Marsmag.net

สมาร์ทเลดี้ หลังเวที คปท. : คมทัศนะจากแม่พระก้นครัว

“เบื้องหลังความสำเร็จของวีรบุรุษ มักมีอิสตรีอยู่เบื้องหลัง”
เรามักจะได้ยินถ้อยคำแบบนี้ในนวนิยายจีนกำลังภายใน และคงไม่ผิดนัก หากในสนามรบ เราจะพบกับคำว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” เพราะขณะเพลงรบกู่ร้องเร่งระรัว ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายในครัว ก็กรุ่นหอมด้วยกลิ่นข้าวปลาอาหาร เป็นกองพลาธิการเสบียงกรัง และนั่นก็คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกสงครามแห่งการสัประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเทพหรือฝ่ายมาร

กว่าขวบปีที่ผ่านมา ต่อให้พยายามปิดหูปิดตาอย่างไร หรืออยู่ไกลออกไปแค่ไหนในถิ่นไกลปืนเที่ยง ย่อมต้องได้ยินสุ้มเสียงการต่อสู้ของมวลมหาประชาชน เรื่องราวการชุมนุมของผู้คนที่ปรารถนาจะผ่านพ้นยุคการเมืองเลว กลายเป็นประเด็นพาดหัวตัวไม้ในหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งแทบทุกฉบับ ไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวที คปท.อันเป็นชื่อย่อของ “เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” ที่มักจะตกเป็นข่าวใหญ่บนพื้นที่สื่ออยู่เรื่อยๆ เพราะเหตุว่า เวทีแห่งนี้ เปรียบเสมือนหมู่บ้านระเบิดตก วันแล้วคืนเล่าที่พวกเขาเหล่าผู้ชุมนุม ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึกเพราะเสียงระเบิด หรือแม้กระทั่งกลางวันแสกๆ ก็ยังไม่วายถูกแทรกแซงด้วยแรงของลูกระเบิด

อย่างไรก็ตาม แม้ไฟสงครามและเสียงคำรามของลูกระเบิด จะชวนให้จิตใจเตลิดเปิดหนีสักเพียงไหน แต่มวลชนสายเลือด คปท.ยังคงกระชับพื้นที่ ปักหลักไม่จากหาย เสียงปราศรัยบนเวทียังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น สลับกับเสียงดนตรีจากศิลปินหลากชื่อ เฉกเช่นทุกวัน และแน่นอนว่า ถ้าเงี่ยโสตสดับดีๆ คุณจะได้ยินเสียงเก็บกวาดขยะ ไปจนกระทั่งเสียงลากกะละมัง เสียงกระพือผ้าห่มตากแขวนบนราว และบางคราว คุณอาจจะได้กลิ่นหอมของกับข้าวที่โชยมาจากรอบๆ เวที

‘ไนติงเกล’ แห่งยุคทรราช

ถ้าฟลอเรนซ์ ไนติงเกล คือนางฟ้าสมัยสงครามไครเมีย ผู้ได้รับการขนานนามว่า “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป” (Lady of the Lamp) จากกิจวัตรการตรวจตรา ดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บแม้ยามค่ำคืน และถือว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่ ยกระดับวิชาชีพพยาบาล
สตรีเหล่านี้ ผู้อยู่เบื้องหลังเวทีการชุมนุม ก็ควรได้รับการยกย่องเฉกเช่นเดียวกัน…

“หน้าที่ของเราก็คือดูแลเรื่องการอยู่การกินของพี่น้องภายในเวที” ป้าอ้อย-วรรณรี อาจไม่ใช่สตรีหมายเลขหนึ่ง แต่แบกรับวันเวลา 56 ปีไว้ในชีวิต แย้มยิ้มพูดจา ขณะฝานลูกชมพู่วางลงบนจาน สีชมพู่น่าทาน และการจัดเรียงก็เรียบร้อยสวยงามราวกับกำลังสลักเสลาศิลปะอันประณีต

ภารกิจในทุกเช้าที่ผู้ชุมนุมจะได้เห็น คือนอกจากเก็บกวาดทำความสะอาดเวทีให้ดูมีสุขลักษณะ ไม่สกปรก อีกสิ่งหนึ่งซึ่งจะขาดไม่ได้คือการทำน้ำคลอโรฟิลล์…
“ก็ปั่นเองบ้าง หรือไม่ก็นำมาจากเวทีกองทัพธรรมบ้าง เพราะเป็นจุดแรกเลยที่เอามาให้ดื่ม ดูแลเรื่องอาหารการกิน ซึ่งส่วนใหญ่มีคนสนับสนุนมา เราก็เอามาจัดการแบ่งไว้ให้แกนนำแล้วระบายให้กับพี่น้องที่ร่วมชุมนุม”
“ป้ามาอยู่ที่นี่นานหรือยัง?” ผมถาม
“ก็ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม (2556) ตอนที่กองทัพธรรมมายึดทำเนียบโน่นแหละ ต่อจากนั้นก็มีกลุ่มนักศึกษาไปตั้งเวทีที่นางเลิ้ง ป้าก็ตามไปอยู่กับเขา เริ่มตั้งแต่อุรุพงษ์มาเลย”
“แล้วคิดอย่างไรถึงมา” ผมถามอีกครั้ง ป้าวรรณรีนิ่งไปชั่วครู่แล้วตอบ

“คือเรามองแล้วว่า ระบอบทักษิณมันทำลายประเทศจริงๆ ไม่มียุคสมัยไหนที่เลวร้ายกว่านี้อีกแล้ว เราติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาตั้งแต่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เรารู้ข้อมูล แล้วจึงตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ จริงๆ ป้ามีอาชีพนะ คือค้าขาย แต่ป้าคิดว่า เราต้องเอาตรงนี้เป็นหลัก เราต้องสู้เพื่อลูกหลานของเรา สู้เพื่อโค่นระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินนี้ ประเทศไทยเราสูญเสียมาเยอะในช่วงที่ระบอบทักษิณเป็นใหญ่ การต่อสู้นี้ก็เพื่อถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณ ถามว่านี่คือครั้งสุดท้ายจริงหรือเปล่า เราก็ไม่แน่ใจ แต่คิดว่าเป็นการพยายามจะถอนรากถอนโคน การต่อสู้ทำให้คนได้ตื่นรู้ แล้วพี่น้องเราก็ได้มีประสบการณ์ในการต่อสู้ทางการเมือง

ขณะป้าวรรณรีชี้แจงทัศนะ ห่างออกไปไม่ถึงเมตร ผมสังเกตเห็นผู้หญิงสูงวัยอีกคนจดจ่อนั่งฟังอย่างตั้งใจ นั่นคือป้าประกายทิพย์ ตั้งไพบูลย์ แม่ค้าขายผลไม้ ยิ้มบางๆ บนใบหน้า เปิดเผยตัวแบบไม่เหนียมอายว่าเรียนจบแค่ ป.สี่… “ป้าพูดอะไรไม่ค่อยเป็นหรอก” ป้าว่าอย่างนั้น แต่เพราะการร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งแต่ปี 2549 ก็เป็นเหมือนโรงเรียนที่ให้ความรู้วิชาการเมืองจนกระทั่งบัดนี้ที่เวที คปท. ซึ่งถ้าไม่เป็นการกล่าวที่เกินจริงไปนัก ก็ไม่ต่างจาก “ตักสิลา” หรือ “มหาวิทยาลัย” สำหรับป้าเช่นกัน

“ป้าตั้งใจไว้ตั้งแต่ร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ แล้วนะ เพราะเราเห็นการโกงกิน เห็นตำรวจเขาปฏิบัติไม่ดีต่อประชาชน อย่างช่วงหนึ่ง ป้ากลับไปบ้าน ป้าสวมเสื้อสกรีนคำ “เขาพระวิหาร” ตำรวจก็พูดว่า ระวังจะเจอดีนะ เขาขู่เรา หรืออย่างคนข้างบ้านบางคนก็พูดนะว่า สู้ไปก็ไม่มีทางชนะหรอก แต่ป้าไม่ต่อล้อต่อเถียงอะไรกับเขา ในใจของป้า คิดแค่ว่าเราทำให้ดีที่สุดก็ดีแล้ว เราทำได้ เราก็ทำ และทำให้ดีที่สุด

เรื่องหน้าที่ในแต่ละวัน ไม่ต่างกันมากนักกับป้าวรรณรี…
“หลักๆ เลยก็เก็บกวาดทำความสะอาด ตื่นเช้าขึ้นมาก็ทำน้ำคลอโรฟิลล์ โดยเฉพาะตอนที่มีนัดจะเดินขบวน สมมติว่าเขานัดเจ็ดโมง ป้าก็ต้องตื่นนอนตอนตีห้า เพื่อให้ทัน สิ่งที่ต้องเตรียมก็คือผ้าเย็น กระทิงแดง แล้วก็น้ำคลอโรฟิลล์ ยังไงก็ต้องให้ทันเวลาที่เขาจะออกไปข้างนอก”

ขณะบทสนทนากำลังดำเนินไป ใครบางคนเดินมาด้านหลังเวทีตรงที่เรานั่งคุยกัน บอกความประสงค์ในน้ำคลอโรฟิลล์ ป้าวรรณรีวางมือจากมีดและลูกชมพู่ เปิดตู้แช่หยิบขวดมาสองใบ ภายในขวดมีน้ำสีเขียวๆ ละอองน้ำแข็งจากการแช่เย็นเกาะกันเป็นเม็ดพราวอยู่บนผิวขวด
“ถามว่าเหนื่อยไหม คือมันเหนื่อยเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็หาย มีความสุขที่ได้มารับใช้พี่น้องมวลชน ถึงจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์กรภาคประชาชนก็ตาม แต่ทุกภาคส่วนก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ป้าทำตรงนี้ ป้าก็มีความสุข ไม่มีอะไรห่วง เพราะเรามีเป้าหมายว่าเรามาเพื่ออะไรและเพื่อใคร ทุกการต่อสู้มันก็ต้องผ่านความยากลำบาก แต่รวมๆ แล้วก็สนุกนะ เพราะหนึ่ง เราได้เพื่อน สอง ได้ประสบการณ์ความรู้อะไรต่างๆ เห็นคนหลายรูปแบบ”

รอยยิ้มแนบท้ายคำพูดและเสียงหัวเราะของป้าวรรณรี น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดแบบไม่ต้องพูดอธิบายมากไปกว่านี้ เสียงปราศรัยบนเวทียังคงส่งผ่านเม็ดลำโพงซึ่งอยู่รอบๆ พื้นที่ชุมนุม กลุ่มมวลชนผู้นั่งฟังยังดูผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด ฟังมาว่า วันสองวันมานี้ เวที คปท.ว่างเว้นจากเสียงระเบิด

“ก็กลัวอยู่นะระเบิดน่ะ” ป้าวรรณรียิ้มขำๆ พลางเหลียวมองไปรอบๆ
“แต่เราก็ต้องระมัดระวัง และถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ต้องตั้งสติ อันที่จริง เวทีตรงนี้คือที่ของมวลชนซึ่งเคยผ่านประสบการณ์การต่อสู้มาแล้ว แกนนำก็เคยผ่านการต่อสู้มาแล้ว เราจึงไม่กลัว ไม่กังวลอะไร ชินแล้วไง แกนนำก็ดูแลเอาใจใส่อย่างดี สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรมันจะเกิดแล้วเราก็รับมือทัน และดูผู้ชุมนุมสิ กลัวกันที่ไหน ระเบิดลงตรงไหนมีแต่วิ่งเข้าหา แก๊สน้ำตาลงตรงไหนมีแต่วิ่งเข้าหา มีกลัวเหรอ เท่าที่ผ่านมาน่ะนะ” หญิงวัย 56 พูดกลั้วเสียงหัวเราะ ขณะจบจากภารกิจฝานชมพู่ ก็ลุกขึ้นยืนอย่างกระฉับกระเฉง พลางช้อนมือหยิบจานชมพู่เดินไปส่งให้ “ใครบางคน” ที่ด้านหลังเวที และถ้าจำไม่ผิด ใครคนนั้นคือทนายบางท่านผู้เปรียบเสมือนเสาหลักแห่งการชุมนุม ณ เวทีแห่งนี้ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

มือเก็บกวาด
ดาบก็แกว่งไกว

สมัยโบราณ วีรสตรีไทยได้ชื่อว่า “เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง” นั่นแสดงให้เห็นว่า เมื่อพ้นจากงานการเคหาแบบเรือนสามน้ำสี่ สู่ศึกสงคราม สตรีไทยก็แกว่งดาบเพื่อเสริมกำลังชาย ถึงยุคสมัยนี้ สตรีเหล่านี้ไม่เคยหายไปจากแผ่นดินไทย เช่นเดียวกับพี่บุญศรี หลักกำจร อดีตครูอัตราจ้างจากจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมาร่วมชุมนุมกับเวทีอุรุพงษ์ตั้งแต่วันแรกๆ และเป็นวันที่พี่บุญศรีบอกว่าจะไม่มีวันลืม…

“มาวันแรกก็โดนหมามุ่ยเลย” พี่บุญศรี ว่าพลางหัวเราะ
“สำหรับหน้าที่ของเราที่นี่ ตั้งแต่เช้า เราก็เข้ามาช่วยดูแลด้านในเวที ช่วยเก็บช่วยกวาดทำความสะอาด ช่วยล้างจาน หลังจากนั้นก็ไปทำน้ำคลอโรฟิลล์ให้กับพิธีกรและน้องๆ ที่เขามาช่วยทำงาน”

ได้ยินคำว่าครู หลายคนต้องนึกย้อนไปวัยเยาว์สมัยเรียนชั้นประถม คุณครูมักจะสั่งให้เราเก็บกวาดโน่นนี่ทั้งในห้องเรียนและในโรงเรียน แต่ ณ ขณะนี้ “ครูบุญศรี” กำลังเป็นผู้ซึ่งทำหน้าที่นั้น…
“เราทำด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทนอะไร วันไหนไม่มีกิจกรรมนอกพื้นที่ ก็แลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้ที่มาชุมนุม แต่ถ้ามีกิจกรรมนอกพื้นที่ เราก็จะลุยทุกครั้ง”
อย่างไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ แต่ความนึกคิดของพี่บุญศรี นี่คือ “ภารกิจของครู” แบบปฏิเสธไม่ได้
ถ้าเรารู้แล้วเราอยู่บ้านเฉยๆ คิดว่าเราเสียชาติเกิดเปล่าๆ เราจะรู้สึกว่าเราไม่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง แล้วเราไปสอนเด็กเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือสอนเด็กเกี่ยวกับศาสนาหรือกฎหมาย แต่พอบ้านเมืองเดือดร้อน เราไม่มาลงมือกระทำให้เด็กหรือลูกศิษย์เห็น ถามว่าเราเป็นครูแล้วมันจะได้ประโยชน์อะไร ที่สำคัญที่สุด เราเป็นครู การจะให้ข้อมูลกับเด็ก เราก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าไปบิดพลิ้ว ถ้าครูบิดพลิ้วแล้วสังคมจะอยู่อย่างไร”

“พี่บุญศรี” ไม่เคยขึ้นเวทีปราศรัย เธอบอกว่ามีความสุขมากกว่ากับการได้ดูแลพี่น้องมวลชนด้านล่างเวที กระนั้นก็ดี พี่บุญศรียอมรับว่า ทุกครั้งที่พูดเรื่องซีเรียส เธอจะเกิดอาการเหมือน “ของขึ้น” ทุกที และด้วยการตระหนักถึงมารยาทอันดี เมื่อใครสักคนพร้อมที่จะพูด เราก็ไม่ควรไปหยุดหรือเบรกให้เสียเรื่อง

“อยู่ข้างในนี้มีความสุข ทุกคนมีความสุข มีอุดมการณ์เดียวกัน เราไม่รู้จักคำว่าเหนื่อย ถ้ารู้สึกว่าเหนื่อยก็ไปพักก่อนได้ มีแรงเมื่อไหร่ก็กลับมา เทียวไปเทียวมา แต่เราจะไปอยู่บ้านได้ไม่นาน เพราะรู้สึกเป็นห่วงที่นี่
“มันเป็นความสุขซึ่งเกิดจากการที่เราได้ช่วยชาติ มันจะสู้ได้หรือไม่ได้ จะชนะหรือไม่ชนะ ช่างมัน แต่ขอให้เราสู้จนถึงที่สุด ถ้าเราสู้จนถึงที่สุดแล้ว มันจะแพ้ เราก็ไม่เสียใจ แต่ถ้าสู้แล้วชนะ มันจะทำให้คนไทยไม่ว่าสีไหน ทั้งที่ออกมาสู้และไม่ได้ออกมาสู้ จะได้ประโยชน์เหมือนกัน
คนที่มาอยู่ตรงนี้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะพี่ ทุกคนไม่รู้จักหรอก ตอ-สะ-ระ-อา-ยอ-ตาย เป็นยังไง เขาไม่รู้หรอก เขารู้อย่างเดียวว่า ถ้าวันตายมาถึงเรา เราก็ยอมรับ ถ้าเรากลัวว่าจะตาย เราไม่มาหรอก เพราะเรามาอยู่ตรงนี้มันก็เสี่ยง ทุกคนเสี่ยง แต่เราอยู่บ้านเราก็ตาย แล้วเราจะกลัวทำไม เราจะหนีความตายไปทำไม ตายแล้วมีประโยชน์ก็สมควรตาย แต่ถ้าตายแล้วไร้ประโยชน์ มันไม่ได้อะไร ท่านทนายนกเขายังไม่กลัวเลย แล้วทำไมเราต้องกลัวตาย เราก็เกิดมานานแล้ว อย่างพี่นี่ก็ 57 เราดูโลกมาตั้ง 57 ปีแล้ว เรารู้เราเห็นโลกอะไรมาทุกอย่างแล้ว แล้วจะกลัวไปทำไม”

“แสดงว่าไม่หวั่นไหวกับเสียงปืนและระเบิดที่ลงแทบจะรายวัน” ผมแทรก
“เขาก็ต้องหวงอำนาจเขาล่ะนะ คนปาระเบิดน่ะ แล้วประเทศเราก็ยังมีเจ้าหน้าที่เลวๆ ที่ยังเป็นขี้ข้ารับใช้เขาอยู่ แล้วการที่เขาจะเสียสละให้เรา ให้อำนาจประชาชน เขาไม่ให้ง่ายๆ หรอก เขาได้ผลประโยชน์จากชาติมากเหลือเกิน เขาสละตัวเองไม่ได้หรอก ยังไงเขาก็ต้องสละชีวิตของพวกเราแทน เขาสู้ถึงที่สุด เขาไม่ให้เราง่ายๆ หรอก

“ทีนี้ถามว่า ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบซึ่งเขาแต่งตั้งให้มีตำแหน่งต่างๆ ทำไมไม่รับผิดชอบ กินเงินเดือนจากภาษีเรา แต่เราต้องออกมาเสียสละเพื่อให้พนักงานราชการมีเงินเดือนกิน ทำไมต้องเป็นหน้าที่ของเรา ทำไมต้องให้ประชาชนรับผิดชอบกับผลแห่งการทำความเลวของนักการเมือง เรามีเงินเดือนมั้ย ไม่มี ตำรวจมีเงินเดือนมั้ย มี ปีหนึ่งก็ได้เลื่อนขั้น ข้าราชการทุกหน่วยงานมีเงินเดือน แต่เวลาชาติบ้านเมือง ทำไมต้องมาเดือดร้อนพวกเราที่ไม่มีเงินเดือน
ทำไมต้องเป็นหน้าที่ของพวกเรา แล้วคนที่มีหน้าที่โดยตรงทำไมถึงไม่ทำ คนที่มือถือกฎหมายอยู่ ทำไมไม่ทำ ผู้ถือกฎหมายทุกคนทำไมไม่ปฏิบัติหน้าที่ และถ้ากฎหมายไทยศักดิ์สิทธิ์จริงๆ นะ คนธรรมดาคงไม่ต้องมานอนกลางดินกินกลางถนน บ้านเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เพราะข้าราชการไม่ทำงานอย่างที่ควรจะทำ ข้าราชการระดับสูง นอกจากไม่ทำแล้วยังบีบข้าราชการระดับล่างให้ทำเรื่องเลวๆ อย่างที่ตัวเองต้องการอีก”

อดีตครูอัตราจ้างคนเมืองเพชร เหงื่อผุดขึ้นมาหลายเม็ดบนใบหน้า คงเพราะแดดบ่ายที่ค่อนข้างอบอ้าว แววตาดูปวดร้าวเมื่อเล่าถึงความหลังสมัยยังเป็นครูซึ่งถูกกลั่นแกล้งสารพัด ต้องเวียนวนขึ้นโรงขึ้นศาลยาวนานกว่าห้าปี โทษฐานที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับ “ผู้หลักผู้ใหญ่” บางคน…

“พี่เดินทางมาจากกำแพงเพชร พี่ก็โดนรีดไถ พี่ว่าไม่ต้องมีหรอกตำรวจน่ะ พวกเราดูแลตัวเองได้ แต่สร้างกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ไว้ก็เป็นพอ อย่าให้ตำรวจเอากฎหมายไปใช้รีดไถประชาชน อย่างที่เวียดนามนี่ เขาไม่มีหรอกนะตำรวจที่ไปยืนโบกมือรีดไถประชาชน เพียงแต่เขาทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ใครทำผิดกฎหมาย คุณก็ปรับให้เต็มที่ไปเลย
บางที พี่ว่ามันก็ตลกเหมือนกันนะที่ได้เห็นภาพตำรวจเจอลูกปืนลูกเดียวแล้ววิ่งหนีกลัวตาย ถ้ากลัวขนาดนั้นก็อย่าเป็นมันซะเลยตำรวจน่ะ แต่งตั้งประชาชนที่มานั่งชุมนุมกันตรงนั้นให้เป็นตำรวจเลยจะไม่ดีกว่าเหรอ ขนาดพวกเขายังวิ่งหนีแล้วจะมาช่วยอะไรพวกเราได้ ลูกปืนลูกเดียวยังวิ่งหนีตาย ปลดออกไปซะพวกนี้ มันรักษาชาติไม่ได้หรอก มันรักษากระเป๋าของมันอย่างเดียว”

คมเขี้ยวความคิดอดีตครู ยังไล่ขบอีกหลายเรื่อง ก่อนบทสนทนาจะย้ายเยื่องสู่ช่วงสุดท้าย และเชื่อเหลือเกินว่าประโยคท้ายๆ ของพี่บุญศรี น่าจะเป็นดั่งถ้อยคำแทนใจของผู้คน ณ เวทีแห่งนี้ได้ ซึ่งผมก็คงไม่มีอำนาจไปขัดขวางแต่อย่างใด หากถ้อยคำนี้นั้น มันจะสั่นสะเทือนไปถึงก้นบึ้งหัวใจนักการเมืองบางคน

“เราอยู่ตรงนี้โดยมีเป้าหมายที่จะทะลุไปถึงการปฏิรูปโดยไม่มีชนักข้างหลัง เราเชื่อทนายนกเขา เราเชื่อในกลุ่มของเรา เราไม่มีนักการเมืองหรือนายทุนอยู่เบื้องหลัง เราเชื่อว่าทีมงานของเราไม่มีทุนและนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง”…

เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : จิรรรถ์ ภูจิตทอง