Marsmag.net

คิดแบบ “ยักษ์” ที่ชื่อ “ประภาส ชลศรานนท์”

อีกไม่กี่วัน แอนิเมชันเรื่อง “ยักษ์” จะเข้าฉาย หลายคนคาดหวังว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งผลงานโดยฝีมือคนไทยที่น่าจดจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีชื่อของ “จิก-ประภาส ชลศรานนท์” เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้กำกับด้วยแล้ว ยิ่งทำให้หลายคนอดคาดหวังไม่ได้ในคุณภาพของเนื้องาน

ประภาส ชลศรานนท์ นั้น จะว่าไป ก็ไม่ต่างจาก “ยักษ์” ตนหนึ่ง พูดแบบให้เข้าใจง่าย เขาคือ “ยักษ์” แห่งแวดวงศิลปะวัฒนธรรม ที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จอทีวีไปจนถึงหน้ากระดาษ กับบทบาทที่หลากหลาย ทั้งครีเอทีฟ นักคิด นักเขียน กวี นักแต่งเพลง ผู้สร้างสรรค์บทเพลงวรรณกรรม เขาคือหัวกะทิ มือเขียนบท หัวโจกผู้ก่อตั้ง พลิกโฉมหน้าวงการเพลง โทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์ ค่ายเพลง ให้กำเนิด ปลุกปั้นศิลปินบุคลากรระดับคุณภาพทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในแวดวงบันเทิงศิลปวัฒนธรรมนับร้อยนับพัน

ด้วยเหตุนั้น จึงไม่แปลก หากเราจะพบว่า บางส่วนของมุมมองความคิดของผู้ชายคนนี้ เขาคิด “ยักษ์” ในความหมายของการ “คิดใหญ่” อยู่พอสมควร โดยเฉพาะที่บอกว่าอยากทำหนังเรื่องนี้ไปกวาดตลาดโลก แต่อย่าเพิ่งเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้หรือไม่ จนกว่าคุณจะอ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ หรือ…จนกว่าคุณจะได้พิสูจน์งานชิ้นนี้ในโรงหนังใกล้บ้านคุณ

อยู่ๆ ทำไมถึงลุกขึ้นมาทำแอนิเมชันในตอนที่อายุขึ้นเลขห้า?
อย่าขำผมนะ ถ้าผมจะบอกว่าผมไม่เคยคิดว่าตัวเองแก่เลย ก็แค่อายุมากขึ้น (หัวเราะ) โดยส่วนตัวแล้วอันนี้เป็นวิถีทางนะ ไม่เกี่ยวกับหนัง คือตัวผมเป็นคนที่ทำอะไรไปเรื่อยๆ ผมชอบทำงานแบบวิ่งเหยาะ งานที่ทำทั้งทำทั้งแอบทำ คือคนทั่วไปไม่รู้มีเยอะแยะ โชคดีที่ผมเป็นคนทำอะไรหลายอย่างได้พร้อมๆ กัน ถ้าถามว่าเรื่องการทำการ์ตูนแอนิเมชันเป็นสิ่งที่อยากทำมานานหรือยัง ต้องบอกว่าอยากทำมามากกว่าสิบปีแล้ว แต่ใจอย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องพร้อมทั้งฟ้าดินและคน คนก็คือทีม ดินก็คือทรัพยากรทั้งหลาย อุปกรณ์ทั้งหลาย ส่วนฟ้าก็คือโอกาสและจังหวะ

เมื่อก่อนแอนิเมชันมันต้องวาดทีละภาพ ใช้คนวาดเป็นโรงงานเลย ฝรั่งญี่ปุ่นเขาต้องจ้างข้ามประเทศ จ้างไต้หวัน จ้างอินเดีย คือรู้ว่าถ้าทำไปก็คงได้ประมาณหนึ่งที่ไม่ได้ดังใจทั้งหมด จนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอเอ็กซ์ (ชัยพร พานิชรุทติวงศ์) ก็น่าจะตอนที่เขากลับมาจากอเมริกาใหม่ๆ ก่อนที่เอ็กซ์เขาจะไปทำปังปอนด์อีกนะ ณ วันนั้นด้วยโปรแกรมทำแอนิเมชันมันได้มีการพัฒนากันไปเยอะแล้ว มีคนทำกันอยู่เยอะแยะแต่ก็ยังแข็งๆ กันอยู่ วันแรกที่เจอเอ็กซ์เรานัดกันไปเจอกันที่ร้านกาแฟแถวๆ ถนนพระอาทิตย์ เรานั่งคุยกันหลายเรื่อง คุยเรื่องแอนิมชันที่เราชอบเขาชอบ คุยแล้วมันรู้เลยว่าคอเดียวกัน เขาเอางานสมัยเป็นนักศึกษามาให้ดู ผมก็เล่าความคิดของผมให้เขาฟังว่าผมมองเห็นแอนิเมชันที่จะทำมันเคลื่อนไหวยังไง คุยกันจบก็ยังไม่ได้ทำอะไรกันต่อ ผมก็ไปทำงานของผม ตัวเอ็กซ์เองเขาก็ไปทำหนังโฆษณาทำอะไรของเขาไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ แล้วก็ไปทำปังปอนด์ ผมก็ได้เห็นอยู่ ก็มีทั้งชอบและไม่ชอบ มันเป็นโปรดักชันระดับทีวีไม่ใช่หนังใหญ่ ผมก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะผมก็มีงานอะไรให้ทำอยู่ตลอดเวลา เขียนหนังสือไป แต่งเพลงบ้าง ทำทีวีไป

มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกใบนี้ในชีวิตของมนุษย์เรา

พูดได้ไหมว่าจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้เราคิดฝันอยากทำการ์ตูน มาจากการที่ตัวเราเองก็เป็นคนที่ชื่นชอบและดูแอนิเมชันมาก่อน?
ต้องเรียกว่าเป็นคนชอบดูแอนิเมชันตั้งแต่เด็ก และโตแล้วก็ยังชอบอยู่ ดูหมดทุกสไตล์ ไม่ว่าจะดิสนีย์ พิกซ่าร์ สตูดิโอ จิบลิ หรือทางฝั่งยุโรป แบบเป็นหนังเงียบๆ ก็ชอบนะ ดูแล้วก็รู้สึกตลอดว่าวันหนึ่งเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันแน่ๆ เพราะมันดึงดูดเราตลอดเวลา เวลาเดินผ่านของพวกนี้ ผมไม่เคยแม้แต่สักครั้งเดียวที่จะไม่เหลียวไปมอง

แสดงว่าการ์ตูนมีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้ชายที่ชื่อประภาส ชลศรานนท์?
พูดอย่างนี้ดีกว่า ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวผมมีอิทธิพลต่อผม ดิอิมพอสซิเบิล เดอะบีเทิลส์ โมสาร์ต
สุนทราภรณ์ ไอ้มดแดง หน้ากากเสือ ผมเป็นเด็กบ้านนอกที่เขาเรียกว่าอะไรล่ะ มันชอบอ่าน อยากรู้อยากเห็น แล้วก็จะมีนิตยสารอยู่เล่มหนึ่งที่มาในช่วงวัยเด็ก นั่นคือชัยพฤกษ์การ์ตูน นิตยสารเล่มนั้นมีอิทธิพลกับผมมากนะ ต้องเรียกว่ามากถึงขั้นลากผมเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ สอบเข้าเรียนเตรียมอุดม สอบเข้าสถาปัตย์ ในนิตยสารเล่มนั้นมีนักวาดการ์ตูนท่านหนึ่งนามปากกาคือ รงค์ (ณรงค์ ประภาสะโนบล) ผมชอบเส้นสายของท่าน เส้นสั่นๆ น่ารัก เป็นทั้งสากลและมีความเป็นไทย ผมชอบนะแต่ไม่เคยเขียนตามเพราะเส้นคนละทางกัน เส้นผมมันเป็นแบบเส้นสถาปัตย์เป็นเหลี่ยมๆ ที่น่าแปลกใจคืออารงค์ที่เขียนในชัยพฤกษ์การ์ตูนเขาก็เป็นไอดอลของเอ็กซ์เหมือนกัน คือพอได้มาเจอกันแล้วคุยกันเลยรู้ แสดงว่าเอ็กซ์กับผมโตมาด้วยอิทธิพลของศิลปินคนเดียวกัน และถ้าสังเกตดีๆ ลายเส้นของเอ็กซ์จะคล้ายอารงค์เลยล่ะ

ถ้าเราเป็นศัตรูกัน เราต้องเป็นศัตรูกันตลอดไปหรือ

แล้วทำไมต้องรามเกียรติ์ ทำไมต้องยักษ์?
ก็พอเริ่มมาหาเรื่องที่จะทำกัน ก็คิดกันอยู่ว่าจะทำเรื่องอะไรกัน ก็นั่งคุยกับทีม ทีแรกเลยคิดเล่นๆ ง่ายๆ ก่อน คิดแบบตื้นๆ เลยนะ คิดว่าจะเอารามเกียรติ์มาทำสักตอนนึ่ง คิดแค่นั้น จับนางสีดาไป คิดแบบสนุกๆ ง่ายๆ มีแปลงร่างเป็นกวาง คือก็ตีความจากการกลายเป็นกวาง เป็นการทรานสฟอร์เมอร์ส คิดไปเรื่อยๆ คิดจนถึงกระทั่งว่าเราจะสะกดว่ารามเกียรติ์เป็นรามเกียรติ์ รามเกียร์คือเฟืองของรามก็คือหุ่นยนต์คิดไปเรื่อยว่ารามเราไม่ต้องเขียนรามา (RAMA) ตามแบบวิธีสะกดที่ถูกต้องหรอกที่เราจะเขียนรามเป็น “RAM” =แรม เป็นแรมของคอมพิวเตอร์หรืออย่างพระลักษณ์ก็ให้เป็น LUX ลักซ์ที่เป็นหน่วยความสว่างของแสง CDR ซีดีอาร์พ้องเสียงกับคำว่าสีดาเครื่องไรต์แผ่นซีดี ก็พยายามตีความจากรามเกียรติ์แท้ๆ เลยฉบับของไทยนะ

ทีนี้พอเริ่มนั่งคุยกันไปเรื่อยๆ มันก็มีความคิดหนึ่งเกิดขึ้นว่ามันน่าจะมีเรื่องของยุคสมัยนี้ในแง่ของปรัชญาชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้เข้าไปเกี่ยว พอเราไปศึกษาเรื่องว่ารามเกียรติ์มีหลายอวตารมาก แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกันนะ มีหลายอย่างแตกต่างกัน วิธีออกแบบไม่ต้องพูดถึงนะ ต่างกันลิบลับเลย ไม่ว่าจะมาจากอินโดนีเซีย เขมร ลาว หรือว่าทางทิเบต อินเดียนี่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้มีสิ่งหนึ่งที่อยู่ในรามเกียรติ์ที่พูดมาตลอดแล้วที่ฤาษีวาลมิกิ (ชาวอินเดียผู้ประพันธ์มหากาพย์รามายณะขึ้นเป็นภาษาสันสกฤตเมื่อกว่า 2,400ปีก่อน) พูดเอาไว้ก็คือว่ามันเป็นการอวตารมาเกิดใหม่หลายชาติ มีประโยคหนึ่งน่าสนใจมาก เพราะมันทำให้ผมคิดเนื้อเรื่องออกมาทันที ท่านบอกว่า ‘มีรามเกียรติ์เกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกใบนี้ในชีวิตของมนุษย์เรา’

ผมนำประโยคนี้มาตีความต่อเลย ในกรุงเทพฯ ก็มีรามายณะ ในนิวยอร์กก็มี ในโรงเรียน ในที่ทำงาน แม้แต่ในหัวของเราเอง ผมคิดเรื่องขึ้นใหม่เดี๋ยวนั้นว่า อวตารที่ผมจะทำ ผมจะไม่ให้เขาเป็นศัตรูกันแล้วสองตัวเอกหนุมานกับทศกัณฐ์ แล้วก็เริ่มตั้งคำถาม เรื่องจะเดินอย่างไรให้ไม่รบกัน นี่คือจุดเริ่มต้น แล้วก็คิดต่อว่าจะเอาจุดเด่นบางอย่างในรามเกียรติ์ที่ผู้คนคุ้นเคยมาใช้ เช่น ตัวละคร ฉากที่คนจำได้ ฉากที่เด็กๆ พวกเราจำได้เอามา REVERSE ใหม่ ใครโดนหอกโมกศักดิ์นะคราวนี้ เราจะเปลี่ยนตัวคนโดน นี่คือที่มาของความคิดที่เราจะทำเรื่องนี้

ยักษ์มันคือจิตใต้สำนึกของคนที่มีพลังมาก มนุษย์เรามีพลังแบบนี้ มันเอาไปทำอะไรก็ได้นะ แต่ถ้าเราคุมมันได้มันก็จะเป็นพลังที่เยี่ยม

โดยส่วนตัว เราหลงใหลอะไรในเรื่องรามายณะ?
รามายณะเป็นมหากาพย์ของชาวเอเชีย ผมใช้คำว่าเอเชียนะ เวลาเราจะพูดถึงรามเกียรติ์ เราจะพูดว่ามันคือมหากาพย์ของเอเชียนะ ไม่ใช่ของไทยอย่างเดียว เพราะว่ารามเกียรติ์ของไทยนี่ก็แปลงมาจากฮินดูนะ เพราะฉะนั้น พอเราชอบประเด็นและภาพในหัว มันก็เกิดขึ้นว่าเราจะเล่าอย่างไร เพราะรามายณะนี่ยอมรับเลยว่ามีความครีเอทีฟสูงมากในเนื้อเรื่องและตัวละคร แต่ว่าเวลาเราเล่าให้ใครฟังว่าเราจะทำรามเกียรติ์คนก็ถามว่าจะแบบทำแบบโบราณเลยหรือ เราก็ไม่รู้จะบอกอย่างไรดีเลยบอกตรงๆ ว่ามันเป็นเรื่องของหุ่นยนต์ พอบอกหุ่นยนต์ ทุกคนจะสนใจ แสดงว่าการที่รามเกียรติ์เป็นหุ่นยนต์นี่ คนทั่วไปเขารู้สึกว่ามันไม่โบราณ

แล้วทำไมต้องเป็นหุ่นยนต์?
จะบอกอะไรให้ ระหว่างที่ผมทำหนังเรื่องนี้อยู่ ผมเคยคิดนะว่าหนังเรื่องยักษ์เรื่องนี้ถ้าสร้างให้เป็นหนังคนแสดงจะได้ไหม แล้วก็ตอบตัวเองว่าได้เพราะเนื้อเรื่องมันเป็นแบบทำให้ผู้ใหญ่ดูก็ได้ แต่ถ้าเป็นแอนิเมชั่นเรื่องนี้มันควรเป็นหุ่นยนต์ มันมีสองเหตุผลคือ หนึ่ง มันเขียนบทได้โลดโผนกว่า รุนแรงได้โดยที่ไม่รู้สึกว่ารุนแรง มันอาจจะแค่รู้สึกว่ามันน่ารักหรือมันเด๋อเท่านั้นเอง ที่น่าสนใจคือมันมี MOVEMENT ของความเป็นแอนิเมชันสูง

สอง ความเป็นหุ่นยนต์มันทำให้อวตารครั้งนี้ประหลาดกว่าครั้งอื่นๆ สมกับเป็นอวตารครั้งล่าสุด แม้เราจะคงไว้ซึ่งพระเจ้าผู้สร้างอย่างเดิม อย่างเราก็เคยได้ยินอยู่แล้วว่ามีคนคิดรามเกียรติ์เป็น
เวอร์ชันต่างๆ หรือแม้แต่ว่าพระอภัยมณีซึ่งอันนี้ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ การที่รามเกียรติ์เป็นหุ่นยนต์ก็เคยมีคนคิด แต่พอเราเริ่มออกแบบก็รู้สึกสนุกดี หนุมานจะเป็นยังไง ทศกัณฐ์จะเป็นยังไง แล้วเราจะแต่งเรื่องขึ้นใหม่อย่างไรให้ไม่เหมือนเดิมแต่มีเค้าเดิม แต่งอย่างไรให้สมัยใหม่และยังมีขนบ เพราะเรื่องมันก็เกิดเรื่องใหม่ขึ้นมา เมื่อคิดสะระตะเสร็จก็ตั้งชื่อเรื่องว่า “ยักษ์” เลย เพราะตั้งใจจะเล่าตัวนี้เป็นตัวเอกไม่เคยคิดเป็นชื่ออื่นเลย

ผมอยากทำหนังจากเมืองไทยไปฉายในตลาดโลกมากกว่า ยังไงก็อยากอวดฝีมือเด็กไทยทั้งงานศิลป์และความคิดจากคนไทย เด็กไทยยังมีเก่งๆ อีกเยอะครับ

แสดงว่าพุ่งเป้าตรงไปที่จะเล่าเรื่องตัวทศกัณฐ์เป็นตัวแรกเลย?
ตัวแรกเลย

ทำไมถึงชอบตัวนี้?
มันเป็นตัวละครที่น่าสนใจมากนะในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ คนคิดนี่สุดยอดครีเอทีฟ เขาออกแบบมาให้มีสิบหน้า วิธีคิดแบบครีเอทีฟแบบนี้ไม่ง่าย ต้องบอกว่าตอนเด็กๆ พออ่านถึงทศกัณฐ์แล้วชอบมาก ยิ่งของรามเกียรติ์ไทยนี่สุดยอด ออกแบบให้หัวอีกเก้าหัวเรียงบนกระหม่อม ไม่เหมือนชาติอื่นเลย เท่มาก ต้องบอกว่าผมชอบทศกัณฐ์จนถึงขั้นเอามาตั้งชื่อรายการทีวีเลยนะ

นอกเหนือจากสิ่งทั้งหมดที่ว่ามา ในเชิงเนื้อหา คิดว่าคนดูจะได้อะไรบางจากหนังเรื่องนี้?
ทุกงานที่ผมทำ มันก็จะมีตัวเราเข้าไปอยู่ เราก็จะบอกในสิ่งที่เราอยากจะบอก มันก็จะมีชั้นของมันอยู่ เหมือนเพลงของเฉลียงหรือหนังสือหรืออะไรก็ตามนะ หรือเหมือนอย่างละครเรื่องเทวดาตกสวรรค์ ต่อให้ไม่รู้ไม่เก็ทสิ่งที่ผมอยากจะบอกเลยนะ อย่างน้อยที่สุด คุณก็จะได้ความสนุกออกไปอย่างมหาศาล แต่ละคนมีแบ็คกราวน์ไม่เท่ากันด้วย บางคนก็ไม่อยากรับรู้ บางคนแบ็กกราวนด์อยากรู้เรื่องนี้ก็จะโดนเรื่องนี้ ก็จะมีสิ่งที่อยากบอกไว้หลายๆ ชั้นอยู่ เรื่องมันมีหลายระดับนะ หัวใจคือเรื่องมิตรภาพ เรื่องหน้าที่ แม้แต่คำถามที่ว่าเราเกิดมาทำไม แม้แต่เรื่องพลังอีโก้ในตัวมนุษย์ เรื่องที่พูดบางเรื่องก็อยู่ในเนื้อเรื่อง บางเรื่องก็อยู่ในตัวคาแรกเตอร์ บางเรื่องมันก็อยู่ในบทพูด เช่น คำถามว่า ถ้าเราเป็นศัตรูกัน เราต้องเป็นศัตรูกันตลอดไปหรือ

ต่อให้หนังไม่ทำเงินเลย ก็รู้สึกว่ามันมีอนาคต ไม่ใช่แค่อนาคตของหนังเรื่องนี้เท่านั้นนะ มันเป็นอนาคตของคนที่ชอบแอนิเมชันด้วย

น่าสนใจมากว่าเพราะอะไร ถึงใช้คำว่า “ยักษ์” เป็นชื่อเรื่อง?
ยักษ์มันคือจิตใต้สำนึกของคนที่มีพลังมาก มนุษย์เรามีพลังแบบนี้ มันเอาไปทำอะไรก็ได้นะ แต่ถ้าเราคุมมันได้มันก็จะเป็นพลังที่เยี่ยม นานมาแล้ว ผมเคยมองหัวโขนทศกัณฐ์แล้วก็คิดว่าเก้าหัวของทศกัณฐ์เขาคิดอะไรอยู่ แล้วเขาคิดเหมือนหัวที่ใหญ่ที่สุดหรือเปล่า

ถามถึงในส่วนของตลาดต่างประเทศบ้าง เรามองมุมนี้ไว้บ้างหรือเปล่า?
เป็นสิ่งแรกที่คิดตอนเขียนบท หนังเรื่องนี้ต่อให้คนที่ไม่รู้จักรามเกียรติ์เลยต้องดูรู้เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนต่างชาติ และต้องดูสนุกด้วย ผมเอารามเกียรติ์มาแต่ตัวละครเอามาแต่ฉากสำคัญบางฉาก แล้วตัวละครทุกตัวเราปูคาแรคเตอร์หมด ทดลองฉายมาแล้ว ฝรั่งดูรู้เรื่องและชอบในความคิด ไอ้ครั้นที่จะใส่ดนตรีไทยลงไปเลยผมกลับคิดว่าก็เรากำลังจะบุกตลาดโลกอยู่ เราจะขายความเป็นไทยแบบทื่อๆ ไม่น่าจะเหมาะ คนดูเขาไม่ได้มาเที่ยวเมืองไทยแล้วมากินอาหารไทยแล้วดูรำไทย คนดูเขากำลังดูหนัง

เราใส่บางอย่างลงไปให้มีวิญญาณไทยแค่นี้ก่อน คือโจทย์นี้ผมว่าเราต้องตีให้แตก เอ๊ะ เราควรจะใส่ดนตรีไทยไหม เขาไม่รู้จักนะเพราะหนังญี่ปุ่นเขาไม่ใส่ดนตรีญี่ปุ่นนะ เราต้องออกแบบตัวละครให้ไทยจ๋าไหมหรือเอาแค่มีกลิ่นอาย ผมว่าเรากำลังทำหนังให้เป็นสากล เราไม่ควรยัดเยียดวัฒนธรรมแท้ๆ ที่เรารักลงไปในหนังขนาดนั้น สมมติมีหนังจากสเปนที่มีเพลงสเปนแท้ๆ คนไทยยังไม่สนใจเลย ผมคิดอย่างนี้ไม่ว่าอย่างไรความเป็นไทยอย่างไรมันก็อยู่ในหนัง เพราะคนไทยเป็นคนทำ ในหนังมีการยกมือไหว้ มีการแสดงความเคารพนอบน้อม มีลายอะไรบางอย่างที่ฝรั่งไม่มีทางเขียนได้อยู่ในตัวละครในฉาก แม้แต่ทำนองเพลงในดนตรีประกอบมันก็มีสเกลของเพลงไทยอยู่

เสียงตอบรับที่สะท้อนกลับมาจากต่างประเทศเป็นยังไงบ้าง?
แทบทั้งหมดยอมรับในคุณภาพว่าเป็นสากล บางคนให้เกียรติเราว่างานที่ออกมาเทียบเท่างานจากฟากฮอลลีวูด หลายประเทศสนใจอยากซื้อไปฉาก รัสเซีย แคนาดา เกาหลีนี่เซ็นสัญญาซื้อแล้ว ขายเกาหลีได้นี่ ทีมงานหลายคนดีใจเลยนะ สงสัยเป็นเพราะคนไทยเราซื้อเขามาเยอะแล้วอยากขายเขาบ้าง แล้วก็มีอีกหลายประเทศอยากจ้าง อยากชวนเราร่วมทุนกับเขา บางเจ้าอยากย้ายงานที่จ้างมาเลเซียผลิตอยู่มาให้เราทำแทน แต่เรื่องรับจ้างผมยังเฉยๆ นะ ผมอยากทำหนังจากเมืองไทยไปฉายในตลาดโลกมากกว่า ยังไงก็อยากอวดฝีมือเด็กไทยทั้งงานศิลป์และความคิดจากคนไทย เด็กไทยยังมีเก่งๆ อีกเยอะครับ

คนไทยมีฝีมือในแง่ศิลปะ ใครๆ ก็รู้ในเอเชียว่าคนไทยมีฝีมือมากในแง่ของศิลปะ รากเราลึก วิญญาณทางศิลป์เราพลิ้ว ในแง่ของวัฒนธรรมรากเราใหญ่และลึก ประวัติศาสตร์เรายาวนาน

เวลากว่า 6 ปีที่ทุ่มเทไปกับแอนิเมชันเรื่องยักษ์ จนตอนนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว คิดว่าสิ่งที่เราได้รับกลับคืนมาคืออะไร?
ก็เหมือนปลูกต้นไม้ ตอนนี้มันโตแล้ว มันจะสร้างร่มเงาให้คนได้ร่มรื่นหรือเปล่า ให้คนได้กลิ่นได้ผลได้อะไรจากมันหรือเปล่า ก็แล้วแต่คนมองแล้ว หน้าที่ของผมคนทำมันจบไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่รู้สึกเลยนะ ความรู้ในการทำแอนิเมชันเรื่องนี้ไม่อยากให้หายไป ผมทำไปศึกษาไปนี่องค์ความรู้อันนี้เป็นของใหม่ในเมืองไทยเลยนะ ผมบอกได้เลยนะไม่ง่ายเหมือนที่ทุกคนคิด ผมอยากถ่ายทอดนะ และผมยืนยันเด็กไทยเก่งเยอะ เก่งเยอะมาก พวกเขาขาดการสนับสนุน ขาดคนเดินนำ ผู้ใหญ่บ้านเราต้องทำหน้าที่นี้ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน และไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จหรือเปล่าก็ตาม ผมว่าผมดีใจอย่างหนึ่งที่ได้ลองนำเดินไปก่อน ดีหรือเปล่าไม่รู้ เจ็บตัวหรือเปล่าไม่รู้ แต่โคตรจริงใจ อยากทำมานานแล้ว งานที่คนต่างชาติดูแล้วยอมรับ แล้วก็อยากบอกน้องๆ ที่ร่ำเรียนด้านนี้อยู่ เดินต่อไปอย่าหยุด งานของคนไทยไปได้ไกลกว่านี้ คิดไปไกลๆ โน่นตลาดโลก อย่ามัวแต่มากระแหนะกระแหนทำลายกำลังใจกันเอง โจมตีกันเอง แข่งกันเอง วันนี้เราทำได้แค่นี้เราก็ทำไปแก้ไป ทำให้สุดตัว เราไม่แพ้ใครจริงๆ

อะไรที่ทำให้เราอยู่กับมันได้นานขนาดนั้น?
อย่างแรกนะต้องมีความสุขกับมันก่อนในทุกวินาทีที่ทำเลย ก็ถ้าเราไม่ปลีกเวลามา เราก็ไม่มีเวลานะ เหมือนวิ่งจ็อกกิ้ง คนที่ไม่ไปวิ่ง เพราะว่าไม่มีเวลา อ้างว่าไม่มีเวลา ผมทำหนังเรื่องนี้ ทำทุกวัน ทำจนเหมือนเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งเหมือนต้องไปกินข้าวไปวิ่ง บางทีดูเหมือนว่าเราไม่ได้ทำงานอาจเป็นเพราะว่าเราตื่นมาแล้วเราสนุก เวลาที่เราเหนื่อยแล้วสนุกนี่ดีจะตาย ไอ้ตอนเหนื่อยเราไม่ค่อยรู้สึกจะรู้แต่เสร็จแล้วจะเห็นว่ามันดี เห็นว่ามันงอกเงยในแง่ของงาน

เหมือนเราปลูกบ้านปลูกต้นไม้ที่เราค่อยเห็นมันเติบโตขึ้นทีละนิดเห็นของใหม่เกิดขึ้นทุกวัน เอ๊ะอีกวันเห็นเป็นอย่างนี้พออีกวันเห็นเกิดขึ้นเป็นอีกอย่าง คือมันงอกทุกวันมันไม่เหมือนกับถ่ายหนังคนนะ เพราะถ้าถ่ายหนังคนเราสามารถดูกันได้เลย อย่างวันนี้ทำได้แค่นี้ อีกวันยักคิ้วแล้วอีกวันมีแสงมาแล้ว แล้วมันงอกเงยในแง่ของคนด้วย เพราะว่าคนที่เราเรียนรู้มาด้วยกันมีความรู้เพิ่มขึ้น มีความรักเพิ่มขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีอนาคต ต่อให้หนังไม่ทำเงินเลยก็รู้สึกว่ามันมีอนาคต ไม่ใช่แค่อนาคตของหนังเรื่องนี้เท่านั้นนะ มันเป็นอนาคตของคนที่ชอบแอนิเมชันด้วย

เราจะยิ่งใหญ่โดยไม่ต้องโหดร้ายได้ไหม

คิดว่าต้นทุนความฝันครั้งนี้มันคุ้มไหมกับผลที่เกิดขึ้น?
ยิ่งกว่าคุ้มครับ ทุกครั้งที่ผมมองไปยังกลุ่มน้องๆ ที่กำลังนั่งขยับตัวละครให้มีชีวิตอยู่หน้าคอมพ์ มองดูน้องๆ ทำงานกันอย่างขะมักเขม้น ผมแอบเห็นตัวเองตอนหนุ่มๆ อยู่ตรงนั้น อย่างที่บอกผมกำลังปลูกอะไรบางอย่าง เวลาที่เราปลูกอะไรนี่ มีหรือไม่คุ้มต่อให้เป็นหัวหอมผักชีก็เถอะ ดินบ้านเรามันดีจริงๆ

เส้นทางนี้ยังไปได้อีกไกลแค่ไหน?
อันที่หนึ่งคนไทยมีฝีมือ มีฝีมือเลยในแง่ศิลปะ ใครๆ ก็รู้ในเอเชียว่าคนไทยมีฝีมือมากในแง่ของศิลปะ รากเราลึก วิญญาณทางศิลป์เราพลิ้ว ในแง่ของวัฒนธรรมรากเราใหญ่และลึก ประวัติศาสตร์เรายาวนาน ในขณะเดียวกันทรัพยากรเราที่มีอยู่ในแง่ของเนื้อหาอารมณ์หรือว่าคอนเซ็ปต์บ้านเราไม่ด้อยกว่าใครนะ ขออย่างเดียวอย่าทะเลาะกัน ทุกวงการแหละครับ

คือบ้านเราดินอุดมนะ ดินอุดมทางด้านศิลปะมากด้วยซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วผมเลยคิดว่าศิลปินบ้านเราทุกคนพร้อมที่จะงอกรากได้เยอะเลยก็ดีนะที่พอเราได้มาทำตรงนี้มันก็จะมองเห็นโอกาส แต่ต้องสร้างสมดุลกันหน่อย บาลานซ์กันหน่อย บาลานซ์อีคิวกับไอคิว บาลานซ์ความต้องการตัวเอง จะชั่งอย่างไร

สุดท้าย ขอนิยามความหมายของยักษ์แบบสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ในมุมมองของประภาส ชลศรานนท์?
คนไทยแปลยักษ์ได้สองความหมาย ใหญ่ และร้าย ผมตั้งคำถามอะไรบางอย่างในหนังเรื่องนี้ เราจะเป็นยักษ์ไหม แล้วเราจะยิ่งใหญ่โดยไม่ต้องโหดร้ายได้ไหม

ภาพยนตร์ตัวอย่าง “ยักษ์”