Marsmag.net

“ผมอยากให้นักการเมืองไทยตายห่าให้หมด”

ยุคหนึ่งที่ดนตรี “ร็อกแอนด์โรล” คือสัญลักษณ์ของการกบฎต่อสังคมที่บิดเบือนความเป็นจริง “แมดแพ็กอิต” คือวงดนตรีที่ได้รับการยอมรับไม่เป็นสองรองใคร ทั้งดีกรีทางดนตรีที่เข้มข้น ดิบเถื่อน ทว่าให้แง่คิด มุมมอง ตลอดจนตีแผ่ความเป็นจริงที่สังคม “โลกสวย” ฉาบหลอกผู้คนให้รู้เช่นเห็นชาติ จนกลายเป็นไอคอนที่หนุ่มสาวผู้หลงใหลเสียงดนตรีและเสรีภาพ “ยกนิ้ว” และ “กล่าวถึง” แม้ในปัจจุบันจะกินเวลาร่วมนับ 10 กว่าปีแล้วก็ตาม แต่ผลงานเลื่องชื่อและความคิดอ่านสะท้อนสังคมของเขายังคงมีผู้หาเสพและมีมาให้เสพ สมราคา “ร็อกเนเวอร์ดายส์”

นั่นคือสิ่งที่ “บอล-เจษฏา เลี้ยงเชื้อ” ร็อกเกอร์หัวขบถผู้นี้เริ่มต้นฝากไว้เมื่อวัย 19 ปี

แม้ว่ายุคเพื่องฟูของอัลเทอร์เนทีฟจะปิดม่านกาลเวลาลงพร้อมกับชื่อเสียงเรียงนามเขาจะค่อยๆ ถูกพูดถึงในวงแคบเฉพาะคนดนตรีหรือคนที่เติบโตมาด้วยกันเท่านั้น ทว่า “เขา” ได้กลับมายืนยันตัวตนด้วยการ “ฟาดหัว” สังคมอีกครั้ง กับบทบาทพิธีกรรายการ “ข่าวฟาดหัว” ที่คุณจะร้องโอดโอย เมื่อเขากระหน่ำตีโลกเบี้ยวๆ ของคุณ ชนิดไม่เลี้ยงเลยทีเดียว

“เรามีวิญญาณของความเป็น “ร็อกแอนด์โรล” ความเป็น “พังก์” อยู่ ก็แทรกเข้าไปในมุมของเรา” เขาเริ่มต้นเล่า ก่อนจะออกปากยืนยันอีกครั้งว่า “เราก็เล่าเรื่องในแบบของเราเท่านั้นเอง”

(กู) ร็อก !!

แน่นอนว่าสิ่งที่เรารับรู้จากการแสดงออกทางผลงาน ความคิด การกระทำ รวมไปถึง คำพูด ของร็อกเกอร์หนุ่มผู้นี้ จะเป็นไปในทางกักขฬะรุนแรง ต่อต้านอย่างหยาบคายในสายตาปุถุชนผู้เห็นต่างมุม แต่เชื่อได้ว่าทุกการกระทำย่อมมีความคิดเป็นแรงผลัก และหากไม่มีใครยื่นมือช่วยผลักเสริมเขา “ชื่อ” นี้คงไม่ได้มีปรากฏขึ้นในกูเกิลอย่างแน่นอน

“ผมเป็นคนแอนตี้สังคมตั้งแต่เด็ก คือที่บ้านพ่อแม่ผมเขาเกลียดตำรวจทั้งบ้าน” เขาบอกต่อว่า “ต่อให้พวกมึงเรียนเก่งสักแค่ไหนแล้วมาเป็นนายร้อยกูก็ไม่ภูมิใจ” แม่ผมพูดอย่างนี้เลย” เขาย้อนอดีตให้ฟังก่อนที่ตัวเองจะกลายเป็นหนุ่มหัวขบถอย่างทุกวันนี้

“คิดดูว่ามีการปลูกฝังมาอย่างนี้” เขาเสริม ก่อนจะบอกว่า “ความอยุติธรรม” คือสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและตัวเขาอย่างเด็ดขาด

“พ่อแม่ผมเป็นคนรักความยุติธรรมมาก ท่านขายของอยู่ในตลาด แถวนั้นจะติดกับโรงพัก ซึ่งมันมีการเก็บส่วยเล็กๆ น้อยๆ จากพ่อค้าแม่ค้า ทุกคนก็จ่ายเพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่พ่อแม่ผมเขายอมไม่ได้ เขาไม่เป็นอย่างนั้น เรื่องไหนรู้สึกไม่ยุติธรรม พ่อกับแม่ผมจะไม่ยอม ผมก็ได้ซึมซับเขามา มันก็คือเป็นตัวตนผมตั้งแต่เด็ก” เจษฏาเผยจุดต้นตอการเลือกเดินสายคู่ขนานกับสังคม

“มีแรงบันดาลใจอื่นอีกไหมที่เราได้รับมา” เราถาม เพราะเชื่อว่าความคิดคนเราหากไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แน่นอนว่าวันเวลาสามารถทำให้มันเปลี่ยนแปลงทิศทางได้

“นอกจากแม่ ถ้าแรงบันดาลใจใหญ่เลยก็มี เจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็ใครอีกหลายคนในวงการดนตรี คนเหล่านั้นเขาสอนผมโดยที่ไม่ได้พูดกับผม แต่มันเป็นเรื่องทางความคิดว่า ถ้าคุณอยากเจ๋งคุณอย่าเป็นเหมือนผม คุณต้องเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งผมคิดเรื่องนี้ได้ตอนผมอายุ 10 กว่าขวบ

“แล้วก็ตั้งแต่สมัยเด็ก ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูงานศิลปะ อ่านงานพี่ศุ-บุญเลี้ยง อ่านงานของคุณวินทร์ เลียววารินทร์ ผมก็อ่าน หนังสือประชาธิปไตยบนเส้นขนานก็อ่าน เด็กที่อุตรดิตถ์ น้อยคนที่จะเป็นอย่างนี้ มันมีน้อยมากนับคนได้เลยพวกที่จะมาฟังเพลงเบเกอรี่ อ่านหนังสือสังคม ประวัติศาสตร์ เพื่อนๆ ที่เรียนชั้นเดียวกัน แม่งไม่ค่อยมีใครทำ แต่ผมเป็นอย่างนั้น พออ่านเยอะ ก็อยากเขียน ผมอ่านหนังสือเสร็จผมก็หัดเขียนเรื่องสั้นเลย ผมเป็นคนที่มีแรงบันดาลใจจากเรื่องไหนเมื่อไหร่ผมจะทำเลย ร้องเพลงก็หัดร้อง คือรู้สึกว่าเวลาได้อยู่กับมันแล้วมีความสุข อ่านหนังสือแทบจะเป็นอย่างเดียวที่ทำให้ผมเงียบ เพราะผมเป็นคนพูดมาก” เจษฏาบอกเสริมอีกว่า

เหนืออื่นใดสิ่งที่ทำให้ เด็กชายเจษฏา เป็น นายเจษฏา เฉกเช่นทุกวันนี้ คือการที่ครอบครัวยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น คือหลักใหญ่ใจความสำคัญที่สุดของเขา

“ผมเคยบอกกับแม่ว่า จะสักนะ โอ้โห แม่ด่ายับเลย โน่นนี่นั่น เขาก็บอกว่ามึงจะสักเหี้ยอะไร เราก็บอกรู้ไหมว่าจะสักรูปอะไร ผมจะสักหน้าแม่ เขาก็อึ้ง เราก็บอกต่อว่า ก็รักแม่อยากจะสักหน้าแม่ เขาบอกมึงรักกูมึงไม่ต้องทำอย่างนี้ก็ได้ มึงทำอย่างอื่นให้กูก็ได้ ผมก็อ้าวทำไมล่ะ นี่มันเป็นวิธีการแสดงออกความรักของผม ผมก็เกิดมาเป็นคนอย่างนี้ ที่อยากสักหน้าแม่เอาไว้กับตัว เพราะผมไม่รู้ว่าชีวิตนี้เราจะต้องอยู่ด้วยกันถึงตอนไหน หรือว่าเราจะจากกันเมื่อไหร่ ผมอาจจะตายก่อนแม่ หรือแม่อาจจะตายก่อนผม แต่ว่าอย่างน้อยๆ ผมรู้แน่ว่าตอนที่ผมตายยังมีแม่อยู่กับผม แม่ร้องไห้เลย ผมก็เลยรู้สึกว่าพอแม่รับเราได้ ผมไม่แคร์คนอื่นแม่งเลย พ่อแม่กูรับได้พอแล้ว”

ร็อกแสกหน้า ฟาดหัวห่า(สังคม)เมือง

หลังจากได้รับการยอมรับจากครอบครัวเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่ตัวเองเป็น แน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติของคนใช้ชีวิต “ขบถ” ที่เลือกไม่บรรจบเส้นให้ตรงกับบรรทัดฐานทางสังคม และนั่นคือสิ่งที่ต้องตระหนักและพบเจอ การแบ่งแยกและเสียดแทงของนิยามคำว่า “มุมมอง” อย่างไม่ต้องสงสัย

“ตอนเด็กๆ นี้เหวี่ยงใส่เลยนะ” เขาเอ่ยปากยอมรับ ก่อนบอกว่า เด็กวัยรุ่นทุกคน เป็นวัยที่อยู่ในช่วงอารมณ์รุนแรงทั้งนั้น แต่พอเติบโตขึ้นเวลาจะสามารถช่วยทำให้ความคิดตกตะกอนได้

“เคยเจอแม่ลูกคู่หนึ่งอยู่ๆ คนแม่สะกิดชี้บอกให้ลูกเขาดูว่าเราเป็นตัวอะไร คือมันตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว เรารู้สึกว่าเราก็เป็นคน ช่วงนั้นก็เหวี่ยงใส่เลย แต่พอตอนนี้โตขึ้นเราก็ให้อภัยได้หมด มันเหมือนเป็นการหล่อหลอมอย่างหนึ่ง

“เราเชื่อว่าเราเป็น มันก็เป็น เมื่อก่อนคิดว่าเราแปลกแยก คิดว่าไอ้เหี้ยคนทั้งโลกเกลียดกู กูต้องเกลียดคนทั้งโลกเลย โลกต้องหยุดหันมามองกู กูจะเป็นอย่างนี้ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เมื่อเวลาผ่านไปถ้าเราโอเค ถ้าเราอยู่กับมันได้จริงๆ คุณจะต้องเอาตัวตนจริงๆ ของคุณเดินฝ่าให้โลกรู้ว่า ไอ้เหี้ยคนคนนี้เป็นอย่างนี้โว้ย

“สมมติว่าเรามีโล่อันหนึ่งมันแข็งแรงมากสามารถทนการฟันได้เป็นพันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง แล้วมึงจะรู้ได้อย่างไรว่ามันทนจริง มึงก็ต้องลองฟันเป็นแสนครั้ง ถ้าโล่มึงอยู่ได้ตัวตนมึงอยู่ได้ มึงชนะ มึงถึง”

“ก็เราอยู่ที่ไหน เราอยู่ในสังคมไง” เจษฏา เกริ่นตอบคำถามที่เราสงสัย ว่าทำไมต้องสนใจเรื่อง “สังคม” หรือ “การเมือง” ขนาดนั้น

“ผมทำเพราะว่าพวกผมคิดว่าเรามีไฟ เรามีจินตนาการ เราอยากจะสร้างงานศิลปะออกมาในนรูปแบบไหนก็ได้ เราสร้างเป็นเพลง เสียงดนตรี เราเขียนเป็นตัวหนังสือ เป็นมีเดีย เป็นหนัง เป็นอะไรก็แล้วแต่ที่มันเป็นศิลปะ แต่ว่าถ่ายทอดในมุมเรา ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในเรื่องของสังคม ก็ออกมาสะท้อนความเป็นตัวเรา แต่ก็อยากให้ผลงานที่ออกไปมันมีแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมบ้าง มีจุดให้เด็กยุคใหม่ๆ มันมีอะไรกระตุกต่อมคิดมันบ้าง” เจษฏา เล่าติดตลกว่า หากย้อนไปสัก 40-50 ปีก่อน สิ่งที่เขาทำก็เหมือนกับสภากาแฟ วิจารณ์ข่าวสารบ้านเมืองไปเรื่อยในวงเพียงเท่านั้น

“ตอนนั้นเขาไม่รู้จักและไม่มียูทูปหรืออินเทอร์เน็ต แต่ตอนนี้เรามี ถ้าเราจะพูดอยู่ในโต๊ะกาแฟ กินกาแฟสูบบุหรี่แล้วให้เรื่องจบอยู่ตรงนั้นทำไม ในเมื่อเราทำให้มันเกิดความรับรู้ขึ้นได้ บันทึกมันได้ ก็เลยเลือกที่จะทำมันเท่านั้นเอง”

“ไอ้เรื่องพวกนี้บอกตรงๆ มันอยู่ในวิญญาณเราอยู่แล้ว” เจษฏากล่าวยืนยัน พร้อมเสริมอีกว่า

“อย่างน้อยรายการของผมก็เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วันนี้ พ.ศ.นี้ ปีนี้ ต่อให้ผมตายไป ต่อให้คุณตายไป อีกกี่ยุคมันยังอยู่ใน 'ยูทูป' รุ่นหลังมาเปิดดูมันก็รู้ถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มีคนแบบนี้ คิดแบบนี้กับประเทศนี้ รู้สึกแบบนี้ เรื่องแบบนี้”

หากใครเคยเสพผลงานเพลง หรืองานล่าสุดกับบทบาทพิธีกรของเขามาบ้างแล้ว คงพอจะรับรู้กันเป็นอย่างดีถึงกิตติศัพท์ผลงาน “เสียดสีสังคม” ที่เจ้าตัวพูดถึงผลงานตัวเองในฐานะพิธีกรรายการข่าวฟาดหัวว่า “เป็นเสียงหัวเราะที่เจือน้ำตาอยู่เล็กๆ มันก็มันสะใจดี”

“เพราะว่าสิ่งที่เราหยิบมาพูดมันคือเรื่องจริง มันคือเรื่องจริงที่คุณทำอย่างนี้จริงๆ ผมไม่ได้ไปยัดเยียดว่าคุณเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าคุณทำแล้วผมเลยเอามาพูด เฮ้ยคุณทำอย่างนี้ว่ะ”

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ประชาชนอยากจะพูด คือทุกคนอาจจะพูดเกินกว่าผมด้วยซ้ำ หรือว่า ช่องของนักการเมืองเอง ช่องสื่อของเสื้อสีทางการเมืองเอง เขาด่าเขาวิจารณ์กันหนักกว่าผมเสียอีก”

“ผมเชื่อว่าดูรายการข่าวผมไม่เหี้ยหรอก” เจษฏากล่าวแซมยิ้มพร้อมบอกต่อว่า

“เราได้แสดงออกในฐานะพลเมือง ในฐานะประชาชน นักการเมืองผมคิดว่าคงไม่แก้เขาหรอก ผมว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันดีมากสำหรับองค์กรเขา มันประเสริฐมากสำหรับองค์กรที่เขาต้องการจะสร้างความเป็นปึกแผ่นขององค์กรเขา แต่มันเหี้ยมากสำหรับประชาชน และคนที่ไม่ได้รู้สึกไม่ได้ศรัทธาในองค์กรเขา ถ้าเป็นไปได้อยากให้ตายครบชุด แล้วก็มีนักการเมืองยุคใหม่ขึ้นมาที่มันรักประเทศมากกว่านี้ คงเป็นไปไม่ได้หรอกมั้ง นั่นแหละคือสิ่งที่ผมคิด”

คุณเป็นร็อกแอนด์ “โรล” หรือร็อกแอนด์ “เลว”

ท่ามกลางโลกที่ชี้วัดคน “ดี-เลว” ที่รูปลักษณ์ภายนอก การแสดงออก และคนที่ไม่เข้าพวก คือ “ผิด-เลว” สิ่งใดเล่าที่เจษฏาใช้เป็นตัวชี้วัดว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือสิ่งที่ “ถูกต้อง” “ยุติธรรม” คนละแบบกับสังคม “โลกสวย” ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

“คนเราต้องพิจารณาตัวเอง ถ้าเราไม่สามารถมองนิสัยตัวเราเองออกว่า เราดี-ไม่ดี ยังไงได้ นี่คือเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน คือการพิจารณาตนก่อน เราต้องรู้ว่า เราดีตรงนี้นะโว้ย เราเหี้ยตรงนี้ เราต้องรู้ตัวเราก่อนที่จะไปรู้จักคนโน้นคนนี้

“เมื่อก่อนผมเอาตัวเองเข้าไปตัดสิน ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ ความรักและศรัทธาของคนอื่นเราไม่ควรจะไปตัดสิน เราไม่ควรจะไปแตะต้อง ความรักของเขา ศรัทธาของเขา มันเป็นเรื่องของเขา เรายังมีศรัทธาของเรา ถ้าใครมาแตะของเราเรายังไม่ชอบเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปยุ่งกัน” เจษฏา เล่าพรางชี้จุดยืนและขอบเขตของตัวเองว่า เป็นยังไงมันก็ไม่ผิด แต่ถ้าสิ่งที่เราเป็นมันไปสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านเขาก็ผิด แค่นั้นเอง ถ้าสร้างความเดือดร้อนก็ผิดทันที ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร ตัดผมทรงอะไรมันก็ผิดอยู่ดี

“ผมรู้สึกเสมอว่า ความคิดคนแม่งอยู่ในสมองมัน ไม่ได้อยู่ในเสื้อหรือกางเกงมึง ไอ้เหี้ยคนใส่สูทนั่นแหละคือคนที่แดกประเทศ สูทโคตรแพงเลยที่มันใส่ คนใส่เสื้อหนังกางเกงยีนส์ขาดๆ ไม่ได้แดกประเทศ ไม่ได้โกงกินประเทศ เพราะฉะนั้น ดูความคิด ดูสิ่งที่เราทำสะท้อนดีกว่าใช่ไหม”

“คนเราตัดสินจากงานก็คิดว่าผมเป็นอย่างนั้นอย่างเดียว จริงๆ แล้วมนุษย์เราแม่งมีสองด้าน โลกมีกลางวันกลางคืน ธรรมชาติเราก็เป็นมนุษย์” ร็อกเกอร์หนุ่มมาดขบถกล่าวทิ้งท้าย







ผลงานเพลงในฐานะ “นักดนตรี”


ผลงานในฐานะ “พิธีกรรายการข่าว”