Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com
(ตำนานร็อกเรือเหาะ 7)
วิวัฒนาการของแนวดนตรี การก่อเกิดอัตลักษณ์ของศิลปิน การถือกำเนิดวงดนตรีที่มีมาเก่าก่อนของวงการเพลงร็อกนั้น ก็ไม่พ้นหลัก “มีสิ่งนั้นจึงมีสิ่งนี้” มีนักดนตรีพวกนั้น จึงมีวงดนตรีวงนี้ เป็นกระแสธารต่อเนื่อง หรือนับเนื่องกันอยู่ ไม่มีสิ่งใด นักร้อง นักดนตรีคนใด ที่อยู่ๆ ก็ถือกำเนิดเกิดมาแบบในยุคนี้ ที่มีแมวมอง ไปชวน มีค่ายเพลงไปกำหนดรูปแบบ และลงปั๊มในบล็อก แล้วเอาออกมาจัดจำหน่ายแบบโรงงานผลิตเครื่องกระป๋อง
ยุคนั้น การศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีเป็นไปโดยธรรมชาติโดยแท้
ต่อประสบการณ์ทางด้านตนตรีนั้น ว่ากันถึงวงเลด เซพพลิน หรือ “เรือเหาะ” อันอมตะนั้น เราก็ได้รู้ที่มาที่ไปของสมาชิกทั้งสี่คนไปพอสมควรแล้ว ต่อแต่นี้ไปคือเกร็ดตำนานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นประวัติศาสตร์ ระดับน่าบันทึกเข้าในหอเกียรติยศแห่งร็อก แอนด์ โรล หรือสารานุกรมแห่งวงดนตรีที่ศิลปินรุ่นหลังน่าเรียนรู้ยิ่ง
ก่อนจะมาเป็นตำนานร็อกเรือเหาะนั้น ศิลปินผู้ร่วมวงทั้งหมดมีประสบการณ์ทางด้านดนตรีมาก่อน อย่างช่ำชองมากมาย
จิมมี่ เพจ เล่าว่า “ผมได้รับการทาบทามให้เข้าสู่วง ยาร์ดเบิร์ดส์ เมื่อ เอริค แคล็ปตัน ออกจากวงไป แต่ผมไม่รับโอกาสนั้นทันทีหรอก ต่อการเชิญชวน เพราะผู้จัดการของเขาพูดกับผมทำนองว่า “โอ..แคล็ปตัน ก็แค่ไปพักผ่อน”
“หยุดพักผ่อน มันเป็นการพูดทำนองปลอบใจคนในวงมากกว่า ความจริงเขาแยกตัวออกไปแล้ว ถ้าผมไม่รู้จักเอริค หรือไม่ชอบเขา ผมก็เข้าเสียบไปแล้ว แต่แท้ที่จริง ผมไม่อยากเป็นสมาชิกวงนี้ ผมชอบเขาอยู่บ้าง และไม่อยากจะให้เขาคิดว่าผมแทงเขาข้างหลัง “พอข้าหลบเอ็งรีบเสียบเชียวนะ” ความรู้สึกตอนนั้นก็ประมาณนี้
“แคล็ปตันมาหาผมที่บ้านในเอ็ปซัม เราบันทึกแผ่นของเราที่นี่ ด้วยเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น เมื่อกลุ่มของเขา คือวงบลูส์เบรกเกอร์ แยกตัวไปที่เดกกา ผมก็บอกพวกเขาในทันทีว่าผมกำลังจะบันทึกแผ่นกับแคล็ปตัน พวกเขาจึงว่า “ดีแล้ว แต่อย่าลืมว่าเทปนั่นเป็นของวงเรา เพราะว่าอิริคอยู่ภายใต้สัญญากับวงเรานะ”
“ดังนั้น ผมก็ต้องให้เดโม เทป ต้นฉบับนั้นกับพวกเขา ซึ่งเราก็มีการอัดซ้ำหลายครั้ง พวกเขาเขียนเนื้อร้องใส่ แบบที่เราตั้งใจจะทำ และวางแผงขายกับวงบลูส์ แอนโธโลจี้
ผมกับแคล็ปตันต่างแยกกันเขียนเนื้อร้องกันตามส่วน เขาเอาเทปไปผมก็จำไม่ได้ว่าได้เงินบ้างหรือเปล่า รวมทั้งแคล็ปตันด้วย”
พวกเขาวง “เดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์” เป็นวงดีและดูสนุก ครั้งหนึ่งที่งานเต้นรำบอลรูมที่ออกซฟอร์ด หรือ เคมบริดจ์ ยูเนียน จำไม่ได้ว่าที่ไหนกันแน่ ตอนแสดง คีธ เร็ฟ ยืนฉี่ หมุนตัวไปรอบเวที ถือไมค์และฮาร์โมนิกาพัลวัน มันพันมือไม้ไปหมด และร้องลำนำถ่อยสถุล ที่น่าจะไม่ใช่สำนึกในแบบอย่างที่ดี
แถมตะโกนบนเวที แบบให้ “ย.ม.” กับผู้ชม และสุดท้ายก็หันไปพังกลองชุด
มันยิ่งใหญ่ และมหัศจรรย์มากต่อการแสดงแบบนั้น ผมคิด แต่จริงๆ แล้วทุกคนมองเป็นเรื่องขบขัน เราสามคนในวงรวมทั้งผม มือเบส และพอล แซมเวล สมิธ ก็ต้องหนีชิ่งออกมา
“ทนไม่ไหวแล้ว เห็นจะต้องไปก่อนล่ะ คีธ (เร็ฟ) แต่ถ้าผมเป็นคุณก็คงต้องทำอย่างนั้นเหมือนกัน”
แซมเวล สมิธ เป็นคนเรียบร้อย ประณีตพิถีพิถัน แม้แต่หลังเวทีการแสดง ทนไม่ได้และตกลงใจที่จะเลิกเล่น
หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ได้ยินว่าเราจะไปแสดงที่คลับมาร์ค วี ตั้งแต่นั้นทุกอย่างคงลงตัว การสับเปลี่ยน(อย่างจากมือกีตาร์เบส มาเป็นกีตาร์ลีด)เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อการที่ไม่ได้วางแผนในการแสดงแต่ละครั้ง อย่างแสดงที่ คลับคารัวร์เซล ในซานฟรานซิสโก และต่อการที่เจฟฟ์ เบค เล่นไม่ได้ในคืนนั้นผมก็เล่นแทน ทั้งนี้ก็จะมี คริส ดรีจาเล่นเบส
ว่าถึงตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าเป็นการบีบคั้นและประหม่าอยู่เหมือนกัน เพราะมันเป็นจุดสุดยอดของคอนเสิร์ตของวง “เดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์” ที่จะต้องทำการแสดง และผมก็ไม่ค่อยจะมั่นใจต่อการแผดสำเนียงกีตาร์นำ แต่มันก็ลงเอยด้วยดี พอ เจฟฟ์ เบค กลับมาอีกครั้งเลยทำให้วงมีกีตาร์ลีด สองตัว
ครั้งหนึ่งในห้องแต่งตัว ผมเดินเข้าไป ตอนนั้น เจฟฟ์ เบ็ค มีกีตาร์บนหัว เดินไปเดินมา ประมาณว่าจะฟาดบนหัวคีธ เร็ฟ แต่แล้วก็กระแทกบนพื้น เร็ฟ มองเบ็คด้วยความตกตะลึง เบคพูดว่า “ทำไมเอ็งถึงทำให้ข้าทำแบบนี้ฟ่ะ”
เราต่างอุทานว่า “ไอ้แย่เม็ด” เมื่อเห็นตัวป่วนประจำวงตกใจเสียได้ “สมน้ำหน้า ทีอย่างงี้มาทำเป็นตกใจ”
เราก็กลับไปที่โรงแรมที่พัก เจฟฟ์ เบ็ค บอกว่ารู้สึกไม่ค่อยสบายเพราะต่อมทอนซิลอักเสบ และต้องไปหาหมอที่ แอล.เอ. ซึ่งที่นั่นเราจะต้องไปพักสองวัน
เมื่อเราไปถึงที่นั่น เราคิดว่าหมอฟันคนที่นัดจะอยู่ในเมืองวิสกี้ กลับไปติดหญิงอยู่ที่แมรี ฮิวท์ และได้ฝากให้หมอคนอื่นทำหน้าที่แทน
เหล่านี้คือบางสิ่งที่ผมได้อยู่และได้เห็นในวง ”เดอะยาร์ด เบิร์ดส์” ตอนแรก การฉี่บนเวทีหรือทุบแอมป์ ก็ดี ทำเป็นออกจากวง พอผมเข้ามาก็กลับ ผมว่าหมอคงเป็นมนุษย์ผู้แปลกแยกพอควร ไม่ค่อยแน่ใจ แต่ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น เมื่อผมมาเขาก็มาร่วมด้วย พอผมมาแทนที่ เขาก็ไปทำยุ่งนอกเวที ไม่ค่อยจะมีวินัย สายบ้าง ไม่ขึ้นเวทีบ้างจนกว่าใกล้จะจบการแสดง และพฤติกรรมอื่นๆ จิปาถะ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด และมันเป็นการแหย่แผลกลาย เป็นการรื้อฟื้นความไม่ลงรอยบาดหมางก่อนเก่ากับคนที่เหลือในวงอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะลืมๆ ไปได้
ผมคิดว่า จากเหตุผลอื่นๆ แล้ว คงมีอีกประเด็น คือโดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างแสนถูกหฤโหดที่จ่ายเรา ทำให้ทุกคนทุกข์ใจ
เรื่องผู้จัดการขับเขา คีธ เร็ฟ ออกจากวง ผมไม่เคยแม้แต่จะทราบเรื่องเหล่านี้มาก่อน แต่พอไปถึงแอลเอ เข้าเท่านั้นแหละ พวกเขาก็ตัดสินใจว่าไม่เอาเขาไว้ และยังคงยืนกรานเหตุผลนี้ แม้แต่เบ็คและผมจะพยายามโน้มน้าวความเห็นที่คัดค้าน ในฐานะเสียงที่เหลือของวงก็ไม่เป็นผล และเบคก็บอกว่าจะไป ถ้าเรื่องสรุปออกมาเป็นอย่างนี้
ก็มีการประชุม พอจบลง เบ็คบอกว่าจะไป ผมจะไปด้วยไหม ผมตอบว่าไม่หรอก อยากหยุดสักพัก เพราะผมก็มีความฝันที่จะพยายามสร้างงานของตนออกไปเช่นกัน
แต่แท้ที่จริงแล้วมันคงจะดีกว่าถ้าผมจะไป แต่ในเวลานั้น ผมคิดว่าพวกเขาจะนินทาลับหลังเอาได้ ถ้าผมจะเสนอข้อเสนอที่เป็นบวกเกี่ยวกับการที่เราต้องการให้เบ็คอยู่ร่วมกับวงต่อ และในเดือนกรกฎาคม 1968 วงเดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์ ก็แตกวง
ส่วน ปีเตอร์ แกรนท์ ผู้จัดการวง ได้เล่าประสบการณ์ในคราวนั้นว่า “ผมเป็นผู้จัดการวง “เดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์” ในปี 1966 พวกเขาไม่มีแผ่นซิงเกิลฮิตติดอันดับกันเลย แต่ก็โด่งดังในแวดรั้ววิทยาลัยและการเป็นวงใต้ดินในอเมริกา แต่แทนที่จะไปเล่นให้ไต่อันดับท็อป 40 นี่ผมว่ามันไร้สาระ ผมคิดว่ามันมีตลาดอื่นรองรับอยู่ วง “เดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์” แท้ที่จริงแล้วเป็นวงจากอังกฤษ ที่ถูกจองให้ไปเล่นที่ฟิลล์มอร์ ในซานฟรานซิสโก ถ้าผิดจากแนวทางนี้ล่ะก็ ไปเล่นดนตรีเต้นรำซะ”
จิมมี เพจ กล่าวเกี่ยวกับปีเตอร์ แกรนท์ ผู้จัดการวงว่า ปีเตอร์ แกรนท์ เป็นผู้จัดการวง มิคกี โมสท์ ตอนวงนี้เข้าห้องอัด ว่างก็มาเป็นผู้จัดการวงเรา ผมรู้จักเขาก็เพราะว่าสำนักงานของเรามีประตูตรงข้ามกันกับวงเรา จึงรู้จักกัน เราร่วมงานครั้งแรกตอนออกทัวร์ออสเตรเลีย และเราก็พบหนทางที่จะทำธุรกิจร่วมกันหลังจากกับมาครานั้น