Marsmag.net

บลู โลตัส เธอคือประวัติศาสตร์หน้าแรกมวยปล้ำสาวไทย

เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการกีฬาไทย เปิดใจหญิงสาวคนแรกแห่งแดนสยามบนสังเวียนมวยปล้ำอาชีพ ในนาม “บลู โลตัส” ท่ามกลางกระแสความคิดของคนรอบข้าง บวกกับอุปสรรคด้านสถานบ่มเพาะ เธอค่อยๆ ลัดเลาะเตาะไต่มาบนเส้นทางสายนี้อย่างคนมีความฝัน ก่อน “ดอกบัวสีฟ้า” จะเบ่งบานบนลานผ้าใบเช่นในปัจจุบัน…

“รู้สึกว่าจะไม่มีนะคะที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ มีแต่ไปฝึกแล้วก็เงียบหายไป ที่สามารถเรียกว่าเป็นนักมวยปล้ำอาชีพคนแรก ก็ “บลู โลตัส” นี่แหละที่เป็นทางการ” หญิงสาวผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 19 ปี เอ่ยพร้อมแซมยิ้มอันภาคภูมิเมื่อพูดถึงตัวเองในฐานะนักมวยปล้ำอาชีพคนแรกแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย

“Blue Lotus” หรือ “ดอกบัวสีฟ้า” มีที่มาจากสัญลักษณ์ค่ายที่สังกัดเป็นรูปดอกบัว และชุดประจำกายที่สวมใส่ ด้วยเหตุนี้เองจึงกลายเป็นลักษณะนามที่ใครๆ ต่างพากันเรียกขานเธอแทนชื่อจริงที่ไม่ขอเปิดเผย อันเป็นแบบอย่างสากลของนักมวยปล้ำทั่วโลก

“นักมวยปล้ำเขาสามารถทำสิ่งที่เหมือนไม่ใช่ของจริงให้มันดูสมจริง เขาทำให้คนดูเชื่อว่า นี่คือของจริง หนูก็เลยค่อนข้างจะนับถือนักมวยปล้ำ เพราะนอกจากเป็นนักสู้แล้ว เขายังเป็นนักเอนเตอร์เทนอีกด้วย ในตัวคนเดียว” และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ที่ทำให้เธอตกหลุมรักกีฬากอดรัดฟัดเหวี่ยงชนิดนี้

อย่างไรก็ดี กว่าที่ “บัว” ดอกนี้จะผลิบานบนลานผ้าใบ เธอบอกว่า ก่อนหน้านั้นมันแทบจะเป็นเพียงเงาความฝันลมๆ แล้งๆ ก็ว่าได้

“ความฝันที่จะเป็นนักมวยปล้ำ หนูคิดว่ามันเป็นฝันที่ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะเราจะเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องใช้เงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งกว่าจะเก็บเงินได้ถึงจุดนั้น หนูก็โตเป็นสาวแล้ว เลยคิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้หรอก” เธอบอกต่ออีกว่า แม้ความฝันที่คิดอยู่ในตอนนั้นจะเป็นเพียงเงาลมๆ แล้งๆ แต่เธอก็เลือกที่จะยังเหยียบและอยู่เคียงข้างความฝันนั้น และปีนป่ายไปให้ถึงมัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“เหมือนว่าถ้ายังตามฝันไม่ได้ เราก็ยังทำอย่างอื่นที่มันสามารถยังอยู่ในวงการมวยปล้ำได้ คือ เราอาจจะเป็นแฟนคลับสนับสนุนกีฬามวยปล้ำ หรือคอยประชาสัมพันธ์บอกต่อให้คนที่ไม่รู้ว่ามวยปล้ำนั้นมันไม่ใช่กีฬาอันตรายอย่างที่คุณคิด”

“แต่พอมีค่ายนี้ ฝันก็เลยกลายเป็นความจริง” สาวน้อยยิ้มรับ ก่อนบอกต้นสายปลายเหตุว่าเหตุใด สาวเจ้าถึงเข้ามาข้องเกี่ยวเอี่ยวดองกับกีฬาโลดโผนโจนทะยานนี้ได้

“หนูเป็นแฟนมวยปล้ำมาตั้งแต่เด็กๆ เห็นน้องชายดู เราก็สงสัยว่าน้องเขาดูอะไร เราเลยไปนั่งดูด้วย จึงรู้ว่ากีฬาอย่างนี้เขาเรียกว่ามวยปล้ำ” บลู โลตัส เกริ่นถึงจุดเริ่มต้นก่อนก้าวเข้าสู่สังเวียน “ไม่รู้ว่าเป็นกันทุกคนหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่เวลาเด็กดูมวยปล้ำมันก็ต้องมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักมวยปล้ำบ้างล่ะ อยากทำได้แบบเขาบ้างล่ะ มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่เด็กๆ ว่า สักวันหนึ่งเราต้องเป็นนักมวยปล้ำให้ได้”

“ซึ่งตอนนั้น พอเราชอบมวยปล้ำปุ๊บ เราก็เริ่มหาแฟนมวยปล้ำที่คุยเฉพาะเรื่องมวยปล้ำ จนไปเจอพี่ “ปูมิ” เขาเป็นแฟนมวยปล้ำเหมือนกัน เราก็รู้จักกันพอสมควรประมาณ 3-4 ปี แล้วบังเอิญเมื่อปีที่แล้ว พี่เขาได้เป็นผู้จัดการค่ายมวยปล้ำของอาจารย์ซากุระ เขาก็ถามเราว่าสนใจไหม เราก็บอกว่าสนใจ ก็เลยลองซ้อม คือเมื่อโอกาสมาถึงเราก็จะลอง ลองลุย ทำเลยแค่นั้น”

แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายที่ “ดอกบัวสีน้ำเงิน” ดอกนี้จะเบ่งบานได้ ท่ามกลางผืนดินและฤดูที่ไม่ใช่แหล่งเพาะปลูกอันเหมาะสมแก่การเจริญเติบโต

“คือตอนที่ค่ายเราไม่มีคนเยอะขนาดนี้ มีคนคนหนึ่งมาดูถูกเราว่า เฮ้ย ค่ายมึงกระจอก ไม่มีวันมาทำอะไรอย่างนี้ได้หรอก มาพูดต่อหน้าเลย แต่เราก็เก็บเอาคำดูถูกมาเป็นแรงกำลังใจ

“สำหรับหนู ถ้าคนดูถูก เราไม่ต้องไปด่าเขาหรือว่าเขากลับ เราแสดงให้เขาเห็นว่าเราทำได้ นั่นแหละคือสิ่งที่จะไปกระแทกใส่เขาอีกทีหนึ่ง”

นอกจากคำดูถูก เธอยังบอกอีกว่า “เพศ” และ “มุมมอง” ถือเป็นอีกหนึ่งขวากหนามบนสังเวียนมวยปล้ำที่ทำให้เธอต้อง “ปล้ำ” กับมันไม่เหนื่อยน้อยไปกว่าเวลาปล้ำกับคู่ต่อสู้บนเวที

“อย่างที่รู้ค่ะว่า กีฬานี้ค่อนข้างอันตรายระดับหนึ่งก็ว่าได้ แต่มันก็ไม่ถึงกับอันตรายมากขนาดนั้น จริงๆ แล้ว กีฬามวยปล้ำเน้นความปลอดภัย แต่ส่วนใหญ่คนมักจะไม่รู้ ก็เลยอคติคิดว่ามันต้องอันตราย

“และด้วยความที่เราเป็นลูกผู้หญิงด้วย คุณพ่อคุณแม่เขาก็ไม่อยากให้ไปเสี่ยงอันตราย เพราะครอบครัวคนไทยก็จะ เฮ้ย! ลูกผู้หญิง ไปทำอย่างนี้ได้อย่างไร ไปเรียนกีฬาต่อสู้ มันไม่สมควร เขาเลยห้าม แต่หนูก็แอบมา คือหนูรู้สึกว่าคนไทยจะเป็นอะไรที่แบบว่าถ้าเขาไม่ชอบ เขาจะไม่สนับสนุนอะไรเลย หนูจึงคิดว่าถ้าเราทำแล้วเราแสดงออกให้เขาเห็นว่าเราทำได้ เขาอาจจะสนับสนุนเรา หนูก็เลยแอบมาฝึก จนได้เปิดตัวในไทยแล้วกำลังจะไปขึ้นเวทีที่ประเทศญี่ปุ่น ถึงได้บอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ ซึ่งเขาก็โอเค สนับสนุนก็ได้” เธอแทรกรอยยิ้มในระหว่างที่ย้ายเสียงผ่านลำคอ แสดงออกถึงความโล่งใจ

และเป็นที่รู้ทั่วกันดีหากขึ้นชื่อว่ามวยปล้ำย่อมหมายถึงความรุนแรง ทั้งในเชิงกระบวนท่าการต่อสู้และอุปกรณ์…“เก้าอี้ มันเหมือนเป็นอุปกรณ์ที่เพิ่มความสนุกแต่มันไม่ใช่แก่นจริงๆ ของมวยปล้ำ” เธอแย้งตอบ

“คือเมื่อก่อน คนจะเห็นอุปกรณ์ในระหว่างแสดงการปล้ำจำพวกเก้าอี้ โต๊ะ เขาเลยติดภาพรุนแรง แล้วยิ่งมวยปล้ำหญิงค่าย WWE เข้าเน้นเซ็กซี่ เน้นผู้หญิงใส่ชุดบิกินีออกมาปล้ำ ยิ่งติดลบเข้าไปใหญ่ ภาพเลยยิ่งติดลบว่ามันเป็นกีฬาลามกด้วย หนูเคยโดนพ่อด่าอย่างนี้เลย”

“แต่มวยปล้ำไม่ใช่กีฬารุนแรงอย่างที่ใครคิด” บลู โลตัส ยืนยัน พร้อมเล่าปนอารมณ์ขันว่าการบาดเจ็บที่สาหัสที่สุดซึ่งเธอได้เจอมา ก็คือ ข้อเท้าแพลง

“มวยปล้ำเป็นกีฬาที่ทำอย่างไรก็ได้ ให้การต่อสู้ของเรากับเขาไม่เจ็บตัว แต่ทั้งหมดยังอยู่ในความสมจริง ก็เลยอยากบอกว่ามันไม่ใช่กีฬาที่เน้นเลือดสาด เน้นอาวุธ เน้นตี กันอย่างเดียว มันเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยเทคนิคการต่อสู้เข้าร่วมด้วย”

แล้วอะไรที่ทำให้ลุกขึ้นสู้ไล่ล่าความฝันถึงขนาดนี้? เราถามย้ำ เพื่อความกระจ่างชัด

อาจจะเป็นเพราะสิ่งที่เรารัก คือหนูมีไอดอลเป็นนักมวยปล้ำหญิง ชื่อ “เอเจลี” ที่ตอนนี้เขาเป็นแชมป์ WWE ซึ่งก่อนหน้าที่เขาจะมาเป็นนักมวยปล้ำ เขาและพี่ชายเคยมีความฝันร่วมกันว่าอยากเป็นนักมวยปล้ำ แล้วพี่ชายเขาเสียชีวิตเนื่องจากไปเกณฑ์ทหารที่อิรัก เขาก็เหมือนรับช่วงต่อความฝันจากพี่ชาย สร้างเนื้อสร้างตัวมาเรื่อยๆ จนได้เปิดตัวเป็นนักมวยปล้ำหญิงและได้แชมป์รายการนี้

“ฟังเรื่องราวของเขาแล้ว หนูก็รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมเขาทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ เราก็ต้องทำได้บ้างสิ อาจจะเหมือนเราวิ่งไล่ตามเขาก็ได้นะในช่วงแรกๆ แต่พอสักพัก เราจะเจอเส้นทางของตัวเอง ซึ่งอาจไม่เหมือนของเขาแล้ว แต่เราก็เดินตามเส้นทางของเรา สักวันหนึ่งก็จะถึงจุดมุ่งหมายที่เราฝันถึง”

“ถ้าถามว่าตอนนี้คิดอย่างไร โดยส่วนตัว หนูถือว่าประสบความสำเร็จในขั้นต้นแล้ว คือได้เริ่มเดินในเส้นทางนักมวยปล้ำ จากตอนแรกที่เราเป็นแค่เด็กฝึกหัด ยังไม่ได้มีชื่อในฐานะนักมวยปล้ำเลยด้วยซ้ำ แต่คิดอยู่เสมอว่าเราต้องทำได้ จนในที่สุดเราก็ทำได้จริงๆ

“แต่ถึงขั้นเป็นนักมวยปล้ำหญิงคนแรกของเมืองไทยไหม เราไม่ได้โฟกัสว่ามันต้องยิ่งใหญ่ขนาดนั้น เราแค่ต้องการเป็นนักมวยปล้ำ การเป็นนักมวยปล้ำคือสิ่งที่เราต้องการ ส่วนที่เหลือคือกำไรชีวิต การไปญี่ปุ่นหรือการเป็นนักมวยปล้ำหญิงคนแรก มันเป็นกำไรชีวิตจริงๆ ค่ะ” หญิงสาวยิ้มบานเต็มหน้า สมกับสมัญญา “บลู โลตัส”…




เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล