Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com
ภาพยนตร์สารคดีร็อก ที่มีศัพท์แสงเฉพาะว่า rockumentary นั้น ในวงการเพลงร็อกก็มีมากมายดาษดื่น บ้างถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ บ้างอัดเป็นวิดีโอ ทั้งนี้ ถือเป็นงานสารคดีที่บันทึกประวัติศาสตร์ของเพลงร็อก วงการร็อก หรือ วงดนตรีร็อกไว้ มีมากมายและเป็นที่นิยมกันอยู่
ว่ากันว่ามันคือประวัติศาสตร์แขนงหนึ่งทีเดียว เป็นบันทึก เป็นเอกสารอ้างอิง สภาพสังคม สภาพความเป็นอยู่ของผู้คน แนวคติชนวิทยา ตลอดถึงไลฟ์สไตล์ และปรัชญาชีวิตในยุคนั้นๆ ไว้ ผ่านศิลปะแขนงภาพยนตร์และดนตรีแบบทู อิน วัน
ศัพท์ rockumentary เกิดขึ้นในปี 1969 โดยนักจัดรายการจากสถานีวิทยุเพลงร็อก คนหนึ่งเพื่อจะจัดทำแฟ้มรายชื่อ “ร็อกสตาร์” ที่โด่งดังในยุคนั้น และเมื่อมีการบันทึกการแสดงสดของดนตรีร็อกมาฉายในโรงภาพยนตร์ ก็จัดเป็นสารคดีของวงการเพลงร็อกไป
บางชิ้นมีคุณค่า น่าจดจำ และรื้อฟื้นอดีต เป็นบันทึกเชิงสารคดี และศิลปะ วัฒนธรรมอีกแขนงหนึ่งทีเดียว
1. No direction home โดย Martin Scorsese (2005)
เริ่มกันด้วยดีวีดี 2 แผ่น สารคดีชีวิตของบ็อบ ดีแลน ในวัยหนุ่มยุคแสวงหา เทพหัวฟู ยุคบุปผาชน เขาคือพลังแห่งเพลงสังคม เพลงประท้วง เพลงโรแมนซ์ และเพลงศรัทธาในพระศาสนาในกาลต่อมา กับการออกร่อนเร่พเนจรไป แบบได้เลือดปู่ซึ่งมีเชื้อชาติยิว และปณิธานเพื่อเจริญรอยตามต้นแบบศิลปินรุ่นก่อน วูดดี้ กัธรี ต่อการใช้ชีวิตศิลปินในวัยหนุ่ม และไร้ซึ่งหนทางจะกลับบ้านในคาบเวลาหนึ่ง
แล้วคุณจะรู้จักเขาดี ตำนานที่มีชีวิต ไม่มีวันลับและยังไม่มีวันโรย สมกับคำคมของดีแลนที่ว่า “ผมไม่อยากเป็นตำนาน เพราะตำนานโดยแท้แล้วมักถูกฝังอยู่ก้นหลุมแล้วทุกคน” อันเป็นคำคมหลายๆ คำ ที่เขากล่าวได้ทะลวงใจ ให้ผู้ฟังขบคิดอยู่เสมอ
และแม้เพื่อนศิลปินในยุคเดียวกันจะเสียชีวิตไปหลายคนแล้ว แต่ บ็อบ ดีแลน ยังคงใช้ชีวิตแบบศิลปินคงกระพัน มีออนทัวร์ มีแสดงสด และปล่อยผลงานออกมาให้แฟนๆ จับจองอยู่อย่างต่อเนื่อง เหมือนพลังไม่เคยเหือดหาย รวมถึงงานอัลบั้มล่าสุด “Tempest” (2012)
ดีแลนได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ และเคยได้รางวัลอื่นๆ มาแล้วมากมาย อาทิ รางวัลแกรมมี่ รางวัลออสการ์ ได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกหอเกียรติยศ “ร็อก แอนด์ โรลล์ ฮอล ออฟ เฟม” เรียกได้ว่าเป็นศิลปินขึ้นหิ้งโดยแท้ แถมล่าสุดปีกลายยังได้รับเหรียญฟรีดอมจากมือประธานาธิบดีโอบามา และงานด้านการประพันธ์ ก็เข้าข่ายพิจารณาจากคณะกรรมการในกลุ่มวรรณกรรมโนเบลทีเดียว
ผลงานที่สุดยอดซาบซึ้ง กับสุดยอดผู้กำกับ มาติน สกอร์เซซี ที่ติดอันดับทอปเทนของสุดยอดสารคดีร็อกฟิล์ม
มาฟังเพลงระดับออสการ์ของดีแลนกัน
2. Don’t Look Back โดย D.A.Pennebaker (1967)
บ็อบ ดีแลน ที่เป็นผู้มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีและวัฒนธรรมของอเมริกา ด้วยเนื้อเพลงที่มีพลังและศักยภาพด้านกวีอย่างลึกซึ้ง เป็นที่ยอมรับกันโดยดุษณีว่า ดีแลน เป็นนักแต่งเพลงที่ทรงอิทธิพลสูงสุดคนหนึ่งในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และเป็นผู้ทำให้ดนตรีร็อก ที่มีจุดเริ่มต้นจากริมถนน เถื่อน สถุล กลายมาเป็นหัวข้อการศึกษาด้านปรัชญาเพลงในมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มภาคภูมิ
“Subterranean Homesick Blues” คือหนึ่งในผลงานเพลงเริ่มต้นของดีแลน ซึ่งฉีกรูปแบบจากดนตรีแนวอะคูสติก ที่เริ่มเข้าสู่แนวเครื่องดนตรีไฟฟ้า เป็นเพลงธีมในภาพยนตร์สารคดี “Don't Look Back” ของ “ดี.เอ. เพนน์เบเกอร์” (D.A. Pennebaker) ซึ่งมีกวีขบถแห่งยุค “อัลเลน กินสเบิร์ก” ร่วมด้วย
ก็เปรียบเทียบกัน ร็อกฟิล์ม ระหว่าง มาร์ติน สกอร์เซซี กับ ดี.เอ.เพนน์เบเกอร์ ตำนานขวัญใจคนเดิม บ็อบ ดีแลน ในอีกมุมมอง ยิ่งใหญ่ขนาดหอสมุดสภาคองเกรส ต้องรักษาฟิล์มนี้ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และให้เยาวชนคนรุ่นหันกลับไปศึกษา
ไม่ดูไม่ได้ แบบขัดแย้งกับชื่อเรื่องสารคดี
3. Wood stock โดย Michael Wadleigh (1970)
มหาอภิอมตนิรันดร์กาล กับประวัติศาสตร์ตำนานเทศกาลดนตรี “Woodstock” ในเดือนสิงหาคม 1964 โลกแห่งดนตรีได้ถูกบันทึกไว้เป็น “ตำนาน” อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ กับปรากฏการณ์ทางดนตรี ที่คลื่นมนุษย์นับแสนมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างอิสรเสรี ภายใต้บรรยากาศ “สันติภาพเคล้าเสียงดนตรี” ในยุคบุปผาชน กับการประท้วงสงครามเวียดนามในยุคนั้น เวทีนี้ก่อแจ้งเกิดดาวร็อกระดับตำนานอมตะในกาลต่อมามากมาย
บ้างยังคงมีชีวิตอยู่ บ้างล่วงลับ เทพกีตาร์ตลอดกาลอย่าง จิมมี เฮนดริกซ์ หรือคาร์ลอส ซันตานา ฯลฯ กับม็อตโตประจำใจ แบบติดตราตรึง ไม่ว่าจะผู้ชมหรือนักดนตรีที่มหกรรมวู้ดสต็อก “Make love not war”
นักฟังเพลงสากลหรือนักดนตรีรุ่นใหม่ ต้องกลับไปศึกษารากเหง้าของดนตรีร็อกในยุคพ่อ แผ่นนี้ แล้วจะรู้ว่าดนตรีที่เบ่งบานอันเป็นพื้นฐานของเพลงป็อปในยุคนี้นั้น พวกรุ่นปู่ เขาฝีมีอันฉันใด
4. Gimme Shelter โดย Albert and David Maysles (1970)
ความมันและหฤหรรษ์กับร็อกสตาร์ ตำนานแห่งยุค ที่ติดทอปเทนถึงสองเรื่อง นี่คือ สารคดีร็อกฟิล์มที่อื้อฉาวแห่งปีของคณะหินกลิ้ง ต้นตำรับดูดนตรีแล้วตีรันฟันแทงจนถึงแก่ชีวิต เป็นบาดแผลของสังคมที่มีมานานแล้ว
พี่น้องอัลเบิร์ต และเดวิด เมย์เซิลส์ บันทึกภาพเหตุการณ์ขณะวงโรลลิ่ง สโตนส์ เปิดฟรีคอนเสิร์ต แล้วมีตีกันแบบคอนเสิร์ตเพื่อชีวิตไทยสมัยนี้แหละ จลาจลครานั้นมีแฟนเพลงคนหนึ่งตาย เมื่อมีตัวก่อเหตุก็ต้องมีเหยื่อ มีมายาคติทางวาทีบิดเบือน ทุกสังคมในตอนนั้นตัดสินและลงโทษแบบทางโซเชียล ออนไลน์ สมัยนี้แหละว่า คนฆ่าหรือผู้ร้าย คือ สมาชิกแก๊งมอเตอร์ไซค์ Hell Angels ที่ภาพลักษณ์ โหด ดิบ เถื่อน ซึ่งทางวงจ้างมารักษาความปลอดภัย แต่สารคดีร็อกฟิล์มเรื่องนี้ คือ หลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริง
เป็นฟรีคอนเสิร์ตที่อเมริกาของหินกลิ้งครานั้น ในปี 1969 จัดที่เมืองอัลทามอนต์
5. Madonna : Truth or Dare โดย Alek Keshishian (1991)
ภาพยนตร์สารคดี Truth or Dare หรือ In The Bed With Madonna นั้น คงจะไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก กับเรื่องราวปานเทพมาดอนน่า และเจ้าป้าระดับป็อปสตาร์ต้นแบบ รายการเรียลิตี้ชีวิตดาราทั้งหลายในยุคปัจจุบัน
ยี่สิบกว่าปีแล้วก็ยังน่าสนใจ มันคือต้นแบบแห่งความเป็นจริงในสามัญลัษณะที่จับต้อง และรู้เห็นได้ สำหรับยุคนั้น กับการที่เซเลบซุป’ตาร์ระดับนางฟ้าอย่างมาดอนน่า จะเอาชีวิตตัวเองในแง่มุมต่างๆ มีทั้งดีทั้งร้าย กล้านำมาเสนอแบบแปลก อึ้ง ทึ่ง เสียว
6. Johnny Cash! The Man, His World, His Music โดยRobert Elfstrom (1969)
ถ้า Walk the Line คือสุดยอดภาพยนตร์ที่นำเสนอชีวิตของ จูน คาร์เตอร์ และจอห์นนี่ แคช ได้อย่างสนุกสนาน ผ่านการปรุงแต่ง ดราม่า ของศิลปินระดับตำนานของทั้งคู่
ห้ามพลาดสำหรับสารคดีที่ซื่อตรงต่อความเป็นจริง และคุณจะเข้าใจ รู้ใจ และรู้เห็นเป็นไปในความเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ของทั้งสอง
7. Shine a Light โดย Martin Scorsese (2008)
ภาพยนตร์สารคดีความยาว 122 นาที นี่คืออีกสุดยอดผลงานการกำกับที่แสดงศักยภาพของสุดยอดฝีมือ มาร์ติน สกอร์เซซี ที่แสดงฝีมือด้านภาพยนตร์สารคดีบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตของ โรลลิ่ง สโตนส์”
Shine a Light คือชื่อเพลงในอัลบั้ม Exile on Main St. ปี 1972 เป็นการบันทึกโชว์ครั้งสำคัญของ โรลลิ่ง สโตนส์ ในปี 2006 ที่โรงละครบีคอน เธียเตอร์ ณ มหานครนิวยอร์ก การแสดงครั้งนั้นของพวกเขา เป็นคอนเสิร์ตการกุศลหารายได้ให้กับมูลนิธิของอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน มาร์ติน สกอร์เซซี ใช้ผู้กำกับภาพชื่อดังถึงเจ็ดคน ถ่ายทุกฟุตเทจบันทึกเพื่อทำการเลือกมาตัดต่อของทุกๆ อิริยาบถ ตั้งแต่การซ้อม ยันการขึ้นเล่นจริงของวงแบบละเอียดลออทุกช็อต
ภาพยนตร์ฝีมือกำกับของมาร์ติน สกอร์เซซี ต่างรู้กันว่าจะต้องมาในสไตล์ไม่เหมือนใคร มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ในแนวทางชัดเจน กับเทคนิคการเล่าเรื่องที่ยอกย้อน คาดไม่ถึง ปลุกต่อมกระตุ้นลุ้นเร้าผู้ชมอยู่ตลอดเวลา คู่ไปกับอลังการงานสร้าง และทีมงานสุดยอดฝีมือ
Shine a Light จึงไม่ได้เป็นเพียงบันทึกการแสดงสดเหมือนกับดีวีดีคอนเสิร์ตทั่วๆ ไป แต่เป็นการเล่าเรื่อง เดินเรื่องด้วยดนตรีร็อกของศิลปินระดับตำนาน เป็นทั้งภาพยนตร์และดนตรีมารวมกัน อันสุดแสนจะคุ้มค่า
หินกลิ้ง เล่นเพลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 20 เพลง ตั้งแต่เพลงฮิตในยุคฮิตแทร็กแรกอย่าง I Can’t Get No (Satisfaction) และฟีเจอร์กับนักร้องรุ่นหลาน คริสติน่า มาเรีย อากีเลร่า แบบไม่ยอมแก่ โรลลิ่ง สโตนส์ ปิดความลับเรื่องลิสต์เพลงบนเวทีคอนเสิร์ตครั้งนี้ต่อมาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับ แบบเซอร์ไพรส์ตลอด เขาจับทางไม่ถูกเลย ต่อการวางแผนการทำงานทุกช็อต ผู้กำกับจึงใช้เซนส์ ประสบการณ์และทักษะฝีมือระดับเก๋า โดยสัญชาตญาณล้วนๆ
มาร์ติน สกอร์เซซี เรียกใช้บริการของผู้กำกับภาพเจ้าของรางวัลออสการ์ เช่น โรเบิร์ต ริชาร์ดสัน (JFK, Kill Bill) มาเป็นผู้กำกับภาพหลักในคอนเสิร์ตครั้งนี้ โดยที่เหลือในทีม ก็ล้วนแต่เป็นช่างภาพมือฉมังทั้งสิ้น ได้แก่ จอห์น โทล (The Last Samurai) แอนดรูว์ เลสนีย์ (The Lord of the Rings) สจ๊วต ดรายเบิร์ก (The Piano) โรเบิร์ต เอลส์วิต (There Will be Blood) เอ็มมานูแอล ลูเบซกี (Sleepy Hollow) และเอลเลน คูราส (Eternal Sunshine of a Spotless Mind) เรียกได้ว่า นอกจากอรรถรสทางเสียงที่ผู้ชมจะได้รับสุนทรียะแบบเต็มร้อยแล้ว อรรถรสทางด้านภาพก็ขั้นเทพ จึงยกให้เป็นชิ้นสุดยอด “ร็อกคิวเมนทารี” ที่หาใครปาน
ก็แนะนำกันก่อนแค่เจ็ดเรื่อง เจ็ดวัน ถ้าสนใจก็มีอีกมากมายที่จะแนะนำ แบบแผ่นสะสมของขาร็อก ไว้มีภาคต่อไปนะครับ