Marsmag.net

เปิดใจ ‘ผบทบ.’ แผ่นดินไหวในวงการหนัง

กลายเป็นปรากฏการณ์สั่นสะเทือนแม้ไม่ถึงสิบริกเตอร์ แต่เราเชื่อว่า สิ่งที่หนังอย่าง “ผบทบ.” หรือ “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” ทำให้เกิดขึ้นนั้น ก็คือปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

น่าสนใจ เพราะว่า นี่คือหนังที่ไม่ได้สังกัดอยู่ภายใต้ชายคาของสตูดิโอใหญ่ๆ ที่มากมายด้วยทุนรอนทุกด้าน แต่เป็นหนังบ้านๆ ที่ก่อเกิดมาจากคนตัวเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ ที่รักการทำหนังและลงทุนลงแรงแต่งฝันของตนเองจนเป็นจริง

น่าสนใจ เพราะว่า ในขณะที่แม้แต่หนังทุนหนาหลายต่อหลายเรื่องเข้าคิวแป้กเรื่องแล้วเรื่องเล่า แต่หนังทุนน้อย…น้อย…เรื่องนี้ กลับสร้างรายรับในระดับที่พูดได้ว่าไม่น่าเชื่อ

เพราะทุนอันจำกัด เพราะความตั้งใจเบื้องแรก “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” เปิดฉายเฉพาะในโรงหนังต่างจังหวัดภาคอีสานประมาณ 28 โรง จากการเปิดตัววันแรก เก็บรายได้มาแปดแสนเก้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่เทียบเท่ากับหนังจากค่ายสตูดิโอใหญ่ได้สบายๆ

“แตะสิบล้านไปแล้วครับตอนนี้ แต่ไม่ใช่แปดสิบล้านอย่างที่มีบางสำนักข่าวลงข่าวนะครับ” โทนี่ บอย หรือ “อุเทน ศรีริวิ” ผู้กำกับภาพยนตร์สายเลือดอีสานล้านเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสองผู้กำกับหนังเรื่องนี้ (อีกคนคือ “นิว เจ” จิณณพัต ลดารัตน์) กล่าวกับเราเคล้าเสียงหัวเราะตามหลัง

“ผมก็งงๆ เหมือนกัน เพราะมีพี่ๆ น้องๆ นักข่าวโทร.มาถามผมว่าได้แปดสิบล้านจริงเหรอ” เสียงหัวเราะแห่งความปลาบปลื้ม ตามมาอีกครั้งจากปากของโทนี่ บอย ก่อนบทสนทนาจะเริ่มขึ้น…

รู้สึกอย่างไรบ้างนาทีนี้
ตื่นเต้นล่ะครับ เพราะทีแรก ไม่คิดเลยว่ามันจะเป็นแบบนี้ เนื่องจากเราก็เป็นแค่คนตัวเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ ทำหนังเรื่องแรก แล้วเกิดปรากฏการณ์โรงเต็มรอบเต็ม สามสี่วันแรก เต็มทุกโรงเต็มทุกรอบ

ถ้าให้ลองวิเคราะห์ คิดว่าน่าจะเป็นเพราะอะไร
มันเหมือนฟลุกนะครับ แต่จริงๆ มันไม่ได้ฟลุก มันเป็นผลมาจากการตลาด เพราะว่าเราก็ทำการตลาดกันมาสามปีสี่ปี ทำมาต่อเนื่อง มีแฟนเพจ มีแฟนคลับ เราทำมาตลอด ไม่ใช่ว่าทำหนังปีหนึ่งแล้วก็ออกฉายเลย พูดง่ายๆ ว่าเรามีฐานคนดูของเราอยู่แล้ว

การตลาดที่ว่านั้น คือยังไง
ถ้าพูดแบบวัยรุ่นๆ ผมก็ไปกินข้าวกินเหล้าและพูดคุยกับคนในบ้านโน้นบ้านนี้ไปเรื่อยๆ สร้างคอนเนกชันไปเรื่อยๆ คือเราเข้าถึงชาวบ้าน พอไปที่ไหน เราก็ถ่ายรูปกิจกรรมของเราลงเพจไปเรื่อยๆ อย่างวันนี้ เราไปรีเสิร์ชหาข้อมูลเรื่องนี้ที่นี่ๆ นะ เราก็จะมาโพสต์บอกกับแฟนเพจของเรา ก็ทำอย่างนี้มาสองสามปี เราจึงรู้จักคนในภาคอีสานเยอะ น้องๆ พี่ๆ เกือบทุกจังหวัดที่เราไปน่ะครับ พูดจริงๆ เป็นเครือข่าย ผมมองว่าสิ่งที่พวกเราทำมันเป็นอะไรที่แตกต่างเหมือนกันนะ เราพยายามเล่นกับสื่อเฟซบุ๊กและยูทูป เราไปที่ไหนเราก็จะทำเป็นวิดีโอ เหมือนเป็นเดโมแล้วมาตัดต่อ ปล่อยลงยูทูปไปเรื่อยๆ สะกิดต่อมให้เขาอยากดูไปเรื่อยๆ

การตลาด ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีเรื่องของทุนหรืองบ ตรงนี้เราได้มาอย่างไร
ทีแรก ผมก็ลงทุนเอง คือช่วงสามปีแรก ขณะลงพื้นที่ทำรีเสิร์ช เราก็หาทุนไปด้วยนั่นแหละครับ แต่ไม่ได้สักที ก็เลยตัดสินใจหาวิธีไหนก็ได้ที่ทำให้ได้เงิน ก็เอาโน่นนี่ไปขายบ้าง ก็ได้เงินมาก้อนนึง แล้วบังเอิญว่าพี่ที่รู้จักกันคนหนึ่ง บอกว่าเดี๋ยวจะช่วย ถ้ามันลำบากขนาดนั้น เขาก็มาช่วยเติมเต็มให้มันจบกระบวนการ คือจริงๆ หนังไม่มีทุนโปรโมตสักบาทเลย ไม่มีเลย มีแต่เงินพรินต์โปสเตอร์กับแบนเนอร์ ซึ่งประมาณสามสี่หมื่นนี่แหละ

อะไรคือความตั้งใจแรกของเราในการทำหนังเรื่องนี้
ต้องบอกครับว่า ผมมีความตั้งใจที่อยากจะทำหนังอยู่แล้ว เพราะผมเรียนภาพยนตร์มาจากคลองหก ธัญบุรี แล้วก็กลับมาอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด รับงานถ่ายวิดีโอและพรีเซนเตชันต่างๆ ก็อยู่ได้ ไม่เดือดร้อน แต่ว่าใจเราลึกๆ เราอยากทำหนัง ก็คุยกับเพื่อนๆ ว่า เอ๊ย ลองทำหนังสั้นกันสักเรื่องมั้ย แล้วอีกอย่าง ผมชอบไปดูมหรสพของภาคอีสาน โปงลาง หมอลำ ตามงานบุญงานวัด แล้วมีโปงลางคณะหนึ่ง เขาแสดงเกี่ยวกับรากเหง้ากำพืดของคนอีสาน เราก็มานั่งคิดว่าทำไมเราไม่เอาเรื่องแบบนี้มาเล่า แต่ให้มีความร่วมสมัยหน่อย ยุคเก่ากำลังจะหมดไป ยุคใหม่กำลังจะมา อะไรประมาณนั้น

เราก็เลยเขียนบทหนังสั้นขึ้นมาก่อน แต่พอเขียนเสร็จ ถ่ายทำเสร็จ เราก็เริ่มปล่อยตัวอย่างออกไปก่อน อันที่หนึ่ง มีคนฟอลโลว์เป็นแสนๆ คนภายในอาทิตย์เดียว กระทั่งเป็นล้าน เราถึงปล่อยอันที่สอง อันที่สาม อันที่สี่ จนกระทั่งหนังจะหมด เนื้อหาหนังจะหมด เราก็เลยคิดว่าเก็บไว้ก่อน เพราะถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราเขียนเป็นบทหนังยาวดีมั้ย แล้วก็หาทุนทำ เราก็เลยมาพัฒนาบทและหาทุน แต่ก็ไม่มีใครให้ทุน เพราะว่าเราไม่มีประสบการณ์ในการทำหนัง ไม่มีรางวัล ไม่เคยส่งหนังเข้าประกวด ไม่มีชื่อนั่นแหละ ก็เลยไม่มีใครเชื่อมือเรา เราก็เลยตัดสินใจว่าทำเองนี่แหละ ทำทีแรกก็ไม่ได้คิดเลยนะว่าจะได้เข้าโรงฉาย แต่คิดว่าจะเอาไปฉายตามลิโด้ เฮาส์ แล้วก็โรดโชว์ตามมหาวิทยาลัย

คิดว่าผลลัพธ์เชิงบวกที่ออกมา มันบอกอะไรได้บ้างในแง่ของธุรกิจหรือวงการหนัง
คือจริงๆ อยากให้ไปดูก่อน เพราะในเนื้อเรื่องจะมีการเหน็บวงการหนังไทยไว้อยู่ ผ่านตัวละครนำที่อยากเป็นผู้กำกับหนัง แล้วมันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคฟิล์มไปสู่ยุคดิจิตอล พระเอกก็จะไปเก็บเศษฟิล์มเก่าๆ มาส่องดู แต่ไม่รู้หรอกว่ากระบวนการทำหนังเป็นอย่างไร แล้วอยู่ๆ ก็มีฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาในหมู่บ้านพร้อมกับกล้องดิจิตอล แล้วคุยกับพระเอก ถูกคอกัน ก็มอบกล้องให้พระเอก ซึ่งพระเอกก็ไปเที่ยวถ่ายโน่นถ่ายนี่มา ซึ่งก็เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวบ้าน

เห็นในตัวอย่าง เหมือนหนังจะออกแนวตลกๆ
มันอาจจะไม่ใช่ตลกในแบบสามช่าหรืออะไรแบบนั้น แต่มันจะตลกจากไดอะล็อกอีสานแท้ แต่เราก็มีซับไตเติลให้ คนที่จะขำได้ดีก็คงเป็นอีสานที่เก็ตกับภาษาในหนังอย่างเต็มที่ คนอีสานจะหัวเราะทั้งน้ำตาเลย จริงๆ หนังเรื่องนี้ควรจะฉายในกรุงเทพฯ นะครับ เพราะสิ่งที่หนังอยากจะบอกกับคนดูจริงๆ ก็คืออยากให้คนอีสานกลับบ้าน มาดูตัวเอง ไม่ใช่ว่ามาปีละครั้งสองครั้งตอนเทศกาลแล้วก็บอกว่าอีสานมันไม่เจริญ คือมันจะเจริญได้อย่างไรล่ะ เพราะพอมีความรู้แล้ว เราส่วนใหญ่ก็ไปพัฒนาที่อื่น คำถามก็คือแล้วทำไมเราไม่กลับมาพัฒนาหมู่บ้านหรือท้องถิ่นของเราอย่างจริงจัง

ก็มีแต่ผู้บ่าวไทบ้านที่อยู่บ้าน เราก็จะพาไปดูว่าทำไมพวกเขาถึงยินดีที่จะอยู่กับบ้านดินถิ่นเกิด ทำไมเขาไม่ไปที่อื่น เขามีความสุขอย่างไร ทำไมเขาถึงไม่ไปอยู่ที่อื่น นี่คือเนื้อหาหลักๆ ที่หนังเราอยากจะบอกครับ

สุดท้าย สำหรับคนในเมืองหรือในกรุงเทพฯ จะได้ดูหนังเรื่องนี้ไหมครับ
ได้ดูครับ เพราะเราจะเอาเข้ามาฉายให้คนกรุงเทพฯ ได้ดู ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายนเป็นต้นไป ในโรงของเครือเอสเอฟและเมเจอร์ครับ


อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine