(1)
ไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เท่าไรนักหรอก กับการต้องไปอยู่ท่ามกลางผู้คนเหล่านั้นที่ผิวกายเกรียมกร้าน แต่งเนื้อแต่งตัวมอซอ บ้างคาดผ้าขาวม้าที่หน้าผาก บ้างสวมหมวกสานสำหรับการทำงานในท้องทุ่ง เสียงพูดคุยจ้อกแจ้กจอแจก็ล้วนแต่เป็นบทสนทนาที่ไม่น่ารื่นรมย์ เพราะมันอึงอลเต็มไปด้วยความขมขื่น เช่นเดียวกับถ้อยคำปราศรัยของใครหลายคนบนเวทีที่วนเวียนอยู่กับเรื่องราวความทุกข์ยากปากหมองซึ่งคับแค้นแน่นฝังมานานเดือน
หนึ่งวัน ก่อนกุหลาบแห่งความรักวาเลนไทน์จะเบ่งบาน นับเป็นวันที่ 8 ตั้งแต่เต็นท์หลายสิบหลังถูกตั้งขึ้นภายในพื้นที่ส่วนหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์เพื่อใช้สอยเป็นที่ชุมนุมของกลุ่มชาวนาจากทั่วประเทศ อันที่จริง อุบัติการณ์แบบเดียวกันนี้ส่งสัญญาณมานานหลายเดือนแล้ว ดังที่ผู้ติดตามข่าวคราวจะได้รับรู้เรื่องราวการรวมตัวกันของชาวนาที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องทวงถามในสิ่งที่ตนพึงได้ แต่ยังไม่ได้ วันแล้ววันเล่าที่เฝ้ารอ เหมือนความหวังกลางอากาศที่มิอาจจับต้องมองเห็น เงินค่าจำนำข้าวที่พวกเขาควรได้รับเฉกเช่นทุกๆ ปียังไปไม่ถึงมือ โดยปราศจากคำอธิบายที่ชัดเจนจากผู้มีส่วนรับผิดชอบ -รัฐบาล- กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญแห่งการลุกฮือของชาวนา จากตะวันออกจรดตะวันตก จากใต้ขึ้นไปเหนือ กระทั่งพื้นที่ในภาคกลาง เสียงของชาวนาระงมมาจากทั่วสารทิศ ก่อนจะเริ่มดังขึ้น และดังขึ้น กระทั่งในที่สุด เสียงแห่งความทุกข์ยากเหล่านั้นก็มาบรรจบพบกันข้างๆ อาคารกระทรวงพาณิชย์
คงจะกล่าวเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ว่า นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศที่ชาวนาเกษตรกรได้รับการตอกย้ำเชิดชูในฐานะ “กระดูกสันหลังของชาติ” แต่กลับถูกเฉยเมยจากผู้ปกครองราวกับไร้ตัวตน
จากการพูดคุยกับชาวนาบางคน เขาบอกว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ พวกเขาก็ไม่อยากมากรุงเทพฯ กันหรอก แต่ในเมื่ออยู่กับเหย้าและเฝ้ารอ แล้วไม่มีอะไรคืบหน้า พวกเขาก็ต้องตากหน้ามาทวงถาม นับเป็นการลุกขึ้นมา “ลงแขกรัฐบาล” โดยกลุ่มชาวนาผู้เดือดร้อนอย่างที่ไม่เคยปรากฏภาพแบบนี้มาก่อน
แดดยามบ่ายเริ่มร้อนระอุ เหงื่อเม็ดเล็กๆ ไหลซึมทั่วหน้าผากและใบหน้า หลายคนเหนื่อยล้าและนอนราบไปกับพื้นบาทวิถีที่รองด้วยเสื่อสานผุๆ และมีไม่น้อยคน ที่คงไม่ได้ยินเสียงปราศรัยบนเวทีเพราะมื้อเที่ยงที่เพิ่งกินเข้าไปเมื่อสักครู่เริ่มออกฤทธิ์ เผลอผล็อยหลับไปเพราะอากาศร้อนและอ่อนเพลีย บรรยากาศเมือง อากาศที่นี่ชาวนาไม่คุ้นชินเหมือนทุ่งกว้าง บรรยากาศดูอบอวลด้วยมวลอำมหิต จากคนปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ ที่พวกเขาเคยไว้วางใจ
นานๆ ครั้ง จะมีหนุ่มสาวพนักงานกระทรวงพาณิชย์เดินผ่านมา และนั่นดูจะเป็นไม่กี่สิ่งที่ดูเจริญหูเจริญตาที่สุดแล้วในพื้นที่แห่งนี้ แต่ใครเลยจะรู้ ในรูปลักษณ์ที่ดูเจริญหูเจริญตานั้น พวกเขาบางคนอาจจะมีญาติหรือกระทั่งพ่อแม่พี่น้อง เป็นคนที่แต่งตัวมอซอและกรำงานกลางแดดฝนในไร่นาอยู่บ้างก็ได้
มันไม่ใช่ละครแนวโศกนาฏกรรมดรามาที่จะต้องมานั่งฟูมฟายให้ผู้คนบีบน้ำตา ตามแบบฉบับละครโทรทัศน์ที่ให้ความรื่นรมย์ยามค่ำคืนแก่พวกเขา เพราะมันคือเรื่องจริง และคงไม่ใช่ประเด็นปรัชญาแนวโลกสวยที่คิดจะมานั่งอวยหรือยกย่องเชิดชูชาวนา
หากแต่นี่คือเรื่องราวของพวกเขาซึ่งมาพร้อมกับคำพูดคำจาที่ฟังดูซื่อๆ ตรงไปตรงมา และถ้าคุณจะหาความคมคายในถ้อยคำเหล่านั้น ก็คงจะยากอยู่สักหน่อย อย่างไรก็ดี ถ้าข่าวชาวนาฆ่าตัวตายเพราะไม่ได้เงินค่าจำนำข้าว จะทำให้คุณรู้สึกสะเทือนใจจนอยากร้องไห้ออกมาสักโฮ ผมก็ไม่อาจห้ามคุณได้แต่อย่างใด…
(2)
“ลุงเป็นชาวนาปลอมหรือเปล่า?”
ผมโยนคำถามแรกให้กับลุงอ๊อด แกหัวเราะออกมาราวกับอ่านเจตนาท่าทีของผมออกว่าไม่ได้ต้องการจะดูหมิ่นถิ่นแคลน หากแต่ว่าไปตามกระแสข่าวเท่าที่มี ลุงอ๊อดเดินทางมาจากจังหวัดพิจิตร ร่วมชุมนุมที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อสองวันก่อน แกบอกว่าลุงมีหลักฐาน พลางล้วงมือเข้าไปในกระเป๋าสะพาย หยิบกระดาษขนาดเอ 4 ที่หนีบเข้าไว้ด้วยกันหลายใบยื่นให้ผมดู กระดาษเหล่านั้นระบุชัดเจนถึงชื่อเสียงเรียงนาม ตำแหน่งแห่งหน ตลอดจนตัวเลขที่เป็นจำนวนข้าวซึ่งจำนำและจำนวนเงินที่จะได้รับ…
“สามแสนกว่า แต่ยังไม่ได้สักบาท แต่ถ้าหักลบกลบหนี้ก็เหลือไม่ถึงนั้นหรอก”
ลุงอ๊อดกล่าว ยิ้มแห้งๆ แซมใบหน้า
เป็นเวลา 12 ปี นับตั้งแต่ภาครัฐออกนโยบายจำนำข้าวให้กับเกษตรกร จนถึงตอนนี้ นับรวมงบประมาณที่ถูกใช้จ่ายไปกับโครงการดังกล่าว 1.39 ล้านล้านบาท ในปีปัจจุบัน รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่า มีการจ่ายค่าจำนำข้าวให้กับชาวนาไปแล้วหกหมื่นหนึ่งพันล้านบาท จากจำนวนทั้งสิ้นหนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาท นั่นหมายความว่า รัฐบาลยังมีภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อการจ่ายเงินให้กับชาวนาอีกกว่าหนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท
“ถ้าไม่มีเงินมาจ่ายชาวนา ก็น่าจะลาออกไปเลย”
ลุงอ๊อดยังคงพูดแบบสั้นๆ เหมือนกับที่แกบอกตั้งแต่แรกเริ่มสนทนาว่าแกพูดไม่เก่ง “และตอนเลือกตั้งก็บอกว่าจะได้หมื่นห้า แต่พอจำนำจริงๆ เต็มที่ได้แค่หมื่นสองหรือหมื่นหน่อยๆ เพราะพอไปถึงโรงสี เขาก็อ้างว่าข้าวของเรามีสิ่งเจือปนบ้าง มีความชื้นบ้าง”
“แล้วคิดว่าตัวเองถูกหลอกหรือเปล่า” ผมเดินคำถามเข้าไปอีกหนึ่งข้อ…
“ก็จะทำไงได้ล่ะ” ลุงอ๊อดตอบ “มันจำเป็นต้องจำนำ ก็ต้องจำนำ ถ้าไม่จำนำมันจะได้ราคาถูกกว่าเป็นเท่าตัว เพราะขายสดจะได้เงินราวๆ ตันละห้าพันกว่าๆ เท่านั้นเอง”
เป็นที่รู้กันดีว่า โครงการรับจำนำข้าว เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ประชานิยมที่นักการเมืองใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง ซึ่งนักวิชาการส่วนหนึ่งก็คาดการณ์ไว้แต่แรกเริ่มแล้วว่าจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา นอกจากราคาจำนำที่สูงกว่าเกณฑ์ราคาตลาดมาตรฐาน การพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันในหลากหลายขั้นตอนของโครงการดังกล่าวก็เป็นอีกหนึ่งต้นทางที่ทำให้งานศพของชาวนาเป็นรูปเป็นร่างยิ่งขึ้น
“ก็โกงไง ยิ่งลักษณ์นั่นล่ะหลอกประชาชน หลอก”
ลุงประนอมที่นั่งอยู่ข้างๆ ได้ยินบทสนทนาระหว่างเรา โพล่งขึ้นมากลางวง
“หลอกและโกงด้วย หลอกไปเรื่อยว่าจะให้ แล้วเราก็ต้องไปกู้ ธ.ก.ส. ดอกเบี้ยก็ขึ้นนะ ขึ้นเป็นรายวันเลย”
จากจังหวัดกำแพงเพชร โดยส่วนตัว ลุงประนอมยอมรับว่าตนเองอาจจะไม่ได้ลำบากสักเท่าไหร่ เพราะมีลูกเรียนจบปริญญาตรี ช่วงที่ยังไม่ได้เงินจากข้าว ลูกก็ส่งไปให้สามสี่พัน ก็ได้กินได้อยู่ 3-4 เดือน เพราะอาหารก็ไม่ต้องซื้อ ผักอะไรๆ ก็ปลูกไว้กิน ปลาก็มี เอาแหไปหว่านก็ได้ปลากิน
“แต่คนที่เขาไม่มีจริงๆ ก็ต้องหยิบยืมญาติพี่น้อง ก็ตามประสาคนบ้านนอกล่ะนะ หยิบยืมกัน ช่วยเหลือกันเท่าที่ทำได้ ชาวนาก็ไม่ได้มีเงินเดือน เราปลูกข้าวให้เขากิน นายกฯ ก็กินข้าว ตอนนี้ชาวนาเดือดร้อน รัฐบาลต้องเอาเงินมาให้ชาวนา และต้องมีเหตุผลชัดเจนว่าทำไมชาวนาถึงยังไม่ได้เงิน ตั้งแต่เกิดมา รุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่มี เพิ่งเคยเจอก็ยุคยิ่งลักษณ์นี่แหละ”
(3)
เสียงประกาศจากโต๊ะอำนวยการส่วนกลางดังขึ้นเป็นระยะๆ บอกให้รู้ว่ามีผู้มาบริจาคสิ่งของต่างๆ ให้กับผู้ชุมนุม ไล่ตั้งแต่ข้าวปลาอาหาร ไปจนถึงของใช้ที่จำเป็น ลุงอ๊อดบอกว่ารู้สึกดีใจที่เห็นคนกรุงเทพฯ มาช่วยชาวนา
“มาที่นี่ เขาก็ดูแลชาวนาอย่างดี คนกรุงเทพฯ น่ะ รู้ว่าชาวนามา เขาสงสารชาวนา ก็เอาสิ่งของมาช่วยเหลือ”
ลุงอ๊อดว่าอย่างซื่อๆ ขณะทอดสายตามองภาพคุณหมอคนดังผู้หนึ่งซึ่งกำลังนำอาหารเดินแจกชาวนาในที่ชุมนุม หญิงวัยกลางคนในชุดเสื้อลายยกมือไหว้ปลกๆ
“ภูมิใจเนาะ คนกรุงเทพฯ มาช่วยชาวนา”
ลุงประนอมกล่าวย้ำอีกหนึ่งเสียง เช่นเดียวกับพี่บุญมี เรเรือง ชาวนาจากจังหวัดพิจิตร ที่พูดทั้งน้ำตาว่า “เราได้เห็นจิตใจคนกรุงเทพฯ เขาเป็นคนดีกันมากๆ ชาวนาดีใจที่เขามาช่วยพวกเรา”
ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนแรกของปี 2557 ชาวนา 9 รายตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเพราะทนความลำบากไม่ไหว ข่าวการฆ่าตัวตายของชาวนากลายเป็นพาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ และไม่ใช่แค่เมืองไทย หากแต่สื่อเมืองนอกก็ยังบอกกล่าวเล่าถึงโศกนาฏกรรมนี้
“แต่รัฐบาลก็ไม่เห็นไปดูไปแล”
พี่บุญมีกล่าวต่อ “ข่าวก็ออกปาวๆ ว่าชาวนาเดือดร้อนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็ไม่เห็นเขาไปดู เราถูกทอดทิ้งจากรัฐบาล คิดว่าอย่างนั้นนะคะ เราคิดมาตลอดว่ามันจะมีหนทางไหนบ้าง ก็มาเจอที่ชุมนุมนี่แหละค่ะที่คิดว่าน่าจะช่วยเราได้ คือไม่รู้จะทำยังไงแล้ว มันดิ้นมาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ก่อนขายข้าวเดือนตุลาฯ ก่อนหน้านั้นสามสี่เดือน คนที่เขาไม่มีทุนเขาก็กู้ยืมมาเหมือนกัน ก็คิดว่าพอจำนำข้าวแล้วจะได้ตังค์ไปใช้หนี้ แต่เมื่อไม่ได้ก็ลำบาก รวมๆ กันแล้วก็เก้าเดือนกว่า”
อย่างไรก็ตาม สำหรับพี่บุญมี แม้จะมีภาระดูแลน้องซึ่งนอนป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บอกว่าถึงอย่างไรก็ต้องยืนหยัดเพื่อคนอื่นและตนเอง ไม่เคยคิดถึงการฆ่าตัวตาย กระนั้นก็ดี เธอบอกว่าสภาพแบบนี้ก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับการตายทั้งเป็น
“คิดว่ารัฐบาลที่ทำแบบนี้ บกพร่องมากๆ เลยค่ะ ทำให้ประชาชนต้องตาย ดิฉันกลัวว่าคนที่ลำบากมากกว่าดิฉัน เขาจะสิ้นคิดกันมากขึ้นอีก อย่าให้คนจนต้องลำบากถึงขนาดนี้เลย” เสียงพูดของพี่บุญมีสะดุดหยุดลงแล้วแทนที่ด้วยเสียงสะอื้น “คนเริ่มตายแล้วค่ะ เราอาจจะไม่ได้ตายเพราะมีใครเอาปืนมายิงเราหรอก แต่รัฐบาลกำลังจะทำให้พวกเราตายไปทีละคนๆ เพราะทำใจไม่ได้กับความทุกข์ความลำบากของตัวเอง มันท้อแท้ ทำให้พวกเราตายทั้งเป็นไปเรื่อยๆ”
เสียงร้องไห้ยังไม่ทันขาดห้วง ผมอาศัยจังหวะเล็กน้อยช่วงนี้ แทรกขึ้นมาว่า รัฐบาลเขาก็บอกอยู่นะว่าเดี๋ยวก็จะได้ พี่บุญมี ตอบกลับทันที
“เดี๋ยวก็ได้ เดี๋ยวก็ได้ มันหลายเดี๋ยวแล้วค่ะ อดไม่ได้แล้วค่ะ มันแย่แล้ว จะยืมจะกู้ตรงไหน ก็ไม่มีใครอยากให้แล้ว เพราะเขากลัวว่าเราจะไม่มีเงินไปจ่ายคืนให้เขา”
“ชาวนาไม่เชื่อไง เพราะโดนหลอกมาหลายรอบแล้ว”
ลุงประนอมคนเดิม พูดเสริมขึ้นมา “ชาวนาถึงออกมา มันไม่ไหว ติดตามข่าว เราก็เหนื่อย เงินก็ไม่ได้ คุยกับเมีย แม่มึงเอ๊ย ทำไงกันดี เครียดเหมือนกัน เดือดร้อนน่าดู คือก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เงินนะ”
เงิน เงิน เงิน แล้วชาวนาจำเป็นต้องใช้เงินอะไรมากมายขนาดนั้นเลยหรือ ผมรุกด้วยคำถามสุดท้าย… “โอ้โฮะ” ลุงประนอมท่าทีกระตือรือร้น “ชาวนาก็คนน่ะนะ เราต้องอยู่ต้องกินเหมือนกัน อยากได้นู่นอยากได้นี่ มันก็เรื่องธรรมดา ทุกคนก็อยากได้เงิน อยากรู้สึกสบายบ้าง ทำงานหนักมาทั้งปี ชาวนานี่สุดยอดแล้ว ทำข้าวมาให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์กิน แต่กลับไม่ดูแลพวกเราเลย”
บทสนทนาระหว่างเราสิ้นสุดลง ขณะทุกคนหันไปให้ความสนใจกับผู้ปราศรัยชาวนาบางคนบนเวที เสียงปราศรัยนั้น ฟังคล้ายรำพึงมากกว่าจะแสดงท่าทีก้าวร้าว…
“ที่ผ่านมา เราเห็นนายกฯ ร้องไห้มาแล้วหลายครั้ง แต่เราไม่เคยเห็นนายกฯ ร้องไห้ให้กับชะตากรรมของชาวนาเลยแม้แต่ครั้งเดียว”…
เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : จิรรรถ์ ภูจิตทอง