จุดเทียนระเบิด เพลงน้ำท่วม : "แอ๊ด" บังเอิญเหมือน "นีล ยัง "?!?!

โดย ประมวล ดาระดาษ

เพลงป๊อปปูลาร์ ที่เป็นที่นิยมร่วมสมัยในสถานการณ์ปกตินั้น เป็นเพลงที่มาแล้วก็ไป อาจมีท่วงทำนองติดหูผู้ฟังในกรณีนั้นๆ ในช่วงเวลานั้น เพลงป๊อป ในขนบแบบนั้น จึงมีสูตรสำเร็จอยู่ว่า จะต้องเป็นเพลงที่มีลูกฮุค แบบถ้อยคำและท่วงทำนองแบบโดนใจสาธารณะ และร้องกันติดหู ในเวลาอันรวดเร็ว และฮิตอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง
สูตร “No Hook No Song” คือ โจทย์สามัญปกติ ในกระบวนการผลิตของค่ายเพลงและศิลปินที่จะสร้างงาน ไม่ว่าจะเป็นเพลงแนวใด จะร็อก/คันทรี/ อาร์ แอนด์ บี หรือฮิป-ฮอป ฯลฯ ร่วมสมัยแขนงใดก็ตามแต่
หนักขึ้นไปอีกหน่อย ถ้าเป็นนักเพลงประเภท”ฮาร์ด คอร์” ที่ชื่นชมหรือชอบมวยหนักประเภทไฟเตอร์ ก็จะมีนิยามแยกออกไปว่า “No Riff No song” ลุกริฟฟ์และไลน์ลิคกีตาร์มหากาฬในรูปเพาเวอร์ คอร์ดนะครับ นี่ภาษานักทฤษฎีดนตรี
นั่นคือ คอเฮฟวี่ คอเมทัล ประเภท นู เมทัล เดธ ดูม หรือ เมทัล คอร์ ที่กำลังเป็นที่นิยมในวัยรุ่นโลกตะวันตกที่จะต้องมีลูกริฟฟ์กีตาร์หนักๆ บีตรัวเบิ้ลกระเดื่องนรกประมาณ 220 บีท/นาที ทำนองนั้น จึงจะเข้าขั้นเทพ ไม่มีลูกริฟฟ์ก็จะไม่เป็นเพลงเช่นกัน
ถึงสถานการณ์ มหันตภัย “ดิสแอสเตอร์” ที่โลกประสบภัยพิบัติ ซึ่งโลกอาจจะตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง หรือประสบภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ แร้นแค้นอดอยากที่เรียกรวมๆ ว่า ทุพภิกขภัย หรือภัยพิบัติ ทำนองนั้น
บันทึกทางประวัติศาสตร์มีเยอะมากครับ สำหรับปรากฏการณ์ทางด้านศิลปะที่เรียกว่า เสียงเพลง อาจจะมาในรูปเป็นเพลงปลอบขวัญ ปลอบใจ ให้กำลังใจ หรือเพลงฟื้นฟูสภาพจิตใจอะไรก็แล้วแต่
ศิลปะแห่งเสียงเพลงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีนั้น ทั้งหลาย ทั้งปวง ทั้งสิ้น
ไล่ประวัติศาสตร์ไป ก็จะเห็นเป็นหน้าๆ อย่าง คอนเสิร์ต “สำหรับชาวบังคลาเทศ”(2514) The Concert for Bangladesh ที่บรรดาก็อดในวงการยุค 70s ที่มี จอร์จ แฮริสัน แห่ง เดอะ บีทเทิลส์เป็นโต้โผใหญ่ มีสตาร์ดาราร็อกมาร่วมแจมมากมาย อาทิ เพื่อนซี้ เอริค แคลปตัน และขุนพลเพลงประท้วงขาใหญ่ บ็อบ ดิแลน ฯลฯโดยมีรวี แชงการ์ นักดนตรีพื้นเมืองชาวอินเดีย เป็นแม่งาน เป็นอาทิ ศิลปินก็ระดมทุนช่วยเหลือชาวบังคลาเทศที่อดอยากได้หลายอยู่ หนังและวีดิโอชุดนี้ก็ได้รับความนิยมและเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์สำหรับการกล่าวขวัญพอๆ กับคอนเสิร์ตวู้ด สต๊อก คราแรก
เทป/วัสดุสื่อ แผ่นไวนีล เทปคัสเส็ตต์ ดีวีดี บันทึกเพลงหรือการแสดงคอนเสิร์ตเหล่านี้ ก็ขึ้นหิ้งคลาสสิกกันไปเรียบร้อย สำหรับคุณค่าที่ควรค่าแก่การสะสม เป็นวัตถุโบราณทางเสียเพลง และบันทึกประวัติศาสตร์ล้ำค่าในรูปบันเทิง ที่คอร็อกหาสะสม ประมาณค่ามิได้
และย้อนอดีตปี 2528 (Live Aid Concert)รวบรวมศิลปินโดย บ็อบ เกลดอฟ และ มิดจ์ ยูเร คอนเสิร์ตครั้งนั้นก็เป็นการรวมตัวกันของนักร้องนักดนตรีร็อกจำนวนมาก เช่น บ๊อบ ดิแลน, ควีน, ยู2, เดวิด โบวี พอล แม็คคาร์ทนีย์, ฟิลล์ คอลลินส์ ฯลฯ คอนเสิร์ตไลฟ์เอดครั้งนั้น สามารถหาเงินบริจาคได้ถึง 150 ล้านปอนด์ โดยจัดขึ้นเพื่อนำรายได้ไปบริจาคให้ผู้อดอยากในแอฟริกา
ถึงกระทั่ง ปีกลาย มีคอนเสิร์ตช่วยผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว ชาวเฮติ “Hope For Haiti Now: A Global Benefit for Earthquake Relief“ ถ่ายทอดจากหลายเวที ทั้งนิวยอร์ก ลอสแองเจลีส ลอนดอนและเฮติ
มีศิลปินชื่อดังมากมาย อาทิ บียอนเซ ,มาดอนนา, บรูซ สปริงทีน,เจย์ซี, โคลเพย์, เทย์เลอร์ สวิฟ และ U2 ฯลฯ มีดาราดังจอร์จ คลูนีย์ เป็นพิธีกรหลักของเวที ทั้งที่ลอสแองเจลีส และไวเคลฟ ฌอง ทำหน้าที่เดียวกันที่นิวยอร์ก มีแอนเดอร์สัน คูเปอร์ของ CNN รายงานสดจากเฮติ แถมร่วมด้วยนักแสดง/ดาราอีกนับร้อย นำโดย จูเลีย โรเบิร์ต,แบรท พิตต์,ลีโอนาโด ดิคาปริโอ ฯลฯ มาร่วมรับโทรศัพท์บริจาคเงินระหว่างการถ่ายทอดด้วย
ปีกลาย ญี่ปุ่นประสบภัยสึนามิ เห็นสำนักทีวีไทย ต่างระดมเงินบริจาคช่วยญี่ปุ่น กันทั้งวันทั้งคืน โดยมีเพลง “กำลังใจ” ของวงโฮป เป็นเพลงกระตุ้น ให้ซาบซึ้ง อิ่มเอิบ และขนลุกซู่ให้เกิดอุปทานหมู่ปลื้มปีติในการบุญกุศล ก็รู้สึกดีครับ
“กำลังใจ… จากใครหนอ..ขอเป็นทานให้ฉันได้ไหม…”
เสียงของคู่สามี ภรรยาศิลปิน วงโฮป การร้องสไตล์โฟล์ค และร้องในขนบ ยุคเพลงประท้วง แบบโบลวิ่น อิน เดอะ วินด์ ก็อิ่มเอมใช้ได้ แม้จะตกหูสำหรับผมไปหน่อยก็ตามครับ สำหรับสมัยนี้
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ คุณฤทธิพร อินสว่าง ผู้แต่ง มาเขียนพ้อในเว็บไซต์ของตน ว่าไม่ได้รับเครดิตว่า เป็นคนแต่งเพลงนี้เลย คุณฤทธิพรก็บ่นในเชิงแบบน้อยใจไปครับ
ก็น่าเห็นใจเพลงของตนเองแท้ๆ ผมก็เพิ่งรู้นี่แหละ ว่านอกจากเพลงอมตะ “ใบไผ่”ที่ซาบซึ้งกินใจสมัยเป็นวัยรุ่นแล้ว คุณฤทธิพร อินสว่าง ก็มีเพลงแนวโรแมนซ์ให้กำลังใจ ยามหดหู่รันทดท้อ แบบนี้อยู่
ว่าสำหรับคุณฤทธิพร อินสว่าง. ตอนนี้ไม่มีผลงานปรากฏนัก เพลงนี้และอีกหลายเพลงก็เข้าขั้นเพลงรักคลาสสิก และให้กำลังใจ.ให้ความหวังมีลุกฮุค จับใจขึ้นชั้นคลาสสิกไปแล้ว เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้ การไม่ได้รับเครดิต ไม่ได้รับเกียรติ แม้เพลงนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อการกุศลก็ตามที ผมเข้าใจในหัวอกศิลปินครับ
ขอบอกกล่าวถึงบรรดานักเล่าข่าว นักจัดรายการโปรดิวเซอร์รายการทีวี ผู้จัดรายการอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติ เอาลิขสิทธิ์ทางปัญญาเขาไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ผิดทั้งกฎหมายทางโลกละเมิดลิขสิทธิ์นี่อาญา ส่วนทางธรรมนั้นก็ศีลข้อละเมิดเรื่องลักทรัพย์ผู้อื่น น่าละอายนั่นแล
ใช้คอมมอนเซนส์จับก็จะแจ่มแจ้ง ก็ต้องสำนึกกันอยู่แล้ว ทั้งทางโลกย์ และทางธรรม มีมารยาทกันหน่อย การกุศลก็พอจะอะลุ้มอะหล่วยพอได้ไม่ว่ากัน ศิลปินก็อาจจะแค่ได้แต่แอบน้อยใจลึกๆ เท่านั้น น่าจะหมดไปเสียทีกับการที่ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ ตามธรรมเนียม ตามสภาพสังคมใจบุญที่ว่าขอกันกินมากกว่านี้
ศิลปินไส้แห้ง แต่นักฉกฉวยร่ำรวยเอา น่าจะหมดสมัยครับ
เพลง ร่วมสมัยเกี่ยวกับน้ำท่วม ในมหาอุทกภัยปี 2554 ปีนี้นั้น ก็น่าจะมีมหาศาล ตามยุคไซเบอร์ ยุคออนไลน์ ยุคโหลดบิต ยุคคนสื่อสารมวลชนรวยและครองเมือง
ส่วนปี 2485 น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ นั่นผมเกิดไม่ทัน จึงไม่รู้เรื่อง เห็นมีคนเอาข่าวเก่าๆ มาแปะ ได้อ่านก็รู้ว่าข้าวของมีขาย ไม่ฉวยขึ้นราคา มีเรือแพ เรือพายกันแถวสถานีหัวลำโพงสมัยโน้น คู คลอง เยอะนะครับ ตอนนั้น ก็น่าจะสนุกกันไปมากกว่าทุกข์ ไม่มีการทำบิ๊กแบ๊ก ให้กั้นแบบยกพวกตีกัน ก็ปล่อยให้แห้งตามธรรมชาติของน้ำ เหมือนจะโรแมนซ์ดี
พูดถึงเรื่องเพลงน้ำท่วม ร่วมสมัยปีนี้ ก็เงี่ยหูฟังแบบไม่ได้ตั้งใจพอประมาณ เพลงน้ำท่วมที่สังคมเลื่อนเปื้อนเลื่อนไหล ปานจังไรบนสายน้ำ บางคนบางหมู่บางเหล่านะครับ ทั้งนักการเมือง ทั้งการไร้ระเบียบวินัย เห็นแก่ตัวของคน มึงท่วม กูไม่ท่วม ท่วมก็ท่วมด้วยกันซี ฯลฯ อะไรทำนองนี้
น้ำท่วมจึงได้เผยธาตุแท้กึ๋นแท้ดั้งเดิม สัญชาตญาณดิบและแสดงออกมาโชว์สังคมให้รับรู้แบบน่าอดสู แต่ด้านดีก็มีอยู่มาก ก็น่าภูมิใจอยู่สำหรับนักวิชั่น คิดบวก
เพลงประกอบรายการของสรยุทธ สุทัศนะจินดา “เรื่องเล่าเช้านี้” ตอน สึนามีญี่ปุ่น ผมลืมไปแล้วว่า เพลงอะไร อ๋อ…แรกๆ จำได้ว่าเป็นเพลง “My heart will go on” ของซีลิน ดิออน เพลงหนึ่ง
ส่วนปีนี้ รายการเล่าข่าว ที่เอาเพลงมาปิดหัวปิดท้ายช่วงเบรกข่าวน้ำท่วมทุกวันนั้น ก็เป็นของคุณสมศักดิ์ แขนเดียว ที่โด่งดัง รองชนะเลิศจากรายการ Thailand's Got Talent เพลงมีโปรดิวเซอร์ขัดเกลาให้มีมิติ มีอิมเพรสซีฟในอารมณ์หดหู่ และดิ้นรนช่วยตนเองดีอยู่ มีบรรยากาศซึมลึก ทว่ามันไม่เกี่ยวกับ อุทกภัยน้ำท่วมเลย นี่ว่ากันตามตรง
พอรู้ว่าคนร้อง เป็นคนพิการ และต่อสู้ชีวิต ผมก็ค่อยรู้สึกดีขึ้นและก็พอจะพอใจกับวลีในเพลงที่ว่า
“…จะร้องไห้ทั้งน้ำตา ให้สาแก่ใจ…”
“จิตใจอ่อนล้า แต่ใจก้าวเดิน…”
แบบเห็นภาพคนแขนพิการ ต่อสู้ชีวิตซ้อนทับขึ้นมา นึกถึงรายการ “ฝันที่เป็นจริง”ของคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ ในสมัยโน้น มากกว่าเห็นใจคนประสบอุทกภัยเดือดร้อนครับ..
ครับ คนน้ำท่วมนั้น ยิ่งกว่าเคราะห์กรรมครับ ยิ่งเป็นคนกรุงโดยกำเนิด ที่อยู่เมืองแห้ง ไม่ค่อยคุ้นน้ำแบบชาวชนบท ก็ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติได้ยาก และที่ยิ่งน่าสมเพช น่าสงสาร ต่อการที่ขาดการบริหารจัดการ เหมือนมีข่าวกักตุน น้ำ สุขาลอยน้ำ เรือหางยาวชั้นดี กั๊กสุขาจากญี่ปุ่นแบบน่าลองไปนั่งถ่าย หรือน่าล่องเรือแบบโก้ปานเรือเร็วเจ๊ตสกีของดารา ที่ศูนย์บริหารน้ำท่วมที่ดอนเมืองแล้ว ผมก็ยิ่งหงุดหงิดครับ
จิตใจอ่อนล้า หาที่ปลดทุกข์ไม่มี เพราะมีพวกจังไรไร้ปัญญาบริหารจัดการแค่แจกแพไม้ไผ่ ส้วมขี้หรู ไม่ให้ใช้ น่าสงสารและน่าอ่อนล้า อยู่ใช่ไหมครับ
อีกเพลง เพลง”น้ำท่วม”ของ ศรคีรี ศรีประจวบ ที่รวมเอานักร้องคอรัสแบบบ้านๆ เอามาร้องปานเล่นร้องร่ำสุราบานส่งเสียง ประสานงากันแบบร้องคาราโอเกะ และแถมมีแปลงเนื้อร้องของครูไพบูลย์ บุตรขัน โห…สุดยอดครับ.
ผมหวงมาก.วงไหน ใครก็ไม่รู้ ไม่อยากรับรู้ รับฟังเลย
ผมฟังผ่านๆ และไม่มีอารมณ์สะเทือนใจในชะตากรรมร่วมเลยครับ ภาษาเกรียนว่า “ทามปายด้ายย”
ว่าแล้ว ผมก็ยังอยากจะได้ยินนะครับ เวอร์ชั่นของศรคีรี ศรีประจวบ ดั้งเดิม สมบูรณ์ทั้งเนื้อหา ดนตรี และเสียงขับร้อง เสียงแอกคอร์เดี้ยนอมตะ ฯลฯ คนเขียนกันเยอะแล้วครับ แต่ขอต่ออีกนิดก็แล้วกัน
“น้องอยู่บ้านดอน ช่างไม่อาทรถึงพี่สักครา ไม่มาช่วยพี่ซับน้ำตา ไม่มามองพี่บ้างเลย…” ที่ครูไพบูลย์ บุตรขัน เขียนเนื้อแบบฮุคหมัดน็อกแบบสง่างาม และเดินเข้ามุมตอนจบยกสุดท้าย
เพลงมีบรรยากาศตัดพ้อแต่พองาม ศรคีรี ศรีประจวบ ก็ถ่ายทอดออกมาแบบสะเทือนใจ น้อยใจในชะตากรรม จะชวนให้บริจาคและส่งใจไปช่วยเหลือจริงๆครับ ช่วยแบบเต็มใจ สุขใจ ไม่เสียดายเงิน
นี่คือ ฝีมือ ของครูที่เขียนเชิงเปี่ยมจิตวิญญาณและดึงศักยภาพของจิตใจคนไทยออกมาได้อย่างเต็มพรหมวิหารธรรม
แต่เวอร์ชั่นใหม่ นั้น ผมขอบอกเลยนะครับว่า ท่านทำลายไม่สร้างสรรค์ ข้อหาหนักนะครับข้อกล่าวหาก็ ฐานตั้งใจ ทำลายปูชนียสถานโบราณวัตถุแบบตั้งใจทำ แบบปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาท่วม ผมอุตส่าห์อยากฟังต้นฉบับประกอบข่าว แบบย้อนอดีต คิดถึงภาพไร่สับปะรดของศรคีรี ศรีประจวบล่ม ในสมัยโน้น น่าจะปี 2512 และศรคีรีดิ้นรนหนีน้ำขึ้นบนหลังคา
พวกคุณไปแปลงเนื้อหาเสียหายแบบไม่เคารพต้นฉบับ น่าเจ็บใจ สุดจะให้อภัย
อีกเพลง สปอนซ์โดยเบียร์สิงห์ “สิงห์อาสา” เพลงที่เจนนิเฟอร์ คิ้ม ร้องกับบรรดา นักร้องร่วมสมัย วลีฮุคที่ว่า “…เมฆฝนจะพ้นเลยผ่าน ถ้าเรารักกันมากพอ…” นั้น
เนื้อหาให้ความซาบซึ้งแบบขนลุกซู่ พอที่จะกระตุ้นให้ออกไปบริจาคทรัพย์สิน ปัจจัยเครื่องนุ่งห่มให้ผู้ประสบภัยยังไม่ได้ครับ. นอกจากออกไปช่วยกรอกถุงทรายแบบจู๋จู๋กับคนรัก
ผมฟังแล้ว ทำไมรู้สึกนึกถึงกลอนรักโบราณ ก่อนยุคแสวงหา ยุคสมัยก่อน 14 ตุลาฯ ประเภทยกออกมาจากสมุดบันทึกประจำวันของเด็กสาว ลายมือ แบบถั่วงอก ที่เขียนเชิงกลอนรัก อกหักไปได้ก็ไม่รู้
มันกระอักกระอ่วนในเชิงเนื้อหา เพราะบาดแผลหมาดๆ คาใจมันมีอยู่ เหมือนจะมาซ้ำเติมและตำหนิว่าน้ำท่วมครานี้ มีเหตุมาจากการเมืองเรื่องสี “ถ้าทุกสีรักกันมากพอ” ก็พอจะผ่านพ้นวิกฤตคราวนี้ไปได้
ผมฟังแล้วมีอคติ มีอารมณ์ควันหลงมาอย่างนั้น คิดมากไปขนาดนั้นทำไมก็ไม่รู้ หรือเพราะใจไม่อยาก
“จะรักใครมากพอ”
รักไม่ลงจริงๆครับ แม้จะหายหัวไปกับกระแสน้ำ ไม่ค่อยได้เห็นหน้าก็ตามที
อารมณ์เพลงรู้สึกจะเกินเลยและบิวท์แบบเฟก หวังสัมฤทธิผลในเนื้อหาแบบ”กลางกลวง”สูงมากไปหรือเปล่าครับ วิธีการนำเสนอ ทำให้รู้สึกว่าคนร้องคนแต่ง และกลุ่มนักร้อง แค่ล่องลอยไปตามกระแส ขอให้ได้เสนอตัวตนในฐานะศิลปินออกมาเห็นใจในผู้ประสบภัยน้ำท่วม เท่านั้น
ย้อนกลับไปพูดถึง สึนามิปี 2547 ตอนหลังเคลียร์ซากปรักหักพังเสร็จสิ้น เรื่อง สึนามึ มีรายการกุศลคอนเสิร์ต “สึนามิ เอด” ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแบบสไตล์ “We are the world” ที่บ็อบ เกลดอฟจัด
“สึนามิ เอด” รู้สึกจะถ่ายทอดทางช่อง 11 ค่ำนั้น ผมเปิดทีวีฟลุกมาเจอ ไม่รู้ว่าประสบความสำเร็จมากแค่ไหน
จำได้ครับ ที่ร็อคลายคราม ดิ โอฬาร โปรเจ็กส์/ แหลม มอริสัน/และอดีตบรรดา วงคาไลโดสโคป และน้องๆ ร็อครุ่นใหม่ ขึ้นเวที มากับพวกพ้องหลาหลายมาก ตอนนั้น ผมนอนฟังด้วยอิ่มเอม ขนลุกซู่ น่าจะงาน ร่วมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยภัยสึนามิ เท่าที่จำได้นะครับ
คืนนั้น ผมนอนฟัง ดูคอนเสิร์ตสดในทีวี อยู่ที่บ้าน โอฬาร พรหมใจ/แหลม มอร์ริสัน/ วงบัทเตอร์ฟลาย ที่มีมือกีตาร์เทพปานไบรอัน เมย์…และคีย์บอร์ดสำเนียงแบบ แวน ฮาเลน ชุด”กระชากใจ”มากันเต็มวง และปิดท้ายตบด้วยเพลงเก่าๆ ของเดอะ บีทเทิลส์ ทั้งยุค วงอะไรไม่รู้เล่น.เล่นดีทั้งคืน
ที่สำคัญแทร็ก “While my guitar gently weeps” ของเดอะ บิทเทิลส์ และอีกเพลงจำได้ว่า “little wing” ที่พระเอกก้อง กับโจ นูโวเล่นของเฮนดริกซ์ ถูกใจมากครับ
สุดท้าย ผมรู้สึกว่า น้ำท่วมใหญ่ มหาอุทก แสนวิปโยคปี 2554 …อุทกข้ามหลามทุกข์สนองสหัสวรรษแห่ง ความยุ่งเหยิง ยุ่งยาก วุ่นวาย ในลักษณะอลหม่านเค-ออส แห่งยุคสมัยที่ธรรมชาติของโลกวิปริตเปลี่ยนแปลงนั้น
ผมยังไม่ได้ยินข่าวการร่วมมือ ร่วมใจว่าจะมีคอนเสิร์ตยิ่งใหญ่ ของสองค่ายเพลงยักษ์ที่จะจัดการเยียวยา ช่วยเหลือ แบบคอนเสิร์ตช่วยแผ่นดินไหวที่เฮติ ที่บรรดาศิลปินใหญ่ ในวงการเพลงที่นักเพลงและดาราใหญ่ ฮอลลีวู้ดของฝรั่งเขาระดมพลจัด จนบันทึกแผ่นขาย หรือขายบัตรชมการแสดง ขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด เพื่อหารายได้เพื่อช่วยแบบการกุศล ช่วยจุนเจือคนเฮติ ที่ไร้บ้าน ไร้อาหาร ไร้เสื้อผ้าอาภรณ์ ไร้ยารักษาโรค เพื่อเยียวยาความอดอยากที่ถึงขั้นขนาดมีการปล้นสะดมภ์ มีการก่อจราจลแย่งอาหารกันเลย
ศิลปินระดับโลกเขาช่วยระดมกำลังกันอย่างนั้น ไปแล้ว.แล้วศิลปินไทยล่ะ?
แต่ก่อน ยามอยู่ดีมีสุข ก็ยังเคยมีคอนเสิร์ต ที่แกรมมี วสันต์/อัสนี แอ๊ด คาราบาว ในสมัยหนึ่งเหตุการณ์ภัยแล้ง ที่มีเพลงท่อนฮุค ท่อนยานคางของอัสนีที่ติดหู
“ความแห้งแล้ง ความชุ่มชื้น อย่างหนายยย…ที่คนต้องการ…”
ผมฟังที่พี่สาวซื้อมาม้วนหนึ่ง ตอนนั้น ก็ได้ฟังอยู่ น่าจะออกมาหลังไลฟ์ เอดของเกลด็อฟ แน่นอน
แอ๊ด คาราบาว ไม่คิดสร้างสรรค์บ้างหรือครับ ถ้าไม่ทำ ผมขอส่งข่าวให้เอียชิน แว่นดำ แห่งโฟร์เอส สร้างสรรค์ก็แล้วกันนะครับ
ผมก็อยากไปเต้นรำวงย้อนยุคและบริจาคกับ พี่อ๊อด โฟร์เอส เป็นรำวงย้อนยุค เพื่อการกุศลอยู่เหมือนกัน ลุกทุ่งก็ชอบครับ
จำได้ว่า ตอนที่ สึนามิ ถล่มอันดามัน น้าแอ๊ด คาราบาว ของเรา แกก็ออกเพลงอย่าง ฟ้ามืดมัว พายุคะนอง.อุปมาอุปไมยแบบผิดสภาพ ผิดสภาวะ สึนามินั้นมาแบบฟ้าแจ้งครับ.ฟ้าใสแจ๋ ไร้คลื่นลม
คราวนี้ก็เช่นกัน น้ำถูกกักเหนือเขื่อน ริมฝั่งเจ้าพระยาก็ยังดีไม่มีพัง แอ๊ดก็แต่งว่า ดินถล่มทลาย ตลิ่งพังไปโน่น
มันก็ขัดต่อภาพความเป็นจริง จะว่าเป็นอุปมาให้เห็นภาพชัดก็ขัดใจ ไม่น่าเชื่อถือ อย่าลืมว่า เพลงเหล่านี้ คือ เพลงที่สะท้อน/อิง สถานการณ์ความเป็นจริง ผนวกความจริง ไปพูด/เขียนอะไรที่ไม่จริงมันก็ฟังขัดหู.น่าเสียดาย เสียมือด้วยครับ
ไม่งั้นก็เอาเพลงให้กำลังใจโดยนัยยะอื่น ที่สะท้อนอารมณ์เบื้องลึกมาเลยจะดีกว่า
แต่…เอ้า… ถล่มก็ถล่ม…พอฟังพออุปมาอุปมัยในนัยยะทางกลอน เป็นกวียนุโลม
แต่ที่ผมจะไม่อนุโลมก็เพราะ ตอนนี้มีสาวเชียร์เครื่องดื่มบาวแดงมาเตร่ และเคาะกะโหลกกะลาที่หน้าร้าน แบบคอนเสิร์ต มีหางบัตรชิงโชค แถมมอ'ไซค์แบบดื่มเครื่องดื่มบาวแดงนี่แหละ
น้าแอ๊ด คาราบาว น่าจะเป็นตัวตั้งตัวตี ลงทุน ลงสติปัญญา ต่อการ ระดมคอนเสิร์ต จัดศิลปิน Flush Aid Concert for Thai 2554 ในทำนองชักโครกน้ำท่วมขังลงทะเลไป ให้แห้งผากได้นะ ศักยภาพเหลือเฟือ
Flood นั้น หมายถึงน้ำท่วมขัง ทำได้แค่แจกของ แจกเครื่องอุปโภคบริโภค การนี้ก็ ระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในคราวนี้กันประปรายอยู่แล้ว.นายกปู. “เอาอยู่” อยู่นี่
และบรรดาศิลปินไทยคงไม่”เอาแต่นิ่ง”ดูดายใช่ไหมครับ
อาศัยบารมี ตั้งโต้โผ ตัวตั้งตัวตี จัดคอนเสิร์ต ฟลัช เอด.ช่วยไทยให้เป็นคอนเสิร์ตบันทึกประวัติศาสตร์กล่าวขานถึงลุกหลาน ก็จะเป็นคุณต่อแผ่นดินนะครับ ทำให้เป็นแบบอย่างตามประสาศิลปินผู้ประสบความสำเร็จ และเป็นคนของประชาชนแบบเพื่อชีวิตก็จะคุณธรรมน้ำใจแบบสูงส่ง น่าจดจำเป็นตำนาน..
และถ้าจัด ผมขอติงนิด ถ้าจะจัด ก็จงระมัดระวัง อย่าเล่นและให้ทำนองเพลง “น้ำใจไทย” ไปอัดขายเชิงพาณิชย์แบบไม่การกุศลนะครับ ทำเพลงนี้.ให้ห่างไกล จากเมโลดี้และเทมโป้ ไกลจากแทร็ก “Heart of Gold” (2515)อัลบั้ม ฮาร์เวสต์ ของน้า นีล ยัง ของผมหน่อยนะครับ
ถ้าทีมกฎหมาย ของนีล ยัง แกเล่นเรื่องลิขสิทธิ์ และถ้าฟ้องร้องสำเร็จ
ค่าเสียหายโรงงาน คาราบาวแดง จะไม่พอใช้หนี้เอานะครับ(ฮา) เพราะลิขสิทธิ์สมัยนี้แรงแบบเข้มข้นนะครับ
ไม่ใช่ยุค Anak ของ กาตาล็อกที่กลายมาเป็น”ลุงขี้เมา” เมื่อสักสามทศวรรษที่แล้วนา
ผมขอตัวอย่างเรื่องความเข้มข้นของปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในยุคนี้ ก็ขนาดครูวีระ สุดสังข์ กวีเพื่อนผม แต่งเพลงให้แกรมมี่ดาวน์โหลดขาย แล้วครูวีระก็เห่อผลงานตนแบบภาคภูมิใจ นำเอาเพลงของตนไปเปิดกล่อมแขกในผับของตัวเอง.ยังถูกทางแกรมมีฟ้องเอาแทบรากเลือดเลย (ฮา)
นี่ลิขสิทธิ์แบบไทยๆ ยังปานนี้
ถ้าลิขสิทธิ์ข้ามโลกจะยิ่งไม่จืด ยิ่งกว่าสึนามิน้ำจืดถล่มเอานะครับ

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE