จับชีพจร 'ยักษ์' แอนิเมชันไทย ไปแอนิเมชันโลก!?

หลายปีก่อน คนไทยได้ชื่นชมกับหนังแอนิเมชันสายเลือดไทยที่เป็นเรื่องราวของสัตว์คู่บ้านคู่เมืองตัวใหญ่ที่เราเรียกว่า “ช้างไทย” และทำให้ชาวต่างชาติหลายคนพากันเรียกช้างไทยว่า “ก้านกล้วย”

ก้านกล้วย (2549) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสามมิติ สร้างโดย กันตนาแอนิเมชัน ได้แรงบันดาลใจจากบางส่วนของพงศาวดารช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือ เจ้าพระยาปราบหงสาวดี หรือเดิมชื่อ เจ้าพระยาไชยานุภาพ หรือ พลายภูเขาทอง โดยในเรื่องใช้ชื่อว่า ก้านกล้วย เป็นตัวเอก ก้านกล้วยเป็นแอนิเมชันที่ได้ คมภิญญ์ เข็มกำเนิด คนไทยที่ไปศึกษาทางฟิล์มและวิดีโอที่เน้นด้านการทำแอนิเมชันที่สหรัฐอเมริกา และเคยร่วมงานสร้างตัวละครและทำภาพเคลื่อนไหวที่เคยร่วมงานกับบริษัท วอลท์ ดิสนีย์ และบลูสกายสตูดิโออย่าง ทาร์ซาน (Tarzan) ไอซ์เอจ (Ice Age) และแอตแลนติส (Atlantis: The Lost Empire) มาเป็นผู้กำกับ พร้อมกลุ่มนักทำแอนิเมชันทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 100 คน

ก้านกล้วยเป็นแอนิเมชันที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่เป็นภูมิทัศน์แบบไทย ต้นไม้ ไม้ดอก สภาพป่า และประเพณีไทย เช่น การคล้องช้าง การนำฉากหมู่บ้านทรงไทย แสดงพืชพรรณไม้ไทย เช่น ต้นราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติ ในฤดูกาลต่างๆ รวมทั้งการออกดอกเหลืองอร่ามในหน้าแล้ง แสดงฉากประเพณีลอยกระทง จากกระแสตอบรับอันดีในอินเตอร์ ดูจากผลตอบรับและการคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังหลายรายการทั่วโลก อาทิ รางวัล Best Feature Film จากการประกวดแอนิเมชัน AniMadrid 2006 ที่ประเทศสเปน และที่สหรัฐอเมริกา ก้านกล้วย ได้รับการเปิดตัวในรูปแบบดีวีดี โดยใช้ชื่อ The Blue Elephant อีกทั้งบริษัทเพอร์เซ็ปต์พิคเจอร์คอมพานีของอินเดีย ได้ซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์และเปิดตัวในเวอร์ชันภาษาฮินดีโดยใช้ชื่อ Jumbo

 
ก้านกล้วย เป็นแอนิเมชันที่สร้างด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์แอนิเมชันที่ใช้เทคนิคดังกล่าว คือ ปังปอนด์ และแอนิเมชันซึ่งถือเป็นเรื่องแรกของไทยคือ สุดสาคร ซึ่งเป็นแอนิเมชันสองมิติในประเทศไทย ก้านกล้วยคว้ารางวัลภาพยนตร์เกียรติยศแห่งปี ภาพยนตร์ยอดนิยมแห่งปี ที่ทำรายได้สูงสุด บันทึกเสียงยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ครั้งที่ 28 ประจำปี 2549 และยังโกยเงินไปมากกว่าพันกว่าล้านบาท เด็กๆ ทั่วบ้านทั่วเมืองเรียกร้อง จนนำมาสู่ซีรีส์การ์ตูนที่มีตัวละครน่ารักอย่าง ก้านกล้วย ชบาแก้ว มะโรง อีกหลายเวอร์ชัน

คาดการณ์กันไปต่างๆ นานา ว่ายุคสมัยแห่งแอนิเมชันไทยมาถึงจุดเปลี่ยนที่เฟื่องฟูแล้ว แต่หลังจากนั้นวงการนี้ก็หลุดหายไปจากวงโคจรอย่างลึกลับ แอนิเมชันไทยอีกหลายเรื่องก็ไม่ได้รับความนิยมเหมือนก้านกล้วย แม้ว่าทางค่ายกันตนาจะเปิดตัว Echo Planet หรือ เอคโค่ จิ๋วก้องโลก (2555 ) ซึ่งเป็นแอนิเมชัน 3D ทะลุจอเรื่องแรกของไทย และได้คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ผู้กำกับก้านกล้วยมาสานต่ออีกครั้ง เอคโค่ ออกจากโรงฉายด้วยความชีช้ำกะหล่ำปลี มีรายรับเพียง 17 ล้านบาท น่าสงสัยว่าทำไมไม่สามารถแซงก้านกล้วยที่เป็นความสำเร็จในอดีตได้

ล่าสุดสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล บ้านอิทธิฤทธิ์ ซูเปอร์จิ๋ว และเวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส ร่วมกันสร้างฝันครั้งใหญ่ยิ่งกับอภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอนิเมชันไทย สู่สายตาชาวโลก 'ยักษ์'(2555) แอนิเมชันบ่มนานอีก 1 เรื่องจากจินตนาการอันบรรเจิดของ ประภาส ชลศรานนท์ ชื่อชั้นที่ทุกคนวางใจได้กับความครีเอทีฟ เพราะเขาคือเบื้องหลังความสำเร็จของเกมโชว์และรายการระดับสุดยอดของ เวิร์คพอยท์ กว่า 2 ทศวรรษ และ เอ็กซ์-ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ที่มีเครดิตระดับนักสร้างแอนิเมชันในงานโฆษณาระดับโลก เรียกได้ว่าเอเยนซีดังๆ ใครๆ ก็ต้องมาใช้เขา เปิดบ้านอิทธิฤทธิ์พร้อมทีมงาน 28 ชีวิต บ่มงานมา 5 ปี ยักษ์ทศกัณฐ์และหนุมาน ตามวรรณกรรมชมพูทวีป Ramayana หรือ รามเกียรติ์ ที่เราอ่านกันมาแต่เด็ก ทรานสฟอร์มมาเป็นร่างหุ่นยนต์ในโลกที่ไกลออกไปจากยุคสมัยนี้มากนัก ดูจากธีมหนังแล้วคนไทยใจอวยฝรั่งจะพูดว่า เหมือนเรื่อง Robot เลย แต่เนื้อเรื่องและจินตนาการสุดบรรเจิดมันคนละเรื่องและต่างกันลิบลับนัก!

เอ็กซ์-ชัยพร หนึ่งในทีมผู้สร้างกล่าวว่า ที่มาที่ไปของยักษ์มันมาจากหุ่นยนต์ที่ออกแบบให้เวิร์คพอยท์นานมากแล้วถ้าจำได้จะเป็นตอนจบของรายการเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่เดินมาแล้วแปลงแขนเป็นอาวุธสงคราม มันเอากองขยะมาประกอบจนเขียนคำว่าเวิร์คพอยท์ ตอนจบปุ๊บ พอพี่จิก-ประภาส ก็เห็นตัวนี้เขาก็พูดว่าน่ารักดี

“หุ่นยนต์สงครามอะไรที่มันสนุกเล่าไปมามันก็เป็นรามเกียรติ์ รามเกียรติ์ทำไงให้เป็นหุ่นยนต์หรือว่ารามเกียรติ์มันมีหลายภาคมีตั้งนับล้านภาค ญี่ปุ่นก็มี จีนก็มี เราก็รู้สึกว่ารามเกียรติ์มันมีตายเกิดตายเกิดเป็นล้านๆ ถ้าตายแล้วเกิดใหม่แล้วเป็นหุ่นยนต์ก็น่าจะดีนะและเราก็เลยเอาตรงนั้นมา และตัวที่เป็นหุ่นยนต์สังเกตว่าหุ่นยนต์หุ่นกระป๋องส่วนใหญ่ในเรื่องจะเป็นล้อเดียวเหมือนไตเติลเวิร์คพอยท์ตอนจบตอนนั้น ตัวหุ่นที่เป็นตัวนักสู้หรือตัวที่มันเป็นวรรณะสูงขึ้นมาเนี้ยจะเดินได้สองขา
เราดีไซน์ก่อนหนังเรื่องโรบ็อท Robots (2005) อีกนะ แต่พอโรบ็อทออกมาปุ๊บเราก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะว่าเราทำไปแล้ว และเรามานั่งคุยกันว่าถ้าเกิดเป็นปลา ทำสัตว์ใต้ทะเลก็เหมือนกับไฟดิ้ง นีโม (Finding Nemo -2003) ทำสัตว์ป่าก็เหมือนมาดากัสการ์ (Madagascar -2005) ทำการ์ตูนสัตว์น่ารักก็เหมือนกังฟู แพนด้า (Kung Fu Panda-2008) และเราทำหุ่นยนต์เนี้ยคนก็ว่าเหมือนโรบ็อท แต่จริงๆ เราทำขั้นตอน Pre-Production ไปปีหนึ่งแล้วครับ เราก็เลยเดินหน้าต่อเพราะว่ามันก็ไม่เหมือน เนื้อเรื่องเราก็ไม่ได้คล้ายกันเลย”

ว่าด้วยเรื่องการออกแบบอันเป็นจุดสำคัญของแอนิเมชันก็ได้ เอ็กซ์-ชัยพร เป็นหัวเรือใหญ่ในการดีไซน์คาแรกเตอร์ตัวละครแต่ละตัว โดยเฉพาะตัวละครหลักอย่างทศกัณฐ์และหนุมานที่จะต้องมีพัฒนาการของตัวละครตลอดทั้งเรื่อง “ตัวทศกัณฐ์ เขาเป็นจอมราชายักษ์มาก่อน หลังจากนั้นเกิดความจำเสื่อมก็จะกลายเป็นเอ๋อๆ ตัวละครนี้ผมออกแบบให้ช่วงบนใหญ่ และขาเล็ก เวลาเขาเป็นทศกัณฐ์ก็จะดูผงาด ดูยิ่งใหญ่ แต่เป็นน้าเขียวก็จะแสดงออกแบบหลังค่อม หงอๆ งอตัว ดังนั้นมันก็จะเป็นทั้งตัวเอ๋อได้ด้วย ตัวน่ากลัวก็ได้ ผมออกแบบยักษ์รวมๆ มาจากหลายอย่างครับ หน้าท้องจะออกแบบมาจากท้องแมลงครับ เป็นปล้องๆ ข้อดีคือ มันสามารถงอแล้วโมเดลไม่ทับกัน

แต่ หนุมาน ออกแบบยากสุด แก้หลายรอบ ตอนแรกออกแบบมาแล้วมันไม่มีความเป็นฮีโร่ เรากำลังคิดว่าจะทำยังไงต่อดี พอดีว่าพี่จิกก็เอาเสียงพากย์ของเสนาหอยมา ปุ๊บลงตัวเลย เลยเอาทรงผมเสนาหอยที่เป็นทรงเดรดร็อกมาทำให้แตกต่างจากหุ่นยนต์ตัวอื่น เพราะว่าหุ่นยนต์พวกนี้ทั้งโลกจะถูกบังคับด้วยรามและมันจะมีเสาเดียว หนุมานจะแปลกกว่าคนอื่นคือมีสามเขา หักลงมาข้างหนึ่ง ส่วนคิ้วตอนแรกไม่ใช่เป็นคิ้วตัดปกติแต่ดูแล้วไม่เป็นฮีโร่เลย ผมเลยลองหยิบลายจากหัวโขนหนุมานมาลองดัดแปลงดู เป็นกึ่งๆ ลายไทยนิดๆ เหมือนเป็นเหล็กที่โดนตัดออกมาเป็นลายไทย เออมันได้แฮะ เพราะมีความเป็นฮีโร่ เวลาโกรธหรือเวลาสู้จริงๆ เวลาที่ต้องแสดงอารมณ์จริงๆ มีคิ้วที่มันหักๆ อย่างนี้มันจะเพิ่มอารมณ์ให้ได้มากกว่า คิ้วตัวนี้ออกแบบยากสุดครับ”

ศึกมหากาพย์แอนิเมชันไทย ยักษ์ฟัดช้างจะจบลงที่ผลสำเร็จอย่างไร ยักษ์แห่งเวิร์คพอยท์จะล้มช้างก้านกล้วยกันตนาได้ไหม แต่ไม่ว่าผลจะลงเอยอย่างไรก็ตาม แอนิเมชันไทยและความสนใจของชาวโลกต่อหนังไทยก็จะยังคงชนะอยู่ดี

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE