Marsmag.net

ขอดเกร็ดประวัติศาสตร์-การเมือง จากหนังหม่อมน้อย

สืบเนื่องจากบทความขนาดสั้นๆ แกะรอยการเมือง ในหนังหม่อมน้อย ที่เรานำเสนอไปก่อนหน้า เพื่อจุดประกายให้เห็นว่าผู้กำกับชั้นครู อย่าง “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” นั้น แบ่งปันความสนใจในด้านการเมืองให้กับคนดูผู้ชมอย่างไรบ้าง ผ่านผลงานยุคหลัง นับตั้งแต่ “ชั่วฟ้าดินสลาย” เป็นต้นมา
จากประกายเล็กๆ เรากลับไปสืบค้นข้อมูลอีกรอบ เกี่ยวกับเหตุการณ์ของบ้านเมืองในยุคสมัยต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงกับฉากหลายฉากในหนังของหม่อมน้อย แน่นอนว่า ฉากเหล่านั้นอาจเป็นการพูดเพียงผ่านๆ ตามวิถีและชั้นเชิงของภาพยนตร์ แต่สำหรับคนดูผู้สนใจใฝ่ใจในความเป็นไปของบ้านเมือง เหตุการณ์ในหนัง ก็สามารถเป็นต้นทางให้สืบค้นลงลึกต่อไปได้เช่นกัน
เรามาดูกันว่า ในหนังยุคหลังของหม่อมน้อย มีริ้วรอยเหตุบ้านการเมืองยุคไหนอย่างไรบ้าง
ช่วงสมัยรัชกาลที่ 6
ในฉากหลังของภาพยนตร์อีโรติกแต่มีเสน่ห์อย่าง จันดารา ปฐมบท” นั้น ถูกปูพื้นด้วยช่วงสมัยของรัชกาลที่ 6 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านทางช่วงพุทธศตวรรษที่ 2460 โดยมี บ้านวิสนันทเดชา เป็นฉากหลัง และเรื่องราวตลอดทั้งเรื่อง ก็เล่าเรื่องผ่านช่วงสมัยนี้ไปอย่างสมบูรณ์แบบ

สภาพเบื้องหลังในช่วงสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์นั้น อาจจะเรียกได้ว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงต่อยอดมาจากรัชกาลก่อนหน้า (รัชกาลที่ 5 : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) อาทิ ให้มีการใช้พุทธศักราช (พ.ศ.), ประกาศการใช้พระราชบัญญัตินามสกุล พระราชบัญญัติการประถมศึกษาขึ้น กำหนดให้เด็กชายและเด็กหญิงทั่วราชอาณาจักรที่มีอายุตั้งแต่ 7-14 ปี เข้าเรียนในโรงเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน

ในด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น ช่วงสมัยนี้ เริ่มมีการแต่งกายที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การแต่งกายของสตรี โดยเริ่มมีการนุ่งซิ่น และนุ่งผ้าถุง แทนที่การนุ่งด้วยโจงกระเบน และมีการไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวย หรือผมบ๊อบแบบชาวตะวันตก ส่วนฝ่ายชาย มีการเปลี่ยนจากการนุ่งผ้าลอยชาย มาเป็นนุ่งกางเกงแพร ส่วนการแต่งกายยามทำธุระ จะเน้นเสื้อสูท เนกไทปมใหญ่ และมีเสื้อกั๊กสวมอยู่ แต่จะเน้นโทนสีขาว-ครีม รองเท้าครีม สวมหมวกเล็กน้อย พองาม หรือสวมเสื้อราชปะแตน และนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน อยู่บ้างในส่วนการแสดง ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคทองของโขน และละคร เลยทีเดียว
เหตุการณ์ปฎิวัติ พ.ศ. 2475
ท่ามกลางงานปาร์ตี้ของกลุ่มชนชั้นสูง (หรือศัพท์ในปัจจุบัน ก็คงเป็นเหล่าบรรดาเซเลบริตี้) ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ที่บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกแบบมีมารยาทนั้น จู่ๆ ความสงบเงียบงันก็ปกคลุมโดยพลัน ด้วยคณะนายทหารจาก “คณะราษฎร” เข้ามาขอควบคุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งในงานดังกล่าว ผ่านทางเหตุการณ์ทางการเมืองที่คนไทยรู้จักกันดี คือ “การปฎิวัติ 2475” นั่นเอง

เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยกลุ่มคณะราษฎร โดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น เริ่มขึ้นจากการวางแผนอันยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2470 ณ หอพักแห่งหนึ่ง บนถนน Rue Du Sommerard ประเทศฝรั่งเศส โดยคณะผู้ก่อการ 7 คน คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ร.ท.แปลก ขีดตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นายตั้ว ลพานุกรม หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) นายแนบ พหลโยธิน และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์)

โดยเหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มขึ้นเมื่อช่วงเช้ามืดเวลาประมาณ 04.00 น. พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้จัดกำลังไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม และค่ายทหารของกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ตามสำดับ โดยทางพระยาทรงฯ ใช้อุบายว่า มีการลุกฮือของชาวจีนเกิดขึ้นในพระนคร จนสามารถรวบรวมกองกำลังทหารได้เป็นจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงทหารในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมกับผู้ก่อการเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาได้รับคำสั่งว่าจะมีการฝึกซ้อมในก่อนหน้านี้

ต่อมาในเวลา 06.00 น. มีทหารราบและทหารม้ามาถึงลานพระราชวังดุสิตหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาก็ปีนขึ้นไปบนยอดรถหุ้มเกราะคันหนึ่งและอ่าน “ประกาศคณะราษฎร” ซึ่งเป็นแถลงการณ์ประกาศถึงจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการสถาปนารัฐอันมีรัฐธรรมนูญขึ้นในสยาม ผู้ก่อการเปล่งเสียงด้วยความยินดี ท่ามกลางกองทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งฝ่ายผู้ก่อการได้เข้าควบคุมตัวสมาชิกระดับสูงคนอื่นๆ ในรัฐบาลและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ถูกจับกุมขณะทรงฉลองพระองค์บรรทมอยู่เลย ซึ่งการก่อการดังกล่าวนี้ ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 3 ชั่วโมง
เหตุการณ์กรณีพิพาทอินโดจีน กับ นโยบายรัฐนิยมของ จอมพล ป.
ฉากหลังของยุคสมัยดังกล่าวนี้ ถ้าเรียกเป็นภาษาหนัง อาจจะเรียกว่า “2 เรื่องควบ” ก็ว่าได้ เพราะมันโผล่อยู่ในภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” และ “จันดารา ปัจฉิมบท” ตามลำดับ กล่าวคือ ในเรื่องแรก ฉากเหตุการณ์เรียกร้องทวงดินแดนคืนฝรั่งเศสของนักศึกษาในพระนคร และฉากงานเลี้ยงของท่านผู้นำ ส่วนเรื่องหลัง เป็นฉากที่จันดารา กลับเข้าไปอยู่ในบ้านวิสนันท์เดชา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ระเบิดกรุงเทพฯ ของฝ่ายสัมพันธมิตร

ช่วงสมัยภายใต้การปกครองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงสมัยแรก (2481-2487) นั้น ในแง่ของทางประวัติศาสตร์นั้น มันคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์สงครามโลก ครั้งที่ 2 พอดี กล่าวคือ ในกรณีพิพาทอินโดจีน ระหว่างประเทศไทย กับฝรั่งเศส ที่มีปัญหากันเรื่องดินแดนอินโดจีนของฝ่ายหลัง ซึ่งเคยเป็นดินแดนของฝ่ายแรกในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5
โดยต่อมา กรณีพิพาทนี้สิ้นสุดลง ด้วยทางฝ่ายฝรั่งเศสประสบกับความพ่ายแพ้ต่อนาซีเยอรมัน ใน พ.ศ. 2483 ซึ่งส่งผลให้พื้นที่อินโดจีนของฝรั่งเศสนั้นถูกตัดขาดจากโลกภายนอก บวกกับการที่ญี่ปุ่นทำการยึดครองดินแดน ทำให้ฝรั่งเศสถูกบีบให้ยกดินแดนคืนให้ไทย ผ่านทางอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งผลของสนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้ฝ่ายไทยได้ดินแดนพิพาทมาอยู่ในปกครอง และจัดตั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครจัมปาศักดิ์, ลานช้าง พิบูลสงคราม และจังหวัดพระตะบอง ซึ่ง 4 จังหวัดดังกล่าวอยู่ภายใต้การปกครองของไทย จนถึง พ.ศ. 2488 พื้นที่พิพาทนี้ก็กลับไปเป็นดินแดนของฝรั่งเศสตามเดิม เนื่องจากสิ้นสุดสงคราม

ขณะที่นโยบายเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมนั้น จอมพล ป. ตัดสินใจจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 เพื่อเป็นการจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศทั่วไป ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปทีละนิด โดยการประกาศรัฐนิยมฉบับต่างๆ อาทิ สั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า ไม่ส่งเสริมศิลปะและดนตรีไทยเดิมแต่ส่งเสริมดนตรีสากล ฯลฯ โดยมีคำขวัญในสมัยนั้นว่า “มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ”

นอกจากนี้ การประกาศดังกล่าว ยังรวมถึงการวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน, ท่าน, เรา มีคำสั่งให้ข้าราชการกล่าวคำว่า “สวัสดี” ในโอกาสแรกที่พบกัน และมีการตัดตัวอักษรที่ออกเสียงซ้ำกันจึงมีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เขียนเป็น กระซวงสึกสาธิการ เป็นต้น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ จอมพล ป. ก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นโยบายรัฐนิยมก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย อักขรวิธีภาษาไทยได้กลับไปใช้แบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมที่สังคมไทยเริ่มรับมาจากตะวันตกหลายรูปแบบในขณะนั้น ยังคงอยู่ต่อมาแม้ว่าจะไม่มีการบังคับใช้ตาม “รัฐนิยม” อีกต่อไป และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยสมัยใหม่ไปแล้ว
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine