“พลีชีวิตพิทักษ์แผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ สิ้นชีวิตได้ขึ้นสวรรค์แน่นอน รบกับยิวเพื่อแยกแผ่นดินที่หมายปอง สถาปนารัฐปาเลสไตน์….” นี่คือส่วนหนึ่งในเนื้อเพลง 'ด.ช.รามี่' ของศิลปินเพื่อชีวิต “ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์” ที่กล่าวถึงปัญหาระหว่าง “อิสราเอล” กับ “ปาเลสไตน์” ผ่านทางตัวละครสมมุติคือ เด็กชายวัย 12 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนของเด็กน้อยชายหญิงในเพลง ที่ต้องจบชีวิตก่อนวัยอันควรจากเหตุดังกล่าว
และจากกรณีการโจมตี 'ฉนวนกาซา' ครั้งล่าสุดของกองทัพอิสราเอลนั้น ไม่เพียงต้องพบกับความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยมีประชาชนเป็นผู้รับเคราะห์ หากยังสร้างความหดหู่ให้กับประชาคมโลกจนแปรสภาพมาเป็น “การต่อต้านสงคราม” ในทุกมุมโลกในที่สุด ณ ขณะนี้
อะไรคือสาเหตุของความขัดแย้งนี้ ทำไมทั้งสองเชื้อชาติยังคงรบราไม่รู้จักจบจักสิ้น เรามารับรู้ข้อมูลเบื้องต้น (แบบย่อยๆ) เพื่อทำความเข้าใจถึงวิกฤตดังกล่าวไปพร้อมๆ กันดีกว่าครับ
จุดแรกเริ่มของปัญหาของสองชนชาติ 'อาหรับกับยิว' นั้น แท้ที่จริง เริ่มมาตั้งแต่ในช่วงสมัยยุโรปยุคกลาง หลังจากที่อาณาจักรโรมันได้กรีฑาทัพบุกกรุงเยรูซาเร็มจนพินาศ ราบเป็นหน้ากลอง กลุ่มชนชาวยิวแตกฮือกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง โดยขณะนั้นกลุ่มชนปาเลสไตน์ได้สร้างชุมชนของตนเองมาตั้งนานแล้วเช่นกัน แต่ก็ถูกจักรพรรดิคอนสแตนตินยึดในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ซึ่งก็ไม่ยึดเปล่า ยังสร้างวิหารศักดิ์สิทธิ์บนกรุงเยรูซาเล็มอีกด้วย
แต่ใน ค.ศ.637 ชนชาติอาหรับก็สามารถยึดครองดินแดนแห่งนี้ได้สมบูรณ์ ซึ่งทำให้พวกคริสเตียนไม่พอใจ และนำไปสู่การประกาศสงคราม ซึ่งกลายเป็นที่มาของ “สงครามครูเสด” อันหมายถึงกรณีพิพาทระหว่างชาวคริสต์กับมุสลิม โดยสงครามนี้กินเวลาไป 150 ปี จบลงที่ชาวมุสลิมเป็นฝ่ายชนะ และดินแดนแห่งนี้ก็ถูกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปกครองกว่า 800 ปี
จนในปี ค.ศ.1897 ลัทธิไซออนนิสต์ ก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยชาวยิวหัวก้าวหน้า และมีจุดมุ่งหมายคือ นำชาวยิวกลับมาตั้งถิ่นฐาน และสร้างชาติของตนเองบนแผ่นดินปาเลสไตน์ ตามบัญญัติของพระคัมภีร์ที่ว่า 'พระเจ้าได้ประทานดินแดนแห่งนี้ให้กับชาวยิว' โดยกลุ่มนี้ได้ใช้แผนแทรกซึมทีละเล็กน้อย เช่น กว้านซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินชาวอาหรับ 'อย่างถูกต้องตามกฎหมาย' และฟื้นฟูผืนดินอันแห้งแล้งให้กลายเป็นที่ที่สามารถเพาะปลูกได้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นที่ไม่พอใจของเจ้าของเดิม แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะได้ทำการซื้อขายไปแล้ว (พล็อตนี้ดูคุ้นๆ มั้ย)
เรื่องกรณีพิพาทของทั้งสอง เห็นแจ้งชัดขึ้น ในปี ค.ศ. 1923 องค์การสันนิบาตชาติ (เปรียบเหมือน UN ในปัจจุบัน) ได้ให้อังกฤษซึ่งมีอำนาจในดินแดนตะวันออกกลางในตอนนั้น มอบดินแดนปาเลสไตน์ให้เป็นที่พักพิงของชาวยิว เรียกว่า “แทงสวน” กับที่เคยให้สัญญาไว้แก่ชาวอาหรับว่าจะยกดินแดนปาเลสไตน์คืนให้ หากชนอาหรับช่วยอังกฤษรบกับเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และแน่นอน อังกฤษยังคงยึดดินแดนนี้ต่อไป จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังสงครามสิ้นสุดลง สหประชาชาติได้มีมติแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ให้กับชาวยิว โดยไม่ฟังเสียงของชาวปาเลสไตน์เลย ซึ่งถูกแบ่งดินแดนเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของชาวยิว และ ส่วนของอาหรับ
จนในที่สุด กรณีพิพาทของทั้งสองเผ่าพันธุ์ ก็ชัดเจนอย่างเต็มๆ ในปี ค.ศ.1949 เมื่อ เมืองเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันทั้ง 3 ศาสนา คือ ศาสนาคริสต์ ศาสนายิว และศาสนาอิสลาม ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงของประเทศอิสราเอล ที่มีคนเชื้อสายยิวเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งจากจุดนี้เองก็นำไปสู่ชนวนเหตุแห่งกรณีพิพาทระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ มาจวบจนปัจจุบัน
และจากปีดังกล่าวนั้นเอง การสู้รบระหว่าง 2 เชื้อชาติ ก็ได้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ทั้งทางสงคราม และ วิกฤตการณ์ชิงตัวประกัน ตัวอย่างเช่น กรณีสงคราม 6 วัน ในค.ศ. 1967 ระหว่างอิสราเอล กับพันธมิตรชนชาติอาหรับ ที่จบลงที่ฝ่ายแรกเอาชนะไปได้ และได้ยึดดินแดนเขตกาซ่าตะวันออก แหลมซีนายของอียิปต์ เขตเวสต์แบงก์ ที่ราบสูงโกรันของซีเรีย นครเยรูซาเล็มฝั่งตะวันออก (ซึ่งอิสราเอลยังคงยึดดินแดนอยู่จนถึงปัจจุบัน) หรือ กรณีการบุกจับนักกีฬาทีมชาติอิสราเอลเป็นตัวประกันและสังหารทิ้งในตอนท้าย โดยกลุ่ม 'กันยายนทมิฬ' ของชาวปาเลสไตน์ ในกีฬาโอลิมปิก ที่ ประเทศเยอรมัน ปี ค.ศ. 1972 เป็นต้น และตราบจนทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจบลงอย่างง่ายๆ
มาถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ ก็ไม่รู้ว่าเหตุการณ์สงครามที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานนี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ซึ่งเราก็ได้แต่ภาวนาเล็กๆ ว่า ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองเชื้อชาตินี้ จะหาทางออกเจอในสักวันหนึ่ง…
ภาพประกอบ : www.juancole.com
www.aljazeera.net
www.chouftv.ma
www.sydneystandard.tv
www.thenypost.com
www.moubamba.com
www.abc.net.au
www.islam-iman.com
อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine