Marsmag.net

‘การทำความดีแม้จะเล็กน้อยก็สามารถเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้’ พรของพ่อในใจ ‘วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์’

คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นเปรียบได้กับหยาดทิพย์จากฟากฟ้าที่คอยชุบชูชีวิตของคนไทยมาตลอด 70 ปี และหนึ่งในผู้ที่น้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตก็คือศิลปินเซรามิกชาวราชบุรี  ‘วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์’

ในนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หนึ่งในความงดงามทรงคุณค่าหลายๆ สิ่งที่เราได้ประจักษ์ต่อสายตานั้นก็คือกระถางเซรามิกอันวิจิตรตระการตา 8 แบบซึ่งถูกออกแบบอย่างประณีตบรรจงสมพระเกียรติยศ อันเป็นผลงานการออกแบบอย่างทุ่มเทมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์หรือ ‘ติ้ว’ ศิลปินเซรามิกชาวเมืองราชบุรี ทายาทรุ่นที่ 3 ของ ‘เถ้าฮงไถ่’ หนึ่งในโรงงานผลิตเซรามิกชั้นแนวหน้าของประเทศไทย

และหากพินิจให้ดี นอกจากบรรจงความงดงามลงในกระถางเซรามิกทุกใบในทุกตารางนิ้วแล้ว คุณติ้วยังได้สอดแทรกความหมายอันลึกซึ้งและความรู้สึกที่มีแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้ในลวดลายต่างๆ ไม่ว่าเป็นดอกดาวเรืองแต่ละดอกที่จะมีกลีบดอก 90 กลีบ อันหมายถึงความรักที่ส่งต่อจากรัชกาลที่ 9 ไปถึงรัชกาลที่ 10 โดยตรงกลางดอกดาวเรืองจะมี 9 กลีบเพื่อสื่อถึงรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน รวมถึงกระต่าย 5 ตัวที่ถูกจัดวางไว้เพื่อแทนปีพระราชสมภพและเลข 5 นั้นยังแทนวันพระราชสมภพวันที่ 5 ธันวาคม

แต่เหนืออื่นใดนั้นก็คือคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่คุณติ้วได้หยิบยกพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกมาสอดแทรกไว้ โดยเฉพาะในตอนที่พระมหาชนกว่ายน้ำฝ่าคลื่นทะเล โดยลายคลื่นถูกนำมาใช้เป็นลวดลายเพื่อสื่อถึงความเพียรในการกระทำสิ่งต่างๆ ในชีวิต และคำสอนในข้อนี้เองที่คุณติ้วนำมาปรับใช้กับชีวิตของตนเองในการทำงานด้านต่างๆ ที่แม้จะเหนื่อย ท้อแท้ แต่ก็ไม่ลดละความเพียร

“หลายๆ ครั้งที่เราทำงานให้กับชุมชนของเรา (โครงการราชบุรีเมืองศิลปะ) หลายๆ ครั้งที่เราทำไปก็เกิดคำถามว่ามันจะเป็นไปได้เหรอ?เราใช้เวลาขนาดนี้แล้วผลมันจะเป็นอย่างไร? แต่เมื่อมาย้อนดู สิ่งที่มนุษย์ทั่วไปจินตนาการไม่ถึงแต่พระองค์ท่านมองเห็นภาพของความต้องการที่จะให้พื้นที่นั้นประสบความสำเร็จ แม้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน ท่านก็เลือกที่จะทำ ถ้าเป็นนักการเมืองก็จะมองแค่ 4 ปีว่าอันนี้ฉันทำแล้วไม่เห็นผล ฉันไม่ได้ประโยชน์ จะมองแค่นั้น แต่พระองค์ท่านมองเห็นผลว่าจะเป็นสิ่งดีงามให้ทั้งชุมชน แม้ว่ามันอาจจะเป็นแค่คนในหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง และต้องใช้เวลานาน พระองค์ก็เลือกที่จะทำ ตรงนี้คือสิ่งที่ท่านสอน งานบางงานไม่ได้จบใน 5 ปี 10 ปี แต่อาจจะใช้เวลา 20 ปี ทำให้เราเชื่ออีกครั้งว่าหากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดประโยชน์กับใครสักคน เราก็ควรจะทำกัน”

ก่อนวันที่ 13 ต.ค. จะมาถึง ตัวคุณติ้วเองมองพระองค์ท่านเช่นไร

เรามองว่าสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทำเอาไว้เยอะมาก ตอนเรียนอยู่มัธยมที่สวนกุหลาบ พระองค์ท่านก็มาเปิดตึก ระหว่างนั้นข่าวพระราชกรณียกิจยังมีอย่างต่อเนื่องและก็อยู่ในความทรงจำในเจเนอเรชั่นของเราอยู่แล้ว เรามองว่าตนเองกลายเป็นโชคดีไปเลยที่เห็น Before และ After อย่างตอนเด็กๆ เราได้เห็นพระองค์ท่านไปดอยตุง ซึ่งเมื่อก่อนเป็นพื้นที่เสี่ยงนะ มีการปลูกฝิ่นนะ นั่นคือภาพเมื่อตอนนั้น แต่ถ้าถามกลับกันเด็กๆ ในปัจจุบันที่โตขึ้นมา ดอยตุงก็คือร้านกาแฟ ซุ้มดอกไม้แล้ว เด็กเหล่านี้จะจินตนาการไม่ออกว่าก่อนหน้านั้นคืออะไร แล้วพระองค์ได้ทรงทำอะไรไว้ เราจึงได้มองว่าคนรุ่นเรานี่โชคดีมาก อย่างเขาค้อพระองค์ท่านยังไปเยี่ยมทหารที่โดนยิงได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับ ผกค. สิ่งต่างๆ ที่เราได้เห็นทุกวันนี้ก็คือผล และทำให้เราเชื่อถึงการเดินทางของระยะเวลา แม้งานเหล่านั้นจะใช้เวลา 20 ปี 30 ปี แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศจริงๆ ยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นว่าการทำบางสิ่งบางอย่างต้องใช้เวลา ใช้ความเข้าใจ และเชื่อในผลที่จะเกิดขึ้น และถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองเรา เราต้องทำ

ในฐานะศิลปิน แนวทางที่ในหลวงได้สอนเราไว้หลายๆ แนวทางนั้นเราจะนำมาปรับใช้อย่างไร

เราต้องเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ท่านทำก่อน เหมือนกับที่หลายๆ ท่านพูดคือนำสิ่งที่พระองค์ท่านสอนมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เราเป็น จุดนี้คือจุดสำคัญเพราะว่าบางอย่างเรามองว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือเป็นไปไม่ได้ อย่างเรื่องของชุมชนเนี่ยทุกคนอยากจะทำบางอย่างให้กับชุมชน แต่ก็บอกว่ายังไม่พร้อมเพราะตัวเองไม่มีศักยภาพ ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา หรือทำไปแล้วมันจะได้ประโยชน์กี่คน แต่ถ้าเราทำบางอย่าง อย่างโครงการที่พี่ทำที่เขาชะงุ้ม(โครงการศิลปะเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นรูปเงาของในหลวงสีชมพูกำลังก้มมองเด็กน้อยที่กำลังก้มกราบโดยติดตั้งในโครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต. เขาชะงุ้ม อ.เมือง จ. ราชบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่แห้งแล้งและดินเสื่อมโทรม แต่ในปัจจุบันกลับเขียวชอุ่มด้วยต้นไม้นานาพรรณ-ผู้เขียน) ถ้ามันจะเกิดประโยชน์กับคนแค่หนึ่งคนหรือสองคน แล้วมองย้อนกลับไปเรื่องวิธีการ แล้วผลที่ได้รับคืออะไร ผมมองว่าคุ้มนะ เพราะการทำบางสิ่งบางอย่างเราว่าอย่าไปรอจะพร้อมที่สุด อยู่ที่จุดเริ่มความตั้งใจที่ดีที่สุดแม้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นกับคนไม่กี่คนเราก็ต้องลงมือทำ

อย่างเราทำงานเรื่องสานปลาตะเพียน เราช่วยเด็ก 10 คนได้ บางคนอาจจะมองไม่คุ้มหรอกในเรื่องการตลาด เอาดีไซเนอร์มาลงทุนช่วยเด็กพิการกลุ่มหนึ่ง แต่การได้ทำให้เขาเรียนรู้ว่าเราไม่ควรรอความช่วยเหลือ แต่ควรช่วยตัวเองก่อน ตรงนั้นก็ถือว่าเป็นกำไรแล้ว การจะช่วย 10 คนหรือแค่ 1 คนมันก็เป็นไมโครพิกเซลที่มันจะเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้ นี่คือสิ่งที่สำคัญ

เรามักจะมองว่ามีเงินก่อน มีเวลาก่อน มีความพร้อมก่อน หรือหนักกว่านั้นอาจจะมองว่าคนที่ทำงานสังคมสงเคราะห์นั้นเพราะมีเงินจากตระกูลอยู่แล้วถึงมาช่วยเหลือคนอื่นได้ มองตรงนี้อย่างไร

จริงๆ เราไม่ต้องทำก็ได้นะ เหมือนอย่างในหลวงท่านไม่ต้องเหนื่อยขนาดนี้ก็ได้ แต่พระองค์ท่านก็เลือกที่จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อคนอื่น อย่างเราธุรกิจที่บ้าน ‘เถ้าฮงไถ่’ ไม่ได้ช่วยนะ เราทำด้วยเงินส่วนตัว คือจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่เราเลือกที่จะทำ

เราต้องสร้างมาตรฐานความเข้าใจให้เกิดขึ้นใหม่ ต้องคิดรูปแบบบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาก่อน แล้วสิ่งที่เราชอบน่าจะเป็นประโยชน์อะไรสักอย่างสำหรับบางคนขึ้นมาได้ ต้องทำด้วยความรู้สึกว่าสามารถทำได้เลย จะให้ความสุขกับใครบางคนหรือคนพื้นที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ยกตัวอย่างคือเรื่องคนพิการ ซึ่งคนพิการคนนี้อยากให้เราพาไปหาสรยุทธ์ แกขี่มอเตอร์ไซค์มาหาผมนี่มือสั่นมาเลยเพราะแกเป็นพาร์กินสัน แล้วแกมีหลานที่สมองลีบ แกก็เลี้ยงมาได้ 22 ปี แล้วตอนหลังแกป่วย แกขี่มอเตอร์ไซค์วินด้วย เราก็ช่วยแก จริงๆ เราเชื่อแบบสมเด็จย่านะว่าเราจะไม่ยื่นปลาให้กิน แต่จะสอนให้ตกปลา ซึ่งจริงๆ คนที่หาเลี้ยงครอบครัวหลักๆ คือเมียแกซึ่งมีอาชีพเย็บผ้า เราก็พาไปหาพัฒนาชุมชนให้สอนหน่อย ซื้อจักรเย็บผ้าให้ ส่วนลุงแกเราสอนให้วาดภาพ ซึ่งน่าจะช่วยให้แกหายเครียดได้ในช่วงที่มือแกสั่นๆ พอหลังจากนั้นแกเริ่มสนุก เราซื้อหนังสือรูปสัตว์มาให้แกวาด แล้วเอาลายที่แกวาดมาเป็นลายกระเป๋าของป้า หลังจากนั้นทำโปรเจ็กต์ร่วมกันซึ่งทำให้แกมีเงินเก็บในบัญชีถึง 80,000 บาท

อย่างตอนนั้นเราทำงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาครั้งแรกที่ playground โดยนำศิลปินที่ไม่เคยทำงานเซรามิกมาก่อนมาลองทำตอนนั้นใช้เงินไปเป็นล้าน แล้วคนมองว่าทำไมไม่ให้ทุนการศึกษาเด็กไป ให้ทุนคนละแสนก็จบไปเลย แต่ถ้าเราทำนิทรรศการเรื่องเซรามิกที่ไม่ใช่เรื่องของถ้วย แจกัน กระถาง แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถครีเอทได้หลากหลาย ซึ่งงานตรงนี้คือการลงทุนที่อาจจะได้กลับมานิดหนึ่ง ได้คนสนใจที่กว้างขึ้น แต่หลังจากนั้นทำให้คนรู้จักเซรามิกมากขึ้น

เมื่อสักครู่นี้พูดถึงเรื่องการให้เบ็ดมากกว่าให้ปลา แต่บางครั้งทำไมเราเห็นการให้ปลาเยอะมาก

มันอยู่ที่วัตถุประสงค์นะ จริงๆ มันไม่ผิดหรอก ถ้าเขาจะอดก็ให้ปลา แต่ถ้าต่อไปต้องสอนวิธีหาปลา บางครั้งความจำเป็นมันเร่งด่วนเราต้องซัพพอร์ตแบบให้ปลาไปก่อน แต่ในระยาวเราควรจะสอนเขา อย่างกิจกรรมที่เราเคยทำกันมานั้นเราก็จะไม่เปลี่ยนความเชื่อของเขาแต่เราจะไปฟอลโลว์ความเชื่อของเขาตามทักษะ เราไปเรียนรู้วิถีของเขาแล้วนำมาปรับเพิ่มให้กับเขา

จำเป็นแค่ไหนที่คนรุ่นหลังต้องรู้จักการทำงานแบบปิดทองหลังพระ

จริงๆ เรามองว่าทุกคนต้องมีวิธีการ หรืออาจจะใช้ทางอ้อม เก่งหน่อยก็ใช้ทางตรง มันอยู่ที่ความเป็นไปได้ของแต่ละคนแตกต่างกัน การพุ่งตรงบางครั้งมันก็ไม่มั่นคง เราต้องทำอ้อมทำฐานให้แน่นก่อน เพื่อที่องค์พระจะได้มั่นคง จริงๆ หลายคนเลือกที่จะปิดทองหน้าพระ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้พระปฏิมาสวยสมบูรณ์ บางคนก็เลือกที่จะปิดแค่ใบหน้าแต่ไม่ปิดทองที่เท้า ซึ่งถ้าไม่มีพิกเซลต่างๆ มาร่วมกันจะสมบูรณ์ได้อย่างไร?

อย่างเราเลือกที่จะเป็นฐานเพราะไม่ค่อยมีใครทำ เพราะทุกคนอยากจะเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ทุกคนรับรู้ได้ทันที แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูเขาค้อ หรือดอยตุงเมื่อ 30 ปีก่อนนี้ใครจะเชื่อ เด็กที่ไปภูกระดึง น้ำหนาว เขาไม่รู้หรอกว่าเมื่อก่อนเป็นพื้นที่สีแดง ถ้าเราคุ้นเคยกับภาพที่สวยงามอย่างเดียวจะลืมวิธีการของการเดินทาง แล้วการเดินทางสำคัญที่สุด ในภาพเส้นชัยของการเดินทางนั้นหลายๆ คนจินตนาการไม่ถึง แต่ในหลวง ร. 9 จินตนาการไปไกลกว่านั้น ซึ่งสิ่งนี้เท่าให้เราคิดได้ว่า ถ้าเราเชื่อมั่นในผลลัพธ์ ศรัทธา และอดทน เราก็สามารถทำให้สำเร็จได้ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราให้มั่นใจก็คือแม้จะใช้เวลานานแค่ไหนถ้าเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราฝัน เราก็จะสร้างความสุขให้กับใครบางคนได้

วันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมานั้นเราได้เป็นประชาชนชาวไทยหลายสิบล้านคนออกมาถวายความอาลัย และคุณเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ภาพบรรยากาศเช่นนี้สัมผัสได้ถึงอะไรบ้าง

สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ทุกคนมีต่อในหลวงและความจริงใจ ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้เลยถึงความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อพระองค์ท่าน คงไม่มีใครสามารถเกณฑ์คน บังคับคนหรือทำให้คนจำนวนมากออกมาในพื้นที่เดียวกันได้ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’ สิ่งนี้เป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถซื้อหาได้หรือกะเกณฑ์ใครมาได้ ทุกคนทำด้วยความรู้สึกเต็มใจตั้งใจและอยากจะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อระลึกถึงพระองค์ท่านอีกครั้ง

ในส่วนของฝรั่งต่างชาติที่ไม่เข้าใจสิ่งที่พวกเราทำ เปรียบเทียบอย่างเยอรมันที่เราเคยไปอยู่ คนที่อายุ 60 แล้วจะจำคิงภูมิพลและควีนสิริกิติ์ได้ เพราะทั้งสองพระองค์เสด็จเยือนประเทศเยอรมันด้วย ซึ่งในความทรงจำของเขาจะเหมือนเจ้าหญิงเจ้าชายในเทพนิยาย นั่นคือความรู้สึกของคนต่างชาติ แต่สำหรับพวกเราที่เกิดและเติบโตมากับพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ยกตัวอย่างเช่น ดอยตุงที่พระองค์ท่านเสด็จไปเพื่อขอให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น เราได้เห็นพระองค์ท่านทำมาตลอด เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง นั่นเป็นความรู้สึกของเรา แต่ชาวต่างชาติอาจจะเห็นแค่ภาพในอุดมคติ

สำหรับคนไทย พระมหากษัตริย์ไทยทรงงานหรือทำหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างซึ่งเราชินตาหรือคุ้นเคย ซึ่งจุดนี้เราสะสมความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ท่านที่แตกต่างจากที่ชาวต่างชาติเห็นหรือมองภาพพระมหากษัตริย์เหมือนเจ้าชายเจ้าหญิงในเทพนิยายที่มีชีวิตหรูหราสุขสบายมีความสุข เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เขาเข้าใจความรู้สึกของคนไทยที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เขาไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมคนไทยถึงเสียใจขนาดนี้ โศกเศร้าขนาดนี้ แล้วทำไมคนไทยหลายสิบล้านคนทำไมถึงออกมาในพื้นที่เดียวกันมากมายขนาดนี้ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ

การที่มีคนมาเป็นจิตอาสามากมาย เพราะสุดท้ายทุกคนตระหนักสิ่งที่ในหลวงสอนว่าทุกคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง สิ่งที่ตัวเองทำได้แล้วดีและเป็นประโยชน์กับใครสักคนได้เราก็ต้องทำ ซึ่งจุดนี้ทำให้เราเห็นภาพอาสาสมัครเยอะแยะมากมาย บางคนไม่เคยทำ ไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนก็ออกมาทำ แต่ว่าในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาเวลาที่เราจะทำดีบางสิ่งบางอย่างเรามักจะถามว่ามันดีพอไหม? มันเจ๋งพอไหม? คนจะเห็นเยอะไหม? ทำแล้วมันจะได้ประโยชน์เยอะไหม? ทุกคนตั้งคำถามกับการทำบางสิ่งบางอย่างเพราะกลัวว่าจะน้อยเกินไป แต่เมื่อถึงเวลาที่พระองค์ท่านจากไป ทุกคนละความคิดนี้ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ บางสิ่งบางอย่างที่ทำเพื่อพระองค์ท่านได้ก็มาช่วยกันทำ ทุกคนละอคติเรื่องที่ตัวเองเป็นคนเล็กๆ ไม่สามารถทำอะไรได้ออกไป

ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาทุกคนละความเชื่อนี้ทั้งหมดและสิ่งเล็กน้อยที่ตัวเองทำได้ทุกคนก็รีบออกมาทำ จุดนี้เป็นจุดเริ่มและควรอยู่ในสังคมไทยตลอดไป สิ่งที่เป็นสิ่งดีที่ควรทำ สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่เอื้อต่อชุมชนและสังคมได้ไม่ว่าเล็กน้อยเท่าไหร่เมื่อหลายคนมารวมกันมันจะเกิดมหภาพขนาดใหญ่ขึ้นมาและเป็นประโยชน์ต่อสังคม จุดนี้ผมว่าเป็นจุดที่เราควรจะรักษาไว้ แล้วดำเนินต่อให้เป็นแบบแผนต่อไปว่าต้องช่วยกันทำดี

พูดในเชิงว่าทำไมไม่นำเงินจำนวนนี้ไปแจกคนจน มองมุมนี้อย่างไร

เราได้เห็นข่าวทำนองนี้และการตอบโต้กันไปมาในหลายรูปแบบ ซึ่งเราต้องมองว่า เขาเข้าใจสถาบันของเราที่แตกต่างจากอุดมคติของเขาหรือภาพของเขา เพราะจริงๆ สิ่งที่เราทำได้คือการอธิบายเหตุผลว่าทำไม? เพราะอะไร? ยกตัวอย่างง่ายๆ คือสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ มันเป็นพื้นฐานของการสร้างสังคม เป็นการสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานโดยรวมของประเทศด้วยซ้ำไป เพราะว่าจริงๆ แล้วกรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย แต่คือทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นป่าเขาหรือถิ่นทุรกันดาน เพราะประเทศไทยในยุคหนึ่งที่รัฐบาลมองว่าแค่จุดศูนย์กลางเท่านั้น แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้มองแค่จุดศูนย์กลางแต่ประเทศไทยคือทั้งหลายทั้งปวงที่แผ่ออกไป ทุกตำบลทุกจังหวัด

เหมือนปัจจุบันหลายๆ ครั้งผู้บริหารมักจะมองการจุดพลุแต่ไม่เคยปูทาง แต่สิ่งที่ในหลวงทรงทำมาตลอด 70 ปี คือปูทาง ไม่ใช่จุดพลุ เพราะอย่างที่บอกงานบางอย่างไม่ได้ใช้เวลาแค่ 10 ปี แต่นานมากกว่าฐานจะเต็ม เราได้ยืนอยู่บนฐานที่แข็งแรงแล้ว แต่ใครล่ะที่เป็นคนปูพื้นคนแรก เอาทรายมาเทคนแรก เอากระเบื้องมาปูแผ่นแรก ไม่มีใครอยากจะลงทุนทำนานขนาดนั้น ถ้าไม่ได้เชื่อว่าจุดนี้จะเป็นประโยชน์ของประเทศ ผมเชื่อว่าในหลวงอาจจะไม่ได้อยากได้สิ่งที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ แต่ในความรู้สึกของเราเนี่ย เราอยากทำให้พระองค์ท่านให้ดีที่สุด ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยนะ สมมุติว่าพ่อของคุณให้เงินมา 10,000 ไปเที่ยว แล้วเราก็เห็นก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 กับก๋วยเตี๋ยวชามละ 100 ที่ใส่ทุกอย่างน่ากิน คุณจะเลือกซื้อชามละ 20 หรือชามละ 100 กลับไปให้พ่อล่ะ พ่ออาจจะไม่ได้อยากได้สิ่งที่ดีที่สุด หรือแพงที่สุด แต่นี่คือความรู้สึกของพวกเราที่อยากจะตอบแทนท่าน

ถ้าฝรั่งชอบพูดกันเรื่องตัวเงิน มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไทยถ้าไม่มีโครงการของในหลวง มูลค่าทางเศรษฐกิจต่างๆ นั้นมีมูลค่ากี่ล้านล้านล่ะ หรืออาจจะมากกว่านั้น แล้วสิ่งที่เราทำนี่คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นที่เราจะทำให้กับพระองค์ท่านได้ กรณีนี้เราก็ต้องบอกว่า 90 ล้านเหรียญนั้นฝรั่งไปมองตัวเลขจากไหน? มองจากคนที่มาหรือเปล่า? มองข้ามความตั้งใจหรือความปรารถนาดีของคนไทยที่อยากจะทำหรือเปล่า? แล้วถ้ามันหลายๆ ล้านจริงแล้วการที่เราเอาเงินงบประมาณส่วนหนึ่งออกมารีโนเวทหลายๆ พื้นที่นั้น ออกมาฟื้นฟูประเพณี มันเป็นการต่อยอดระยะยาวเรื่องศิลปวัฒนธรรมหรือเปล่า จริงๆ แล้วเราอย่ามองแค่ตัวเลขโดยไม่ได้ตีแผ่ความจริงออกมาว่า มันมีวิธีการใช้และการกระจายรายได้ในชุมชน

ฝรั่งบางคนบอกว่าคนไทยมองพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็น God ของคนไทย  ซึ่งก็มีคนไทยบางคนอธิบายกลับไปว่าไม่ใช่ God ในแบบอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แต่เป็น God ในแบบพระโพธิสัตว์ที่มาโปรดคนไทย คุณมองตรงนี้อย่างไร

ถ้าเขามองว่า God คือคนที่มีปาฏิหาริย์ปลุกเสกทุกสิ่งทุกอย่างได้ ถ้าอย่างนั้นจริงๆ เราก็มองว่าพระมหากษัตริย์ของเราก็ทำได้เหมือนกัน แต่เป็น God ในความจริงด้วยซ้ำไป อย่างเขาชะงุ้มคือโครงการที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นพื้นที่ลูกรังแดงๆ ไม่มีแอ่งน้ำ เป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่มีมูลค่าอะไรเลย และแล้วพระเจ้าองค์หนึ่ง พระเจ้าที่มีชีวิตจริงๆ บนแผ่นดิน พระเจ้าที่ลงมาคลุกคลีกับคนที่ไม่ได้สวดมนต์ภาวนาให้ท่านด้วยซ้ำไป แต่พระองค์ก็มาเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้นได้ เขาชะงุ้มกลายเป็นมีน้ำมีป่า ถ้าอุดมคติคำว่า God ในความเชื่อของเขาก็คือ ใช่! แต่เป็นพระเจ้าที่ไม่ได้เลือกชั้นวรรณะ ไม่ได้เลือกจะตอบแทนคนที่สวดมนต์ให้ในวิหารเท่านั้น ท่านคือพระเจ้าที่เห็นความทุกข์ยากของใครก็แล้วแต่ก็ลงมาช่วยเลยโดยที่ไม่ได้ต้องร้องขอ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อคนในประเทศพระองค์ท่านก็ทรงลงมือทำ โดยไม่เลือกว่าชุมชนนั้นจะมีแค่ร้อยหลังคาเรือน

เราต้องนำจุดเริ่มจุดนี้มาสานต่อในเรื่องอย่าไปตีมูลค่าของขนาดการทำความดีว่าต้องเป็นเรื่องใหญ่โต หรือเป็นผลต่อคนเยอะๆ เราอาจจะพาคนแก่คนหนึ่งขึ้นวินมอเตอร์ไซค์เพื่อไปส่งเขา หรือทำอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งสมัยก่อนคนอาจจะไม่คิดเรื่องแบบนี้ อาจจะคิดแต่ว่าทำดีต้องเกิดผลยิ่งใหญ่ในมวลรวมเยอะๆ แต่ปัจจุบันทุกคนเข้ามาทำความดีเล็กๆ กันเยอะมาก แม้ว่าภาพของสังคมมันจะเป็นจิ๊กซอว์ใหญ่ๆ ที่มีหลายพิกเซลมารวมกัน และพวกเราอาจจะเป็นไมโครพิกเซลด้วยซ้ำไป แต่ถ้าภาคหนึ่งของสังคมขาดหรือมีไมโครพิกิเซลที่ขาดเยอะๆ มันก็เป็นภาพของสังคมของประเทศที่สมบูรณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นพวกเราคือส่วนที่สำคัญ อย่ากลัวที่จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเติมเต็มให้กับสังคมที่ดีและชุมชนที่ดีของเรา

ในวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มิอาจอยู่ดูแลทุกข์สุขของปวงชนชาวไทยได้อีกแล้ว เราจะมีวิธีการดำเนินชีวิตอย่างไรให้สมกับคำพูดที่ว่า ‘เรารักในหลวง’

ช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้น สิ่งที่เราเข้าใจมากที่สุดก็คือ ‘การทำ’ และควรจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไป ไม่ใช่แค่ช่วงไว้อาลัย แต่เราเริ่มคุ้นเคยว่าการทำสิ่งเล็กๆ บางอย่างที่เป็นประโยชน์กับใครบางคนนั้นเราต้องลงมือทำ
หลายครั้งที่เราทำงานเพื่อคนอื่นแล้วเรารู้สึกท้อว่าทำไมมันเหนื่อยอย่างนี้ แต่เมื่อเราได้ย้อนกลับไปดูโครงการเขาชะงุ้มที่ในหลวงทรงทำตอนอายุ 60 โดยไม่ได้มองว่าต้องใช้ระยะเวลายาวนานแค่ไหน แต่ทำเพราะพระองค์เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์และสิ่งดีๆ ขึ้นกับพื้นที่ตรงนี้ และไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน เราก็ต้องเริ่มทำ เมื่อเริ่มทำเมื่อไหร่แล้วเราจะไม่ได้อยู่จุดเริ่มต้นอีกต่อไป ทุกครั้งที่เราออกก้าวเดิน เส้นชัยมันก็ใกล้เข้ามาทุกขณะก้าว ฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราที่ทำงานศิลปะกับราชบุรี บางครั้งมองว่าทำไมมันช้าจัง แต่เมื่อเราได้ดูโครงการที่ในหลวงทรงทำเราจะเห็นความเพียร ความอุตสาหะ และความต่อเนื่อง นั่นคือสิ่งสำคัญในการทำงานต่างๆ

ต่อจากนี้เราจะก้าวเดินไปอย่างไร? เราควรจะโฟกัสบางสิ่งบางอย่างที่เราจะทำ เมื่อเราเห็นว่าดีเป็นประโยชน์ต่อใครเราควรจะโฟกัสที่จุดนั้น และเมื่อเราพร้อมเมื่อไหร่เราก็ต้องขยับ และผลที่มันจะเกิดขึ้นก็อย่าไปคาดหวังว่าคนจะเข้าใจในเร็ววัน เพราะอย่างที่ในหลวงทรงสร้างไว้ ตอนเราเด็กๆ ก็ยังไม่เข้าใจ แต่เมื่อผ่านเวลามา เราได้เห็น ดังนั้นถ้าเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราจะทำจะเป็นประโยชน์กับพวกเขาแน่เราต้องลงมือทำ เราต้องลืมเรื่องการทำแบบจุดพลุบ้าง แต่เราต้องมาผสมปูนเททรายปูกระเบื้องเพื่อจะเป็นฐานของเยาวชน ของประเทศชาติบ้านเมืองต่อไปให้มากขึ้น มากกว่างานฉาบฉวย แล้วการฝึกฝนที่คนหลายๆ ล้านคนทำกันมาตลอดทั้งปีเพื่อพระองค์ท่านนั้น เมื่อไม่มีงานของพระองค์ท่านแล้วก็อย่าคิดว่าไม่ต้องทำ อย่าคิดอย่างนั้น ถ้ารักในหลวง เราต้องทำต่อเนื่อง
เรื่อง : วรชัย  รัตนดวงตา
ภาพ : พาณุวัฒน์  เงินพจน์