สำหรับคนทำงานด้านครีเอต ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน คือเจ้าพ่อคนหนึ่งในงานสายนี้ของเมืองไทย และคู่เคียงกับเกรียงไกรแบบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก ทั้งคู่คือฝาแฝดซีอีโอแห่งบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด มหาชน ที่มีผลงานด้านสร้างสรรค์อีเวนต์ระดับบิ๊กๆ มาแล้วหลายงาน
งานครีเอทีฟ คืองานในฝันของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยจำนวนไม่น้อย แต่มีไม่กี่คนที่จะได้รับการยอมรับในฝีมือ อะไรคือกุญแจที่ไขไปสู่ความเป็นครีเอทีฟมืออาชีพ และทิศทางงานครีเอทีฟในอนาคต จะเดินไปแบบไหน เราใช้เวลายามบ่ายของวันดีๆ วันหนึ่ง นั่งสนทนากับเกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ที่สำนักงานอินเด็กซ์อีเวนต์ย่านคลองตัน และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาพูด มีพลังเพียงพอที่จะก่อแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างให้กับคนที่ฝันจะออกสตาร์ทและปักหลักบนเส้นทางสายนี้…
ครีเอทีฟไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก
“ผมว่าสิ่งหนึ่งซึ่งคนไทยเราไม่แพ้ชาติใดในโลก คืองานครีเอทีฟ ผมพูดเสมอว่า เราต้องชกในเลเวลของเรา คือระดับห้าร้อยหกร้อยล้านบาท หรืออาจจะไต่ไปถึงพันล้าน แต่สมมติว่างานอีเวนต์ใหญ่ๆ อย่างงานเปิดโอลิมปิก เราอาจจะบินไปไม่ถึง เพราะเราอาจยังด้อยในเรื่องของเอนจิเนียริ่งที่ยังสู้ฝรั่งไม่ได้ เพราะว่างานพวกนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องของครีเอทีฟอย่างเดียว มันคือเรื่องของเทคโนโลยีชั้นสูง ที่บ้านเรายังไม่ได้เอาเอนจิเนียริ่งมาผสมผสานในงาน ดังนั้น ถ้าเราจะชก เราก็คงไม่ได้ชกในรุ่นเฮฟวี่เวต คืองานของฝรั่งเขาไปถึงขั้นที่เป็น Mechanic กันหมดแล้ว กดปุ่มปุ่มเดียว มาหมดเลย อย่างเวลาไปดูมิวสิคัลที่เมืองนอก เราจะเห็นว่าคนนั่งคอนโทรลคนเดียว ดูทุกอย่าง เพราะระบบมันพร้อมหมดแล้ว มันออโตเมติก กดปุ่มสั่งการได้”
วิธีคิดในการทำงาน?
“จริงๆ ก็ตามคอนเซ็ปต์บริษัทนั่นแหละครับ Never Stop Creating ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันดีที่สุด เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องหาอะไรใหม่ๆ เสมอ เราต้องพัฒนาทั้งในแง่ของการทำงาน ทั้งในเชิงครีเอทีฟ ที่เราจะเอาไปแข่งกับคนอื่น ลูกค้าเวลาเจอเรา เขาก็จะคาดหวังเราในเรื่องครีเอทีฟว่าดีหรือสูงขนาดไหน ที่สำคัญ ลูกค้าเขาจะคาดหวังสิ่งใหม่ๆ จากเราเสมอ ทั้งในมุมของกลยุทธ์ มุมของโนว์ฮาว เทคโนโลยีแปลกๆ เราต้องล้ำกว่าคนอื่นเสมอ นี่คือสิ่งที่เป็นตัวตนของเรา
“ฟังดูเหมือนซีเรียส แต่ไม่ใช่เลยครับ ผมเป็นคนสบายๆ และยิ่งถ้างานประชุมครีเอทีฟ ถ้าคุณมีความรู้สึกว่าเครียด มันจะตันหรือหาโซลูชันไม่ได้เลย ผมก็บอก “หยุดๆๆ” เพราะว่างานครีเอทีฟต้องสนุก ทำแล้วมัน ช่วยกันโยนไอเดีย แต่ถ้าอันไหนที่มันเครียดๆ เราเอาไว้ประชุมในแมเนจเมนต์ อันนั้นเครียดได้ ผมแยกหมวดเลย ถ้าเป็นหมวดครีเอทีฟ ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน คอมเมนต์กันได้ ไม่ใช่ว่าไอเดียผมจะต้องชนะเสมอ ก็ต้องหาเหตุผลมาหักล้างกัน”
เป้าหมายแห่งการงาน
“ผมว่าผมทำงานแบบมีความสุข การได้เห็นงานที่ตัวเองคิดสำเร็จออกมาทีละชิ้นๆ แล้ววางรากฐานของบริษัทให้เติบโต ไม่ใช่เฉพาะในเจเนอเรชันนี้ แต่ไกลไปถึงคนรุ่นต่อๆ ไปด้วย เราก็สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาด้วย ส่วนเรื่องเงิน มันเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลัง ทีแรก เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าเรากำลังจะทำธุรกิจ แต่เรากำลังทำงานที่เรารัก พอมันประสบความสำเร็จ คนอยากจะมาดูงานเรา คนอยากใช้บริการงานเรา แล้วความสำเร็จก็ตามมา ก็มีรายได้ มันเป็นผลตอบแทนที่ได้มาทีหลัง ไม่ใช่ว่าผมทำเพื่อเงิน
“จริงๆ เป้าของงานมันไม่ได้อยู่แค่ว่างานเสร็จ คือถ้าไอเดียของเราสามารถบรรลุตามเป้าที่เราวางไว้ได้ มันก็เป็นสิ่งที่เราน่าจะมีความสุข อย่างผมทำละครเวที ในแง่หนึ่ง มันก็เป็นความสุขในแง่ที่ทำให้คนมีความสุขและชื่นชมงานของเรา เพราะว่าละครเวทีของเราก็ไม่ใช่แค่ละครเวทีธรรมดา แต่มีเรื่องเทคนิค มีความแปลกใหม่เสมอ เพื่อให้คนที่มาดูเขารู้สึกว่า “ลายมือ” ของเรามันแตกต่างจากคนอื่นอย่างชัดเจน ไม่ใช่ใกล้ๆ กัน
“แต่ก็มีหลายงานเลยนะที่ไม่สำเร็จ ไม่รู้คิดปลอบใจตัวเองหรือเปล่าที่เปรียบเทียบกับการจีบผู้หญิง ผู้หญิงเขาชอบสไตล์แอ๊ด คาราบาว เราจะไปสุภาพเรียบร้อยก็คงไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องของความถูกผิด มันเป็นเรื่องความชอบไม่ชอบ ในแง่ของไอเดีย”
โลกและตัวตน ของคนครีเอต
“ต้องกว้างครับ ผมอาจจะได้เดินทางมาก ผมเลยได้เห็นโลกเยอะหน่อย แต่การได้เห็นโลกเยอะ ยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสมบูรณ์นะ เพราะเห็นแล้วก็ต้องรู้จักคิด เราเห็นแล้วเราก็เอาความสามารถหรือประสบการณ์ นำมาผสมผสานต่อยอดไปเป็นไอเดียใหม่ๆ ได้
“สำหรับผม อันดับแรก คุณต้องขยันกว่าคนอื่น และเรื่องของไอเดีย จริงๆ แล้วมันสามารถได้มาจากทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเลย ดูหนัง ดูละครทีวี อย่างดูฟุตบอล ผมก็ชอบ แต่ผมจะสังเกต ฟุตบอลเยอรมนีเขาก็มีวิธีเชียร์แบบหนึ่ง สีสันคึกคัก ยิงเข้าก็จะมีคนยกธงเต็มสนาม ส่วนอังกฤษเขาจะไม่มีคัลเจอร์แบบนี้ ผมก็จะดูเก็บรายละเอียดพวกนี้
“บางที มันก็มิกซ์นะครับ อย่างดูหนังบางเรื่อง เราก็อาจจะแบบว่า เอ้อ…ซีนนี้ใช้กับงานได้ มันไม่ได้หมายความว่า เราเข้าไปดูหนังแล้ว เราปล่อยสมองว่าง ไม่สนใจเรื่องอื่น บางทีบางจังหวะ เวิร์ดดิ้งในหนังมันเจ๋ง มันได้ โปรดักชันดีไซน์มันดี มันเอนเตอร์เทนไปด้วย ได้งานด้วย เหมือนผมส่งน้องไปดิสนีย์ บางคนบอกดีมากเลยได้เที่ยวอาชีพนี้ ผมว่ามันไม่ใช่หรอก ดิสนีย์มันเป็นตัวอย่างของการทำอีเวนต์ เราก็ไปดูมาตรฐานแบบเวิลด์คลาสเขาทำกันอย่างไร ให้ไปศึกษาด้วย มันเรียนรู้ได้ตลอดเวลา”
อนาคตงานครีเอทีฟ
“ผมว่ามันก็มีมิกซ์กันมากขึ้น ระหว่างความเป็นตัวตนของโลคัลมากขึ้น ไม่ใช่ว่าจะต้องไปก๊อบปี้ฝรั่งหรือญี่ปุ่นมาทั้งหมด มันมีความเป็นตัวตนของพื้นบ้านเรา และเราโชคดีนะครับที่บรรพบุรุษของเราสร้างเอกลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมไว้ได้ชัดเจนชนิดที่เห็นปั๊บก็รู้ว่าไทย
ความเอ็กซอติก (Exotic) ยังขายได้ ผมจะยกตัวอย่างแบบนี้ครับ อย่างตอนที่ผมอายุ 20 กว่าๆ ผมเดินทางไปฮ่องกงแล้วก็ไปต่อที่อินเดีย แล้วพอเราไปถึงอินเดียซึ่งเป็นที่ที่ศิลปวัฒนธรรมเขาแข็งแรงมากๆ โอ้โห มันมีเสน่ห์เยอะเลย ส่วนที่ฮ่องกง ก็เป็นฝรั่งหรือจีน แต่พอเราไปอินเดียที่คัลเจอร์แข็งแรงจริงๆ มีวัฒนธรรมของตัวเอง มีภาษาของตัวเอง ผมว่ามันแข็งแรงกว่าเยอะ ทำไมฝรั่งถึงชอบเมืองไทย เพราะเมืองไทยมันครบไงครับ มีทั้งความเป็นยูนิคแบบไทยๆ ก็มี หรือคุณจะต้องการแบบอินเตอร์ก็มี แบบดาร์กๆ ก็มี สินค้าก็มีตั้งแต่บนห้างไปจนถึงแบกะดิน เมืองไทยมันถึงสนุก แต่ผมก็ยังยืนยันนะครับว่าประเทศที่มีศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง มันน่าดู”