“ศิลปะกับอนาจาร มันแบ่งกันชัดเจน
มันไม่เคยมีเส้นบางๆ กั้นเลย
มันเป็นวงกลมสองวง ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย
แต่ก็แปลกใจทำไม คนอีกกลุ่มหนึ่งหรือตัวเราเองในอดีต
กลับเหมารวมเป็นภาพแนวเดียวกัน”
…ไม่นานก่อนหน้า คนที่รักใคร่ในภาพยนตร์ ตลอดจนประชากรหลายคนแห่งโลกออนไลน์ คงได้ผ่านหูผ่านตาผลงานชิ้นหนึ่งซึ่งถูกกล่าวขวัญถึงในความหาญกล้าของทีมงานและนักแสดงอย่างถึงที่สุด นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ผลงานชิ้นดังกล่าวนั้น เป็นฝีมือของนักศึกษาซึ่งผลิตผลงานขึ้นมาเพียงเพื่อส่งอาจารย์เท่านั้นเอง
แต่ความทุ่มทุนและทุ่มเทของพวกเขา กลับไปไกลเกินกว่าที่หลายคนจะคาดถึง
เล่าให้ฟังอย่างคร่าวๆ…ผลงานชิ้นดังกล่าวซึ่งมีความยาวราวๆ 30 นาที คือสารคดีที่นำพาคนดูลัดเลาะเตาะไต่ไปบนวิถีของภาพนู้ด ทั้งทีมงานและนางแบบ แน่นอนว่า สิ่งหนึ่งซึ่งกลายเป็นประเด็นให้คนตื่นเต้นและพูดถึง คือตลอดความยาวของหนัง นอกเหนือไปจากเนื้อหาแก่นสารอันว่าด้วยวิถีของคนถ่ายภาพนู้ดและนางแบบแล้ว ภาพนางแบบที่นุ่งน้อยห่มบางหรือกระทั่งไร้เสื้อผ้าอาภรณ์ ก็หวามว่อนต่อสายตาแทรกแซมอยู่ทั้งเรื่อง ไปกันด้วยดีกับชื่อของหนัง
“นางเปลือย”….
“ไม่ใช่แค่อีฟเท่านั้น โดนกันทุกคน พอมีคนกล้าแหวกกล้าแหกออกมา มีคนก้าวออกมา สังคมก็จะแบบว่า…”
“อีฟ-อนัตตา ใสสอาด” นักแสดงผู้รับบทเป็นนางแบบของเรื่อง กล่าวกับเราในบางช่วงของการสนทนา
“ศิลปะ-อนาจาร” ประเด็นเก่าคร่ำครึที่ดูเหมือนว่า ต่อให้กาลเวลาผ่านไปอีกหลายปีแสง การถกแย้งด้วยชื่นชมหรือก่นด่า ก็น่าจะยังไม่หมดสิ้นไปจากโลก และจะเป็นไรไป ถ้าเราจะมานั่งคุยเรื่องนั้นกันอีกครั้งหนึ่ง ในวาระที่ “นางเปลือย” กำลังถูกพูดถึงทั้งสองทาง
ทั้งด้วยภาษาที่เชือดเฉือนราวกับจะแล่เนื้อเถือหนัง ทั้งด้วยภาษาดอกไม้ที่กรุ่นหอมด้วยความชื่นชม…
ศิลปะ Vs อนาจาร
และวงกลมสองวง
“คนไทยมีนิสัยอย่างหนึ่ง คือถ้าไม่ชอบไม่พอใจ ก็ขอด่าก่อน ส่วนเหตุผลจะตามมาทีหลัง เพราะเราไม่รู้ เราไม่รู้ว่ามันมีอย่างอื่น เรารู้แค่ว่าแก้ผ้าคือผิด แก้ผ้าคือโป๊ น่าอับอาย เขาคิดถึงกระบวนการแก้ผ้าอย่างเดียว”
อีฟ-อนัตตา เจ้าของบทบาทนางแบบในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “นางเปลือย” เริ่มต้นบทสนทนา พร้อมกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราจะคิดหรือมองเป็นวิปริตไอเดียอย่างนั้น แรกๆ เธอก็คิดไม่ต่างเช่นกัน เพราะสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีได้ปลูกฝังเรามาอย่างนั้น กระทั่งวันหนึ่ง โลกทางความคิดของเธอก็ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อได้ใกล้ชิดกับศิลปะแขนงนี้ด้วยตัวเอง
“แรกๆ ก็ไม่รู้ว่าอาร์ตนู้ดคืออะไร แค่เห็นแก้ผ้านิดๆ หน่อยๆ อีฟก็มองว่ามันโป๊หมด มันน่าอาย คือเรามองศิลปะที่ใช้เรือนร่างว่ามันเป็นสิ่งที่ขายได้” หญิงสาวหัวเราะร่วน เมื่อนึกย้อนเส้นทางของตนเอง จากนิสิตสาวในสายวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนเลนเบนทางสู่ถนนนางแบบภาพนู้ดชนิดไม่รู้เหนือรู้ใต้ มีแค่การอยากรู้อยากลองและเหตุผลชื่นชอบถ่ายรูป อยากมีภาพบันทึกความทรงจำอันหลากหลายเป็นของตัวเองเท่านั้นที่เป็นแรงขับ
“จุดเริ่มต้น อีฟยังตอบตัวเองไม่ได้เลยว่าทำไมอีฟถึงมาทำ ครั้งแรกที่อีฟเห็นภาพนู้ด อีฟเห็นจากพวกปฏิทินเบียร์ด้วยซ้ำ เราไม่ได้เห็นจากงานนู้ดที่เป็นศิลปะจริงๆ ตอนนั้นก็รู้สึกว่ามันสวยเซ็กซี่ดีนะ คือเรามองตรงนั้นเป็นภาพที่เซ็กซี่ เป็นภาพผู้หญิงคนหนึ่งมาถ่ายภาพที่ดูแล้วมีอารมณ์
“จนกระทั่งวันหนึ่ง อยากลองถ่ายรูปแปลกๆ ดูบ้าง อยากลองทำสักครั้งหนึ่งในชีวิต ก็ไปปรึกษาพี่ตากล้องที่รู้จักกัน คุยกันเสร็จ นัดวันถ่ายเดี๋ยวนั้นเลย คืออีฟใช้ใจล้วนๆ ไม่ได้เอากลับมาตัดสินใจนาน ก่อนถ่ายก็ไม่ได้ศึกษาอะไรเกี่ยวกับงานนู้ด อาศัยดูจากที่พี่เขาถ่ายงานแนวแมกกาซีนอย่างเดียว เราชอบ เราอยากได้ภาพแบบนี้บ้าง แต่เป็นในคอนเซ็ปต์ของเรา ก็เลยพูดไปว่าตรงๆ ว่า หนูอยากลองถ่ายรูปแบบแก้ผ้าลุยป่า เราไม่ได้ใช้คำว่านู้ดด้วยซ้ำ
“พอได้ลองถ่าย ภาพที่ได้มันต่างจากรูปปฏิทินที่เราฝังใจ ก็ชอบทันทีหลังจากที่เห็น ความรู้สึกมันบอกกับตัวเองว่า เอ๊ย เรามาถูกทางแล้วล่ะ จากนั้นก็เกิดการซึมซับ เริ่มดูงานแนวนี้มากขึ้นๆ ถึงได้รู้ว่า อ๋อ สิ่งที่เราเห็นตอนแรกมันเป็น 'พาณิชย์ศิลป์' แต่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ มันเป็น 'เพียวอาร์ต' 'ไฟน์อาร์ต' 'นู้ดอาร์ต' ก็เลยเริ่มที่จะแยกออก”
เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่หญิงสาววัยยี่สิบขี้อายในเวลานั้น ได้ก้าวเดินบนเส้นทางสายนี้จนก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ต้นๆ ของวงการนางแบบที่ถ่ายทอดงานศิลปะเปลือยร่าง หรือเป็น “แบบ” ให้ช่างภาพจับมุมแห่งความงาม
“ยอมรับว่าอีฟอยากลอง อยากทำดูสักครั้งในชีวิต อยากพิสูจน์ตัวเองว่าแตกต่าง แต่มาวันนี้มันเพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่ง คืออยากแบ่งแยกภาพถ่ายที่ใช้ร่างเปลือยทั้งหมดให้เห็นว่าภาพมันแตกต่างด้วยตัวอีฟเอง
“ถ้าผลรูปวันนั้นออกมาเหมือนปฏิทินเบียร์ ก็คงหยุด แต่มันไม่ใช่ มันทำลายความเชื่อเดิมๆ ล้างออกไปหมดเลย รู้สึกว่ามันเจ๋ง มันแตกต่าง มันมีหลากหลายนะศิลปะแขนงนี้ ทำให้เรารู้จักแบ่ง รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร
“ความงามของนู้ดต้องใช้ใจดู ต้องลืมไปก่อนเลยว่าแก้ผ้ามันผิดและน่าอับอาย ให้ดูที่รูปว่ามันออกมาแล้วทำให้เรารู้สึกอย่างไร ถ้าเรารู้สึกไม่ดีกับมัน เราแยกแยะได้ไหมว่าเขาต้องการนำเสนออะไร ไม่ใช่ว่าคุณดูแล้วตัดสินเขาเลยจากพื้นฐานความคิดคุณ พอคุณดู คุณต้องย้อนกลับมาถามตัวเอง เพราะมันส่อระดับความคิดจิตใจ ถอดหมดไม่ได้แปลว่าใครดูรูปนี้แล้วต้องเกิดอารมณ์ทางเพศ ต้องอยากร่วมเพศ อยากช่วยตัวเอง ไม่ใช่ มันมีมากมาย มีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่ที่ความรู้คนเสพ คนมอง และก็อยู่ที่ตัวผู้ถ่ายทอดด้วยว่าเขาอยากถ่ายถอดอะไร
“หน้าที่เปิดใจไม่ใช่เรา แต่เป็นตัวผู้เสพ เรามีหน้าที่พิสูจน์และทำให้เห็นว่า สิ่งที่คุณคิดมันไม่ได้มีอะไรเลวร้ายเหมือนที่คุณพูด กระบวนการแก้ผ้าก็เหมือนกัน อีฟไม่จำเป็นต้องง่าย อีฟทำไป อีฟไม่ได้ร้อนเงิน หรือใครจะพูดจะคอมเมนท์มาว่าเห็นแล้วอยากช่วยตัวเอง เห็นแล้วเกิดอารมณ์ เพราะเห็นแค่เราแก้ผ้า คิดแค่กระบวนการว่าเราแก้ผ้า แต่เขาไม่ได้ดูผลที่ออกมาว่าเราถ่ายรูปออกมาแล้ว รูปมันทำให้เกิดความรู้สึกอยากช่วยตัวเองไหม สุดท้าย ถ้าเขาเห็นรูปที่อีฟถ่ายแล้วเขายังช่วยตัวเองได้ มันก็เป็นเรื่องของเขา เป็นจิตใจของเขา ที่เขาเชื่ออย่างนั้น ที่เขายอมรับอย่างนั้น
“มันยิ่งตอกย้ำว่าวงกลมสองวง ศิลปะกับอนาจาร มันแบ่งกันชัดเจน มันไม่เคยมีเส้นบางๆ กั้นเลย มันเป็นวงกลมสองวง ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ก็แปลกใจทำไม คนอีกกลุ่มหนึ่งหรือตัวเราเองในอดีต กลับเหมารวมเป็นภาพแนวเดียวกัน”
‘ดอกไม้’ ไว้ชูชื่น
‘ก้อนอิฐ’ ไว้ปูทาง
ไม่มากก็น้อย เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจในสิ่งที่เธอทำและพยายามบอกกล่าว แต่ก็อย่างที่รู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นพ้องต้องกันกับชุดความคิดเช่นนี้ ฉะนั้นแล้ว การต่อยตีกับความคิดอีกด้านหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับผู้คนบนถนนสายนี้ ดอกไม้ก็มากมี ก้อนอิฐก็มากมาย
“ไม่ใช่แค่อีฟเท่านั้น แต่โดนกันทุกคน พอมีคนกล้าแหวกกล้าแหกออกมา มีคนก้าวออกมา สังคมเราเขาก็จะแบบว่า…เอ๊ย! อะไรอ่ะ พวกนี้ไม่ได้นะ ไม่ดี คือยังปิดกั้นงาน ปิดกั้นตัวเอง อย่างที่บอกว่าเขาไม่เปิดใจ เราก็จะอยู่กับที่แค่นี้ เมื่อไหร่เราจะเปิดหูเปิดตา เมื่อไหร่เราจะยอมรับว่ามันแตกต่าง เมื่อมีด้านลบก็ต้องมีด้านบวก แต่คุณมัวแต่มองด้านลบๆ แล้วเมื่อไหร่คุณจะเจอสิ่งบวกของคุณ
“นี่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าในแวดวงศิลปะนะ คุณไม่ลองผิดลองถูก ไม่ลองทำอะไรเลย แล้วคุณจะได้ชิ้นงานใหม่ๆ ไหม อย่างนี้มันจะเรียกว่าสร้างสรรค์เหรอ นี่คือการทำลายความคิด ทั้งๆ ที่ยังไม่ตกผลึกเลยด้วยซ้ำ“
“แต่เราก็ต้องยอมรับมัน แล้วก็เอามันมาปรับปรุงตัว” หญิงสาวเว้นวรรคถ้อยคำเล็กน้อย ก่อนพรั่งพรูความคิดออกมาอีกระลอกใหญ่
“ถามว่าท้อไหม…ไม่ท้อนะ เพราะเรามั่นใจว่าไม่ผิด เอาเวลาที่จะท้อไปพิสูจน์ตัวเองดีกว่าไหมว่าเราไม่ผิด เพราะเขาไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร เรามีจุดประสงค์ ถ้าหากอีฟหลับหูหลับตา รับเอาแต่สิ่งที่เขาขว้างปาเข้ามา โลกของเราก็จบลง คงยืนไม่ได้ เดินไม่ได้ เลิกแล้ว ตายดีกว่า ฉันกลับบ้านไปดีกว่า หรือประชดยอมรับผิดก็ได้ จบ แต่มันไม่ใช่
“อีฟยอมให้เขาปาหินเข้ามาหาอีฟก่อน แล้วอีฟเกลี่ยทางให้เรียบสำหรับคนที่จะเดินตามมาทีหลัง ไม่ว่าจะช่างภาพหรือนางแบบ จะได้ง่ายขึ้น คือเราต้องเอาสิ่งที่เขาขว้างปา มาปูเป็นทางเดินของตัวเอง นำมาใช้ให้หมด ไม่ว่าจะเป็นการเห็นภาพเราแล้วหื่น เห็นภาพเราแล้วอยาก อีฟก็จะคิดว่าทำไมถึงยังมองในแง่ลบอย่างนั้น เราก็ต้องกลับมาดูว่าทำอย่างไร อะไรแบบไหน ไม่ให้เขามองเห็นเป็นอย่างนั้น หาทางปรับปรุงตัวเองไปเรื่อยๆ”
แต่กว่าจะถึงขั้นนี้ได้ไม่ใช่ง่ายๆ อย่างที่พูด เธอยอมรับว่า 'หนัก' เพราะไม่ใช่แค่แรงกดดันจากข้างนอกเพียงอย่างเดียวที่เธอต้องยอมรับมันให้ได้ เมื่อเปิดเผยของสงวนสู่สายตาสาธารณะ แต่แรงกดดันข้างในที่ถูกเชื่อมโยงแบบสาดเสียเทเสียอย่างเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว ก็ทำเอาต้องทำใจอยู่นานพอดู
“แรกๆ เราไม่ได้ถ่ายเปิดหน้าเปิดตา ไม่ได้ออกตัว เราก็ป้องกั้นตัวเองระดับหนึ่ง มันก็ไม่เท่ากับตอนนี้ ที่พอเราตัดสินใจออกสารคดีเพื่อพิสูจน์ คนก็เริ่มมาขุดค้น มาพาดพิงเรื่องการเรียน เรื่องเงิน เรื่องครอบครัว มาเข้าทางแม่ ซึ่งมันไม่เกี่ยว
“แต่ก็ยอมรับเลยนะ ครั้งแรกที่แม่รู้ว่าถ่ายนู้ด แม่ไม่คุยกับอีฟเลย เพราะว่าท่านเกิดมาก่อน ท่านอยู่ในสังคมยุคโบราณและถูกฝังหัวว่าการแก้ผ้าเป็นเรื่องผิด ก็เลยไม่อยากจะคิดว่าเราทำอย่างนี้ลงไป ไม่มีแม่คนไหนที่ภูมิใจหรอกกับการเห็นลูกแก้ผ้าทำงาน แต่อีฟก็พยายามทำให้แม่เชื่อใจ มีภาพมีอะไรก็ส่งให้ท่านดู ไม่มีอะไรเกินเลย ท่านก็ยอมรับ เห็นว่าเราแตกต่าง สุดท้ายก็เข้าใจในการงานของเรา
“ทุกวันนี้มันดีขึ้นนะ มันไม่มีอะไรแบบนั้นแล้ว เวลาใครมาถาม แม่ก็จะบอกว่า อย่าพูดถึงตัวบุคคลได้ไหม ดูรูป ดูงานแค่นั้น อย่ามาสนใจว่าอีนี่มันจะชื่ออะไร เป็นใคร อย่ามาสนใจ คือถ้ามีคนมาว่ามาอะไร ถ้าแม่รับรู้และเข้าใจแล้ว แม้จะไม่ได้สนับสนุนเต็มที่ แต่ท่านเข้าใจและเชื่อใจเรา
“แต่ด้วยความที่แม่เป็นแม่ เราก็ยังเป็นเด็กอยู่เสมอในสายตาเขา คนเป็นแม่อ่ะ แน่นอนว่าแม่ปกป้องไม่อยากให้ใครดูถูกลูก แล้วยิ่งทำงานตรงนี้มันหมิ่นเหม่ แม่ก็รับรู้ว่าเราโดนอะไรมา อีฟก็ท้อไม่ได้ เพราะถ้าล้ม แม่จะทรุดหนักกว่าอีฟสองเท่า แน่นอน เพราะท่านต้องคิดว่าฉันเลี้ยงลูกอย่างไรให้ลูกฉันเสียใจ ให้คนทำร้ายลูกฉัน”
ส่วนประเด็นที่ว่าทำเพื่ออยากดังบ้าง อยากมีชื่อเสียงเงินทองบ้าง เธอย้อนถามกลับสั้นๆ “นี่หรือความดังที่ได้มา“
“ขึ้นชื่อว่าแก้ผ้า เขาจำหน้าได้ ไปไหนใครก็ทัก ไปไหนใครก็มอง ถ้าอีฟทำเพื่ออยากดัง ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ ก็เหมือนพลุที่ตูมเดียวแล้วดับ อีฟจะอยู่มาได้อย่างไรตั้งสามปี เราจะอยู่ในสังคมได้อย่างไร
“แล้วที่บอกว่าแก้ผ้ามันดังเนี่ย อาจจะเป็นเพราะโอกาสขอสารคดีเรื่องนี้เข้ามาหาอีฟ แต่ตัวอีฟไม่ได้ดัง สิ่งที่เรียกว่านู้ดต่างหากที่มันดัง ทุกคนพูดถึงอีฟ เพียงเพราะอีฟเป็นตัวเดินเรื่องเท่านั้น
“ทุกวันนี้ไปไหนมาไหนก็ยังไม่ต้องใส่แว่นตาดำ ขึ้นรถไฟฟ้า นั่งกินข้าว ยังไม่มีใครมาทัก มีเพียงคนสนใจร่วมงาน เพราะฉะนั้น ตัดประเด็นเรื่องความดังออกไปได้เลย ยิ่งเรื่องเงินยิ่งไม่ต้องพูดถึง ครั้งแรกถูกใจ อยากทำ ถ่ายฟรี นี่หรือคนสิ้นไร้ไม้ตอก คนขัดสนเรื่องเงิน
“สิ่งที่อีฟพยายามทำคือนำเสนองาน ไม่ใช่ตัวเอง อีฟแคร์แค่ว่าเราฝากอะไรไว้ เขาพูดถึงงานอย่างไร เขาด่าหรือเขาชม เราเป็นแค่เศษส่วนหนึ่งของภาพ ความดังมันมาไม่ถึงตัวเราหรอก”
นู้ดให้อะไร
ทำไมต้องนู้ด
“ให้ความเป็นจริง”
หญิงสาวตอบเร็วแบบไม่มีที่ว่างให้ความเงียบ หลังจากเราโยนคำถามสุดคลาสสิกว่าภาพนู้ดมีคุณค่าแบบไหนหรือให้อะไรกับคนเสพ
“นู้ดคือการเปลือย ไม่ใส่อะไรเลย มันเป็นความมหัศจรรย์ คนเราเกิดมาตัวเปล่า ไม่มีอะไรนุ่งห่มเลย แต่เราสามารถสร้างเรื่องราว สร้างภาพให้ดูมีความหมาย มีคุณค่า
“เปรียบเหมือนผู้หญิงใส่เสื้อผ้าคือกล้วยที่ยังมีเปลือก เรารู้ว่ากล้วยสุกแล้วเพราะสีมันเหลือง ถ้าเราไม่ปอกเปลือกแล้วกินมัน เราจะรู้รสชาติได้อย่างไร คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะอ้วน ผอม ดำ เตี้ย แห้ง เหี่ยว นั้นสวยเหมือนกันหมด
“นู้ดคือการปอกเปลือกตัวเอง สะท้อนอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง หรืออะไรที่มันกล่อมเกลา สะเทือนใจ ให้จิตเราคิดได้มากกว่าผู้หญิงแก้ผ้า
“อย่างร่างกายนี้ พอเราตาย เราก็ต้องคืนเขา เราไม่ได้อยู่ในร่างนี้ตลอดไป แต่พอเราถ่ายทอดออกมาเป็นรูปภาพ รูปนี้ยังคงอยู่ รูปนี้มันยังเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวอยู่ในแผ่นกระดาษ
“ก็อยากจะฝากถึงน้องๆ ที่บอกว่าอยากเป็นแบบเรา เห็นเราเป็นไอดอล สังคมบ้านเรายังมองผู้หญิงนู้ดไม่ดีอยู่ คนยังมองเราเสียหาย แล้วเราจะตอกย้ำตัวเองออกมาไม่ดีหรือ เราจะทำตัวเองให้เสียหายอย่างที่เขาว่าหรือไม่ ฉะนั้น เราต้องเลือกคำตอบเราให้ดีว่าเราควรทำอย่างไร อีฟเชื่อว่าทุกคนคิดได้ อีฟไม่ได้ทำให้เกิดกระแสเด็กอยากแก้ผ้า
“เราทำงานนอกกรอบความคิดก็จริง แต่เรารู้นะว่าอะไรคือขอบเขต คนที่ไม่เคยออกนอกกรอบ เขาไม่รู้หรอกว่าอะไรคือขอบเขต แต่คนที่กล้าออกมาจากกรอบ เขาจะรู้ว่าอะไรคือขอบเขต”
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พลภัทร วรรณดี และจากเฟซบุ๊ก Eva Anutta
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine