ร้อน…
ร้อนมาก…
ร้อนมากถึงมากที่สุด…
เมษาหน้าร้อนมาเยือนอีกครั้ง หลายคนเริ่มโอดครวญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนตับแทบแตก หลายคนอยากหมกตัวหลบร้อนอยู่ในห้องไม่ออกไปไหน แล้วกดรีโมตปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้ต่ำลง… แต่นั่นเป็นวิธีการคลายร้อนที่ธรรมดาเกินไป mars จึงอยากจะชวนไปหาวิธีคลายร้อนแสนเร้าใจกว่าการนั่งสูดอากาศสังเคราะห์ในห้องสี่เหลี่ยม เปลี่ยนบรรยากาศมาขยับร่างกายออกกำลังท้าทายแสงแดด สายลม ไปกับกีฬาทางน้ำแนวใหม่สุดมัน 4 ชนิด ที่การันตีความ extreme ว่าจะเขย่าหัวใจของคุณ
ขอย้ำว่า ลืมภาพกิจกรรมหรือกีฬาทางน้ำแบบเดิมๆ อย่างการคร่อมเจ็ตสกี โล้คลื่นบนกระดานเซิร์ฟ หรือขี่เรือกล้วยไปโดนเหวี่ยงตกกลางทะเล ลองเปิดประสบการณ์และสัมผัสความสะใจรูปแบบใหม่ในซัมเมอร์นี้ บอกได้เลยว่าเย็นสบายกาย แต่จะเร่าร้อนหัวใจคุณอย่างแน่นอน
1.Surfing in the Sky-Flyboard
กีฬาชนิดใหม่สุดผาดโผน ที่ผสมผสานรูปลักษณ์และจุดเด่นของเจ็ตสกี (Jet Ski) และเจ็ตแพ็ก (Jetpack) เข้าไว้ด้วยกัน จนได้ผลลัพธ์เป็น ‘Flyboard’ เครื่องเล่นกีฬาทางน้ำที่ใช้แรงดันน้ำในการผลักดันให้ผู้เล่นสามารถพุ่งทะยานไปบนท้องฟ้า หรือดำดิ่งลงไปใต้น้ำได้อย่างอิสระ
โดยจุดเริ่มต้นของเครื่องเล่นชนิดนี้ เกิดมาจากไอเดียของหนุ่มนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสนาม Franky Zapata ซึ่งนำความฝันที่อยากจะบินได้ของเขามาผนวกรวมกับความสนใจในด้านกีฬาเอ็กซ์ตรีมเข้าด้วยกัน เกิดเป็นโปรเจกต์ขึ้นมาในปี 2011 แต่กว่าจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างก็กินเวลานานนับปี จนในปี 2012 เจ้าเครื่องเล่น Flyboard จึงได้ฤกษ์เปิดตัวต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกในงาน The Jet Ski World Championship 2012 ที่ประเทศจีน และหลังจากคลิปวิดีโอแสดงการเล่นเจ้าเครื่องเล่นนี้ถูกโพสต์ขึ้นยูทูปไม่นาน มียอดผู้ชมกว่า 7 ล้านครั้ง เป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ของกีฬาใหม่ชนิดนี้ ถึงขนาดมีการจัดการแข่งขัน Flyboard World Championships ขึ้นมา ซึ่งในการจัดการแข่งขันครั้งที่ 2 เมื่อปี 2013 ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ‘สุขสันต์ ทองไทย’ นักกีฬา Flyboard ชาวไทยของเราคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทองมาครอบครอง
ส่วนคำถามว่าเจ้าเครื่องเล่นชนิดนี้มันทำงานอย่างไรนั้น ถ้าให้อธิบายอย่างง่ายๆ Flyboard อาศัยหลักการเดียวกันกับเจ็ตแพ็ก เพียงแต่เปลี่ยนจากใช้ไอพ่นมาเป็นแรงดันน้ำในการส่งตัวเราลอยไปบนอากาศ โดยที่แฟรงกี้ ซาปาตา ได้เอาแท่นยืนที่มีสายรัดเท้าคล้ายๆ บอร์ดของกีฬา Wake Board มายึดติดกับสายยางเคฟลาร์ (kevlar) เอาไว้ จากนั้นก็เชื่อมต่อสายยางเข้ากับตัวมอเตอร์ของเจ็ตสกี ที่สามารถพ่นแรงดันน้ำขนาด 100 แรงม้าออกมา กลายเป็นแรงส่งให้ผู้เล่นที่ยืนอยู่บน Flyboard ลอยตัวขึ้นไปบนอากาศหรือพุ่งดำลงไปใต้น้ำได้ไกลถึง 10 เมตร
นอกจากท่อพ่นน้ำพลังสูงที่อยู่ใต้ฐานของบอร์ด ที่ใช้ดันตัวเราให้ลอยขึ้นมาแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นเหมือนคันบังคับเพื่อใช้ควบคุมทิศทางและความแรงของน้ำติดอยู่ที่แขนทั้งสองข้าง คันบังคับดังกล่าวจะมีรูปแบบคล้ายปืนฉีดน้ำ ที่จะพ่นน้ำออกมาเพื่อใช้รักษาสมดุลและบังคับให้ Flyboard เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือแม้กระทั่งหมุนเป็นเกลียวสว่าน 360 องศาก็ยังได้
“Flyboard ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองปฏิกิริยาอัตโนมัติของร่างกายมนุษย์อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับไรเดอร์หน้าใหม่ ที่จะใช้ระยะเวลาอันสั้นในการเรียนรู้กีฬาชนิดนี้ เพราะมันเรียกร้องสมดุลของร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ใช้เวลาเพียงสัก 10 นาทีคุณก็สามารถเรียนรู้จนทรงตัวบนเจ้า Flyboard ได้แล้ว” แฟรงกี้กล่าว
นอกจากความมันสะใจที่พาข้ามพ้นขีดจำกัดการเคลื่อนไหวแบบเดิมๆ ของมนุษย์ กีฬาชนิดนี้ยังทำให้ผู้เล่นได้ออกกำลังสร้างกล้ามเนื้อทุกส่วนอย่างเต็มที่ เพราะทุกการกระโดด การทรงตัว หรือแม้แต่กระโจนดำดิ่งลงไปใต้น้ำ ผู้เล่นล้วนต้องใช้กล้ามเนื้อทั่วทั้งร่างกาย เรียกว่าต้องอาศัยความแข็งแรงและสมบูรณ์พร้อมของหัวใจเลยทีเดียว
ประเทศไทยเองแม้จะเคยมีนักแข่งไปคว้าแชมป์ระดับโลกมาแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นกีฬาชนิดนี้ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เพราะอุปกรณ์และสถานที่เล่นที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่ด้วยความแปลกใหม่และท้าทาย เชื่อว่าอีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้า Flyboard จะได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ที่มีใจรักความท้าทายแน่นอน หากใครใจร้อนอยากจะลองสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่เสียเดี๋ยวนี้ ก็สามารถไปลองสัมผัสได้ที่ Geminai Watercrafts ชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี
Flyboarding for the First Time
ก่อนจะไปลงสนามจริงเหินฟ้าท้าประสบการณ์ใหม่ไปกับเจ้า Flyboard เรามีทริกที่จะช่วยให้คุณเล่นกีฬาชนิดนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้นมาแนะนำ
1.ก่อนที่จะพุ่งตัวขึ้นมาเหนือน้ำ อันดับแรกควรจัดสมดุลร่างกายให้ตั้งตรง อยู่ในลักษณะที่พร้อมจะลุกขึ้นยืนเสียก่อน
2.ขณะที่ลอยขึ้นมาจากพื้นน้ำ ให้รักษาสมดุลของขาและหัวเข่าทั้งสองให้ตั้งตรง พยายามผ่อนคลาย ค่อยๆ หาบาลานซ์ของร่างกายเพื่อที่จะทรงตัวบนบอร์ดให้ได้
3.ในการบินนั้น หากคุณต้องการเปลี่ยนทิศทางของการบิน ให้เทน้ำหนักของร่างกายไปยังทิศทางที่ต้องการ จากนั้นรักษาสมดุลของการเคลื่อนไหว เพื่อที่จะกลับมาทรงตัวได้อีกครั้ง
4.หากคุณต้องการที่จะเลี้ยวบอร์ดขณะอยู่บนอากาศ ไม่ควรงอเข่าทั้งสองข้างพร้อมกัน การค่อยๆ งอเข่าข้างใดข้างหนึ่ง จะเป็นวิธีที่ดีในการช่วยรักษาสมดุลของร่างกายในขณะที่คุณจะหักเลี้ยว
…………………………………………………..
2.Lifestyle Sport on the Rock
กีฬาเคเบิลหรือกีฬาประเภทลากจูงทางน้ำเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้ว แต่ในยุคก่อนกีฬาเหล่านี้ไม่ค่อยมีความท้าทายให้กับผู้เล่นได้สัมผัสมากนัก เช่น กีฬาสกีน้ำแบบขาคู่ สกีน้ำแบบขาเดี่ยว ที่วิธีการเล่นมีเพียงเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา วิ่งไปวิ่งมาเท่านั้น แต่กีฬาเวกบอร์ด (Wake Board) หรือเวกสเกต (Wake Skate) กลับแตกต่างออกไป ซึ่งภาพโลดโผนโจนทะยานของนักกีฬาในบึง Thai Wake Park เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี
จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของกีฬาชนิดนี้มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา Tony Finn มักจะถูกยกเครดิตให้เป็นผู้ริเริ่ม โดยในปี 1985 โทนี่ ฟินน์ ได้ผสมผสานวิธีการเล่นกระดานโต้คลื่น (Surfboard) กับสกีน้ำ (Water Ski) เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นกีฬา Skurfer ขึ้นมา หลังจากนั้นโทนี่และเพื่อนของเขา Jimmy Redmon ได้เพิ่มสายรัดข้อเท้าซึ่งทำให้การเล่นเป็นไปอย่างอิสระมากขึ้น อันเป็นจุดกำเนิดให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่นิยมมากขึ้น
“พอเราเล่นไปถึงจุดหนึ่งมันจะกลายเป็นศิลปะ เราสามารถระบายอารมณ์ของเราไปกับการเล่นได้ อย่างวันนี้เรารู้สึกเนือยๆ เราก็เล่นมันเบาๆ หรือพรุ่งนี้เรารู้สึกหงุดหงิด เราก็สามารถเล่นแรงๆ มันเป็นกีฬาที่สะท้อนตัวตนของเราออกมา” ดีดี้ อันวา ครูฝึกประจำบึง Thai Wake Park และอดีตตัวแทนประเทศไทยดีกรีแชมป์เอเชียปี 2008 กล่าวกับเรา
ปัจจุบันการลากด้วยสายเคเบิลเข้ามาแทนที่การเล่นแบบเดิมที่ใช้เรือหรือเจ็ตสกีเป็นตัวลากจูง กีฬาเวกบอร์ดและเวกสเกตจะใช้หลักการทำงานของสายเคเบิลเหมือนกัน ต่างกันก็เพียงแต่เวกบอร์ดจะใช้บอร์ดที่มีสายรัดข้อเท้า หรือบูตให้นักกีฬาสวมใส่ ส่วนเวกสเกตจะเป็นบอร์ดคล้ายกับสเกตบอร์ดแต่ไม่มีล้อ และจะมีกระดาษทรายอยู่บนพื้นผิวของบอร์ดเพื่อช่วยในการยึดเกาะ
“ความรู้สึกมันจะต่างกัน อย่างเวกบอร์ดมันจะได้ความอลังการ กระโดดขึ้นไปสูงๆ หมุนตัวทีเดียว 3-4 รอบได้ เพราะมันมีสายรัดข้อเท้า แต่เวกสเกตเล่นยากกว่า มันจะใช้เทคนิคของสเกตบอร์ดเข้ามาแทน” ดีดี้พูดถึงความต่างของกีฬาทั้งสองชนิด
กีฬาประเภทนี้เป็นกีฬาที่เสริมสร้างความแข็งแรงได้เป็นอย่างดี เพราะต้องใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่แขน ขา ไปยันศีรษะ ซึ่งดีดี้บอกอีกว่าหากใครได้ลงมาโลดแล่นบนกระดานบอร์ดในบึงเป็นครั้งแรก คุณจะสัมผัสได้ถึงกล้ามเนื้อที่คุณไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีอยู่ เพราะกล้ามเนื้อของคุณจะเกิดอาการอักเสบจากแรงกระชากในอัตราความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของสายเคเบิล ขอบอกเลยว่าควรเตรียมยานวดกล้ามเนื้อไว้แต่เนิ่นๆ จะดีกว่า
“เล่นกีฬาชนิดนี้ต้องใช้ความพยายามสูง เพราะมันมีไม่กี่อย่างหรอกที่เราต้องล้มเหลวเป็นสิบๆ ครั้งถึงจะสามารถเล่นเป็น ต้องคว่ำ ต้องว่ายน้ำ กีฬาชนิดนี้มันทำให้คนเล่นมีความพยายามขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ แถมกีฬาพวกนี้มันไม่มีใครพูดได้ว่าใครเล่นเก่งกว่าใคร มันมีเพียงความชอบของแต่ละคน เพราะทุกอย่างมันเป็นไลฟ์สไตล์ที่แต่ละคนเลือกเอง” ดีดี้กล่าวทิ้งท้ายไว้กับเรา
3 Questions with ‘Daniel Grant’
ไม่ง่ายนักหากใครสักคนจะเล่นกีฬาสักชนิดจนถึงจุดสุดยอดที่เรียกว่าแชมป์โลกได้ แต่ในวัย 16 ปี แดเนียล แกรนท์ เด็กหนุ่มลูกครึ่งไทยอังกฤษ เป็นนักเวกบอร์ดตัวแทนประเทศไทย ที่คว้าแชมป์โลกในรุ่น Professional Features ในการแข่งขันเวกบอร์ดชิงแชมป์โลก Singha WWA Wake Park World Series 2013 และคงจะไม่เป็นการพูดเกินจริงนักว่า ตอนนี้เขากำลังยืนอยู่ในฐานะมือหนึ่งของโลก
รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้แชมป์โลก
ตอนนั้นไม่ได้หวังเลยว่าจะได้ เพราะมีคนเก่งๆ มาเยอะมาก ทั้งประเทศเยอรมนี อเมริกา แล้วก็ออสเตรเลีย แต่พอเราได้ขึ้นมาจริงๆ ก็ดีใจ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เราได้แชมป์รุ่น Professional Features ทั้ง Wake Board และ Wake Skate ก็ถือว่าสนุกดี
เริ่มเล่นกีฬาชนิดนี้มาเกือบ 8 ปีแล้ว มันให้อะไรกับคุณบ้าง
ได้ประสบการณ์ล้วนๆ เลย ทุกครั้งที่ได้ไปแข่งในทุกประเทศ เยอรมนี ฮอลแลนด์ อเมริกา ออสเตรเลีย แล้วอีกอย่างมันก็เป็นกีฬาที่เหมาะกับคนชอบความท้าทายอย่างเรา
นิยามของกีฬาชนิดนี้ในความคิดคุณ
Wake Board คืออะไร? ไม่รู้สิ ลองมาดูได้ที่ Thai Wake Park ได้เล่นดูเดี๋ยวก็รู้ (หัวเราะ)
Ride Anywhere-Winch
วิธีการเล่นกีฬาเวกบอร์ดและเวกสเกตสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ซึ่งนอกจากสถานที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่างการเล่นในปาร์กที่ใช้เคเบิล เรือ หรือเจ็ตสกีเป็นตัวลากแล้ว ก็ยังมีอีกแนวหนึ่งที่เป็นที่นิยมเล่นกันอยู่ในกลุ่มเล็กๆ แบบสตรีตที่เรียกว่า Winching
Winching คือ การเล่นกีฬาเวกบอร์ดและเวกสเกต โดยใช้อุปกรณ์พิเศษที่เป็นเครื่องยนต์ขนาดเล็ก ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อเป็นตัวช่วยในการลากเชือก ซึ่งการเล่น Winching ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศมานานแล้ว เนื่องจากขนาดและน้ำหนักที่ไม่มากนักของอุปกรณ์ จึงง่ายในการเคลื่อนย้ายสถานที่ไปหาสปอตหรือจุดเล่นใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร เป็นการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้เล่นแนวสตรีตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสถานที่ที่เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่เรือหรือเจ็ตสกีไม่สามารถเข้าถึงได้ อาทิ น้ำตก คูคลอง ลำธาร หรือแม้กระทั่งสระน้ำที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ ในประเทศไทยมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เล่น Winching อย่างจริงจัง พวกเขาเรียกตัวเองว่า Skateway Winch Crew มีสโลแกนประจำทีมว่า ‘Ride Anywhere’
**ขอบคุณภาพจาก Skateway Winch Crew**
……………………………….
3.Perfect Wave in the City
ไม่ต้องไปถึงชายทะเลก็สัมผัสเสียงน้ำและฟองคลื่นได้ใจกลางเมือง ที่ Flow House Bangkok สถานที่เล่นกีฬาแนวใหม่ในซอยสุขุมวิท 26 โครงการ A Square กับกีฬาที่เรียกว่า Flowrider ชนิดกีฬาที่ตอบโจทย์คนรักการเซิร์ฟฟิ่ง แต่เบื่อกับการต้องออกไปโต้คลื่นไกลถึงทะเลต่างจังหวัด แถมไม่ต้องไปวัดใจกับสภาพอากาศว่าวันนี้จะมีคลื่นลูกเล็กลูกใหญ่ หรือไม่มีคลื่นให้เล่นอีกแล้ว
ก้าวแรกที่เดินเข้าไปเหมือนกับหลุดเข้าไปอีกโลก ด้วยบรรยากาศและเสียงคลื่นที่ส่งออกมา ต้องบอกว่าเหมือนมีคนยกชายทะเลมาตั้งอยู่ตรงหน้าจริงๆ
“กีฬาชนิดนี้เป็นการผสมผสานกีฬา 4 ชนิด เซิร์ฟฟิ่ง, เวกบอร์ด, สโนว์บอร์ด และสเกตบอร์ดเข้าด้วยกัน หน้าตาของมันอาจจะดูคล้ายๆ เซิร์ฟ แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือนกันเลย เรื่องทริกจะเป็นของสเกตบอร์ด เรื่องการคอนโทรล การบาลานซ์ ก็จะเป็นของเวกบอร์ดกับสโนว์บอร์ด เสน่ห์ของมันคือถ้าคุณได้ทักษะใหม่ๆ ในการเล่น มันก็จะเป็นความท้าทายในตัวเอง ไม่เหมือนทีมฟุตบอลที่คุณต้องมีคู่ต่อสู้คุณถึงจะเล่นได้ มันเป็นกีฬาที่เล่นคนเดียว และพิสูจน์ว่าเราจะทำมันได้หรือเปล่า” แซมมี่-อานนท์ เกาศร Wave Instructor Supervisor ที่ Flow House Bangkok กล่าวถึงความน่าสนใจในกีฬาชนิดนี้ให้เราฟัง
Flowrider เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่บ้าคลั่งกีฬาเซิร์ฟอย่างแท้จริง และต้องการจะลบข้อจำกัดของกีฬาชนิดนี้ ที่ฤดูกาลและสภาพอากาศเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเล่น เพราะในบางครั้งสภาพอากาศก็เรียกว่าไม่เอื้ออำนวยต่อผู้ที่หลงรักในเกลียวคลื่นเอาเสียเลย กีฬาชนิดนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาภายใต้คำจำกัดความว่า Perfect Wave
“เวลาเราเล่นคลื่นจริงในทะเล ทักษะที่เรามีเราจะไม่สามารถใช้ได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ทักษะของเรามีผลแค่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 50 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่สภาพแวดล้อมทั้งสิ้น ต่อให้คุณเล่นเก่งมาก แต่ว่าวันนี้คลื่นไม่มี คุณก็เล่นไม่ได้ แต่อย่างตัว Flowrider คลื่นมันเสถียรตลอดเวลา มันฉีดน้ำออกมา 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 10,000 แกลลอนต่อวินาที มันก็ออกมาเท่านี้ ไม่มีตัวแปรอื่นมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ทีนี้ก็อยู่ที่ทักษะของเราแล้ว”
บอร์ดที่ใช้โต้คลื่นในกีฬาชนิดนี้ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Body Board ที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น และคนทุกเพศทุกวัย เพราะเป็นบอร์ดสำหรับนอนเล่น ง่ายต่อการทรงตัว และมีอันตรายน้อย ผู้หัดเล่นกีฬา Flowrider ควรจะหัดเล่นบอร์ดชนิดนี้เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับคลื่น ให้รู้จังหวะและแรงเหวี่ยง พื้นฐานการเล่นของบอดี้บอร์ดจะเริ่มจากท่านอน มาท่าคุกเข่าคู่ (double knee) และจบที่ท่าชันเข่าหนึ่งข้าง (drop knee)
ส่วนอีกแบบคือ Flowboard ซึ่งจะเป็นบอร์ดแบบยืน เหมาะสำหรับคนชอบความท้าทาย สามารถโลดแล่นได้อย่างอิสระ ซึ่งหลังจากเรียนรู้พื้นฐานมาจากบอร์ดแบบนั่งดีแล้วจะช่วยให้ทรงตัวบนบอร์ดชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น และเมื่อสามารถรักษาบาลานซ์บนบอร์ดได้แล้ว ก็จะเป็นการเรียนรู้เทคนิคท่าทางต่างๆ เพิ่มความท้าทายและตื่นเต้นให้ตนเองยิ่งขึ้น ทั้งการกระโดดลอยตัวเตะบอร์ดกลางอากาศ หรือการโฉบซ้ายเฉี่ยวขวาใส่ท่าแบบสเกตบอร์ด
“มันมีคำจำกัดความแค่คำเดียวเลยเวลาเล่น Flowrider คือ ต้องใจเย็น เวลาคนที่มีอาการตื่นเต้นมันจะหายใจผิดจังหวะ พอหายใจผิดจังหวะแล้วร่างกายก็จะออกท่าทางผิดส่วน ทำให้ไม่สามารถเล่นได้ ไรเดอร์ทุกคนที่เล่นกีฬาชนิดนี้จะมีความใจเย็นมากกว่าคนทั่วไปมาก นอกจากด้านร่างกายที่ได้อยู่แล้ว เราจะได้เรื่องสมาธิ ผมเคยสอนเด็กที่หัวรั้น ก้าวร้าว กลายมาเป็นคนที่ใจเย็นได้มาแล้ว” แซมมี่บอกกับเรา
ถ้าเทียบกับกีฬาเอ็กซ์ตรีมชนิดอื่นแล้ว อาจบอกได้ว่า Flowrider เป็นกีฬาที่ถือว่าเซฟตี้มากๆ เพราะตัว Flowrider ทำมาจากวัสดุที่รองรับแรงกระแทกอย่างดี มีลักษณะคล้ายแทรมโพลีน (trampoline) ที่เด้งได้ เวลาที่นักกีฬาพลาดล้มลงไป ก็จะไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ อีกทั้งน้ำจะเป็นตัวลดแรงกระแทกไปในตัวอีกด้วย เรียกว่าลบมุมมองของกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่หลายคนมองว่าเป็นกีฬาที่น่ากลัวออกไป คนทั่วไปที่อยากจะลองเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมสักครั้ง กีฬาชนิดนี้น่าจะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
“มันเหมาะสำหรับคนที่อยากสนุกกับการออกกำลังกาย บางทีคุณไปฟิตเนส ไปเล่นโยคะหรืออะไรต่างๆ บางทีมันเป็นการทรมานตัวเอง คุณอยากได้ผลลัพธ์ของการออกกำลังกาย แต่คุณไม่อาจสนุกกับสิ่งที่คุณทำ บางครั้งมันหนักเกินไป แต่อันนี้มันเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้เราแทบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเลยก็ว่าได้ พอมันมีความสนุกเข้ามาเกี่ยวข้องมันเหมือนได้ต่อยอดไปเรื่อยๆ” แซมมี่ทิ้งท้าย
สำหรับคนที่รักความท้าทายและเป็นแฟนพันธุ์แท้กีฬาเอ็กซ์ตรีมอย่างเข้าเส้น เชื่อเลยว่าหากมาลองสัมผัสคลื่นกลางกรุงที่นี่ จะต้องหลงรัก Flowrider อย่างแน่นอน
History
Tom Lochtefeld เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากีฬาชนิดนี้ตั้งแต่ปี 1988 และเปิดตัวบริษัทชื่อ WaveLoch FlowRider ที่เท็กซัส สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี 1991 อันเป็นบริษัทแม่ในการผลิตเครื่อง Flowrider และจนถึงปัจจุบันได้จัดจำหน่ายเครื่องเล่นชนิดนี้ไปแล้วกว่า 175 เครื่อง ทำให้กีฬาชนิดนี้แพร่หลายไปทั่วโลก
………………………………..
4.Exploding on the Wind
ผืนฟ้าริมชายหาดหัวหิน ถูกแต่งแต้มไปด้วยวัตถุหลากสีรูปพระจันทร์เสี้ยว เป็น ‘ว่าวขนาดยักษ์’ ที่ลอยอยู่เหนือหัวพวกเรา พร้อมเชือกที่ผูกติดกับนักไคต์บอร์ด ลากแล่นไปกับแรงลมเหนือเกลียวคลื่น แต่ละคนที่ยืนอยู่บนบอร์ดนั้น ต่างออกท่าทาง กระโดดเล่นล้อคลื่นกันสุดตัว
ที่นี่ ทะเลหัวหิน แหล่งเล่นกีฬา Kite Surf ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ไคต์เซิร์ฟคือกีฬาทางน้ำที่ผสมผสานกีฬา 5 ชนิด ได้แก่ Wakeboarding, Windsurfing, Surfing, Paragliding และ Gymnastics จนกลายมาเป็นกีฬาสุดเอ็กซ์ตรีมหนึ่งเดียว ที่ผูกตัวผู้เล่นเข้ากับว่าวขนาดยักษ์และใช้แผ่นบอร์ดสวมเท้า ก่อนจะออกตัวพุ่งแล่นไปบนผิวน้ำตามแรงกระชากของสายลม
“มันเป็นกีฬาที่ตื่นเต้นผาดโผน มีความเร็ว ตอบโจทย์สำหรับคนที่รักความท้าทาย แถมเรายังได้ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วน ทั้งแขน ขา หลัง และหน้าท้อง อีกทั้งยังเล่นอยู่ในทะเล เล่นอยู่ในธรรมชาติ ไม่ต้องมีเครื่องยนต์ เป็นกีฬาที่ฟรี ลมก็ฟรี สถานที่ก็ฟรี จะไปไหนแค่แพ็กใส่กระเป๋าคุณก็เอาไปเล่นได้ แทบจะเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีมทางน้ำชนิดเดียวที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้” แจ็ค-ชานนท์ พระแก้ว ผู้ฝึกสอนชั้นเซียนของ Surf Spot Thailand และอีกฐานะของนักกีฬาไคต์เซิร์ฟทีมชาติไทยดีกรีรองแชมป์เอเชียรายการ Kite Tour Asia 2013 พูดถึงกีฬาชนิดนี้
กีฬาไคต์เซิรฟ์สามารถแบ่งรูปแบบการเล่นอย่างคร่าวๆ ได้ 3 แบบ คือ Racing, Wave และ Freestyle ซึ่งสิ่งที่ใช้กำหนดทิศทางการเล่นคือบอร์ดที่นักกีฬาแต่ละคนใช้
โดยบอร์ดของ Racing จะเป็นบอร์ดที่มีความหนาพอสมควร และมีหางเสือ 3 อันติดอยู่ใต้บอร์ด เพื่อใช้สำหรับตัดผ่าผิวน้ำ เพื่อทำให้สามารถแล่นว่าวไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับคนที่รักในความเร็ว
บอร์ดแบบที่สองคือบอร์ดแบบ Wave ลักษณะเหมือนบอร์ดของวินด์เซิร์ฟ มีขนาดใหญ่ง่ายต่อการทรงตัว เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลัดเลาะไปตามเกลียวคลื่นชิลล์ๆ ไม่ผาดโผนมากนัก
แบบสุดท้ายคือบอร์ดสำหรับผู้ที่ชอบความท้าทายและรักอิสระอย่างแท้จริง กับบอร์ด Freestyle มีลักษณะคล้ายบอร์ดสเกต ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่มากและเป็นบอร์ดแบบ Twin Trip คือสามารถแล่นได้ทั้งสองทางซ้ายขวา ผู้เล่นจึงโลดโผนโจนทะยานได้อย่างเต็มที่ กระโดดหมุนตัวตีลังกาออกท่าทางตามใจไปพร้อมสายลม
“คุณต้องลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณเล่นมาให้หมด คุณจะบอกว่าผมเล่นเป็น เคยเล่นสเกตบอร์ด เคยเล่นวินด์เซิร์ฟมา แป๊บเดียวเดี๋ยวก็เป็นแล้ว คุณลืมความคิดนี้ไปได้เลย เพราะมันเป็นกีฬาคนละอย่าง กีฬาชนิดนี้มีความอันตราย จะต้องมีคนที่เล่นเป็นถึงจะสอนวิธีการเล่นให้กันได้”
ขึ้นชื่อว่ากีฬาเอ็กซ์ตรีมย่อมมีความเสี่ยงซ่อนอยู่เสมอ แต่แจ็คบอกว่าจะไม่มีปัญหาเลยหากผู้เล่นเรียนรู้วิธีการเล่นอย่างถูกต้อง โดยที่ Surf Spot Thailand จะเริ่มต้นสอนตั้งแต่การตรวจเช็กอุปกรณ์ การนำว่าวขึ้นลงและควบคุมทิศทาง การทรงตัวบนผืนน้ำขณะแล่นว่าว จนไปถึงการเรียนรู้ระบบเซฟตี้ของอุปกรณ์ที่มี ซึ่งถ้าเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญครบทุกลำดับขั้น แจ็คยืนยันว่าก็จะหลงเหลือเพียงความมันให้คุณได้สัมผัส ครั้นเมื่อเล่นแข็งจนพอจะออกทะเลได้ด้วยตนเองแล้ว ก็ถึงเวลาที่แต่ละคนจะฝึกฝนค้นหาสไตล์การเล่นของตัวเองให้เจอ
“กีฬาชนิดนี้ต้องใช้ลมในการขับเคลื่อนอย่างเดียว ถ้าเป็นหน้าฝนลมมันก็จะเหี่ยวๆ เอาว่าวขึ้นไม่ได้ อย่างที่หัวหินช่วงไฮซีซันของกีฬาชนิดนี้ก็จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม แรงลมของที่นี่ก็จะอยู่ระหว่าง 15-20 นอต หรือประมาณ 27-37 กิโลเมตรต่อชั่วโมง”
แม้จะเป็นกีฬาที่ต้องง้อธรรมชาติพอสมควร แต่สำหรับทะเลในประเทศไทย ต้องเรียกว่ามีลมให้เล่นแทบตลอดทั้งปี โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม สามารถเล่นได้ที่ชายหาดหัวหิน ส่วนเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม จะสามารถเล่นได้แถบทะเลจังหวัดชุมพร และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ก็สามารถแวะไปเล่นได้ที่ชายหาดพัทยา ซึ่งเมื่อไหร่ที่เจอกับวันที่ลมพัดเบา แจ็คบอกว่าเราต้องใช้ว่าวขนาดใหญ่ขึ้นหน่อย เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรับแรงลม หรือวันไหนที่ลมแรงก็หันมาใช้ว่าวขนาดเล็กลงมาหน่อย ซึ่งปกติค่าเฉลี่ยของขนาดว่าวที่ใช้กันจะอยู่ที่ 12 ตร.ม. สำหรับขนาดผู้ชายไทยไซส์มาตรฐาน และแรงลมปกติ 15-18 นอต
“กีฬาชนิดนี้มันต้องตั้งใจเล่นจริงๆ มันไม่ใช่ฟุตบอล ไม่ใช่วอลเลย์บอล ที่วันแรกก็จะไปหัดตีกันเลย ถ้าคุณไม่มีใจเล่นแค่หัดบินว่าวสองชั่วโมงคุณก็เบื่อแล้ว คุณอยากจะข้ามขั้นไปวันที่ออกไปในทะเลเลยมันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคุณเล่นได้เมื่อไหร่ คุณออกไปกลางทะเล คุณก็มีจุดมุ่งหมายแล้ว มันท้าทายคุณ ว่าวันนี้เราจะออกไปกี่ร้อยเมตร จะออกไปมากกว่าคนอื่นไหม แล้วท่าที่เราจะเล่นมันเล่นได้ไหม ถ้าเราทำได้อย่างที่ตั้งใจวันนั้นก็ถือได้ว่าคุณสุดยอดแล้ว”
แจ็คทิ้งท้ายไว้กับเรา ก่อนจะคว้าว่าวและสวมบอร์ดออกไปกลางทะเล เรามองแผ่นหลังของชายหนุ่มผู้ออกไปท้าคลื่นลม ภาพที่เราเห็นไม่มากอะไรกว่าชายผู้เล่นกีฬาเพื่อเอาชนะหัวใจตนเอง
History & Statistic
– Gijsbertus Adrianus Panhuise ชาวฮอลแลนด์ เป็นผู้ริเริ่มกีฬา Kite Surfing เป็นคนแรก ในเดือนตุลาคม ปี 1977 เขาได้นำ Parachute หรือร่มชูชีพมาผูกกับเข็มขัดและยึดเข้ากับเอวของตนเอง ก่อนจะใช้เซิร์ฟบอร์ดเป็นแท่นเหยียบแล่นไปบนน้ำ ในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีการพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันเหมือนสมัยนี้ เชือกจะถูกยึดเข้ากับตัวผู้เล่นโดยตรง เรียกได้ว่าอันตรายเป็นอย่างมาก
– 55.65 นอต หรือประมาณ 103 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือสถิติโลกความเร็วสูงสุดที่ Rob Douglas ทำเอาไว้ในเดือนตุลาคม 2010 และ 537 กิโลเมตร คือระยะทางไกลที่สุดที่ Francisco Lufinha เคยทำเอาไว้ในเดือนกันยายน 2013 ในการเล่นกีฬาชนิดนี้
เรื่อง : ปริญญา ก้อนรัมย์
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว, พาณุวัฒน์ เงินพจน์
อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine