Marsmag.net

‘เก็บความรักไว้ในใจยังไม่พอ?’ แห่สักสัญลักษณ์แสดงความอาลัยในหลวง


เมื่อความโศกเศร้าเดินทางมาถึง…

บางคนอาจเงียบอึ้ง ไม่สามารถเอ่ยคำใดออกจากปาก บางคนอาจหลั่งน้ำตา บางคนอาจจดบันทึกอะไรบางอย่างไว้เป็นหลักฐานของความอาลัย และมีหลายคนที่เลือกจะใช้ผิวหนังของตนต่างผืนผ้าใบ ประทับสัญลักษณ์แห่งความโศกเศร้าเอาไว้บนร่างอย่างไม่มีทางลบเลือนด้วย 'รอยสัก'

13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันที่มวลความโศกเศร้าลอยฟุ้งอยู่ในอากาศมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยได้เสด็จสวรรคต

เช้าวันต่อๆ มา เมืองทั้งเมืองก็ถูกเปลี่ยนเป็นสีดำ พร้อมๆ กับที่ทุกคนออกมาแสดงความอาลัยถึงพระองค์ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการสัก ที่มักถูกมองด้วยภาพติดลบมาโดยตลอด ก็กลับคึกคักขึ้นด้วยมีคนจำนวนมากพาตัวเองไปสักสัญลักษณ์บางอย่างเพื่อระลึกถึงพระองค์ ภายใต้ความสงสัยของคนอีกจำนวนไม่น้อยว่า วิธีการแบบนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ ความรักและความอาลัยสามารถเก็บไว้ในใจ และแสดงออกมาผ่านการกระทำของตนได้ไหม โดยไม่จำเป็นต้องแปะป้ายประกาศไว้บนร่างให้ใครรู้

เรานำความสงสัยนี้ไปคุยกับช่างสักอย่าง ‘ตี๋-ชัชวาล แซ่โค้ว’ และ ‘อั้น-พรเทพ นุตะมาน’ แห่งร้านสัก Inkception ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในโรงหนังเก่าแก่อย่างลิโด ย่านสยามสแควร์ ที่ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหนก็ยังมีวัยรุ่นเดินกันพลุกพล่าน ในวันที่ลายกราฟิกสีสันสวยงาม ถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์เลข


ทราบมาว่าหลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต มีคนต้องการสักเพิ่มขึ้นเยอะมาก?

ตี๋: ใช่ครับ มีเข้ามาเยอะมาก เขาจะมาสักสัญลักษณ์เพื่อระลึกและน้อมแสดงความอาลัยต่อพระองค์กัน ซึ่งผมคิดว่าจริงๆ แล้วกำลังกลายเป็นกระแสและแฟชั่นพอสมควรนะ พอคนเขาเห็นว่ามีดาราหรือคนดังๆ สัก เขาเลยอยากสักบ้าง ยิ่งถ้าคนไม่เคยสัก และอยากลองดู โดยไม่รู้ว่าต้องเริ่มด้วยลายไหนหรือรูปอะไร เขาก็จะเริ่มจากเลข ๙ หรือสัญลักษณ์ที่จะระลึกถึงพระองค์ท่าน เช่น ประโยคอย่าง 'ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙' หรือถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็ 'I was born in the reign of King Rama IX' หรือบางคนก็ขอเปลี่ยนนิดหน่อยเพื่อไม่ให้ซ้ำคนอื่น เช่น บางคนเอาวันเกิดตัวเองมารวมกับเลข ๙ หรือบางคนก็จะสักแค่วันที่ 13 ตุลาคม

อั้น: ใช่ครับ ช่วงนี้คนที่มาสักเป็นลายแรกหลายคนเลยจะเริ่มจากสัญลักษณ์เหล่านี้ แรกๆ นี่มากันเยอะเลยนะ ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน หรือคนมีอายุตั้งแต่ห้าสิบหกสิบขึ้นไปก็ยังมาสักกัน ช่วงแรกๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต คนจะมากันเยอะมากครับ ทำให้เห็นว่าคนรักพระองค์ท่านเยอะมาก

ถือว่าเป็นกระแสที่ดีไหม?

ตี๋: เป็นกระแสที่โอเคนะครับ จนถึงวันนี้นี่คนมาสักเกินสี่สิบห้าสิบคนเข้าไปแล้ว แต่สำหรับผม ผมก็ยังคิดว่าบางทีมันอาจไม่สมควรหรือเปล่า เช่น คนที่มาสักเสร็จแล้ว เขาอาจจะไปทำเรื่องไม่ดีก็ได้ใช่ไหม ทั้งๆ ที่มีสัญลักษณ์เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ อยู่บนร่างกาย แต่อย่างของเราก็ยังดีหน่อย ที่เราจะสักให้แค่ตัวอักษร หรือตัวเลข ๙ เราจะไม่รับสักพระบรมสาทิสลักษณ์

อั้น: คือถ้าสักเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ผมคิดว่าไม่ค่อยดีนะ แม้จะสักในร่มผ้า แต่เวลาคุณไปกินเหล้า เมา คุณก็อาจถอดเสื้อโหวกเหวกโวยวายได้ใช่ไหม หรือแม้กระทั่งคุณสักไว้บนศีรษะก็ตาม คนอาจมองว่าศีรษะเป็นที่สูง แต่วันหนึ่งๆ เราก็ต้องก้มหัวทำนู่นทำนี่เยอะแยะนะ และในหลวงท่านอยู่สูงกว่านั้นน่ะ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นผมคิดว่ามันไม่ดีที่เราจะนำบุคคลที่เราเทิดทูนบูชามาอยู่บนตัว ถ้าจะให้แนะนำ ผมอยากแนะนำให้สักเป็นฟอนต์อย่างเดียว ถ้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ผมไม่แนะนำเลย ถึงอยากสักผมก็ไม่สักให้อยู่ดี

ในหลวงท่านเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่สูงมากน่ะครับ อย่างรูปหน้าบุคคลที่เราสักกันมันค่อนข้างจะเป็นงานอาร์ต เป็นภาพวาด ผมคิดว่า ถ้าเป็นในหลวง เราเก็บท่านไว้ในใจดีกว่าไหม ไม่จำเป็นต้องอยู่บนผิวหนังก็ได้ อย่างผม ผมก็ไม่ได้สักรูปสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระองค์ท่านนะ แต่ผมก็ยังรักพระองค์ได้


ในฐานะคนที่มีลายสักเต็มตัวและเป็นช่างสัก พวกคุณก็ยังคิดว่าเรื่องของความรัก ความอาลัย จริงๆ แล้วควรเก็บไว้ในใจโดยไม่ต้องแสดงออกจะดีกว่า?

ตี๋: ผมคิดว่าเก็บไว้ในใจ หรือจากการกระทำของเราก็ได้นะครับ แค่การสัก ผมว่ามันอาจไม่ใช่การแสดงถึงความรักที่เต็มที่สักเท่าไหร่ด้วยซ้ำ

อั้น: ผมคิดว่าสุดท้ายมันก็อยู่ที่ใจอยู่ดี…

ตี๋: ใครจะรู้ คนที่ไม่ได้สักอาจจะรักกว่าคนที่สักก็ได้

อั้น: ใช่ มันวัดอะไรไม่ค่อยได้หรอก คือการสักเป็นเพียงแค่ลายลายหนึ่ง รูปรูปหนึ่ง คนอาจจะสักเพื่ออยากแสดงตัวว่าฉันรักในหลวง แต่เรื่องการกระทำความดีหรือไม่ดีมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ผมคิดว่าถ้าคุณรักในหลวง แค่คุณทำตัวเป็นคนดีน่ะดีที่สุดแล้ว ถึงพระองค์จะไม่อยู่บนผิวหนังเรา เราก็ยังระลึกถึงท่านได้อยู่ดี

ความดีไม่ต้องอวด?

อั้น: ใช่ครับ มันไม่ต้องไปโพนทะนาให้ใครรู้ก็ได้

ตี๋: แต่เราก็เข้าใจคนที่มาสักนะ คือเขาแค่ต้องการจะแสดงออกว่ารักพระองค์ท่านนั่นแหละ ซึ่งในชีวิตประจำวันเขาอาจจะไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก เขาก็เลยต้องมาแสดงออกทางนี้ เพื่อให้มันชัดเจนไปเลย เพราะการสักอย่างที่รู้มันก็ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน อย่างน้อยก็ความเจ็บขณะสัก

ช่วงก่อนหน้านี้ในอินเทอร์เน็ตมีการแชร์เรื่องคนที่สักสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงในหลวง เขียนผิด ตัวสะกดไม่ถูกต้อง ในฐานะช่างสักคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้?

ตี๋: ไม่ใช่ร้านนี้นะครับ (หัวเราะ) ผมคิดว่ามันต้องดูที่ช่างด้วยนะ เราก็ไม่รู้นะว่าช่างกับลูกค้าเขาคุยกันอย่างไร แต่ถ้าที่นี่ไม่ว่าจะเป็นคำนี้ หรือว่าคำไหน เราจะให้ลูกค้าเช็กก่อนทุกครั้งว่าถูกต้องแล้วหรือยัง

แม้จะสักผิด แต่ถ้าทำด้วยใจ เราสามารถมองว่านั่นคือความรักได้ไหม?

อั้น: ในความคิดผมมันแสดงให้เห็นถึงความไม่ตั้งใจมากกว่า คือถ้าคนเราตั้งใจ ไม่ว่ารูปนี้ หรือรูปไหนก็ตาม เราก็ควรเช็กให้ดีก่อนไหม ไม่ใช่หลับหูหลับตาสักๆ ไป เพราะอยากได้ อยากเอาไปอวดคนอื่นเฉยๆ แล้วถ้าเป็นตัวอักษร หรือเลขไทยนี่ ผมบอกเลยจะค่อนข้างแก้ไขในภายหลังได้ยากนะครับ

โดยส่วนตัวคิดว่าทำไมคนถึงรักในหลวงมากมายขนาดนั้น?

อั้น: อย่างผม ผมก็จำความได้ตั้งแต่เด็กๆ ว่าที่บ้านเขาสอนว่า พระองค์เป็นคนดี และจากที่จำได้คือ สมัยก่อนจะได้รับสมุดแจก ของแจก คือพระองค์ทรงทำงานเพื่อพวกเราตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างเมื่อเช้าผมเพิ่งอ่านและเพิ่งรู้ว่า ปลานิลที่เรากินๆ กันอยู่เนี่ยในหลวงนำเข้ามาจากญี่ปุ่นเพื่อให้คนไทยได้มีอาหารกิน หรืออย่างที่เรารู้ๆ กันก็เรื่องฝนเทียมที่ช่วยประชาชนได้เยอะ หรืออย่างกังหันชัยพัฒนาก็ใช่

ตี๋: ที่สำคัญคือเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผมก็น้อมนำเอามาปฏิบัติในการใช้ชีวิต อย่างงานสัก เวลามีคนมาเยอะๆ แน่นอนว่าเราจะได้เงินเยอะ แต่ผมก็ไม่ได้รับหมดนะครับ เพราะถ้างานเราล้นจนเกินไป งานของเราก็จะไม่มีคุณภาพ เราทำเท่าที่ทำได้ พยายามไม่ทำอะไรเกินตัว

การสักสัญลักษณ์เพื่อระลึกและน้อมแสดงความอาลัยมีส่วนทำให้คนเข้าใจเรื่องการสักมากขึ้น?

ตี๋: ใช่ครับ มีส่วน ตอนนี้ภาพลบๆ จะค่อนข้างหายไป พอสักปุ๊บ คนมองมา เฮ้ย คนนี้ต้องเป็นคนดีแน่ๆ (หัวเราะ) แต่จริงๆ ไม่ใช่นะครับ ไม่ว่าคุณจะสักอะไรมา การจะเป็นคนดีไม่ดี มันขึ้นอยู่กับการกระทำของคุณ ไม่ใช่รอยสัก 





เรื่อง : 45rpm
ภาพ : พาณุวัฒน์   เงินพจน์