9 ปรากฏการณ์ 'มีม' แห่งปี

คงเป็นเรื่องธรรมดาของทุกๆ ปี ที่พอถึงช่วงอำลาศักราชเก่าเพื่อเข้า พ.ศ.ใหม่ ในระดับปัจเจก เราแต่ละคนก็น่าจะมีสักช่วงเวลาสำหรับการมองย้อนพิจารณาถึงวันเวลาที่ผ่านพ้น เพื่อการเริ่มต้นสานต่อสิ่งดีๆ และละทิ้งสิ่งไม่ดีในปีต่อๆ ไป ขณะที่ในระดับสังคม ก็มีหลากหลายเรื่องราวที่เกรียวกราวขึ้นมาเป็นข่าวใหญ่ของประเทศหรือแม้กระทั่งของโลก

“วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ” บรรณาธิการนิตยสาร GM คืออีกหนึ่งคนซึ่งเฝ้ามองปรากฏการณ์ต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมาแล้วใช้สายตาแบบนักวิเคราะห์ ให้ชื่อเรียกเฉพาะกับปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านั้นว่ามันคือ “มีม” (Meme) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการอธิบายสิ่งต่างๆ เหล่านั้น

เราแทบทุกคนล้วนเคลื่อนไหวอยู่ในโลกของ “มีม” แต่คำถามก็คือว่า แล้ว “มีม” มันคืออะไร? และในรอบปีที่ผ่านมา มีอะไรบ้างที่ถือว่าเป็น “มีม”? บรรณาธิการนิตยสาร GM ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังขายดีอยู่ในตอนนี้ อย่าง “ชายหนุ่มผู้ก้มลงถ่ายภาพเท้าตัวเอง” มีคำตอบ…

“มีม (Meme) มันคือคอนเซ็ปต์ที่ใช้อธิบายในการถ่ายทอดความคิดต่างๆ ของมนุษย์ วัฒนธรรม ไอเดีย ภาษา หรือเทคโนโลยีอะไรต่างๆ ของมนุษย์ มีอยู่สองอย่างที่มนุษย์ถ่ายทอดถึงกันและมีวิวัฒนาการต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างแรกก็คือ ‘ยีน’ ที่มันอยู่ข้างใน เป็นเชิงชีววิทยา อยู่ในเนื้อหนังของเรา เป็นโครโมโซมจากพ่อแม่ แล้วก็พัฒนาต่อมาเรื่อยๆ แต่ว่าอีกอย่างหนึ่งซึ่งมันไม่ได้อยู่ในเนื้อหนัง ไม่ใช่เหตุผลทางชีววิทยา แต่เป็นสิ่งที่มันอยู่ในวัฒนธรรมของมนุษย์ เวลามนุษย์มารวมตัวกัน เขาเรียกสิ่งนี้ว่า มีม นั่นคือการที่เราทำบางสิ่งบางอย่างเลียนแบบกัน พอคนหนึ่งทำแล้วดี อีกคนหนึ่งก็จะไปทำเพื่อเลียนแบบ และในระหว่างการทำเพื่อเลียนแบบ มันก็จะมีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น มนุษย์คนแรกที่เริ่มใช้ไฟเป็น มนุษย์คนแรกพอค้นพบไฟว่าทำให้ปรุงอาหารหรือพ้นจากความหนาวเย็นได้ มนุษย์อีกคนพอเห็นคนนั้นสบายกว่า อบอุ่นกว่า ก็จะมาเลียนแบบ ก่อนที่เราจะมีสังคมออนไลน์ เราก็มีสังคมในชีวิตประจำวันอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น เราเห็นคนหนึ่งใส่เสื้อแบบหนึ่งแล้วสวย เราก็ซื้อมาใส่บ้าง ทุกสิ่งทุกอย่างเราทำตามกันจนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

“และเมื่อเราพูดถึง อินเทอร์เน็ตมีม (Internet Meme) ที่มันอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มันก็เป็นพฤติกรรมที่มนุษย์เคยชิน เพราะว่าเราก็ทำตามกันเช่นเดิม คนนี้โพสต์กระทู้แล้วตลก มีคนมาดู มาอ่าน ให้ความเห็นกันมากมาย เราก็รู้จักที่จะโพสต์ในประเด็นหรือแนวทางนั้นบ้าง จนกระทั่งมันวิวัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ เกิดเป็นทวีตเตอร์ เป็นเฟซบุ๊ก เป็นโซเชียลมีเดีย คิดว่าพฤติกรรมเหล่านี้มันก็ลุกลาม และเป็นสิ่งที่เราเคยชินมาจนถึงทุกวันนี้ ใครทำอะไรน่าสนใจ เราก็ทำตาม ยิ่งทวิตเตอร์มีฟังก์ชันรีทวีต หรือเฟซบุ๊กมีฟังก์ชันแชร์ มันคือฟังก์ชันที่เข้าใจในความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด เพราะว่ามนุษย์อยู่ได้ด้วยการผลิตซ้ำ เลียนแบบกันไปเรื่อยๆ

“สิ่งเหล่านี้มันก็สะท้อนให้เห็นว่า เราปรารถนาที่จะสื่อสารกันตลอดเวลา สังคมทันสมัยมันแยกเราออกจากกัน แต่ละวันเรากลับบ้านแล้วก็อยู่คนเดียวในอพาร์ทเมนต์ ไม่ได้สุงสิงกับใคร คนล้อมรอบเต็ม แต่ว่าเราคุยกับใครไม่ได้ เพราะว่ามันมีแต่คนแปลกหน้า เดินอยู่กลางศูนย์การค้า แต่ว่าเราไม่เคยคุยกับใคร เพราะว่าสังคมสมัยใหม่มันทำให้แปลกหน้าต่อกัน มนุษย์ก็เลยโหยหาการที่เราจะได้กลับมาสื่อสารกันอีกครั้ง แล้วเทคโนโลยีอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาในยุคสมัยปัจจุบัน ส่วนใหญ่มันเอื้อให้เรากลับไปจอยกันอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นมีมต่างๆ มันสะท้อนให้เห็นว่า เราปรารถนาที่จะกลับมาสื่อสารกัน บอกว่าฉันน่ะเหมือนกับคุณนะ บอกว่าเราล้วนไม่แตกต่างกัน ทั้งๆ ที่ถ้าเราออกมานอกโลกอินเทอร์เน็ต หรือนอกโซเชียลมีเดีย ทุกคนก็จะบอกว่า ฉันเป็นฉันเอง ความเป็นตัวของตัวเอง ความเป็นเอกลักษณ์ ฉันไม่เหมือนใคร ฉันไม่อยากเหมือนใคร ฉันไม่ให้ใครเหมือน อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าพออยู่ในโซเชียลมีเดีย มันกลับสะท้อนให้เห็นว่า เรากลัวมากเลยที่จะไม่เหมือนใคร เราจะต้องเหมือนกันตลอดเวลา ผมคิดว่าในปี 2012 นี้ชัดเจนมากๆ ว่านี่มันคือสิ่งที่เราทำเลียนแบบกัน และสะท้อนให้เห็นว่า เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราอยากอยู่กับคนอื่น”
***9 ปรากฏการณ์ “มีม” แห่งปี***
แม้แต่หนังก็ยังเอาไปต่อยอด
เอาอยู่
“เอาอยู่ ก็มาจากวลีที่เป็นการเมือง เป็นการพูดถึงนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำ แล้วมันก็ถูกเอาไปใช้ในเรื่องต่างๆ ในแง่ลามกก็มี ทุกอย่างนั่นแหละ และมีความหมายในทางเสื่อมเสีย และสุดท้ายมันก็หมายถึงความล้มเหลวในการที่จะเอาอยู่ มันก็เป็นคำติดหู เป็นคำสั้นๆ ที่เอาไว้คุย ไหลไปไหลมา ระหว่างโลกชีวิตจริงกับโลกในโซเชียลมีเดีย มันเริ่มมาจากคำพูดของนายกฯ แล้วโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นสื่อแขนงหนึ่ง เป็นสื่อใหม่ ก็หยิบมาใช้ แล้วก็ถ่ายเทไปเรื่อยๆ แต่ก็หายไปในที่สุด”

เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่
“คิดว่าเริ่มต้นประมาณเดือนเมษายน ก่อนสงกรานต์นิดหน่อย ครูอังคณาสะท้อนให้เห็นว่า ในอินเทอร์เน็ตมันล้อเล่นได้กับทุกเรื่อง แล้วมันไม่ได้ล้อเล่นแบบเอาจริงเอาจังน่ะ มันล้อเล่นแบบสนุกสนาน เอ็นดูกับความไร้สาระหรือความน่าตลกของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเด็กคนนี้ไม่ได้เสื่อมเสียอะไรเลย แล้วครูอังคณาก็ไม่ได้เสื่อมเสียอะไรด้วย กรณีแบบนี้เป็นเรื่องตลกล้อเล่น มันเริ่มจากคลิปแล้วก็กลายเป็นวลีที่ไหลออกจากโซเชียลมีเดียแล้วก็ไหลไปสู่สื่อกระแสหลัก ทีวีหนังสือพิมพ์ พอทีวีหนังสือพิมพ์เล่นข่าว ก็แสดงว่าสื่อหลักยอมรับแล้วว่าคำนี้มีคุณค่าน่าสนใจ ก็ยิ่งกลับมาโหมให้คนในโซเชียลมีเดียเล่นกันหนักขึ้น แต่เล่นกันสักพักแล้วก็หายไป เหมือนเดิม เป็นธรรมชาติของมีมที่มันจะสั้นมาก ตอนนี้ก็เลยไม่มีใครใช้มุกฟ้องครูอังคณาแล้ว

“มันเป็นเรื่องที่มีความคูลกับไม่คูล คูลคือเจ๋ง แต่เผอิญว่าเด็กคนนี้ มันเป็น Uncool คือไม่เจ๋ง เขาเป็นเด็กประถมที่ถูกเพื่อนกีดกันออกจากกลุ่ม เป็นเด็กประถมที่ดูเป็น loser ไม่คูล ไม่เจ๋ง อะไรอย่างนั้น แล้วพอเกิดเป็นคลิปมาแชร์ปุ๊บ ความไม่คูลมันก็กลายเป็นความคูลขึ้นมา แล้วคนที่คูลทุกคน หรือคนที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย จะต้องเอามาใช้ มันก็เป็นการไหลระหว่างคูลกับอันคูล สุดท้ายก็กลายเป็นไม่คูลอีกต่อไป ก็งงดีเหมือนกัน”

ไอติมแม็กนั่ม
มันเป็นการตลาดที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างได้ผล คิดว่าคนที่ทำ เอเยนซี่ที่คิดคงฉลาดมาก เพราะว่าเป็นการตลาดที่ใช้โซเชียลมีเดียได้เป็นเจ้าแรกๆ อย่างแบรนด์อิชิตันก็ทำนะ แต่อิชิตันทำแล้วมันดูเหมือนเป็นการชิงโชคไป มันดูไม่ค่อยเข้ากับจริตของคน แต่ไอติมแม็กนั่มมันเริ่มต้นจากอินสตาแกรม คือใครกินก็จะต้องถ่ายภาพมาลง มันเหมือนกับว่าการที่มีมหนึ่งจะกลายเป็นไวรัล (viral) คือสิ่งที่มันแพร่กระจายไป แก่นของมันก็คือ ความอาสาสมัครที่จะทำ สมัครใจที่จะทำเอง ไม่ใช่บอกว่าคุณถ่ายรูปนี้แล้วแชร์ แล้วใครได้ไลค์มากที่สุดแล้วจะได้รางวัลจากเรา คือมันไม่ใช่มีมที่จะประสบความสำเร็จจนกลายเป็นไวรัล มันจะต้องไม่ฮาร์ดเซลแบบนี้ มันจะต้องไม่มีรางวัลมาล่อ แต่มันต้องเล่นกับการสมัครใจที่จะทำเอง แล้วคิดว่าแม็กนั่มมันเป็นอะไรที่ทุกคนสมัครใจที่จะทำ อีกอย่างหนึ่งคือ ไอติมมันแพงด้วยความที่มันแพงจนไม่มีคุณค่าพอที่จะทำให้คนคนหนึ่งซื้อมากิน มันก็เลยมีคุณค่าในแง่ที่ว่าจะต้องถ่ายรูปแล้วก็ต้องแชร์กันออกไป เพื่อจะได้บอกว่าฉันกินแล้วนะ ฉันรวยพอที่จะมีเงิน 40 บาทซื้อไอติมแบบนี้มากิน แล้วก็แชร์กันไป คิดว่าเดือนแรกๆ ที่ไอติมแม็กนั่มมา ยอดขายคงถล่มทลาย แต่เดี๋ยวนี้ ทุกคนคงไม่แชร์และไม่กินแล้ว เพราะว่ามันก็ไม่ได้จะอร่อยอะไรขนาดนั้น ก็คงขายดีในช่วงเดือนสองเดือน แต่เดี๋ยวนี้คงลดลงแล้ว แต่คิดว่าแบรนด์คงประทับไว้แล้วว่าประสบความสำเร็จ

เทอร์มินอล 21
“มันเป็นที่ที่เราจะไปเช็กอินได้ การที่เราไปเช็กอินมันก็เป็นมีมแบบหนึ่ง เพราะว่าคนไปไหนมาไหนทุกวันนี้ก็ต้องเช็กอินน่ะ เพราะว่ายุคนี้เราไม่จำเป็นจะต้องไปโซเชียลดิสเพลย์ในลานเบียร์เซ็นทรัลเวิลด์เสมอไป ลานเบียร์มันเป็นสถานที่สำหรับเอาไว้ใช้ในการโซเชียลดิสเพลย์ประจำปี แล้วเราก็ไม่ต้องไปโซเชียลดิสเพลย์ที่ร้านสตาร์บัคส์ นั่งที่ริมหน้าต่างกระจกแล้วก็จิบกาแฟ แต่ทุกวันนี้ เราก้มหน้าดูโทรศัพท์ตลอดเวลา ทุกคนโซเชียลดิสเพลย์ผ่านสถานที่ แต่ว่าเป็นสถานที่ที่ผ่านการเช็กอิน ดังนั้นเราก็จะได้เช็กอิน เทอร์มินอล 21 ช็อกโกแล็ตวิว เอเชียทีค อีเกีย เมกะ บางนา เกตเวย์เอกมัย คือศูนย์การค้าที่เปิดใหม่น่ะ ทุกคนต้องไปเช็กอินเป็นคนแรกๆ เสาร์อาทิตย์ต้องแสดงสถานะทางสังคมด้วยการโซเชี่ยลดิสเพลย์ เช็กอินในจุดที่เราคิดว่ามันสะท้อนแล้วซึ่งชีวิตของเรา แล้วเวลาเข้าไปดู เราก็จะรู้ว่ามีกี่คนแล้วที่เช็กอินสถานที่นี้ ผมคิดว่าเทอร์มินอล 21 คือสถานที่ที่มีคนเช็กอินในเฟซบุ๊กมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา เพราะว่ามันดูเก๋ไง เพราะว่ามันเปิดใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าฉันเร็ว ฉันรวย แต่ตอนนี้ก็ไม่ฮิตแล้ว”

จักรยาน
“จักรยานน่าจะเป็นพาหนะที่ถูกถ่ายรูปและแชร์มากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา เพราะว่ามันอาจจะเริ่มมาจากการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมของวัยรุ่นในปัจจุบัน แม้วัยรุ่นอาจจะไม่ใช่คนแรกๆ ที่ขี่ แต่เป็นคนแรกๆ ที่เริ่มปลุกกระแสนี้ ก็เป็นกิจกรรมของชนชั้นกลางระดับสูงที่ตั้งคำถามกับชนชั้นกลางระดับที่ล่างกว่าลงมา ว่าพวกคุณกำลังทำอะไรอยู่กับการคมนาคมในกรุงเทพฯ ทำไมมันถึงได้ไปไหนมาไหนไม่ได้เลย คนกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่การศึกษาดีมากๆ ตั้งคำถามกับสังคมแล้วก็เอาจักรยานมาขี่ ซึ่งตรงกันข้ามกับสมัยก่อน ซึ่งคนขี่จักรยานมีแต่พ่อค้าหมูปิ้งน่ะ ซึ่งต่างจากปีก่อนๆ ที่ร้านอูคูเลเล่ผุดขึ้นเต็มเมือง แต่ปีนี้ถนนทุกสายมุ่งสู่จักรยาน ปั่นแล้วก็ถ่ายรูปมาแชร์กัน เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิทธิ์ในการใช้ถนนมันถูกพรากไปหมดเลยโดยรถยนต์ เราไม่สามารถขี่จักรยานได้ในชีวิตจริง แต่เราเห็นภาพจักรยานแชร์ได้มากกว่า เพราะว่ามันเป็นการแชร์เพื่อตั้งคำถามกับสังคม”

แก่ ใจดี สปอร์ต กทม.
“ก็เป็นมีมอันหนึ่งเพราะว่ามันอันคูล คนแก่คนหนึ่งซึ่งจะหาเมียน้อยผ่านทางโซเชียลมีเดีย คนแก่คนนี้ ถ้าไปอยู่ในคาเฟ่ ก็อาจจะเป็นคนที่เท่ที่สุดไปเลยก็ได้ หรือโคโยตี้ผับหรูๆ ที่บ๋อยรู้จัก มันคือพื้นที่ที่เขาเป็นใหญ่น่ะ แต่ว่าพอเขามาแสดงอำนาจนั้นในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเขาไม่รู้จักมันเลย มันก็เลยกลายเป็นการย้อนกลับมาทำร้ายตัวเขาเอง คือการอยู่ในผับหรือโคโยตี้คลับ มันเป็นระบบปิดด้วยไง มันจะเป็นกลุ่มเฉพาะ แล้วก็ซุกไว้ใต้พรม ปัญหานี้มันก็เป็นปกติของสังคมไทย เพียงแต่มันถูกซุกไว้ใต้พรม แต่ว่าพอมันมาอยู่ในโลกของการสื่อสารสมัยใหม่ซึ่งมันเป็นระบบเปิด ถ้ามีใครสักคนที่ปากโป้งแล้วมันก็จะลามออกไป มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ในโลกการสื่อสารแบบใหม่ มันเปิดมาก คุณทำพลาดเพียงแค่นิดเดียว มันพร้อมที่จะเป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างเช่น ถ้าคุณเป็นสื่อมวลชน แล้วคุณทำผิดด้วยเรื่องนิดเดียว ทุกคนพร้อมที่จะเล่นงานหรือซ้ำเติมคุณทันที ตาแก่คนนี้ แต่เดิมเขาก็อันคูลมากๆ แต่กลายเป็นคูลขึ้นมา เอาไว้ล้อเล่น ทุกคนก็ต้องล้อเล่น เอาคำนี้มาบิดไปบิดมา เอาคำนี้มาเล่นกันจนเละ แต่อาทิตย์เดียวก็หายไป ไม่มีใครเล่นแล้ว ไม่มีมูลค่าแล้ว

“ถึงที่สุดแล้ว ผมว่าเขาน่าสงสารนะ เขาก็คงเสนอว่าเขาจะซื้อ ถ้าไม่ขายก็บอกเขาว่าไม่ขาย ในสังคมเก่าที่เขาคุ้นเคย เขาก็คงเสนอซื้อขายกันแบบนี้ไง ไม่ขายก็คือไม่ขาย แล้วมันก็จบ แต่ในโลกออนไลน์ มันไม่จบ มันมีการเอาประจาน ก็เลยเป็นความซวยของคนแก่ที่น่าสงสารคนหนึ่ง แต่พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เขาทำมันดีนะ เขาคงทำในโลกอีกโลกหนึ่งของเขา แล้วมันก็ได้ผลน่ะ เพราะเขาซื้อขายกันมาแบบนั้น แต่โลกสมัยใหม่หรือโซเชียลมีเดีย มันไม่ใช่”

จุงเบย
“มันเป็นคำพิมพ์ผิด สมัยก่อนมันก็จะมี “เมพมาก” หรือ “เมพขิงๆ” ซึ่งก็คือ เทพจริงๆ เพราะว่าบนแป้นคีย์บอร์ด ท.ทหาร กับ ม.ม้า มันติดกัน คำว่า “เทพ” มันก็มาจากเกม เพราะว่าเกมมันจะมีเลเวลของมันที่เล่นกันได้ขั้นเทพ ส่วน ขิงๆ ข.ไข่ กับ จ.จาน มันก็ติดกัน พวกเล่นเกมออนไลน์ เวลาพิมพ์ เขาก็รีบพิมพ์ มันก็จะพิมพ์ผิดเยอะ มันก็เป็นประเพณีการพิมพ์ผิดแบบเด็กเล่นเกมออนไลน์น่ะ ทุกอย่างหลังจากนั้น มันก็จะกลายป็นภาษาของเด็กในปัจจุบัน บ.ใบไม้ ก็จะมาแทน ล.ลิง แทนกันไปแทนกันมา แล้วที่มันฮิตขึ้นมาอีก ก็เพราะส่วนหนึ่งมาจากราชบัณฑิตฯ ที่ต้องการจะมาบัญญัติศัพท์วัยรุ่น ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ศัพท์วัยรุ่น ผมเห็นว่าคำที่จะต้องมาอยู่ในพจนานุกรม ซึ่งราชบัณฑิตจะต้องให้ความสนใจ มันควรจะต้องเป็นคำที่มีอายุยืนกว่านี้ ไม่ใช่คำที่เกิดขึ้นมามีชีวิตอยู่แค่สองเดือนแล้วก็ไป ราชบัณฑิตก็อาจจะไม่เข้าใจในวิธีการของคนยุคปัจจุบันใช้ศัพท์ที่มาและไปเร็วมากจนไม่ต้องไปบัญญัติมัน

“ผมคิดว่าการที่เราเน้นคำว่า จุงเบย เพราะเราต้องการจะหัวเราะเยาะราชบัณฑิตน่ะ คือเราก็รู้นั่นแหละว่าราชบัณฑิตต้องการที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงของภาษาด้วยความปรารถนาดี แต่ว่าเราหยิบคำว่าจุงเบยมาใช้เพื่อเยาะเย้ยราชบัณฑิตว่า เฮ้ย เราเข้าใจว่าคุณปรารถนาดี แต่จริงๆ แล้วมันเร็วกว่านั้นเยอะ คุณจับมันไม่อยู่หรอก เพราะสุดท้าย มันก็หายไปเอง”

แรงเงา
“มันคือการดูละครแบบใหม่ ที่จริงมันมีเรื่องแบบนี้มานานแล้ว อย่างพวกเว็บบอร์ดของพวกดูฟุตบอล สมัยก่อน พวกดูฟุตบอล เขาก็จะออนไลน์เว็บบอร์ดกลุ่มของพวกเขาเองด้วย แล้วก็รายงานสดและเยาะเย้ยกันอยู่ในบอร์ด เว็บ pantip นี่แหละเป็นจุดแรกๆ ที่จะมีการดูละครด้วยกัน อย่างละคร ลิขิตกามเทพ จำเลยรัก ละครเมื่อสองสามปีก่อน ก็เริ่มมีการถ่ายทอดสดในเว็บบอร์ด แล้วก็จะมีคนตั้งกระทู้ “เริ่มต้นแล้ว ถ่ายทอดสดละคร” มีรูปมาแปะและการโค้ดคำพูด และแต่ละคนก็จะมาคุยกัน คอมเมนต์เป็นร้อยเป็นพันในกระทู้เดียว แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนเปิดกระทู้ของตัวเองแล้วก็ดูละครไง พิธีกรรมการดูละครก็เปลี่ยนไป คือการดูละครในบ้านหลังหนึ่ง เราอยู่กับพ่อแม่พี่น้อง แต่ว่าในห้องนอนเราก็มีทีวี แล้วพอเปิดละครดู เราก็ดูในห้องนอน ห้องนั่งเล่นที่มีทีวีตั้งอยู่กลายเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะทุกคนดูทีวีของตัวเอง แต่ว่าทุกคนก็แสดงความปรารถนาถึงการกลับมาดูทีวีด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าไม่ได้ดูที่ห้องนั่งเล่น เรามาดูที่โซเชียลมีเดีย แซวกันไปมา วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์

“และต้องเป็นละครที่แมสมากพอที่รสนิยมของคนจะแห่กันมาร่วม สมมติว่าเป็นรายการ “พื้นที่ชีวิต” มันไม่แมสไง โอเคว่ารายการคุณดี แต่มันไม่แมสน่ะ คนก็ไม่แห่แหนกันมา มันจึงไม่เป็นมีม ผมคิดว่าละครยุคต่อไป จะต้องสร้างให้มีลักษณะคล้ายๆ แบบนี้ คือมีสารพัดอารมณ์ โกรธ เกลียด อิจฉา รัก หลง กิเลส ธรรมะ ให้ทุกคนมาเชียร์

กังนัมสไตล์
“ก็เป็นเรื่องของ “คูล” กัน “อันคูล” เหมือนกับเรื่องของครูอังคณา คือเป็นคนอ้วนหน้าตาธรรมดา เต้นท่าเชยๆ แล้วก็ดูไม่มีคุณสมบัติอะไรเลยที่จะเป็นคนดัง ทุกคนแชร์ก็เพราะรู้ว่ามันไม่มีคุณสมบัติอะไรเลยในการเป็นคนดัง ผมคิดว่าวัฒนธรรมของโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ มันถูกสร้างขึ้นด้วยเนิร์ด มีจุดเริ่มต้นมาจากเนิร์ด จาก Geek จากพวกที่อันคูล หรือจากพวกทีเป็นลูสเซอร์น่ะ พวกการาจ ซาวด์ พวกเด็กที่เล่นกีตาร์หรือแต่งเพลงอยู่ในโรงรถที่บ้าน อยู่ในอเมริกา รวมกลุ่มกันเล่น พวกนี้คือคนที่ถูกเอาต์คาสต์ออกจากกลุ่มเพื่อน กลายเป็นเด็กเนิร์ดหลังห้อง เสาร์อาทิตย์ก็มารวมตัวกัน แล้วก็โกรธแค้นสังคม กลายเป็นบทเพลงอัลเทอร์เนทีฟ กลายเป็นเพลงการาจซาวด์ กลายเป็นเพลงกรันจ์ อะไรแบบนั้น ในขณะที่คนที่เป็นคนเด่นดังในโรงเรียน ก็จะเป็นเชียร์ลีดเดอร์ นมโตๆ ผมบลอนด์ๆ ส่วนพวกผู้ชายกล้ามใหญ่ๆ ตัวโตๆ ก็จะเป็นนักบอล นักบาสเก็ตบอล นักอเมริกันฟุตบอล พวกนี้ก็จะอยู่ในสังคมอีกแบบหนึ่ง

“แต่วัฒนธรรมร่วมสมัยที่เราใช้กันอยู่ ไม่ได้ถูกสร้างด้วยคนกลุ่มนั้นนะ แต่จะถูกสร้างด้วยคนที่อยู่วงนอก ลิสต์รายการมาสิ รองเท้าคอนเวิร์ส แว่นแบบอีโม แฟชั่นแบบอีโม หรือพวกคอสเพลย์ ก็เกิดจากเด็กที่เอาต์คาสต์ออกจากเพื่อน มันเหมือนกับการที่เราหยิบเอาวัฒนธรรมที่ต่ำเตี้ยติดดิน แล้วนำมาสร้างจนกลายเป็นดาว กังนัมสไตล์ก็คืออันนี้ คนอ้วนๆ ที่ไม่คูล แล้วเราก็หยิบมันขึ้นมาทำนองว่า “เฮ้ย ดูอันนี้รึยัง” แล้วอย่างปีก่อน ปรากฏการณ์ทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว นั่นก็คือ ซูซาน บอยล์ ซึ่งก็เป็นแค่ป้าธรรมดาๆ คนหนึ่ง และปีก่อนหน้านั้น ก็เคยเกิดมาแล้วกับ สมศักดิ์แขนเดียว

“จริงๆ แล้ว สังคมเรามันเป็นสังคมของคนแพ้ เราทุกคนรู้สึกไม่มั่นคง เราทุกคนไม่ได้นมโต ไม่ได้กล้ามใหญ่ไม่ได้เป็นดาวโรงเรียน ไม่ได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ ทุกคนเป็นม้ารองบ่อน เป็นอันเดอร์ด็อก แล้วเราก็จะรอเชียร์คนเหล่านี้ แต่ละปี เราก็จะผลิตซูซาน บอยล์ ผลิตสมศักดิ์แขนเดียวใหม่ๆ ขึ้นมา มันก็เปรียบเทียบได้กับรายการอย่างเดอะวอยซ์ หรือแม้แต่รายการประกวดต่างๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นมีมได้เช่นกัน มันสะท้อนให้เราเห็นว่า ตัวคนที่ไปแข่งก็เป็นอันเดอร์ด็อกเหมือนกันกับพวกเรา รอวันที่จะก้าวขึ้นไปได้รับการยอมรับ โลกมันถูกหล่อเลี้ยงด้วยวัฒนธรรมแบบนี้แหละ ปีหน้าไซออกเพลงอะไรก็คงไม่ดังแล้ว ปีหน้าเราก็คงหาอะไรบางอย่างที่มันเป็นอันเดอร์ด็อกเพื่อที่จะเชิดชูมันอีก เพื่อที่จะบอกตัวเองว่า เอ้อ เราเองก็มีโอกาสแบบนั้นเหมือนกัน

“ทุกวันนี้เราเหงา เราพ่ายแพ้ เราก็เลยเชียร์สิ่งเหล่านี้เหมือนคนอื่น ปี 2012 คงเป็นปีที่เราเศร้าและผิดหวังจากอะไรหลายๆ อย่าง เป็นปีที่เราอยากแสวงหาความเห็นร่วมจากคนอื่น ความเห็นพ้องจากคนอื่น และแสวงหาการยอมรับ”

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE