Marsmag.net

ครูอ๋อ-ศศิวิมล : คุณครูพันธุ์ใหม่ หัวใจสุดสวย

“คำว่า 'ครู' ไม่จำเป็นต้องฟิกว่าคาแรคเตอร์ต้องเป็นแบบไหน แต่การเป็นครูคือเป็นผู้ที่ช่วยพัฒนา ดังนั้น ในความหมายของเรา ครูจึงเปรียบเสมือนโค้ชทีมกีฬา คือทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนไปถึงฝั่งฝัน เป็นผู้ช่วยผลักดันคนที่มาเรียนกับเราให้ไปใกล้ฝั่งที่เขาฝันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

นั่นคือคำอธิบายถึงนิยามความหมายการเป็น “ครู” ของ “อ๋อ-ศศิวิมล อนุเศรษฐพงศ์” ครูสาว 'พันธุ์ใหม่' ที่กำลังโด่งดังในแวดวงอาชีพเรือจ้าง (พิเศษ) จนใครๆ ต่างกล่าวขวัญ และอยากสมัครเป็นลูกศิษย์ลูกหากันอย่างเนืองแน่น แม้ว่าภาษาอังกฤษจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อเมื่อต้องพูดถึงกันอย่างตรงไปตรงมา

แต่กระนั้น เธอก็ได้ฉายาว่าเป็น “คุณครูที่ฮอตที่สุด” คนหนึ่ง ในโลกออนไลน์ เราเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณจะได้ยินได้อ่านถัดจากนี้ จะพาให้คุณรู้สึกถึงตัวละครนิยายการ์ตูนชื่อดังเรื่อง “GTO คุณครูพันธุ์หายาก” ต้นแบบคุณครูในฝันที่คนวัยเรียน หรือวัยเคยเรียน ค้นหามานานแสนนานก็เป็นได้

คุณครูพันธุ์ใหม่
ต้อง “Enjoy and Exciting”

“ถ้าเขาชอบเรา เขาก็ชอบเรียน ถ้าเขาชอบเรียน เขาก็ชอบเรา คือทำอย่างไรก็ได้ให้เข้าไปนั่งอยู่ในใจทุกคน” คุณครูสาว เปรยแก่นการเรียนการสอนสไตล์ “เรียนๆ เล่นๆ” อันเป็นเอกลักษณ์เด่นที่นำมาสู่การเรียกขานเธอว่า “ครูพันธุ์ใหม่”

แน่นอนว่าธรรมชาติของ 'มนุษย์' เมื่อทำอะไรแล้วมีความสุข เราย่อมเลือกที่จะทำและทำมันออกมาได้ดี ด้วยกฎแห่งปัจจัยพื้นฐานข้อนี้ที่เธอเล็งเห็น เธอจึงผนวกมันเข้ากับลักษณะนิสัยความเป็นตัวเอง

“ไม่ใช่ว่าง่ายๆ นะ” ครูสาวออกตัว “เราเป็นคนติ๊งต๊อง ตลกๆ ชอบเล่นมุก แรกๆ เขาก็จะคิดว่าเราบ้าหรือเปล่า มาสอนหนังสือหรือว่ามาทำอะไร เขาก็ไม่เชื่อถือ เราก็ต้องมีการปรับลด อันดับแรกเราต้องไปจับก่อนเลยว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นอย่างไร เพราะไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็คล้ายๆ กัน แต่ยิ่งอายุมากยิ่งสอนยากขึ้น เพราะเด็กๆ หลอกง่าย ให้ดาวสองสามดวงก็กระตือรือล้นที่จะเรียนรู้แล้ว แต่สอนผู้ใหญ่ สอนคนมีอายุ บางคนก็อาย บางคนก็เขิน ไม่กล้า อายุมากแล้ว ตำแหน่งก็สูง ต้องมาเรียนรวมกับรุ่นน้อง ลูกน้อง

“เราก็ต้องปรับทัศนะคติเพื่อลดความเกร็งตรงจุดนี้ โดยการละลายพฤติกรรมทุกคนก่อน อย่างให้เล่นเกมร่วมกัน ให้ร้องเพลงร่วมกัน ทุกคนก็จะสนุก ทุกคนก็จะเปิดใจยอมรับภาษาอังกฤษ และเปิดใจยอมรับความติ๊งต๊องของเราได้มากขึ้น ตอนหลังก็เล่นหัวกันไปมา หัวน่งหัวหน้าเป็นเพื่อนกันสนุกเลย” ครูสาวแซมยิ้มเล็กๆ อย่างมีความสุข ขณะแซวลับหลังลูกศิษย์ในชั้นเรียน

“แต่เราก็ต้องดูความเหมาะสมด้วยนะ ถ้าอายุมากๆ ให้เต้นตลอด เรียนเสร็จพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ข้อเข่าเสื่อมก็ไม่ถูก ก็ต้องหาอะไรที่แมทช์กับเขา อันดับแรกเลยต้องคุยกับเขาว่าส่วนใหญ่สนใจเรื่องอะไรกันบ้าง อย่างขนมไทยชอบกินมั้ย หรือเวลาที่ต้องพูดถึงดาราสักคน เราต้องพูดถึงสรพงษ์ ชาตรี มั้ย”

จะด้วยความพิเศษที่เน้นการเข้าอกเข้าใจ หรือความสนุกสนานในการเรียนการสอนที่เธอกล่าวเล่าให้ฟัง เชื่อว่าไม่สัมผัสเองย่อมไม่มีวันรู้ แต่ที่แน่ๆ เหนือสิ่งอื่นใดที่เรารู้สึกได้ คือ ความเป็น 'ครู' ที่ท้ายสุดแล้วต่อให้ถูกมองว่าอย่างไร ก็พร้อมที่จะทำให้นักเรียนได้ความรู้นั้นๆ จากตนเอง

“คือเราเรียนคณะศึกษาศาสตร์มา เราเรียนเป็นครูมา ทำให้เรารู้ว่าทฤษฏีการเรียนการสอนมีหลากหลายรูปแบบ ผู้สอนหรือครูไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตายตัว ที่ต้องเนี้ยบ ต้องเข้มขรึม เพื่อให้นักเรียนตั้งใจ ถึงจะมีผลเรียนออกมาดี

“แต่อันดับแรกที่อาชีพอย่างเราจะต้องคำนึงถึงและสร้างมันให้เกิดขึ้นก็คือ เราจะต้องเลือกทฤษฏีการสอนที่เข้ากับเราให้มากที่สุดก่อน เพราะเราต้องเข้าใจธรรมชาติของเราเสียก่อน ว่าเราเป็นคนอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจ แล้วผู้เรียนจะเข้าใจในสิ่งที่เราจะนำเสนอหรือที่เราจะสอนเขาได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจตัวเอง

“ดังนั้น รูปแบบการสอนของเราก็จะออกมาในแนวไม่เครียด เน้นสนุก เพื่อให้ผู้เรียนมีความสุข แล้วเขาจะเปิดใจรับในสิ่งที่เราจะสอนเขา นันแหล่ะค่ะ เราเชื่ออย่างนั้น”

จาก…เด็กเกเรียนสุดร็อค
สู่…คุณครูอังกฤษสุดเฟี้ยว

“ผิดเป็นครู” หากเราจะใช้คำนี้เปรียบเทียบกับอดีตเด็กเกเรียนคนหนึ่งที่ผันตัวเองมาเป็นครูได้เพราะความผิด ความไม่ตั้งใจ ก็คงเป็นคำกล่าวที่อธิบายความอลหม่านในชีวิตที่พลิกผันของเธอได้เป็นอย่างดี

“ตอนนั้นจำได้ว่าเป็นตอนมัธยมต้น คุณพ่อคุณแม่ส่งไปเรียนเปียโน พอเรียนปุ๊บก็เข้าวงโรงเรียน แต่ไม่มีใครกรี๊ด เขาไปกรี๊ดพวกเล่นกีต้าร์ ตีกลอง เราก็เลยไปเรียนกีต้าร์บ้าง เท่มากตอนนั้นเป็นผู้หญิง ก็เลยซ้อมอย่างเดียว ไม่เรียนแล้ว ก็เลยสอบตก เกรดเฉลี่ย 1.75 จะต่อเข้า ม.ปลายก็ไม่ได้ เพราะไม่ถึง 2.00 พ่อกับแม่ก็เสียใจ ร้องไห้ เราก็เลยรู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว ทำให้พ่อแม่ร้องไห้ มันไม่ใช่นิสัยของเด็กที่ดี

“ก็เลยกลับมาตั้งใจเรียน ลองดูใหม่สักตั้งหนึ่งเลือกอันไหนที่เราพอไปได้ วิชาที่ไม่ถนัดเลยอย่างพวกวิทย์-คณิต ก็ตัดไป เอาที่เราได้แน่ๆ ชัวร์ เพราะแม่บอกให้เลือกที่เราถนัดสักทางหนึ่ง ก็เลยมาเรียนศิลป์ภาษาเน้นญี่ปุ่นกับภาษาอังกฤษ”

และหลังจากตั้งใจที่จะเรียนอย่างจริงจัง เธอก็รู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีอะไรที่เธอทำไม่ได้ ถ้าตั้งใจจริง แต่กระนั้น ท้ายที่สุดก็ยังไม่เพียงพอต่อหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้ด้วยความมั่นใจสูงลิบ

“พอตั้งใจเรียนเรามั่นใจในตัวเองมาก ตอนเอ็นทรานซ์เลยเลือกธรรมศาสตร์อย่างนี้ อักษรจุฬาอย่างนี้ (หัวเราะ) แม่ก็ให้ห้อย มช.ไว้อันหนึ่งเหมือนเขารู้ ผลปรากฏว่าติด มช.ทีเดียว นอกนั้นไม่ติดเลย” ทีชเชอร์สาว กล่าวอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะเล่าต่อว่า

“พอเข้ามาปุ๊บก็ตั้งใจย้าย เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ ไม่เหมาะกับเรา แต่ก็ได้คุณครูในภาคกับคุณแม่ที่เป็นครูเหมือนกันให้กำลังใจ ท่านปลอบเราว่า เรามีความสามารถพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ถ้าเราเลือกที่จะเป็นครู เราจะต้องเป็นครูพันธุ์ใหม่ เป็นครูที่นักเรียนชอบและเคารพ นักเรียนทุกคนจะให้ความสนใจ

และจากจุดนี้เองที่อาชีพความเป็นครู ได้คืบคลานสู่ชีวิตเธออย่างช้าๆ จนเธอมั่นใจและตัดสินใจเดินบนถนนเรือจ้างสายนี้

แรกๆ ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าอาชีพอะไร ที่ทำแล้วได้ทั้งเงินได้บุญด้วย คำตอบก็คืออาชีพครู จริงๆ เพราะไม่ว่าจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงินที่อยู่ในเกณฑ์ดีถ้าเรามีชื่อเสียง แถมเรายังได้ช่วยสังคม อย่างบางคนมองว่าเป็นหมอหรือเป็นพยาบาล ก็ได้เหมือนกัน แต่เราคิดว่าถ้าเกิดผ่าตัดผิดพลาด คนคนนั้นอาจจะตายไปเลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นคุณครู เราเคยผิดพลาดมาก่อนน่าจะเข้าถึงพวกเขาได้ดี เราก็เลยมองว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ทำแล้วเหมาะกับเราที่สุด แล้วพอได้ทำจริงๆ เราก็มีความสุขเหมือนที่คิดไว้”

อ๋อ แชแนล VCD
ภาษาอังกฤษช่วยชาติ

“เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา” ดูจะเป็นเป้าหมายหลักสำหรับครูจบใหม่ผู้มีอุดมการณ์อันปี่ยมล้นแทบทั้งสิ้น ซึ่งเป็นธรรมดาที่ครูจบใหม่ไฟแรงและเด็กศึกษาศาสตร์จบใหม่ทุกคน จะวาดฝันไปอยากเป็น “ครู” คอยให้ความรู้แก่เหล่าลูกศิษย์เล็กๆ บนดอย

“เคยติสท์อยู่รอบหนึ่งเหมือนกัน คือจะไปสอบบรรจุ แล้วไปสอนอยู่บนดอย ไปพัฒนาเด็กๆ แต่ว่าพอไปฝึกสอนจริงๆ ก็จะพบว่าเด็กที่เราจะสอนบนดอย เขาต้องการหลายอย่าง เราไม่สามารถเป็นได้ขนาดนั้น เพราะว่าการเป็นครูที่นั่น เราต้องเป็นทุกอย่าง ไม่ว่าจะวิศวกร ก่อสร้างห้องสมุดให้เด็กๆ หรือว่าเป็นภารโรงสามารถขัดห้องน้ำได้ ต้องยกของหนักๆ ได้” ครูสาว เล่า

แต่กระนั้น ด้วยหัวใจที่เปี่ยมล้นว่าจะต้องคืนบางสิ่งบางอย่างให้กับสังคม แม้เพียงมีส่วนน้อยนิด แต่หนึ่งชีวิตเกิดมาต้องทดแทนชาติ เธอจึงจัดตั้งโครงการที่จะทำสื่อการเรียนการสอนส่งไปให้เด็กๆ เหล่านั้นแทน

“เราเกิดเป็นคนไทย ถ้าเราไม่มีแผ่นดินไทย เราก็ไม่มีทางพัฒนาตัวเองมาถึงขั้นนี้ได้ เราจะมาเอาเงินอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราก็เลยมองว่าต้องตอบแทนอะไรให้สังคมให้ประเทศของเรา ตามกำลังที่เราสามารถทำได้ ก็เลยเกิดเป็นโปรเจคต์นี้ขึ้นมา

เพราะเรารู้สึกว่าตอนนี้อินเตอร์เน็ตมันก็กว้างไกล เราสามารถที่จะทำยังไงก็ได้เพื่อที่ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ถ้าเราอยากจะทำ ก็เลยคิดว่าการเป็นติวเตอร์แยกออกมารับเงินเดือนเอกชนที่ค่อนข้างสูงต่างหาก แล้วตัดเงินของเราทุกๆ เดือน เอามาทำเป็นโปรเจคต์นี้น่าจะเป็นประโยชน์และเหมาะกับเรามากที่สุด อีกทั้งเด็กๆ น่าจะได้คุณค่าได้ประโยชน์มากกว่าการที่เราไปรับเงินราชการในฐานะครูประจำ แต่ทำหน้าที่แม่พิมพ์ที่ดีที่สุดได้ไม่เต็มที่ค่ะ”

ครูสาวกล่าวลา หลังบทสนทนาจบลง เธออาจไม่ใช่ครูในสไตล์ “ครูวิทยา” ในหนังของจีทีเอช แต่นั่นจะสำคัญประการใด ในเมื่อเธอเป็นครูผู้ได้หัวใจของนักเรียนไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะอยู่บนดอย หรือเมืองใหญ่ ความเป็นครูของเธอก็เจิดจ้าสว่างไสวได้เช่นกัน จริงไหม?






เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine