Marsmag.net

5 เรื่อง อึ้ง ทึ่ง เสียว เกี่ยวกับเครื่องบินโดยสาร

    นับวันเครื่องบินจะได้รับความสนใจในการใช้โดยสารมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากหลายสายการบินผุดแคมเปญลดราคาเพื่อกระตุ้นให้มีการใช้บริการมากขึ้น กระนั้นปัญหาความปลอดภัยของเจ้านกเหล็กก็ยังมีออกมาให้เห็นบ่อยครั้ง สะท้อนเป็นข่าวคราวที่มีทั้งระเบิดกลางอากาศ เครื่องดับจนโหม่งโลก ทัศนวิสัยแย่ทำให้ประสบอุบัติเหตุ กลายเป็นความกลัวฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก จนบางคนไม่กล้าโดยสารเครื่องบินกันเลยทีเดียว

mars จึงขอนำข้อมูลบางส่วนที่อาจทำให้ท่านยิ่งผวากว่าเดิมซึ่งเคยเกิดขึ้นจริงมาบอกเล่ากัน แต่อย่ากลัวไป เพราะอย่างไรสถิติความปลอดภัย ‘เครื่องบิน’ ยังเป็นยานพาหนะติดอันดับมีความปลอดภัยที่สุดในโลกอยู่ดี

1. นักบินของีบกับเขาเหมือนกัน
    มีข้อมูลระบุว่า 50% ของการเดินทางที่มีชั่วโมงบินยาวๆ นักบินขอเล่นเกมซ่อนตาดำกันเสียเฉยๆ โดยพึ่งระบบ Auto Pilot  ให้นำพาเครื่องบินไปยังจุดหมาย ซึ่งเรื่องนี้อาจดูเหมือนเกินจริง แต่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อหลายปีก่อน ได้รับการเปิดเผยโดย หนังสือพิมพ์ Nguoi Lao Dong ว่าสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ ภายหลังเที่ยวบิน VN545 เส้นทางกรุงฮานอย-นครแฟร็งก์เฟิร์ต ขาดการติดต่อกับภาคพื้นเป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมง ขณะบินอยู่ในน่านฟ้าของ 3 ประเทศกลุ่มยุโรปตะวันออก และตรงดิ่งเข้าไปยังน่านฟ้าสาธารณรัฐเช็ค ทำเอาปั่นป่วนถึงขั้นหอบังคับการบินท่าอากาศยานกรุงปราก ต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นไปประกบ เพื่อส่งสัญญาณสักพักก่อนนักบินจะตื่นและนำเครื่องลงจอด


2. ฟ้าผ่าลงเครื่องบินบ่อยมาก
ผู้โดยสารอาจตื่นตระหนก เมื่อเห็นสภาพอากาศแปรปรวน มีฟ้าผ่า ทำเอาลุ้นระทึกว่าจะผ่าลงเครื่องบินหรือไม่ ข้อนี้ต้องบอกเสียก่อนว่าโอกาสถูกฟ้าผ่าจะพบได้บ่อยที่สุดในระดับต่ำกว่า 5  กม.ลงมา จากสถิติพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วเครื่องบินไอพ่นจะถูกฟ้าผ่าราว  10,000 ชั่วโมงบินต่อครั้ง แต่อย่ากังวลไปเนื่องจากขณะถูกฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าอาจวิ่งจากเมฆมายังส่วนหัวของเครื่องบิน ผ่านด้านนอกของลำตัวเครื่องบินไปยังส่วนหาง แล้วลงสู่พื้นดิน หรืออาจผ่านมาที่ปีกด้านหนึ่งไหลผ่านตัวเครื่องบินไปยังปีกอีกด้านหนึ่งแล้วเคลื่อนที่เลยไป เมื่อกระแสไฟฟ้าผ่านเปลือกนอกของเครื่องบินจึงไม่ทำอันตรายต่อผู้โดยสารภายในเครื่องบิน (ข้อมูลจาก www.rmutphysics.com )


3. เหตุผลที่ผู้ใหญ่ต้องสวมหน้ากากออกซิเจนก่อน
จากเหตุผลที่พอทราบกันมาว่า ผู้ใหญ่ต้องสวมหน้ากากก่อน เผื่อกรณีสติแล้วจะไม่สามารถช่วยเหลือเด็กได้นั้น มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่หน้ากากออกซิเจนร่วงลงมามีเวลาเพียง 15-20 วินาที ก่อนจะสลบ (กรณีระบบอากาศขัดข้อง) ฉะนั้นจึงต้องสวมให้คุณเองก่อนสวมให้เด็ก เพราะเด็กสลบไป 2-3 วินาที จะยังไม่เป็นอันตรายต่างจากผู้ใหญ่ หากสลบไปเด็กจะไม่มีคนช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันหน้ากากจะหล่นลงมาด้วย 3 วิธีคือ นักบินเป็นผู้กดสวิตช์, หล่นอัตโนมัติเมื่อความดันอากาศในเครื่องเปลี่ยนมาถึง 13000 ft. และลูกเรือใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า MRT


4. บางครั้งเวลา Landing นักบินก็ตั้งใจกระแทก Runway แรงๆ
    ขณะเครื่องกำลังลงจอดนับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของความกลัว ผู้โดยสารบางท่านหลับตาปี๋เพราะจินตนาการไปต่างๆ นานา หรือภาวนาให้ไม่เกิดความผิดพลาด แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าบ่อยครั้งของการ Landing นักบินเองต่างหากเป็นฝ่ายบังคับเครื่องให้ร่อนลงกระแทกรันเวย์อย่างแรง เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงที่สนามบินมีลักษณะเปียก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ล้อสามารถรีดน้ำออกจากจุดตกกระทบให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการลื่นไถล


5. เปิดมือถือไม่ได้ทำให้เครื่องบินตก ?
      ก่อนอื่นต้องแยกเรื่องนี้ออกเป็น 2 ประเด็น เริ่มจากโทรศัพท์มือถือไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ต่อระบบขับเคลื่อน สูญเสียการควบคุม หรือเป็นตัวจุดประกายไฟทำให้เครื่องบินระเบิดใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันเป็นเรื่องของสัญญาณรบกวนเสียมากกว่ามีผลโดยตรงต่อการสื่อสารระหว่างนักบิน และหอบังคับการ เช่นหากสังเกตเวลามีสายเข้า หรือโทรออก วิทยุที่กำลังเปิดใช้งานอยู่จะมีเสียงแกว่งดังอืดๆ ยาวๆ และนั่นคือการรบกวนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก kiitdoo.com