Marsmag.net

Contrast ‘มนุษย์เอ๋ย… อย่ามองอะไรแค่ด้านเดียว’

ในขณะที่เราอ่าน เราโพสต์ เราแชร์ข้อมูลต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก เคยสังเกตกันบ้างไหมว่า ในตัวนั้นแฝงไว้ด้วยอวตารอีกหลากหลายภาค ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาสังคม ผู้หยั่งรู้ไปซะทุกเรื่อง นักประจานสัมพันธ์ รวมไปถึงผู้สนับสนุนการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในหลายๆ กรณี ซ้ำร้ายหลายคนก็พลาดพลั้งทำสิ่งเหล่านี้จนเป็นปกติวิสัย
คงไม่ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น… แต่ถามว่าจะแก้ไขกันอย่างไรกันดีกว่า? เพื่อที่เราจะได้รู้จักรั้งรอ และมองอะไรให้รอบด้านมากขึ้น
นั่นจึงกลายเป็น ที่มาของเพจแสบสันเย้ยหยันบางพฤติกรรมของคนทุกวันนี้ ที่มีชื่อว่า ‘Contrast’

Contrast เกิดขึ้นจากความคิดอ่านของ X Development (นามปากกา) หนุ่มกราฟฟิกดีไซเนอร์ที่ชอบขยับพื้นที่การมองของตัวเองให้อยู่ในมุมกว้างกว่าข่าวสารที่รับมา
“เราเป็นคนท่องเน็ตอยู่แล้ว ติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านทางอินเทอร์เน็ตตลอด ทีนี้เมื่อมีข่าวหนึ่งเกิดขึ้นมา คนส่วนใหญ่มักจะตัดสินกันก่อนทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ความจริงทั้งหมดเลย ซึ่งมันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ผมจึงพูดอีกด้านหนึ่งออกมาว่ามันอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่คนเล่าหรือนักข่าวหยิบมาแค่ประเด็นเดียว
“ทีนี้พอเรา ตั้งชื่อเพจว่า Contrast มันก็กว้างแล้ว เราสามารถเทียบพฤติกรรมของมนุษย์ได้หลากหลาย เช่น การกินอยู่ของคนในช่วงต้นเดือนก็ชอบซื้อของแพง กินของแพง กลางเดือนเริ่มถูกลงมา จนปลายเดือนกินอะไรก็ได้ให้มีชีวิตรอด แล้วพอเล่าเรื่องด้วยภาพสองช่องหรือสามช่องมันทำให้คนดูเห็นความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้นชัดเจน”
เมื่อเราเข้าไปติดตามจะเห็นว่าแก่นแกนในการเล่าเรื่องแต่ละเรื่องนั้นจะชักชวนให้เรามองมุมต่าง โดยเฉพาะในเรื่องของมนุษย์กล้องชอบโพสต์ที่ถูกหยิบจับมาเล่นอยู่บ่อยครั้ง
“อย่างผมเล่นเรื่องมนุษย์กล้อง ผมอธิบายว่ามนุษย์กล้องบางทีมันไม่ดีนะ เพราะสิ่งที่คุณโพสต์ไปมันไม่ได้ประโยชน์ มีคนมาแย้งว่าเขาอาจจะทำดีก็ได้ ไปว่าเขาทำไม อันนั้นผมก็ไม่ว่าอะไรถ้าเขาทำดี เปรียบเทียบให้ชัดก็คือพวกถ่ายคลิปโจรเอาไว้เป็นหลักฐานให้ตำรวจ อันนี้ผมว่าเป็นประโยชน์ เราไม่เรียกว่ามนุษย์กล้อง นิยามมนุษย์กล้องของผมคือสักแต่จะถ่าย พอไปโพสต์แล้วเกิดผลเสีย สนองแค่ความต้องการของตนเองมากกว่าทำเพื่อสังคม เช่น เราไม่พอใจคนนี้ เราถ่ายรูป เราเขียน caption ว่า คนนี้มันไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเราโพสต์ไป ในโลกออนไลน์หลายคนขาดการตรวจสอบอยู่แล้ว แชร์ต่อๆ กัน โดยไม่รู้ว่าความจริงแล้วเรื่องมันเป็นอย่างไร

“ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การโพสต์รูปคนรองเท้าขาดเป็นรูในรถไฟฟ้าบีทีเอส แล้วบอกว่าคนคนนี้แอบซ่อนกล้องเอาไว้ถ่ายใต้กระโปรง ซึ่งพอแชร์ออกไปมากๆ เป็นเรื่องราวขึ้นมา ซ้ำร้ายมันไม่ใช่เรื่องจริง หรือถ้ามันเกิดขึ้นจริง เรายังมีวิธีการจัดการหลากหลาย จะบอกผู้หญิงคนนั้น หรือบอก รปภ. ก็ได้ ซึ่งจะช่วยหยุดการกระทำนั้นไม่ให้เกิดขึ้น แต่ มนุษย์กล้องทำแค่ถ่ายรูปไว้แล้วเอาไปโพสต์เพื่อให้ตัวเองกลายเป็นฮีโร่ เขาอาจจะรู้สึกดี แต่ขณะเดียวกันเรายอมเห็นคนโดนละเมิด เราหยุดเหตุการณ์แบบนี้ได้ แต่เราไม่ทำ แบบนี้ผมว่าเป็นตรรกะวิบัติเลยนะ
“สังคมทุกวันนี้ที่เราตัดสินอะไรเร็วเกินไป ผมว่าสื่อนี่ตัวสำคัญเลย สื่อเป็นตัวกระจายข่าวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะสื่อส่วนบุคคล หรือสื่อหลัก หรือแม้แต่คนดัง ทุกคนเป็นสื่อหมด เมื่อเป็นสื่อแล้วคุณต้องตรวจสอบให้ดีว่าจะแชร์อะไรกัน แม้แต่สื่อหลักในประเทศก็เป็นนะในเรื่องของการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมันอาจจะเป็นมาเนิ่นนานแล้วก็ได้ แต่ว่าโลกอินเทอร์เน็ตสมัยก่อนมันไม่กว้างพอที่จะแฉกัน
ขอฝากถึงนักท่องเน็ตหน่อยว่า อยากให้คิดเยอะๆ ก่อนที่จะทำอะไร ให้คิดด้วยว่าถ้าเป็นเราจะรู้สึกยังไง คิดก่อนที่เราจะแชร์ หรือประจานใครสักคน คิดซะว่าถ้าเป็นเราล่ะ และคิดหนักๆ ขึ้นไปอีกว่า แล้วถ้าเขาไม่ได้ทำล่ะ จะเกิดผลเสียอย่างไร ถ้าเราคิดได้แล้วเราจะมีสติมากขึ้น ผมว่าทุกคนมีความเป็นคนดีอยู่ในตัวเอง รู้สึกสงสารกับผู้ที่โดนคนอื่นรังแก เราอยากให้นึกภาพนี้ไว้ แล้วอย่าเป็นผู้รังแกคนอื่นเสียเอง”
หากใครกำลังมองหาแง่คิดดีๆ เป็นหลักในการรับฟังข้อมูลข่าวสารอีกด้านนั้น เราขอแนะนำ ‘กาลามสูตร 10 ประการ’ ที่อาจจะช่วยพัฒนาทัศนคติให้กว้างขึ้น และอาจช่วยประวิงเวลาก่อนปักใจเชื่อ เพราะคำพิพากษา… รอได้

เรื่อง : PAN
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว