สำหรับใครที่ได้ไปดูหนังไทยซึ่งเข้าฉายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างเรื่อง “เคาท์ดาวน์” ถ้าไม่มีการเตรียมข้อมูลอะไรไปล่วงหน้า อาจจะนึกสงสัยว่า ไอ้หนุ่มหน้าตาออกฝรั่ง หนวดเครารุงรัง แถมดูบ้าระห่ำจนน่ากลัว และมีชื่อว่า “เฮซุส” คือใครกัน ทำไมแสดงได้สมบทบาทขนาดนั้น?
เว้ากันซื่อๆ เขาก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอกครับ เพราะหากคุณติดตามวงการบันเทิงสักเมื่อ 5-6 ปีก่อน คุณคงคุ้นๆ ชื่อของ “เดวิด อัศวนนท์” มาบ้างไม่มากก็น้อย แต่หลังจากนั้น เขาก็หายจ้อยไปจากวงการราวกับธุลีที่ลอยหายไปกับสายลม และในวันที่เขาคัมแบ็กอีกที เราก็ได้พบเห็นเขาในหนังเรื่องนี้ที่ต้องบอกว่า ฝีไม้ลายมือในการแสดงของเขา “พัฒนาขึ้น” อย่างเห็นได้ชัด
“ผมกะว่าผมหายไปแล้วกลับมารอบนี้จะไม่มีใครจำผมได้เลยนะ หายไปนาน” เขาเอ่ยทักทายกับเราอย่างแปลกใจ เมื่อเราฟื้นความหลังเกี่ยวกับตัวเขาขึ้นมา รอยยิ้มในแววตา บอกกับเราว่า เขาดีใจที่ยังมีคนจำเขาได้ แต่เชื่อว่าวันเวลา 5-6 ปี หลายสิ่งหลายอย่างในตัวของคนหนุ่มคนนี้ คงมีอะไรเพิ่มพูนขึ้นอย่างแน่นอน และอย่างไม่ลังเล เราคว้าตัวเป็นๆ ของเขามานั่งสนทนา เรื่องประสบการณ์ที่ผ่านมา และเรื่องวันเวลา ก่อนถึงวินาทีเคาท์ดาวน์…
5-6 ปีที่หายไป คุณไปอยู่ที่ไหนและทำอะไรมาบ้าง?
ก็ไปเรียนการแสดงและใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กมาครับ เพราะว่าเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว มันมีอะไรหลายๆ อย่างเกิดขึ้นกับชีวิต แล้วมันทำให้รู้สึกว่าเราไม่อยากจะอยู่ที่นี่ (เมืองไทย) อีกแล้ว ขอเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนสไตล์การใช้ชีวิต ขอไปเพิ่มเติมเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตตัวเองหน่อย
ครั้งนี้ก็เลยเหมือนการรีบอร์น เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง?
ผมว่ามันก็น่าจะใช่นะครับ (หัวเราะ) เพราะก่อนที่ผมจะไปอเมริกา ผมก็คิดว่าจะเอายังไงกับชีวิตตัวเองดี มันเกิดอะไรขึ้นหลายอย่าง ทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงาน อยู่ดีๆ ทุกอย่างมันก็พังลงหมดเลย ทุกอย่างหายไปหมด แฟนทิ้ง งานพิธีกร งานหนัง งานละคร ไม่มีอะไรเข้ามาเลย ทุกอย่างมันมีแต่จะดับลงจนกระทั่งเราไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับชีวิตตัวเองต่อไปดี
คือถ้าอยู่เมืองไทยต่อไป มันก็คงกุกๆ กักๆ ไปได้เรื่อยๆ แต่ผมว่า ผจญภัย…อืมม..ชีวิตเกิดมาครั้งหนึ่งมันก็ต้องผจญภัย ผมก็เลยทุบหม้อข้าวเลย แบบว่าเราจะต้องตีเมืองจันทบุรีให้แตกให้ได้อะไรประมาณนั้น ผมเลยคิดว่า โอเคล่ะ ทิ้งหมดทุกอย่างแล้วก็ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่โน่น อันดับแรกก็คือไปหาที่เรียนด้านการแสดงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ในชีวิตตอนนั้นก็กุกๆ กักๆ อยู่ที่นั่น ทำงานเป็นล่ามบ้าง เป็นพนักงานเสิร์ฟบ้าง แล้วเราก็มีเอเยนต์ประจำตัว
หือ?? เอเยนต์ค้ายาเหมือนตัวละครที่คุณเล่นในหนังเหรอ?
ค้ายา ผมก็รวยแล้วสิครับ ผมไม่กลับมาเมืองไทยหรอก (หัวเราะ) เอเยนต์ก็คือเอเยนซีน่ะครับ คือการเป็นนักแสดงอยู่ที่โน่นมันต้องมีเอเยนต์ซึ่งจะส่งเราไปแคสต์ไปออดิชันงานอะไรต่างๆ จนกระทั่งได้มารู้จักกับผู้กำกับเรื่องเคาท์ดาวน์ (บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) ซึ่งเขาก็ทำหนังสั้นอยู่ที่โน่นเหมือนกัน ก็สนิทกัน เป็นเพื่อนกัน แล้วก็ได้ทำงานหนังสั้นร่วมกัน 4-5 เรื่อง เหมือนกับว่าเราคุยกันรู้เรื่อง ทำงานก็ค่อนข้างจะรู้ใจกัน เวลาเขาขออะไร เราก็ “จัดไป” คือคุยกันรู้เรื่องมากน่ะครับ และในการทำหนังนี่ มันค่อนข้างยุ่งยากนะครับ เนื่องจากว่าถ้าขัดแย้งกัน มันจะขัดแย้งกันหนัก แต่ถ้าคุยกันรู้เรื่องนี่คือจบเลย มันทำงานไปได้เรื่อยๆ มีวิสัยทัศน์หรือการมองโลกการทำหนังไปในทิศทางเดียวกัน
จากหนังสั้น แล้วมันนำมาสู่หนังยาวเรื่องนี้ยังไง?
มันเริ่มมาจากเมื่อสองปีที่แล้วครับ เราทำหนังสั้นความยาวประมาณ 45 นาทีขึ้นมา ตัวบาสเองเขาก็ดูเหมือนต้องการจะสร้างพอร์ตโฟลิโอให้กับตัวเองก่อนจะกลับมาเมืองไทย เขาจะได้มีสิ่งมานำเสนอพวกบริษัทใหญ่ๆ เราก็เลยทำหนังสั้นกันขึ้นมา แล้วช่วงนั้น ที่นิวยอร์กเขาจะมีการจัดเวทีศิลปะ คือคนไทยที่นิวยอร์กจะเอาผลงานของตัวเองมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถ่ายภาพ รูปปั้น ภาพเขียน หรือว่าการทำหนังและดนตรี เขาจะเช่าห้องโถงใหญ่ๆ ไว้ห้องหนึ่ง ใครมีผลงานอะไรก็เอาไปห้อยไว้ วางไว้ เราก็นำเอาหนังสั้นเรื่อง “เคาท์ดาวน์” ไปนำเสนอ แล้วปรากฏว่าการตอบรับกลับมามันดีมากๆ ดีเกินคาด คือคนชอบเวอร์ชั่นนั้นกันมาก แล้วจากนั้นไม่นาน ตัวดีวีดีหนังสั้นก็ไปถึงมือของพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) และพี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ โปรดิวเซอร์) ของค่ายจีทีเอช เขาเห็นแล้วชอบก็เลยเรียกตัวบาสมาเลย แล้วก็เอามาปรับให้เป็นหนังยาวที่ฉายอยู่ในตอนนี้
“ตอนนั้นดูเหมือนว่ามันจะมีทางเลือกให้อยู่สามทาง หนึ่ง ฆ่าตัวตาย
สอง ก็อยู่อย่างคาราคาซังต่อไปเรื่อยๆ สาม ทุบหม้อข้าว”
พูดถึงชีวิตที่ผ่านมาของคุณ ล้มหนักๆ ก็ล้มมาแล้ว เราสรุปบทเรียนตรงนั้นอย่างไรบ้าง?
ช่วงที่มันเกิดมรสุมชีวิต ผมมีความรู้สึกว่ามันมืดแปดด้านไปเลย คือตอนนั้นดูเหมือนว่ามันจะมีทางเลือกให้อยู่สามทาง หนึ่ง ฆ่าตัวตาย สอง ก็อยู่อย่างคาราคาซังต่อไปเรื่อยๆ สาม ทุบหม้อข้าว แล้วผมมันเป็นพวกรักการผจญภัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้าเราอยู่กับที่เพราะความกลัวที่จะดำเนินต่อไปข้างหน้า มันก็จะมีอยู่แค่นั้น ถ้ามันไม่มีอะไรต้องเสีย ทำไมเราไม่ลองดูสักตั้งล่ะ ไปแล้วดีหรือไม่ดี ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง แต่เผอิญว่าพอเราไปแล้ว เราได้รับประสบการณ์ดีๆ และทำให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นไม่รู้กี่เท่า มันต้องไปเอาตัวรอดให้ได้น่ะ แล้วคนที่นิวยอร์กมันก็ดุไม่ได้น่ารักเหมือนคนไทย เพราะฉะนั้น จากที่เราเคยเป็นคนอ่อนๆ เราก็ดูเข้มแข็งอื่น อันนี้ไม่ใช่ว่าเราก้าวร้าวขึ้นนะครับ แต่ว่าค่อนข้างมีความมั่นใจในตัวเองมากกว่าเมื่อก่อน
ทีนี้ พอเราย้อนกลับไปมองตรงนั้น เราเห็นว่า พอเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างขึ้นกับเราแล้ว เราจะจดจ่ออยู่ตรงนั้น และเรามักจะคิดว่านั่นน่ะคือทางตัน หรือมัน “จบแล้ว” แต่เชื่อไหมว่า ถ้าเราเจออะไรในบางช่วงแล้วเราตั้งสติจนผ่านมันไปได้ แล้วอีกปีสองปีมองย้อนกลับมา เราจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย อย่างตอนหกปีก่อน ผมก็เริ่มที่จะมีชื่อเสียงขึ้นมาแล้ว เริ่มเป็นที่รู้จัก แล้วอยู่ดีๆ ทุกอย่างดับหมดเลย ทีนี้ พอเรามองย้อนกลับไป ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ถ้าเรารู้จักที่จะทำความเข้าใจกับมัน มันก็คือประสบการณ์ที่สอนเราทั้งนั้นแหละครับ
จริงๆ แล้ว คุณมีความระห่ำกับชีวิต เหมือนบทเฮซุสที่คุณแสดงหรือเปล่า?
พูดไปแล้วจะหาว่าผมโม้ ผมไม่เคยใช้ชีวิตอะไรแบบนั้นเลยนะ ไม่เคยบ้าระห่ำแบบนั้นเลย
แล้วถ้าเจอเฮซุสในโลกความเป็นจริง จะพูดอะไรกับเขา?
เอ่อ… “อยู่ห่างๆ ฉันไว้นะ จะไปไหนก็ไปเหอะ อย่าเข้ามาเลย มันน่ากลัว” (หัวเราะ)
ในฐานะที่เล่นหนังเรื่องเคาท์ดาวน์ การเคานต์ดาวน์มีความหมายอะไรกับคุณบ้าง?
อันดับแรกเลย มันเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งใหม่ๆ เป็นสัญลักษณ์ของความหวังใหม่ ของชีวิตใหม่ ของพฤติกรรมใหม่ ของสิ่งที่เราอาจจะไม่อยากทำ และเราอยากเริ่มสิ่งใหม่ๆ เพราะฉะนั้น การนับถอยหลัง มันจึงเท่ากับเป็นการเซย์กู๊ดบาย เป็นการบอกลากับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไม่อยากจะเป็น ไม่อยากจะมี ไม่อยากจะได้ เซย์กู๊ดบายทั้งสิ่งไม่ดี คนไม่ดี หรืออะไรก็ตามที่ถือเป็นกาลกิณีของชีวิตน่ะครับ
การเคานต์ดาวน์หรือนับถอยหลัง จึงเป็นเครื่องหมายของการละทิ้งสิ่งเก่าๆ เพื่อที่จะไปสู่ความใหม่ ความหวังใหม่ๆ ไปสู่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี และการดำเนินชีวิตของเราดีขึ้นครับ