Marsmag.net

‘ดนตรีคือทุกห้วงแห่งความสุข' : เอ๊ะ-จิรากร สมพิทักษ์

“เพราะชีวิตไม่ได้สำเร็จรูปเหมือนบะหมี่” ประโยคสุดคลาสสิกจากโฆษณาที่สะท้อนถึงชีวิตคนเราว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายดาย หรือสมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด กว่าจะประสบความสำเร็จหรือทำอะไรได้ดังที่ใจหมาย ล้วนต้องผ่านบททดสอบและอุปสรรคมากมาย เหมือนเช่นชีวิตผู้ชายที่ชื่อ ‘เอ๊ะ-จิรากร สมพิทักษ์ ’

เอ่ยแค่ชื่อหลายท่านอาจทำหน้าสงสัย แต่หากได้ฟังเพลงแล้วจะร้องอ๋อทันที เพราะหลากลายผลงานที่เอ๊ะฝากเสียงไว้ล้วนได้รับความนิยมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ไม่มีตรงกลาง จากนี้ไปจนนิรันดร์ ใจกลางความรู้สึกดีดี และเพลงประกอบละครอีกหลายมากมาย

ในวัยที่อายุอานามเลยไปถึงหลัก 35 ปี เพิ่งจะได้มีผลงานเพลงเป็นชิ้นเป็นอันสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก แต่นั่นเสมือนของขวัญให้กับชีวิตที่ต่อสู้มาตลอดเพื่อฝันบนเส้นทางสายศิลปิน 35 ฝน 35 หนาว ของเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ได้งอมือเท้ารอคอยวาสนา การต่อสู้ฟันฝ่าที่อาจจะมาพร้อมโชคชะตาเล็กๆ พลิกชีวิตให้เขาก้าวขึ้นมาสู่จุดนี้ได้อย่างภาคภูมิ

– จุดเริ่มต้นบนถนนดนตรีของเอ๊ะ จิรากร
เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม นั่งดูคุณพ่อเล่นดนตรีอะคูสติกเพลงเก่าๆ อย่างวงชาตรี The Impossibles และเพลงสากลในยุคนั้น ก็เริ่มหัดเล่นกีตาร์ คือชอบการเล่นกีตาร์มานานแล้วก็เล่นมาเรื่อยๆ แต่ไม่ได้มีวงจริงจังอะไร มีแค่วงอะคูสติก ตอนช่วง ม.6 เพราะว่าเราไม่มีเงินพอที่จะไปซื้อกีตาร์ไฟฟ้า
จากนั้นก็มาเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ตอนนั้นพูดเลยว่าบ้าดนตรีมากๆ เพราะว่าที่ชมรมมีกีตาร์ไฟฟ้าให้เล่นฟรี ก็ไปขลุกอยู่ในนั้นเรียกว่าไม่เอาเรียนเลยก็ว่าได้ครับ เขาเรียนกัน 4 ปี ผมจัดไป 5 ปี มีงานอะไรก็แล้วแต่ผมจะอาสาเหนื่อยก่อนเลย ขนของ ขนลำโพงเครื่องเสียงต่างๆ แล้วก็ให้อาจารย์สอนเรื่องการปรับแต่งเสียงต่างๆ การตั้งเครื่อง อะไรตรงไหนใช้อย่างไร ตอนนั้นแบบว่าโอ้ยมีความสุขมากๆ

– ดูก็ไม่มีอะไรพิเศษมาก แล้วเริ่มจริงจังตั้งแต่เมื่อไร
พอเข้ามาสู่สังคมกว้างก็เหมือนเปิดโลกทัศน์ให้เราด้วย ผมได้รู้จักเพลงมากมายหลายแนวมากขึ้น เพลงส่วนใหญ่ที่ฟังจะเน้นเพลงร็อกเป็นหลักทั้งไทยและสากล พวกใต้ดินต่างๆ จุดเปลี่ยนจริงๆ ก็คือ ได้เทปเพลงสากลมาม้วนหนึ่ง ซึ่งเป็นเทปวงรุ่นปัจจุบันม้วนแรก ชื่อวง Manic Street Preachers คือก่อนนั้นจะฟังแต่วงเก่าๆ ก็มีวงนี้แหละเป็นวงยุคใหม่ๆ วงแรก ก็ชอบมากเลย และยุคนั้นมี ดีเจพี่ซี้ด-นรเศรษฐ หมัดคง กับ ป้าแต๋ว-วาสนา วีระชาติพลี เราก็เปิดวิทยุฟังก็ไปสะดุดว่าใครเปิดเพลง Manic Street Preachers ก็เริ่มฟังรายการของพี่ๆ ทั้งสองแล้วได้รู้จักกับวงอื่นๆ มากขึ้นก็ไหลไปเรื่อย Smashing Pumpkins, Nirvana, Sound Garden, Green Day, Weezer, Suede, Oasis ไปจนถึงเพลงหนักๆ อย่าง Sepultura, Pantera เราก็ได้เริ่มหัดเล่นเพลงที่หลากหลายมากขึ้น
จนเรียนจบ มาทำงานช่วยร้านถ่ายรูปที่บ้านอยู่ประมาณหนึ่งปี เพื่อนๆ ก็โทรมาชวนว่าทำวงเล่นในผับกันไหมและทำเพลงใต้ดินด้วย ผมไม่ปฏิเสธเลย ใจมันพร้อมอยู่แล้ว ก็เลยทำเดโมขึ้นมา ตอนนั้นได้ พี่ต้น Dezember (สยาม ชุมทอง) กับ พี่โอเล่ Medusa มาช่วย ก็ทำออกมาได้เพลงสองเพลง แต่สุดท้ายก็รื้อ เลิกกันไป ไม่ได้มีผลงานออกมาสู่สาธารณชน

– ก้าวแรกก็สะดุดแล้ว เครียดไหม?
ไม่ครับ ผมมองว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีมากกว่า มันทำให้ผมรู้อะไรมากขึ้น จากจุดนั้นผมก็ได้มาทำงานกับค่ายเพลงใต้ดินซึ่งมีวง Dezember กับ Heretic angle เป็นวงหลัก ผมก็ไปช่วยเขาขายเทปตามงานคอนเสิร์ตต่างๆ ติดสอยห้อยตามเขาไป เหมือนเด็กคนหนึ่งที่มีความฝัน ขอแค่ได้อยู่กับวงการเพลงก็พอ

– จากวงการใต้ดินคิดไหมว่าจะก้าวเข้าสู่ค่ายใหญ่
คิดครับ ผมคิดเสมอ แต่ตอนนั้นมันยังไม่มีหนทาง แต่ผมก็ไปหลายค่ายมาก จนได้มีโอกาสมาอยู่กับค่าย Monster Music ของ พี่เจี๊ยบ-พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร ในเครืออาเอสฯ อยู่ที่นี่ 3 ปี แต่ไม่มีผลงานอะไร จากนั้นค่ายก็เลิกไป ระหว่างนั้นก็เล่นในผับแถวๆ อตก. ซึ่งคนดังๆ ในปัจจุบันเล่นอยู่เพียบ บังเอิญวงผมแตกก็มารวมตัวกับอีกวงหนึ่งซึ่งมารู้ทีหลังว่าคือ ‘ปิ๊ด ละอ่อน’ (Bodyslam ในปัจจุบัน) แถวๆ นั้นก็มี ‘ชัช-ยอด’ (Bodyslam ในปัจจุบัน) เล่นอยู่ด้วยก็ได้รู้จักกันหมด จนวันหนึ่งปิ๊ดขอแยกไปทำ Bodyslam อัลบั้มแรก ผมก็ต้องหาทางออกให้ตัวเองใหม่ เลยได้มือเบสมาคือ ‘ตี๋ Monkey Act’ สังกัด Up G เครือแกรมมี่ ด้วยความที่เขาอยู่ค่ายใหญ่อยู่แล้วก็เลยชวนผมเข้าแกรมมี่ ก็เลยได้เข้ามาเป็นนักดนตรีฝึกหัดที่ Up G เซ็นสัญญา 5 ปี

– เป็นอย่างไรบ้างชีวิตค่ายใหญ่ สวยงามสมใจไหม
ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันครับ (หัวเราะ) จนได้รู้จักกับ ‘หั่ง-ทีฆทัศน์ ทวีอารยกุล’ ทีมโปรดิวซ์ฯ ของวงโปเตโต้ (มือกีตาร์โปเตโต้คนปัจจุบัน) ก็เลยดึงผมไปช่วยทำเพลงวงโปเตโต้ด้วยในชุดรีเฟรช ก็มีเพลงหลักๆ อย่าง ‘รักเธอไปทุกวัน’ และก็เพลงเก่ามาทำใหม่ ผมก็ได้ร้องไกด์เพลงเกือบทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นก็ได้มารู้จักคุณ ฟองเบียร์-ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม (นักแต่งเพลงชื่อดังของแกรมมี่) เขาก็ให้เราลองร้องไกด์เพลงต่างๆ มากมาย จนได้หน้าที่หลักเป็นร้องไกด์เพลงนี่แหละครับ รวมไปถึงเบื้องหลังของอีกหลายๆ คน คือใครมีอะไรให้ทำก็ทำหมดครับ

– ไม่ได้ทำเพลงของตัวเองสักที แล้วเริ่มต้นผลงานตัวเองได้อย่างไร
แรกๆ ก็ไม่มีวี่แววเลยครับ (หัวเราะ) จนมาถึงปีสุดท้ายของสัญญา ตอนนั้นฟองเบียร์เปิดค่ายเองชื่อว่า We Record ก็คิดว่าจะแยกกันแล้ว เลยมาคุยกันว่าเดี๋ยวฟองเบียร์จะแต่งเพลงให้เพลงหนึ่งก่อนจะแยกย้ายกัน เผื่อให้ผมเอาไปทำเป็นเพลงตัวเองกับค่ายอื่น เพลงที่ออกมาก็เป็นแนวอบอุ่นหวานละมุน ขัดกับตัวผมไปสักหน่อย (หัวเราะ) ชื่อเพลงว่า ‘ไม่มีตรงกลาง’
วันหนึ่งฟองเบียร์ไปเสนอเพลงโปเตโต้กับ ‘อากู๋’ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ซึ่งในแผ่นนั้นมีเพลงผมอยู่ด้วย และคนเปิดเพลงดันเปิดผิด เปิดเป็นเพลง ‘ไม่มีตรงกลาง’ ขึ้นมา พอฟังไปได้ครึ่งเพลง อากู๋ก็ทักว่าเสียงใคร? แล้วก็ทำให้ผมมาถึงวันนี้นี่แหละครับ เรียกได้ว่า บังเอิญมากๆ (หัวเราะ)

– ความรู้สึกแรกที่อากู๋ฟันธงมาว่าเอาเพลงนี้
อึ้งไปแป๊บหนึ่ง ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเพลงต้องผ่านอากู๋ ต้องผ่านพี่ตี่ (กริช ทอมมัส) ตอนแรกที่ฟองเบียร์มาบอกว่า ค่ายอนุญาตให้ทำเพลง ผมก็งงๆ คือเพลงนี้เป็นหนึ่งในอัลบั้ม Project Love Pill เขาคุยโปรเจ็คท์คร่าวๆ มามีพี่ใหญ่ โมโนโทน เต้-สันต์ ภิรมย์ภักดี และมีอีกหลายๆ ท่านจากหลากหลายอาชีพ เบียร์ก็มาถามว่าทำไหม ผมก็เออเอาก็เอา ฟองเบียร์ว่าไงว่าตามกัน มันๆ ไป ไม่ได้คิดไรมาก ก็เริ่มทำกัน

– กระแสเป็นอย่างไรกับ ‘ไม่มีตรงกลาง’
เพลงนี้เปิดครั้งแรก ตุลาคม ปี 2553 มาเริ่มมีความหมายตอนช่วงวันวาเลนไทน์ ปี 2554 คือจังหวะเหมาะมากๆ เพราะปลายปีไม่มีใครปล่อยเพลงกัน จะมีแต่เบอร์ใหญ่ๆ เป็นเพลงสนุกๆ เพื่อจะได้มีงานจ้าง เรากลับปล่อยเพลงฟังเนียนๆ แต่ดันประสบความสำเร็จ
และที่ยิ่งไปกว่านั้นด้วยเดชะบุญอัลบั้มนี้ต้องมี 10 คนร้อง แล้วคนที่ 10 ดันหาไม่ได้ แล้วซิงเกิ้ลที่ 2 ของอัลบั้ม Project Love Pill ดันปล่อยห่างกันนาน ฟองเบียร์ก็บอกว่ากลัวคนจำผมไม่ได้เลยบอกให้ผมร้องเพิ่มอีกเพลงคือเพลง ‘จากนี้ไปจนนิรันดร์’ ซึ่งเดิมทีที่เขาวางไว้เพลงนี้คือเพลงของ โดม-ปกรณ์ ลัม แต่ไปๆ มากลับไม่ได้โดมมาร้องก็มาตกที่ผม และเพลงนี้ก็ประสบความสำเร็จมากๆ การเป็นหนึ่งในเพลงรักคู่งานแต่งไปเลย และคลื่นวิทยุเปิดเยอะมาก ผมเลยสบายเลย (หัวเราะ)

– เท่ากับว่าสองเพลงที่ประสบความสำเร็จนี่มีเรื่องบังเอิญด้วย
ใช่ครับ พูดเลยว่า ฟลุคมากๆ แล้วยังมีอีกครับ ตอนนั้นมีโปรเจ็คท์เพลงโฆษณาจะไปเสนอเขาชื่อเพลงว่า ‘ใจกลางความรู้สึกดีดี’ ผมฟังครั้งแรกก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะได้รับความนิยม มันเป็นอารมณ์เดียวกับตอนเพลงไม่มีตรงกลาง ผมก็ตงิด ๆ กับเนื้อเพลงนะ “ใครจะพยายามแทรกกลาง…?” ผมรู้สึกว่าคำว่า ‘แทรก’ ไม่ควรจะมาอยู่ตรงฮุค อย่างเพลง ‘ใจกลางความรู้สึกดีดี’ ก็มีท่อน “ฟังดูก็จะรู้เอง…” มันฟังแปลกๆ กะจุ๊กๆ อะไรก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ผมถึงกับถามฟองเบียร์เลยนะว่า “คุณแต่งอะไรให้ผมเนี่ย!!!” (หัวเราะ) แต่เราก็ร้องไปไม่ได้คิดอะไร ร้องไปก็ยิ้มไป ให้โลกสวยไว้เพื่อเข้ากับอารมณ์เพลง พอเพลงประสบความสำเร็จผมนี่ยังงงๆ อยู่เลย

– และแล้วก็ถึงวันที่ได้มีอัลบั้มเป็นของตัวเอง
ได้งบมาทำอัลบั้มก็เลยใช่ชื่อชุดว่า ‘ใจกลางความรู้สึกดีดี’ นอกจ่กสามเพลงแรกแล้วก็มีเพลง ‘ไม่ใช่ความลับ…แต่ยังบอกไม่ได้’ ได้เป็น เพลงประกอบละครแววมยุรา ‘บอย ปกรณ์’ เป็นพระเอก ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโชคดีที่เพลงของเราได้ไปประกอบละครที่เป็นพระเอกระดับแถวหน้า จนมาถึง ‘ตั้งใจ’ เพลงซึ้งๆ ช้าๆ ผู้ชายมองโลกในแง่ดี ตอนนี้ก็ประมาณ 27 ล้านวิวไปแล้วใน YouTube แล้วก็มาอบอุ่นจ๋าเลยกับเพลง ‘ส่งเพลงนี้คืนมาให้ฉันที’ เท่ากับว่าเพลงในอัลบั้มเรามีหลายๆ เพลงที่ได้รับความนิยมมีแฟนๆ รู้จักและร้องตามได้

– เคยคิดไหมว่าจะมาอยู่ในจุดนี้ได้
ไม่คิดครับ คิดอย่างเดียวว่า เราจะต้องมีวงร็อก จนมาถึงตอนที่มีเพลงไม่มีตรงกลาง ก็บอกเพื่อนในวงว่า หั่งให้ไปร้องเพลงนี้นะ เพื่อนๆ บอกว่าไปได้เลยไม่ไปด้วยหรอก เพราะเพลงมันหวานแหววใสมากๆ ขณะที่วงเรานี่ร็อกสุดๆ แล้วมันก็เหมือนการเสี่ยงดวง เพราะจะได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ ถามว่าเหนื่อยไหมก็เหนื่อยนะ ตั้งแต่ปี 2545-2553 ประสบความสำเร็จมีผลงานเป็นที่รู้จักก็ตอนอายุ 35 ปี แหนะ (หัวเราะ)

– คิดว่าอะไรที่ทำให้เรามาถึงตรงนี้ได้
เราไม่หยุด และคิดเสมอว่าไม่ว่าจะอะไรก็ไม่หยุดเด็ดขาด เราไม่เคยเอาอายุมาเป็นเงื่อนไข ร่างกายมันอาจจะแก่แต่ใจมันยังสู้เสมอ แรกๆ ผมก็คิดนะว่า ผมก็ต้องกินข้าว รถก็ต้องเติมน้ำมัน แต่บางที เราก็ต้องเติมใจตัวเองเหมือนกัน งานบางงาน สมัยก่อนผมก็คิดนะว่ารับงานได้เงินอย่าเงดียว จนได้มาเจอกับพี่ๆ วง Pause ผมได้คุยกับพี่นอ (นรเทพ มาแสง มือเบส Pause) ผมก็บอกแกเลยว่า ผมอยากร้องเพลง Pause ผมไม่เอาเงินก็ได้ คือตรงจุดนั้นทำให้ผมกลับมานึกได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เราอยากทำกันแน่ บางทีได้เงินหรือไม่นั้นมันก็ไม่ใช่เหตุผลหลัก แม้เราจะเลือกงานได้เงินมาก่อน แต่งานไม่ได้เงินก็ทำไว้เพื่อเติมกำลังใจให้กับตัวเอง
อย่างเมื่อปีก่อนผมไปเป็นพิธีกรงานโคตรอินดี้ ผมขอผู้จัดเขาเองเลย ผมไปคนเขาก็งงว่ามาได้ไง เพราะงานดูไม่ใช่แนวเดียวกับเพลงผม หรืออย่างเวลาไปแจมคอนเสิร์ตอินดี้หนักๆ ผมก็แหกปากร้องเต็มที่ คนก็งง แต่ผมก็ไม่สน ผมก็เอามันไว้ก่อน เพราะนี่คือความสุข ผมรักเสียงเพลง ผมชอบเพลงแบบนี้ แม้ผลงานผมจะไม่ใช่แนวที่ผมรัก แต่อย่างน้อยผมก็ยังรักที่จะทำมันอยู่ ผมยังร้องเพลงอยู่ แค่เป็นคนละแขนงเท่านั้นเอง มันคือดนตรี และที่สำคัญมันหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ ทำอนาคตเราให้ดีได้ และสิ่งที่เราทำก็คือหางานที่เติมความฝันเราในวัยเด็ก เติมพลังให้เรา

– เท่ากับว่านอกจากผลงานส่วนตัวก็มีที่ร่วมงานกับ Pause ด้วย
ใช่ครับ เป็นช่วงที่ปิดอัลบั้มผมพอดีด้วย ผมกับพี่ๆ ก็เลยจัดทัวร์ร่วมงานกับ Pause เลยในนาม ‘เอ๊ะ + Pause’ เป็นเอ๊ะที่ร้องเพลงวง Pause แรกๆ ผมก็คุยกับพี่ๆ ว่า ผมควรร้องอย่างไรดี พี่เขาก็บอกว่าไม่เป็นไรก็ร้องเพลงเอ๊ะและเพลง Pause ด้วย แต่มาตอนหลังๆ ผมก็มีความรู้สึกว่า เพลงผมก็ร้องมาเยอะแล้ว คนยังเปิดในวิทยุอยู่เลย แต่ผมไม่ได้ยินเพลง Pause มานานแล้ว ผมร้องเพลงพี่ทั้งโชว์เลยได้ไหม ไม่น่าเชื่อว่าเรามีโชว์ดีๆ เกิดขึ้น ถึงขนาดศิลปินดาราชื่อดังหลายท่านตามไปดู กระแสดีมากๆ ผมนี่ยังอึ้งเลยว่านี่เรามาไกลถึงขนาดนี้เลยหรือ เราแค่อยากร้องเพลง Pause เท่านั้น เราแค่อยากทำให้คนกลับมาฟังเพลงของ Pause เท่านั้น แต่วันนี้เราได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากๆ กลายเป็นว่า ผมคือ Pause Junior เลยก็ว่าได้
ระหว่างนั้นก็มีโปรเจ็คท์เข้ามาเป็นเพลงประกอบละคร เรื่อง ‘อันโกะ กลรักสตรอเบอร์รี่’ ชื่อเพลง ‘สิ่งที่มันกำลังเกิด’ ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมมากๆ ส่งให้เพลงผมได้อานิสงส์ไปด้วย ผมก็รู้สึกว่า ผมได้ทำแล้วนะ ผมได้ทำผลงานเพลงร่วมกับพี่ๆ ที่เป็นขวัญใจของเราแล้ว ซึ่งผมก็จะต่อยอดด้วยการทำอีกหนึ่งบทเพลงซึ่งผมว่าเป็นเพลงที่พิเศษมากๆ คือ เพลงที่พี่โจ้ (อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์) ทำไว้แต่ยังไม่เสร็จ ผมตั้งปณิธานไว้เลยว่าจะทำเพลงนั้นให้เสร็จให้ทุกๆ คนได้ฟัง

– มีเพลงละครต่อเนื่องเลยสิ
ประมาณหนึ่งครับ เพราะจากนั้นพี่แอน (แอน ทองประสม) ก็คุยกับฟองเบียร์ว่า อยากได้เพลงแบบสิ่งที่มันกำลังเกิดอีกสักเพลงหนึ่ง มาประกอบละครเรื่อง ‘แอบรักออนไลน์’ ก็มาเป็นเพลง ‘ระหว่างเราสองคน’ ซึ่งเป็นเพลงที่เปิดตอนหลัง คือมันใช้เวลาอีก 3-4 เดือน ละครจบไปแล้วเพลงถึงจะมาเริ่มเปิดกันเยอะๆ ซึ่งแปลกที่เพลงของผมจะเป็นแบบนี้ตลอด แฟนเพลงต้องใช้เวลาซึมซับ (หัวเราะ)

– ภาพที่คนมอง เอ๊ะ จิรากร ผ่านบทเพลงอาจเป็นผู้ชายอบอุ่น แต่ตัวจริงของเราเป็นคนอย่างไร
ไม่ค่อยโรแมนติกนะ ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็แค่ 20% ส่วนใหญ่ผมจะชอบอยู่กับเพื่อนๆ เฮฮาปาร์ตี้กันไปเรื่อย ผมคิดว่ามันเป็นการผ่อนคลายเป็นการปล่อยอารมณ์อีกอย่างหนึ่ง ที่มันอาจทำร้ายร่างกายตัวเอง แต่ก็มีความสุข ผมเคยลองทำนะเล่นดนตรีเลิกดึกๆ ก็ตื่นเช้าๆมาออกกำลังกาย กินอาหารคลีน ผมว่ามันไม่ใช่ตัวผม คนอื่นอาจจะทำได้ แต่สำหรับผม ผมว่ามันไม่ใช่ ร่างกายเรามีไว้เอนเตอร์เทรนมากกว่า

– บนเวทีกับหลังเวทีแตกต่างกันไหม
ผมจะไม่ค่อยคิดอะไรเยอะ บางๆ ทีข้างในคิดเยอะนะ เราก็เหมือนพยายามหลอกตัวเองตลอดเวลา เพราะว่าเราต้องขึ้นเวทีตลอด เคยมีรุ่นพี่ท่านหนึ่งสอนว่า ก่อนขึ้นเวทีคนที่มารอดูเราเขาไม่รู้หรอกว่าเรารู้สึกอย่างไร บ้านไฟไหม้ หรือญาติเสีย เขาไม่มารับรู้ด้วยหรอก แต่ถ้าเราขึ้นไปโชว์แล้วเอาเรื่องส่วนตัวมาทำให้งานออกมาไม่ดี มันก็ไม่ใช่ เราต้องมีความสุข เขามาหาความสุข เราต้องทำตามหน้าที่ของเราให้เต็มที่ ผมก็เลยคิดได้ว่า มืออาชีพต้องไม่มีข้อแม้ เราต้องทำให้เขามีความสุข ผมก็เลยเริ่มจัดการกับอารมณ์ผมได้ โดยที่ไม่ต้องถึงกับเก็บกดหรือเครียดอะไร หลังๆ ก็เริ่มให้อะไรกับตัวเองมากขึ้น ด้วยอายุอานามที่มากขึ้น การจัดการกับสมองกับชีวิตตัวเองเริ่มดีขึ้นครับ

– การเป็นศิลปินค่ายใหญ่กับค่ายเล็กแตกต่างกันอย่างไร
แตกต่างมากครับ การให้เกียรติมันคนละอย่างกันจริงๆ สังคมไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ต่างประเทศเขาเปิดกว้าง ยอมรับและให้โอกาสศิลปินที่แต่งเพลงเองทำเพลงเองมากกว่า อยู่เมืองไทยเล่นเพลงตัวเองที่แต่งเอง แรกๆ คนก็นั่งเซ็งแล้ว เขาไม่พยายามที่จะเปิดรับ บ้านเราต้องการเรียนรู้การให้เกียรติกับดนตรี การให้คุณค่ากับทรัพย์สมบัติที่มันสมองกลั่นกรองออกมาให้ทุกคนได้ฟังเพลงที่เขาตั้งใจแต่งขึ้นมา
ผมไม่ได้บอกว่าเพลงไทยไม่ดีนะ หลายๆ เพลงผมเล่นมาตั้งแต่มัธยม 20 ปี ยุคนี้ก็ยังเล่นกันอยู่ นี่คือความคลาสสิก คือความมีคุณค่าของเพลง แต่ปัจจุบันมันหายาก จุดเริ่มต้นของทุกคนก็มาจากเล็กๆ หมดนะ เพียงแต่ว่าตอนนั้นมันเป็นเรื่องใหม่ มันเป็นวิวัฒนาการของเพลง ถามว่าย้อนไป 20 ปีก่อน Moderndog ถือเป็นของใหม่ ของแปลกจากค่ายเล็กๆ อย่าง Bakery Music จนโตไปเรื่อยๆ กลายเป็นค่ายใหญ่
การให้เกียรตินี่สำคัญ ยิ่งการที่เราเป็นคนที่คนไม่รู้จัก คุณคือปลายแถวเลยของคนที่จะได้รับการให้เกียรติ แต่ถ้าสักวันหนึ่งคุณมาอยู่ข้างหน้าคนก็จะได้รับการดูแลเอาใจใส่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งอย่างตัวผมเอง ผมก็ไม่รู้ว่ามันหน้าแค่ไหน แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าผมยังอยากเดินตามหลังอยู่ดี มันจะทำให้ผมรู้สึกดีกว่า เพราะผมไม่ใช่รุ่นใหญ่ขนาดนั้น ผมก็ยังบอกกับพี่ๆ เลยว่าผมก็เป็นไอเอ๊ะคนเดิม ไม่ใช่คุณเอ๊ะ ไม่ใช่คนอื่น ผมก็ยังเหมือนเดิม มันก็แค่ความมีชื่อเสียง แค่สิ่งที่สังคมยอมรับ ถ้าสักวันหนึ่งผมไม่มีชื่อเสียง ผมก็เดินข้างถนนเป็นคนปกติ คนเรามีขึ้นมีลง แต่ทำอย่างไรให้มันอยู่ได้ยาว และอยู่อย่างมีคุณค่า อยู่อย่างคนศรัทธา นั่นแหละครับสำคัญมากกว่า

– มีทางแก้ไหมกับเรื่องแบบนี้
มันแก้อะไรไม่ได้หรอกครับ สังคมมันเป็นแบบนี้ เมืองไทยเรามีคนเก่งๆ อีกเยอะ ยอดฝีมือเพียบ แต่คนทั่วไปอาจไม่รู้จัก อย่างคนทำเพลงรักเก่งๆ ของทั้งแกรมมี่และอาเอสฯ หรือค่ายอื่นๆ หลายๆ ท่านเป็นชาวร็อกเสียด้วยซ้ำไป แต่เขาก็พยายามทำสิ่งที่ทำให้คนอื่นจับต้องได้อย่างเพลงรัก ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะอยู่หลังบ้านมากกว่า ไปไหนมาไหนก็ไม่ได้รับเกียรติเหมือนซูเปอร์สตาร์ทั้งหลาย ทั้งๆ ที่แต่ละท่านล้วนยอดฝีมือทั้งนั้น

– เพลงยุคเก่า กับเพลงปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร
ภาษานี่เป็นหลักเลย ยุคก่อนๆ คุณลองดูเนื้อเพลงที่เขาสร้างขึ้นมาสิ สุดยอดทั้งนั้น คุณได้ฟังเนื้อเพลงฟังสิ่งที่เค้าเปรียบเทียบให้เห็นนี่แบบว่าเห็นภาพลอยขึ้นมาเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้การแต่งเพลงมันไม่ได้เปรียบอะไรได้ถึงขนาดนั้นแล้ว เป็นแค่การบอกสถานะ เช่น ฉันเป็นตัวแทนของผู้หญิงบอกผู้ชาย ฉันคือตัวแทนของผู้ชายที่แมนที่แข็งแรง อย่างเพลงคุกเข่าของคอกเทลก็จะเหมือนตัวแทนผู้ชายที่อ่อนแอ หรือโปเตโต้ก็เป็นตัวแทนของผู้ชายนิสัยผู้หญิง ไม่ให้เธอไป กล้าพอไหม ออกแนวประชดประชันอะไรแบบนี้

– แล้วเพลงที่เอ๊ะอยากทำ เอาแบบไม่อิงตลาดเลยนะ จะออกมาเป็นฟีลไหน ประมาณไหน
อยากทำหลอนๆ อารมณ์แบบ Radio Head เนื้อหาก็คงไม่ต้องสาระหรือสัจธรรมอะไรมาก ผมชอบเนื้อเพลงแบบพี่โป้ โยคีเพลบอย ดูคลาสสิก ดนตรีมีสไตล์ อีกอย่างผมชอบกีตาร์เสียงแตกๆ สาดๆ อยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าแบบ Radio Head นี่แหละใช่เลย จะเป็นอารมณ์แบบเพลง High & Dry แบบค่อยๆ ไป หรือ Creep ที่อยู่ๆ ก็ระเบิดตูมขึ้นมาเลย อยากให้รู้สึกว่ามีการเดินทางของเพลง มีการดำเนินอารมณ์ของเพลง แรกๆ ขึ้นมาน้อยๆ นอยด์ๆ หน่อย อารมณ์สีเทาๆ แล้วก็กดระเบิดตูม! แล้วก็มาหยุดนิ่งเหมือนคนคิดได้แล้ว แล้วก็ปล่อยให้มันโล่งไป ให้มันมีเรื่องราวของมัน

– วางเป้าหมายชีวิตอนาคตไว้อย่างไร
ผมมีอีกอาชีพหนึ่งคือเปิดร้านรองเท้า และผมก็เริ่มหาความรู้ว่าการที่เราจะทำกิจการอะไรสักอย่าง ให้มันสามารถเลี้ยงตัวของมันเองได้ต้องทำอย่างไร สมมุติร้านรองเท้าหนึ่งร้านมีรายได้เดือนละหนึ่งหมื่นบาทให้ผม ตอนที่ผมยังมีโอกาสอยู่ตรงนี้ ผมก็ขยายให้มันทำงานด้วยตัวของมันเอง และผมอาจจะมีรายได้เดือนละแสนโดยที่ผมนั่งอยู่เฉยๆ แต่ผมใช้โอกาสที่ยังอยู่ตรงนี้เก็บเงินแล้วลงทุนอย่างต่อเนื่อง นี่คือที่ผมคิดได้ในตอนนี้ ให้มันเลี้ยงตัวผมไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ตลาดไหนมีชื่อเสียงผมก็ไปหมด อนาคตผมก็คงนั่งกินเงินตรงนี้อยู่ แล้วก็นั่งฟังเพลง นั่งเล่นดนตรี ผมยังอยากเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ อยู่ ยังอยากมีวง ยังอยากเปิดร้านเล็กๆ แล้วก็นั่งรื้อเทปคาสเซตมาเปิด คือผมสะสมเทป กับเครื่องเล่น CD พกพา ไว้เยอะ ก็อาจจะนั่งฟังเพลง หาความสุขกับชีวิต เหมือนคนต้องกลับไปอยู่จุดเดิม ผู้ใหญ่กลับกลายเป็นเด็กอะไรแบบนั้น

ฝากถึงน้องๆ รุ่นหลังๆ กับชีวิตสายดนตรี
อย่าคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด คนเก่งกว่าคุณมีอีกเยอะ แต่เขาจะพูดหรือไม่พูดเท่านั้นเอง อย่าไปเบ่งหรืออวดความรู้อะไรกับใคร มันยังมีอะไรอีกเยอะ บางทีนิ่งไว้มันก็เป็นคนฉลาดได้ อย่าเป็นแก้วที่มีน้ำเต็มแก้ว เจาะรูไว้บ้าง แล้วก็ อย่าคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เพราะถ้าเราคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เราทำไม่ได้ เราต่ำต้อย คุณก็จะกดชีวิตคุณอยู่แบบนั้น ชีวิตคุณก็จะไม่มีความพยายาม จะไม่รู้จักคำว่าลุกขึ้นสู้ คุณก็จะท้อแท้กับชีวิต ทั้งๆ ที่ยังไม่ลองทำเลย ลองทำอะไรเท่าที่เราทำได้โดยที่ไม่เป็นการบังคับตัวเองมากเกินไป แล้วคนอื่นไม่เดือดร้อน ทำไปเถอะครับ
แล้วก็อย่าลืมว่า ดนตรีคือความสุข ไม่ควรให้ดนตรีมาสร้างความทุกข์ สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่เดือดร้อนพ่อแม่ตัวเอง เช่น เรายึดแนวทางที่จะเป็นร็อกแต่ครอบครัวไม่มีจะกิน มันก็ไม่ใช่ ผมเคยทำมาแล้ว พ่อแม่ให้โอกาสปีหนึ่งก็แล้วสองปีก็แล้ว ไม่ประสบความสำเร็จสักที ผมมาย้อนคิดดูถ้าตอนอายุ 35 ผมยังไม่ประสบความสำเร็จล่ะ แม่ผมจะอยู่ยังไง หันหลังไปดูอีกทีแทบจะกินแกลบกันอยู่แล้ว
สำคัญเลยคือ อย่าหยุดทำ ต้องมีทั้งพรแสวงและพรสวรรค์ ถ้าคุณมีพรสวรรค์และคุณไม่แสวงหาคุณก็จะตันอยู่แบบนั้น คุณร้องโอเปร่าได้ก็ต้องลองหัดลูกทุ่งด้วย ผมเองก็ร้องไม่ได้นะทั้งโอเปร่าและลูกทุ่ง แต่ผมลองมาแล้ว ลองหาความรู้แล้วเอามาใช้ก็ได้เทคนิคดีๆ มาหลายอย่าง แม้ว่าผมจะร้องทั้งสองแนวนั้นได้ไม่ดีก็ตามเราก็หยิบอย่างละนิดอย่างละหน่อยมาใช้กับตัวเอง

เรื่อง : อิทธิพล เนียมสวัสดิ์
ภาพ : พานุวัฒน์ เงินพจน์

ขอบคุณสถานที่ :
People On Pause Cafe'
ลาดพร้าว-วังหิน ซอย 8

www.facebook.com/peopleonpausecafe