Marsmag.net

เปลือยประท้วง : สารแห่งอุดมการณ์บนเนื้อหนังมังสา

จากจุดสตาร์ทเมื่อต้นยุคศตวรรษที่ 20 Naked Protest หรือ “เปลือยประท้วง” กลายเป็นอีกหนึ่งวิธีการเพื่อแสดงออกถึง “สาร” แห่งอุดมการณ์ความคิด ปัจจุบัน Naked Protest กลายเป็นสิ่งที่สังคมเสรีให้การยอมรับ ขณะที่ก็มีบุคคลและกลุ่มบุคคลนำวิธีการนี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย
หลักไมล์แรกของการประท้วงโดยใช้เนื้อหนังมังสาเป็นเครื่องมือ ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยกลุ่มดูโคบอร์ส (Doukhobors) ที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นยุคศตวรรษที่ 20 จนกลายเป็นที่ยอมรับทางกฏหมายและวัฒนธรรมมากขึ้น ในทางกลับกันก็มีคนอีกกลุ่มที่รู้สึกต่อต้านและเห็นว่าเป็นการกระทำที่อนาจาร ลามก ไม่เหมาะสมที่จะแสดงออกในที่สาธารณะ
การเปลื้องผ้าประท้วง วัฒนธรรมนิยมที่กระจายอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ภาษาบ้านเราใช้ว่าแก้ผ้า การประท้วงเป็นการเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมจากคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการแสดงออกทางความคิดเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ วิธีการประท้วงมีหลากหลายให้เลือกลิ้มลอง อดข้าว อดน้ำ เดินขบวน เผาตึกราบ้านช่อง ไปจนถึงการแก้ผ้าประท้วง
การแก้ผ้าประท้วงเป็นการนำสัญลักษณ์ทางเพศมาเป็นเครื่องต่อรอง ถึงแม้จะเป็นการแหกกฏวัฒนธรรมประเพณีของในบางประเทศ แต่ก็มีการแก้ผ้าประท้วงออกสื่อมาให้เห็นอยู่เสมอ เช่น การเปลือยประท้วงหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกก็คือ การประท้วงการใส่เสื้อผ้าที่ทำมาจากขนสัตว์ ซึ่งมาพร้อมกับสโลแกนว่า I'd rather go naked than wear fur (ยอมเปลื้องผ้าดีกว่าใส่เสื้อขนสัตว์)
การเปลือยประท้วง ลุกลามไปทั่วทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสงคราม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ เช่น “Disrobe for Disarmament” (เปลื้องผ้าเพื่อลดการปลดอาวุธ), Nudes not nukes (เปลื้องผ้าไม่เอานิวเคลียร์), Naked for Peace (เปลื้องผ้าเพื่อสันติสุข), Less Gass More Ass (ลดการใช้แก๊สแล้วขี่จักรยานเพิ่มขึ้น)

“Duckhobors Looking for Christ in Canada in Winter” ภาพของกลุ่มดูโคบอร์สที่เดินเปลือยภายประท้วงในเมืองแลงแฮม รัฐซัสแคทเชวัน แคนนาดา ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารจิตและประสาทวิทยาเมื่อ ค.ศ.1914

การแก้ผ้าประท้วงจากลุ่มองค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA) ในเมืองแปมโปลนา แดนกระทิงดุ เดินขบวนประท้วงก่อนวันเทศกาลวิ่งวัวที่กำลังจะเกิดขึ้น พวกเขาต้องการหยุดประเพณีอันป่าเถื่อนของอนารยชนที่เห็นความเจ็บปวดทรมานของสัตว์เป็นเรื่องสนุก การเดินแก้ผ้าประท้วงครั้งนี้เป็นการสื่อให้นักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงความโหดร้ายทารุณที่แฝงอยู่ในประเพณีการวิ่งวัวหรือสู้วัวในสเปน

เดือนพฤษภาคม ปี 2010 หญิงคนนึงกระโดดขึ้นหลังคาแท็กซี่ทำท่าโยคะแก้ผ้ากลางถนนเพื่อประท้วงรัฐสภาเป็นเวลาห้านาทีพร้อมเสียงร้องตะโกน “Troops out of Afghanistan” (ให้ยกกองกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน)

“GoTopless” องค์กรสตรีของสหรัฐฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิการเปลือยอกตามที่สาธารณะให้ทัดเทียมกับผู้ชาย โดยไม่ถือเป็นเรื่องอนาจารหรือเป็นการสื่อความในเรื่องเพศอีกต่อไป

เดือนกุมภาพันธ์ 2011 ชาวเบลเยี่ยมกว่าพันคนในเมืองลูเวียน ลา นูฟ รวมตัวเปลือยกายประท้วงวิกฤตการเมืองที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้นาน 249 วันหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ปีที่แล้ว เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองกลุ่มฟลามิชที่พูดภาษาดัทช์ และพรรคการเมืองกลุ่มวัลลูนที่พูดภาษาฝรั่งเศส การยืดเยื้อทำให้เบลเยี่ยมกลายเป็นประเทศที่ไร้รัฐบาลนานที่สุด

4 สาว สมาชิกกลุ่มสิทธิสตรียูเครนเฟเมน (FAMAN) เปลือยเต้าประท้วงรัฐบาลหน้าสนามกีฬาโอลิมปิก กรุงเคียฟต่อต้านการค้าประเวณีที่ถูกกฏหมายระหว่างที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ที่ยูเครนและโปแลนด์เป็นเจ้าภาพ

19 พ.ย. 2011 กลุ่มสตรีอิสราเอล 40 คน รวมตัวถ่ายภาพนู้ด ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อประท้วงการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนในอียิปต์ และเพื่อสนับสนุน อาลีอา มอกดา เอลมาห์ดี นักศึกษาอียิปต์ ที่โพสต์ภาพเปลือยภายใต้ชื่อ “บันทึกแห่งการปฏิวัติ” (Memories of a Revolotionary)

21 พ.ย. 2011 ประท้วงเปลือยรูปแบบใหม่จากชาวจีนกว่า 70 คนที่โพสต์รูปเปลือยของตนในเว็บของฮ่องกงที่ชื่อว่า “Ai Wei Fans′ Nudity — Listen, Chinese Government: Nudity is not Pornography” หรือ “ภาพนู้ดของแฟนอ้ายเหว่ยเหว่ย รัฐบาลจีนโปรดฟัง ภาพนู้ดไม่ใช่ภาพโป๊เปลือย” เพื่อประท้วงทางการที่สอบสวนนายอ้ายเหว่ยเหว่ยที่ถ่ายรูปนู้ดกับหญิง 4 คนออกสื่อโลกออนไลน์ว่ามันไม่ใช่ภาพอนาจาร