“ผู้ชายเวลาไปเที่ยว…เขาก็มองแต่ภายนอก เขาไม่ได้มองว่าผู้หญิงคนนี้ ก็เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ทั่วไป” เธอแซมยิ้มเล็กๆ เพื่อใช้อำพรางความรู้สึกที่เก็บไว้นับแรมปี เช่นเดียวกับบริกร “หญิง” ในวงเหล้าเคล้าเสียงเพลินเพลง
“สาวคาราโอเกะ” หรือ “เด็กนั่งดริงก์” ในอีกชื่อเรียกหนึ่ง คงไม่มีใครยกมือปฏิเสธว่า “ไม่รู้จัก” และ “ไม่เคยเห็น” หลอดนีออนสีบานเย็นกับตัวอักษรสติกเกอร์หนาเบิ่มเขียนบอกสถานะว่า “ร้านคาราโอเกะ”
“สา สิทธิจันทร์” คือหนึ่งใน “หญิงสาว” ใต้แสงไฟบานเย็นดวงนั้น…เมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่ปัจจุบันเธอกำลังเป็นที่รู้จักในฐานะ “นักแสดง” คนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ และผู้หญิง(กลางวัน) ธรรมดาคนหนึ่ง
“มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” เราถามในเบื้องต้น เพราะเท่าที่รู้ๆ กันอยู่ สังคมของ “ผู้หญิงกลางคืน” มันขมุกขมัวไม่น่าพิสมัยในสายตาของผู้คนยิ่งนัก
“ตอนแรกไม่คิดว่าตัวเองจะเดินผ่านจุดนั้นมาได้” เธอพรางรอยยิ้ม ก่อนจะทิ้งท้ายจบว่า “แต่มันก็ผ่านได้”
ทุกการกระทำย่อมมีความคิดเป็นแรงผลัก แต่อะไรที่ผลักไสจนเธอต้องกระเด็นกระดอนหลุดวงโคจรมืดมิด กลับสู่แสงสว่างอีกครั้งเหมือนวัยก่อนใช้ “นางสาว” นำหน้า
“ความจน” เป็นเหตุผลข้อแรกๆ ที่ทำให้ละครชีวิตจริง “ยิ่งกว่านิยาย” และดูจะเป็นหลักใหญ่ใจความเริ่มเรื่องปฐมบทชีวิตท่ามกลางฉากเมืองหลวง
“มาทำงานที่กรุงเทพฯ เพื่อหาเงินส่งกลับบ้าน” สา เริ่มต้นเล่า พร้อมกล่าวว่า เธอเป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ทางบ้านจึงตัดสินใจให้เธอเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 15 ปี
และเช่นเดียวกับใครอีกหลายๆ คน ที่รอนแรมเดินทางต่างถิ่น ด้วยความหวัง ความฝัน ว่าจะพบชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ก่อนที่จะผิดหวังเมื่อพบกับกำแพงอีกด้านของความศิวิไลซ์ ไม่เป็นดั่งฝัน
“ตอนแรกสาทำงานโรงงาน แต่เงินไม่พอเลยตัดสินใจทำงานเป็นสาวกลางคืน” เธอย้อนอดีตให้ฟัง ก่อนเมฆฝนปกคลุมครึ้ม
“ไม่ได้อยากทำงานอย่างนั้น แต่ที่ตัดสินใจทำงานเพราะครอบครัวจนมาก คิดว่าคงไม่มีวิธีไหนแล้วที่จะหาเงินได้เยอะพอที่จะช่วยดูแลทุกอย่างให้กับพ่อแม่ได้ ซึ่งเราเป็นความหวังของครอบครัว ก็อยากให้ครอบครัวดีขึ้น ไม่อยากให้พ่อแม่เป็นหนี้ แค่นี้เราก็สบายใจ
“พอทำไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่ามันเริ่มโอเคขึ้น แม้จะต้องแลกด้วยอะไรบางอย่าง แต่เมื่อผลักดันฐานะตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้นได้แล้ว มันก็เลิกยาก”
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่คนเราจะตัดสินใจฝืนกระทำในสิ่งที่ตนเองรู้ทั้งรู้ว่ามีอะไรรอที่จะเกิดขึ้น ทั้งจากจินตนาการและความเป็นจริง
“โห่” เธออุทาน ก่อนพูดต่อว่า “จากมุมสว่างเข้าสู่มุมมืด มันเป็นอะไรที่น่ากลัว มันตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ยิ่งตัวคนเดียว ณ ตอนนั้น แต่มันก็ต้องเสี่ยง แต่เราก็อยากจะก้าวเข้าไปเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องการ หนูคิดแบบนั้นด้วยความที่เราเป็นเด็ก”
4 ปีกับโลกวิบวับบานเย็นยามค่ำคืน แน่นอนว่าต้องผ่านพบเจอะเจออะไรมากมาย ตลอดจนต้องต่อยตีกับความคิดของตัวเอง ซึ่งนับคะเนเอาได้ว่า “ผู้หญิงกลางคืน” ทุกคนคงไม่มีใครอยากมีชีวิตเยี่ยงนี้ตลอด หากเลือกเส้นทางเองได้
“จริงๆ อยากเลิกตั้งนานแล้ว แต่มันไม่มีโอกาส มันไม่รู้จะไปทำอะไร เรียนจบก็น้อย งานด้านต่างๆ ก็ต้องใช้วุฒิการศึกษาติดตัวที่สูง”
นอกเหนือจากเรื่องวุฒิการศึกษาแล้ว สิ่งที่พันธนาการตัวเองอย่างร้ายกาจที่สุดก็คือ “ความชินชา” ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จนตัวตนกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม
“สาคิดว่า ทุกคนอยากเปลี่ยน แต่บางคนพอมาอยู่ในจุดนี้แล้วก็เคยชินกับสิ่งนั้น ทำให้เปลี่ยนยาก เรื่องนี้สำหรับสา สาไม่ได้ชินชาไปกับมัน คือทุกคนเวลาทำงานไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม ถ้าเราได้เจอสิ่งไหนที่ส่งผลสะเทือนจิตใจเรา เราก็อยากจะออกมาจากตรงนั้นอยู่แล้ว”
คงไม่ใช่ทุกคนที่มีเหตุผล “หลักการ” หรือ “ความคิด” เพียงพอจะเป็นเข็มทิศในการประคับประคองชีวิตให้ตรงลิ่วบนเส้นลู่ทางที่ตนปรารถนาได้ท่ามกลางความมืดมิด
“อะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนพลิกชีวิต” เราตั้งคำถามเพื่อความกระจ่างชัด
“สาต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง สาคิดว่าสาทำได้มากกว่านี้ แค่รอเวลา” เธอว่า
การได้พบกับ “เตื้อย – วิศรา วิจิตรวาทการ” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “สาวคาราโอเกะ” ที่สารับบทแสดงนำเล่นเป็นตัวของตัวเอง มันเป็นเหมือนช่วงจังหวะชีวิตที่เธอรอคอยอยู่ทุกคืนวัน
“ชีวิต ตอนนั้นมันก็มีอยู่ 2 ทาง คือถ้าไม่อยู่จุดเดิม ก็มาทางนี้ แล้วตอนที่ตัดสินใจ คิดอยู่เสมอว่า มันต้องดีกว่านี้ซิ ถ้าเราเลือกพี่เตื้อย ชีวิตเราต้องดีจริงๆ”
นอกเหนือจากเริ่มต้นที่ตัวตนผนวกกับโอกาสที่เดินทางเข้ามานั้น อีกสิ่งหนึ่งที่เธอยอมรับว่าเป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดีให้เธอแหวกม่านหมอกโลกีย์ สู่ละอองแสงยามเช้าได้นั้นก็คือ “ความรัก” และ “กำลังใจ”
“เข้าใจนะ บางคนอาจจะมองเรื่องนี้ไปอีกทิศทางหนึ่ง เพราะชีวิตสาวกลางคืนมันมีตัวแปร ซึ่งเราก็อยากจะบอกกับเขาว่า เราก็ต้องการความรักที่จริงจังเหมือนกัน เราก็ต้องการมีครอบครัวเหมือนกัน เราถึงพยายามดิ้นรนเพื่อเปลี่ยนตัวเอง
“ความเข้มแข็ง ทุกคนมีอยู่ในตัว การที่เราจะผ่านอะไรมาได้ แม้ต้องแลกด้วยน้ำตา มันก็ต้องผ่านมันไป เรื่องที่ผ่านมามันก็เป็นอดีต เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงมันได้ นั่นคือกำลังใจและสิ่งที่เราตระหนักรับรู้จากตนเองและคนรอบข้าง”
ทุกวันนี้ “สา” แขวนเบอร์ กลับไปใช้ท่ามกลางแสงสว่างอีกครั้ง หลังจากถ่ายทำภาพยนตร์ “สาวคาราโอเกะ” เสร็จสิ้น
“คิดถูกแล้วที่เลือกมาทางนี้” เธอเผยว่า ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตอนนี้เธอกำลังเรียนต่อระดับปริญญาตรี ภาคพิเศษด้านสื่อสารมวลชนควบคู่กับการเป็นดีเจขายสินค้าที่คลื่นวิทยุลูกทุ่ง
“ชีวิตมันดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้เจอสังคมใหม่ ได้เจออะไรใหม่ๆ เวลาไปฉายหนังต่างประเทศเราก็ได้ไปต่างประเทศ มันเหมือนความฝันตอนเด็กๆ แล้วเราก็ได้ไปจริงๆ
ปกติชีวิตเมื่อก่อนอยู่กับมุมมืด แล้วพอมาเจอแสงสว่าง เรารู้สึกว่าตัวเราเองสบายใจ ฉันอยู่แบบนี้ก็โอเคนะ ถึงจะไม่ได้มีเงินเยอะแต่ฉันก็อยู่ได้”
“ตอนแรกไม่คิดว่าตัวเองจะเดินผ่านจุดนั้นมาได้ แต่มันก็ผ่านไปได้” เธอยืนยันเช่นนั้น
แม้เธอจะไม่ใช่ผู้หญิงกลางคืน “คนแรก” และ “คนสุดท้าย” ที่เปลี่ยนไส้หลอดไฟเป็นสีขาว เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคม แต่เรื่องราวที่เธอถ่ายทอดผ่านการแสดงชีวิตตัวเองบนแผ่นฟิล์ม สะท้อนให้เห็นแง่มุมอีกด้านที่ไม่ใช่สิ่งที่สังคมสร้างเปลือกให้ “สาวกลางคืน” ได้อย่างชัดเจน
“คนไม่ได้มีด้านเดียว มันมีสองด้าน เหมือนผู้หญิงกลางคืนไม่ได้มีด้านมืดด้านเดียว แต่ด้านสว่างในตอนเช้าของเขาก็มี เหมือนบางคนอ่านหนังสือแต่หน้าปก ไม่ได้อ่านเนื้อข้างใน
“อยากให้คนที่เข้ามาดูหนังเรื่องนี้ได้ข้อคิดที่ว่า ทุกคนสามารถเริ่มใหม่กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ได้ไม่สายเกินไป”
ท้ายที่สุดเราถามเธอว่า มีอะไรอยากจะบอกกับสาวคาราโอเกะหรือผู้หญิงกลางคืนที่เผชิญชะตาเดียวกันบ้างไหม
“สิ่งอะไรก็แล้วแต่ที่มันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่เต็มใจรับมัน มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเปลี่ยนตัวเอง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าใจเราสู้” สา สิทธิจันทร์ กล่าวทิ้งท้ายเช่นนั้น