Marsmag.net

หวาน-ขม-คม-ซึ้ง ในโลก 'พิกซาร์' ตักสิลาแห่งแอนิเมชัน

หากจะพูดถึงเรื่องราวและสืบสาวเล่าความไปถึงวงการภาพยนตร์แอนิเมชัน หลายคนคงนึกไปถึงหนังการ์ตูนหรือตัวการ์ตูนขึ้นมา ซึ่งจริงอยู่ที่จะนึกเช่นนั้น แล้วเจ้าแอนิเมชันมันคืออะไรกัน?? แอนิเมชันก็คือภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ลายเส้นให้เกิดมีชีวิตขึ้นมา เคลื่อนไหวและมีความรู้สึกได้ ถ้าเราจะมองอีกมุมหนึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นศิลปะที่มีชีวิตได้อยู่เหมือนกัน

และถ้านึกถึงค่ายหนังแอนิเมชันที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกขึ้นมาแล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึง “พิกซาร์” ค่ายหนังชื่อดังที่รังสรรค์ผลงานคุณภาพออกมาให้เราได้ดูกันอย่างคับคั่ง ซึ่งถ้าเราเอ่ยชื่อหนังไปใครต่อใครต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้จักหรือเคยดูอย่างแน่นอน ซึ่งล่าสุด พิกซาร์ก็ได้สร้างภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องหนึ่งที่ตอนนี้ตบเท้าเข้าโรงเป็นที่เรียบร้อยแล้วอย่าง MONSTER UNIVERSITY

เปิดบ้าน 'พิกซาร์'
ชายคาแห่งความสร้างสรรค์

กว่าจะมาเป็นบ้านหลังใหญ่แห่งแอนิเมชันที่มีความคิดสร้างสรรค์และไอเดียบรรเจิดเป็นเสาหลัก ผนวกกับความแม่นยำในการใช้สอยเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ พิกซาร์ก็เหมือนกับชีวิตคนหนึ่งคนซึ่งต้องมีช่วงเวลา “ผ่านเกิด” ซึ่งเมื่อดูตามสูติบัตร เราจะพบว่า ในปี ค.ศ. 1979 ที่แผนกนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ตอนนั้นมีลักษณะเป็นแค่ทีมหนึ่งของ Lucus Films หรือทีมที่คอยวิจัยและพัฒนาเรื่องของ animation graphics ต่อมา สตีฟ จอบส์ จึงได้ร่วมกับเอ็ดวิน แคทมัลล์ ก่อตั้งพิกซาร์ขึ้น เพื่อสร้างเป็นสตูดิโอภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์

โดยตอนนั้น จอบส์ต้องควักกระเป๋าเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และถือหุ้น 70% ของบริษัท โดย 5 ล้านเหรียญแรกเป็นของจอร์จ ลูคัส (ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้เขียนบทภาพยนตร์ชื่อดัง) ส่วนอีก 5 ล้านเหรียญหลังนั้นก็ได้มอบให้แผนกกลายเป็นบริษัทอิสระ ซึ่งชื่อบริษัทที่ตั้งขึ้นภายใต้ชื่อว่า พิกซาร์ IMAGE COMPUTER (มาจากชื่อของฮาร์ดแวร์ชิ้นสำคัญที่สุดของแผนก) ปัจจุบันจึงได้กลายมาเป็นบริษัทที่โด่งดังและเติบโตแบบก้าวกระโดดในฐานะผู้สร้างหนังการ์ตูนแอนิเมชันแบบดิจิตอล

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งสองบริษัทนี้ไม่ได้ราบรื่นหรือสวยสดงดงามสักเพียงใดนัก เพราะเมื่อพิกซาร์กับวอลต์ ดิสนีย์เริ่มต้นขึ้นไม่นาน บริษัทพิกซาร์มีวี่แววว่ากำลังไปได้สวย แต่ดิสนีย์กลับตกต่ำและย่ำแย่ลง สตีฟ จอบส์ จึงตกลงเจรจาทำหนังให้ 5 เรื่อง แล้วให้แบ่งปันผลกำไรกันครึ่งหนึ่ง แต่การเจรจานั้นไม่เป็นผลทำให้เกิดการแตกหักขึ้นมาส่งผลทำให้พิกซาร์ไม่ทำภาพยนตร์ให้กับดิสนีย์อีกต่อไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว บริษัท เดอะวอลต์ ดิสนีย์ ก็เข้าซื้อกิจการของพิกซาร์โดยให้ตัวเงินที่มีมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้าน
ก้าวแรกของพิกซาร์
ก้าวสำคัญของการ์ตูน

ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งกับการเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องแรก Toy Story ซึ่งเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องยาวที่แปลกแหวกแนวจากภาพยนตร์อื่นๆ ที่เคยมีมา ซึ่งจากคำบอกเล่าของจอร์น แลสสิเตอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ของสตูดิโอพิกซาร์ ได้เล่าถึงไอเดียภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกของพิกซาร์ไว้ในนิตยสาร FILMAX ว่า

“เรานั่งลิสต์ว่าไม่อยากให้หนังของเรามีอะไรบ้าง เราไม่อยากให้มันเป็นหนังเพลง ไม่อยากให้มีพระเอกผู้ร้าย หรือผู้ช่วย เพราะมันเป็นแนวของดิสนีย์ เราเลยมองหาหนังแนวอื่น จนมาลงตัวที่หนังคู่หู ของเล่นเก่าๆ ที่เด็กๆ เคยชอบ กับของเล่นใหม่แกะกล่อง ที่ก้าวมาเป็นของโปรดของเด็กๆ แทน ทีนี้พวกของเล่นเก่าๆ จะทำยังไงดีล่ะ นี่ล่ะคือแก่นของ Toy Story”

ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้ลบล้างความคิดแบบเดิมๆ ไปโดยปริยาย เนื่องจากว่าเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ไม่มีเพลง ไม่มีสัตว์คู่หูคู่ฮา แต่ทว่าสามารถทำเงินได้มหาศาล และหลังจากนั้นทางค่ายพิกซาร์ก็ได้ผลิตภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลประกวดหลายเรื่องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น A BUG' s LIFE ตัวบั๊กส์ หัวใจไม่บั๊กส์ ในปี ค.ศ. 1998  Toy Story 2 ในปี ค.ศ.1999 MONSTERS, INC.บริษัทรับจ้างหลอน(ไม่)จำกัด ในปี ค.ศ. 2001 FINDING NEMO นีโม่…ปลาเล็กหัวใจโต๊…โต ในปี ค.ศ. 2003 และ THE INCREDIBLES รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก ในปีค.ศ.2004 ฯลฯ
เอกลักษณ์ชูโรง
สุนทรียะแห่งศิลปะผนึกเทคโนโลยี

จากภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หลายคนคงพอทราบและจับจุดได้ว่าความเป็นพิกซาร์นั้นต้องมีกลิ่นอายของความเป็นแอนิเมชันซึ่งจะว่าไปแล้วนั้นภาพยนตร์แอนิเมชันของพิกซาร์ไม่จำเป็นต้องใช้นักแสดงที่เป็นมนุษย์เข้ามาแสดงจริง ไม่ต้องพึ่งพาสถานที่ถ่ายทำจริง ไม่ต้องพึ่งฝ่ายคอสตูมจัดหาเสื้อผ้า ไม่ต้องพึ่งช่างแต่งหน้าทำผม หากแต่สิ่งที่ทำทั้งหมดคือการสร้างสรรค์ผลงานจากนวัตกรรมของโลกยุคดิจิตอล เหล่านี้ถูกรังสรรค์ออกมาด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ตามวิถีทางของพิกซาร์ แอนนิเมชันจึงกลายเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี ศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ลงไป ซึ่งจุดเด่นจึงอยู่ที่ความแปลกใหม่ การดำเนินเนื้อเรื่อง ความงดงามของภาพ สีสัน และเสียงประกอบที่ทำให้ทุกคนตราตรึงและผ่อนคลายไปกับภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาตรงหน้าแม้ว่าจะเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาก็ตาม

ฟากฝ่ายของคนดู ผู้ที่ได้รับชมส่วนใหญ่มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่พิกซาร์นำเสนออยู่นั้น ไม่ได้เป็นแค่เพียงตัวการ์ตูน หากแต่มีเรื่องราวเข้ามาสอดแทรกในตัวการ์ตูนและทำให้เกิดแง่คิดและสามารถจดจำภาพของตัวการ์ตูนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เรียกว่้า “งานดีมีครบทุกรส” หวาน-ขม-คมคาย และเสพรับได้ทั้งความบันเทิงและเนื้อหาสาระ
สตีฟ จ็อปส์ ไป
แต่พิกซาร์ยังอยู่

กลายเป็นข่าวโด่งดังและครึกโครมไปทั่วโลกเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญแห่งวงการไอที นั่นก็คือ สตีฟ จอบส์ ไปอย่างไม่มีวันหวนย้อนกลับคืน แต่ทว่าหากใครได้เช็กประวัติเขาแล้วล่ะก็ จะรู้ดีว่าเขานั้นก็มีความสำคัญต่อวงการบันเทิงอยู่ไม่น้อย เพราะเขาเป็นบุคคลที่สำคัญคนหนึ่งของค่ายหนังแอนิเมชันชื่อดัง อย่าง พิกซาร์ อีกด้วยเช่นกัน

เรื่องดังกล่าวนี้ทำให้จอห์น แลสสิเตอร์ ผู้กำกับ Toy Story และหัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ของพิกซาร์ อนิเมชัน สูติดิโอ ที่ร่วมงานกับสตีฟ จอบส์ มาตั้งแต่แรก เผยถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า (อ้างอิงจาก Jediyuth)

“สตีฟ จอบส์ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ เป็นเพื่อนรักของเรา และเป็นแสงส่องนำทางให้ครอบครัวพิกซาร์ เขาเห็นศักยภาพว่าพิกซาร์จะกลายเป็นอะไรได้ก่อนเราทั้งหมด และเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการเห็น เขายอมมาเสี่ยงกับเรา และเชื่อในความฝันบ้าๆ ของเราที่จะสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งคำพูดเดียวที่เขาพูดเสมอก็คือ 'สร้างมันให้ยอด' เขาคือเหตุผลที่พิกซาร์กลายเป็นเช่นทุกวันนี้ และความเข้มแข็ง ความซื่อสัตย์ และความรักในชีวิตของเขา ทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น เขาจะเป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอของพิกซาร์ตลอดไป เราขอเป็นกำลังใจให้ลอเรน ภรรยาของเขา และลูกๆ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้”

อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้พิกซาร์จะไร้เงาสตีฟ จอบส์ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งค่ายหนังชื่อดังแห่งนี้ควรต้องทำต่อคือ ดำเนินและสร้างสรรค์ผลงานให้แฟนๆ ภาพยนตร์แอนิเมชันได้ดูกันต่อไป ส่วนพิกซาร์ ในวันที่ไร้สตีฟ จอบส์ จะเป็นเช่นไร คงหาคำตอบได้เองจากรายได้ของ Brave ที่ผ่านมา และ MONSTER UNIVERSITY ที่เข้าฉายแล้ววันนี้

 

ย้อนยล…ผลงานของพิกซาร์

1. ทอย สตอรี่ (Toy Story) ปี ค.ศ. 1995
เป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์แอนิเมชัน เมื่อ Toy Story กลายเป็นหนังการ์ตูน 3D เรื่องยาวเรื่องแรกที่ออกฉาย ด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์ทำให้ภาพมีมิติสมจริงสวยงาม แตกต่างจากการ์ตูนปกติ จึงเป็นการเริ่มต้นศักราชขอแอนิเมชัน 3D โดยแท้ ซึ่งจอร์น ลาสสิเตอร์ หัวเรือใหญ่ของพิกซาร์ได้รับรางวัลพิเศษเพื่อเป็นเกียรติในการพัฒนาและสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างเทคนิค การสร้างสรรค์ภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์อีกด้วย

2. ตัวบั๊กส์ หัวใจไม่บั๊กส์ (A Bug's Life) ปี ค.ศ. 1998
ตามออกมาเป็นเรื่องที่สองก็ยังคงคุณภาพไว้อย่างสวยงามแม้ว่าจะออกมาชนกับเรื่องมดๆ อย่างเรื่อง Antz (1998) ของฝั่งดรีมเวิร์ค-คู่แข่งตัวสำคัญ แต่ด้วยเนื้อหาและรูปลักษณ์น่ารักน่าชังกว่าฝั่งโน้นที่เนื้อเรื่องออกแนวหม่นทึมเหมาะสำหรับผู้ใหญ่มากกว่า ทำให้ยกแรกในสงคราม 3D ดิสนีย์ยังคงเฉือนชนะไปด้านความนิยม

3. ทอย สตอรี่ 2 (Toy Story 2) ปี ค.ศ.1999
ประเด็นของเรื่องราวที่ว่าคุณค่าของ ของเล่นอยู่ที่ไหน เป็นเพื่อนใจหรือแค่เพื่อนเล่นที่เบื่อแล้วก็ทิ้งกัน โดนใจหลายคนให้หันไปมองน้องเน่าของตัวเองที่บ้าน ส่งผลให้ฮิตระเบิดรายได้ถล่มทลายเป็นอย่างมาก และเพลง “When She Loves Me” ก็เพราะจับใจจนได้ชิงออสการ์แม้จะพ่ายให้กับเพลงจากค่ายลูกพี่ “You'll be in my heart” จากเรื่อง Tarzan ของดิสนีย์นี่เอง

4. บริษัท รับจ้างหลอน (ไม่) จำกัด(Monsters, Inc.) ปี ค.ศ.2001
พิกซาร์ถึงกับพัฒนาเครื่องมือในการสร้างขน ให้ดูออกมาอ่อนนุ่มทีเดียวและก็ได้ปีศาจซัลลี่ที่น่ารักน่าชัง รวมถึงเรื่องราวน่ารักๆ ที่เด็กๆ ที่กลัวปีศาจใต้เตียงใต้ตู้ดูแล้วก็ต้องเลิกกลัวแต่ทว่าด้วยความแรงของนายยักษ์เขียว Shrek ของฝั่งดรีมเวิร์คที่ออกมาชนกันกลับเรียกเสียงฮาจากผู้ใหญ่ได้มากกว่าเลยคว้ารางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยมประจำปีจากออสการ์ไป แต่ถึงกระนั้นปีศาจของพิกซาร์ก็คว้ารางวัลเพลงยอดเยี่ยมจากเพลง “If I didn't have you” ไปปลอบใจแทน

5. นีโม…ปลาเล็ก หัวใจโต๊…โต(Finding Nemo) ปี ค.ศ.2003
เรียกได้ว่านีโนปลาอภินิหารเลยก็ว่าได้ เพราะความนิยมสูงปรี๊ดฮิตกันที่วบ้านทั่วเมือง รายรับก็พุ่งกระฉุด เรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของพิกซาร์ได้เลยทีเดียว นีโมกลายเป็นการ์ตูนที่ได้เงินทั้งกล่องคว้าออสการ์กลับบ้านไปนอนกอดสมใจ รวมไปถึงการท่องเที่ยวออสเตรเลียก็หน้าบานเพราะได้อานิสงส์ตัวเลขคนมาท่องเที่ยวดูบ้านเกิดนีโมสูงเป็นประวัติการณ์

6. รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก(The Incredibles) ปี ค.ศ. 2004
ครอบครัวซูเปอร์ฮีโร่นี้ไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะทั้งสนุกทั้งมันถูกใจทั้งวัยเด็กวัยโจ๋วัยผู้ใหญ่ แถมมีประเด็นครอบครัวให้ขบคิด ทำให้กลายเป็นหนังฮิตติดลมบนกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดอันดับที่สองรองจากปลาน้อยนีโม อีกทั้งยังได้รางวัลออสการ์แอนิเมชันยอดเยี่ยมตามความคาดหมาย

7. 4ล้อซิ่ง…ซ่าท้าโลก (Cars) ปี ค.ศ. 2006
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฉลองครบรอบ 20 ปี ของพิกซาร์พอดีและเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงกวาดรางวัลมาได้กว่า 10 รางวัล แต่พลาดท่าให้แก่เพนกวินเท้าไฟ Happy feet ไปในเวทีออสการ์อย่างน่าเสียดาย แต่ระหว่างสร้างเรื่องนี้ก็เกิดเรื่องเศร้าจนได้เมื่อ โจ แรนฟท์ หนึ่งในทีมผู้สร้างและผู้เขียนบทฝีมือเยี่ยมที่ร่วมงานกับดิสนีย์มานานเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ เรื่องนี้จึงเป็นหนังที่อุทิศให้แก่การเสียชีวิตของเขา

8. ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก(Ratatouille) ) ปี ค.ศ. 2007
ชื่อเรื่องนี้นำมาจากอาหารฝรั่งเศสระทะทูอี่ เนื่องด้วยเป็นหนังเกี่ยวกับอาหาร ความยากที่สุดของเหล่าแอนิเมเตอร์ก็คือทำอย่างไรให้อาหารออกมาดูสมจริงและน่ากินที่สุด ส่วนการสร้างเจ้าหนูหัวใจของเรื่อง ก็ถึงกับต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องหนูมาให้คำปรึกษาเลยทีเดียว ส่วนคำวิจารณ์และรายได้ของเรื่องนี้อยู่ในเกณฑ์ดีมากๆ เลยทีเดียว และเป็นตัวเต็งที่คาดกันว่าจะคว้ารางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมของปี 2007 อีกด้วย

9. วอลล์ – อี หุ่นจิ๋วหัวใจเกินร้อย(WALL-E) ปี ค.ศ. 2008
ไอเดียการสร้างเรื่องนี้เกิดขึ้นจาก แอนดรูว แสตนทัน ผู้กำกับ Finding Nemo เขาบอกว่าที่จริงเรื่องนี้เป็นโปรเจกต์ที่คิดมาตั้งแต่ก่อนทำ Toy Story เสียอีกโดยเขาคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาถ้าคนทิ้งโลกไปแล้วแต่ลืมปิดการทำงานของหุ่นยนต์ตัวสุดท้าย แต่มันไม่ใช่หนังไซไฟนะ มันเป็นหนังโรแมนติกต่างหาก

10. ปู่ซ่าบ้าพลัง (Up) ปี ค.ศ. 2009
เรื่องนี้กำกับโดย พีท ด็อคเตอร์ และบ็อบ ปีเตอร์สัน ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องราวที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีประเด็นเกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และแฝงไปด้วยความสนุกสนานและเฮฮาตามแบบฉบับ

11. ทอย สตอรี่ 3 (Toy Story 3) ปี ค.ศ. 2010
เรื่องนี้เปิดตัวมาก็ทำสถิติภาพยนตร์แอนิเมชันโดยเปิดตัวสูงสุดเป็นอันดับที่สอง ต่อจาก Shrek 3 และถือได้ว่าเป็นภาพยนต์ที่ทำเงินสูงที่สุดประจำปี ค.ศ. 2010 ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และสูงเป็นอันดับ 2 ของปี ค.ศ. 2010 จากทั่วโลกอีกด้วย

12. สายลับสี่ล้อ ซิ่งสนั่นโลก (Cars 2) ปี ค.ศ. 2011
เป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของทางค่ายพิกซาร์ที่สามารถทำผลงานทางบ็อกซ์ออฟฟิศได้เป็นอันดับที่ 6 ซึ่งถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการจารึกว่าเป็นการเปิดตัวสุดสัปดาห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับภาพยนตร์แอนนิเมชันเลยก็ว่าได้

13. นักรบสาวหัวใจมหากาฬ (Brave) ปี ค.ศ. 2012
ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้เข้าฉายเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นผลงานการกำกับโดยมาร์ค แอนดรูว์ส และเบรนดา แชปแมน ถือเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ทำรายได้เปิดตัวในเดือนมิถุนายนปี 2012 สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ และยังสามารถสร้างสถิติภาพยนตร์แอนิเมชันที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดในหมวดแอนิเมชันที่มีตัวละครหลักเป็นผู้หญิงอีกด้วย

14. มหา'ลัย มอนส์เตอร์(Monsters University) ปี ค.ศ. 2013
เป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของทางค่ายพิกซาร์ ซึ่งเรื่องนี้ตบเท้าเข้าโรงภาพยนตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วสดๆ ร้อนๆ ส่วนผลลัพธ์จะออกมาสนุกสนาน ได้สาระหรือไม่อยู่ที่คุณผู้ชมเป็นผู้ตัดสิน


ข้อมูลอ้างอิง (Starpics no.713)