คอลัมน์ : Blowin’ in the Songs
โดย ประมวล ดาระดาษ
ยุคโพสต์ โมเดิร์น หลังสมัยใหม่ ศิลปินนักเพลงและผู้แต่ง คล้ายมักง่ายต่อการสร้าง/เสพ คีตศิลป์ ไม่ได้มุ่งเน้น/คาดหวังต่อการออกไปล้นวัฒนธรรม avant-garde อย่างก่อนเก่า
การอันใดที่จะนำเสนอตัวตนโดดเด่นหนุ่มสาวและขนบสังคมต่างยึดกุม ป๊อป คัลเจอร์ เป็นที่พึ่ง ต่อเชิงก้าวกระโดดออกมาจากขนบบรรทัดฐานแวดล้อมและบริบทสังคมทั่วไป นั่นคือจุดมุ่งหมาย และมุ่งหวังการ”โดน”ต่อกระแสชนของวัฒนธรรม และสะท้อนกลับไปสู่ตัวตนในรูปแบบเชิงพาณิชย์แบบสารัตถประโยชน์
“วัฒนธรรม” คำที่เสฐียรโกเศศ กล่าวว่าเป็นคำกลางๆ “ไม่ดี ไม่เลว” หากบัดนี้ ท่ามกระแสแห่งการเอ่อบ่า และท่วมท้นไปข้างหน้า ต่อการตวัดกระโจนขึ้นเบื้องสูงอย่างก้าวกระโดด หากโลกสมัยใหม่กลับไร้หัว ไร้หาง ไร้เบื้องกลาง มีแต่เบื้องปลาย คือ ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
จาก ดอนนา ซัมเมอร์ นักร้อง/ศิลปินผิวสีแนวดิสโก โซล บลูส์ ยุค 70 ที่ครางกระเส่า ในซิงเกิ้ลแทร็กติดท็อปชาร์ต “Love to Love You Baby ” (1975) สบโสตกระสันรัญจวนใจ ต่อเสียงครางเร้าอารมณ์
นั่นคือ ขนบแห่งรูปแบบและศิลปะที่ยังพอหลงเหลือนัยยะ แบบที่โลกคลาสสิกยุคเก่ากอปรจรรโลงขนบนู้ดเปลือยตัวตน ในความรโหฐานแห่งสุนทรียะ แม้นิตยสารไทม์ จะบอกว่าเธอสำเร็จกิจต่อการประดิษฐ์ประดวนไปมากมายครั้งกว่าจะบันทึกเสียงเสร็จ และสถานีวิทยุเคร่งสำรวมบางแห่งแบนศิลปะที่จักต้อง “ตัดทอนเปิดเผย สิ่งที่ควรปกปิด และปกปิดในส่วนที่ควรเปิดเผย” ซึ่งออสการ์ ไวลด์ นักประพันธ์นามอุโฆษแห่งยุคโรแมนติคก่อนหน้าให้คำนิยามไว้
ยุคสมัยคลาสสิก ทุกอย่างอลังการ มีระเบียบแบบแผน บนบรรทัดฐานขนบแห่งสุนทรียภาพ เห็นความงามในงาม ศิลปะทุกแขนงต่างได้รับการสร้างสรรค์สืบทอด
โลกหลังสมัยใหม่ คุณค่าแห่งขนบ ถูกทำลายล้าง รื้อถอน ลดทอนคุณค่า
สหัสวรรษใหม่ ที่ปัจเจกหลีกเร้นสุนทรีย์ดั้งเดิม แบบ จอห์น แนช สรุป “ทฤษฎีเกมหลากหลาย” มีผู้เล่นหลายฝ่าย ส่งผลต่อสภาพ Chaos สับสนอลหม่าน
ต่อสืบประเวณี/สมพาสคุณค่าพื้นบ้านขนบบุราณวรรณศิลป์ ผูกนัยยะเคียงเรื่องเพศ แบบสนานเริงรมย์ล้อ/ล้มขนบราชสำนัก ลำตัด พ่อเพลงแม่เพลง ผู้บันเทิง ยังเปี่ยมจารีต “กลอนแดง” ยามดึก ร้องหัว ยั่ว เสียดเย้ย สองแง่สามง่าม ในนามคีตศิลป์เชิงถ้อย สำหรับผู้ใหญ่
ยุคแห่ห่ามโพสต์ โมเดิร์น ต่างบรรดาผู้เหหัวเรือห้อมทุน ขบคิดกับกระแสท่วมบ่าแห่งวัฒนธรรมป๊อบ นั่นคือ ทุกอย่างแตกกระจาย ไร้แก่นสาร แหวกหนีระบอบแบบแผนเก่า
เคที่ เพอรี่ ร้องวรรณอำต่อบุรุษรักร่วมเพศ แฝงนัยยะเสียดเย้ย จิกแกมหยอกต่อบรรดา “จอมยุทธนักบู๊สีม่วง” แบบเริงรื่นร่วมสมัยในหลุดถ้อย penis จากเรียวปากสาวแบบหาญกล้า
และเป็นเคที เพอรี่ อีกแทร็ก ต่อวัฒนธรรมรักร่วมเพศเลสเบี้ยน ที่หามุมอับในซอกหลืบเมืองละเมิดสังวาสกับหญิงที่ไม่รู้จัก และเผยนัยยะต่อกระสันสำนึกใน ร้องคร่ำครวญถวิลรสชาติกระเส่าปิ่มโหยไห้ถวิล
ต่อปัจเจกยุคแห่งสังคมหพุโฆษ ที่ทุกเสียงมีความหมาย โดยมุ่งเน้นตอบสนองต่อการ”โดนใจ” แห่งสัญชาตญาณหมู่ แปลกแยกเชิงเพศนัยยะตื้นเขิน
หากได้ยินแต่สำเนียงแบบ “คันหู” ในสไตล์ ดอนนา ซัมเมอร์ ย่อมรสนิยม
หากทว่าการแสดงออก โดยโยงนัยยะห่ามแห่งสตรีเพศกากสาธารณ์ในสาธารณะย่อมตำหนิ ต่อขนบโรแมนซ์สมัยเก่า แง่ศิลปะที่ควรแย้มนำเสนอสิ่งควรปกปิด
และอาจจะช้าไป ในระดับเวิร์ลด์ ไวลด์ เชิงพาณิชยศิลป์
เพราะเคที่ เพอรี่ “คัน” และชิง “เกา” กระทั่งประสบความสำเร็จในเชิงป๊อป คัลเจอร์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว (55)