Marsmag.net

แกะรอยการเมือง ในหนังหม่อมน้อย

นับตั้งแต่หนังเรื่อง 'อันดากับฟ้าใส' เมื่อปี พ.ศ.2540 'หม่อมน้อย' หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ก็หายไปจากภาพยนตร์นานถึง 13 ปี ก่อนจะหวนคืนสู่จอเงินอีกครั้ง จนกระทั่งบัดนี้ ผ่านไปห้าปี หม่อมน้อยมีหนังให้เราดูถึงห้าเรื่อง แบบทำต่อเนื่อง เรื่องละปี ปีละเรื่อง

และหากมองถึงการกลับมาของหนังหม่อมน้อยครั้งนี้ เราจะพบว่ามีการสอดแทรกวาระ “ทางการเมือง” ไว้ทุกเรื่อง จะเด่นมากเด่นน้อย ชัดมากหรือแค่เบลอๆ แต่ใช่ไหมว่า สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองหรือความสนอกสนใจของผู้กำกับที่ชื่อหม่อมน้อย ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ผู้นี้ด้วย

ชั่วฟ้าดินสลาย
ผลงานการกลับมาชิ้นแรก หลังจากผ่านไปสิบสามปี ด้วยการหยิบบทประพันธ์ของ “เรียมเอง” (มาลัย ชูพินิจ) ซึ่งนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกสุดคลาสสิกมาสร้างอีกรอบหนึ่ง เนื้อหาเรื่องราวเกาะเกี่ยวอยู่กับรักสามเส้าที่จบลงด้วยโศกนาฎกรรม

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ได้ดูและมีความสนใจในเรื่องการเมือง จะพบเห็นการสอดแทรกประเด็นเหตุบ้านการเมืองอยู่ในหนังเรื่องนี้ คือฉากในงานปาร์ตี้ของชนชั้นสูงในพระนคร ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งถูกควบคุมตัว โดยทหาร แน่นอนว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่คาบเกี่ยวกับยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งนำโดยพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

อุโมงค์ผาเมือง
จากงานประพันธ์อมตะของญี่ปุ่นเรื่อง “ราโชมอน” สู่การดัดแปลงเป็นบทละครด้วยปลายปากกาของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และเป็นหนังเรื่องที่สองของหม่อมน้อย ในยุครีเทิร์นสู่จอภาพยนตร์ ตัวหนังนั้นเล่าถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมคดีหนึ่ง ซึ่งบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ถูกนำตัวขึ้นศาลให้การ เนื้อหาสำคัญของหนังนั้นก็อยู่ตรงนี้ ที่แต่ละคนต่างก็ว่ากันไปคนละแบบ คนละทิศคนละทาง จนยากจะสรุปหรือเชื่อได้ว่าคำให้การของใครคือเรื่องจริง คำของใครคือเรื่องลวง

แน่นอนว่า หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้มีฉากการเมืองเหมือนเรื่องก่อนหน้า แต่ทว่าใครก็ที่ได้ดู โดยเฉพาะสายฮาร์ดคอร์ทางการเมือง ก็อดไม่ได้ที่จะหยิบเอาเรื่องราวในหนังไปเปรียบเทียบเปรียบเปรยกับความเป็นไปของการการเมืองร่วมสมัย หนังเรื่องนี้ของหม่อมน้อยออกฉายในปี พ.ศ.2553 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่แหลมคมทางการเมืองซึ่งสืบเนื่องมาหลายปีก่อนหน้า

ดังนั้น นอกเหนือไปจากสถานการณ์ในหนัง อย่างเช่น การเสแสร้งแต่งเรื่องเพื่อผลประโยชน์บางประการของเหล่าตัวละครในเรื่อง ซึ่งสามารถเทียบเคียงกับผู้คนในการเมืองที่มักจะเล่นเกมแบบนี้ให้เห็นเสมอๆ แล้ว วาทกรรมที่หลุดจากปากของตัวละครบางตัว เช่น “อย่าคิดว่ารวยแล้วจะไม่โกง” มันก็ยากที่จะทำใจ ไม่ให้คิดเชื่อมโยงกับปัญหาประดามีที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในแวดวงการเมืองร่วมสมัยได้

จันดารา ปฐมบท – จันดารา ปัจฉิมบท
บทประพันธ์อมตะของครูอุษณา เพลิงธรรม ที่ตอกย้ำให้เห็นสุขทุกข์ของมนุษย์อันสืบเนื่องจากตัณหากามโลกีย์ เนื่องจากผลงานชิ้นนี้กินช่วงเวลายาวนาน ดังนั้น เหตุการณ์ความเป็นไปของประเทศจึงถูกสอดแทรกเข้ามาค่อนข้างมากและหลายยุค ไล่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งยังมีการถือยศฐาบรรดาศักดิ์ ความแตกต่างระหว่างชนชั้นสูงและคนธรรมดาสามัญ, เริ่มมีการใช้นามสกุล ไล่มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนหนังจะพาตัวเองเดินทางไปสู่รัชกาลที่ 8 ผ่านฉากการระเบิดกรุงเทพของฝ่ายสัมพันธมิตร ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

แผลเก่า
แม้กระทั่งตำนานรักของไอ้ขวัญกับอีเรียมแห่งทุ่งบางกะปิ ก็ยังมีการสอดแทรกสถานการณ์ทางการเมือง ในฉากของการเปิดตัว 'สมชาย' ว่าที่คู่หมั้นของเรียม ซึ่งมีซีนเล็กๆ ซีนหนึ่งซึ่งพวกทหารจับกลุ่มคุยกันถึงเหตุการณ์ทางการเมือง นั่นไม่ใช่อะไร เพราะสิ่งที่พวกเขากำลังคุยกันคือเรื่องของการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสในช่วงสมัยรัฐนิยม

นอกเหนือไปจากนั้น การที่ประชาชนในหนังจะต้องสวมหมวกก่อนออกจากบ้านทั้งสตรีและบุรุษ เริ่มมีแต่งกายมีภูมิฐานตามแบบฉบับตะวันตก ก็เป็นนโยบายภายใต้การปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เป็นเสาหลักแห่งแนวคิด “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย'
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine