Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com
ภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ภาคล่าสุด “สกายฟอลล์” (Skyfall) นั้น ผู้กำกับ แซม เมนเดส บอกว่าจะพยายามสร้างให้ออกแนวอาร์ต จากการออกแบบโทนสีและการจัดองค์ประกอบภาพ รวมถึงเนื้อหาที่ลงลึกไปด้านใน มุ่งเน้นสภาวะอารมณ์และสภาพจิตใจของตัวละคร ไม่ให้ออกมาในแนวสปายฮีโร่ที่มีความสามารถเกินมนุษย์ โดยจะรักษาภาพลักษณ์บุคลิกของบอนด์ ให้ใกล้เคียงกับบทประพันธ์ดั้งเดิมของเอียน เฟลมมิ่ง ต้นตำรับมากที่สุด
ด้านดนตรีประกอบภาพยนตร์ แซม เมนเดส ได้นักแต่งเพลงฝีมือดี โทมัส นิวแมน มาร่วมงาน ส่วนเพลงธีมหลัก “สกายฟอลล์” ก็พึ่งบริการของอะเดล ซูเปอร์สตาร์ ด้านป็อป โซลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในปัจจุบันมาร้องและร่วมเขียนเนื้อร้อง
เริ่มเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ขณะที่อะเดลเพิ่งจะประสบความสำเร็จในการกวาดรางวัลแกรมมี่มาหมาดๆ กับโปรดิวเซอร์คู่บุญ พอล เอิปเวิร์ธ (อัลบั้ม 21) คือทั้งสองได้รับโจทย์จากผู้กำกับและทีมงานสร้าง “สกายฟอลล์” หลังจากอะเดลได้ศึกษาบทภาพยนตร์อย่างละเอียด ก็ตัดสินใจรับงาน โดยอะเดลบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ อายุครึ่งร้อยเทียบเป็นวัยก็พ่อของเธอแล้ว จึงย่อมมีความกดดันอยู่ แต่พออ่านบทภาพยนตร์จบ อีกทั้งได้ร่วมหารือกับทีมงานแล้ว ความมั่นใจจึงค่อยๆ มีมากขึ้นเป็นลำดับ
“สกายฟอลล์” เรียบเรียงดนตรีโดย เจ. เอ. ซี. เรดฟอร์ด โดยตัวเพลงก็ยังมุ่งเน้นไปเพื่อเฉลิมฉลอง เนื่องในโอกาสวันครบ 50 ปีของ พยัคฆ์ร้าย 007 ภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ นับแต่เรื่องแรก “ดร.โน” (1962) ซึ่งจะต้องคงความพิเศษเหนือความธรรมดาพื้นๆ ไว้ให้ได้
“กับสกายฟอลล์ ฉันตกหลุมรักบทหนัง ส่วนพอลเขาก็มีไอเดียดีๆ ยอดเยี่ยมอยู่ สุดท้ายมันก็เป็นอะไรที่ไม่ยากกว่าที่คิด…” อะเดล เล่า โดยสภาพการทำงานหลังจากประสบความสำเร็จสูงสุด เป็นนักร้องยอดนิยมอันดับหนึ่ง กับรางวัลนั้นไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เธอภูมิใจกับการสร้างสรรค์และมีประสบการณ์กับวงซิมโฟนีมาแล้ว และต่อการได้มาเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้หญิงของบอนด์ แม้จะไม่ได้แสดง แค่การร้องเพลงประกอบก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจยิ่งแล้ว
แล้วเพลงก็ถูกบันทึกเสียงในสตูดิโอแอบบีโรด ณ กรุงลอนดอน ประกอบด้วยทีมงานศิลปินมืออาชีพ เทคโนโลยีล้ำสมัย กับเครื่องดนตรีจากวงออเคสตรา 77 ชิ้น แบบมโหฬาร อลังการงานสร้าง
ส่วน พอล เอ็ปเวิร์ธ ผู้ร่วมแต่งเนื้อร้อง พูดถึงเนื้อเพลงว่าเป็นภาพสะท้อนของการเล่าเรื่องจากภาพยนตร์ มันแสดงออกถึงความสัมพันธ์แบบจงรักภักดีของสายลับเจมส์ บอนด์ ต่อองค์ประมุขกับสหราชอาณาจักร ถึงหน่วยราชการลับ MI6 โดยขยายและใส่อารมณ์แนวรักโรมานซ์เจือไปด้วย ซึ่งเขาบอกว่า ยังใส่ใจและตั้งใจคงธีมเพลง เจมส์ บอนด์ ต้นตำรับของ มอนตี้ นอร์แมน เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงธีม ชุดเจมส์ บอนด์ มาตั้งแต่เรื่อง ดร.โน ไว้ครบถ้วน ผ่านท่วงทำนอง วิธีการใช้เครื่องดนตรี และคงกลุ่มโน้ตบางช่วงไว้ เขาแย้มว่ามันจะออกโทนเศร้าๆ เหงาๆ อยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูเนื้อเรื่อง และฉากในภาพยนตร์ประกอบด้วยจึงจะได้อารมณ์สมบูรณ์ ต่อการตีความและออกแบบบทเพลง
ก่อนอื่นเรามาฟังและรู้ที่มาที่ไปธีมเพลงต้นตำรับ เจมส์ บอนด์ ที่เก่าแก่รุ่นเดอะกันก่อน
จะเห็นว่า เพลงธีมของเจมส์ บอนด์ (James Bond theme) บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1962 โดยใช้เครื่องเป่าแซกโซโฟน 5 ตัว และประกอบด้วยเครื่องเป่าทองเหลืองอื่นๆ อีกหลายตัว โดยศิลปินมือดีในยุคนั้น จอห์น สก็อต เป่าแซกโซโฟน และฝีมือการริฟฟ์กีตาร์แบบระทึก เป็นของวิค ฟลิค
โดย มอนตี้ นอร์แมน นั้น จัดเป็นกูรูยอดฝีมือกับแนวเพลงประเภท fanfare ที่ถนัดต่อการใช้เครื่องเป่าทองเหลือง ประเภททรัมเป็ต-คอร์เนต และเฟรนช์ ฮอร์น ฯลฯ โดยคุมแก่นจังหวะด้วยกลองระทึก อันเป็นท่วงทำนองที่คล้ายกับดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงสดุดี ไว้อาลัยสวนสนาม ให้แก่นักรบผู้กล้า หรือ แนวดนตรีเฉลิมฉลองงานนักขัตฤกษ์ ประกอบพิธี เพื่อเน้นให้บรรยากาศแลดูเคร่งขรึม ขลัง ยิ่งใหญ่ ซึ่งท่วงทำนองแนวนี้มีต้นกำเนิดมาแต่ยุโรปยุคกลาง ถึงยุครุ่งเรืองของโรม ก่อนคริสตกาลสืบมา
และเพลงนี้ กลายเป็นเพลงประจำที่ใช้ประกอบฉากไตเติ้ลของภาพยนตร์ชุด เจมส์ บอนด์ ในเรื่องพยัคฆ์ร้าย 007 (Dr.No), เพชฌฆาต 007 (From Russia With Love), 007 ยอดพยัคฆ์ราชินี (On Her Majesty's Secret Service), ธันเดอร์บอลล์ 007 (Thunderball), 007 พยัคฆ์ร้ายดับแผนครองโลก (The World Is Not Enough), พยัคฆ์ร้ายเดิมพันระห่ำโลก (Casino Royale), พยัคฆ์ร้ายทวงแค้นระห่ำโลก (Quantum of Solace) มาแล้ว อันเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของภาพยนตร์ชุดนี้ แบบที่ผู้ชมคุ้นเคย กับภาพบนจอที่สายลับเจมส์ บอนด์ ที่ถูกโคลสอัพ ผ่าน ช่องเกลียวลำกล้องปืน และหันยิงสวนมาที่กล้องมุมนั้น จากนั้นก็มือเลือดแดงฉานค่อยๆ ไหลอาบนองมาจากส่วนบนของภาพ ที่เรียกว่า gun barrel sequence
ตอนแรกที่สตูดิโออีออนโปรดักชั่น โดย อัลเบิร์ต อาร์.บร็อคคอรี และแฮรี่ ซอลท์ซแมน ได้ไปตามมอนตี้ นอร์แมน ที่กำลังสนุกกับการทำเพลงประกอบละครเวทีอยู่ ก่อนที่พวกเขาจะยกกองถ่ายเจมส์ บอนด์ ภาคแรก (ดร.โน) ไปถ่ายทำที่จาไมกานั้น นอร์แมน ก็ได้เสนอธีมเพลงในแนวทางเพลงแบบ “Underneath The Mango Tree” ให้
แต่ทั้งสองไม่พอใจ ต้องการให้ธีมเพลงมีอะไรที่พิเศษ สะดุดหู กระตุกใจมากกว่านั้น พวกเขาก็ให้จอห์น แบร์รี่ นักเขียนสกอร์เพลงชื่อดังอีกคน (มีผลงานมากมายเวลานี้) มาช่วย โดย จอห์น แบร์รี่ นั้นเชี่ยวชาญด้านการเรียบเรียงเสียงประสาน คือ เขามีวิญญาณเพลงร็อกแอนด์โรล มากกว่านอร์แมนอยู่ ก็เสนอการริฟฟ์กีตาร์ สไตล์ surf ที่กำลังฮิตในตอนนั้นเข้ามา ในธีมเพลงเจมส์ บอนด์ ต้นตำรับ และต่อมาก็เกิดเป็นกรณีพิพาทด้านลิขสิทธิ์ของทั้งสอง และสุดท้ายนอร์แมนก็ชนะคดีไป
โดยนอร์แมนยืนยันหลักฐานว่า เขาได้คิดและพัฒนาเพลงนี้มาจากเพลงต้นแบบ “Dum di-di dum dum” ที่เขาแต่ง โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลง “Good Sign Bad Sign” เพลงในบรรยากาศและท่วงทำนองภารตะ ที่เขาแต่งประกอบละครเวทีจากนิยายเรื่องแรกของ วี.เอส.ไนพอล นักเขียนรางวัลโนเบล เรื่อง A House For Mr Biswas ซึ่งศาลก็รับฟังและเห็นด้วยกับข้อพิสูจน์ของเขา
และตั้งแต่นั้น เพลงประกอบภาพยนตร์ ชุดเจมส์ บอนด์ ประพันธกร จอห์น แบร์รี่ ถูกเลือกใช้บริการมากที่สุด อาจจะเรียกว่ามือขึ้นมากกว่านอร์แมน ต้นตำรับเสียอีก นอกนั้นประพันธกรคนอื่นที่มีโอกาสและถูกเลือก ก็มี จอร์จ มาร์ติน, มาร์วิน แฮมลิสช์, บิล คอนติ, ไมเคิล คาเมน, เอริก เซอร์รา, เดวิด อาร์โนลด์ เป็นต้น
โดยมีเพลงธีมที่ใช้บริการ จากนักร้องดังหลากหลาย ว่าในยุคนั้นแล้วแต่ใครจะได้ความนิยมสูงสุด โดยไล่กันมาตั้งแต่ร็อกสตาร์ ตั้งแต่ยุค ทอม โจนส์, ทีนา เทอร์นเนอร์, พอล แมคคาร์ธนีย์, คาร์ลี่ ไซมอน, เชอรีล โครว์ ดูรัน ดูรัน จนถึงอะเดล ในปีนี้นั้น
และ “สกายฟอลล์” (2012) เจมส์ บอนด์ภาคล่าสุด ทางผู้สร้างเลือกใช้บริการของ โทมัส นิวแมน
กับแทร็ก “สกายฟอลล์” ต่อ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ตัวเพลงก็เป็นไปในทางบวกอยู่ อย่าง จิม ฟาร์เบอร์ จาก “นิวยอร์กเดลินิวส์” บอกว่าเพลง ต่อขนบสืบสานให้อารมณ์และบรรยากาศต่อยอดเพลงเจมส์ บอนด์ในยุคก่อนๆ ได้ดีอยู่
อดัม บี แวรี จาก “เอนเตอร์เทนเมนต์ วีกลี” ก็ยกย่องว่าเพลงนี้จะเป็นตำนาน บางคนก็ว่าเป็นเพลงบัลลาด เพราะดี
บางคนก็วิจารณ์ให้น้ำหนักไปทางก้ำกึ่ง ว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุป แบบไม่ฟันธง และมีการวิพากษ์มากขึ้น อย่างเช่น นีล แมคคอร์มิค จากเว็บ “เดอะ เทเลกราฟ” ที่บอกว่าตัวเพลงนั้นพอฟังและพอใช้ได้ แต่ก็น่าสามารถทำได้ดีกว่าเพลงแนวบัลลาดที่น่าจะติดหู และน่าฉงนสนเท่ห์ได้มากกว่านี้
ขณะที่ ร็อบ โอ คอนเนอร์ จาก “ยาฮู” ก็ว่าดี แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับเพลงธีมของภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ตอนก่อนๆ ที่ขึ้นหิ้งไปแล้ว
“เขย่าให้เพลงดี อย่าไปคนสะเปะสะปะ”
ผู้กำกับภาพยนตร์สายลับ เจมส์ บอนด์ แต่ละตอนคงกำชับให้คนเขียนเพลง และธีม ซองในแต่ละตอนสร้างสรรค์เพลงออกมาให้สมบูรณ์แบบประทับใจคนดู และคนฟังแบบแม่นยำ คงฝีมือ เจมส์ บอนด์ ไว้ไม่ให้พลาดเป้าประสงค์
ถ้าเป็นเจมส์ บอนด์ ตัวจริงในนิยายต้นตำรับของเอียน เฟลมมิ่ง ผู้นิยมสูบซิการ์ และดื่มมาตินี ก็จะสำทับว่า “Shaken, not stirred.” เสมอ เพราะมาร์ตินี่ สูตรเฉพาะบอนด์นั้น เขาต้องขอให้บาร์เทนเดอร์แค่เขย่าส่วนผสมให้เข้ากัน แต่ห้ามคนเครื่องดื่มสุดโปรดของเขา
จะเขย่าแบบร็อก แบบคลาสสิก หรือแนวป็อป โซล ก็ให้อิสระกันเต็มที่ แต่ขอให้ตัวภาพยนตร์แฟรนไชส์ของตน ทำรายได้แบบมีกำไร ทำเงินสูงสุด(ต่อการเทียบค่าเงินในยุคนี้) ชนะภาค ธันเดอร์บอลล์ 007 (Thunderball) ปี 1965 ที่เขียนดนตรีประกอบภาพยนตร์โดย จอห์น แบร์รี่ และมีเพลงธีมของ ทอม โจนส์ ก็แล้วกัน
เรามาฟังแทร็กธันเดอร์บอลล์ของ ทอม โจนส์ ร็อกเกอร์รุ่นปู่ ที่อะเดลสาวน้อย “สกายฟอลล์” จะลบสถิติปู่แกได้หรือไม่ แม้จะต่างยุคสมัย ก็น่าเปรียบเทียบกันได้อยู่ในที ใช่ไหม กับสายลับคลาสสิกตลอดกาล
“ผมชื่อ บอนด์… เจมส์ บอนด์”