Marsmag.net

จากตัวโน้ตสู่ตัวหนังสือ บอกเราเรื่องราวผ่านตัวตนของ Musketeers

เรื่อง : เอกลักษณ์ มุสิกะนันทน์
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว

เมื่อเส้นสายลายเสียงและตัวโน้ต ทำให้ผู้ชายสี่คนผู้มีความต่างทั้งคาแร็กเตอร์ รสนิยม รวมถึงที่มาที่ไป ได้มีโอกาสมาพบกัน ก่อเกิดความสัมพันธ์ผ่านบทเพลงในฐานะเพื่อนร่วมวง กระทั่งในที่สุดพวกเขาสามารถสร้างฝันเป็นจริงภายใต้ชื่อ มัสเก็ตเทียร์ (Musketeers) ด้วยบทเพลงเป็นที่นิยมอย่างของขวัญ, แค่คุณ, ความทรงจำ และอยากให้เธอลอง ซึ่งมียอดเข้าชมบน YouTube เกือบ 70 ล้านวิว

หลายปีที่เหล่าทหารเสือของวงการเพลงไทย บอกเล่าเรื่องราวแห่งรักผ่านเนื้อร้องความหมายโดนใจด้วยท่วงทำนองติดหู สร้างกระแสช้าๆ ขยายวงกว้างกระทั่งกลายเป็นที่รู้จัก และปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาคือซุปเปอร์สตาร์ที่มีลายเซ็นบนผลงานชัดเจน เติบโตจากอดีตที่เคยเล่นดนตรีตามแบบศิลปินที่แต่ละคนชื่นชม แต่เมื่อเสียงเพลงของวงมัสเก็ตเทียร์ดังก้องออกไป พวกเขาได้กลายเป็นแบบอย่างให้เด็กรุ่นใหม่ก้าวตามโดยไม่รู้ตัว

ด้วยความน่าสนใจในดนตรีของผู้ชาย 4 คน ประกอบไปด้วย เท็น-ชาครีย์ ลาภบุญเรือง (นักร้องนำ), ภู-ภาคภูมิ นิ่มละมัย (กีตาร์), บิ๊ก-รวิน มิตรจิตรานนท์ (กีตาร์), ด๋อย-สรรพ์วิชญ์ หวานสนิท (เบส) เกิดเป็นข้อสงสัยว่าทำไมศิลปินกลุ่มนี้ถึงได้รับการยอมรับอย่างสูง กว่าจะเดินทางถึงจุดที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันต้องผ่านประสบการณ์ และฟันฝ่าอุปสรรคใดมาบ้าง

ทางสำนักพิมพ์ mars space จึงรวบรวมเรื่องราวของพวกเขาเอาไว้ในพ็อกเกตบุ๊ก Musketeers: ผจญภัยไปกับเหล่าทหารเสือ กับหลากหลายเรื่องราวที่เล่าขานผ่านเสียงดนตรี ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้อ่านได้รู้จักพวกเขาในมุมลึกลงไปเท่านั้น ยังสามารถนำเรื่องราวการใช้ชีวิตมาปรับใช้ได้บนโลกแห่งความจริง เพราะแต่ละสิ่งที่ผ่านมาล้วนตกผลึกผ่านเหตุการณ์หลากหลาย ทั้งด้านบวก ลบ ทุกข์ สุข เศร้า สนุก รวมอยู่ในหนังสือสะท้อนตัวตนของชาวมัสเก็ตเทียร์

หลังมีโอกาสอ่านพ็อกเกตบุ๊กจบ ทางกองบรรณาธิการนิตยสาร mars เกิดคำถามว่าหนุ่มๆ จากวงมัสเก็ตเทียร์รู้สึกอย่างไร เมื่อเรื่องราวของพวกเขาถูกบอกเล่าผ่านตัวหนังสือ มีความยากง่าย และต้องทุ่มแรงใจเพียงใด เราจึงถือโอกาสไปเยี่ยมเยือนพวกเขาถึง What the Duck บ้านหลังเล็กๆ ย่านซอยพหลโยธิน 9 แหล่งพักพิงที่ให้กำเนิดศิลปินรุ่นใหม่มากมาย พร้อมล้อมวงสนทนาที่มาที่ไปกว่าจะเป็นหนังสือ ‘มัสเก็ตเทียร์’

จุดเริ่มต้นก่อนเป็นตัวอักษร
เท็น: เริ่มจากทาง mars space ไปดูเราเล่นคอนเสิร์ตที่งาน Overcoat Music Festival จ.เพชรบูรณ์ และด้วยความที่เขาไม่เคยรู้จักเรามาก่อน แค่เคยฟังเพลง สังเกตวงก่อนหน้าเรามีศิลปินอื่นเล่นกันคนก็ยังไม่สนใจ แต่พอถึงคิวมัสเก็ตเทียร์ ทุกคนกลับลุกขึ้นยืน ร้องตามตั้งแต่เพลงแรกจนเพลงสุดท้าย เขาเลยงงว่าวงเราทำไมถึงสามารถสร้างพลังได้ขนาดนั้น

หลังชวนทำหนังสือ ผมก็นึกภาพว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเคยอ่านผลงานหลายๆ วง ทั้งฟลัวร์, โมเดิร์นด็อก และพาราด็อกซ์ ซึ่งแต่ละวงเป็นรุ่นใหญ่ มีประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวอะไรที่ผ่านมาดูน่าสนใจมากกว่า เราเป็นแค่วงเล็กๆ เพราะถ้าเอาเรื่องชีวประวัติอย่างเดียวไม่น่าสนใจ สรุปคือให้เป็นการบอกเล่ามุมมอง สะท้อนความคิดในแต่ละช่วงเวลา ปัญหา ความสนุก กระทั่งเป็นที่รู้จัก ช่วงแรกผมมองว่าอาจจะเป็นหนังสือภาพ สอดแทรกเรื่องตลก ประสบการณ์ที่เจอ ผมคิดอย่างนั้น

ภู: คิดว่าทีมงานต้องการเรื่องแปลกๆ ไปจากเรา เรื่องที่ไม่เหมือนใคร อารมณ์ประมาณเอนเตอร์เทนคนอ่านบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแนวคิดเสียมากกว่า

เท็น: ถ้าจะบอกว่าเราเริ่มเล่นได้อย่างไร ผมว่านักดนตรีแทบทุกคนก็น่าจะคล้ายๆ กัน แต่เราพบมุมมองที่อยากจะเสนอ คือเป็นวงที่ค่อนข้างใช้ความคิดเยอะในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนดนตรี หรือเนื้อหา เรามักอินกับอะไรที่มันเป็นแง่คิด เราจึงรู้สึกว่ามีสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน เช่น มองโลกอย่างไร? รับมือปัญหาอย่างไร? อีกอย่างคือไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นซุปเปอร์สตาร์ ตัวเพลงต่างหากทำงานได้ดีกว่าตัวพวกเรา จึงรู้สึกว่าอาจจะทำให้คนที่ฟังเพลงอยากรู้ที่มาที่ไปของเพลง มากกว่ารู้เรื่องพวกเราเสียอีก

บิ๊ก: ผมรู้สึกว่าการที่เราเลือกพูดถึงเรื่องเนกาทีฟทำให้เห็นอีกมุมหนึ่ง คือคนเรามันมีข้อเสียของตัวเองที่ไม่อยากพูดถึง แต่การกล้าเปิดเผยเหมือนทำให้คนอ่านรู้สึกกำลังพูดคุยกับเพื่อนสนิท กล้าแชร์กันได้ทุกเรื่อง มันจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนอ่านเข้าใจมัสเก็ตเทียร์ รู้จักตัวตนของเรามากขึ้น

ความท้าทายจากเส้นเสียงสู่ตัวหนังสือ
ภู: นี่เป็นครั้งแรก ไม่รู้ต้องทำอะไรบ้าง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนเรียบเรียงในการตั้งคำถาม ดึงข้อมูลไปจากเรา ซึ่งใช้เวลาทำประมาณเดือนเศษ มีการสัมภาษณ์กันหลายครั้งมาก ครั้งแรกเป็นเรื่องประวัติทั่วไป ต่อมาก็แนวคิด ด้วยความเข้าใจของผมเวลาเราเห็นอัตชีวประวัติของใคร เราก็รู้สึกว่ามันเป็นหนังสือที่เล่าชีวิตของเขามากกว่า แต่จริงๆ แล้วหลายๆ เล่มรวมถึงหนังสือของเรา มันไม่ได้แค่เล่าชีวิต แต่มันเล่าแนวคิดที่สามารถไปต่อยอดหรือคิดต่อได้

เท็น: เคยคิดนะครับ ถ้าวงดนตรีทำหนังสือมาแล้วไม่มีดนตรีอยู่ในนั้น อะไรจะทำให้เขาอยากซื้อหนังสือ เราจึงเลือกเล่าเรื่องราวเหมือนพากลับไปอยู่ในวัยนักเรียน ตั้งแต่อนุบาล เป็นประถม มัธยม มหาวิทยาลัย กระทั่งก้าวออกไปทำงาน มันมีการเล่าเป็นขั้นเป็นตอน คนอ่านอาจสัมผัสได้ว่าเขากำลังตามหาอะไรอยู่หรือเปล่า แต่ละช่วงวัยของชีวิตมันมีความยากง่ายต่างกัน

ด๋อย: เชื่อว่าเด็กส่วนใหญ่สนใจเรื่องดนตรี มีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นศิลปิน ซึ่งมันก็ย้อนกลับมาที่ตัวพวกผม ถ่ายทอดให้รู้ว่าเติบโตมาได้อย่างไร สุดท้ายอะไรคือสิ่งนำพาไปสู่ความคิดนั้นๆ

คำจำกัดความหนังสือ Musketeers
เท็น: คือการสะท้อนแนวคิด มุมมองที่มีต่อโลกใบนี้ ผมรู้สึกว่าโลกมันมีอะไรมากมาย แล้วการสร้างแง่คิด สร้างมุมมองกับโลกมันทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข อย่าไปมองว่าทุกอย่างเลวร้าย มองให้มันเป็นเรื่องน่าค้นหา น่าผจญภัยดีกว่า

ภู: หนังสือเล่มนี้มันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวงกับคนอ่าน บางคนอาจเห็นแค่ข่าวของเรา แต่ถ้าเขาได้อ่านหนังสือเขาจะเข้าใจเรามากขึ้น จากคนรู้จักกันอาจมาเป็นเพื่อนกัน หรือแค่เพื่อนกันกลายเป็นคนสนิทเลยก็ได้ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนสื่อในการสร้างความสัมพันธ์

ด๋อย: ผมว่ามันเป็นภาคเสริมของการฟังเพลงนะครับ เป็นสื่อที่ดี เพราะผมเองก็อัดอั้นมานาน อยากให้เขารู้จักเรามากขึ้น อยากให้รู้ตัวตน ถ่ายทอดสิ่งที่เราคิด

บิ๊ก: มองเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างเพลงนะครับ ถ้าเพลงมันดีเข้าถึงอารมณ์ คนฟังก็ได้อรรถรส เช่นกันถ้าเราเล่าเรื่องได้ดีในหนังสือ มันก็คือศิลปะในแบบของเรา

เมื่อหนังสือเปิดตัวสู่สาธารณะ
เท็น: อารมณ์ต่างจากตอนเพลงอยู่ในชาร์ตเลยครับ ตอนนั้นว่าดีใจแล้ว แต่หนังสือขายดีนี่สุดยอดเลย เพราะคนอ่านหนังสือวันนี้น้อย อย่างตัวผมเองชอบอ่านหนังสือ แล้วถ้าหนังสือของเราเองประสบความสำเร็จผมว่ามันกำไรยิ่งกว่าเพลงอยู่ในชาร์ตอีก

ส่วนผลตอบรับส่วนใหญ่เป็นแง่ที่ดีครับ ผมเคยเจอคนที่ตามไปดูคอนเสิร์ตมัสเก็ตเทียร์เพราะหนังสือ บางคนเป็นผู้ใหญ่มีหน้าที่การงานดี ก็สนใจชีวิตพวกเรา ดีใจนะที่เห็นมันให้อะไรกับคนอื่น และพวกเขาก็รักเรามากขึ้น

ภู: ในหนังสือมีการพูดถึงคนที่เรารู้จักหลายท่าน เขาจะชอบในแง่มุมที่เราเขียนถึงเขา อย่างพี่คนขับรถตู้ ทีมงาน เขาก็จะมาขอบคุณ และดีใจที่เรานึกถึง ในส่วนของแฟนเพลง บางคนอ่านจบตั้งแต่วันแรกที่ซื้อ โดยส่วนใหญ่จะชอบแง่คิดที่ได้จากหนังสือ

บิ๊ก: ผมไม่ได้ให้เป็นคะแนนความดีหรือไม่ดีของหนังสือนะครับ แต่ถ้าให้ก็ประมาณ 50 คือมาถึงครึ่งทาง อนาคตยังมีอีกหลายเรื่องที่สามารถกลับมาเล่าได้อีก เมื่อเราเติบโตขึ้นความคิดเราเหมือนเดิมไหม มีค่ายเพลงแล้วความคิดเปลี่ยนไปอีกหรือเปล่า เราโตขึ้นอีก ต่อไปอีก 10-20 ปี ผมว่าความคิดก็เปลี่ยน เราจะสามารถกลับมาเล่าได้อีก

ฝากถึงผู้อ่าน หรือกำลังตัดสินใจ
ภู: หนังสือเล่มนี้จะทำให้เรารู้จักกันมากขึ้น เรื่องบางเรื่องจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำกันอย่างนี้

เท็น: หนังสือเล่มนี้มันให้อะไรหลายๆ อย่าง คือไม่ว่าจะเป็นเพลง หรือคนทำงาน ผมรู้สึกว่าทุกเรื่องราวที่มันหนักหนาจนอาจรู้สึกว่าทำไมมันถึงแย่ขนาดนี้ ท้อแท้กับเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานไม่ชอบ มันจะมีวิธีการผ่านปัญหาไปได้อยู่ มองให้เป็นเรื่องของสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ตรงนี้คือบทพิสูจน์คนที่เก่งจริงๆ

หากใครมีโอกาสอ่านหนังสือ Musketeers คงได้รู้จักตัวตนของพวกเขาเพิ่มขึ้น ที่เหลือขึ้นอยู่กับท่านว่าจะเพลิดเพลินไปกับตัวอักษรสะท้อนเรื่องราวชีวิต หรือสามารถจับเอาแนวคิดใดมาประยุกต์ใช้ต่อไป ซึ่ง mars เชื่อว่าหลังได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว คุณจะรักในสิ่งที่พวกเขาเป็น และรักพวกเขามากขึ้น…