หนัง ชีวิต และอิสตรี “เฉินหลง”


“เป็นอะไรที่วิเศษมากเลยครับ ผมรู้ว่าในหลวงทรงมีความสำคัญกับคนไทยมากแค่ไหน ทุกครั้งในโรงหนัง ผมจะได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้วทุกคนจะยืนขึ้น”

ทันทีที่เจ้าของเสียงกล่าวจบ แขกในงานต่างพากันปรบมือกึกก้อง แทรกไปกับเสียงฮัมทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เจ้าของถ้อยคำดังกล่าวฮึมฮัมในลำคอ

ครับ, เจ้าของคำพูดข้างต้น ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาเป็นคนคุ้นหน้าของคอหนังมาตลอดหลายสิบปี สัญลักษณ์บนใบหน้า คือ “จมูกโตๆ” โดดเด่นพอๆ กับบทบาทการแสดงที่มอบให้กับคนดูหนังมาโดยตลอด “เฉินหลง” กลับมาอีกครั้งแล้วครับ กับผลงานในสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์และตัวตนแจ้งเกิดของเขา หลังจากเดินไปในทางสายดราม่าแล้วไม่ค่อยเวิร์กเท่าที่ควร

Chinese Zodiac คืองานล่าสุดของเฉินหลง และเขาเพิ่งบินมาจากเมืองไกล มาเปิดตัวหนังในเมืองไทยเมื่อไม่กี่วันก่อน

ด้วยชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน เรื่องราวชีวิตของนักบู๊จมูกโตผู้นี้ นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของโลกไปแล้ว ต่อให้ไม่นับรวมเรื่องการได้รับการจดบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊กในฐานะผู้ที่มีบทบาทในหนังมากที่สุด…กับเรื่อง Chinese Zodiac เขารับบทบาทตั้งแต่ผู้กำกับ นักแสดง ไปจนถึงเด็กเสิร์ฟน้ำ! ฯลฯ… เส้นทางชีวิตของเฉินหลง ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

จากเด็กที่เกือบไม่ได้เกิด เฉินหลงผ่านชีวิตวัยเยาว์อันรันทด ความทรหดในการสร้างเนื้อสร้างตัวตั้งแต่เป็นสตันท์ให้หนังบรูซ ลี ก่อนที่ฟ้าจะเปิดรับให้ดาวดวงนี้ส่องสว่างอย่างเต็มที่ มันคือวิถีของนักสู้ที่ไม่ได้บู๊แค่ในจอ หากแต่ยังรวมไปถึงฉากชีวิตจริงที่ต้องบากบั่นอดทนไม่ย่อท้อด้วย

แม้คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต อย่างภาษิตเขาว่า แต่เรื่องราวของนักแสดงที่มักจะมีคำว่า “ฟัด” หรือ “ใหญ่” อยู่ในชื่อหนังของเขาเวอร์ชั่นภาษาไทย ก็น่าจะเข้าทำนอง “ทั้งฟ้าลิขิต” และ “ทั้งตนลิขิตชีวิตตน” อย่างยากจะปฏิเสธ…

ชีวิตรันทด
เฉินหลงถือกำเนิดเมื่อปี 1954 พ่อของเขาตั้งชื่อให้ว่า “เฉินกงซาน” ครอบครัวของเขาลี้ภัยสงครามจากเกาะฮ่องกงมายังเมืองจีน ฐานะเข้าขั้นยากจนมากๆ ถึงขนาดไม่มีจะกิน ตอนคลอดเฉินหลงนั้น แม่ของเขาทรมานมาก เพราะเด็กตัวใหญ่เกินเหตุจนต้องยอมให้หมอผ่าออกเพื่อรักษาชีวิตของลูกไว้ ตอนนั้นพวกเขาแทบจะไม่มีเงินค่าผ่าตัด ต้องไปหยิบยืมเพื่อนๆ มาก่อน ไม่เช่นนั้น โลกนี้คงไม่ได้มีนักบู๊ระบือนามผู้นี้

เคราะห์กรรมยังไม่หมดแค่นั้น เพราะความจน พ่อของเขาเกือบจะตัดสินใจขายลูกชายให้กับหมอชาวอังกฤษที่หลงรักความจ้ำม่ำในราคาแค่ 26 เหรียญ โชคดีที่กลับลำทัน และเลี้ยงดูลูกน้อยตามอัตภาพ เฉินหลงเติบโตมาในรั้วสถานทูตฝรั่งเศสที่พ่อแม่ทำงานรับจ้างเป็นพ่อครัวและคนทำความสะอาด ทุกๆ เช้า เฉินหลงน้อยจะคอยวิ่งเล่นและฝึกกังฟูกับพ่อที่สนามหญ้าหน้าสถานทูต เพราะพ่อของเขาเชื่อวา การฝึกกังฟูจะช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัยอันดีให้แก่ลูกชายของเขา เฉินหลงในตอนเด็กๆ น่ารักน่าชังมากจนแม่ของเขาตั้งฉายาให้ว่า “เป๋าเป่า” ที่แปลว่า “ระเบิด” เพราะเฉินหลงตัวน้อยชอบนอนกลิ้งไปมา มองเผินๆ เหมือนลูกระเบิดไปซะงั้น


ดาวนักบู๊ เริ่มฉายแวว
เฉินหลงเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนอุปรากรจีน ที่นี่สอนทั้งศิลปะการต่อสู้ กายกรรม ร้องเพลง และการแสดง ฝึกหนักสุดๆ ก็คือการดัดตัวดัดขาจนน้ำตาตก ถูกตีแรงๆ ถ้าทำผิดพลาด หรือฝ่าฝืนคำสั่งกฎระเบียบของอาจารย์ที่เข้มงวด เฉินหลงใช้เวลาที่นี่นานถึงสิบปี ไม่ได้เจอพ่อแม่ มีเพียงแต่การติดต่อกันเป็นระยะๆ เท่านั้น แต่แม้จะใช้ชีวิตอย่างเหงาๆ แต่ทว่าผลการเรียนของเขาเลิศหรูมาก คะแนนเป็นลำดับต้นๆ ของโรงเรียน และได้เข้าร่วมกับกลุ่มการแสดง Seven Little Fortunes การได้อยู่ในกลุ่มนี้ ทำให้เขาพบเจอกับเพื่อนสนิทร่วมสาบานอย่าง “หงจินเป่า” และ “หยวนเปียว” ทั้งสามกลายเป็นที่รู้จักกันในนาม “สามพี่น้อง” หรือ “สามมังกร” ในภายหลัง

เฉินหลงในวัย 17 ปี เริ่มออกจากโรงเรียนและแสวงหาโชคตามประสาคนหนุ่ม งานด้านอุปรากรจีนไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ เนื่องด้วยการเข้ามาของวัฒนธรรมต่างชาติมากมาย เฉินหลงกับเพื่อนๆ จึงไม่แคล้วต้องไปเป็นคนใช้แรงงาน แต่ช่วงนั้น อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงกำลังเฟื่องฟู พวกเขาต้องการเด็กหนุ่มแรงดีมาร่วมแสดงฉากบู๊ ประจวบเหมาะกับการที่เฉินหลงเคยแสดงมาก่อนตอนเด็กๆ แถมยังจบมาจากโรงเรียนที่มีการสอนพวกนี้โดยตรง บวกกับไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวตาย ไม่กลัวอันตรายใดๆ เขาจึงมุ่งสู่เส้นทางการเป็นสตันท์ ใช้ระยะเวลาพอสมควร กว่าจะได้รับการยอมรับในฝีมือและใครๆ ก็เรียกหาเขาในวงการ

คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต
การได้เข้ามาเป็นสตันท์ในทีมของบรูซ ลี เจ้าพ่อวงการหนังกำลังภายใน เรื่อง “เฉินเจิน มังกรผงาดฟ้า” (Fist of Fury, 1972) และ “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง มังกรประจัญบาน” (Enter the Dragon, 1973) ทำให้เฉินหลงเป็นปลื้มมากๆ เขาใช้ชื่อในการแสดงว่า “เฉินหยวนหลง” และเริ่มมีบทบาทเล็กๆ ในหนังเรื่อง Little Tiger of Canton แต่แล้ว แสงสว่างที่กำลังดูเรืองรองขึ้น ก็ดับลงไปในพริบตา เมื่ออุตสาหกรรมหนังฮ่องกงที่เคยเฟื่องฟูมากๆ พลันยุบยอบลง เพราะส่วนหนึ่งคือผลพวงจากการเสียชีวิตของราชานักบู๊อย่างบรูซ ลี เฉินหลงตัดสินใจเก็บข้าวเก็บของย้ายตามพ่อแม่ไปอยู่ออสเตรเลียน ทำงานในร้านอาหารและใช้ช่วงเวลานั้นฝึกภาษาไปด้วย ชื่อเรียกภาษาอังกฤษของเขาอย่าง “แจ็กกี้” ก็เริ่มจากตรงนี้ เพราะเฉินหลงทำงานก่อสร้างแล้วเพื่อนที่ไซต์งานมีปัญหาในการออกเสียงภาษาจีนเลยเรียกเฉินหลงว่า “ลิตเติลแจ็ก” ก่อนจะหดเหลือ “แจ็กกี้” ในภายหลัง

ในปี 1976 เฉินหลงได้รับโทรเลขจาก “วิลลี่ ชาน” โปรดิวเซอร์หนังในฮ่องกงว่าเขาได้ดูเฉินหลงเล่นเป็นสตันท์แมนแล้วชอบ ก็เลยคิดจะปลุกปั้นเฉินหลงให้เป็นบรูซ ลี คนใหม่ ช่วงนั้นเฉินหลงได้เล่นหนังหลายเรื่อง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก่อนที่ชื่อของผู้ชายคนนี้จะดังกระฉ่อนขึ้นมาในปี 1978 กับการแสดงหนังเรื่อง “ไอ้หนุ่มพันมือ” ที่กำกับโดยหยวนวู่ปิง เรื่องต่อมาอย่าง “ไอ้หนุ่มหมัดเมา” ที่กลับมาร่วมงานกับผู้กำกับคนเดิมก็ยิ่งทำให้เฉินหลงฮอตฮิตติดลมบนอย่างยากจะห้ามได้ หนังสไตล์ “ไอ้หนุ่ม…” ส่วนใหญ่เกิดในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น “ไอ้หนุ่มหมัดเมา” “ไอ้หนุ่มหมัดคัน” “ไอ้หนุ่มหมัดฮา”

อีกไม่กี่ปีต่อมา “ไอ้มังกรหมัดสิงโต” ก็สร้างชื่อให้เฉินหลงได้โด่งดังราวกับพลุแตกอีกครั้ง หนังทำเงินไปมากกว่าสิบล้านเหรียญฮ่องกง และมันคือจุดกำเนิดแห่งประเพณีการสร้างตรุษจีนของเฉินหลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา

นักบู๊ระดับโลก
เฉินหลงแสดงหนังบู๊ที่มีฉากโบราณๆ หลายเรื่อง ก่อนจะค่อยๆ ขยับเข้าสู่การแสดงหนังที่มีฉากสมัยใหม่มากขึ้น หนังของเขาอย่าง “วิ่งสู้ฟัด” นั้นฮิตมากๆ ถึงขั้นมีภาคต่อตามมาอีกหลายภาค โดยมีสัญลักษณ์เป็นความแอ็กชั่นที่ผสานเข้ากับคอเมดี้ได้อย่างลงตัว ช่วงนี้เฉินหลงดังทั่วเอเชีย และก้าวต่อไปคือการเคลื่อนย้ายสู่ฮอลลีวูด หนังโกอินเตอร์เรื่องแรกของเขา คือ The Big Brawl (ต้นฉบับคนพันธุ์หญ่ายส์, 1980) แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เรื่องอื่นๆ ก็อย่างเช่น The Cannonball Run (เหาะแล้วซิ่ง, 1982) ซึ่งมีภาคสองตามออกมา และภาคสองนี่ เฉินหลงก็ถึงกับยอมรับว่า มันเป็นเพียงแค่การแสดงที่พอให้จบๆ สัญญากับวอร์เนอร์ไปเท่านั้น เฉินหลงเริ่มไม่มีความสุขกับการทำหนังในฮอลลีวูด และถวิลหาฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่อเมริกันชนเรียกหาจริงๆ จังๆ ก็มาถึงจนได้ หนังหลายเรื่องของเฉินหลงได้ไปฉายที่ฮอลลีวูด อย่างเช่น “วิ่งสู้ฟัด”, “ใหญ่สั่งมาเกิด”, “ใหญ่ฟัดโลก” หรือแม้แต่ “ใหญ่ทับใหญ่” และ “ใหญ่เต็มฟัด” และในปี 1998 เฉินหลงก็บินลัดไปสู่ฮอลลีวูดอีกครั้งอย่างจริงจัง ในชื่อ “แจ็กกี้ ชาน” กับบทบาทเดิมๆ คือตำรวจ ซึ่งดูจะเป็นบทที่สลัดไม่หลุด หนังทำเงินมโหฬารกว่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มความนับถือในฝีมือบู๊แบบเอเชียในใจของอเมริกันชน
** 10 หนังในตำนานของเฉินหลง**

1. Police Story วิ่งสู้ฟัด : หนังฉีกแนวกังฟู เริ่มต้นยุคหนังแอ็กชั่นฮ่องกง

2. Project A เอไก๋หว่า : หนังย้อนยุคฟอร์มใหญ่เรื่องแรก

3. Drunken Master ไอ้หนุ่มหมัดเมา : หนังที่ส่งให้เฉินหลงกลายเป็นซูเปอร์สตาร์เต็มตัว

4. Crime Story วิ่งสู้ฟัด ภาคพิเศษ : หนังที่ถือว่า “เครียดที่สุด” ของเฉินหลง

5. Rumble in the Bronx ใหญ่ฟัดโลก : หนังเรื่องแรกของเฉินหลงที่ติดอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศของอเมริกา

6. The Miracle ฉีจี้ : หนังรีเมกงานของแฟรงค์ คาปรา เรื่องนี้ ถือเป็นความตั้งใจในการทำหนังให้กลมกล่อมเป็นพิเศษ

7. Snake in the Eagle Shadow ไอ้หนุ่มพันมือ : หนังแจ้งเกิดได้เต็มตัวของเฉินหลง

8. Rush Hour คู่ใหญ่ฟัดเต็มสปีด : หนังที่ทำให้เฉินหลงกลายเป็นดาราฮออลีวูดเต็มตัว

9. Dragon Forever มังกรหนวดทอง : หนังเรื่องสุดท้ายที่ทำงานร่วมกับ หยวนเปียว และหงจินเป่า

10. Armour of God ฟัดข้ามโลก ล่าสุดแผ่นดินเกิด : ตัวหนังธรรมดา แต่มีคิวบู๊ที่เกือบฆ่าเฉินหลง

**ผู้หญิงในหนังเฉินหลง**
เพราะความที่เป็นดาราดังและเล่นหนังมาร้อยแปดพันเก้า สาวๆ ในหนังของเฉินหลง ก็หลายหลากมากมี และส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นดาราที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นางเอกหนังฮ่องกงเกือบทั้งเกาะ เรียกได้ว่า ผ่านมือเฉินหลงมาแล้วทั้งนั้น มีใครกันบ้าง ไปดูกัน

เริ่มตั้งแต่ “เหมียวเค่อซื่อ” ที่เล่นหนังกับเฉินหลงถึงสามเรื่องในยุคแรกๆ ที่จะมีความคิดในการปั้นเฉินหลงให้เป็นบรูซ ลี คนใหม่ จากนั้นก็มี จางมั่นอวี้, หลินชิงเสีย, หวังจู่เสียน, ซิวซู่เจิน, กวนจื่อหลิน และเหมยเยี่ยนฟาง ซึ่งคนหลังนี้ถือเป็นนางเอกที่แสดงหนังเข้ากับเฉินหลงมากที่สุดคนหนึ่ง ขณะเดียวกัน เฉินหลงยังมีเด็กปั้นสวยๆ ให้เป็นนางเอกนักบู๊ที่โกอินเตอร์ไปตามๆ กัน อย่าง “หยางจื่อฉุน” (มิเชล โหย่ว)

นอกจากนี้ ก็ยังมีนางเอกระดับนานาชาติที่เฉินหลงได้มีโอกาสร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะเป็น “เจนนิเฟอร์ เลิฟ ฮิววิตต์” ในเรื่อง The Tuxedo แคลร์ ฟอลานี่ ดาราอังกฤษ กับเรื่อง The Medallion คิมซีฮุน ดาราเกาหลี และ มาลิกา เชราวัต ดาราอินเดีย ในเรื่อง The Myth มิราอิ ยามาโมโตะ ในเรื่อง “ใหญ่เต็มฟัด” เซซิล เดอฟรองซ์ สาวฝรั่งเศส ใน “80 วัน จารกรรมฟัดข้ามโลก” จางซิยี่ สาวจีนแผ่นดินใหญ่ในเรื่อง “คู่ใหญ่ ฟัดเต็มสปีด 2” และซูฉี สาวไต้หวัน ในเรื่อง “เบ่งหัวใจ ฟัดให้ใหญ่” (Georgeous) ทั้งหมดนี้เป็นสาวสวยที่เพิ่มความเจริญหูเจริญตาให้กับหนังของเฉินหลงอย่างมากมาย
เหมียวเค่อซื่อ
จางมั่นอวี้
หลินชิงเสีย
หลินชิงเสีย
หวังจู่เสียน
หวังจู่เสียน
ซิวซู่เจิน
ซิวซู่เจิน
กวนจื่อหลิน
กวนจื่อหลิน
เหมยเยี่ยนฟาง
มิเชล โหย่ว
เจนนิเฟอร์ เลิฟ ฮิววิตต์
มาลิกา เชราวัต
มาลิกา เชราวัต
จางซิยี่
ซูฉี
ซูฉี
***เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจากนิตยสาร Starpics**

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE