Marsmag.net

The Voice of Ages : แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

ในวันอกหัก!
ปุ่มเร่งเสียงกำลังถูกเร่งให้ดังขึ้น เพลงเศร้าเพลงหนึ่งดังกระหึ่มออกมาจากลำโพง
น้ำตาที่ไหลอยู่แล้ว กลับยิ่งไหลเพิ่มเข้าไปอีก ใครคนหนึ่งเปิดปากร้องคลอไปกับบทเพลงเพลงนั้น ใส่ความทุกข์ระทมชนิดที่สามารถทำให้โลกพังทลายได้เข้าไปในตัวโน้ต จินตนาการให้ตัวเองกลายเป็นพระเอกเอ็มวี ซึ่งเพิ่งโดนนางเอกสาวตัดสัมพันธ์

‘ยังเดินผ่านทุกวัน ที่ที่เราพบกันเมื่อก่อน ยังจำซ้ำๆ ได้ทุกตอน ราวกับมีใครมาหมุนย้อนเวลา’
ทำไมยิ่งเศร้า ใครบางคนถึงชอบตอกย้ำตัวเองให้เศร้ามากขึ้นด้วยบทเพลงเนื้อหาหม่นหมอง
เสพติดความเศร้า หรือแค่หวังว่า เพลงนั้นจะช่วยบรรเทาให้ทุกข์ของเขาหรือเธอเบาบาง?

“มันสะใจนะ มันคือการระบายออกไงครับ”
นั่นคือความคิดเห็นของ แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข นักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลงมากความสามารถ ผู้มีประสบการณ์ในการแต่งเพลงเกี่ยวกับความรัก-ความสัมพันธ์มาแล้วมากมาย

น่าแปลก ที่เพลงเหล่านั้นกลับถูกเรียกว่า ‘เพลงรัก’ ทั้งๆ ที่โดยมาก มันมักมีเนื้อหาเศร้าหมอง
หรือแท้จริง เรื่องของความเศร้า ความทุกข์ การโหยหากำลังใจ อาจเป็นแค่เพียงท่วงทำนองแห่งยุคสมัยที่สะท้อนภาพเหมือนของโลกยุคใหม่ออกมา

คนยุคนี้ก็คงอยู่กับตัวเองมาก หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องตัวเอง คิดแต่เรื่องเซ็กซ์ เรื่องความรัก เรื่องความฝัน เรื่องกำลังใจ ซึ่งสามสิบปีก่อนเราอาจฟังเพลงเพื่อชีวิตอย่างเมดอินไทยแลนด์ มันก็อาจสะท้อนออกมาว่า เมื่อก่อนเราคิดถึงส่วนรวมมากกว่า”
นั่นหาใช่คำทำนายทายทักจากหมอดูคนใด แต่แสตมป์กำลังทำความเข้าใจยุคสมัยผ่านบทเพลง

ในวัยสามสิบเอ็ดปี ไม่น่าเชื่อว่าเขากวาดรางวัลทางด้านดนตรีจากเกือบทุกสถาบันในประเทศนี้มาแล้วกว่า 20 รางวัล ไม่เพียงเท่านั้น นักร้องหนุ่มที่เติบโตมาในสายเพลงทางเลือก โดนจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในประเภทนักดนตรี ‘อินดี้’ แค่ไม่กี่ปีชื่อของเขากลับเป็นที่รู้จักขึ้นมามากมาย — ชื่อของแสตมป์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มเด็กแนว ผู้เสพติดความเท่ ความคูล แสวงหาความแปลกใหม่อีกต่อไป แม้แต่แม่ค้าร้านตลาดทั่วไปก็ยังพร้อมชูป้ายไฟ ส่งเสียงกรี๊ดหากเขาเดินผ่าน

ใช่ เหตุผลข้อหนึ่ง นั่นเพราะเขามีโอกาสได้ก้าวเข้ามาเป็นโค้ชของรายการประกวดร้องเพลงยอดนิยมอย่าง The Voice Thailand แต่นอกเหนือไปจากนั้น คงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการทำงานหนัก ทำงานหนักเพราะรัก รักถึงขั้นคลั่งไคล้

ในขณะที่เขายังคงเดินหน้าต่อไปในเส้นทางนักดนตรี อัลบั้มเต็มชุดที่สี่กำลังจะออกมาให้แฟนเพลงได้ฟัง
วันนี้ เขาลงนั่งต่อหน้าเรา พูดคุยไล่มาตั้งแต่เนื้อหาที่เติบโตขึ้นในเพลงชุดใหม่ เหตุใดจึงทำให้ดนตรีกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของมนุษย์นอกไปจากปัจจัยสี่ และภาระหน้าที่ในฐานะโค้ช ซึ่งเป็นประหนึ่งคนดับฝัน หรือสร้างฝันให้แก่คนที่วาดหวังจะเป็นนักร้อง นักดนตรี ที่แม้แสตมป์จะมองว่ามันเป็นแค่ ‘เกม’ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็คือ ‘ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง’ เหลือเกินสำหรับเขา

แสตมป์อายุแค่สามสิบเอ็ด แต่กลับได้มาเป็นคนตัดสินในรายการประกวดร้องเพลงชื่อดังอย่างรายการ The Voice Thailand ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะ ‘ดับฝัน’ หรือ ‘สร้างฝัน’ ให้แก่คนที่มีความฝันอยากเป็นนักร้องเลยทีเดียว รู้สึกอย่างไรกับตรงนี้
จริงๆ แล้วผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นการชี้เป็นชี้ตายนะครับ ผมคิดว่ามันก็เป็นแค่โอกาสหนึ่ง มันไม่ใช่ว่าวันนี้เขาตกรอบแล้วเขาจะจบ บางคนตกรอบแล้วดังกว่าคนที่ชนะก็เยอะ ผมคิดว่ามันเป็นแค่เกม สุดท้ายแล้วมันคือเกม แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งของเกม ดังนั้นเราต้องทำหน้าที่ ณ ตรงนั้นของเราให้ดีที่สุด

ก่อนจะได้มาเป็นกรรมการ เป็นโค้ช ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่ามันคืออะไรนะ จนกระทั่งพอรู้แล้วว่ามันคือรายการอะไร เราก็คิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ขยับจากศิลปินคนหนึ่งมาทำอะไรแบบนี้ ตอนนั้นก็ขอบคุณทางผู้ใหญ่ที่ให้โอกาส แต่พอมาทำจริงๆ เราถึงได้รู้ว่า โอ้โห การทำทีวีมันยากนะ การทำทีวีนี่ไม่เหมือนตอนเราเป็นศิลปินอินดี้ ออกไปเล่นคอนเสิร์ตตามมหาวิทยาลัยเลย การทำทีวีมันมีคนดูเป็นหลักล้าน มันจะต้องรับมือกับความคิดเห็นต่างๆ นานาของคนที่ทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจเรา ซึ่งเราต้องรับผิดชอบคนเยอะมาก ก็กดดันอยู่เสมอ แต่เรียกว่าเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบดีกว่า อย่าเรียกว่ากดดันเลย มันเป็นความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คุณกดปุ่ม หันหลังกลับมาเลือกผู้เข้าแข่งขันสักคน ขณะที่ฟังเพลงที่เขาหรือเธอร้องอยู่โดยไม่ได้เห็นหน้า (รอบ Blind Audition)
ตอนแรกก็คิดมาเยอะนะครับว่า โอ้โห วันนี้ฉันต้องกวาดนักร้องอันดับหนึ่งไปให้ได้ แต่สุดท้ายแล้ว พอเรามานั่งๆ ฟังเพลงไป มันก็กลายเป็นว่าเรากดไปเองโดยอัตโนมัติ บางทีเราตั้งไว้ว่าวันนี้ฉันจะต้องได้ลูกทีมผู้ชาย เพราะว่าเมื่อวานเราได้ผู้หญิงเยอะมากเลย แต่สุดท้ายแล้ว พอถึงเวลาผู้หญิงออกมาร้องดี ร้องออกมาแล้วแบบ เฮ้ย เพราะว่ะ เราก็จะกดไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งมันมีเหตุการณ์แบบนั้นเยอะ สุดท้ายแล้วเราใช้ความรู้สึกนำเยอะมาก

‘ความเพราะ’ ในเสียงเสียงหนึ่ง เพลงเพลงหนึ่ง จริงๆ แล้วมันวัดกันอย่างไร ในแง่การร้องเพลงแล้วมันมีหลักการที่สามารถวัดค่าที่เป็นสากล (universal) ได้ไหมว่า ร้องแบบนี้เพราะ ร้องแบบนั้นไม่เพราะ
จริงๆ แล้วเกณฑ์มันก็คือความรู้สึก ผมคิดว่ามันไม่มีมาตรฐานหรอก ความเพราะของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน มันถึงต้องมีโค้ชสี่คนไง ถ้ามีโค้ชเจ็ดคน แต่ละคนก็จะเลือกไม่เหมือนกันอยู่ดี ผมว่ามาตรฐานมันคือ เราฟังอะไรมา reference ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาเราชอบอะไร บางทีคนนี้ขึ้นมาร้อง แล้วมันดันไปแตะหัวใจเราพอดี มันทำให้เรารู้สึกถึงอะไรบางอย่าง แต่ในขณะที่อีกสามคนไม่รู้สึก มันก็เป็นไปได้ ผมว่ามันไม่มีเลยนะครับหลักการ บางคนร้องเพี้ยนด้วยซ้ำ ก็รู้สึกว่าเพราะก็มี มันแล้วแต่ reference ในชีวิตจริงๆ เหมือนกับดูหนังน่ะ บางคนก็ชอบ Transformer บางคนก็ชอบ Mary is happy ซึ่งสองคนนี้คงไม่ชอบอะไรสไตล์เดียวกัน หรืออาจจะมีบางคนที่ดูหนังได้ทุกอย่าง ก็อาจจะชอบทั้งสองอย่าง ผมคิดว่ามันแล้วแต่ว่าคนที่ดูหรือคนที่ฟังเนี่ย เขาอยู่ในวัยวุฒิช่วงไหน เขาฟังอะไรมาบ้าง ดูอะไรมาบ้าง ชีวิตหมกมุ่นกับอะไรอยู่ และคิดอะไรอยู่ ขึ้นอยู่ที่ว่าเขาต้องการอะไรจากมันมากกว่า บางคนก็ฟังเพลงเพื่อต้องการยกระดับจิตวิญญาณของตัวเอง คือสูงส่งไปเลย บางคนเขาก็ต้องการฟังเพื่อความเพลิดเพลิน แล้วแต่ว่าเขามาหาอะไรไง มาตรฐานก็จะไม่เหมือนกัน

คือเรื่องของ ‘ความเพราะ’ มันเป็นเรื่องของรสนิยม?
ผมว่าแบ่งเป็นสองส่วนนะครับ คือส่วนที่เป็นมาตรฐานของทักษะการร้อง ซึ่งถ้าแค่ผ่านมาตรฐานแค่นี้มันไม่พอนะ คือคนที่มาร้องรอบ Blind Audition มีร้อยห้าสิบคน ซึ่งคัดมาจากแปดพันคน ไอ้ร้อยห้าสิบเนี่ย มาตรฐานในเชิงทักษะผ่านหมดอยู่แล้ว ร้องไม่เพี้ยน ร้องได้ดี น่าสนใจไปหมด เพียงแต่ว่าอีกส่วนหนึ่งเขาจะแตะได้ไหม ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วมันก็คือการที่เขาจะสื่อสารกับเพลงได้มากแค่ไหน เขาใส่ตัวตนของเขาเข้าไปในเพลงได้หรือเปล่า เขามีความรู้สึกหรือจิตวิญญาณหรือเปล่า คือ soul ไง มันเป็นการร้องที่ทำให้เรารู้สึก

ในวงการเพลง การประกวดร้องเพลงในรายการเรียลลิตี้อย่าง The Voice ถูกให้ความสำคัญแค่ไหน ทำไมถึงได้รับการตอบรับจากคนดูดีมาก
ผมว่าในวงการเพลง จริงๆ แล้วไม่สำคัญเลยนะครับ จริงๆ แล้วมันเป็นแค่ความบันเทิงอย่างหนึ่ง ถ้าจะประกวดให้มันสำคัญจริงๆ คุณก็ไปประกวดในฮอลล์อะไรสักอย่าง แล้วมาประกาศผล โชว์คนที่ชนะไปเลยสิ แต่นี่เราได้เห็นกระบวนการตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เขาเดินเข้ามา จนถึงเขาเติบโตไปเป็นผู้ชนะ เพราะว่ามันคือความบันเทิงไงครับ เหมือนดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ผมว่ารายการประกวดร้องเพลงมันตอบโจทย์หลายอย่าง หนึ่ง-ผมคิดว่า คนเราชอบเห็นชีวิตมนุษย์ด้วยกัน ชอบเห็นคนเราผจญภัย ฝ่าฟันต่อสู้ สอง-คนเราชอบดนตรี ซึ่งไอ้การประกวดดนตรี ทำให้เราได้เห็นทั้งสองอย่าง เราได้ดูการประกวดด้วย และได้ฟังเพลงด้วย ผมว่ามันคือความบันเทิงที่ครบ

ดนตรีถูกจัดให้อยู่ในประเภทงาน ‘ศิลปะ’ แต่อีกแง่หนึ่งมันก็เป็น ‘สินค้า’ เชิงพาณิชย์ด้วย คุณมองตรงนี้อย่างไร เพลงที่ทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองคนทำเอง กับเพลงที่ทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองตลาด ควรแยกออกจากกันไหม
ผมว่าแล้วแต่มุมมองเลยครับ (นิ่งคิด) เอาอย่างนี้ดีกว่า นกร้องเพลงมันเป็นศิลปะหรือเปล่า เราก็ไม่รู้นะ ก็เป็นได้ ถ้าเกิดเรามองให้มันเป็น หรือจะมองว่ามันเป็นสัญชาตญาณการหาคู่ก็ได้ มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกัน แล้วแต่การตีค่าว่าอะไรคือศิลปะ อาจจะเป็นป๊อปอาร์ต (Pop Art) แบบ Andy Warhol ก็ได้ ผมว่ามันแล้วแต่คนตีความเลยครับ แต่ถ้าให้ผมตีความ ผมว่าทุกอย่างก็เป็นศิลปะหมดแหละ ไม่ว่ามันจะเป็นพาณิชย์แค่ไหน มันก็จะมีบริบทของมัน อย่างเช่นว่า ทำไมเพลงของใบเตย (ใบเตย อาร์สยาม) ต้องเป็นแบบนี้ ซึ่งมันก็จะบ่งบอกอะไรให้แก่สังคมหลายๆ อย่าง

สำหรับแสตมป์เอง มีการถ่วงดุลระหว่างความเป็นสินค้ากับศิลปะไหม อย่างเช่นว่าเพลงเนื้อหาแบบนี้แต่งได้ เพลงเนื้อหาแบบนั้นจะไม่แต่’
ผมไม่ได้คิดอะไรเลยครับ ผมแค่คิดว่าทำอย่างไรจะทำให้ดีที่สุด ผมว่าแค่นั้นก็ยากแล้วน่ะ จะให้ไปนั่งคิดว่า เฮ้ย ต้องสูงส่ง หรือจะต้องขายได้มากๆ โห ตายกันพอดี คิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ออกมาดีที่สุดก็พอแล้ว แง่หนึ่งเราก็ได้อิสระจากค่ายพอสมควร ตอนนี้ยังไม่มีว่าเพลงแบบนี้แต่งได้ เพลงแบบนั้นไม่แต่ง ตอนนี้ยังไม่มีนะ

อย่างเพลง ‘คันหู’ แต่งได้ไหม
ถ้าแต่งได้ก็จะดีใจมากเลย (หัวเราะ) แต่ผมว่าคนแต่งเขาเก่งเกินไป เก่งมากเลย ผมคิดว่าการที่เราจะแต่งเพลงอะไรขึ้นมาสักเพลง ต้องอาศัยปูมหลังของเรา อาศัยนิสัยของเรา เหมือนคนวาดรูปก็จะเป็นลายมือของเขาอยู่อย่างนั้น คนวาดม้าเก่งเขาก็จะวาดม้าอยู่อย่างนั้น ถ้าให้ไปวาดหมา มันก็จะดูเป็นม้านิดๆ น่ะ สุดท้ายเราก็จะทำได้แต่สิ่งที่ตัวเองถนัด ถึงแม้ว่าเราพยายามจะออกจาก comfort zone ของเราแล้วก็ตาม สมมุติผมอยากจะแต่งเพลงคันหู มันก็จะออกมาไม่คันหูแบบที่คนแต่งเพลงคันหูแต่ง คันหูแบบเราอาจจะเกาอีกแบบหนึ่ง

ในแง่การแต่งเพลง จะมีบางคนเขาบอกว่า เขาต้องใช้อารมณ์ศิลปิน ต้องการที่สงบ หรือถึงขนาดที่ว่าต้องใช้ยาเสพติดช่วย คุณมองตรงนั้นอย่างไร มันจำเป็นขนาดนั้นหรือเปล่า
ก็แล้วแต่คนนะครับ บางคนก็จำเป็น บางคนก็ไม่จำเป็น อันนี้เราจะไปว่าเขาก็ไม่ได้ว่า เฮ้ย ทำแบบนั้นมันผิด มันแล้วแต่คน เหมือนบางคนต้องกินวีต้าเพื่อให้ขี้ออกน่ะ (หัวเราะ) บางคนตื่นเช้ามาขี้ได้เลย แล้วแต่ธรรมชาติของเขา

ปัจจุบันดูเหมือนทักษะการแต่งเพลงจะกลายเป็นทักษะหนึ่งที่นักร้องสักคนจำเป็นต้องมีไปแล้ว (Singer-songwriter) จริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น หรือคุณภาพของนักแต่งเพลงที่มีอยู่ในปัจจุบันลดลง
ผมว่ามันจำเป็นตรงที่ว่า ทุกวันนี้นักแต่งเพลงไม่ค่อยได้ตังค์กัน ถ้าจะให้เล่าระบบให้ฟังก็คือว่า สมัยก่อนอย่างแกรมมี่เขาก็จะมี department ของคนแต่งเพลงโดยเฉพาะ เจริญรุ่งเรืองมาก คือขายเทปได้เป็นล้านๆ แล้วเขาก็จะทำกันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีเลยนะครับ ทุกวันนี้กลายเป็นว่า เราปล่อยเพลงกันทีละเพลง พอเพลงฮิตแล้วเราก็เอาไปเล่นสด ได้เงินกลับมา กลายเป็นว่าไอ้วงจรที่คนแต่งเพลงเขาจะได้ตังค์เต็มที่น่ะมันหายไป ก็เลยกลายเป็นว่าทำไมนักแต่งเพลงต้องมาแต่งเพลงให้คุณล่ะ มันกลายเป็นอย่างนั้นไง กลายเป็นว่าวงจรนี้ไม่สามารถการันตีชีวิตเขาได้ วงจรที่เลี้ยงเขามันหายไป เลยเกิด Singer-songwriter ขึ้นมาเต็มไปหมด คนที่ออกเพลงกลายเป็นคนที่แต่งเองแล้ว เพราะไม่ต้องอาศัยวงจรนั้นอีกต่อไป กลายเป็นงูกินหางแบบนี้

ถ้าเป็นแบบนั้น นักแต่งเพลงก็จะหายไปจากวงการนี้เรื่อยๆ หรือเปล่า
ผมคิดว่าคนที่ทำเป็นอาชีพจริงๆ โดยที่หาเลี้ยงชีพจากมันจริงๆ ค่อนข้างจะลดลงจนเหลือน้อยมากแล้ว เราจะเห็นว่าอย่างทีมแต่งเพลงแกรมมี่เขาก็จะออกไปข้างนอกกันหมดเลย ผมว่าน่าจะยากขึ้น เพราะถ้าเป็นสมัยก่อน สมมุติแกรมมี่จะออกอัลบั้มหนึ่ง มีสิบสองเพลง ก็จะมีเพลงพี่ดี้ (นิติพงษ์ ห่อนาค) หรือสีฟ้า (กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์) เป็นเพลงโปรโมต แล้วอีกเจ็ดแปดเพลงที่เหลือจะเป็นเด็กใหม่ เราเข้าไปเขียนได้ ทุกวันนี้กลายเป็นว่า โอเค น้องน้ำชา (ชีรณัฐ ยูสานนท์) จะออกซิงเกิล เอาล่ะ ต้องใช้ตัวใหญ่ ประมูลเพลงจนได้เพลงนี้เพลงเดียว แล้วเจ็ดแปดคนที่เหลือล่ะ จะทำอย่างไรถึงจะปีนขึ้นมาได้ มันก็ยากในสายอาชีพแล้ว คนพวกนั้นแทนที่เขาจะรอว่าเมื่อไหร่คนที่เป็นไอดอลเขาจะร้องเพลงของเรา เขาก็เอาเพลงที่เขาแต่งมาร้องเองสิ ลงยูทูบอะไรแบบนี้ไป เลยเกิดวงจรใหม่เป็น Singer-songwriter เยอะมาก

แบบนี้การแข่งขันในวงการเพลงมันก็จะสูงขึ้น?
ผมว่าไม่ได้สูงขึ้นนะครับ คล้ายๆ เดิมแหละ แต่ธรรมชาติหรือประเภทของนักร้องที่เป็น category จะมีนักร้องซึ่งเป็นคนแต่งเพลงเองเพิ่มขึ้นแค่นั้นเอง คนที่ร้องเพลงดี คนหน้าตาดี เขาก็ยังอยู่ได้ด้วยความสามารถของเขา เพียงแต่ว่ามันมีช่องทางของตรงนี้เพิ่มขึ้นแค่นั้นเอง

พูดถึงเรื่องอัลบั้มใหม่กันบ้าง ทำไมชุดนี้ถึงใช้ชื่อชุดว่า ‘Sci-fi’ จริงๆ แล้วมันมีเนื้อหาอย่างไร
จริงๆ แล้วเนื้อหาก็ทั่วๆ ไปนะครับ แต่ชุดนี้อยากให้คนฟังมาสนุกด้วยกัน คือจุดหนึ่งเราชอบเขียนเพลงที่เป็นเพลงรักทั่วไป แต่เราจะดึงเรื่องที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับเพลงรักมายุ่ง อย่างเช่นเพลงเปิดอัลบั้มจะมีชื่อเพลงว่า ‘สัตว์ประหลาด’ คือผมจะชอบจั่วหัวให้เพลงมันเป็นอะไรที่ไม่เกี่ยวกับความรักเลย แต่พอฟังแล้วเราจะเข้าใจว่าทำไมมันถึงต้องเป็นสัตว์ประหลาด สัตว์ประหลาดมันก็จะหมายถึงเวลาที่ผมโกรธ ก็จะบอกคนรักว่า เฮ้ย หนีไปก่อนยี่สิบนาทีนะ เดี๋ยวเราค่อยกลับมาคุยกัน เพราะยี่สิบนาทีตรงนี้ฉันจะเป็นสัตว์ประหลาดแล้ว มันไม่ใช่ฉัน แล้วพอเราหายโกรธ เราก็จะบอกกับคนรักว่า ต่อไปฉันจะควบคุมมันให้ได้นะ

มันเป็นเรื่องอารมณ์ของมนุษย์ เพียงแต่ว่าเราเอาศัพท์พวกไซไฟมาโยง เป็นเรื่องราวของคนสองคน เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องความรัก เรื่องในชีวิต เรื่องอารมณ์มนุษย์ แต่เราหยิบมันมาเล่าให้สนุกขึ้น สมมุติว่าผมจะเล่าเรื่องผู้ชายจีบผู้หญิง แต่ไม่สำเร็จสักที ก็พลิกจากเรื่องราวปกติ โดยเอาคำว่า ‘เจ้าหญิงน้ำแข็ง’ มาใช้ แบบ โห อบอุ่นเท่าไหร่เธอก็ไม่ละลายน่ะ หัวใจเยือกแข็งจริงๆ มันจะเป็นศัพท์ของภาพยนตร์ที่มีความไซไฟอยู่

แล้วชุดนี้มีความแตกต่างจากชุดเก่าๆ อย่างไร
ผมว่าชุดนี้โครงสร้างมันเปลี่ยนไป อย่างเช่นการใช้คอร์ด การเรียบเรียงเสียงประสาน ผมได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง และมีหลายๆ คนมาช่วยในภาคดนตรี อีกอย่างที่ตั้งชื่อว่าไซไฟ เพราะมันเหมือนเราเดินทางมาสามชุดแล้ว เป็นการเดินทางบนโลก เราก็เลยอยากหลุดออกนอกวงโคจรสักครั้งหนึ่ง

อายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อด้านเนื้อหาเพลงไหม
จริงๆ ผมคิดว่าเนื้อหาเพลงก็ยังเป็นเรื่องเดิมๆ แต่มุมมองมันต่างไป อย่างเช่นเราอาจจะไม่ได้พูดคำพูดที่มันไร้เดียงสามากเท่าสมัยก่อน อย่างเช่น ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ‘วันนี้ฉันมีดอกไม้ให้เธอนะ’ มันก็จะไม่เกิดขึ้น อาจจะเป็นในแบบคนที่โตแล้วคบกันมากกว่า

จริงๆ แล้วอายุก็เพิ่งขึ้นเลขสาม แต่แสตมป์ก็เคยได้มีโอกาสออกหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองมาแล้ว โดยใช้ชื่อว่า ‘ก่อนความฝันจะล่มสลาย’ รู้สึกอย่างไรกับหนังสือของตัวเองบ้าง
ชื่อเล่มจริงๆ แล้วเป็นทาง บก. ของทาง springbooks เขาเลือกมา เป็นประโยคหนึ่งในเพลงของผม เขาเคยฟังแล้วเขาคงชอบ เราก็รู้สึกว่า อืม…ถ้าชื่อหนังสือมันเป็นชื่อที่มาจากเนื้อเพลงคงจะตอบโจทย์ดีนะ เพราะในหนังสือก็เน้นเรื่องการแต่งเพลงอยู่แล้ว และจะเน้นเรื่องก่อนที่จะได้มาทำอาชีพนี้

จริงๆ แล้วก็รู้สึกว่ายังเขียนได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะครับ ยังเขียนเหมือนเขียนเล่นๆ อยู่ ทาง บก. เขาบอกว่าให้เขียนด้วยภาษาของเรา ผมไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นหนังสือที่ดีอะไร แต่เหมือนเป็นคำสารภาพของผมมากกว่า คือไม่ได้คิดว่ามันน่าภูมิใจในแง่ที่มันเป็นอัตชีวประวัติของฉันนะ แต่คือได้เล่าในแบบของเรา สิ่งที่ผมคาดหวังคือว่า คนที่เขาฟังเพลงเรา เขาจะได้ฟังเพลงเราได้ลึกขึ้น ได้รู้จักที่มาที่ไปของแต่ละเพลง แล้วไอ้คนที่แต่งที่ร้องเพลงนี้เนี่ย มันมีชีวิตมายังไงวะ ผมว่าการที่ทำให้เขารู้จักศิลปินให้ลึกขึ้น มันช่วยเพลง มันเป็นเอกสารประกอบการฟังเพลงของผม มันเป็นการเพิ่มมิติให้เพลงหนึ่งๆ ซึ่งผมว่ามันดีนะ เวลาผมฟังเพลงฝรั่ง แล้วไปอ่านพวกประวัติของคนแต่ง ก็จะรู้สึกว่า อ้อ เป็นอย่างนี้นี่เอง มันมีมิติขึ้น เป็นการเสพที่สนุกขึ้น

อะไรคือสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดที่วันนี้คุณได้ทำตามความฝัน
ถ้าตอบหล่อๆ ก็คือว่า มันไม่ต้องไปทำงานอื่นน่ะ หล่อไหม ไม่หล่อเลยนะ (หัวเราะ) ผมว่าโลกมันอยู่ยากนะ การทำงานนี่มันเหนื่อยนะ หมายถึงว่า ถ้าต้องไปทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ถ้าผมต้องไปเป็นพนักงานแบงก์ ผมแม่งนึกไม่ออกเลยว่ะ ว่าผมจะตื่นขึ้นมาทุกเช้าด้วยความคิดแบบไหน ก่อนนอนพรุ่งนี้ตื่นมาผมจะอยากไปทำอะไรพวกนี้หรือเปล่าวะ แต่ตอนนี้ผมว่ามันคุ้มค่ามากที่ผมนึกออก เวลาผมต้องตื่นมาให้สัมภาษณ์เรื่องอัลบั้มที่ผมเพิ่งทำเสร็จ มันคุ้มมากเลยนะที่ได้ทำสิ่งที่มันไม่ตกนรก ถามว่ามันมีความสุขมากไหม จริงๆ แล้วมันก็มีความทุกข์นะ เพียงแต่ว่ามันไม่ตกนรกน่ะ ไม่แบบ เชี่ยเอ๊ย ชีวิตแม่งลำบากว่ะ มันไม่มีไง

ความทุกข์ที่พูดถึงคือความทุกข์ในเรื่องอะไรบ้าง
นักร้อง ศิลปินเขาก็มีความทุกข์เหมือนคนทั่วไปนะ ขี้ไม่ออก นอนไม่หลับ แต่งเพลงก็มีความเครียดว่า ชุดนี้คนแม่งจะฟังหรือเปล่าวะ ฉิบหาย ทำเพลงออกมา เอ็มวีลงทุนไปสองสามแสน แม่งจะมีคนดูหรือเปล่าวะ ออกไปเล่น คนแม่งจะไล่กูหรือเปล่าวะ หรือเดือนนี้จะมีกี่งานวะ ทำ The Voice ซีซั่นนี้คนจะด่ากูอีกหรือเปล่า (หัวเราะ) คือมันมีเยอะมากนะครับ มันมีสิ่งเหล่านี้อยู่เยอะทีเดียว

ผมว่าสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์คือ ความคาดหวังมันเยอะ เพราะเราไม่ได้ทำงานเพื่อใครคนเดียว มันกลายเป็นว่าเราทำเพื่อมวลชน หรือใครหลายๆ คน มีความคาดหวังจากหลายๆ คน แล้วผมว่าแม่ง พวกศิลปินเสือกเป็นพวกชอบเก็บคำพวกนี้มาคิดอีก แบบว่า โห คนนี้เขาชอบเราว่ะ เราจะทำให้เขาผิดหวังไม่ได้ (ลากเสียงยาว) มีการแบกความคาดหวัง ซึ่งนี่คือความทุกข์ของพวกเรา รวมถึงความคาดหวังของเราเองว่า เราจะก้าวข้ามมันอย่างไร คนดูที่เขาคาดหวังจากเรา มันคือความลำบากที่เจอ แต่จริงๆ แล้วมันคือภาพมายาหมดเลยนะ

***ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของสแตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ได้ในนิตยสาร mars ฉบับเดือนพฤษภาคม***

เรื่อง : ฆนาธร ขาวสนิท
ภาพ : สุวิทย์ กิตติเธียร
อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine