หากเอ่ยชื่อ “พจน์-อานนท์ มิ่งขวัญตา” หรือที่เรามักคุ้นในชื่อ “พจน์ อานนท์” น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเขา เพราะเชื่อได้ว่าคงไม่มีใคร ที่ไม่เคยกวาดสายตาผ่านแผ่นฟิล์มการกำกับภาพยนตร์ของเขาผู้นี้ อาจจะมีบ้างสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักเรียงนาม แต่ที่จริงแท้เสียกว่าแช่แป้ง คือคุณไม่มีทางที่คุณจะไม่เล็ดลอดเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม หรือคำสถบด่าหลากหลายนิยาม เมื่อได้สัมผัส “หนัง” ของเขา
ไม่ต่างไปจากเรื่องชีวิตส่วนตัว ที่คุณมักจะได้ยิน “พจน์ อานนท์” ออกสื่อสาธารณะ ตกเป็น “ข่าว” ฟ้องร้อง ทะเลาะกับใครต่อใครอยู่เรื่อยๆ จนต้องยอมรับว่า “ชื่อนี้ดังจริงๆ”
“เราเป็นคนตรงๆ แต่ตัวจริงกับภาพที่ออกมาเป็นคนละอย่างกัน” หรือ “เราไม่ได้ทำหนังห่วย ถ้าเรามีเงิน” จะจริงอย่างที่พูดหรือแค่ราคาคุยเท่านั้น เราจะมาไขข้อข้องใจชายผู้นี้พร้อมๆ กัน
“พชร์ อภิรุจ”
ร่างอวตาร “พจน์ อานนท์”
ฟังมาว่า “พจน์-อานนท์ ” ชื่อนี้ไม่มีอยู่แล้วบนโลกใบนี้ มีแต่ “พชร์-อภิรุจ” มันมีความเป็นมาเป็นไปอย่าง เราถามในเบื้องต้น
“อยากเปลี่ยน เพราะภาพของ 'พจน์ อานนท์' มันเป็นผู้ร้าย” เจ้าตัวยิ้มแซมหัวเราะ ก่อนเล่าต่อว่า “ที่ผ่านมาทั้งหมดภาพพจน์เราจะเป็นคนที่ไม่ยอมคน คือ ใครตีมา เราตีกลับ ใครสวนมาเราสวนกลับ อย่างพอเวลาออกสื่อ ส่วนใหญ่เรามักจะไม่โดนสัมภาษณ์เรื่องสนุกไง สัมภาษณ์ถามแต่เรื่องทะเลาะกับคนนี้เป็นยังไง ทะเลาะกับคนโน้นเป็นยังไง
“แล้วเราเป็นคนพูดตรง ทุกครั้งที่ทะเลาะ คือเรารู้ความจริงว่ามันเป็นอย่างไร เราก็เลยไม่ยอม บวกกับวิธีการแก้ข่าวของเราด้วย มันไม่เหมือนชาวบ้านเขา เราก็จะแบบโวยวายเลย “ไม่ใช่นะ ไม่ใช่อย่างที่มึงพูด กูเป็นอย่างนี้ๆ” มันก็ดูเหมือนเราร้าย แต่จริงๆ เราก็แค่เป็นคนพูดตรงเท่านั้น คนใกล้ชิดจะรู้ดีว่า ไม่ชอบยุ่งกับใคร ไม่ชอบสนใจใคร เป็นคนบ้าๆ บอๆ”
เป็นที่รู้ทั่วกันดีว่า “พจน์ อานนท์” ชื่อนี้ดังเหลือเกิน แต่ “ดัง” ในที่นี้ มีทั้งชื่อทางดีและชื่อทางไม่ดี ถ้าให้วัดเดซิเบลเสียง ดีและร้าย ปริมาณมวลเสียงจะเทมาทางฝั่งหลังมากกว่า
“เหมือนมีเรื่องตลอดเวลา ก็รำคาญตัวเองเหมือนกัน คนเขาไม่เข้าใจ ว่าทำไมมีเรื่องได้ตลอดเวลา ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากมี ก็มานั่งนึกๆ คิด ดวงเราเป็นอย่างนี้ ต้องมีเรื่อง ก็เลยไปหาซินแส เขาก็บอกว่าชื่อเก่าไม่ถูกกับดวงอายุในเกณฑ์นี้ ชื่อมันหมดพลัง แล้วในทางโหรศาสตร์ชื่อของคนที่เกิดวันพฤหัสบดี ไม่ควรจะมีตัวอักษร 'น' ตัวอักษร 'ต' รวมอยู่ด้วย ก็เลยกลายมาเป็น พชร์-อภิรุจ”
“พชร์” ชื่อเล่นยังคงออกเสียงเรียกเหมือนเดิม แต่เป็นการเล่นคำและความหมายของคำว่า “เพชร” ส่วนชื่อจริง “อภิรุจ” หมายความว่า ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ที่เจริญรุ่งเรื่อง
นอกจากเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนาม ที่เขาว่ากันว่า พจน์-อานนท์ เป็นคนเราะร้าย เห็นทีจะต้องชั่งน้ำหนักพินิจพิเคราะห์ใหม่เสียแล้ว เพราะตลอดการสนทนาเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และท่าทีโฉ่งฉ่าง เป็นกันเอง ทำให้เราต้องถามว่า “นอกจากเปลี่ยนชื่อแล้ว มีอะไรที่เปลี่ยนอีกไหม” เราถามย้ำ
“เปลี่ยนนิสัยด้วย คือจริงๆ นิสัยเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่ภาพที่มันออกมา เถียงคนโน้นทีคนนี้ที แต่จริงๆ ไม่ใช่ ซินแสเลยแนะนำว่าเปลี่ยนลุคใหม่ คือภาพที่นำเสนอให้เป็นตัวตนจริงๆ เลย เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ต้องแอ๊บแล้ว
“คือนับจากนี้ไป พชร์-อภิรุจ จะเป็นอีกด้านของ พจน์-อานนท์ ” เจ้าตัวยืนยัน
หนังดีก็มี ไม่ได้มีแค่หอแต๋วแตก
“คนรักเป็นร้อย คนเกลียดเป็นล้าน” มุกตลกที่มักหยิบยกเอามาใช้เรียกเสียงขบขัน ดูเหมือนเป็นสโลแกนหลักใหญ่สำหรับ “พชร์ อภิรุจ” ที่ถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อแซ่ และการแสดงตัวตน หลบลี้สิ่งอัปมงคลต่างๆ แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลงานการกำกับหนัง ยังคงไม่สร่างห่างไกลคำ “ด่า” ในสายตาท่านผู้ชม
“เริ่มตั้งแต่ปี 40 เรื่องแรกเลย ตอนนั้นทำเรื่อง 'สติแตกสุดขั้วโลก' เป็นหนังเกี่ยวกับวัยรุ่น เพราะช่วงนั้นมีแต่หนังนักเรียนกระโปรงบานขาสั้นขายาวเราก็เลยทำบ้าง แต่ของพจน์มาแปลกเป็นวัยรุ่นที่แตกต่างจากชาวบ้านเขา มีเหาะเหินเดินอากาศ คนก็บอกว่าไร้สาระ ทั้งที่สรุปรายได้หนังรวมประจำปี เราเป็นหนังที่ทำรายได้เยอะที่สุด ซึ่งตอนนั้นมีหนังคู่กรรมเวอร์ชันพี่เบิร์ดฉายรวมอยู่ด้วย
“65 ล้านในสมัยนั้น ไม่ใช่ไม่เยอะ ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยนี้ก็เป็นร้อยๆ ล้าน เพราะว่าค่าดูหนังเมื่อก่อนราคา 60-70 บาท โรงหนังเอสเอฟก็ไม่มี มีแต่เดอะมอลล์ บางกะปิ เดอะมอลล์ บางแค เรารู้สึกว่ามันโอเค แต่คนก็ด่าว่าทำหนังปัญญาอ่อน”
“โดนตั้งแต่เรื่องแรกจนเรื่องสุดท้าย เราโดนด่าตลอด” เสียงตัดพ้อของชายที่ได้ชื่อว่า สร้างความบันเทิงมานักต่อนัก กล่าวกับเราอีกว่า ตลอดระยะเวลาการทำหนังหนึ่งเรื่อง ขั้นตอนแต่ละขั้นตอนไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่คิดว่าอยากจะทำเรื่องนี้ก็ทำ “เงิน” ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนม้วนฟิล์มให้แล่นไปนาทีจบชั่วโมง
“ที่ทำหนังหอแต๋วแตก ปล้นนะยะ อยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเราเป็นเจ้าของเงินทุนเอง คือเราเป็นลูกน้องรับจ้างเขาผลิต เราไม่ได้เป็นเจ้าของเงินทุนเอง เราแค่ทำงานตอบโจทย์ค่าย ไม่ใช่ว่าเราต้องเนื้อเต้น อยากทำแต่หอแต๋วแตก ไม่ใช่โปรเจกต์หนังดีๆ เราก็เสนอไปเยอะมาก แต่ไม่ผ่าน เพราะนายทุนเองก็ไม่อยากให้เงิน 10 ล้าน 20 ล้านของเขาสูญเปล่า แต่พอบอกว่าจะทำหอแต๋วแตกภาคต่อ เขาก็ให้ผ่าน ลงมือได้เลย เพราะมันทำแล้วได้เงิน นายทุนเขาก็อยากลงทุน”
“ถ้าเราเป็นเจ้าของเงินเอง
คุณจะไม่ได้เห็นผลงานพจน์ห่วยหรอก
คุณจะได้เห็นแต่ผลงานดีๆ”
หากใครจะบอกว่าหนังของเขา “บ้าๆ บอๆ” เจ้าตัวออกปากว่ายอมรับได้ เพราะต้องการทำหนังเพื่อผ่อนคลายความเครียด
“ใครจะมาบอกว่าหนังไร้สาระปัญญาอ่อน ก็เราต้องการให้เป็นหนังไร้สาระปัญญาอ่อนไง เพราะมันคือหนังตลก”
ส่วนเครื่องหมายการค้าหนัง “ห่วย” ที่เขาได้รับ เจ้าตัวยืนกรานว่า “ถ้าเราเป็นเจ้าของเงินเอง คุณจะไม่ได้เห็นผลงานพจน์ห่วยหรอก คุณจะได้เห็นแต่ผลงานดีๆ”
“แต่กลายเป็นว่า พอบอกหนังเรื่องนี้ของ พจน์ อานนท์ ก็จะอคติไว้ก่อน มันต้องไม่สนุก มันต้องไม่อะไร มาดูก่อนแล้วค่อยอคติ ถ้าจะด่าเราต้องดูผลงานเราก่อน ไม่ใช่มาด่าแบบผิดๆ ถูกๆ เป็นใครก็ไม่ชอบ คุณยังไม่ได้มาดูหนังผมเลย ยังไม่เคยดูหอแต๋วแตกเลย คุณมาด่าว่าหนังมันอย่างนั้นหนังมันอย่างนี้ ก็หนังมันหอแต๋วแตก ชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว ถ้าหนังแบบ 'มหาลัยเหมืองแร่' หรือ '15 ค่ำเดือน11' มันก็เป็นอีกแบบ หนังหอแต๋วแตกมันก็คือหนังกะเทยด่ากันแล้วก็วิ่งหนีผี โจทย์มันก็บอกอยู่แล้ว
“ไม่ใช่ว่าเราทำเป็นแต่หนังหอแต๋วแตกเป็นอย่างเดียว หนังอย่าง '18 ฝน คนอันตราย' หรือ 'เพื่อน…กูรักมึงว่ะ' ที่ได้รางวัลเราก็ทำพิสูจน์ตัวเองมาแล้ว ไหนจะ 'เอ๋อเหรอ' หนังเด็กออทิสติก 'เหยิน เป๋ เหล่ เซมากูเตะ' หนังลูกทุ่งเราก็ทำ ต้องการสาระ ใช่ไหม เราก็ทำ อย่างเรื่อง 'ศพเด็ก 2002' ก็สอนให้เลยว่าอย่าไปทำแท้งนะมันไม่ดี”
“ตอนหลังทำไปทำมาไม่ใช้ชื่อตัวเองกำกับแล้วก็หลายเรื่อง หรือกำกับเองแต่ใช้ชื่อคนอื่นก็เยอะ”
เมื่อหนังไทยถูกครอบ
ด้วย “แบรนด์เดียว”
แน่นอนว่า ภาพยนตร์เป็นศิลปะเชิงพาณิชย์อีกชนิดหนึ่งที่มีเม็ดเงินสะพัดอยู่นับไม่ถ้วน ฉะนั้น เรื่องทุนทรัพย์ องค์กร หรือการโปรโมตที่มีประสิทธิภาพ ย่อมหมุดหมายได้ว่า “หนังเรื่องนั้นจะทำเงินอย่างไม่ต้องสงสัย”
“เรารู้สึกว่า คนดูเขาเลือกดูหนังที่ค่าย ค่ายอย่างเดียวเท่านั้นเอง ตัวหนังก็เหมือนๆ กันหมด ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมาก แต่แบบว่าเขาเลือกดูที่แบรนด์ แบรนด์ใครแข็งแรง แล้วก็แห่ไปดูที่แบรนด์นั้นแบรนด์เดียว พอแบรนด์นี้ทำหนังเรื่องนี้ออกมา คนดูแห่ไปดูบอกต่อกันว่าหนังดี แต่พออีกแบรนด์ทำหนังเหมือนกันเลย คนดูบอกไม่ดี ไม่ดู ก็คืออคติไว้ก่อน เหมือนคนดูไม่เปิดโอกาสต้อนรับค่ายอื่นๆ เลย แต่มันก็มีที่เขาตอบรับแล้วก็ทำหนังให้เขาผิดหวัง”
“วงการหนังไทยมันก็เลยอยู่ได้แค่แบรนด์เดียว แบรนด์อื่นที่จะมาทำก็รู้สึกว่าไม่ทำดีกว่า ทำไปก็ขาดทุน มันก็ไปไม่ถึงไหน กลายเป็นวงการแบรนด์เดียว เราก็ไปโทษเขาไม่ได้ เพราะเขาทำหนังดี ถูกใจคนดู แต่ไอ้คนที่จะมาแข่งที่จะพยายามถีบตัวเองขึ้นมา บางทีทำหนังขึ้นมาก็สู้เขาไม่ได้ ก็หนังคุณเป็นอย่างนี้ ทำมา 10 ดีซะ 2 นอกนั้นพังหมด คนก็เลยเบื่อหนังไทย”
“แล้วทิศทางวงการหนังไทยต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร” เราถาม “ไม่รู้จะพูดยังไง” เจ้าตัวเผย ก่อนจะทิ้งท้ายว่า
“ก็ต้องสู้กันต่อไป มันก็อยู่ที่ตัวเราเองว่า เราจะพัฒนาฝีมือไปได้แค่ไหน ทำยังไงให้คนยอมรับ แต่แบรนด์มันก็ยังมีความสำคัญสำหรับคนดูอยู่ เพราะคนดูสมัยนี้ก็เลือกดูที่แบรนด์มากกว่าดูที่หนัง”