Marsmag.net

‘Hipster’ จะหลงเหลืออะไรไว้ให้กับสังคมไทย? ในมุมมองของ โตมร ศุขปรีชา

เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว

มีหลายคำถามที่พยายามหาคำตอบถึงที่มาที่ไปและนิยามของคำว่า ‘Hipster’ ซึ่ง ณ เวลานี้คงไม่ต้องเท้าความกันให้มากเรื่องแล้วว่า ‘ฮิปสเตอร์’ คืออะไร? แต่มาถามกันดีกว่าว่า ‘ฮิปสเตอร์’ จะหลงเหลืออะไรไว้ให้กับสังคมไทย? เหมือนที่ Hippie, Rock and roll, Alternative, Indies, เด็กแนว ฯลฯ เคยสร้างผลผลิตเอาไว้ก่อนหลุดลอยไปจากกระแส

เรานั่งคุยกับ โตมร ศุขปรีชา นักคิด นักเขียน นักแปล ผู้เฝ้ามองความเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมกระแสรองต่างๆ ในสังคมไทย เขาบอกกับเราว่า ฮิปสเตอร์มีอยู่ในไทยเป็นสิบปีแล้ว แต่เพิ่งจะมาเป็นที่สนใจมากขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เมื่อคนในกระแสหลักเริ่มหยิบยืมวิถีชีวิตบางอย่างไปใช้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเสพสิ่งต่างๆ นั้น เข้าขั้นถูกทำให้กลายเป็นคอลเล็กชั่นใหม่ของสินค้า (Mass) จนกระแสหลักบางกลุ่ม (หรือแม้แต่ฮิปสเตอร์ดั้งเดิม) ออกอาการแซะหรือกระแนะกระแหนว่า

‘ฮิปสเตอร์ก็เป็นแค่วิธีบริโภคอย่างหนึ่งเท่านั้น
ไม่ต่างอะไรกับพวกบริโภคนิยมในกระหลักหรอก!’

จะอย่างไรก็แล้วแต่ นี่คืออีกหนึ่ง Sub Culture ที่เลื่อนไหลเข้ามาในสังคมไทย จับหัวใจใครบางคนแต่ก็ไม่หยุดอยู่กับที่ และพร้อมที่จะหลุดลอยหายไปได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ (หรือไปแล้ว?!)

มาดูกันดีกว่าไหมว่า ‘ฮิปสเตอร์’ จะหลงเหลืออะไรไว้ให้กับสังคมไทย?

ทำไมบางคนถึงไม่ชอบฮิปสเตอร์
ปี 2013 มันจะมีการทำโพลล์ว่าคนอเมริกันชอบหรือไม่ชอบฮิปสเตอร์ยังไง ที่มันตลกคือคนส่วนใหญ่ก็อาจจะชอบชีวิตที่มันเก๋เหมือนฮิปสเตอร์ แต่ถามว่าถ้าให้คนที่เป็นฮิปสเตอร์มีตำแหน่งทางการเมือง มีบทบาทในการบริหารประเทศไหม 70%-80% บอกว่าไม่อยากได้ แล้วคนที่เป็นรีพับลิกันเนี่ยเกือบ 100% เลยไม่อยากให้นักการเมืองเป็นฮิปสเตอร์

เขาให้เหตุผลไหมว่าทำไม
เหตุผลนี่จำไม่ได้ แต่มันทำให้เห็นว่า ถ้าเป็นเรื่องของการบริหารบ้านเมืองหรืออะไรที่มันเป็นทางการ official เนี่ย มันก็ต้องเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก เช่น เราคงนึกภาพนายกรัฐมนตรีแต่งตัวเก๋ๆ ไม่ได้ แต่จะต้องแบบดูเป็นทางการ ใส่สูท ใส่ชุดไทย ชุดพระราชทานก็ว่าไป

ฮิปสเตอร์โดยนิยามมันคือ Sub Culture อย่างหนึ่ง ทุกอันที่เป็น Sub มันก็อยู่ข้างใต้วัฒนธรรมหลักอยู่แล้ว คือมันถูกกดก็เลยเกิดการต้านขึ้นมา คำว่าฮิปสเตอร์มันมีมาตั้งแต่ยุค 40s แล้วนะ แต่ว่าสมัยก่อนเขาเอาไว้ใช้เรียกคนที่เป็นแฟนดนตรีแจ๊ซยุคใหม่ (ค้นข้อมูลต่อได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Hipster_(contemporary_subculture) — ผู้เขียน) คือก่อนหน้านั้นแจ๊ซมันจะเป็นนิวออร์ลีนแจ๊ซ ดนตรีแนวแจ๊ซมันเกิดขึ้นมาต้านดนตรีของคนขาว มันคือการเล่นผิดของคนดำ แต่เมื่อมีมาสักระยะมันก็เกิดแจ๊ซแบบใหม่ขึ้นมาต้านแจ๊ซดั้งเดิมอีกที่เขาเรียกว่า Bebop จะมีพวกนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมันก็เลยเกิดแฟนเพลงที่ฟังดนตรีแจ๊ซแบบใหม่ ที่จะมีวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ใม่เหมือนคนยุคก่อนหน้า มันคือคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น

จริงๆ ฮิปสเตอร์รุ่นใหม่มันก็น่าจะเกิดมาจากดนตรีเหมือนกัน ดนตรีเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง อย่างเช่นเขาฟังเพลงอินดี้ ฟังเพลงที่มันเป็นอัลเทอร์เนทีฟ ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็มีกลุ่มเล็กของมันย่อยไปอีกว่าเป็น Hipster แบบไหนบ้าง แล้วมันก็เกิดการสร้างวิถีชีวิต สร้างการแต่งตัว

จริงๆ เมื่อมีการต้านกระแสหลัก ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะมีการต้านเรื่องดนตรี ต้านอนุรักษนิยมต่างๆ แต่ยุคนี้ต้านทุน ต้านวิถีชีวิตแบบเมนสตรีมที่มาจากทุน เช่น เล่นหุ้นอยู่ในวอลล์สตรีต ทำบริษัทใหญ่ๆ อะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นคนพวกนี้ก็ไม่ใส่สูท แล้วตอนนี้มีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืนเข้ามาด้วย คนที่เป็นฮิปสเตอร์แบบนี้ก็จะไปกินอาหารคลีน อาหารออร์แกนิก แต่งตัวหรือว่ามีชีวิตอย่างอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เสื้อผ้านี่ก็ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ ซื้อเสื้อผ้าเก่าแทน เพราะมีความคิดเรื่องรีไซเคิลของ ขี่จักรยานเพราะจักรยานช่วยลดโลกร้อน แล้วก็ใช้จักรยานเก่าเป็นแบบวินเทจ จะไม่ใช้จักรยานแบบคันละ 4 แสน อะไรแบบนั้น เพราะฉะนั้นมันมาหมดเลย ฮิปสเตอร์แบบนี้มันเลยเคลื่อนมาทั้งก้อน พร้อมกับแนวคิดทางการเมืองด้วย หรืออาจจะมีฐานแนวคิดทางการเมืองอยู่แล้วแต่แค่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ จะเกิดจากแบบไหนก่อนก็ได้

เมื่อเป็นแบบนี้มากขึ้น ฮิปสเตอร์ก็มีความเป็นชุมชน มันก็เหมือนกับเทรนด์ทุกอย่างที่มีกลุ่มเกิดขึ้นแล้วก็มีคนอื่นเข้า ทีนี้การเลียนแบบที่ง่ายที่สุดมันก็คือเลียนแบบที่เปลือกหุ้ม เช่น ใช้อะไร แต่งตัวยังไง กินอาหารอะไร ส่วนเรื่องความคิดทางการเมืองมันยากกว่า เพราะมันอยู่ข้างในแล้วมันมองไม่เห็นชัด เราก็จะเห็นว่าชุมชนฮิปสเตอร์มันใหญ่ขึ้น จริงๆ คนอเมริกันก็จะไม่ค่อยชอบ

มีนักเขียนคนหนึ่งบอกว่า ฮิปสเตอร์ที่ไปเลียนแบบก็คือเป็นกลุ่มที่ไม่ต่างจากคนที่อยู่ในระบบทุน หรือบริโภคนิยม แต่ฮิปสเตอร์ในความหมายแบบนี้ก็คือกลุ่มคนที่บริโภคไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง เช่น เอา Hippie มา เอา Beat generation มา ซึ่ง Sub Culture ในอดีตมันมีหลากหลายมาก แล้วแต่ว่าฮิปสเตอร์กลุ่มไหนไปเอาอะไรมารวมไว้กับตัว คนก็เลยวิจารณ์ว่าฮิปสเตอร์กลุ่มนี้ก็จะเป็นพวกบริโภคไลฟ์สไตล์แบบอัลเทอร์เนทีฟเท่านั้น ไม่มีความคิดทางการเมือง ไม่ได้มีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นเรื่องของรสนิยมและพฤติกรรมเฉย แต่ฮิปสเตอร์จริงๆ ไม่ได้เป็นแค่เปลือกนะ ถ้าเริ่มมาอย่างที่เล่าตอนต้นมันก็มีแกนของมันอยู่

แล้วกลุ่มไหนที่นักวิจารณ์บอกว่าเป็นแค่ผู้บริโภคไลฟ์สไตล์
เป็นกลุ่มฮิปสเตอร์ที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 5-6 ปี นิยามของมันคือคนผิวขาว คือ White Millennials คนกลุ่มนี้ก็คือคนอเมริกาที่มีสถานภาพสูงกว่าคนอื่น มีแต่ความสบาย ไม่เคยมีความยากลำบาก ฉะนั้นก็เลยต้องการเสพความยากลำบาก มันไม่เหมือนคนผิวดำที่เป็นเกย์ที่ถูกต่อต้าน

จริงๆ แล้วถ้าไปดูนิยามในวิกิพีเดียจะเห็นว่ามันเป็น Sub Culture ที่เป็น Trance Atlantic คือเป็นการข้ามฝั่งไปมาระหว่างลอนดอนกับนิวยอร์ก มีทั้ง 2 เมืองเป็นต้นทาง เป็นผู้นำแฟชั่น ตอนหลังก็เลยเริ่มกระจายออกไป มีคนดำเริ่มเป็นฮิปสเตอร์ แต่คนก็จะบอกว่าไม่ใช่หรอก เป็นฮิปสเตอร์ไม่ได้เพราะว่าเป็นคนดำ เพราะนิยามต้องเป็นคนขาว เขาเลยเรียกคนดำว่าเป็น Blipster (คำผสม มาจากคำว่า Black บวกคำว่า Hipster) ถ้าเป็นคนไทยก็น่าจะเป็น Thipster อะไรแบบนั้น

ในนิวยอร์กมี ลอนดอนมี ไทยมี แล้วปักกิ่ง โตเกียว มีไหม
ก็น่าจะมีนะ แต่ว่าไม่แน่ใจเท่าไหร่ โตเกียวมันชัด เพราะว่าในญี่ปุ่นมันมี Sub Culture เยอะอยู่แล้ว หลายอย่าง บางทีคนอาจจะไม่ได้แปะป้ายว่าเป็นฮิปสเตอร์ แต่ในไทยจู่ๆ ก็ดังขึ้นมา แต่จริงๆ กลุ่มนี้มันมีมานานแล้ว จำนิตยสาร Lips ได้ไหมตอนที่นิตยสารนี้เกิดขึ้นมาใหม่ๆ เขาเรียกคนที่เป็นแฟน Lips ว่า Lipster ฉะนั้นคำว่าฮิปสเตอร์มันมีมานานแล้ว แต่ทว่าตอนนี้มันเกิดกระแสหมั่นไส้อย่างที่คนอเมริกันเคยหมั่นไส้มาก่อน คือหมั่นไส้ก็หมั่นไส้นะ แต่ว่ายังอยู่ด้วยกันได้

เอาเข้าจริงแล้วเราควรจะเกลียดหรือหมั่นไส้ฮิปสเตอร์ไหม
ก็แล้วแต่ เราจะเกลียดก็ได้ ไม่เกลียดก็ได้ หมั่นไส้ก็ได้ หรือไม่หมั่นไส้ก็ได้ แต่ก็อย่าให้ถึงขั้นด่ากันหรือทำร้ายกัน วิพากษ์วิจารณ์ได้ วิพากษ์วิจารณ์ถึงขนาดว่า คุณมีอะไรอยู่ในหัวหรือเปล่า? ก็ยังได้

ทีนี้ความเป็นฮิปสเตอร์มันเลื่อนไหล มันไม่อยู่กับที่ หรือความเป็นฮิปสเตอร์มันต้องกินกาแฟนะ ก็จะเห็นว่าตอนหลังมันเลอะเทอะไปหมด พวกวิ่งก็เป็นฮิปสเตอร์ มันมั่วๆ ไปหมด แต่ด้วยความที่ว่าฮิปสเตอร์เป็น Sub Culture บางทีมันก็ไปบริโภควัฒนธรรมของเนิร์ดมา บริโภควัฒนธรรมของเกย์มา หรือกลุ่ม Sub Culture ที่เป็น Metro Sexual ก็เลยทำให้ฮิปสเตอร์มันไม่มีนิยามที่ชัดขนาดที่จะไปบอกว่า 10 อย่างที่คุณเห็นมันเป็นฮิปสเตอร์

ไม่เหมือนกับที่นักการตลาดเขากำหนดมาเหรอว่าต้องมีนั่นมีนี่ เสพนั่นเสพนี่
คิดแบบนั้นมันเป็นวิธีคิดแบบว่า คนเป็นเกย์ต้องใส่แหวนนิ้วก้อย ถือแก้วดื่มน้ำแล้วนิ้วชี้กระดก ซึ่งถามว่ามันใช่ไหม มันก็บอกไม่ได้ ซึ่งความเป็นอะไรบางอย่างโดยเฉพาะความเป็นฮิปสเตอร์มันซับซ้อนกว่า เลื่อนไหลกว่าที่จะไปบอกว่าคนนี้เป็นฮิปสเตอร์ หรือเป็นแล้วยังไง? ถ้ามีคนมาถามผมว่าผมเป็นฮิปสเตอร์หรือเปล่า ถ้าผมอยากเป็นผมก็จะบอกว่าไม่ใช่ แต่ถ้าไม่อยากเป็นฮิปสเตอร์ผมจะบอกว่าใช่

มองในแง่ของการมาอยู่ใต้กระแสหลักของไทย ข้อดีของมันคืออะไร
มันก็เป็นวิถีชีวิตอันหนึ่งแบบหนึ่ง ซึ่งมันก็ไม่ต่างอะไรกับสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่เราที่ชอบเอลวิส เพรสลีย์ ข้อดีของฮิปสเตอร์อันหนึ่งที่น่าจะสำคัญคือ ถ้าเราเป็นฮิปสเตอร์แบบ Portland (เมืองพอร์ตแลนด์ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของรัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา) คืออย่างน้อยมันก็มีวิถีชีวิตที่หันไปหาความยั่งยืนมากขึ้น เช่น เวลาจะกินอะไรก็จะมองว่าอันนี้เป็นออร์แกนิกหรือเปล่า ถ้าคุณใช้จักรยานจริงๆ ไม่ใช่แค่ (ทำเสียงเหนื่อย)… คือทุกวันนี้การขี่จักรยานไม่ใช่แค่ฮิปสเตอร์ขี่แล้ว เพราะมันถูกทำให้เป็นอีเวนต์ของภาครัฐ ซึ่งก็จะเห็นนะว่าวิถีชีวิตของฮิปสเตอร์คือขี่จักรยาน แล้วก็มีคนตามมากขึ้น ภาครัฐก็เอามาขายเป็นเมนสตรีม แต่ว่ามันผิดหรือเปล่า? เช่น การสร้างอีเวนต์จักรยานในทุกเสาร์อาทิตย์ มันเป็นคนละเรื่องกับคนที่ขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน ถ้ามันไปผิดทางมันก็ไม่ดี ฮิปสเตอร์ก็บอกว่างั้นกูแค่ไม่ร่วมออกงานอีเวนต์ ไม่ต้องมีเลนจักรยานก็ได้เพราะว่ากูขี่ได้อยู่แล้ว

เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องดีเรื่องหนึ่งของฮิปสเตอร์
มันก็ดี แต่ว่ากลุ่มอื่นๆ อาจไม่ได้สนใจเรื่องนี้ก็ได้ คือฮิปสเตอร์คิดว่าต้องเสพอะไรที่มันไม่ใช่วัฒนธรรมกระแสหลัก นั่นเท่ากับว่าจะไม่ดูหนังของค่ายใหญ่ อาจจะดูหนังสารคดีของ Documentary Club ซึ่งก็ทำให้หนังของค่ายเล็กๆ มันมีที่ทางมากขึ้น คือมันอาจจะเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ก่อนแล้วก็เริ่มขยายออกไป

เรื่องกินคลีนก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเหมือนกัน
คลีนมันไม่ใช่แค่อาหาร มันไม่ใช่แค่การกินออร์แกนิก มันต้องมาจากในละแวกบ้าน ต้องไม่เกินกี่กิโล คือถ้าทำอย่างนั้นได้มันก็ดีกับเราด้วย อันนี้มันก็ไม่ได้เสียหายอะไร บางเรื่องอาจจะหมั่นไส้ก็หมั่นไส้ไป บางเรื่องที่มันดีก็ดูว่าดีใช่มั้ย เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องรู้สึกหมั่นไส้อะไรกันมาก โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าคุณจะแซะฮิปสเตอร์คุณก็แซะดิ แต่อย่าให้ถึงขั้นที่ทำร้ายกัน เกลียดกัน คือถ้าไปอ่านพวกเพจที่มันแซะฮิปสเตอร์ แรกๆ มันอาจจะดูแรงนะ หลังๆ ก็เป็นเรื่องตลกไปแล้ว เพราะอะไรรู้มั้ย? ในสังคมที่คนมันตั้งท่าจะทะเลาะกัน ถ้าเราเปิดโอกาสให้คนสองกลุ่มได้พูด ในที่สุดมันจะคลี่คลายไปในทางของมัน ไม่ใช่ว่าใช้อำนาจอะไรมากดไว้ว่าคนสองกลุ่มนี้ห้ามพูด ซึ่งเราก็เห็นอยู่แล้วว่า ถ้าได้พูดมันจะมีทางไปของมัน

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าชายสิทธัตถะก็ถือเป็นฮิปสเตอร์
เขาบอกด้วยไหมว่าเป็นฮิปปี้ด้วย นั่นก็คือไม่สมาทานกับกระแสหลัก นั่นก็คือเรื่อง Sub Culture พระพุทธเจ้า พระเยซู ก็ชวนสังคมให้มองแง่มุมที่มันต่างออกไปบ้าง แน่นอนการชวนคนที่อยู่ในกระแสหลักให้มองต่างออกไปย่อมถูกคนในกระแสหลักทำอะไรเรากลับมา

ที่น่าสนใจคือคนที่แซะฮิปสเตอร์จริงๆ แล้วเป็นฮิปสเตอร์มาแซะฮิปสเตอร์ที่กลวง หรือฮิปสเตอร์แท้มาแซะฮิปสเตอร์เทียม ซึ่งมันไม่มีหรอกฮิปสเตอร์แท้ในเมืองไทย มันเลยกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่มันก็ไม่ควรเป็นอย่างนั้นเพราะมันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ขนาดเรื่องเล็กๆ แบบนี้มันยังซับซ้อนเลย เรื่องใหญ่กว่านี้จะซับซ้อนขนาดไหน

อยากฝากอะไรถึงคนที่เป็นฮิปสเตอร์ และคนที่หมั่นไส้ฮิปสเตอร์
ไม่อยากฝากอะไร อยากทำอะไรก็ทำ
เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว