กะเทาะความคิด “ประวิทย์ มาลีนนท์” ในวันที่พ้นช่อง 3


เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เกิดความเปลี่ยนแปลงที่คนในแวดวงโทรทัศน์ให้ความสนใจ นั่นก็คือ การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ หรือช่อง 3 ทำให้หลายคนสนใจว่า นับจากนี้ ทิศทางของช่อง 3 จะดำเนินต่อไปอย่างไร ขณะที่ไม่มีหัวเรือใหญ่อย่างประวิทย์กุมบังเหียน

ประวิทย์ มาลีนนท์ เป็นอย่างไร ดูเหมือนช่อง 3 ก็เป็นอย่างนั้น แนวคิดในการบริหาร ตลอดจนการทำงานของคนในองค์กร ในวันที่ไม่มี “ประวิทย์” อยู่ จะยังเหมือนเดิมหรือไม่ หรือว่าสิ่งที่เขาก่อร่างสร้างไว้ ก็จะยังไม่เลือนหายไปไหน นิตยสาร “แพรว” เล่มล่าสุด จับเข่าคุยกับ “อดีตบิ๊กบอส” ผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนให้ช่อง 3 เป็นอย่างที่เป็นเช่นทุกวันนี้

คุณประวิทย์ให้เหตุผลที่ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ช่อง 3 ว่า มีปัญหาสุขภาพ รายละเอียดมากกว่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง?
ผมมีปัญหาสุขภาพมานานแล้วครับ เคยเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจเมื่อ 8 ปีก่อน ตอนนั้นหมอขอว่า อย่าใช้ชีวิตที่ต้องทำงานหนักๆ อีก ผมก็รับปาก และไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเดิมจริงๆ แต่แย่กว่าเดิมอีก ออกจากโรงพยาบาลวันที่ 4 สิงหาคม พอวันที่ 8 ก็ไปทำงานที่พัทยาแล้ว ตอนนั้นเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอกด้วย จำได้ว่าต้องทำแผลที่โรงพยาบาลในพัทยาก่อนแล้วค่อยไปงาน

หลังจากนั้นมีงานติดพันมาเรื่อยๆ พอผ่าตัดได้ 1 ปี ช่อง 3 มีครอบครัวข่าว ผมจึงต้องทุ่มเวลาให้งาน ไม่มีโอกาสดูแลตัวเอง ไปตรวจร่างกายอีกทีปารกฎว่า เส้นบายพาสที่ทำไว้เส้นหนึ่งมีอาการฝ่อใช้งานไม่ได้ จึงเริ่มคิดว่า ถึงเวลาดูแลตัวเองอย่างจริงจังแล้ว

นอกจากนี้ เวลาที่ผ่านมาของผม 80 เปอร์เซ็นต์ต้องทำงานอื่นที่ไม่สร้างรายได้ให้บริษัทและเครียดมากด้วย เป็นงานจุกจิกที่ต้องบริการคนอื่น หรือคนอื่นมาใช้เรา โดยเฉพาะมาจากภาคราชการหรือการเมือง ผมเหลือเวลาทำงานจริงๆ แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ จึงอยากตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออก เพื่อดูแลสุขภาพและใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากขึ้น จึงคุยเรื่องลาออกกับพี่น้องตลอด เป็นแผนที่คิดไว้พักใหญ่แล้ว

ช่อง 3 ที่ไม่มีคุณประวิทย์เป็นแม่ทัพจะระส่ำระสายไหมครับ?
ผมไม่ห่วงบริษัทเลย เชื่อเถอะว่าหุ้นช่อง 3 ไม่ตกแน่ เพราะโครงสร้างภายในไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกเว้นผมที่ไม่ได้ทำงานประจำแต่คงเข้าบริษัททุกวัน เพราะแค่ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแต่ยังทำงานตามปกติทุกวัน ถ้าทีมงานต้องการคำแนะนำหรือให้อยู่เป็นเพื่อนก็ยินดี

แล้วทุกวันนี้ทีมงานของเราก็เข้มแข็งขึ้น สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง อย่างที่บอกว่า ผมทำงานแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคนอื่นทำให้หมด นอกจากนี้เรายังเป็นทีมที่คุยได้ทุกเรื่อง ไม่เหมือนบางแห่งที่ต่างคนต่างทำ แต่เราแชร์ฝัน นำเป้าหมายมาปรึกษาหารือ แล้วทำให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างเช่นงานข่าว ความจริงผมฝันว่าเราจะเป็นสถานีข่าว แต่ทีมงานฝันต่าง คิดถึงคำว่า “ครอบครัวข่าว” เราแลกเปลี่ยนความคิดกัน สุดท้ายผมยอมแพ้ ซึ่งผลตอบรับตอนนี้ก็สะท้อนว่า คำว่า ครอบครัวข่าว ดีกว่าจริง

รู้มาว่าช่อง 3 ฝันอยากเป็น CNN แห่งเอเชีย?
ครับ เรามีสิทธิฝันได้ ทุกอย่างเกิดจากเล็กๆ ก่อนทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เกิดมาแล้วใหญ่เลย เรายังพอมีเวลาพัฒนาอีกเยอะ สังเกตได้ว่าตอนนี้ในจอทีวีเราเน้นข่าวเกี่ยวกับอาเซียนมากขึ้น เพื่อรองรับที่จะมีการเปิดเสรีอาเซียน เราตั้งใจนำเสนอสิ่งที่คนดูแล้วได้ประโยชน์รวมทั้งสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคม อย่างปีก่อนเราช่วยผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ก่อนหน้านั้นมีการระดมเงินทุนจากผู้ชมช่วยผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นกับแผ่นดินไหวที่เฮติ ซึ่งเป็นไอเดียเริ่มต้นของท่านมุ้ย (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) ที่ชวนให้ทำโครงการนี้ เราก็ไม่ทิ้งโอกาส และต้องบอกว่าไม่ได้ทำเพราะอยากดัง แต่ทำเพราะอยากช่วยสังคมจริงๆ

สำหรับครอบครัวละคร เราตั้งเป้าว่า จะทำความสะอาดจอ คุณสมรักษ์ ณรงค์วิชัย ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่า จะลดความรุนแรง ระวังเรื่องเพศ ภาษา และเป็นละครน้ำดีมากขึ้น เราฝันอยากเป็นบันเทิงอย่างดิสนีย์ หรือฮอลมาร์ก ซึ่งภาพเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ มีปัญหาอยู่นิดเดียวที่ผู้จัดรุ่นเก่าจะติดกับความสำเร็จแบบเดิมๆ เช่น นำบทประพันธ์เก่ามาทำใหม่ และเชื่อว่าต้องเป็นเรื่องแรงๆ จึงมีเรตติ้งซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเป็นความคิดที่ผิด แต่หนทางที่ประสบความสำเร็จยังมีอีกมาก

และตอนนี้เราก็มีผู้จัดรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นลูกหลานของผู้จัดรุ่นเดิมแต่ไม่มีความสำเร็จเก่าๆ ฝังใจ เขาจึงกล้าผลิตงานใหม่ขึ้นมา เช่น สี่หัวใจแห่งขุนเขา ที่ยืนยันได้ว่า ไม่ต้องทำละครตบจูบก็ประสบความสำเร็จได้

อย่างนี้คงต้องเพิ่มตำแหน่งพนักงานสำรวจเรตติ้งด้วย?
ใช่ครับ (หัวเราะ) ผมชำนาญเรื่องการเดินสำรวจมาก คิดว่า ในวงการนี้คงไม่มีผู้บริหารหรือพนักงานคนไหนเดินสู้ผมได้ แต่เดี๋ยวนี้อายุเยอะ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพนักงาน แต่สมัยก่อนเดินเยอะมากอย่างตอนที่คุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ ทำรายการเกมเศรษฐี ทุกเสาร์อาทิตย์ ผมจะเดินจากถนนพระราม 4 ลัดเลาะเข้าซอยเล็กซอยน้อยจนถึงตลาดคลองเตย ที่ไม่น่าเชื่อคือ ตอนนั้นผมคิดว่าเรตติ้งรายการนี้ซึ่งเป็นเกมความรู้จะสู้รายการบันเทิงช่องอื่นไม่ได้ แต่ปรากฏว่ารายการนี้ได้สัดส่วนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ตอนแรกยังคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวหรือเปล่า ผมจึงเดินสำรวจทุกอาทิตย์ ซึ่งตัวเลขก็ดีมากแบบนี้เกิน 6 เดือน

แต่ที่สำรวจแล้วไม่ดีก็มีครับ เที่ยวหนึ่งจำไม่ได้ว่า ที่พัทยากลางหรือพัทยาใต้ ผมเดินตั้งแต่ถนนสุขุมวิทยาวไปจนถึงชายหาด ดุตามร้านค้า บ้านเรือนสองข้างทาง ตอนนั้นคนทำเรตติ้งบอกว่ารายการหนึ่งของเราได้เรตติ้ง 8 ส่วน คู่แข่งได้ 16 แต่ที่ผมนับได้ ของคู่แข่งได้ 30 บ้าน ของเราแค่ 2 บ้าน ไม่ใช่สัดส่วนที่เขาบอก พอกลับถึงบริษัทผมถอดรายการนั้นออกเลย

พาร์ตเด็ดขาดอย่างนี้มีบ่อยไหมครับ?
มีบ้าง ไม่อย่างนั้นเราลงเหวสิครับ เพราะเรตติ้งหลอกชัดๆ ถ้าทนไปเรื่อยๆ คนดูหายหมดแน่ สู้ทำรายการใหม่ดีกว่า

แต่ละครั้งที่สั่งถอดรายการ คุณประวิทย์ลำบากใจไหม?
ถ้าเป็นของเราเองก็ไม่ครับ แต่ถ้าเป็นของลูกค้าหรือผู้จัดต้องพยายามบอกเหตุผล เราดูที่เนื้องาน ไม่ได้ตัดสินใจเพราะหมั่นไส้หรือไม่ชอบเขา งานไม่ดีคือเหตุผลที่เราขอเปลี่ยน แค่คนที่โดนผลกระทบมักไม่ค่อยเชื่อ คิดว่าเราทำตามใจตัวเอง การที่ช่อง 3 ถอดรายการไม่ได้หมายความว่ายึดเวลาคืน แค่ขอให้คุณปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรายการใหม่

วัฒนธรรมเรื่องนี้ของเราต่างจากที่อื่น ซึ่งส่วนใหญ่มีระยะเวลากำกับ เช่น ครบกำหนด 1 ปีเขาจะพิจารณาใหม่ ซึ่งคุณอาจไม่ได้ต่อเวลา และเป็นสิทธิของเขาที่ไม่ต้องอธิบายด้วย แต่สำหรับช่อง 3 สังเกตได้ว่า เราเปลี่ยนผู้จัดน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นลูกหม้อที่อยู่ด้วยกันมานาน และมักเป็นคนที่อาสามาอยู่ตั้งแต่วันที่ช่องยังไม่แข็งแรง ซึ่งถ้าตอนนั้นเขาเลือกไปอยู่ช่องอื่น อาจโตกว่านี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นในวันที่ช่องแข็งแรงแล้วจะทิ้งเขาก็ไม่ใช่ เราอยากตอบแทนเขาบ้าง แต่ก็บอกว่าผมให้เวลา คุณต้องทำรายการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้

คำหนึ่งที่คุณประวิทย์สอนพนักงานเสมอ คือ ยิ่งใหญ่ต้องยิ่งเล็ก ช่วยขยายความหน่อยครับ?
เราไม่ต้องไปแสดงว่าตัวเองสำคัญ ผมมองว่า ยิ่งทำตัวให้นอบน้อมได้เท่าไร เราก็ยิ่งมีความสำคัญในสายตาคนอื่นเท่านั้น เวลาไปไหนมาไหนผมจึงไม่ใช้รถนำ ไม่ต้องมีบอดี้การ์ด แต่กลัวคนตีหัวอยู่เหมือนกันนะ (หัวเราะ)
ทึ่คิดแบบนี้เพราะผมอึดอัดเวลาต้องยืนคุยกับคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า ที่ต้องแหงนหน้าคุย ผมจึงพยายามไม่ทำแบบนั้นกับคนอื่น ไม่ว่าลูกค้ามาจากบริษัทใหญ่หรือเล็ก ผมให้ความเคารพเท่ากัน เพราะถือว่าทุกคนเป็นพาร์ตเนอร์

วันนั้นเคุยกันถึงหลายฝัน ครอบครัวข่าวกับครอบครัวละคร ครอบครัวกีฬากำลังจะเกิด ฝันต่อไปของคุณประวิทย์คืออะไร?
ถ้าพูดแบบใกล้ๆ เราหวังว่าจะทำครอบครัวดนตรีขึ้นมาให้ได้ ไม่ได้หวังจะเป็นค่ายเพลงเช่นคนอื่นครับ แต่อยากสร้างบุคลากรด้านนี้ขึ้นมาช่วยงานสถานี เช่น แต่งเพลงหรือร้องเพลงประกอบละครหรือมีนักร้องไปช่วยงานประชาสัมพันธ์ เวลาช่องไปสัญจรตามต่างจังหวัดจะได้ไม่ต้องพึ่งคนอื่นมาก ซึ่งคงเป็นครอบครัวที่น่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้หลังจากที่เราคุยกันมาหลายปีแล้ว (ยิ้ม)

ส่วนครอบครัวที่น่าหนักใจมากที่สุดคือ ครอบครัวเด็ก รายการเด็กสร้างยาก เพราะมีข้อจำกัดเยอะ ถ้าเราใช้เวลาเขามาก เดี๋ยวเสียการเรียน ไม่มีสมาธิ ทำให้งานช้า ต้นทุนสูง ขณะเดียวกันรายการเด็กก็มีคนสนับสุนไม่มาก ซึ่งเรื่องเงินไม่ได้สำคัญเท่ากับอุปสรรคเรื่องการทำงานและกระแสตอบรับมากกว่า

เรื่อง/ภาพ นิตยสารแพรว

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE