Marsmag.net

‘รัสมี อีสานโซล’ หมอลำสำเนียงโซล 1 ใน 50 ชาวเอเชียน่าจับตาที่สุดในปีนี้

อาจจะเป็นข่าวไม่ดังนักในบ้านเรา แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อย เมื่อ The Straits Times สื่อใหญ่สิงคโปร์จัดอันดับ 5 คนไทยติด 50 ชาวเอเชียที่น่าจับตามองที่สุดในปีนี้ และ 1 ใน 5 นั้นมีชื่อของ ‘รัสมี เวระนะ’ หรือ ‘รัสมี อีสานโซล’ ติดสาขาศิลปวัฒนธรรมและกีฬาด้วย ทำไม The Straits Times จึงจัดอันดับให้เธอเป็นหญิงสาวที่น่าจับตาที่สุด อ่านบทสัมภาษณ์เธอและ ‘ก้อง-สาธุการ ทิยาธิรา’ มือกีตาร์คู่บุญ แล้วจะได้คำตอบ

‘รัสมี อีสานโซล’ ชื่อนี้เราเริ่มได้ยินถี่หูมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่คนฟังเพลงนอกกระแส โดดเด่นด้วยสำเนียงเอื้อนหมอลำของสาวอุบลฯ ‘แป้ง-รัสมี เวระนะ’ ที่เกี่ยวก้อยร้อยแขนไปกับดนตรีโซล ซึ่งคุณภาพของเพลงนั้นนอกจากการันตีด้วย 3 รางวัลจากคม ชัด ลึก อวอร์ด ทั้งศิลปินหญิงยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยม และเพลงยอดเยี่ยมแล้ว อีกทั้งยังมีเสียงแห่งความชื่นชมของผู้ฟังฝั่งยุโรปเมื่อครั้งที่เธอนำเพลงหมอลำไปขับขานรากเหง้ายังฝรั่งเศส 

แต่น่าแปลก! เรากลับได้ยินจากปากแป้งว่า ครั้งหนึ่งเมื่อเธอไปออกงานอีเวนต์ ณ ห้างฯ ใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ นั้น บทเพลงหมอลำของเธอกลับถูกห้ามปล่อยเสียงออกลำโพง เพราะจะทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ของสถานที่!

เจ็บไหม?!

มันก็คงคล้ายๆ ที่คุณพูดภาษาพื้นถิ่นไม่ได้ในประเทศของตัวเอง นั่นจึงทำให้เราสงสัยว่า ดนตรีคือเสียงแห่งเสรีภาพจริงหรือไม่? เรานิยมเหยียดหยามรากตัวเองหรือเปล่า? ไหลเรื่อยไปถึงพื้นที่ยืนของคนดนตรีตัวเล็กๆ ในพายุอุตสาหกรรมเพลงไทย

…เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เรามาบรรเลงกันเลยดีกว่า!

รัสมี อีสานโซล เอาเข้าจริงแล้วบอกเล่าความเป็นโซลได้ขนาดไหน

รัสมี : โดยส่วนตัวแล้ว คือจิตวิญญาณและรากเหง้าของคนอีสานที่เราหยิบเอามาใช้ ซึ่งเราก็เอาสำเนียงและการร้องแบบโซลมาผสมผสานด้วย มันมีทั้งเรื่องเทคนิคและวัฒนธรรมผสมอยู่ในนั้นด้วย
จริงๆ รากเพลงโซลมาจากคนผิวดำอยู่แล้ว ทุกอย่างที่เขาร้องมาจากจิตวิญญาณและวิถีชีวิตของเขา ตั้งแต่ยุคที่เป็นแรงงานเก็บเกี่ยวฝ้าย จิตวิญญาณตรงนี้ก็คล้ายกับคนอีสานเหมือนกัน คือความลำบาก การต่อสู้ ความแร้นแค้น

ในแง่การทำเพลงในเมืองไทยทุกวันนี้ลำบากแค่ไหน ถ้าพูดถึงการเป็นอาชีพ ทำให้มันหล่อเลี้ยงตนเองได้

รัสมี : ถามว่าลำบากไหม? สำหรับตัวเองว่าไม่ก็ไม่นะ เพราะเราหยิบจับอะไรที่มันแตกต่างจากคนอื่นแล้วนำมาสร้างใหม่ ด้วยเทคโนโลยีอะไรต่างๆ ณ ปัจจุบันมันไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำเพลงเอง แต่เรื่องยากอยู่ที่ทำแล้วคนจะฟังไหม อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง สำหรับเราหาคนฟังยากไหม? ไม่นะ เพราะคนที่มาฟังเพลงเราค่อนข้างจะเปิด เราไม่ได้มองว่าคนจะฟังเพลงเราตั้งแต่แรกเลย เราทำไปจะถูกผิด ชอบหรือไม่ชอบ ตรงนั้นเราไม่มีกรอบเลย เราทำเพราะเราอยากทำมัน

ก้อง : ผมมองว่ามันต้องสมดุลกัน หลายคนบอกว่าซีดีตอนนี้ไม่สามารถทำเงินได้ แต่เราไม่ได้มองการขายตั้งแต่ตอนแรก แต่ดูจากยอดคนสั่งซีดีเราแทบทุกวัน ผมรู้สึกว่าที่เขาบอกว่าขายซีดีไม่ได้แล้ว มันไม่จริง

รัสมี : คนเขาก็เซอร์ไพรส์เหมือนกันว่าเราขายได้ ไปเล่นคอนเสิร์ตก็ยังมีคนซื้อซีดีเรา ซึ่งคนเสพเขาอาจจะเห็นว่ามันเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ซึ่งเราก็เคยเป็น เราชอบเสพงานเขา เราก็อยากเก็บงานเขา

ทิศทางของรัสมี อีสานโซล สเต็ปต่อไปจะเป็นยังไง

รัสมี : ตอนนี้แป้งก็เขียนเพลงเรื่อยๆ ค่ะ เห็นสถานการณ์อะไร ออกไปข้างนอกเจออะไรเราก็กลับมาเขียนเพลง แต่ว่ายังคงความเป็นหมอลำในแบบของเรามากที่สุด หยิบเอาหมอลำแต่ละประเภทออกมาทีละน้อยๆ ในแต่ละอัลบั้ม เพราะว่าหมอลำยังมีอะไรให้เล่นอีกเยอะ มีหมอลำหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหมอลำซิ่ง หมอลำเต้ย หมอลำเพลิน หมอลำภูไท หมอลำตังหวาย ซึ่งมันมีเยอะมาก ถ้าทำได้ก็ยาว

ก้อง : ตั้งแต่เริ่มต้นเลยเราก็ไม่เคยคิดว่าเอาไงต่อ แต่พอทำไปแล้วเรารู้เลยว่ามันยังมีอีกเยอะมากที่เรายังไม่ได้จับมา แล้วมันมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง หมอลำแต่ละจังหวัดมันก็มีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน

รัสมี : จริงๆ มันไม่ได้ต่างอะไรเยอะนะ แต่เมื่อมันมีการบิดนิดหนึ่งมันก็เปลี่ยนการเรียกไปแล้ว

การเอารากของเรามาเล่นมาใช้ในศิลปะ มองว่ามันเชยไหม หรือมันดีหรือเปล่าที่เราจะรักษามันต่อไป

รัสมี : ในมุมมองแป้งคิดว่า ถ้าเราไม่ได้เอามาทำให้มันแย่ลง มันก็ควรจะมีคนสนับสนุนเรา เพราะว่าเราทำแล้วทำให้มีคนฟัง ตรงนี้สำคัญเพราะบางคนทำออกมาไม่มีคนฟัง ถึงแม้ว่ามันจะเป็น Traditional แค่ไหน เก่าแค่ไหน แต่เราก็เคารพตรงนั้นที่มีคนสร้างงานชั้นที่หนึ่งขึ้นมา เรามาทำอีกชั้นหนึ่งก็กรองข้อมูลพวกนี้ออกมา สำหรับเราไม่เชยนะ มันเป็นอะไรที่เท่ เพราะตอนนี้แป้งไม่ฟังเลยนะเพลงป๊อปใหม่ๆ พวกนี้เราไม่ต้องไปหาฟัง มันเจอได้ทั่วทุกมุมถนน แต่เราฟังย้อนกลับไปทั้งแอฟริกันเก่าๆ อียิปต์ แล้วก็หมอลำเก่าๆ เราได้เห็นความจริง เห็นการไม่โกหกตัวเอง เห็นการพูดภาษาอย่างหนึ่งที่อยากระบายให้คนอื่นฟัง

ก้อง : ผมว่ามันมีเสน่ห์ทั้งเรื่องภาษาและทำนองที่เขาใช้ เราเห็นวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้นด้วย

ในแง่ของคนทำเพลงคุณมองเรื่องลิขสิทธิ์เพลงทุกวันนี้ยังไง

รัสมี : สำหรับแป้งเพลงมันคืองานศิลปะนะ เราต้องมี Inference อะไรบางอย่างเราถึงจะถ่ายทอดออกมาได้ เราเอาเขามาได้ แต่เอามาทุกเม็ดมันก็แย่นะ เราหยิบมาเป็นแรงบันดาลใจได้ เหมือนคนวาดภาพ
คิดว่าลิขสิทธิ์บางทีมันก็ตีกรอบการทำงาน อย่างบางเพลงเราชอบมาก เพลงอีสานเก่าๆ เราอยากหยิบเอามาทำใหม่ แต่เมื่อเรารู้ว่าลิขสิทธิ์มันอยู่กับบริษัทนี้มันไม่ง่ายแล้ว

มองในแง่การพัฒนาศิลปะ ตรงนี้มันทำให้เราพัฒนายากไหม?

รัสมี : ยากนะ เพราะว่ามันมีเพลงคลาสสิกอีสานที่ตอนนี้ไปอยู่กับค่ายยักษ์ใหญ่ ซึ่งถ้าเราเป็นเหมือนเมื่อก่อนคือเราไปขอกับครูเพลงได้ แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่อพาณิชย์ไปแล้ว บางเพลงเราก็ไม่กล้าเล่นเลย กลัวเรื่องลิขสิทธิ์

มองเห็นทางออกไหมว่า การที่เราจะเอาเพลงลิขสิทธิ์มาร้องให้คนฟังเพื่อความบันเทิงมันควรจะออกมาในรูปไหน

รัสมี : ถ้าเป็นเรา เราไม่ร้องเลย แต่ถ้าเป็นเพลงของเราเองจะทำอะไรก็ทำได้ จะถ่ายวิดีโออะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่มาก๊อปเพลงเราแล้วอัดต่อ (ขาย) แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆ เราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดยังไงเพราะมันเป็นเรื่องธุรกิจ มันเป็นระบบแบบนั้นไปแล้ว

ก้อง : สำหรับเราเอาไปใช้แล้วก็ขึ้นเครดิตให้หน่อย ก็เท่านั้น

รัสมี : เราไม่ได้หวงนะ อย่างทุกวันนี้บางคนไม่ได้ขอเลย เอาไปลงเองจนยอดวิวเป็นแสน เราก็แกล้งจิกไปนิดหนึ่งว่าเป็นเพลงเรานะ เขาก็ตกใจเรื่องลิขสิทธิ์ แต่เราก็ล้อเล่น คือเรื่องพวกนี้ (เอาไปใช้) มันควบคุมยากกับยุคที่อินเทอร์เน็ตมันกว้างขึ้น ศิลปินก็ต้องอยู่กับภาวะธรรมชาติตรงนั้นให้ได้

ในต่างประเทศที่สัมผัสมา คิดว่าลิขสิทธิ์เขาแรงมากไหม

รัสมี : น่าจะแรงกว่านะ อย่างตอนที่ไปเล่นต่างประเทศเขาจะไม่ค่อยมีเพลง Cover โดยตรง แต่มันจะมีวงเยอะมาก เป็นวงทำเพลงเอง นำเสนอผลงานตัวเอง ส่วนใหญ่ศิลปินที่โน่นจะเป็นแบบนั้น ทำเพลงเอง อัดกันเอง โปรโมตเอง เหมือนที่แป้งทำตอนนี้เลย แต่ของเขามีสถานที่รองรับดีกว่าบ้านเรา อย่างปารีสมันจะมีฮอลล์ทุกมุมถนน ฮอลล์สำหรับ 300-400 คน แล้วข้างในก็ซัพพอร์ตหมดทั้งเรื่องระบบเสียง ระบบไฟ เขาพร้อมที่จะซัพพอร์ตคนทำเพลงอินดี้หรืออันเดอร์กราวด์ แล้วกลุ่มก้อนของนักดนตรีที่นั่นก็เหนียวแน่น อย่างคนนี้มีคอนเสิร์ตเขาก็จะไปเชียร์กัน

ความเป็นอีสาน ความเป็นหมอลำ ได้รับการตอบรับอย่างไรบ้างในต่างประเทศ

รัสมี : ตอนนั้นแป้งทำโปรเจ็กต์กับยุโรป เขาก็ตอบรับดีมาก ซึ่งในนั้นจะมีหัวข้อการพูดคุยเรื่องครีเอทีฟ ดีไซน์ ศิลปะ และธุรกิจ เราอยู่ในกลุ่มบุคคลทั่วไปที่จะได้พูดคุยกันเรื่องการครีเอตกับคอมเมอร์เชียล แลกเปลี่ยนกัน แล้วเราก็จะเล่นโชว์เพลงของเราสัก 10 นาทีอะไรแบบนั้น

พูดถึงเรื่องครีเอตกับคอมเมอร์เชียล คิดว่ามันควรจะเดินควบคู่กันไปยังไง

รัสมี : ถ้าตอบในมุมมองเราก็คือจริงๆ เราไม่ได้ทำให้มันเป็นการค้าตั้งแต่แรกแล้ว แต่ว่าการมีครีเอทีฟมันไม่ผิด เราแค่ทำเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง แค่อยากมีอัลบั้มเท่านั้น แล้วก็อยากรักษาวัฒนธรรมของอีสาน ไม่อยากให้มันถูกแช่แข็งอย่างนั้นตลอด ถามว่าคอมเมอร์เชียลยังจำเป็นกับชีวิตเราไหม? ก็จำเป็นอยู่ เรายังต้องขายซีดี เรายังต้องไปงาน แต่ว่าไปในแบบของเรา

เอาเข้าจริงความเป็นอินดี้บ้านเราอยู่ยากไหม

รัสมี : ยากนะ ขนาดเพื่อนที่ทำเพลงเองอะไรเองก็อยู่ยากเหมือนกัน

แล้วถ้าเราอยากให้ศิลปินอินดี้พวกนี้อยู่รอดต้องช่วยเหลือพวกเขายังไง?

รัสมี : ผู้ประกอบการทำคอนเสิร์ตแต่ละทีต้องคิดถึงเขาด้วย ไม่ใช่จะหาผลกำไรกับคนคนนี้อย่างเดียว ต้องคิดว่าคนคนนี้เป็นคนดึงลูกค้าเข้ามา อยากจะให้ผู้ประกอบการดูแลศิลปินหน่อย เพราะมันก็ไม่ใช่อาชีพที่ไปปล้นไปขโมยเขากิน (หัวเราะ) อยากจะให้มีราคาค่าตัวให้เขาหน่อย บางคนไปเล่นฟรีมันก็ไม่ถูกต้อง

แสดงว่าคุณเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ใช่ไหม

รัสมี : มีเพื่อนเคยเจอ แต่ด้วยตัวเองเคยเจออย่างอื่น แบบว่าห้ามร้องหมอลำที่นี่เพราะมันไม่สมควรจะร้องเพลงของคุณที่นี่

ก้อง : จริงครับ! เรากำลังจะขึ้นเวทีแล้วเขามาบอกว่าเล่นได้ แต่เราจะไม่เปิดลำโพงใหญ่ออกไป เป็นห้างฯ ใหญ่เลยครับ

รัสมี : คือเขาไม่เปิดใจ ตอนนั้นเราซาวด์เช็ก เขาได้ยินเสียงพิณกับเสียงแคนปุ๊บ เท่านั้นแหละเขาตัดสินเลย เขาว่ามันคือเพลงของคนขับตุ๊กตุ๊กฟัง ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ ออร์แกไนซ์กับเราโอเคนะ แต่ห้างฯ เขาไม่โอเค

นี่คือการเหยียดชนชั้นเลยนะ

รัสมี : เหยียดเลยล่ะ! บ้านเรา พ.ศ.นี้ยังมีอยู่ ตอนแรกเราไม่เล่นแล้ว มันเฟล แต่ว่ามีน้องคนหนึ่งบอกว่าเล่นเลยเดี๋ยวเขาจะดูแลให้ทุกอย่าง เราก็ต้องลากความรู้สึกอึดอัดนั้นเล่นต่อไป มันก็เลยคิดว่าบางทีการจัดงานมันไม่ถูกที่ถูกทางด้วย อย่างที่ฝรั่งเศสเขาจะมีที่เฉพาะ แต่สำหรับห้างฯ มันอาจจะมีหลายอย่าง หมอลำก็เลยไม่ไปเล่นที่ไหนเลยเพราะอย่างนี้แหละ คิดว่านะ เลยต้องอายไป คนกรุงไม่เปิดให้เขา เขาก็เลยไม่กล้า มันเชย มันไม่ใช่สำหรับเขา

ถ้าเป็นอย่างนั้น คำพูดที่ว่าดนตรีคือเสียงแห่งเสรีภาพ มันก็ไม่จริงสิ?

รัสมี : มันไม่จริง แค่เห็นเครื่องดนตรีก็โดนว่าโดนแบ่งแล้ว คือคุณจะให้เล่นอะไรล่ะ ดับเบิลเบส เชลโลเหรอ

ก้อง : วัฒนธรรมฝรั่งถึงจะเก่าแค่ไหนเรากลับยอมรับได้ ยิ่งเก่ายิ่งดูเท่ แต่เรากลับไม่ชอบเพลงของตัวเอง ยิ่งตอนนี้เริ่มทำอัลบั้มที่สอง ผมยิ่งเจอหมอลำแปลกๆ เก่าๆ ซึ่งทุกวันนี้แทบไม่มีแล้ว เราพบว่ามันมีเสน่ห์ให้เซอร์ไพรส์ตลอด

ในสายตาต่างชาติเขาชื่นชมดนตรีของเรา แต่น่าตลกไหมที่คนบ้านเรากลับเหยียดเพลงพื้นถิ่นของตัวเอง อยากจะบอกอะไรตรงนี้

รัสมี : บอกไปในแล้วในเพลงเพลงหนึ่งว่า ‘อีสานข้อยก็มีหมอลำม่วน เจ้าคงสิด่วนฟังแล้วบ่ม่วนหู’ คือแม้คุณจะพูดอะไรก็พูดไป แต่มันคงเป็นแค่ลมผ่านที่เข้าหูซ้ายออกหูขวา เราก็จะทำของเราต่อไป คุณไม่มีทางจะหยุดเราได้ (หัวเราะ) เราไม่มีทางหมดกำลังใจที่จะทำหมอลำ มันเป็นเพียงลมผ่านไปเท่านั้น
ก้อง : ผมมองว่ายุคสมัยนี้มันต้องเปิดใจแล้ว ยอมรับแล้วว่าทุกอย่างมันกำลังพัฒนา ถึงแม้ว่าเราไม่ชอบ แต่อย่างน้อยก็เปิดหนทาง ถ้าคุณไม่เก็ตจะผ่านไปก็ได้ แต่ขออย่างเดียวเปิดก่อน ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรา ยังมีอีกหลายวงที่เอาเพลงเก่าๆ มาทำ เขาเหล่านั้นก็สามารถพัฒนาได้

รัสมี : เหมือนอย่างคนญี่ปุ่นเขาแบกเครื่องดนตรีของเขามันน่ารักดีนะ แต่ของเรามีไหมวัยรุ่นแบกแคนแบกซอ ไม่มีนะ น้อยมาก คนมักมองเขาว่าเชย มันไม่เหมือนประเทศอื่นที่เขาภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง ชอบไปเห่ออะไรที่มันไม่ใช่ของเรา เขามองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของความยากจน มองเป็นคนโง่

ก้อง : ผมมีความรู้สึกว่าเสียดาย แม้เขาจะชอบหรือไม่ชอบ แต่เราเสียดายโอกาสที่เขาจะได้เห็นอีกมุมหนึ่ง แม้ไม่ชอบ แต่ก็จะได้เห็นแน่นอน

แล้วสังคมดนตรี สังคมเพลงในบ้านเรามันมีความเท่าเทียมไหม

รัสมี : ตอนที่แป้งจะทำเพลงใหม่ๆ ก็โดนเยอะเหมือนกันนะ ร้องหมอลำเมื่อก่อนเราก็อายเหมือนกัน กลัวนะบางทีเข้าหานักดนตรีแจ๊ซ เพราะสไตล์แจ๊ซมันสุดแล้ว แต่ก็เป็นแค่บางคน เมื่อเราไปเจอแจ๊ซจริงๆ ที่ปารีส เขาเป็นกันเองกับเรามาก แล้วก็เจอระดับอาจารย์ที่เมืองไทยเขาเป็นกันเองสุดๆ คือถ้าคนที่เขารู้จริง เขาจะไม่ดูถูเรานะ เขาให้กำลังใจเรา

พ.ศ. นี้เสียงขับขานเพลงอีสานเป็นยังไง บอกเล่าความรู้สึกอะไร

รัสมี : เมื่อก่อนเล่าถึงวิถีชีวิตของคน เพราะดนตรีอีสานทำเพื่อความบันเทิงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะเป็นหมอลำคู่ที่มีแคน ผู้หญิงกับผู้ชายร้องตอบโต้กัน อาจจะมีคำลามกแซวกันไปแซวกันมา ซึ่งมันคือช่วงเวลาเฉลิมฉลอง คนไปฟังก็สนุกสนานเพราะมันเป็นเรื่องเล่า เป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดกันมา เพราะเมื่อก่อนไม่มีทีวี ก็จะมานั่งฟังเรื่องเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ เล่าถึงเรื่องนิทานที่แต่งขึ้นมา หรือเรื่องราวของคน วิถีชีวิตต่างๆ แล้วเสียงนะ มัน Amazing มาก เพราะมันไม่มีกลอง ไม่มีเพอร์คัสชั่น แต่สามารถแร็ปได้ เท่มาก!

ส่วนทุกวันนี้ก็ยังมีในงานบุญ แต่เดี๋ยวนี้เด็กๆ ไม่ฟังกัน คือเมื่อก่อนไม่มีให้เลือกเยอะ ก็เหมือนต้องโดนมานั่งฟัง มันบันเทิงไป เดี๋ยวนี้จะเหลืออยู่ในกลุ่มคนแก่ คนที่รักศิลปะจริงๆ

อยากฝากอะไรสำหรับคนที่ยังไม่เคยฟังเพลงรัสมี และอยากฝากอะไรสำหรับคนที่ยังไม่เปิดใจกว้างพอ

รัสมี : ขอใช้คำของอาจารย์นุ (นุ วุฒิวิชัย อาจารย์สอนดนตรีและนักดนตรีแจ๊ซแถวหน้าของเมืองไทย) มานะคะ คือเปิดกะโหลก ซึ่งเขาควรจะเปิดใจให้เสียงดนตรี เพราะว่ามันเป็นศิลปะการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง อย่างน้อยก็คือเปิดใจฟังเพลงทุกแนว บ้านเราก็มีหมอลำ มีลิเก มีหนังตะลุง อยากให้เปิดใจก่อน และอยากฝากอัลบั้มอีสานโซลเอาไว้ด้วย บางทีเราอาจจะทำหมอลำให้แปลกออกไป แต่เราไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อลบหลู่ครูบาอาจารย์ที่เป็นหมอลำเลย เพียงแต่ว่าในความคิดแป้งมันคืองานศิลปะ ไม่มีผิดไม่มีถูก เราทำในสิ่งที่เรารู้เราถนัด และอยากเป็นกำลังใจให้น้องๆ ว่า ยุคนี้มันมีคนเปิดเยอะ แม้ว่าจะเจออะไรที่มันพลิกล็อกเหมือนเราบ้าง (หัวเราะ) แต่ว่ามันยังมีสิ่งดีๆ อีกเยอะ และติดตามพวกเราได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Rasmee (หรือที่ Rasmee Wayrana) ติดตามผลงาน สั่งซีดี สั่งเสื้อได้ค่ะ

เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์