Marsmag.net

ประสบการณ์จริงของผู้ป่วยและเอาชนะโรคซึมเศร้า ‘ดาวเดียวดาย’

‘โลกไม่เข้าใจเรา หรือเราไม่เข้าใจโรค, หมดศรัทธาในมนุษย์, มรดกเศร้าจากบ้านที่ไม่ปกติ, กอดตัวเองไม่เคยอุ่น และคนไม่สมบูรณ์แบบ’ คือตัวอย่างชื่อตอนใน ‘เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง’ สารคดียอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี 2557 โดย ‘ดาวเดียวดาย’ เจ้าของนามปากกา ผู้ข้ามผ่านความยากลำบากในการดำรงชีวิต เมื่อครั้งต้องเผชิญสภาวะ ‘โรคซึมเศร้า’ ที่ทำให้เธอเลือกหันหลังให้โลก… จมอยู่กับความระทมเพียงลำพัง

หลังมีโอกาสอ่านสารคดีเล่มนี้จบ นอกจากรับทราบในสิ่งไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ว่ามาจากปัจจัยทางเคมีในร่างกาย และผลกระทบด้านอารมณ์จากภายนอกแล้ว ยังได้รู้จักตัวตนของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่หาญกล้าก้าวออกมาจากถ้ำอันมืดมิด เพื่อตีแผ่ด้านมืดในชีวิตสู่สาธารณะ

‘ดาวเดียวดาย’ คือนามปากกาของ ‘ไขศรี วิสุทธิเนตร’ ซึ่งครอบครัวและเพื่อนๆ เรียกว่า ‘หญิง’ เธอมีความชื่นชอบในการเขียนกลอน, เรื่องสั้น, บทความ และสารคดี เป็นอย่างมาก บุคลิกภาพเธอมีความ ‘ไฮเปอร์’ อยู่ไม่น้อย เรียกว่าต้องคิด ต้องขยับทำสิ่งละอันพันละน้อยตลอดเวลา

‘ไบโพลาร์’ ผู้ฉุดรั้งความเป็นตัวตนให้ดำดิ่ง

ตัวตนที่เคยเป็นกลับเปลี่ยนไป เมื่อไม่อาจควบคุมอารมณ์ได้อย่างเคย สื่อออกมาในลักษณะของอาการฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด ไม่หลับนอนหลายวัน บางครั้งตรงกันข้าม ซึม ไม่พูดจา สลบเหมือดบนที่นอน คิดเสมอว่า ‘ไม่อยากตื่นมาเจอวันพรุ่งนี้’

“คือเหมือนมันมีอะไรลึกๆ อยู่ในใจ โดยพื้นฐานเป็นคนไฮเปอร์ ต้องทำอะไรตลอดเวลา มีกิจกรรมชีวิตจนแทบไม่ว่าง พอนอนมากๆ บางครั้งช่วงที่แย่มาก รู้สึกได้เลยว่าไม่ใช่ตัวเรา เหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหายไป อยากกลับไปเป็นตัวเรา แต่ทำไม่ได้ มันหมดความสนุกกับทุกเรื่องที่เราเคยสนุก

“สุดท้ายกลับมาได้ ต้องขอบคุณคุณหมอในการบำบัดโดยเฉพาะรอบสอง ที่หมอค่อยๆ แกะปมปัญหาของเราทีละชั้น มีครั้งหนึ่งเคยถามหมอว่า ทำไมเราอยากกลับไปเป็นคนเดิมแต่ทำไม่ได้ เหมือนตอนเริ่มเขียนหนังสือใหม่ๆ พวกนิทานเด็ก วรรณกรรม เรามีจินตนาการเยอะมาก แต่ช่วงป่วยกลับรู้สึกว่ามันตายไปจากเรา หมอบอกให้ลองฝืนดู ลองบังคับตัวเองให้จินตนาการ พอพยายามก็รู้ว่าทำได้ ฝึกไปเรื่อยๆ ก็ค่อยๆ กลับมา แต่ความใสอย่างในตอนเด็กๆ ไม่มีอีกแล้ว มันมีโลกความเป็นจริง มีความดาร์คมากขึ้น”

คุณหญิงเปิดใจเล่าถึงผลกระทบของโรคซึมเศร้า กับความเปลี่ยนแปลงให้เราฟัง อาการของเธอคือโรคทางจิตเวชเรียกว่า ‘ไบโพลาร์’ (Bipolar disorder) หรือ ‘โรคอารมณ์สองขั้ว’ ซึ่งเธอเป็นแบบชนิดที่ 2 มีอารมณ์ขั้วหนึ่งแสดงออกในรูปแบบ ‘ภาวะอารมณ์คลุ้มคลั่ง’ หรือ ‘Hypo mania’ รู้สึกว่าตนมีพลังงานสูง ใช้เงินเปลือง คิดเยอะ มีโครงการต่างๆ เต็มหัว ความต้องการในการนอนลดลง แต่ไม่อ่อนเพลีย กระนั้นก็ขาดความจดจ่อต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ

ส่วนอีกขั้วคือ ‘ภาวะซึมเศร้า’ หรือ ‘Depressive state’ อาการอารมณ์ตก ไม่ร่าเริงสนุกสนาน ความอยากอาหาร และการนอนลดลง หมดเรี่ยวแรง ไม่อยากสังสรรค์ หรือออกสังคม มีความคิดทำร้ายตนเองจนไปถึงอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่อารมณ์ปกติ แต่คือการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในสมอง ซึ่งครอบงำบุคคลนั้นจนทำให้สูญเสียความเป็นคนเดิมไป

“ความเปลี่ยนแปลงมองเห็นได้ชัดจากความสัมพันธ์ในครอบครัว ตอนป่วยมันเหมือนเราอยู่คนเดียว สู้คนเดียว พูดกับใครก็ไม่เข้าใจ คล้ายเก็บตัวในถ้ำ ไม่อยากเจอแม้กระทั่งแม่กับน้องชาย ที่ปกติต่างคนต่างใช้ชีวิตกันอยู่แล้ว พอมีอาการยิ่งห่างเหินกว่าเก่า น้อยใจกับการแสดงออกของแม่ ที่เหมือนไม่สนใจไม่ขอรับรู้อะไรทั้งสิ้น น้องชายเองถึงเขาไม่เคยทิ้งเรา แต่ก็คิดไม่ออกว่าจะช่วยอย่างไร เพราะเขาเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน ส่วนตัวเชื่อว่าน้องก็น่าจะมีภาวะซึมเศร้าคล้ายเรา

“พออาการดีขึ้น เรียนรู้ว่าเมื่อเปลี่ยนทัศนคติแม่ไม่ได้ ตัวเองคงต้องเปลี่ยน อย่างเรื่องที่เคยน้อยใจว่าเขาลำเอียง รักน้องมากกว่า ก็มองว่าขนาดแมวยังรักลูกไม่เท่ากัน จึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหมอบอกว่าการที่เราสามารถก้าวข้ามทัศนคติด้านลบต่อแม่ คือก้าวสำคัญมากๆ ในการบำบัด ช่วยประเมินว่าเราหายป่วยแล้วจริงๆ”

ยอมรับความผิดปกติแล้วทุ่มเทให้การรักษา

ในเรื่องการรักษา คุณหญิงต้องใช้ความพยายามอย่างสูงเพื่อเอาชนะและข้ามกำแพงความคิด เตือนตนเองเสมอว่าตนเองเป็นผู้ป่วย และถ้าอยากกลับมาเป็นคนเดิม ต้องตั้งใจรับการบำบัดอย่างจริงจัง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในการพบแพทย์ครั้งแรก เธอยังไม่มีความเข้าใจมากพอเกี่ยวกับโรคที่ตนกำลังเป็น จึงตัดสินใจหยุดยาเอง สุดท้ายพบว่าอาการตีกลับ รุนแรงเป็นทวีคูณ ถึงขั้นใช้คำว่า ‘ทรมานกว่ายังไม่ได้รับการรักษา’ เมื่อตัดสินใจพบแพทย์ครั้งที่ 2 จึงตั้งมั่นมากกว่าเดิม

“จริงๆ เป็นคนเกลียดการกินยามาก ไม่อยากกิน เคยหยุดยาแล้วมันดีดมาเป็นอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งมันทำให้เราทรมานมากกว่าเดิม พอตั้งใจ จึงกลายเป็นคนมีวินัยในการกินยา และไม่อายด้วยนะคะเวลาหยิบซองยามีชื่อโรงพยาบาลจิตเวชออกมาให้ใครเห็น ช่วงแรกยาเยอะมาก กินมันทั้งวัน กินแล้วก็นอน ง่วงมาก นอนแบบไม่โงหัวขึ้นมาเลย บางทีเอาตัวเองลงมาจากเตียงได้ นั่งคุยอยู่ครู่หนึ่ง พอเพื่อนเผลอปุ๊บเราหลับทันที กลายเป็นว่าพอนอนก็ไม่ทำให้คิดอะไร มีความสุขมากขึ้นกับการที่ไม่ต้องไปกังวลอะไร จึงเอาแต่นอนถึงขั้นเสพติดเลยก็ว่าได้

“มาบำบัดรอบที่สอง คุณหมอลองปรับเปลี่ยนยาให้ เพราะว่ากินยาแล้วมันมีผลข้างเคียง รู้สึกไม่สบายกาย ท้องผูก นอนมากเกินไป เปลี่ยนยามา 3 แบบจนมาเจอยาที่เหมาะกับเรา ค่อยๆ ลดยาจนหยุดยาได้ ถึงวันนี้คุณหมอบอกว่า หายป่วยแล้วค่ะ…”

‘ธรรมะ’ อีกหนึ่งอาวุธต่อสู้โรคซึมเศร้า

นอกจากการใช้ยารักษา รวมไปถึงพูดคุยกับแพทย์เพื่อแก้ปมปัญหาที่เกาะกินใจ ‘ธรรมะ’ เป็นอีกหนึ่งอาวุธลับใช้ต่อสู้โรคซึมเศร้า สอดคล้องกับนิสัยส่วนตัว ที่มักใช้ความพยายามค้นหาคำตอบของชีวิต อยากรู้เรื่องคำสอนในศาสนาต่างๆ ถึงขั้นเคยเป็นคริสเตียนอยู่หลายปี เคยศึกษาข้อมูลของศาสนาอิสลาม ด้วยความมุ่งหวังจะค้นพบคำตอบของชีวิต จนท้ายที่สุดพบว่าแค่รู้นั้นไม่พอ ต้องนำหลักคำสอนมาปฏิบัติด้วย

“มันมีคำถามในใจตั้งแต่จำความได้ว่าเราเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน ตอนนั้นเป็นคริสเตียนอยู่สิบกว่าปี แต่ก็เคยคิดที่จะไปเป็นมุสลิมนะ หาคัมภีร์มาอ่าน พบว่าทุกอย่างพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ก็กลายเป็นโจทย์ข้อใหม่ ทำไมหลายๆ เรื่องพระเจ้าอนุญาตให้เกิดขึ้น จึงเกิดขึ้น เราไม่ได้ทำอะไรผิด เมื่อรู้สึกว่าสิ่งที่อยากรู้ไม่อาจหาคำตอบได้จึงไม่อยากมีศาสนา มีคนแนะนำให้ลองไปปฏิบัติธรรมอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้าไปมาแล้วรู้สึกว่าเราไปแบบโบ๋ๆ ไม่รู้ไปเพื่ออะไร ไปแบบไม่มีความเข้าใจธรรมะ กระทั่งไปที่วิเวกอาศรม ชลบุรี เค้าไม่ได้บังคับให้เราปฏิบัติอยู่กับที่ เค้าให้คำตอบเราด้วย

“อาจารย์ผู้สอนถ้าเป็นนักสื่อสารก็เรียกว่าเก่งมาก ทำเรื่องยากให้เข้าใจง่าย รู้ว่าทำไปเพื่ออะไรก็เอากลับมาใช้ในชีวิต แต่ออกตัวก่อนนะคะว่าไม่ได้เป็นคนที่ต้องนั่งสมาธิ สวดมนต์ทุกวัน ที่เรียนรู้มาคือเอาไปใช้กับชีวิตเลย เอามาใช้ให้มันเป็นธรรมชาติ

“เหมือนบางทีอารมณ์เราเคยแกว่ง แต่หลังจากไปเรียนรู้ตรงนี้มา จะเริ่มจับสัญญาณได้ เช่นอาการหนึ่งของโรคนี้ พอเริ่มนอนไม่หลับติดต่อกัน 1-2 วัน เรามีอารมณ์หงุดหงิดกับอะไรง่ายๆ นี่แสดงว่ามันเริ่มมาแล้ว”

จากบันทึกคนป่วยสู่สารคดีรางวัล ‘นายอินอะวอร์ด’

ด้วยพื้นฐานเป็นคนชอบเขียน ช่วงที่คุณหญิงป่วย เธอเลือกบรรยายความรู้สึก รวมไปถึงเรื่องราวที่ต้องพบเจอในรูปแบบของบันทึกประจำวัน นอกจากนี้ยังบันทึกข้อมูลเชิงวิชาการ ทั้งที่มาจากการพูดคุยกับแพทย์เจ้าของไข้ และหาข้อมูลด้วยตนเอง ทำให้ค่อนข้างมีความรู้ในโรคที่ตนกำลังเผชิญอยู่พอสมควร

บันทึกนี้เองเป็นที่มาของการนำมารวมเล่มเป็นหนังสือ ‘เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง’ สารคดีรางวัล ‘นายอินอะวอร์ด’

“สารภาพเลยนะคะว่าไม่ได้คิด หรือวางแผนเลย แต่มาจากการที่เราเป็นคนชอบเขียนบันทึก เขียนไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งราวปลายปี 2556 ได้คุยกับคุณหมอ และท่านคือผู้จุดประกาย บอกว่าที่เขียนมาให้หมออ่านนั้นน่าจะลองนำมารวมเล่ม คือเวลาเขียนบันทึก เราไม่ได้บันทึกเพียงอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน แต่เขียนความรู้ที่ได้จากคุณหมอ รวมถึงค้นเพิ่มเติมในเรื่องทางวิชาการ

“ครั้งแรกเขียนฉบับร่าง เป็นเหมือนการระบายความรู้สึก ไม่ใช่เขียนเพื่อให้ใครอ่าน แต่พอจะเอาต้นฉบับมาเพื่อเสนอตีพิมพ์ ต้องเรียบเรียงใหม่ ต้องสื่อกับคนอื่นที่เค้าอ่านด้วย ปรับภาษาไม่ให้มันดิบ หรือเป็นตัวเราเกินไป”

จากความหลงใหลในการท่องเที่ยว ทุกครั้งของการเดินทาง คุณหญิงมักพกคู่มือท่องเที่ยวอย่าง Lonely Planet ไปด้วยเสมอ จึงกลายเป็นที่มาของนามปากกา ‘ดาวเดียวดาย’

บทเรียนในอดีตคือเส้นทางสู่การมีชีวิตใหม่

คุณหญิงบอกกับเราด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจว่า ตอนนี้เธอกลายเป็นคนใหม่ มีความอดทน มีวินัยมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ มีความสุขกับสิ่งที่เรียบง่าย สามารถมองเห็นว่าตนกำลังทุกข์ และขจัดออกไปได้อย่างง่ายดาย

“บางทีเรานั่งคิดถึงอารมณ์ตอนที่เราเศร้าสุดๆ เคยคิดว่าอยากเก็บอารมณ์นั้นไว้ในลิ้นชัก และวันไหนอยากสัมผัสกับก็เอาออกมา ไม่อยากลืมอารมณ์นั้นแต่ก็ไม่ได้รู้สึกแย่กับมันแล้ว

“สัมผัสได้ว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่รู้จักใช้ชีวิตได้ดีมากกว่าก่อนป่วยด้วยซ้ำ และไม่อยากกลับไปแก้ไขอดีตเลยค่ะ เพราะที่ผ่านมาได้อะไรจากมันมาก แกร่งขึ้น เย็นขึ้น ไม่ร้อนรนเหมือนเมื่อก่อน กล้าพูดเลยนะคะ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้น จะไม่ทำให้เรารู้จักตัวเองเลย ทุกวันนี้จึงภูมิใจ เจ๋งดี… ผ่านมาได้ไงไม่รู้” (หัวเราะ)

สุดท้ายก่อนบอกลากันไปพร้อมๆ กับช่วงเวลาที่ดวงตะวันกำลังลับขอบฟ้า เจ้าของนามปากกา ‘ดาวเดียวดาย’ ได้ฝากถึงผู้อ่าน โดยเฉพาะคนที่ยังไม่รู้ หรือเริ่มสงสัยว่าตนกำลังมีภาวะซึมเศร้า

“ถ้ารู้แล้วว่าเป็นก็ไปหาหมอซะ… ถ้ายังไม่รู้ให้ลองอยู่นิ่งๆ สำรวจตนเอง สำรวจอารมณ์ จดบันทึกไว้ก็ได้ ดูซิวันนี้เรามีอารมณ์ความรู้สึกแบบใด บางทีเรื่องพวกนี้มันเป็นรอบ เป็นวงจรของมัน เหมือนช่วงแมเนียมันจะปี๊ดๆ ขึ้นจนสุด จากนั้นก็จะดิ่งลง วงจรของมันมีรอบระยะเวลาคล้ายๆ กัน

“เหมือนหลักธรรมะ เค้าบอกให้ ‘ตามรู้ ดูจิต’ ตามสติตัวเองให้ทัน สังเกตตนเอง แค่เรารับรู้ได้ว่าตอนนี้อารมณ์เป็นอย่างไร จะทำให้เห็นปัญหาได้บ้างแล้ว”

หลังได้อ่านหนังสือ ‘เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง’ และสนทนากับคุณหญิง ทำให้รู้ว่า โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องที่เราจะปล่อยผ่านไปได้ การคิดว่าเดี๋ยวคงหายเอง นั่นหมายถึงคุณกำลังประมาท เพราะอาจถูกโจมตีด้วยปัจจัยความผิดปกติของเคมีในสมอง ดังนั้นหากพบภาวะเสี่ยง หรือมีอาการส่งสัญญาณว่ากำลังป่วย ให้รีบปรึกษาจิตแพทย์ทันที และอย่ามองว่าการเดินเข้าโรงพยาบาลบ้าเป็นเรื่องน่าอาย หรือหากยังไม่กล้า ลองต่อสายไปยัง 1667 ‘สายด่วนกรมสุขภาพจิต’ ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
เรื่อง : กรรณิการ์
ภาพ : วิสุทธิ์ แซ่แต้