‘หมกมุ่น’
หากเอ่ยถึงคำคำนี้ ใครก็คงจะนึกถึงความหมายในมิติที่ไม่ไปพ้นจากเรื่องของเพศ เซ็กซ์ หรือการจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างที่เป็นแง่ลบ จนถึงขนาดตีตราไปว่าผู้คนที่มีอาการเหล่านั้น เลือกใช้เวลาในแต่ละวันไปกับเรื่องที่ ‘ไร้สาระ’
ไม่ทั้งหมด!
นั่นคือการมองความหมายของถ้อยคำนี้แต่เพียงด้านเดียว หากแต่ในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ หลายต่อหลายครั้งได้มีการยืนยันแล้วว่า ‘ความหมกมุ่น’ เป็นแรงจูงใจชั้นดี ที่กระตุ้นให้มนุษย์สร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างออกมา
ไม่ว่าจะเป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้ที่ใช้เวลาหมกมุ่นอยู่กับตัวเลขและทฤษฎีฟิสิกส์ จนก่อให้เกิดทฤษฎี E=mc2 ต้นกำเนิดของพลังงานชนิดใหม่และอาวุธทำลายล้างอย่าง ‘นิวเคลียร์’ ที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์
หรือ โทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งประดิษฐ์อุปกรณ์สำคัญต่างๆ มากมาย จนเขากลายเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในอเมริกากว่า 1,093 ชิ้น
ภายในระยะเวลาการทำงานกว่า 50 ปี และผ่านความล้มเหลวในการทดลองมาเป็นหมื่นๆ ครั้ง แล้วจะปฏิเสธได้อย่างไรว่าสิ่งที่เป็นแรงผลักดันชายคนหนึ่งให้ลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่มีความหมกมุ่นเจือปนอยู่
นี่เป็นเพียงตัวอย่างในแง่มุมหนึ่งของความหมกมุ่นที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก
แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่าในโลกใบนี้ยังมีความหมกมุ่นอีกบางรูปแบบของคนบางกลุ่ม ที่อาจจะดูแปลกประหลาด และเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมจนเปลี่ยนแปลงโลกเป็นวงกว้าง อย่างเช่นการบ้าคลั่งสะสมถุงอ้วก! หลงใหลในกลิ่นถุงเท้าใช้แล้ว!
หรือแม้แต่หมกมุ่นตามหาสิ่งมีชีวิตรูปร่างประหลาด!
mars จะพาคุณไปทำความรู้จักกับแง่มุมของความหมกมุ่นที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยของมนุษย์เหล่านี้ แต่เชื่อเลยว่าหากคุณได้ไปสัมผัสกับบางเสี้ยวของความหมกมุ่นในชีวิตพวกเขา แรงกระเพื่อมอันแสนเล็กน้อยที่ว่า จะเข้ามาสร้างแรงกระทบและทิ้งอะไรบางอย่างภายในใจของคุณอย่างแน่นอน
‘When I was young’
ผีเป็นยังไง? ซุปเปอร์ฮีโร่อยู่ที่ไหน? สัตว์ประหลาดมีจริงหรือไม่?
คำถามเหล่านี้บอกเล่าถึงความฝันและจินตนาการวัยเด็กที่เรามี
แต่จะมีสักกี่คนที่ยึดติดกับความฝัน ทุ่มเท หมกมุ่น จนค้นพบมันในโลกแห่งความจริง
ข้าวตู-ธัชเนตต์ ดวงขวัญ คือคนคนนั้น ผู้ที่มีงานอดิเรกแสนมีเอกลักษณ์ กับการหมกมุ่นไล่ตามหาสัตว์ประหลาดจากจินตนาการในวัยเด็ก จนกลายเป็นผู้ที่สะสมสิ่งมีชีวิตรูปร่างประหลาดจำนวนมากมาย ถึงขนาดก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ‘บ้านสัตว์ประหลาดสยาม’ ขึ้นมา
“มันเกิดจากการไล่ตามจินตนาการในวัยเด็กของเรา ตอนเด็กๆ เวลาดูหนัง ดูการ์ตูน มันเป็นของจริงไปหมด เราก็เลยเกิดจินตนาการในการจะตามหา เราก็คิดนะว่าอย่างยักษ์ตาเดียว ยักษ์สองหัว มีสองความคิด มันจะอยู่ยังไง แล้วถ้าเป็นสัตว์ล่ะ มันจะมีจริงๆ ไหม มันเลยเป็นความชอบของเรา อะไรที่แปลกเราจะต้องไปเอามาให้ได้” ข้าวตูพูดถึงจุดเริ่มต้นในความหมกมุ่นของตนเอง
เขาเล่าเสริมต่อว่าสัตว์จำนวนมากที่เขาสะสม ทั้งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์และอีกหลายตัวที่อยู่ที่บ้านจะแบ่งออกเป็น 2 จำพวก คือหนึ่งจะเป็นสัตว์สายพันธุ์ประหลาดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ตั๊กแตนใบไม้ เต่าอัลลิเกเตอร์ หรือกบภูเขา สัตว์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นตามธรรมชาติ คนทั่วไปที่มีเงินก็หาซื้อได้ แต่อาจหายากหรือมีถิ่นกำเนิดอยู่ไกลหน่อย แต่ในขณะเดียวกันสัตว์อีกจำพวกที่ข้าวตูสะสม เขาบอกกับเราว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่หาดูจากที่ไหนไม่ได้แล้ว คือสัตว์จำพวกที่มีความประหลาดทางพันธุกรรม เช่น เต่าสองหัวในร่างเดียว ปลาตาบอดแต่กำเนิด หรือแม้แต่ปลาทองฮอลันดายักษ์ที่มีใบหน้าเหมือนมนุษย์
“สิ่งที่อยู่ที่นี่เป็นสิ่งที่หาดูที่ไหนไม่ได้ คือใช้เงินอย่างเดียวซื้อไม่ได้ มีคนมาให้เงินพี่ตั้งแต่หลักสองบาทจนถึงยี่สิบล้านพี่ก็ไม่ขาย มันเป็นสิ่งที่พี่ชอบ ขายตัวเองจะขายทำไม”
‘สูง-ต่ำ’
มูลค่าของบางสิ่งอาจขึ้นอยู่ว่าใครเป็นผู้ให้ สัตว์เหล่านี้ผ่านมาตรวัดจากหัวใจของข้าวตูแล้วว่า นี่คือสิ่งที่สำคัญสำหรับเขา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเป็นได้อย่างทุกวันนี้ ข้าวตูบอกเลยว่าก่อนจะเดินมาถึงจุดนี้ สิ่งสำคัญคือต้องถึงพร้อมทั้งเงินทุน เวลา และหัวใจที่หลงรักอย่างแท้จริง
“อันดับแรกเราต้องมองเขายิ่งใหญ่ก่อน กับสัตว์บางตัว บางคนอาจจะมองว่าเป็นแค่สัตว์พิการ แต่สำหรับพี่แล้วสัตว์พิการหรือไม่พิการ มันขึ้นอยู่กับว่าสัตว์เหล่านั้นอยู่กับใคร อย่างช้างเผือก จริงๆ แล้วมันก็คือช้างด้อย แต่พอไปอยู่คู่กษัตริย์ คู่บัลลังก์ ก็กลายเป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ มันขึ้นอยู่ว่าใครเขาจะให้คุณค่ากับสัตว์เหล่านี้”
เสียเงินไปก็เยอะ เสียเวลาไปก็แยะ ทำไมคนเราถึงยอมแลกไปกับความหมกมุ่นในบางสิ่งถึงเพียงนี้ คงความสงสัยไว้ในจิตใจก็คงไม่ได้คำตอบ เราจึงออกปากถามไปว่าการไล่ตามความฝันหรือจินตนาการในวัยเด็ก มันเติมเต็มความรู้สึกของเขาอย่างไร
“ความแปลกมันดึงดูดเรา อยากรู้ อยากเห็น อย่างเต่าสองหัวมันจะเดินยังไง กินยังไง นี่คือคำถามที่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่ครอบครองก็ไม่มีทางรู้หรอก เราต้องครอบครองมัน ความสุขของเราคือการได้สัมผัส ได้เรียนรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้นี่เอง จะได้หายสงสัย พอเราปราศจากความสงสัยแล้ว เราก็จะหาความแปลกขั้นต่อไป”
แววตาและใบหน้าของเขา ราวกับเด็กน้อยที่มีความสงสัยอันไม่มีวันสิ้นสุด แต่ความสงสัยและหมกมุ่นที่เคยเป็นแค่เรื่องของตัวเอง มาถึงวันนี้งานอดิเรกเขาได้ขยายขอบเขตไปไกลยิ่งกว่านั้น
“ความอยากได้ของพี่มันรุนแรงมาก จิตใจของพี่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ แต่ตอนนี้เหมือนกับว่าเราตามหาให้คนอื่นได้เห็นในสิ่งที่เราเคยเห็นมาแล้ว เหมือนแบ่งปันความสุขให้คนอื่นได้เห็น เด็กบางคนโชคดีเกิดมาเจ็ดแปดขวบ ก็ได้มาเห็นในสิ่งที่เราตามหามาทั้งชีวิตแล้ว”
ถ้อยสนทนาสุดท้ายจบลงไป เหลือทิ้งไว้เพียงความหมกมุ่นที่ยิ่งใหญ่ของชายคนหนึ่ง ที่มีให้ต่อสิ่งที่ตนรัก…
สมการวัดความหมกมุ่นในตัวคุณ
แม้ mars จะเชื่อว่า ‘ความหมกมุ่น’ คือแรงผลักดันชั้นดีที่จะนำเราไปสู่อะไรบางอย่าง หากแต่ถ้ามีความหมกมุ่นในครอบครองเยอะเกินไป เกรงว่าอะไรบางอย่างที่ว่าอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ ‘ไร้สาระ’ ด้วยความเป็นห่วงว่าทุกท่านจะใช้ความหมกมุ่นไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง mars จึงขอเสนอสมการคำนวณความหมกมุ่นอย่างง่ายๆ ที่เรียกว่า ‘Otaku Coefficient’ ให้ทุกคนได้ลองใช้คำนวณหาจุดบาลานซ์ในการใช้ชีวิตอยู่กับความหมกมุ่นของตน
Shunsuke Yamasaki นักวางแผนด้านการเงินของ Nomura Securities บริษัทด้านการลงทุนชั้นนำของญี่ปุ่น ได้คิดค้นสมการ Otaku Coefficient ขึ้นมา (Otaku เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า บุคคลที่มีความคลั่งไคล้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ) โดยมีการคำนวณความหมกมุ่นของคนคนหนึ่งด้วยสมการข้างล่างนี้
Otaku Coefficient = ค่าใช้จ่ายต่อสิ่งที่หมกหมุ่นในแต่ละเดือน ÷ รายได้ต่อเดือนก่อนหักภาษี x 100
Yamasaki กล่าวว่า หากผลลัพธ์ออกมาได้ค่าเกินกว่า 10 แสดงว่าคนคนนั้นได้ใช้จ่ายชีวิตของตนกับความหมกมุ่นจนเกินไปแล้ว ยังไงก็แล้วแต่ แม้จะเป็นเรื่องรสนิยมชมชอบส่วนตัว mars ขอชวนท่านผู้อ่านทุกท่านลองใช้สูตรสมการดังกล่าวเป็นตัวช่วยให้ท่านรักษาความหมกมุ่นให้อยู่ในเกณฑ์พอดี…
เรื่อง : ปริญญา ก้อนรัมย์
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์
อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine