‘ในหลวง’ ในลายเส้นสีและสำนึกของ ‘ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี’


ในบ้านของจิตรกรหนุ่มวัยเลย 50 ปี ชาวสุราษฎร์ธานีผู้นี้เต็มไปด้วยภาพวาดในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลากหลายพระอิริยาบถ ซึ่งถ้าลองเพ่งมองจะเห็นได้ว่าในแต่เส้นแต่ละสีที่บรรจงจรดลงไปบนผืนผ้าใบนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น และความรักที่จะถ่ายทอดผลงานออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ในช่วงเวลานั้นๆ

“เราเขียนรูปหลายๆ อย่างมาทั้งชีวิต แต่วันหนึ่งที่เขียนรูปพระเจ้าอยู่หัว กลับทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น”

ดีขึ้นในความหมายของ ‘ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี’ นั้นคือการได้เรียนรู้และศึกษาทั้ง ‘สามพระ’ นั่นคือพระราชดำรัส พระราชดำริ และพระราชกรณียกิจของในหลวง ซึ่งศักดิ์วุฒิเองก็น้อมนำมาใช้เสมอ โดยเฉพาะในหัวข้อที่ว่า ‘ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด’ ที่กลายเป็นเค้าโครงหลักของการใช้ชีวิตตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

รักในหลวงแค่ไหน? คำตอบของเขาคงเช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ แต่การเดินตามคำสอนของพระองค์ท่านนั้นดีเช่นไร? ตรงนี้ต้องให้เขาเป็นคนตอบ

ตลอดชีวิตที่โตมาคุณได้เห็นในหลวงในแบบไหน?

แบบชาวบ้าน จริงๆ รุ่นผมเนี่ยเรื่องเจ้าเรื่องนายเป็นเรื่องใหญ่ ปู่ย่าตายายสอนกันมาว่าใครจะพูดถึงเจ้าต้องระวังนรกกินหัว อย่าเอาเรื่องเจ้ามาพูด ยายเขาชอบว่าชอบสอนแบบนั้น แล้วตอนเด็กๆ ท่านเสด็จที่นครศรีธรรมราช เราก็ไปเฝ้าริมถนน และใกล้ชิดสุดก็ตอนรับปริญญาที่ศิลปากรเมื่อปี 2528 ตอนนั้นเราห่างกับพระองค์ท่านประมาณหนึ่งคืบ

อย่างรุ่นของคุณน่าจะเป็นรุ่นที่เห็นพระราชกรณียกิจในหลวงมาเยอะมาก ตรงนี้สอนกับชีวิตอะไร?
 
ถ้าพูดกันจริงๆ เลยนะ เราชินกับสิ่งที่พระองค์ทำ เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก บางครั้งมีข่าวอะไรเราก็เปิดข้ามไป อันนี้พูดกันจริงๆ เพราะว่าในหลวงทรงทำทุกวัน ทำจนเราชินกับความดี ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องพิเศษแล้ว แต่พอมาตอนนี้เราได้เห็นว่า โอ้โห! ทำไมทรงทำเยอะขนาดนั้น เยอะจนคนไทยเคยตัว เยอะจนไม่รู้สึกว่าทรงทำอะไรมากมาย จนตอนนี้คนพูดถึงความดีของพระองค์ เมื่อเราย้อนกลับไปดู โหว… คนคนหนึ่ง พระองค์เป็นกษัตริย์ควรจะเสวยสุขนะ ไม่น่าจะทำอะไรเยอะขนาดนี้ บางคนมาเปิดทีวีดูแล้วเห็นสิ่งที่ทรงทำก็ร้องไห้ไปด้วยความเศร้า พอพูดถึงในหลวงน้ำตาก็จุกอกกันทุกคน ผมว่าเป็นบารมีของพระองค์ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้คนทั้งประเทศเศร้าและตื้นตัน

เรารู้สึกว่าเราสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตไหม ทั้งที่ผ่านมาเราเหมือนไม่รู้สึกว่ามีใครช่วยเหลือ แต่จริงๆ พระองค์ท่านช่วยเหลือเราตลอดเวลา?

ผมถึงใช้คำว่าชิน เราชินกับความดีของพระองค์ท่าน ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็ลุกขึ้นมาทำความดี ผมว่าเป็นเรื่องดีมาก คือพลังของท่านทำให้คนคิดดีทำดี สำหรับผมได้เห็นคนลุกขึ้นมาทำความดีกันจำนวนมาก นี่เป็นเรื่องใหญ่นะ เป็นพลังที่แปลกมากที่สุดในโลก คนที่ไม่เข้าท่าก็คิดที่จะทำ ทำหรือเปล่าไม่รู้ แต่แค่คิดจะทำผมก็ว่าดีแล้ว

อย่างเราเป็นประชาชนของในหลวง เราควรจะเดินต่ออย่างไรไม่ให้สิ่งที่พระองค์ทรงทำมาสูญเปล่า?

อย่างที่ผมตอบบ่อยๆ ในเรื่องคำสอนของพระเจ้าอยู่หัวก็คือ มีข้อเดียวเท่านั้นนั่นคือให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ถ้าข้อเดียวทุกคนทำได้ประเทศเจริญ คุณทำไหม? พ่อค้าก็ซื่อสัตย์ คุณเป็นนักข่าวก็เสนอข่าวตรงๆ ไม่รับเงินใต้โต๊ะ ผมเป็นศิลปินก็รับผิดชอบงานให้ดีที่สุด คุณว่าแบบนี้ดีไหม? คุณเป็นนักบวชก็ทำหน้าที่ที่ดีไป แค่ข้อเดียวประเทศเราก็ไปลิ่วแล้ว ไม่ต้องเอาร้อยข้อหรอก เอาข้อเดียวพอ ผมก็ทำของผมให้ดีที่สุด

บางคนไม่รู้จะเดินหน้าไปทางไหนเมื่อสิ้นพระองค์ท่าน ตรงนี้คุณมองอย่างไร?
 
ผมว่าเป็นแค่ช่วงหนึ่งนะ เหมือนเราเสียใจอะไรหนักๆ ในชีวิต แต่สุดท้ายเรามีทางไปได้ มีทางออกเสมอ วันนี้ทุกคนเสียใจอย่างนั้น แต่ว่าชีวิตต้องไปต่อ จริงๆ พระเจ้าอยู่หัวอยู่กับเรานะ ทุกวันนี้ผมก็ยังรู้สึกว่าพระองค์ท่านยังอยู่รอบตัวเราเลย มองไปไหนก็เห็น เหมือนกับพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ยังอยู่ในประวัติศาสตร์ อยู่ในความทรงจำ อยู่ในความเคารพ ความดีที่พระองค์ทำยังอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน คุณมีลูกก็สอนลูก คำสอนยังอยู่ ทำอะไรก็นึกถึง ผมก็ยังเขียนรูปพระองค์ เมื่อวานเขียน วันนี้เขียน พรุ่งนี้ก็เขียน

สงสัยอย่างหนึ่ง อย่างคุณจะวาดภาพอะไรก็ได้ ทำไมถึงเลือกที่จะวาดภาพในหลวง?
 
ผมรู้สึกว่าตั้งแต่เขียนรูปพระเจ้าอยู่หัวแล้วชีวิตดี หรือตั้งแต่สะสมรูปปั้นพระเจ้าอยู่หัวแล้วชีวิตดีขึ้น คือบางทีพูดไปแล้วคนไม่เชื่อนะ หาว่าเราโกหก แต่ผมเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือผมเขียนรูปเยอะแยะมาก แต่คนชื่นชมและได้รับการยอมรับจากการเขียนรูปพระเจ้าอยู่หัว แปลกไหม? บางคนเขาบอกว่าศักดิ์วุฒิเขียนรูปพระเจ้าอยู่หัวดีเหลือเกิน อันนี้คนอื่นพูดนะ คือผมแทบจะบอกได้เลยว่าที่มีอยู่ทุกวันนี้ได้ก็เพราะการเขียนรูปพระเจ้าอยู่หัว

แต่ศิลปินหลายๆ ท่านก็เขียน?

ใช่ครับ แต่แปลกมากว่าเราเขียนรูปหลายๆ อย่างมาทั้งชีวิต แต่วันหนึ่งที่เขียนรูปพระเจ้าอยู่หัวกลับทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น เรามีกินมีใช้อยู่ทุกวันนี้ก็จากการที่เราเขียนรูปพระเจ้าอยู่หัวแทบทั้งสิ้น คือถ้าออกงานนะ พระในพวงที่ห้อยคอต้องมีพระเจ้าอยู่หัวอยู่ แล้วเราก็บอกเพื่อนๆ เลยว่าถ้าอยากมีชีวิตที่ดี เจอรูปปั้นในหลวงให้ซื้อมาสะสมไว้

แสดงว่าคุณมองพระองค์ท่านใน 2 สถานะ สถานะแรกคือกษัตริย์ผู้ทรงงานเพื่อประชาชนชาวไทย กับอีกสถานะคือมองพระองค์ท่านเป็นเทพ?
 
คือผมเชื่อเรื่องแบบนั้น คนยุคผมเป็นคนกึ่งโบราณ แล้วเราเป็นเด็กต่างจังหวัด ก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่ คนจะหาว่าเรางมงายก็แล้วแต่ ครั้งหนึ่งสมัยผมเด็กๆ สมเด็จย่าเสด็จมาที่เกาะแตนซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ใกล้ๆ กับเกาะสมุย ผมไปรอเข้าคิวรับแจกกระดาษดินสอและผ้าผวย(ผ้าห่ม) คือเรายังจำภาพนั้นได้ เรามีอารมณ์แบบนี้เราก็บอกกับใครไม่ได้หรอก แต่ผ่านมาความทรงจำดีๆ ยังอยู่ คุณคิดดูสิว่าเกาะแตนเป็นเกาะเล็กๆ แทบจะตกแผนที่แต่พระองค์ท่านก็เสด็จไป เลยเป็นความประทับใจในหัวใจกับสิ่งที่พระองค์ทำ ใครจะว่าใครจะอะไรก็พูดไป แต่สำหรับผมไม่มีผลเลย แล้วเราโตมาในสังคมที่ ‘เขาว่ากันว่า’ ซึ่งคุณพูดกันไปไม่มีใครเชื่อหรอก บ้านผม ครอบครัวพี่น้องมั่นคง ไม่มีใครเชื่อเรื่องพวกนี้ บางคนบอกว่ารักพระองค์แทบเป็นแทบตาย แต่มีคนมาพูดแค่ไม่กี่ประโยคก็เชื่อแล้ว มันอะไร? เราเห็นภาพการทำงานของพระองค์มาทั้งชีวิต แต่บางคนได้ยินแค่ ‘เขาว่ามาว่า’ ก็เชื่อแล้ว เขาไหนก็ไม่รู้?

คนไทยชอบเสพข่าวร้าย ข่าวดีๆ ไม่ค่อยชอบหรอก อย่างที่หนังสือพิมพ์ว่าคือพาดหัวร้ายๆ ขายดี พาดหัวดีๆ ขายไม่ได้ คือคนชอบฟังเรื่องไม่ดีมากกว่า เพราะมันทำให้ตัวเองดีขึ้นมาทันที

เวลาวาดรูปในหลวง ช่วงที่ลงเส้นแต่ละเส้นคิดอะไรอยู่?
 
ผมไม่ได้คิดหรอก ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไป ผมแค่มีภาพอยู่ในใจว่าจะเขียนแบบนี้แล้วผมก็เขียนออกมา แต่เวลาตั้งใจไว้กับที่ออกมามักจะเป็นคนละเรื่องตลอด พูดแล้วเหมือนแกล้งพูดให้มันดูวิเศษนะ แต่สำหรับผมมันควบคุมไม่ได้หรอกการเขียนรูป มันปล่อยไปตามธรรมชาติว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น

วันนี้เราได้รับรู้เรื่องราวการทำงานของในหลวงมากมาย แต่ว่าเราจะส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานเรายังไง ให้ได้เห็นว่าในหลวงทรงทำไว้เพื่อประชาชนในอนาคตแค่ไหน?

ผมไม่มีลูกก็เลยพูดยาก แต่ว่าเราเห็นหลานบางทีไปฟังไปอ่านจากเว็บไซต์มาก็เชื่อ คือมันเป็นแนวโน้มของเด็กรุ่นใหม่คือ Antihero เยอะมาก ฮีโร่ของเด็กคือเด็กที่ก้าวร้าว คือเด็กที่สวนกระแส มันน่ากลัวมากกับความคิดแบบนี้ แล้วลูกชาวบ้านเราจะไปสอนสั่งเขาก็ไม่ได้ พ่อแม่เขาต้องดูแล ซึ่งเราต้องทำให้เด็กรุ่นใหม่เชื่อว่าฮีโร่คือคนดี ไม่ใช่คนเลวร้ายหรือคนที่กล้าแหวกกติกา คือกติกาบางอย่างมันดีอยู่แล้ว มันพิสูจน์มาเป็นร้อยปีแล้ว เหมือนความผูกพันในสถาบันครอบครัวมันดีมาก ดีเหลือเกิน แต่เราไปตามฝรั่งกันว่าเราต้องเอาคนแก่ไปทิ้ง หรือเอาไปอยู่บ้านพักคนชรา มันไม่ใช่บ้านเรา อย่างทุกวันนี้ทุกเสาร์ผมก็ต้องกลับไปหาแม่ คืออะไรก็แล้วแต่เราต้องกลับ เพราะมีความผูกพันตั้งแต่โบราณ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดี แล้วฝรั่งเองก็ชื่นชมเราในความเป็นเอเชียนะ






ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ฉบับเต็มได้ในนิตยสาร mars

เรื่อง : วรชัย  รัตนดวงตา
ภาพ : พาณุวัฒน์  เงินพจน์

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE