ทิวา สาระจูฑะ และสีสัน ท่ามกลาง 'สนธยากาลของสื่อสิ่งพิมพ์'

“ปีก่อนเผาหลอก ปีนี้เผาจริง ปีหน้าคงเผาจริงยิ่งกว่า”

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในวงสนทนาของคนทำสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะวงการนิตยสาร มักมีประเด็นเหล่านี้ผุดขึ้นมาให้พูดถึงอยู่เนืองๆ

กระต่ายตื่นตูมวิ่งออกมามากมายจนฝุ่นฟุ้งตลบ เมื่อมะพร้าวลูกแล้วลูกเล่าพากันร่วงหล่นลงจากต้น

ใช่ นั่นอุปมา! แต่ก็เป็นอุปมาที่ไม่ห่างไม่ไกลจากความเป็นจริงเท่าไหร่นัก

ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ในเมื่อตั้งแต่ต้นปี 2016 ไล่มาถึงปลายปี ข่าวคราวการปิดตัวของนิตยสารทั้งหัวเล็กและหัวใหญ่นับสิบหัว ทำให้เราต้องถอนหายใจอยู่เสมอ

“เรากำลังจะตาย” บางคนโพล่งออกมา ซึ่งหลายคนต่างเห็นพ้องว่านั่นหาใช่คำทำนายที่ไม่มีเค้าของความจริง

“เราทำงานนิตยสาร เรายังไม่ซื้อนิตยสารอ่านเลย”

พี่ช่างภาพของเราพูดขึ้น ระหว่างที่เรากำลังนั่งรอสัมภาษณ์ ‘ทิวา สาระจูฑะ’ บรรณาธิการที่คลุกคลีอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มามากกว่า 30 ปีแห่งนิตยสาร ‘สีสัน’ นิตยสารเน้นวิจารณ์ศิลปะโดยเฉพาะเรื่องเพลงอย่างตรงไปตรงมา และมีเวทีมอบรางวัลที่น่าเชื่อถือมากที่สุดเวทีหนึ่งอย่างสีสัน อะวอร์ดส์ เป็นตัวชูโรง ผู้ยังยืนหยัดทำงานนิตยสารในวันที่ว่ากันว่านี่คือ 'สนธยากาลของสื่อสิ่งพิมพ์'

“เรายังไม่ซื้อนิตยสารอ่านเลย”

คุณก็ด้วย เราก็ใช่ ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า เราทุกคนต่างเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนยุคสมัย และความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่มากก็น้อยล้วนมีเราเป็นองค์ประกอบหนึ่ง

ปี 2013 มีหนังกระแสดีชื่อ The Secret Life of Walter Mitty เข้าโรงฉาย มันเป็นหนังที่ว่าด้วยชีวิตของชายที่มีหน้าที่เป็นคนอัดรูปจากฟิล์มเนกาทีฟ ซึ่งถ่ายโดยช่างภาพชื่อดังสำหรับการตีพิมพ์ในนิตยสารหัวหนึ่ง หนังดำเนินไปพร้อมภาวะไร้ตัวตนของชายผู้นั้น ขณะตัวนิตยสารเองก็กำลังเดินมาถึงทางตัน นี่คือยุคที่ไม่มีช่างภาพคนใดถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มอีกแล้ว ยุคที่คนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้อาจต้องโบกมืออำลา และนิตยสารเล่มนั้นก็กำลังจะถูกหยุดตีพิมพ์เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นนิตยสารออนไลน์

เรื่องราวต่อจากนั้นเป็นอย่างไร คงต้องหาแผ่นมาชมกันเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจในตอนท้ายๆ ของหนังเรื่องนี้คือ เมื่อนิตยสารเล่มสุดท้ายตีพิมพ์ออกมา ชายคนนั้นก็พบว่า ตัวเขาผู้ที่ไม่เคยมีใครคิดจดจำ กลับกลายมาเป็นปกของนิตยสารเล่มนั้น พร้อมคำโปรยว่า 'Dedicated to The People Who Made It' หรือ ‘อุทิศแด่คนที่สร้างมันขึ้นมา’

คำโปรยข้างต้นนั้นช่างทรงพลัง โรแมนติกชวนฝัน และเรียกน้ำตา แต่ถ้ามองย้อนกลับมา เราจะพบว่า นอกจากคำโปรยของนิตยสารในหนังที่จงใจอุทิศให้แก่ชายคนหนึ่งแล้ว ประโยคที่ว่า 'Dedicated to The People Who Made It' ก็กลับกินความกว้างถึงพวกเราทุกคนด้วยเช่นกัน

ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ว่าจะอยู่หรือตาย ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรืออ้อม เราก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างมันขึ้นมา

ก่อนเริ่มต้นสัมภาษณ์ทิวา สาระจูฑะ เราพูดคุยกับพี่ช่างภาพคนเดิมไปเรื่อยๆ โดยยกประเด็นที่ครั้งหนึ่งผู้คนต่างตื่นตระหนกถึงความตายของ 'กล้องดิจิตอลคอมแพ็กต์' ในตอนที่สมาร์ทโฟนที่ถ่ายรูปได้ดีพอๆ กันเริ่มเข้ามา โดยตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดวันนี้กล้องดิจิตอลคอมแพ็กต์ที่ควรกลายเป็นอดีตไปแล้ว ถึงกลับมาบูมและผู้คนก็ยินดีจะซื้อหามาใช้งานทั้งที่สมาร์ทโฟนก็ทำงานได้ไม่ต่างกัน

ข้อสังเกตยังไม่ทันได้ข้อสรุป ทิวา สาระจูฑะ ก็เดินทางมาถึง และคำตอบของเราถึงความสงสัยเหล่านั้นก็ยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อระหว่างบรรทัดในคำพูดของทิวานี่เอง ที่ทำให้เราได้ตระหนักว่า บางทีสิ่งที่ตายยากกว่าความตาย บางครั้งอาจเป็นความรักก็เป็นได้

สิ่งที่เราคิดว่าตาย สุดท้ายมันอาจแค่เปลี่ยนรูปไปสิงสถิตอยู่ที่อื่น ในเมื่อไม่ว่าจะเป็นเตาแก๊ส เตาไฟฟ้า เตาถ่าน กล้องฟิล์ม กล้องดิจิตอล สมาร์ทโฟน ก็สามารถทำกับข้าว และถ่ายรูปเพื่อจะเอามาโพสต์อวดคนอื่นบนโซเชียลมีเดียได้พอๆ กัน แล้วเราจะรีบเร่งถอนหายใจ ทอดอาลัย และพูดถึงความตายให้เศร้าโศกเสียใจไปทำไมกัน…

มีข้อมูลออกมาว่า กำไรสุทธิของนิตยสารสีสัน หรือบริษัท สีสันมีเดีย จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2558 คือ 90,000 บาท นั่นเป็นตัวเลขที่น่ากังวลไหม ตอนนี้สถานการณ์ของนิตยสารสีสันเป็นอย่างไร?

เรางงเหมือนกันนะ ไม่รู้ใครไปเอาตัวเลขจากไหนมาบอก มันคงเป็นเรื่องของภาษงภาษีแหละ แต่อย่าไปเชื่อถือเลย สีสันมันเป็นหนังสือเล็กๆ เหมือนกองทัพจรยุทธ์ มันแค่ประคองเลี้ยงตัวไปได้ ไม่ได้กำไรอะไรเยอะแยะ เป็นแบบนี้มานานแล้ว

กังวลกับสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารหลายหัวที่ต่างพากันปิดตัวไหม?

จริงๆ ปิดกันเยอะมากนะ แต่ที่เป็นข่าวรู้สึกจะประมาณสิบกว่าเล่ม ตัวที่เป็นข่าวนี่คือหนังสือหัวใหญ่ เราเข้าใจว่าค่าใช้จ่ายของเขาสูง แต่ค่าตอบแทนที่ได้กลับมาไม่สมดุลกัน เพราะการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย ทีวีดิจิตอล คือโฆษณาตัวใหญ่ๆ ในบ้านเรามันมีไม่กี่เจ้า ก็กระจายกันไปตามพื้นที่ที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ ทีนี้หนังสือเบอร์ใหญ่ๆ ต้องพึ่งพาโฆษณาเยอะ เพราะพิมพ์อย่างดี ต้นทุนสูง บางทีราคาขาย 120 บาท ต้นทุนก็มากกว่านั้นแล้วนะ เพราะฉะนั้นเมื่อขาดทุนสะสมเยอะๆ เข้า เขาคงคิดว่าหยุดดีกว่า หรือรอตั้งหลักก่อน คือยังไม่แน่ใจ จะมีแค่สองเล่มมั้งที่อาจจะเป็นคนละกรณีกับโฆษณาน้อยลง คือบางกอกกับสกุลไทย สองเล่มนี้เข้าใจว่าคนรุ่นลูกที่รับไม้ต่อมาเขาไม่อยากทำมากกว่า เพราะสกุลไทยเป็นหนังสือพึ่งยอดขายอยู่แล้ว ไม่ได้พึ่งพาโฆษณา เพียงแต่คนรุ่นใหม่ไม่อ่านกันแล้ว ยอดซื้ออาจจะตกลง ซึ่งจริงๆ แล้วพวกนี้เขาจะมีสายส่งเอง มีโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง ถ้าจะทำต่อก็ทำได้ เพียงแต่รุ่นลูกอาจจะไม่ได้สนใจสืบต่อทางนี้แล้วก็เลยหยุด หรือไม่ก็เป็น 2 เหตุผลรวมกัน

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งเวลาเราพูดถึงวิกฤตของสื่อสิ่งพิมพ์มักตกเป็นจำเลยเสมอ จริงๆ แล้วมีผลเยอะไหม?

มีเยอะทีเดียว เพราะเดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยซื้อหนังสือ หรือซื้อก็ซื้อมาเก็บ จิตใจอาจจะรักหนังสือ พอมีสัปดาห์หนังสือก็จะไปขนหนังสือกันมา แต่ในชีวิตประจำวันยังไม่ได้อ่าน เพราะเล่นสมาร์ทโฟนกันหมด ซื้อมาจากสัปดาห์หนังสือปีละสองหน ไปร้านหนังสือก็ซื้อมาอีก ซื้อมามากเข้าก็ไม่ไหว อ่านไม่ทัน พอไม่ได้อ่าน ก็หยุดไปตามธรรมชาติ

แต่สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สุดท้ายแล้วเราจะโทษว่าเป็นความผิดของผู้บริโภคได้หรือเปล่า?

ไม่ได้ เพราะแม้แต่คนทำสื่ออย่างเราเองก็ยังใช้โซเชียลมีเดียกันเยอะมาก โทษเขาไม่ได้ แต่มันควรมีวิธีกระตุ้นการอ่านกลับมาใหม่

ล่าสุดตอนที่นิตยสารพลอยแกมเพชรปิดตัว ก็มีจดหมายเปิดผนึกของคนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ เรียกร้องถึงรัฐบาลให้มองเห็นปัญหาและช่วยอุดหนุน ในฐานะบรรณาธิการคนหนึ่ง มองว่านั่นเป็นข้อเรียกร้องที่ถูกต้องไหม?

อันนั้นของพี่แหม่ม-สุมิตรา จันทร์เงา เขาเอาปกพลอยแกมเพชรเล่มสุดท้ายมาลงในเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นสัญลักษณ์เฉยๆ ว่านี่เป็นเล่มสุดท้าย หนังสือใหญ่ขนาดพลอยแกมเพชรยังต้องหยุดพิมพ์ เพื่อเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน เขาไม่เคยสนใจวงการหนังสือมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว คือในวงการนี้ก็ต้องดิ้นรนกันเองมาตลอด ในบางประเทศที่เป็นสังคมรักการอ่านที่เจริญแล้ว ในยุคหนึ่ง ถ้าเขาเปลี่ยนผู้นำขึ้นมาปกครองประเทศ ผู้นำคนใหม่จะมีอยู่วันหนึ่งที่ต้องเชิญบรรณาธิการชั้นนำ นักเขียนนักคิด มานั่งกินข้าว คุยกัน ถกเถียงกัน เขาให้ความสำคัญกับคนที่เป็นบรรณาธิการ เพราะถือว่าเป็นมันสมองในการมองภาพรวมของสังคมผ่านตัวนักเขียน หรือคอลัมนิสต์ แต่บ้านเราเขาไม่เชิญหรอก เขาคิดว่าเขาเก่งกันแล้ว (หัวเราะ) ตอนนี้งบประมาณที่ใช้ในการส่งเสริมการอ่านก็ไปอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่อยากไปตำหนิอะไรหรอก ข้าราชการก็คือข้าราชการ บอกแค่นี้ก็แล้วกัน เช่น สมมุติว่าถ้ามีไอเดียอะไรดีๆ ขึ้นมา บางทีเขาก็ทำไม่ได้นะ เพราะข้างบนไม่เอาด้วย ถึงคนรุ่นใหม่มีไอเดียดีๆ สุดท้ายก็จะถูกกลืนหายไป

ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงระดับโครงสร้างของคนทั้งประเทศไหม?

โดยพื้นฐาน คนไทยเป็นคนที่รักสนุก ชอบปาร์ตี้ ชอบบันเทิง สนุกสนาน ตั้งแต่โบราณ การอ่านก็ค่อนข้างจำกัดกลุ่มอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสมัยก่อนสังคมมันไม่มีตัวเลือกอย่างอื่นมากนัก เลยดูเหมือนคนอ่านหนังสือเยอะ เพราะไม่มีทีวี ไม่มีสื่อ ไม่มีโซเชียลมีเดีย วิธีสันทนาการของเขาคือการอยู่บ้าน อ่านหนังสือ แต่นั่นก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งนะ สำหรับคนเรียนหนังสือ อ่านออกเขียนได้ เพราะส่วนมากก็ยังสนุกกับการร้องรำทำเพลง ไม่ต้องคิดอะไรมาก

ตอนนี้พูดได้ไหมว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคมืดของวงการสื่อสิ่งพิมพ์?

เรียกอย่างนั้นก็ดูมองโลกในแง่ร้าย (หัวเราะ) มันยังต้องหาทางไปต่อ ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าต้องทำยังไง จะไปบีบ กดดัน ใช้กฎหมายบังคับให้คนอ่านหนังสือมันก็ไม่ได้อยู่แล้ว ทุกวันนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร เราก็ยังใช้ชีวิตปกติ เรายังไม่เห็นรู้สึกถูกบังคับอะไรนักหนา ถ้าให้เขามาบีบบังคับให้คนอ่านหนังสือยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะภาพการเข้ามาก็ผิดอยู่แล้วตั้งแต่แรก

ไหนๆ ก็พูดถึงรัฐบาลแล้ว คิดอย่างไรกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ที่เป็นกระแสอยู่ตอนนี้?

เราตามนิดๆ หน่อยๆ แต่คิดว่าเขาทำตรงนี้เพราะเห็นปัญหาทั่วโลกมากกว่า มันมีการเข้าไปแฮ็ก เข้าไปโจมตีระบบ แล้วในเมื่อทุกอย่างมันจับต้องไม่ได้ การป้องกันส่วนหนึ่งก็ย่อมต้องไปกีดกันส่วนหนึ่งเหมือนกัน เขาก็ยังยืนยันว่าเขาทำไปเพื่อป้องกัน แต่ก็อาจจะเหมือนไฟป่านะ คือเวลาไหม้ วัชพืชที่ไม่ดีต่อธรรมชาติก็จะถูกไฟไหม้ไปด้วย แต่ของดีที่เป็นสมุนไพรก็จะถูกไฟไหม้ไปเหมือนกัน แล้วเราจะทำยังไงให้ส่วนที่ดีไม่ถูกกระทบไปด้วย ทุกอย่างมันอยู่ในอากาศ เราก็ไม่รู้ว่ามันต้องทำยังไง แต่เราก็เห็นว่าคนเลวมันมีจริงๆ ไง เห็นกันอยู่ที่เที่ยวไปโจมตีที่นั่นที่นี่ ล้วงข้อมูล แล้วในสถานการณ์ที่การก่อการร้ายเกิดขึ้นทั่วโลก มันก็มีความจำเป็น ต้องไปดูรายละเอียดอีกที ว่ามีผลกระทบต่อคนที่ทำมาหากินปกติไหม

ความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบต่อสื่อสิงพิมพ์ไหม?

การเมืองมันเกี่ยวข้องกับทุกอย่างในชีวิตประจำวันของทุกคนอยู่แล้วจริงไหม อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มันจะเกี่ยวแค่ไหน เราก็ไม่รู้ ยิ่งช่วงที่มีความแตกแยกทางการเมือง เราก็ต้องยอมรับว่ามันมีการเข้าไปรับเงินกันอย่างไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ผิดกฎหมายนะ เพราะมันใช้วิธีรับกันผ่านการโฆษณา แต่นั่นเท่ากับว่าสื่อถูกบีบไปแล้วในตัว ถ้าทำไม่ถูกใจ เขาก็จะถอนโฆษณา ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของคนทำหนังสือแล้วล่ะว่าจะทำอย่างไร โฆษณาก็ต้องเอา แต่ไม่ต้องทำตามทุกอย่างที่ลูกค้าอยากได้ได้ไหม แฟร์ๆ กันได้หรือเปล่า คุณได้พื้นที่ลงโฆษณาไปแล้วไง แต่กับบ้านเรามันไม่ใช่แบบนั้น ให้เงินแล้วต้องทำตามที่กูอยากให้ทำด้วย ไม่งั้นกูถอน สื่อบ้านเราก็ตกใจ เคยรวยแล้วกลัวถูกถอนแล้วจน ทั้งที่จริงๆ ก็สู้ได้ (หัวเราะ)

การที่บรรณาธิการของนิตยสารสักหัวเลือกขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน ส่งผลอะไรหรือเปล่า?

แล้วแต่คนอ่านนะ ถ้าเขาหัวอ่อนอาจจะเชื่อตามที่คนเขียนเขียน ถ้าคนอ่านฉลาด อ่านไปสักพักจะรำคาญไปเองว่ามันออกนอกเส้นของการเป็นสื่อมวลชนที่ดีไปแล้ว ในมุมที่เป็นความชอบส่วนตัว ทุกคนมีสิทธิ์จะเชียร์ใครก็ได้ แต่มันจะมีเส้นของการเป็นสื่อที่ดีอยู่ส่วนหนึ่ง เราต้องอยู่ให้ใกล้เส้นนี้ที่สุด

เส้นของสื่อมวลชนที่ดีคืออะไร?

ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา กล้าวิพากษ์วิจารณ์ อาจจะเอียงนิดหน่อยได้ แต่ต้องเกาะเส้นนี้ไว้ อย่าห่างไปไกลมาก บางคนทิ้งเส้นนี้ไปเลย

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งความขัดแย้งทางการเมืองในรอบหลายปีมานี้ส่งผลต่อชีวิตไหม?

ไม่ค่อยเท่าไหร่ เพราะเราชัดเจนว่าเราเกลียดคนเหี้ย (หัวเราะ) ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสีกับเราหรอก แค่กูเกลียด กูไม่เอามึงก็แล้วกัน มึงทำลายประเทศขนาดไหน ข้อมูลมี เราก็รู้ ยิ่งอยู่ในวงการสื่อ เรารู้จักค่อนข้างกว้าง มีทั้งเพื่อนข้าราชการและนักธุรกิจระดับใหญ่ๆ ข้อมูลผสมผสานกันก็รู้แล้วว่าใครดีใครเลว ไอ้คนที่เลวน้อยหน่อยยังโอเค แต่เลวมากขนาดทำลายประเทศ ทำให้เกิดความแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ เราไม่เอาหรอกนะ ไม่ต้องมาบอกว่าเราเป็นสีอะไร บอกเลยว่าแค่เกลียดคนเหี้ย (หัวเราะ)

ย้อนกลับไปที่วงการสื่อสิ่งพิมพ์ มองว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์ของวงการนี้มีอยู่ไหม?

น่าจะทำได้ แต่เหมือนที่เราให้สัมภาษณ์ไปสองสามหนแล้วว่า ต้องทำยังไงก็ได้ที่จะฟื้นวัฒนธรรมการอ่านขึ้นมา แต่จะใช้คำว่า วัฒนธรรมการอ่านก็ดูสูงส่งไปหน่อย เราใช้คำว่าเทรนด์ดีกว่า ซึ่งเทรนด์ตรงนี้ คนตัวเล็กๆ อย่างเราทำไม่ได้ มันลำบาก เราไม่มีศักยภาพมากพอ ต้องเป็นธุรกิจหนังสือตัวใหญ่ๆ ซึ่งเขาจะทำอย่างไร คงต้องไปคิดไปประชุมกัน แต่ที่เรามองเห็นอย่างหนึ่งคือทำยังไงก็ได้ที่จะทำให้คนอ่านมองว่าการอ่านเป็นเรื่องเท่ อินเทรนด์ เท่ยิ่งกว่าฮิปสเตอร์อีก เมื่อก่อนคนจะมองว่าคนที่อ่านหนังสือเป็นคนที่ดูดี แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ ทุกวันนี้วงการหนังสือมันตกต่ำขนาดนี้ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ใหญ่ๆ ก็น่าจะคิดเรื่องนี้กันหน่อย ตัวเล็กๆ อย่างเราไม่รู้จะมีกำลังทำได้แค่ไหน นอกจากบอกว่าอ่านกันเถอะ มันดีนะ คือถ้าสุดท้ายทำให้มันกลายเป็นเทรนด์ เป็นแฟชั่น พอคนหันมาอ่าน เขาจะมองเห็นเองว่าจริงๆ แล้วการอ่านมันมีความหมายมากกว่านั้น มีอะไรที่ลึกมากกว่านั้น

โฟกัสเฉพาะแค่สีสัน ตอนนี้ปรับตัวอย่างไร?

เราคิดมาสี่ห้าปีแล้ว ก่อนหน้านี้เคยเห็นเคยเจอเรื่องที่คนพูดถึงอี-แม็กกาซีน เราก็ไม่เห็นว่ามันจะประสบความสำเร็จ แล้วไม่ประสบความสำเร็จแทบทุกเจ้าเลยนะ เรามานั่งดูว่า จริงๆ แล้วรายได้ของเรามันควรมาจากไหน เราจะไปยังไงต่อ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทีนี้คิดหลายทางว่าจะเปิดเว็บไซต์ขาย pdf สำหรับสมาชิก ส่งให้ทางอีเมล แต่ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเขาจะอ่านหรือเปล่า หรือกับบางคนที่อ่าน พออ่านเสร็จเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะส่งต่อไปให้คนอื่นหรือเปล่า อย่างนั้นคนทำก็ไม่ได้อะไรจริงไหม พอธุรกิจมันเป็นแบบนี้ หนังสือ สิ่งพิมพ์เป็นแบบนี้ สิ่งที่ทุกคนมองเหมือนกันหมดคือต้องไปทางออนไลน์ เหมือน พ.ศ. 2540 ไอเอ็มเอฟต้องเข้ามายุ่ง เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทปิดกิจการ คนหนุ่มคนสาวตอนนั้นที่ตกงาน ก็คิดเหมือนกันหมดว่า จะไปเปิดท้ายขายของ กับเปิดผับ คิดเหมือนกันหมด ทำเหมือนกันหมด พอเป็นแบบนี้ก็มีแต่คนขายไม่มีคนซื้อ เหมือนกันเลย ถ้าทุกคนทำเว็บไซต์หมด แล้วใครจะอ่านล่ะ ใครจะเข้าไป ตัวเลขที่มีคนอ่านเป็นแสนเป็นล้านพวกนั้นเราว่ามันเคลมทั้งนั้นแหละ ที่บอกว่าเปิดเว็บไซต์มาแล้วมีคนอ่านห้าแสนคน ยิ่งกว่ายอดพิมพ์หนังสืออีก สมัยก่อนหนังสือพิมพ์ 5,000-6,000 เล่มเคลมไปว่า 40,000 เล่ม ยังโอเคนะ ไอ้นี่คนอ่านเท่าไหร่ไม่รู้ เคลมกันไปห้าแสนวิว เป็นล้านวิว (หัวเราะ) อันนี้มันหนักกว่าอีกนะ พอทุกคนไปทางนู้นหมดจะเอาอะไร โฆษณาก็ไม่ได้ การสมัครสมาชิกก็บอกไม่ถูก

ปัจจัยที่ทำให้สีสันอยู่รอดคืออะไร?

ที่อยู่มาได้เพราะเพื่อนทั้งนั้นแหละ เพื่อนเราเป็นเจ้าของธุรกิจก็เอาเงินมาช่วยลงโฆษณา ส่วนเรา อาจจะขยับไปทำเว็บและทำหนังสือไปด้วย กำลังหาวิธีที่เกื้อหนุนกันโดยที่คนอ่านได้ประโยชน์ สปอนเซอร์ก็ได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่ต้องการจริงๆ คืออยากให้คนอ่านหนังสือ ทำหนังสือไม่มีคนอ่านจะทำไปทำไม เขียนหนังสือไม่มีคนอ่านจะเขียนไปทำไม เรื่องเงินไปหาจากอย่างอื่นได้ แต่อาชีพนี้มันต้องการคนอ่านไง

ในขณะที่คนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์กำลังเป็นกระต่ายตื่นตูมกับภาวะที่สื่อหลายหัวปิดตัว และต่างพร้อมใจกันตะโกนว่าเรากำลังจะตาย หลังจากฝุ่นตลบจางหาย มองว่ามันจะคลี่คลายไปทางไหน?

มันอาจจะฟื้นยากกว่าธุรกิจอื่นนะ ตอน พ.ศ. 2540 ที่ธุรกิจตกต่ำ สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้ตายไปด้วย แต่เป็นธุรกิจอื่นๆ รอบตัวที่กระทบกระเทือน แต่สิ่งที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์จะตายจริงๆ ตอนนี้คือโซเชียลมีเดีย ทีวีดิจิตอล เพราะฉะนั้น มันจะไปหนักตรงการฟื้นตัว เพราะจากช่วงสองปีที่ผ่านมา ความตกต่ำเหล่านี้มันทำให้หลายๆ ส่วนของวงการสื่อสิ่งพิมพ์แย่ไปด้วย ร้านเพลตงานไม่เข้า เพราะหนังสือปิดตัว คนไม่ซื้อหนังสือ แผงย่อย แผงกลางตาย สายส่งตาย พอสายส่งตัดยอด หนังสือก็ต้องพิมพ์น้อยลง โรงพิมพ์ได้กำไรไม่เท่าไหร่ สืบต่อกันเป็นลูกโซ่ คือมันเกี่ยวกับคนตั้งแต่ระดับบนจนคนใช้แรงงาน มันจะฟื้นตัวยาก ถ้าเป็นกรณีนี้

ตอนที่เริ่มรวน ราว พ.ศ. 2556-2557 คนทำหนังสือส่วนหนึ่งก็ไปทำทีวีดิจิตอล บางคนก็ไปทำช่องในยูทูบเพื่อหารายได้ มันเริ่มไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้วล่ะ คนทำสื่อสิ่งพิมพ์ที่ตกใจกันอยู่ ก็คงคิดมุมเดียวแหละว่าจะไปทำเว็บไซต์ ทำดิจิตอลทีวี ทำยูทูบ สปอตติฟายอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ไม่รู้จะเอาดอกผลมาเลี้ยงตัวเองยังไง

ทีวีดิจิตอลที่ผ่านมาก็ย่ำแย่ไม่ต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ล่าสุดก็มีข่าวว่า กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) จะช่วยเยียวยาทีวีดิจิตอลที่กำลังตกอยู่ในภาวะขาดทุน?

เราเพิ่งเขียนไป เมื่อตอนสายๆ วันนี้เองว่า จะมาน้ำหูน้ำตาไหลสงสารห่าอะไรกันตอนนี้ มันผิดตั้งแต่แรกแล้ว องค์กรนี้เราไม่ได้เชื่อถือขนาดนั้นอยู่แล้ว ตอนแรกตั้งราคาไว้สูงเพื่อไม่ให้คนได้สัมปทานเยอะ แต่ก็ยังเยอะอยู่ดี บางคนเอาไปสองช่องสามช่องแล้วก็ทำไม่ได้ คอนเทนต์รายการมีไม่พอ หาโฆษณาไม่ได้ ก็เจ๊ง กสทช.ต้องมานั่งเยียวยา บ้าไปแล้ว เราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้เลย คุณทำธุรกิจ เจ๊งก็ต้องเจ๊ง องค์กรนั่นก็ไปยุ่งอะไรกับเขา หรือกลัวเจ๊งแล้วไม่ได้เงินคืน มันเรื่องอะไร ไร้สติมากเรื่องนี้ องค์กรนี้ตอนรับสมัครเรายังไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไง ไม่เคยรู้เลยว่าสมัครกันเมื่อไหร่ ขนาดเราเป็นคนทำสื่ออยู่กับสื่อมาตั้งสี่สิบปี ตอนแรกก็สิบคนยี่สิบคน แล้วก็เหลือเจ็ดคน ทำกันยังไงเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้เลย คุมเงินเป็นหมื่นๆ ล้าน มันประหลาดตั้งแต่แรกแล้ว

นิตยสารสีสัน หรือเวทีรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ เคยถูกมองว่าเป็นสถาบันการวิจารณ์ที่มีคุณภาพ แต่ในยุคที่ใครๆ ก็มีพื้นที่ในการตัดสิน และวิจารณ์ผ่านโลกออนไลน์ ข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยถูกย่อย และถูกเล่าจากใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบนิตยสาร หรือเวทีมอบรางวัล มองว่าพื้นที่ที่เราเคยยืนอยู่ ถูกลดทอนคุณค่าลงบ้างไหม?

ไม่ เราทำงานของตัวเองไปให้ดีที่สุด เราเห็นคนที่วิจารณ์เพลงในพื้นที่ออนไลน์ เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันน่าเชื่อถือแค่ไหน เพราะเรายังเห็นมันด่าแม่กันเป็นประจำ (หัวเราะ) บางคนมากวนตีน มาทำอะไรก็ไม่รู้ คนถูกกวนตีนก็เกิดอารมณ์ เละไปอีก ทุกคนมีสิทธิ์เป็นนักวิจารณ์ เข้าโรงหนังไปดูกับเพื่อนสองคน ออกมานั่งกินส้มตำ มานั่งคุยกันก็คิดไม่เหมือนกันแล้ว แต่ทีนี้อินเทอร์เน็ตมันทำให้มีช่องทางมากขึ้น คนเขียนดี เขียนสนุกก็มีคนตามเยอะ เหมือนกลายไปเป็นดารา ซึ่งก็ย่อมต้องมีคนหมั่นไส้บ้าง ตอนแรกๆ เราก็อ่านเหมือนกันนะ ตอนหลังๆ ไม่ค่อยอ่านแล้ว

ทุกวันนี้วัฒนธรรมการวิจารณ์ในบ้านเราเป็นอย่างไร?

ก็เยอะขึ้นแล้ว อย่างที่เห็นในสื่อออนไลน์ เขาก็เป็นนักวิจารณ์กัน ให้คนอ่านตัดสินเอาแล้วกันว่าดีหรือไม่ดี แต่การวิจารณ์มันแค่บอกว่า ชอบหรือไม่ชอบไม่ได้นะ มันควรบอกว่าดี ไม่ดี หรือเฉยๆ ชอบหรือไม่ชอบเป็นเรื่องส่วนตัว เราต้องพยายามมองด้วยสายตาที่เป็นกลาง เช่น เกลียดศิลปินคนนี้มาก นิสัยส่วนตัวแย่มาก แต่ในแง่ศิลปินก็ต้องฟังมันนะ และถ้ามันทำดีก็ต้องชื่นชม ถ้านิสัยเลวแล้วไม่ชมงานนี่ไม่ได้นะ เราต้องมองที่ตัวงาน มองที่เนื้องาน

เพลงมีไว้ฟัง หนังมีไว้ดู แล้วทำไมเราถึงต้องอ่านมัน?

บางทีมันเหมือนมัคคุเทศก์ไง คือในแต่ละเดือนจะมีผลงานออกมามากมาย แล้วคนที่ติดตามจริงๆ จังๆ มันมีไม่เยอะหรอก นักวิจารณ์เขาจะพาเราไปรู้จักกับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น เราอาจจะฟังมาดอนนา แต่ไม่เคยฟังอาริอานา แกรนเด เขาก็อาจแนะนำเราได้ว่า เด็กคนนี้น่าสนใจอย่างไร ฝีมือแต่งเพลงไม่แพ้มาดอนนาตอนสาวๆ เลยนะ ซึ่งถ้าคนมาอ่าน ก็อาจจะอยากลองฟังเพลงของคนคนนี้บ้างเหมือนกัน หรือใครๆ ก็รู้จัก Eagles จริงไหม แต่มันจะมีวงดนตรีวงหนึ่งที่มีอิทธิพลกับวง Eagles คนอาจจะไปลองฟังตามแล้วชอบขึ้นมา ขยายขอบเขตการฟังเพลง ทำให้คนตั้งคำถามว่าทำไมวงที่เป็นอิทธิพลไม่ดังเท่า หรืออาจตั้งข้อสังเกตว่าเพราะมันทำเพลงที่ฟังยากไป ช่วยให้ลงลึกมากกว่าฟังเพื่อความบันเทิง ฟังผ่านหู ฟังเพื่อกล่อมตัวเอง หรือฟังเพื่อลงลึกถึงเสียงดนตรี การวิจารณ์มันช่วยเปิดช่องเล็กๆ ให้คนได้ไปศึกษาต่อ

ในวงสนทนาต่างๆ มักมีการหยิบยกเรื่องการขาดวัฒนธรรมการวิจารณ์ของสังคมไทยมาพูดอยู่เสมอ ถ้าเรามีการวิจารณ์ที่แข็งแรง สุดท้ายมันจะดีต่อประเทศชาติอย่างไร?

ดีมันดีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับคนวิจารณ์ว่าจะศึกษาให้จริงจังแม่นยำแค่ไหนด้วย และคนที่ได้รับการวิจารณ์ก็ต้องยอมรับด้วย ไม่ใช่ตั้งท่าจะตอบโต้ด้วยการบอกว่า 'แน่จริงทำไมไม่มาทำเอง' อย่างเดียว ถ้าไม่เลิกความคิดแบบนี้ยังไงก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อก่อนก็มีคนถามเราแบบนั้นเยอะนะ เราก็ทำของเราให้ดูเลย ทำอัลบั้มหลายชุด ทำอย่างดีด้วย มีมาตรฐาน แต่ไม่ว่าใครจะทำได้หรือไม่ได้ คำถามแบบนี้มันไม่ใช่คำถามที่คนมีสติปัญญาเขาจะถามกัน คนวิจารณ์เขาได้แค่ค่าเรื่อง เขาไม่ได้จงเกลียดจงชังอะไรคุณ เขาเหมือนกระจกบานหนึ่งที่ส่องกลับไปยังเจ้าของผลงาน ตรงไหนไม่ดีก็เก็บไปแก้ ตรงไหนที่วิจารณ์แย่ โกรธ ก็ไม่ต้องไปฟังมัน แต่ไม่ต้องมาถามท้าท้ายแบบนั้น ซึ่งการวิจารณ์เนี่ย ไม่ต้องไปเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมอะไรหรอก วัฒนธรรมมันดูสูงส่งไปหน่อย การวิจารณ์โดยคนต่อคน คนต่อชุมชน มันมีอยู่โดยธรรมชาติแล้ว เพียงแต่บ้านเราถูกปกครองด้วยระบบราชการมานาน ซึ่งระบบนี้มันต้องสั่งจากบนลงล่าง การวิจารณ์จึงลำบาก มันเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตปกติด้วย เช่น คนตะวันออก เอเชีย ไทย จีน เถียงพ่อแม่ไม่ได้ คือมองอีกแง่ มันก็เป็นสิ่งงดงามนะที่เราจะเคารพผู้ใหญ่ กตัญญูกตเวที แต่ก็ควรคุยกันได้บ้าง นี่เล่นไม่คุย ไม่โต้เถียง ไม่มีอะไรเลย แต่ถ้าในภาพรวม เราคิดว่าสามสิบกว่าปีที่ผ่านมาดีขึ้นเยอะ

ถ้าวันนี้ต้องวิจารณ์นิตยสารสีสันตลอดระยะเวลา 28 ปี จะวิจารณ์มันว่าอย่างไร?
 
อยากให้ไปได้มากกว่านี้ หมายถึงว่าเรื่องรูปแบบ แต่เรื่องเนื้อหาลักษณะหนังสือของเรามันเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว มันคือศิลปะทุกแขนง เราต้องการให้มีงานวิจารณ์ ครึ่งหนึ่งของเล่มจะเป็นงานวิจารณ์ล้วนๆ แนวของเราคือจะไม่คุยเรื่องส่วนตัว สัมภาษณ์ศิลปินจะไม่เหมือนที่อื่น จะคุยแค่เรื่องงาน แนวความคิดเป็นหลัก เน้นว่างานที่คิด ที่ทำเป็นยังไง ช่วงหนึ่งเราเคยคิดจะปรับเป็นกึ่งสังคมด้วยซ้ำ เราอยากจะทำครึ่งหนึ่งของนิตยสารที่นอกจากความบันเทิงให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม การเมืองนิดๆ ที่ให้คนได้เอาไปใช้ต่อยอด อาจเป็นเรื่องมลพิษ เรื่องเอารัดเอาเปรียบในสังคมการค้า ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็เขียนมาตลอด และในสีสันก็มีคนที่เขียนเรื่องอะไรพวกนี้อยู่แล้วอย่างชาติ กอบจิตติ ปณิธาน หล่อเลิศวิทย์ วรพจน์ ประพนธ์พันธ์ บท บก.ของเราก็ไม่จำกัดอยู่แล้ว ถ้าใครอ่านสีสันช่วงแรกๆ จะมีสกู๊ปเรื่องสภาพแวดล้อม หรืออื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่ถ้าทำแบบนั้นจริงๆ จังๆ มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ คือต้องเพิ่มคน ถ้าขยายสเกลไปขนาดนั้นต้องใช้คนเยอะ เลยไม่ไม่ได้ทำ

ถึงวันนี้ การมอบรางวัลของเวทีสีสันอะวอร์ดส์ยังสำคัญอยู่ไหม?

เรายังทำอยู่นะ บริษัทเพลงใหญ่ๆ เขาอาจไม่ออกอัลบั้มก็เรื่องของเขา คือใครออกเป็นแผ่นซีดีเราก็เอามาตัดสิน พวกอินดี้จะออกแบบนี้เยอะ กติกาของเราคือ เราจะไม่เอาเพลงที่อัพโหลดขึ้นยูทูบมาตัดสิน ตราบใดที่คุณไม่ทำขายเราก็เอาเข้ามาตัดสินไม่ได้ เพราะวันหนึ่งมันอัพกันทีเป็นร้อยๆ เพลง เดือนหนึ่งไม่รู้กี่พันเพลง โลกนี้ไม่มีใครทำได้ แต่ถ้าทำมาเป็นซิงเกิ้ลใส่แผ่นมาแค่เพลงเดียวเรารับ อย่างบางเพลงเราก็เสียดายเหมือนกัน เช่น เพลงราตรีสวัสดิ์ ของกอล์ฟ-ฟักกลิ้งฮีโร่ เป็นเพลงที่ดีมาก แต่ก็ไม่ได้เข้ารอบ เพราะไม่ตรงตามกติกา

ส่วนรางวัลยังสำคัญอยู่ไหมก็ต้องถามคนรับ เราทำหน้าที่พิจารณาตัดสินให้ ถ้าคนรับเขายังมองว่ามันสำคัญ เราก็จะยังทำต่อ ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น BRIT Award, Grammy Award หรือ American Music Award ก็ยังมอบยังรับกันอยู่ คนรับก็ยังรู้สึกภาคภูมิใจ เอาจริงๆ ธรรมชาติของคนได้รางวัลมันรู้สึกดีอยู่แล้ว มีคนได้ฟังเขา บางคนอาจขายได้ไม่เยอะ แต่ได้รางวัลก็รู้สึกภูมิใจที่มีคนนั่งฟังเพลงของเขา หรือไม่ต้องได้รางวัล แค่เข้าชิงนี่ก็สุดยอดแล้ว แต่ละปีผู้เข้าชิงคัดมาจากเพลงหรือวงดนตรีเป็นร้อยเป็นพันนะ ได้เข้ารอบมา 5 คนสุดท้ายนี่ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่ในที่สุดการตัดสินแต่ละปีจะต้องมีคนชนะสักคน เราไม่ใช่รางวัลโนเบลที่ตัดสินกันทั้งชีวิต

ตัดสินอย่างไรว่าใครควรได้หรือไม่ได้?

แล้วแต่กรรมการแต่ละคน แล้วแต่รสนิยมของกรรมการ คือกรรมการที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าเพลงนี้ดีตรงไหน เนื้อหา ทำนองสอดคล้องกลมกลืนไหม เรียบเรียงดีไหม แค่กีตาร์กับเมาท์ออแกนเรียบเรียงให้ถูกจังหวะก็ถือว่าเป็นการเรียบเรียงที่ดี กีตาร์สองตัว ตัวหนึ่งสตรัมคอร์ด อีกตัวพิกกิ้งเข้ามาในจังหวะที่เหมาะสมก็ถือเป็นการเรียบเรียงที่ดี เพราะฉะนั้นคนที่มีประสบการณ์ในการฟังเพลงมานานๆ วางแผ่นฟังสักแป๊บเดียวก็รู้แล้วว่าเพลงนี้จะรอดหรือไม่รอด บางคนอาจชอบแจ๊ซ ป๊อป ร็อก แต่คนพวกนี้เขาฟังเพลงได้ทุกแบบอยู่แล้ว ตอนลงคะแนนก็จะรู้ เพียงแต่ส่วนตัวจะชอบอะไรมากกว่า ทุกคนรู้ว่าเพลงมีคุณภาพอยู่ตรงไหน

วงการดนตรีบ้านเรายุคนี้เป็นอย่างไร?

มีทั้งสองอย่าง สิ่งที่ดี คือเมื่อระบบธุรกิจมันรวนไปหมด ค่ายใหญ่ๆ ไม่มีใครกล้าออกอัลบั้ม ดังนั้นโซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางให้ศิลปินอิสระแสดงผลงานได้มากขึ้น แล้วช่องทางนี้มันก็ไม่ถูกโฆษณามาข่ม เมื่อก่อนคนตัวเล็กๆ ออกมา ไม่มีคนมองเห็นหรอก เมื่อก่อนมีแค่โทรทัศน์ วิทยุ พอโฆษณาโหม ก็กลบหายไปหมด แต่ตอนนี้มันเท่าๆ กันแล้ว เพราะขาใหญ่เขาก็ไม่ออกอัลบั้มแล้ว

ส่วนที่เป็นด้านลบคือ งานที่ออกมาเยอะๆ ก็มีงานที่ไร้คุณภาพเยอะ เพราะเมื่อมันออกง่าย เลยไม่ค่อยพิถีพิถันกัน จนอาจทำให้ถึงขั้นคนเริ่มเบื่อดนตรี เดี๋ยวนี้เข้ายูทูบวันหนึ่งฟังกี่เพลง ไม่ถึงสิบเพลงหรอกมั้ง เพราะไล่ๆ เปิดๆ ไปสักพักก็เบื่อ และจุดที่แย่อีกอย่างสำหรับวงการเพลงบ้านเราคือธุรกิจดนตรีไม่ช่วยกัน ทั้งๆ ที่เบอร์ใหญ่ๆ ควรทำตัวเป็นหัวหอก เดี๋ยวนี้ต้นทุนการผลิตลดลงกว่าเมื่อก่อนเยอะ เมื่อก่อนการทำเพลง เวลาจะเรียบเรียงต้องมาเจอหน้ากันหมด เปลืองข้าว เปลืองไฟ เปลืองน้ำ อัดแล้วอัดอีก เดี๋ยวนี้ทำในคอมพิวเตอร์ แก้กี่รอบก็ได้ การอัดอาจส่งไฟล์เสียงไปก่อน แล้วอัดดนตรีใส่ทีหลัง แผ่นซีดีก็ถูกลง ค่าจัดเก็บทุกอย่างถูกลง กลับไม่ยอมทำออกมา ทั้งที่ขายสองสามพันแผ่นก็คุ้มแล้ว ธุรกิจสังกัดใหญ่ต้องช่วย เพราะตัวเองก็ร่ำรวยเติบโตมาจากการทำดนตรี แทนที่จะไปทำโทรทัศน์ ถ่ายทอดสดกีฬา เข้าตลาดหุ้น ต้องไม่ลืมว่าตัวเองโตมาจากเสียงเพลง

เขาอาจจะมองแค่ในแง่ตัวเลขทางธุรกิจ?

คุณทำธุรกิจวงการใดก็แล้วแต่ พอมันจะแย่ ไม่ใช่คุณกระโดดหนีไปเลยนะ ต้องช่วยอุ้มชูหรือหาวิธีช่วยกันสิ เพราะว่าคุณเติบโตมาจากวงการนี้ เรื่องของบุญคุณมันควรจะมีอยู่หรือเปล่า หรือเขาไม่มีกัน เราก็ไม่แน่ใจ

ใช้คำใหญ่ๆ อย่างขาดจิตวิญญาณได้ไหม?

ไม่ต้องใช้คำสูงส่งขนาดนั้น เราพูดกันแค่ว่า คุณน่าจะดูแลวงการที่ทำให้คุณรวย น่าจะดูดำดูดีกันสักหน่อย วงการเพลงเมืองนอกเวลาธุรกิจดนตรีแย่ๆ เจ้าใหญ่ๆ เขาจะออกมา คือแค่ค่าลิขสิทธิ์เขาก็รวยจนไม่ต้องทำอะไรแล้ว แต่เขาก็ออกมาทำอัลบั้มเต็ม เพราะรู้ว่าแฟนๆ ต้องซื้อ บริษัทต่างๆ ในเชิงแข่งขันก็แข่งกันไป แต่พอแย่ๆ เขาก็มาช่วยกันว่าจะกระตุ้นทั้งระบบยังไง เริ่มจากคุยกับฝ่ายทำฮาร์ดแวร์ เครื่องเสียง หรือระบบอื่นๆ ว่าจะทำอะไรได้ไหม แล้วตอนนี้ สิ่งที่กำลังจะกลับมาคือเครื่องเล่นเทป ก่อนหน้านี้ไวนิลมาก่อน เพราะเขาพยายามทำให้มันเป็นเทรนด์ ตอนแรกมันเป็นแฟชั่น ตอนหลังมันก็กลายเป็นอุตสาหกรรม ฮาร์ดแวร์ขายได้ ซอฟต์แวร์ก็ขายได้ ตอนนี้จำนวนแผ่นไวนิลขายได้เกือบเท่าซีดีแล้ว วงการหนังสือก็กระตุ้นแบบนี้ได้ ทำให้มันเป็นเทรนด์

ในยุคสมัยที่สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือ นิตยสารยังเป็นเทรนด์ หรือยังเป็นวัฒนธรรมที่รุ่งเรือง ตอนนั้นนิตยสารสีสันเป็นอย่างไร?

ขายได้เยอะกว่านี้ (หัวเราะ) ขายได้หลักหมื่นต่อเล่ม หนังสือขายยอดอย่างคู่สร้างคู่สม สกุลไทยเขาขายได้หลักหมื่นหลักแสนเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างบ้านเราทุกวันนี้ ขายได้ห้าหกพันเล่มก็เหนื่อยแล้ว ยิ่งหนังสือที่พิมพ์ดีๆ สีเยอะๆ ก็ไม่กล้าพิมพ์ยอดเยอะ อย่างที่บอกว่าหนังสือราคา 120 บาท ต้นทุนเกินกว่านั้นไปแล้ว ก็ต้องอยู่ด้วยโฆษณา ไหนจะค่าเพลต ค่ากระดาษ ค่าคนทำงาน ค่าสายส่ง รวมแล้วเกินหมดแหละ

คนทำงานสื่อสิ่งพิมพ์อย่างคอลัมนิสต์ หรือบรรณาธิการ สมัยนั้นถูกมองว่าเท่จริงหรือเปล่า?

คนก็พูดกันไปเอง ตอนนี้ไม่เห็นเท่อะไรเลย บรรณาธิการเดินชนกันจะตายแล้ว เมื่อก่อนอาจใช่ เพราะกว่าจะมาเป็นบรรณาธิการได้มันยาก ต้องมีความสามารถ ต้องได้รับการยอมรับ คนจึงมีความนับถือ เกรงใจ เมื่อก่อนในวงการหนังสือบรรณาธิการเกือบจะจำชื่อกันได้หมดทุกคน

แสดงว่าทิวา สาระจูฑะ ไม่ได้มาทำงานนิตยสารเพราะคิดว่ามันเท่?

ไม่มีอะไร ตอนนั้นเรียนอยู่แล้วอยากหาเงินเที่ยว มีหนังสือชื่อ SUPERSONIC อยู่ เลยไปของานเขาทำ เราชอบนั่งฟังเพลงตามผับ มีเพื่อนเป็นนักดนตรีเยอะ เวลาไปนั่งก็มีค่าใช้จ่ายเป็นพวกค่าเหล้า เบียร์ ก็เลยต้องหาเงิน และต้องหากับสิ่งที่มีความสุขด้วย เลยไปทำหนังสือดนตรี

ทำไมไม่เล่นดนตรี?

เราคิดแล้วว่าเราไปไม่ไกลหรอก ตอนเรียนหนังสือก็เล่นดนตรี เป็นรุ่นน้องอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี มาจากสิงห์บุรีเหมือนกัน แต่เราคิดว่าถึงจุดหนึ่งเราชอบหนังสือมากกว่า ตอนนี้จะได้จับกีตาร์เฉพาะเวลาทำเพลงรับจ้าง แต่งเพลงหนัง โฆษณา พอเสร็จแล้วก็แทบไม่ได้จับเลย เมื่อก่อนจับทุกวัน เดี๋ยวนี้ก็หงุดหงิดตัวเองว่าทำไมไม่ทำให้ได้ทุกวันบ้าง ตอนหลังออฟฟิศไม่มีวงเหล้าแล้วเลยไม่ได้จับเลย จับเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ ตอนนี้มีกีตาร์สามตัวเหมือนมีเมียสามคนที่ไม่ได้เอาเลย (หัวเราะ)

หลงใหลอะไรในการทำนิตยสาร ถึงอยู่กับมันได้เกิน 30 ปี?

เราว่ามันเป็นงานที่ครอบคลุมทุกอย่าง ทั้งอาร์ต การดีไซน์ เรื่องราว การเสนอความคิด ซึ่งถ้าเราเสนอความคิดที่มีประโยชน์ต่อสังคม ส่วนเล็กๆ ของสังคมก็อาจจะดีขึ้น ในห้าหกพันคนที่รู้จักเรา ถ้ามีสักสองคนดีขึ้นมันก็น่าจะพอใจแล้ว หรือมีคนที่ฉลาดกว่าเรา เห็นว่าเราผิดแล้วแย้งมา เราก็ฉลาดขึ้นด้วย มันเป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น ไม่มีอะไรไม่ดี เราทำหนังสือมาตลอด และคิดว่าไม่เคยทำอะไรที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม ยกเว้นชีวิตส่วนตัว ที่กินเหล้าเหลวแหลกอะไรนั่นก็ช่างมัน (หัวเราะ) เราชอบบอกว่า เรามีจมูกสองรู รูหนึ่งใช้หายใจให้ตัวเอง อีกรูหายใจให้สังคม ไม่จำเป็นต้องรวยก่อนเพื่อจะทำให้สังคม มันทำไปพร้อมๆ กันได้

สุดท้ายถ้าสีสันต้องปิดตัวไป รับได้ไหม?

ได้ๆ ไม่เป็นไรนี่ ถ้าต้องเป็นหนี้เป็นสินก็ต้องเลิก เราไม่ได้รวย ไม่มีเงิน แต่ไม่ชอบเป็นหนี้ ไม่มีเงินฝาก มีเงินซื้อบุหรี่ ซื้อข้าว ซื้อเหล้ากินก็โอเค เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มจะเป็นหนี้เข้าเนื้อก็ต้องหยุด หาอย่างอื่นที่ไม่เป็นหนี้ทำ พร้อมเมื่อไหร่ค่อยกลับมาทำ หรืออาจไม่ทำแล้วก็ได้

ถ้าต้องปิดตัวไปอยากทำอะไรต่อ?

เยอะมากเลย อยากแต่งเพลงไปเรื่อยๆ เขียนหนังสือไปเรื่อยๆ อย่างในเฟซบุ๊กนี่ถ้าคนที่เห็นเราเขียนสเตตัสมาตั้งแต่แรกๆ จะเห็นว่ามันหายไปหมดแล้ว เพราะเราลบทิ้งหมดแล้ว เราเซฟเก็บของเราไว้ คัดไว้เผื่อรวมเล่ม เราจะเขียนทั้งเป็นการเป็นงาน ทั้งตลกโปกฮาไปเรื่อย อาจจะรวมเป็นชุดๆ แล้วไปพิมพ์ขายกับคนที่ติดตามกลุ่มเล็กๆ ขายให้คนที่อยากอ่าน ขายหว่านไปก็เท่านั้น เหมือนสีสันที่เป็นนีชมาร์เก็ต คนซื้อจะเป็นคนเฉพาะทางจริงๆ คิดว่าในอนาคตหนังสือส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนั้น เมื่อก่อนมีหนังสือพวกตีหัวเข้าบ้าน ชอบพิมพ์สักพันห้าร้อยเล่ม แล้วไปหว่านตามบริษัทโฆษณาสักห้าร้อย ไปตามสยามฯ ไปให้เอเจนซี่เห็นสักพันหนึ่ง แล้วก็ให้นายทุนเห็นแค่นั้น เคลมยอดเอา ไม่ได้สนใจว่าจะขายหรือไม่ขาย มีหลายแบบนะวงการนี้ มีทั้งดีทั้งเลว พวกฟอกเงินก็มี อย่าคิดว่าไม่มี ทำหนังสือเพราะอยากดังก็มี รวยแล้ว แต่ยังไม่มีชื่อ ก็ลงทุนทำหนังสือเพื่อให้ชื่อของตัวเองเป็นที่ยอมรับขึ้นมาก็มี

ยังมีสิ่งที่เรียกว่าความฝันหลงเหลืออยู่ไหม?

ไม่มีแล้ว ถ้าจะมีก็แค่คงอยากให้ประเทศนี้ดีขึ้น อยากให้คนมีปัญญามากขึ้น แต่สติต้องมากกว่าปัญญาด้วย เพราะทุกวันนี้ปัญญาเยอะ แต่ก็ใช้ไปทางเฮงซวย ไม่รู้จักเอาสติบังคับ อยากให้คนไทยรู้จักกาลเทศะ รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น รู้จักระเบียบวินัย คนพูดกันมาตั้งแต่โบราณแล้ว แต่ไม่ค่อยสำเร็จ อยากให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยเฉพาะเศรษฐี 25-30 ตระกูลพวกนี้ อยากให้คิดถึงบ้านเมืองมากขึ้นด้วย นี่ไม่ได้ว่าเขาหรอกนะ ถือว่าเป็นการเชิญชวน (หัวเราะ)
เรื่อง : ฆนาธร ขาวสนิท 
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE