Marsmag.net

‘คำสอนของพ่อในภาพถ่าย’ ความทรงจำของ อ. สงคราม โพธิ์วิไล ผู้เคยถวายงานการใช้กล้อง ในหลวง ร.9

5 ธันวา วันนี้ ถ้ามีพ่ออยู่
เราได้รู้ คำพ่อสอน ย้อนศึกษา
สิ่งดีงาม ตามดำรัส พระราชา
ดุจแผ่นผา ภูมิพลัง ทั้งแผ่นดิน
นับแต่นี้ มิมีพบประสบพักตร์
น้อมใจภักดิ์ ปริ่มดวงใจ ให้ถวิล
คิดทำดี ที่พ่อสอน อย่างใจจินต์
พระภูมินทร์ จักรีวงศ์ องค์ราชัน

สงคราม โพธิ์วิไล
5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บทกลอนที่ซาบซึ้งกินใจบทนี้นั้นถูกบันทึกขึ้นในสมุดบันทึกความทรงจำอาจารย์สงคราม โพธิ์วิไล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการถ่ายภาพของประเทศไทย ซึ่งช่วงหนึ่งของชีวิตได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เข้าถวายงานการใช้กล้องและเทคนิคต่างๆ

ซึ่งในห้วงเวลานั้นถือเป็นประสบการณ์อันประเมินค่ามิได้ และโดยเฉพาะข้อคิดที่ได้รับจากพระองค์ท่านนั้น ถือเป็นอัญมณีแห่งชีวิตที่อาจารย์สงครามจะนำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟังในบทสัมภาษณ์นี้ แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับประวัติของอาจารย์สงครามกันสักเล็กน้อย

นักสู้และผู้ใฝ่รู้ในวัยเยาว์

อาจารย์สงคราม โพธิ์วิไล เป็นชาวกาญจนบุรี เติบโตขึ้นในค่ายทหารแห่งหนึ่งซึ่งบิดาทำงานอยู่ ด้วยความที่ตำแหน่งหน้าที่ของบิดานั้นเป็นตำแหน่งเล็กๆ ทำให้อาจารย์สงครามในวัยนั้นถูกกลั่นแกล้งจากลูกๆ นายทหารอยู่เป็นประจำ แต่กระนั้นด้วยเลือดแห่งความเป็นนักสู้และนักใฝ่รู้ก็ทำให้อาจารย์สงครามผ่านช่วงเวลานั้นและเติบโตขึ้นมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยเฉพาะในด้านการใฝ่เรียนรู้นั้นถือว่ามุ่งมั่นจริงจัง โดยในช่วงวัย 14 ปีได้หลงใหลผลงานเขียนของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นอย่างมากและอยากจะขอคำแนะนำในการเขียนหนังสือให้เก่งจากท่านให้ได้ โดยดั้นด้นนั่งรถเมล์ไปหานักเขียนบรมครูถึงซอยสวนพลูจนได้เข้าพบ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ช่วงสั้นๆ

“ท่านถามว่า อยากเขียนหนังสือเก่งเหมือนฉันเหรอ เคยกินข้าวหรือเปล่าเรา? เขียนหนังสือก็เหมือนกินข้าวนั่นแหละตอนนั้นนั่งรถกลับบ้านอีก 15 กิโลจะถึงเมืองกาญจน์เราก็แวบคิดขึ้นมาได้ว่า คนหิวต้องกินข้าวใช่ไหม เราก็เขียนหนังสือให้เหมือนกินข้าวสิ”

แต่เส้นทางของการเรียนศิลปะก็ต้องชะงักลง เมื่อบิดาให้เลือกเส้นทางที่มั่นคงกว่าคือการเรียนช่าง ซึ่งหลังจบมาก็ได้ทำงานด้านสถาปัตยกรรมและการช่าง จุดนี้เองเป็นรอยต่อให้อาจารย์สงครามสนใจด้านการถ่ายภาพโดยนายช่างฝรั่งได้ส่งให้ไปเรียนพิเศษที่บริษัทโกดักและเป็นนักเรียนถ่ายภาพรุ่นแรกของโกดักสคูล โดยได้ตั้งปณิธานกับตนเองว่า ‘รู้จำไม่พอต้องรู้จด รู้จดไม่พอต้องรู้จริง และต้องรู้แจ้ง’

หลังจากนั้นอาจารย์สงครามได้เลือกเส้นทางของการเป็นนักถ่ายภาพ ศึกษาเทคนิคและเทคโนโลยีต่างๆ ด้านการถ่ายภาพจากทั้งจากอเมริกาและญี่ปุ่น และมีครูพูน เกษจำรัส และครูจิตต์ จงมั่งคง (ทั้งสองท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์) เป็นเบ้าหลอมวิชาชีพ และผู้เปิดเส้นทางในการถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเวลาต่อมา

อัญมณีแห่งความทรงจำ

ต้นแบบพระราชาคือวิชาของแผ่นดิน เม็ดเหงื่อที่หลังริน ก้าวพระบาทล้นพระทัย พวกเราคนถ่ายภาพ ล้วนอิ่มอาบเปี่ยมดวงใจ เจ็ดบาททรงสอนไว้เป็นตำราตราบนิรันดร์

สงคราม โพธิ์วิไล

ท่ามกลางเปลวแดดและความแออัดเบียดเสียดของชาวบ้านหลายร้อยชีวิตก็มิอาจทำให้ลูกเสือหนุ่มวัย 17 ปีที่ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยย่อท้อแต่อย่างใด หัวใจของเขากำลังเอิบอิ่มปริ่มเปรมที่จะได้ชมพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 เฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านชาวไร่ชาวนาชาวเมืองกาญจนบุรีวันนั้นที่มารอรับเสด็จในการทอดผ้าพระกฐินณ วัดเทวสังฆาราม

นั่นคือความทรงจำในครั้งแรกของการถวายงานในหลวงของอาจารย์สงคราม โพธิ์วิไล และในใจของเขาคิดว่า สักวันหนึ่งจะถ่ายภาพในหลวงให้จงได้ ซึ่งต่อมาในปี 2520 อาจารย์สงครามก็ได้ถ่ายภาพในหลวงภาพแรกในชีวิตเมื่อครั้งเสด็จ ณ ปราสาทพระเทพบิดร

“ตอนนั้นเสด็จครบทุกพระองค์ ซึ่งผมก็รีบไปรอเลย ปรากฏว่าผมได้แถวที่ 4 แล้วเราก็ใช้กล้องReflex ซึ่งต้องก้มลงมอง เห็นแต่หัวคนเต็มไปหมด เราก็เลยเปลี่ยนวิธีแหงนมองขึ้นไปก็ได้ภาพที่เราต้องการ”

ครั้นเมื่ออาจารย์สงครามสั่งสมความรู้และประสบการณ์การถ่ายภาพมากขึ้นจนได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารโฟโต้แอนด์กราฟเฟอร์ก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายงานในหลวงโดยคำชักชวนของครูพูนและครูจิตต์ ซึ่งถวายงานในหลวงอยู่ก่อนแล้ว หลายต่อหลายครั้งในหลวงก็ทรงพระเมตตาให้ข้อคิดกับอาจารย์สงครามในด้านการถ่ายภาพในหลายๆ ด้านทั้งทางตรงและทางอ้อม

“ผมมีความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งก็คือช่วงที่เข้าไปถวายงานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์เรื่องถ่ายภาพ ท่านผู้อำนวยการท่านผู้หญิงก็มาบอกว่า พระอาจารย์วันนี้ในหลวงพระราชทานกับข้าวมาอย่างหนึ่งนะ ผมปลื้มใจมากว่าพระองค์ท่านพระราชทานกับข้าวอะไรมาให้ พอเราเปิดกับข้าวออกมาปรากฏว่าเป็นยอดผักบุ้งนา ผักบุ้งยอดแดงๆ ที่เรากินกับส้มตำ ผัดกับปลาสลิดหั่นเป็นลูกเต๋า วันนั้นผมอิ่มเอมใจมาก และทำให้เรากลับมาคิดว่าพระองค์ท่านเสวยอะไรที่ง่ายและสมถะมากๆ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกเลยก็ว่าได้ที่เป็นแบบนี้ ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่ในวังเล่าว่า เวลาที่พระองค์ท่านจะเสวยอะไรพระองค์ไม่เคยเติมอะไรเลย ในครัวทำมาอย่างไร ก็เสวยอย่างนั้น

“ครั้งหนึ่งผมได้หนังสือที่รวบรวมผลงานฝีพระหัตถ์ในการถ่ายภาพของพระองค์ท่านมาเล่มหนึ่ง พอผมเปิดดูทุกภาพก็จะมีคำอธิบายต่างๆ แต่ก็มีติดใจอยู่หลายภาพ เช่นภาพสมเด็จพระบรมฯ ทรงพระเยาว์ที่เบื้องหน้าเป็นทางโค้งในป่าลึก เหมือนกับพระองค์ทรงสอนว่าอนาคตต้องเจออะไรอีกมากมาย แล้วก็ภาพใบไม้ 4 ใบ ภาพนั้นผมก็ชอบมากเลย มีผู้ใหญ่หลายท่านที่เข้าเฝ้าได้กราบบังคมทูลถามความหมายของภาพนี้ พระองค์ก็ทรงตอบว่าเหมือนลูกๆ ของฉัน 4 คน ซึ่งเป็นใบไม้เหมือนกัน แต่บางใบก็โดนแสงไม่เท่ากัน บางใบก็เป็นอย่างนั้นบางใบก็เป็นอย่างนี้

“อีกภาพที่ประทับใจมากก็คือภาพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่เห็นแค่เสี้ยวพระพักตร์ผมอดสงสัยไม่ได้จึงกราบบังคมทูลถามว่าเหตุใดพระองค์จึงทรงถ่ายภาพแค่เสี้ยวพระพักตร์ ท่านก็ทรงรับสั่งว่าถ้าฉันเล่าให้ฟังแล้วอย่าไปเล่าให้ใครฟังนะฉันอายเขา นั่นคือพระองค์ท่านไม่ได้ถือพระองค์เลยว่าการถ่ายภาพนั้นก็มีสิ่งผิดพลาดได้ และพระองค์ก็ทรงเล่าต่อว่า ฉันเดินขึ้นไปที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์แล้วก็ห่วงสมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงหันหลังกลับไปมองก็เห็นแสงลอดผ่านใบไม้มาเป็นแฉกสวยมาก ด้วยความที่พระองค์เป็นนักวิทยาศาสตร์และเป็นนักถ่ายภาพ …คือด้วยความที่ผมอยู่โรงงานทำเลนส์ผมจึงรู้ว่าdiaphragm เลนส์ว่าใช้เท่าไหร่ แฉกจะเป็นอย่างไร พระองค์ท่านทราบเรื่องนี้จึงรับสั่งให้นำกล้องมา แต่เมื่อจะถ่ายก็ฟิล์มหมดจึงต้องใส่ฟิล์มใหม่ และกล้องฟิล์มนั้นถ้าเราเป็นนักถ่ายภาพเราจะรู้ว่าต้องขึ้นฟิล์มหนึ่งครั้งทิ้ง สองครั้งทิ้ง สามครั้งทิ้ง แต่ด้วยความรีบพระองค์จึงขึ้นเพียงแค่สองครั้งแล้วจึงกดชัตเตอร์ เพราะฉะนั้นจึงติดภาพพระพักตร์เพียงเสี้ยวเดียว แต่พระองค์ทรงเห็นความงามในภาพนั้นจึงเข้าห้องมืดและทรงทำ croppingเอง ส่วนตรงไหนใช้ไม่ได้ก็ตัดทิ้งไป เพราะการกดชัตเตอร์ครั้งหนึ่งนั้นก็คือการเสียเงิน 7 บาท แทนที่เราจะเสียไปก็ทำให้มันดีได้ คือพระองค์ท่านเลือกที่จะมองมองสิ่งผิดพลาดให้เกิดความงามได้

“นอกจากนี้ยังได้รับพระเมตตาเกี่ยวกับวงการถ่ายภาพมากมาย เช่นบางครั้งพระองค์ทรงรับสั่งถามว่า ล้างฟิล์มถ่ายภาพเนี่ยต้องใช้เคมี เขาเอาเคมีไปทิ้งที่ไหนกัน? อย่าทิ้งลงแม่น้ำลำคลองนะมันอันตราย ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว แต่พระองค์ท่านทรงห่วงใยตลอด หรือแม้แต่เรื่องแบตเตอรี่ที่เราใช้กับแฟลชที่เราใช้กับกล้อง พวกเราคนถ่ายภาพไปทิ้งที่ไหนกัน อย่าทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง มันอันตรายต่อระบบนิเวศวิทยาทางน้ำ”

งานภาพถ่ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 นอกจากจะทรงคุณค่าเชิงศิลปะแล้ว ยังทรงคุณค่าในด้านเครื่องมือแห่งการพัฒนาประเทศอีกด้วย

ใช่ครับ สังเกตไหมว่าสิ่งที่พระองค์ท่านทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาราษฎร์ทั้งหมด อย่างที่แห้งแล้งที่ไม่เป็นประโยชน์ท่านก็ทำให้เกิดประโยชน์ได้ อย่างผมไปดอยอ่างขางครั้งแรกในชีวิตยังบ่นเลยว่าทำไมมันเหนื่อยอย่างนี้กว่าจะขึ้นได้ แต่พระองค์ท่านเคยบ่นไหมครับ พระองค์ท่านไปเพื่อพัฒนาและพระองค์ท่านทรงถ่ายภาพไว้ …กล้องคือเครื่องมือที่หยุดกาลเวลาได้ ภาพถ่ายคืออัญมณีแห่งชีวิต ทุกวันนี้เราได้ภาพถ่ายจากพระองค์ท่านผมว่านับเป็นมูลค่าไม่ได้ มันมหาศาลมาก อย่างที่ผมบอกก็คือ 3D 1. Documentary 2. Double Take 3. Development คนเราก็เหมือนกันคืออดีตของเราก็เหมือนกับ Documentary เมื่อเรารู้อดีต เรารู้ปัจจุบันก็เหมือน Double Take และเมื่อเราเข้าใจตรงนั้นเราก็สามารถพัฒนาต่อยอดได้ หรือ Development

เราได้เห็นภาพในหลวงข้ามภูเขา เห็นในหลวงปีนข้ามห้วย น้ำท่วมในหลวงไป นั่นคือเราได้เห็นจากภาพหมด พระองค์ท่านทรงบุกป่าฝ่าดงตลอดเวลา อย่างน้ำท่วมพระองค์ท่านก็ต้องไป โครงการกระเพาะหมูที่พระประแดงนี่พระองค์ท่านก็คิด ถนนลอยฟ้าบรมราชชนนีก็ด้วย ตอนนั้นพระองค์ทรงประชวรอยู่ก็เสด็จขึ้นไปยังดาดฟ้าตึกศิริราช แล้วเห็นรถติดเป็นจำนวนมาก พระองค์ท่านเลยทรงมีพระราชดำริว่าทำไม ไม่สร้างถนนลอยฟ้าล่ะ (ในปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระประชวรและเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง ระหว่างประทับรับการรักษา ได้มีพระราชดำริหลากหลายประการเกี่ยวกับปัญหาจราจร รวมทั้งการสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายถนนจตุรทิศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแนวพระราชดำริให้สร้างทางคู่ขนานยกระดับคร่อมเหนือสะพานข้ามทางแยกอรุณอมรินทร์และสะพานข้ามทางแยกบรมราชชนนี เพื่อให้การจราจรคล่องตัวยิ่งขึ้น ช่วยระบายรถออกนอกเมืองได้เร็วที่สุด บรรเทาปัญหาจราจรที่ติดขัดในถนนราชดำเนินต่อเนื่องถึงถนนหลานหลวง และได้พระราชทานแผนผังลายพระหัตถ์แก่กรุงเทพมหานครนำไปศึกษาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2538 มีพระราชประสงค์ให้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจราจรร่วมมือกัน เช่น กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร: ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

เราจะเห็นได้ว่าพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านนั้นเป็นสายธารที่สืบต่อมาเหมือนดั่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ตอนที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างถนนราชดำเนิน หลายคนก็ตำหนิพระองค์ท่านว่าสร้างไว้ทำไม แล้วทุกวันนี้เป็นอย่างไร ถนนเจริญกรุงก็เช่นกัน เหมือนกับสายธารทองนี้ได้เชื่อมถึงกันจากรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 เป็นความยิ่งใหญ่ที่คุณจะพูดกี่วันก็ไม่หมด คุณเขียนหนังสือกี่แสนหน้าก็เล่าไม่หมด

ณ เวลานี้พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตเป็นเวลาหนึ่งปีแล้ว เราปวงชนชาวไทยควรจะปฏิบัติตนเช่นไรเมื่อไม่มีพระองค์ท่านทรงคอยดูแล

ถ้าใช้ประโยคว่าพระองค์ท่านให้อะไรแก่พสกนิกร ผมมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งคือ 365 วันใต้ร่มพระบารมี ผมจะอ่านเล่มนี้ทุกวัน แล้วผมจะนึกถึงว่า ณ วันนั้นพระองค์ท่านทำอะไร ประเทศอื่นเขาใช้เครื่องบินไปทิ้งระเบิดมีผู้คนล้มตาย แต่ประเทศเราเอาเครื่องบินมาทำฝนเทียม ต่างกันมหาศาล หรือเรื่องที่พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสในทุกๆ วันที่ 5 ธันวาของทุกปีนั้นผมก็ได้อะไรเยอะมากจากพระองค์ท่าน บางคนฟังแต่ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้นผมจึงบอกกับนักศึกษาทุกคนที่ไปบรรยายให้ฟังว่า มิใช่แค่ฟังต้องได้ยิน ได้ยินว่าพระองค์ท่านตรัสอะไร ไม่ใช่แค่ฟังๆ แล้วให้จบ เห็นแล้วต้องมอง เราต้องมองว่าในหลวงทำอะไร ไม่ใช่บางคนเห็นแล้วไม่มอง หรือมองแล้วไม่เห็น

เราในฐานะพสกนิกรที่พระองค์ทรงท่านห่วงใยตลอด จงรำลึกถึงเสมอว่า เมื่อมองฟ้าขึ้นไป พระองค์ท่านกำลังมองเราอยู่ เราเทิดทูนพระองค์ท่านอยู่บนฟากฟ้าแล้ว สู่สวรรคาลัยแล้ว เวลาจะทำอะไรถ้าจะมองเท้าจงแหงนดูฟ้าก่อน เมื่อคุณมองเท้านั่นคุณจะก้าวเดิน แต่เมื่อแหงนมองฟ้าให้ระลึกถึงพระปรีชาของพระองค์ท่าน ให้ระลึกถึงพระราชดำรัสที่งดงามของพระองค์ท่าน มันเป็นการปักหมุดในใจของเราว่าเมื่อเราคิดแล้วเราต้องทำสิ่งดี

อย่างเวลาที่พระองค์ท่านเสด็จไปยังที่ต่างๆ ทรงนั่งลงกับพื้น นั่งลงกับกอหญ้าเพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ ของชาวบ้าน อย่างที่เขาชะงุ้ม อ. โพธาราม ผมไปตามรอยบาทท่าน เมื่อก่อนนี้เป็นดินลูกรังแดงๆ ร้อนมาก พระองค์ถ่ายภาพไว้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ภูเขาเป็นดินลูกรัง พระองค์ท่านก็ทรงใช้หญ้าแฝกล้อมไปเป็นรูปครึ่งวงกลม เพื่อเวลาน้ำไหลลงจากภูเขาตะกอนทั้งหมดจะมาชะรวมกันตรงหญ้าแฝก บริเวณนั้นก็จะปลูกต้นไม้งดงาม เมื่อผ่านเวลาไป 40 ปีตอนนี้ต้นไม้เขียวทั้งภูเขา อย่างดอยอ่างขางพระองค์ท่านเสด็จมากี่สิบปีแล้ว ขนาดผมตามรอยพระองค์ยังแทบตาย ตอนนั้นพระองค์ท่านเสด็จไปได้อย่างไร ลำบากมาก ผมตอนไปยุคหลังยังต้องเอาโซ่พันล้อยังไปไม่ค่อยไหว พระองค์ท่านตรากตรำพระวรกายมากเพื่อประชาชนของพระองค์ เหมือนดั่งที่มีประชาชนทักพระองค์ว่าในหลวง อย่าทิ้งประชาชนนะ














อาจารย์อยากจะฝากอะไรถึงคนรุ่นหลังบ้าง

ทุกวันนี้เวลาผมไปไหนผมจะสวดมนต์ทุกครั้ง คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ องค์พระสยามเทวาธิราช และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายของประเทศให้มาปกป้องคุ้มครองพวกเราทุกคนชาวสยามให้อยู่เย็นเป็นสุข และระลึกถึงพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่มีบุญคุณต่อชีวิตเรา ซึ่งมีบุญคุณมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายโคตรเหง้าเรา เราคิดแค่นั้นก็ได้แล้ว แต่บางคนอาจจะไม่คิด หรือคิดสั้นๆ ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ก็อยากให้ทุกคนหวนกลับมาคิด ลองคิดดูว่าแผ่นดินที่เราอยู่ทุกวันนี้ถ้าไม่มีบูรพมหากษัตริย์คุณจะอยู่ได้อย่างไร? เม็ดข้าวที่เรากินทุกวันนี้ถูกพัฒนามาได้อย่างไร? พระองค์ท่านก็ทรงช่วยปรับปรุงให้ ในวังของพระองค์ท่านอยู่สุขสบายไหม? เป็นแปลงทดลอง มีโค มีแปลงนาทุกอย่างหมดเลย เพื่อประชาชนทั้งนั้น กังหันชัยพัฒนาพระองค์ท่านคิดเพื่อใคร? แก้มลิงใครคิดบ้าง?

อยากจะบอกว่าความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านนั้นมีอยู่ทุกเม็ดเลือดในร่างกายเรา เพราะฉะนั้นขอให้รักษาราชวงศ์จักรีไว้เพราะเป็นสมบัติอันมีค่ามหาศาล เป็นอัญมณีที่หาไม่ได้ เพราะพวกเราทั้งหมดที่เป็นประชาชนช่วยกันเจียระไนอัญมณีนี้ให้งดงาม เราไม่ได้เจียระไนด้วยมือหรือเงินทองทรัพย์สินเพราะฉะนั้นขอให้ตระหนักรู้ว่า พระองค์ท่านทรงทำให้ไว้ เมื่อต่อไปกาลข้างหน้าทรงทำให้พระองค์บ้าง ชีวิตไม่มีใครยืนยาว แต่ในหลวงของเราไม่มีคำว่า No Life to Belongs ชีวิตสิ้นไป แต่ในหลวงจะไม่สิ้นจากไปจากใจเรา อยากให้ทุกคนตระหนักรู้ในข้อนี้ให้มากๆ
เรื่อง : วรชัย  รัตนดวงตา
ภาพ : พาณุวัฒน์  เงินพจน์