตุนี้เองเมื่อการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถูกยกระดับนำไปสู่การขับไล่รัฐบาลประชาชนที่ไม่สามารถนิ่งเฉยนั่งดู นอนดูสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่สงบก็ต่างตบเท้าออกมาชุมนุม สิ่งนี้เรียกว่าเป็นปรากฎการณ์แบบใหม่เลยก็ว่าได้ที่เหล่านักศึกษา, บุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน,ดารานักแสดงบุคคลในวงการบันเทิง ตลอดทั้งประชาชนหลากหลายอาชีพ เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นสามารถพิสูจน์ได้ดีว่าประชาชนสมัยใหม่นั้นล้วนแล้วแต่รู้จักรักษาสิทธิเสรีภาพของตนตลอดจนมีจิตสำนึกที่อยากจะปกป้องประเทศมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
6. “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ฮีโร่ของมวลมหาประชาชน
หลังจากที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยมีมติให้พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านฉลุยแบบม้วนเดียวจบ ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งนำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาเป็นแกนนำเพื่อปลุกระดมมวลชนให้ลุกขึ้นต่อต้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว กระทั่งเรื่อยมาจนถึงการยกระดับขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และต้องการการปฏิรูปประเทศไปในที่สุด นอกจากนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือลุงกำนันของมวลมหาประชาชนทั้งหลายก็สละตำแหน่งจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือหลายคนรู้จักกันในนามว่า กปปส. นั่นเอง
นับว่าอยู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาเสียสละปกป้องประเทศชาติเช่นนี้ เลยทำให้อดีต ส.ส.จังหวัดสุราษฎร์ธานี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ คนนี้กลายเป็นฮีโร่ในดวงใจของใครหลายๆ คนไปโดยปริยาย
เครดิตภาพจากอินเทอร์เน็ต และ ASTV ผู้จัดการ