“ไอ้เลว” “ไอ้ชั่ว” “จิตใจทำด้วยอะไร” ฯลฯ และอีกคำด่าสารพัด ที่ไม่สามารถนำมาเขียนให้คุณผู้อ่านได้อ่านได้ (ถึงจะไม่ต้องอ่าน ก็คงนึกออกล่ะครับ) ยามที่ 'ผู้ก่อเหตุ' สามารถถูกจับกุมได้ ซึ่งแน่นอนว่า คำด่าประณามเหล่านี้ มักจะมาหลังจากที่เกิดเหตุสะเทือนขวัญอย่าง “คดีข่มขืนแล้วฆ่า” โดยถือว่าเป็นฝันร้ายให้กับครอบครัวผู้สูญเสียทุกครั้ง และทุกครั้งจะต้องมีการเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าว…
แต่เดี๋ยวก่อน หากพูดถึง “กฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืน” ในประเทศไทยแล้ว ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า หากมีการในเชิงทำนอง 'ข่มขืนแล้วฆ่า' จะต้องถูกประหารชีวิตสถานเดียว แต่หากเป็น 'ฆ่าแล้วข่มขืน' บทลงโทษก็จะเบาลงกว่ากรณีแรก และถ้าผู้ก่อเหตุรับสารภาพด้วยแล้ว คดีแต่ละคดีอาจถูกลดโทษให้เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิตบ้าง แล้วค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนพ้นโทษออกมาในที่สุด โดยในขณะนี้ มีการเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายให้ 'ประหารชีวิตสถานเดียว' เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเอาเยี่ยงอย่าง
พอนึกถึงกฎหมายไทย มันชักจะหงุดหงิดๆ บ้างแล้ว ลองมาดูตัวอย่างกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนของต่างประเทศกันดูดีกว่า ว่าถ้าหากเกิดกรณีเดียวกันนั้น ประเทศเหล่านั้นจะมีวิธีลงโทษอย่างไร โดยขอยกตัวอย่างมาซัก 5 ประเทศดังต่อไปนี้
สหรัฐอเมริกา
กฎหมายการข่มขืนของที่นี่ ถือว่าแรงมากที่สุดในโลกเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงประเภทหนึ่ง ซึ่งภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลาง จะมีโทษตั้งแต่ปรับเงิน ไปจนถึงจำคุกเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 1 ไปถึง 15 ปี หรือบางกรณีอาจจะตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเลยก็ได้ แต่ถ้าคดีอยู่ในขั้นที่โหดร้ายสุด อัตราโทษประหารชีวิต อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละคดีนั้น จะมากหรือน้อยเพียงใด
สำหรับกรณีตัวอย่างของสหรัฐอเมริกานั้น ขอยกกรณีของ โคบี้ ไบรอันท์ ตำนานชูตติ้งการ์ดของ LA Lakers ที่เคยถูกตั้งข้อหาข่มขืนกระทำชำเราหญิงสาวพนักงานโรงแรมวัย 19 ณ เมือง Eagle รัฐ Colorado ขณะที่ไบรอันท์เข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บ ในช่วงฤดูร้อนปี 2003 ซึ่งไบรอันท์ปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา ก่อนที่จะมีการไกล่เกลี่ยให้คดีดังกล่าวยุติในเวลาต่อมา
หรือกรณี การลักพาตัว Jaycee Dugard เด็กหญิงวัย 11 ปี ของสองสามีภรรยา Philip – Nancy Garrido ในปี 1991 โดยทั้งคู่กักขังหน่วงเหนี่ยว Jaycee ตั้งแต่ปี 1991 และในขณะเดียวกันฟิลิปได้กระทำการข่มขืนเธอจนมีบุตร 2 คน โดยมีแนนซี่ทำคลอดให้ ซึ่งบุคคลทั้งสองได้กักขังมาเป็นเวลา 18 ปี ก่อนที่ทั้งคู่จะถูกจับกุม และถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 431 ปี และ 36 ปี ถึงตลอดชีวิต ให้กับฟิลิปและแนนซี่ตามลำดับ
เยอรมนี
กฎหมายของเมืองเบียร์นั้น การข่มขืนถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย และเริ่มมีกฎหมายคุ้มครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1997 นี่เอง และจะคุ้มครองเป็นพิเศษ ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ซึ่งหากใครผู้ใดกระทำการหยาบช้าเช่นนี้ มันผู้นั้นจะต้องเข้าซังเตอย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือนถึง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตราที่ 177 ถึง 179 โดยขึ้นอยู่กับว่า ผู้นั้นจะกระทำผิดในลักษณะใด
สำหรับประเทศเยอรมนีนั้น ขอยกตัวอย่างของ โวล์ฟกัง ชมิตท์ ฆาตกรฆ่าข่มขืนผู้หญิง 5 คน ในระหว่างปี 1989 – 1991 จนกระทั่งถูกจับกุมในเวลาต่อมา และถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 15 ปี และตัวของโวล์ฟกังก็โดนผ่าตัดแปลงเพศ และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Beate เพื่อเป็นกรณีศึกษาตัวอย่าง
อินเดีย
การข่มขืนในประเทศอินเดียนั้นถือว่าสูงมาก จากสถิติในปี 2013 พบว่ามีคดีข่มขืนสูงถึงกว่า 25,000 คดี แต่แค่เอา 'สมชาย' ไปให้สาวเจ้าแค่ทางปากโดยการไม่ยินยอมนั้น ก็สามารถผิดกฎหมายของที่นี่ได้ แต่การข่มขืนในการสมรสนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิดของดินแดนภารตะแต่อย่างใด เว้นแต่เหยื่อได้ออกห่างจากผู้ก่อเหตุ
บทลงโทษสำหรับกรณีดังกล่าวนั้น เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น การจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต จากตอนแรกเป็นการขังคุกอย่างเข้มงวดเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งต้องขอบคุณคดีการรุมโทรมนักศึกษาแพทย์ที่โดนชายโฉด 6 รายรุมข่มขืนและทำร้ายบนรถโดยสารประจำทาง และโยนตัวเหยื่อออกนอกตัวรถจนเสียชีวิต ในปลายปี 2012 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษขึ้น
จีน
การข่มขืน 'เพศเดียวกัน' และเด็กในเมืองจีนนั้น ถือว่า 'ไม่ผิดกฎหมาย' แต่ประการใด ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในดินแดนแห่งนี้ โดยทั้งนี้ Gou Jianmei นักกฎหมายสาวชาวจีนระบุว่า กฎหมายการข่มขืนในจีนถือว่าอ่อนมาก เพราะผู้เสียหายส่วนใหญ่นั้น 'ไม่มีใครสักคนที่ออกมาเรียกร้อง' แถมเคยมีกรณีของเหยื่อรายหนึ่งโดนดูถูกปรามาสจากเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่า 'เพื่อปกป้องชื่อเสียงของตนเอง กรุณาลืมเหตุการณ์ทั้งหมดเสีย' โดยบทลงโทษเบื้องต้นของจีนคือ ฉีดยาใส่อวัยวะเพศเพื่อไม่สามารถใช้งานได้ แต่ถ้าหากร้ายแรงมากๆ ก็ยืนพื้นด้วยการประหารชีวิตเช่นเดียวกัน
โดยขอยกตัวอย่าง คือ ปี 2010 ศาลเมืองอู่ฮั่น มณฑลอันฮุย ได้พิพากษาโทษประหารชีวิต นายเจิง เฉียง เป่า โทษฐานกระทำการข่มขืน กักขัง และขโมย เพราะลักพาตัว 2 เด็กสาว และได้ตบตีกับข่มขืนอย่างโหดร้ายทารุณ โดยผู้พิพากษาของคดีนี้ กล่าวเพียงว่า “เจิงได้ทำร้ายทั้งทางร่างกาย และจิตใจของเด็กทั้งสองอย่างรุนแรง ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญสังคมอย่างยิ่ง ฉะนั้นแล้วสมควรได้รับโทษขั้นเด็ดขาด”
ซาอุดีอาระเบีย
ประเทศเศรษฐีน้ำมัน มีกฎหมายชาริอะห์ซึ่งเป็นกฎหมายของหลักศาสนาอิสลาม เป็นกฎหมายสูงสุดที่คอยปกครองประเทศ โดยบทลงโทษของที่นี่จะมีการเฆี่ยนตีไปจนถึงประหารชีวิต ซึ่งการพิพากษานั้นจะให้น้ำหนักกับเหยื่อกับผู้ก่อเหตุให้เท่าๆ กัน และบางครั้งเหยื่อก็สามารถพิพากษาแบบจัดหนักให้กับผู้กระทำการดังกล่าวสำหรับตนได้ แต่ขณะเดียวกัน ซาอุฯ ก็ยังไม่มีประมวลอาญากฎหมายประเภทนี้อย่างจริงจังเท่าไหร่นัก
สำหรับกรณีตัวอย่างของประเทศนี้ ในปี 2009 ทางการซาอุฯ ตัดสินประหารชีวิต นายอาห์เหม็ด อัล แอลซี ด้วยการตัดศีรษะและนำร่างมาตรึงบนไม้กางเขน จากคดีข่มขืนกระทำชำเราเด็กชาย ก่อนที่จะทำการรัดคอด้วยเชือก และแทงบิดาของเด็กชายจนเสียชีวิต และนำร่างทั้งสองไปซ่อนอย่างโหดเหี้ยม
***สามารถส่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ มาที่เรา ได้ที่ marsmagonline@hotmail.com หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1220***
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine