ลูบเหลี่ยม..สารวัตรหมาบ้า ใต้เงา “คุณชายอดัม”

“ผมเชื่อว่าคนทุกคนทำถูกต้อง แต่ด้วยรูปแบบกระบวนการที่ถูกต้องด้วยหรือเปล่า”

“สังคมยุคนี้ทุกคนก็คิดว่าตัวเองถูกต้อง ทุกๆ คนมักคิดเสมอว่าตัวเองถูก ผมไม่คิดว่าใครคิดว่าตัวเองผิดในการทำงาน ถ้าเราทำอะไรขึ้นมาแล้วเราบอกว่าเราผิดนั้นแปลว่าเขาคงไม่ทำหรอก แม้กระทั่งโจรก็เหมือนกัน โจรเองก็คิดว่าเขาไปปล้นเพราะว่าเขาไม่มีตังค์ เขาต้องใช้ตังค์ เขาไปปล้นเขาก็คิดว่าเขาถูกต้องที่เขาต้องปล้น”
“ตำรวจทำสิ่งที่ผิดมันจะดูแรงกว่าคนธรรมดาทำสิ่งที่ผิด เพราะตำรวจรู้อยู่แล้วอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องโดยทั่วไป”

นั่นเป็นบางมุมมองที่สะท้อนถึงสังคมผ่านภาพยนตร์เรื่อง “สารวัตรหมาบ้า” จากปากคำของผู้กำกับหนุ่มไฟแรง “หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล” หรือที่เรารู้จักในนาม “คุณชายอดัม” โอรสใน “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล” หรือ “ท่านมุ้ย” ที่คอหนังไทยรู้จักเป็นอย่างดี

เขาว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” นี่ดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมสำหรับ “พ่อ-ลูก” คู่นี้ เพราะหลังจากที่ลุยงานด้านอินเทอร์เน็ตทีวีและสื่ออื่นๆ มาพักใหญ่ ในที่สุด “คุณชายอดัม” บอกว่า พร้อมแล้วสำหรับการก้าวเข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ กำกับหนัง เฉกเช่นบิดาของเขา

“สารวัตรหมาบ้า” ชื่อหนังชวนหาเรื่องพอสมควร อะไรคือความตั้งใจ อะไรคือความคิดที่อยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้ ก็คงจะมีแต่คุณชายอดัมเท่านั้นกระมังที่จะไขข้อกังขานี้ได้อย่างกระจ่างแจ้งกว่าใครอื่น…

อันที่จริง การที่คุณชายจะทำหนังไม่น่าจะใช่เรื่องยาก แต่ทำไมมาเริ่มทำตอนใกล้จะ 30 เข้าไปแล้ว
จริงๆ ต้องบอกว่า การปูเส้นทางด้วยอินเทอร์เน็ตทีวี ทำให้เราค้นพบคนก่อน ค้นพบคอนเนกชัน เราสร้างคนที่ทำงานกับเราได้ขึ้นมา เรียนรู้เทคโนโลยี เรียนรู้ตลาดเมืองไทยเป็นอย่างไร เรียนรู้ระบบการทำงานในเมืองไทย เราต้องสร้างความรู้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จบมาแล้วบอกว่าผมอยากทำหนัง โอเค คุณมีลูกบ้าจริง แต่ลูกบ้าในที่นี้คือคุณต้องคิดและวิเคราะห์พอสมควร

ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คุณจบมาแล้วคุณเดินเข้าไปหาเสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) แล้วบอกว่าผมขอ 10 ล้าน แล้วมันจะได้นะ ไม่ใช่นะ คุณต้องพิสูจน์ตัวเองให้ผู้กำกับแต่ละท่านที่อยู่ในวงการเขาเห็น ไม่ใช่ว่าเราเดินไปแล้วบอกว่าเราเป็นคนทำหนัง ไม่ใช่นะ การอยู่ในกองถ่ายหนังมาตั้งแต่เด็ก ไม่ใด้แปลว่าเราจะเป็นคนทำหนังที่เก่ง เราก็ต้องฝึก ต้องหัด ต้องเรียนรู้ ล้มลุกคลุกคลานเหมือนกัน แล้วพอเราถึงจุดนั้นปุ๊บ เราถึงจะเข้าใจว่าการทำหนังมันต้องมีอะไรบ้าง ตอนนี้มันมีทางเดินอีกยาวมาก และผมเชื่อว่า ถ้าผมมีโอกาสได้ทำเรื่อยๆ ภาพยนตร์เรื่องต่อๆ ไปก็จะตกตะกอนของความคิดยิ่งขึ้น ความสมบูรณ์มันก็จะมีมากยิ่งขึ้น เพราะว่าเรามีประสบการณ์มากขึ้น
น่าคิดมาก ที่ว่าคุณก้าวเข้ามาสู่วงการหนังในยุคที่หนังไทยเป็นไปได้ยากมากที่จะทำเงิน มีความเสี่ยงสูง
ที่ผมทำทุกอย่างมีสิทธิเจ็บตัวหมดทุกอย่างตั้งแต่ทำอินเตอร์เน็ตทีวี เรารู้อยู่เสมอว่าเราอยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยง ในการทำสิ่งที่เราหาดูไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่มันหาดูได้คือสิ่งที่มันได้ตังค์ แล้วก็เราอยู่บนพื้นฐานความเสี่ยง อย่างที่บอกล่ะครับ เราทำเป็นอาชีพ เราทำหน้าที่เป็นสื่อ ผมใช้คำว่าสื่อ ผมไม่ได้บอกว่าเป็นคนทำหนัง หรือเป็นคนทำอินเตอร์เน็ตทีวี หรือทำบล็อก หรือทำวิทยุ ผมทำแทบทุกอย่างแทบทุกสื่อมาก่อนเลย แล้วก็ผมคิดว่าการทำหน้าที่สื่อคือการที่จะทำให้คนหมู่มากเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ ไม่ใช่การทำในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอเพียงอย่างเดียว แล้วไม่แคร์ใครเลย เป็นการพบกันครึ่งทาง ถามว่าเสี่ยงไหม เสี่ยงครับ แต่เราต้องทำ เราก็ต้องพยายามดันไปสู่คนเรื่อยๆ เข้าไปถึงใจของคนเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะเป็นสี “ขาว” “ดำ” หรือ “เทา” ในฐานะ ”สื่อ” ที่มีหน้าที่เสมือนกระจกสะท้อนปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคม บนรูปแบบต่างกรรมต่างวาระ เพื่อก่อให้เกิด ”กระแส” นำมาสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

“อำนาจ” “ปืน” และ “กฎหมาย” ที่ถูกถืออยู่ในมือ หากไร้ซึ่ง “จริยธรรม จรรยาบรรณ” ที่จะเป็นบรรทัดฐานควบคุม ผู้พิทักษ์ก็อาจกลายเป็นผู้ทำลาย
แล้วคาดหวังไหมว่า “สารวัตรหมาบ้า” จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไรหรือไม่
หนังเรื่องนี้ความจริงแล้วตอบโจทย์สภาวะสังคมประเทศระดับหนึ่งเลย ผมเชื่อว่าคนทุกคนทำถูกต้อง แต่ด้วยรูปแบบกระบวนการที่ถูกต้องด้วยหรือเปล่า อย่างในเรื่อง ตัวละครย้อนยุคไปในสมัยอดีต ตัวละครเหล่านี้เป็นตัวละครที่ตงฉิน แต่ดุดัน ไม่ได้ใช้วิธีตามกฎหมาย ซึ่งสังคมยุคนี้ ทุกคนก็คิดว่าตัวเองถูกต้อง แม้กระทั่งโจรก็เหมือนกัน โจรเองก็คิดว่าเขาไปปล้นเพราะว่าเขาไม่มีตังค์ เขาต้องใช้ตังค์ เขาไปปล้นเขาก็คิดว่าเขาถูกต้องที่เขาต้องปล้น ทุกคนคิดอย่างนี้หมด หนังเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับสะท้อนความเป็นจริงในยุคหนึ่งของสังคมที่ว่า ทุกๆ คิดว่าตัวเองทำถูกต้อง ทำเพื่อความยุติธรรม แต่ว่าความยุติธรรมของเขานั้น มันมาด้วยวิธีการไหน

การเลือกใช้ตัวละครที่เป็นตำรวจคือการที่จะตั้งคำถามเรื่องของความยุติธรรม ตำรวจอยู่บนเส้นของความยุติธรรมเสมอ การตัดสินใจของตำรวจคือการตัดสินใจที่ส่งผล ต่อชีวิตคน ต่อความยุติธรรมของสังคม ต่อภาพรวมของสังคม ถ้าตำรวจเปลี่ยนไป สังคมก็เปลี่ยน

สารวัตรหมาบ้า ทุกตัวละครจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชีวิต และตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนเหล่านี้เป็นระดับมาตรวัดความยุติธรรม ความถูกต้อง ซึ่งพอจับเอามาผูกโยงเรื่องราวผลกระทบจากการกระทำ จะเห็นเด่นชัด

ผมคิดว่าพอจับตรงนี้มันแรงกว่าการที่ประชาชนคนหนึ่งลุกขึ้นเป็น แล้วมาทำสิ่งที่ถูกหรือสิ่งที่ผิด ตำรวจทำสิ่งที่ผิดมันจะดูแรงกว่าคนธรรมดาทำสิ่งที่ผิด เพราะตำรวจรู้อยู่แล้วอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องโดยทั่วไป

“อำนาจ” “ปืน” และ “กฎหมาย” ที่ถูกถืออยู่ในมือ หากไร้ซึ่ง “จริยธรรม จรรยาบรรณ” ที่จะเป็นบรรทัดฐานควบคุม ผู้พิทักษ์ก็อาจกลายเป็นผู้ทำลาย เหมือนเหตุการณ์ ตำรวจรับส่วย ตำรวจรีดไถ บางครั้งตำรวจเป็นผู้ร้ายเสียเอง ในบางคดีที่เกิดขึ้นกับสังคมในปัจจุบัน

มีความในใจอะไรเกี่ยวกับตำรวจไทยบ้างหรือเปล่า ถึงลุกขึ้นมาทำหนังอันเกี่ยวกับตำรวจ
ในเรื่องสารวัตรหมาบ้า ผมเชื่อว่ามันมีตำรวจ 2 แบบ มีตัวละครที่เป็นทั้งตงฉินและไม่ตงฉิน แล้วก็ตำรวจ 2 แบบนี้คานกันอยู่ เราทำอย่างไรที่เราจะสนับสนุนให้ตำรวจที่ดี มีสิทธิมีเสียง มีปาก มีอำนาจ แทนที่พวกตำรวจอีกกลุ่มหนึ่ง

คำว่า “สารวัตรหมาบ้า” มันชวนให้คิดถึงพวกตำรวจนอกกรอบ และคิดว่า กฎหมายมันไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ จนต้องไปเล่นนอกเกม
ตัวหนังต้องการจะสื่อตรงนั้น ความเป็นหมาบ้าของสารวัตรทำให้ผลของมันออกมาเป็นอย่างไร หมาบ้าของสารวัตรมันดีหรือไม่ดี นี่คือหัวใจของหนัง ในความเชื่อของผม ผมเชื่อในระบบกฎหมาย ผมเชื่อในการทำตามกฎหมายเสมอ ผมไม่เคยเชื่อในการที่จะไม่เชื่อตำรวจแล้วถือกฎหมายขึ้นมาไว้ในมือ ไม่เคยเชื่อสิ่งนั้นเลย ผมเลยทำหนังเรื่องนี้มา ผมเชื่อว่าเราต้องทำตามกฎหมายเท่านั้น แล้วผมเชื่อว่าตำรวจก็คือหัวใจของการบังคับใช้กฎหมายเสมอ ถึงแม้จะมีตำรวจไม่ดี แต่เราต้องไปทำให้ตำรวจดีมีบทบาทในการใช้กฎหมาย ไม่ใช่ไปเอากฎหมายมาแล้วบอกว่าตำรวจไม่ดี

หนังของคุณชายได้รับอิทธิพลอะไรมาจากหนังของท่านมุ้ยบ้างหรือเปล่า
ยังครับ ผมคิดว่าประเด็นการนำเสนอที่ดี ต้องมาจากประสบการณ์ชีวิตที่ดีด้วย ผมเชื่อว่าผมยังเด็ก ผมอายุ 27 ผมไม่มีประสบการณ์ชีวิตมากเพียงพอ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว คนที่ทำภาพยนตร์ได้ตกผลึกต้องใช้ชีวิตได้คุ้มมาก เพราะมันมาจากข้างใน ผู้กำกับเล่าเรื่อง ไม่ได้มาจากการที่อ่านบทแล้วทำตาม แต่มันต้องมาจากจิตใต้สำนึกภายใน มันต้องมาจากการบ่มเพาะชีวิตเป็นอย่างดี

ผมคิดว่าเรื่องแรกของผมต้องการสร้างภาพยนตร์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อน ครบถ้วน มีความบันเทิง มีประเด็นสังคมติดไปบ้างแต่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ เพราะการที่จะนำสาระสำคัญมาตรงนี้ได้ เราต้องตกผลึกอย่างหนัก ผมรู้ว่าท่านพ่อ (ท่านมุ้ย) เวลาทำหนังที่มีสาระทางสังคมสูงๆ ต้องค้นหาข้อมูลกันเป็นปีๆ นอนกินอยู่กับมัน ตอนหนังเรื่อง “เสียดาย” คนติดยาอยู่เต็มบ้านเลย นั่งซัดยาอยู่ ฉีดเข้าเส้น เราเห็นอยู่กับตาทุกวันๆ ครับ ตอนทองพูนโคกโพ ราษฎรเต็มขั้น พ่อนั่งแท็กซี่ทุกวัน ขึ้นแท็กซี่คันนี้ ลงไปขึ้นคันนั้น ตามไปดูถึงบ้านเขาเป็นอย่างไร แบบว่า มันคือการอยู่แล้วกินกับมันนะ ความสามารถเราในการที่เราตกผลึกทางความคิดขนาดคุณพ่อ ไม่ถึงหรอกครับ
ดูหนังของท่านมุ้ยบ้างไหม
ดูสิครับ พลาดไม่กี่เรื่อง ผมโตมากับหนังของพ่อครับ

คิดเห็นอย่างไรกับหนังของท่านมุ้ย
หลายคนบอกว่าหนังของท่านพ่อแบ่งเป็นสองยุค ถ้าพูดตามความจริง ผมคิดว่าท่านพ่อมียุคเดียว แต่คนเข้าใจผิด ท่านพ่ออาจจะหันไปจับงานสเกลใหญ่ แต่เรื่องราวทั้งหมดเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ตั้งแต่ “มันมากับความมืด” ถึง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” มันคือเรื่องราวของคนตัวเล็กที่ต้องต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่กว่าตนเองเสมอ อย่าง “ครูสมศรี” ที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มนายทุน พระนเรศวรต้องต่อสู้ด้วยความรู้สึกแบกรับอิสรภาพของคนไทยทั้งประเทศ สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องแบกรับกับการเมืองอันแปรผัน หนังเรื่อง “เสียดาย” คือเด็กที่ต้องสู้กับกระแสสังคมเลวๆ ที่ถาโถมเข้ามา เป็นเรื่องของคนตัวเล็กๆ ทั้งหมด คนยังคิดว่าพระนเรศวรคือคนตัวใหญ่ๆ ไม่ใช่ ในเรื่องก็ยังเหมือนเดิมเป็นคนที่อยู่กับความพ่ายแพ้มาตั้งแต่เด็ก

เพราะฉะนั้น หนังของคุณพ่อทุกเรื่องมีแก่นแท้สำคัญที่เหมือนกันหมดทุกเรื่องเหมือนกันหมดล่ะครับ ไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไปแค่สเกลหนัง เพราะหนังที่เกี่ยวกับกษัตริย์ สเกลมันก็เป็นสเกลกษัตริย์ ถ้าเราเปลี่ยนกษัตริย์มาเป็นขอทาน สเกลมันก็จะเป็นสเกลขอทานแทน มันเป็นอย่างนี้ แค่ว่าสเกลมันเป็นไปตามโครงเรื่อง แต่แก่นแท้สำคัญยังคงเดิม

สุดท้าย เราจะได้เห็นอะไรบ้าง ในหนังเรื่องนี้ นอกจากตำรวจดีตำรวจเลว
ผมคิดว่าสื่อทุกชนิดบนโลก ไม่ว่าจะเป็นละครน้ำเน่า หนัง ทุกอย่างให้อะไรกลับมาที่ทำให้เราย้อนดูตัวเองได้ คนทำละคร คนทำหนัง คนทำสื่อ พยายามสะท้อนกระจกอีกด้านหนึ่งของสังคมเสมอ เพราะว่าถ้าสังคมไม่ได้เป็นไปตามนั้น ภาพยนตร์คงไม่มีแบบนั้นออกมาแน่ๆ

และสำหรับหนังเรื่องนี้ มันเกิดจากการที่ผมชื่นชอบหนังแนวตำรวจดราม่ามาตั้งแต่เด็ก สารวัตรหมาบ้าจึงถูกจงใจให้มีพล็อตเรื่องที่คล้ายคลึงหนังตำรวจในสมัยยุค 80 ทั้งตัวบท นักแสดง แบบ Serpico หรือ Heat พร็อพ ตัวละคร อารมณ์หนัง ไปจนถึงโปสเตอร์ ทุกอย่างมีความเกี่ยวโยงถึงอดีต แม้แต่การตัดต่อหนังตัวอย่างที่ดึงซีนอารมณ์ช้าๆ โดยมุ่งเน้นให้คนดูใช้เวลาศึกษาคาแร็กเตอร์ของตัวละคร

เราไม่เห็นตัวละครแบบนี้มานานแล้ว เราเห็นพี่เต๋า (สมชาย เข็มกลัด นักแสดงนำ) ถือปืน เราเดินมาแล้วบอก “เฮ้ย เขาดูเจ๋งอ่ะ” ผมไม่ได้มองในมุมมองของคนทำหนังด้วยซ้ำแต่มองในมุมมองที่ผมเป็นเด็ก 7-8 ขวบ ที่สมัยก่อนเราดู เราชอบ Power Ranger เราชอบ แต่เราไม่รู้หรอกว่า Power Ranger มีปมตัวละครอะไร แต่ Power Ranger โผ่ลมาแล้ว โห เจ๋งอ่ะ มีชุดแดง น้ำเงิน เขียว เหลือง ดำ

ในสารวัตรหมาบ้า มีพระเอกที่เป็นขาลุย พอเห็นอย่างนี้ ในฐานะที่เราเป็นเด็ก เราจะบอกว่าเราอยากวิ่งไปซื้อปืนแก๊ปมาไล่ยิง โป้งป้าง โป้งป้าง แล้วเราก็คิดอย่างนี้มาตลอดเวลาทำหนังว่า ถ้าเราเป็นเด็ก เราจะดูเขาและเห็นเขาเป็นไอคอนได้อย่างไร

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE