“4 เดือนกับความเงียบ…” อยู่ๆ ใครบางคนก็พูดขึ้น ในขณะที่วงสนทนาของเรากำลังพูดคุยกันถึงเรื่องราวเมื่อครั้งอดีต…
ย้อนกลับไปก่อนที่วงดนตรีชื่อสะดุดหูอย่าง Moderndog จะกลายมาเป็นตำนานอย่างทุกวันนี้ ในตอนที่เพลงแรกของพวกเขาซึ่งมีชื่อว่า ‘บุษบา’ ถูกปล่อยออกมา ความเงียบก็กลับดูดกลืนเพลงที่ต่อมาจะกลายเป็นเพลงอมตะเพลงนั้น ให้หายลับไปกับสุญญากาศยาวนานถึง 4 เดือน
เรื่องราวเหล่านั้นเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ในยุคสมัยที่ Facebook ยังเป็นคำภาษาอังกฤษธรรมดาที่แปลได้ใจความว่าหน้าหนังสือ ยุคสมัยที่ผู้คนยังฟังเพลงจากเทปคาสเสตต์ เฝ้ารอเพลงใหม่ของศิลปินในดวงใจผ่านคลื่นวิทยุ ก่อนที่ iPod และ Youtube จะถือกำเนิดขึ้น
เพลงแรกที่ปล่อยออกมาจากอัลบั้มนั้น ไม่ได้ผลตอบรับโดยฉับพลันจนมียอดแชร์มากมาย ยอดวิวเพียงคืนเดียวถล่มทลายกว่า 1 ล้านวิว เหมือนเพลงใหม่ของพวกเขาที่มีชื่อว่า ‘โอน้อยออก’ (O-Noi-Oog) ในยุค two way communication เช่นนี้
พวกเขาท้อ และถึงขนาดพูดกันเล่นๆ ว่า คงต้องไปขายอาหารหาเลี้ยงชีพเป็นงานหลัก แล้วเล่นดนตรีเป็นงานรอง ก่อนที่เพลงยอดฮิตอีกเพลงหนึ่งที่แม้จะผ่านเวลามาเกือบ 20 ปี แต่ก็ยังถูกนำมาเปิด มาร้องใหม่อยู่บ่อยครั้งอย่างเพลง ‘ก่อน’ จะสร้างปรากฏการณ์ติดชาร์ตคลื่นวิทยุติดต่อกันยาวนานถึง 1 ปีเต็ม และส่งผลให้พวกเขาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่นั้น
นั่นคือส่วนหนึ่งของความผิดหวัง เป็นตัวอย่างสั้นๆ ของวงดนตรีซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นตำนาน ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็ไม่ได้พบเจอแต่ความสุขสมหวังไปเสียทุกเรื่อง
5 ปีกับการห่างหายไปจากการออกอัลบั้มเต็ม ในขณะที่โลกหมุนเร็วขึ้น ปั่นทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป จนหากใครเผลอหลับไปสักปี เมื่อตื่นขึ้นมา ก็อาจจดจำโลกใบเดิมไม่ได้ด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อกลับมาอีกครั้ง พวกเขาก็ยังต้องเรียนรู้กันอีกมาก แน่นอนว่ารวมถึงเรื่องความผิดหวังใหม่ๆ ที่ต้องเข้ามาด้วย
โลกเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน วงการดนตรีเปลี่ยน พวกเขาก็เปลี่ยน
ป๊อด-ธนชัย อุชชิน (ร้องนำ) วันนี้ ก็ไม่ใช่ป๊อดในวันก่อน เช่นเดียวกับเพื่อนอีก 2 คนของเขาอย่าง เมธี-เมธี น้อยจินดา (กีตาร์) และ โป้ง-ปวิณ สุวรรณชีพ (กลอง)
เปลี่ยนทั้งในแง่กายภาพ ด้วยริ้วรอยบนใบหน้า หรือตัวเลขของอายุที่เพิ่มมากขึ้น แกร่งและเติบโตขึ้นตามวัย จากประสบการณ์ และการหล่อหลอมของการทำงานหนัก
แก่… ใช่! แก่ จากอุปโลกน์แห่งตัวเลข แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะปล่อยให้จิตวิญญาณชราภาพไปตามวันเวลา เพราะถึงอย่างไรก็ดูเหมือนว่า ‘หมาทันสมัย’ อย่างพวกเขา ซึ่งเป็นนักดนตรีผู้มองเห็นเพลงเป็นภาพ เป็นงานศิลปะ มากกว่าเป็นตัวโน้ตขยุกขยิกบนบรรทัด 5 เส้น ก็ยังมีเรี่ยวแรงมากพอที่จะวิ่งตามโลกทัน โดยไม่หอบแฮกหรือเป็นลมเป็นแล้งไปเสียก่อนได้อีกนานหลายปี!
การตัดสินใจออกอัลบั้มเต็มอีกครั้งหลังจากห่างหายไป 5 ปี ในกระแสของตลาดเพลงยุคใหม่ที่ศิลปินส่วนใหญ่มักนิยมออกเป็นซิงเกิ้ล กลัวหรือเปล่าว่ามันจะขายลำบาก
ป๊อด : จริงๆ ก็ไม่เชิงนะ เราก็ออกเหมือนศิลปินปัจจุบันในสมัยนี้แหละ ที่เขาวางขายกันเป็นซิงเกิ้ล เพียงแต่เราเลือกที่จะทำ 10 เพลงให้เสร็จออกมาในทีเดียว แต่วิธีการปล่อยออกมาก็ปล่อยออกมาเป็นซิงเกิ้ลไปทีละเดือน เดือนละเพลง
แล้วผลตอบรับของเพลงแรกที่ปล่อยออกมาเป็นอย่างไร
เมธี : มันก็เกินความคาดหมายนะ จริงๆ เราไม่ได้คิดว่าจะมีคนตั้งหน้าตั้งตารอฟังขนาดนี้ คือวันที่เริ่มปล่อย นาทีนั้นมันมีคนฟังอยู่เยอะมาก เราไม่ได้คิดว่ามันจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น
ตัวเพลงมันค่อนข้างจะมีเนื้อหาให้คนได้ตีความอยู่พอสมควรเหมือนกัน บางคนอาจจะบอกว่ามันเป็นเรื่องของประชาธิปไตย จริงๆ ตั้งใจไว้ให้เป็นแบบนั้นเลยหรือเปล่า
ป๊อด : ตั้งใจนะ (หัวเราะ)
นี่คือเฉลยแล้ว?
ป๊อด : คือตั้งใจให้มันมีมากกว่าความหมายเดียว บางคนก็ตีความว่า โอทีน้อยก็ออกไปหาที่ใหม่ที่โอทีเยอะ (หัวเราะ) บางทีก็เป็นเรื่องการเมือง หรือบางทีก็เป็นเรื่องง่ายๆ เช่น ผักติดฟัน
การทำเพลงในแบบที่จงใจให้คนตีความ ความหมายของตัวเพลงเอง มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม หรือประสบการณ์ของคนนั้นๆ ด้วยใช่ไหม
ป๊อด: อยู่ที่บริบทด้วย และผมเชื่อว่าเพลงที่ดีน่าจะต้องเปิดให้เกิดความคิดที่หลากหลาย
งานเพลงของ Moderndog ว่ากันว่ามันเหมือนงานศิลปะแนวนามธรรม (Abstract) ที่ต้องตีความ นี่คือความตั้งใจตั้งแต่เริ่มต้นเลยหรือเปล่า
ป๊อด: มันก็ไหลไปตามช่วงนะ บางช่วงก็ Realistic มาก บางช่วงก็ Abstract เรียกว่าไม่มีรูปแบบมาขวาง บางครั้งเราสร้างรูปแบบมารูปแบบหนึ่ง พอชุดต่อมา เราก็ลบรูปแบบของตัวเองทิ้งซะ แล้วก็ไปตั้งกันใหม่ ตั้งแนวทางใหม่ขึ้นมา แล้วก็ลบมันอีก
จากการทิ้งช่วงไป 5 ปี ในขณะที่โลกก็หมุนเร็วขึ้น และทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทั้งการเติบโตของเทคโนโลยี หรือการตลาดที่เปลี่ยนไป Moderndog เองต้องปรับตัวให้ทันกับโลกยุคใหม่อย่างไร
ป๊อด: ความจริงเราห่างจากการออกอัลบั้ม 5 ปี แต่เราก็ทัวร์คอนเสิร์ตอยู่ตลอดนะ หมายถึงถ้าพูดไปแล้ว อย่าง Big Mountain เราก็ไปเล่นทุกปี มันเหมือนห่าง แต่ไม่หาย เพราะฉะนั้นเราจะเห็นความเคลื่อนไหวต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ยังคงเกาะติดและมองสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา
อย่างปัจจุบัน เราก็จะเห็นว่า เพลงหนึ่งๆ มันมีอายุสั้นลงมาก ปล่อยมาแป๊บๆ คนก็ลืม คิดอย่างไรกับเรื่องนี้
ป๊อด: ตอนนี้ผมมองทุกสิ่งเป็นเรื่องของระยะเวลาที่ยาวนานแล้ว ผมหมายถึงว่า ทุกอย่างมันต้องวัดกันที่ระยะเวลา เพลงเพลงหนึ่งมันจะอยู่ได้นานแค่ไหน มันต้องอยู่ที่คุณภาพของเพลงนั้น แล้วก็อยู่ที่ความอึด อยู่ที่ความต่อเนื่องของการสร้างงาน คือเราไม่ควรจะมาวัดความสำเร็จของอะไรแค่เพียงระยะสั้นๆ
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้วงดนตรีไทยในยุคปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นใหม่แทบทุกวัน ไม่ค่อยมีวงไหนทะลุขึ้นมาได้แบบ Moderndog ในยุค 90s
ป๊อด: ผมคิดว่าศิลปินเนี่ย อันดับหนึ่งควรจะสร้างงานเพลงได้ด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้เขาไม่ต้องไปยืมมือคนอื่น ถ้าใครดังขึ้นมาจากเพลงที่คนอื่นแต่งให้ คุณอาจจะต้องรอคอยให้มีคนมาทำเพลงให้ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเราจะหาเจอไหม หรือว่าคนคนนั้นจะอยู่ตรงนั้นกับเราหรือเปล่า อันนี้คือปัจจัยหนึ่ง
เมธี: หรือนักดนตรีอาจจะแต่งเพลงเด็ดๆ ได้ปีละครั้ง ปีละเพลง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพลงที่เราร้องมันจะโดนหรือเปล่า คือถ้าข้อแม้มันไปอยู่กับคนอื่นเยอะบางทีมันก็ฟาล์ว
ป๊อด: คือต้องช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด แล้วอีกอย่างหนึ่งคือความต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าถ้าศิลปินไม่หยุดสร้างงานใหม่ๆ ผมว่าคนฟังก็รอฟังอยู่นะ
พฤติกรรมของคนฟังที่เปลี่ยนไปมันเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่ออายุของเพลง หรืออายุของวงดนตรีหนึ่งๆ ด้วยหรือเปล่า อย่างในยุคปัจจุบันเราก็จะไม่เห็นเพลงที่ติดชาร์ตคลื่นวิทยุเป็นปีๆ เหมือนเพลง ‘ก่อน’ แล้ว
ป๊อด: ตอนนี้อิทธิพลของอินเทอร์เน็ตมันสูงมาก เราทุกคนฟังเพลงที่ตัวเองเลือก เมื่อก่อนเราอาจจะต้องดูรายการทไวไลท์โชว์พร้อมกันในเย็นวันอาทิตย์ แล้วเมื่อมีใครมาออกรายการ ทั้งประเทศก็จะมุ่งโฟกัสไปที่ตรงนั้น แต่วันนี้มันไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว ทุกคนเลือกเสิร์ชเพลงที่ตัวเองอยากฟัง หรือว่าวิทยุเนี่ย ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็ไม่ได้ฟังวิทยุแล้ว มันก็เลยไม่มีอะไรที่เป็นศูนย์รวม
เมธี: วิทยุ ถ้าเข้าไปใน iTunes มันก็มีเป็น 2-3 พันช่อง พอมันมีทางเลือกแบบนี้ คนที่เขาชอบแนวอัลเทอร์เนทีฟ แนวแจ๊ซ หรือเขาชอบอะไรอย่างอื่น เขาก็มีทางออก มันก็อาจจะทำให้คนไม่มากระจุกอยู่ในช่องเดียว
โป้ง: อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อก่อน เดือนหนึ่งจะมีคนมีอัลบั้มใหม่สัก 3 คน แต่เดี๋ยวนี้ วันหนึ่งเนี่ย ออกซ้ำกันไม่รู้กี่เพลง มันมีทางเลือกเยอะมากให้คนฟัง เพราะฉะนั้นกว่าจะผุดขึ้นมาได้มันก็ยากมาก
อย่างวงการลูกทุ่งยุคปัจจุบันก็จะมีศิลปินบางคน หรือเพลงบางเพลงโผล่ขึ้นมาในกระแส และดังมาก แต่ก็จะอยู่ได้แค่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็จะเงียบหายไป?
โป้ง: ผมว่าคนมันใจร้อนตามความเร็วของอินเทอร์เน็ตด้วย
ป๊อด: คือผมเชื่อว่าบางคนดู Youtube เพลงหนึ่งไม่จบเพลงด้วยซ้ำ แล้วเดี๋ยวนี้เนี่ย ระหว่างที่เราดูอยู่ เราก็อาจจะเสิร์ชเพลงอื่น แล้วเราสามารถจะตวัดลงมาโดยเพลงยังค้างอยู่ได้ แล้วเลือกเพลงใหม่ได้เลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าไอ้ source หรือวัตถุดิบที่จะให้เสพเนี่ยมันล้นพอที่จะทำให้เราเสพแค่ 15 นาที แล้วไปเสพของอื่น มันก็ไม่มีวันหมดไง
อาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะ ‘เพลงเฟ้อ’?
ป๊อด: ข้อมูลเฟ้อ news feed เฟ้อน่ะครับ
เมธี: อีกอย่างหนึ่งผมว่า การที่มันได้อะไรมาง่ายไป อย่างเช่น เราอยากฟังเพลงมากๆ เลย เราก็แค่เข้าไปใน iTunes แล้วก็โหลด จ่ายตังค์ปุ๊บก็ฟังได้แล้ว เมื่อก่อน สมัยก่อน ผมอาจจะต้องไปสั่งร้านซีดีไว้ กว่าเขาจะบอกว่าเดือนหน้ามาส่ง กว่าจะได้แผ่นมา จะรู้สึกว่า โอ้โห กว่าจะได้มามันยากมากเลย แล้วพอเราฟัง เราก็จะฟังจนคุ้ม
ป๊อด: การซื้อเพลงคือการที่จะทำให้เราได้ประโยชน์จากเพลงนั้นมาก เพราะเราเสียดายตังค์ เราจะฟังมันบ่อย และเก็บเกี่ยวจากมันเยอะ จริงๆ แล้วการที่เราจ่ายเราได้นะ เราจะได้รายละเอียดจากเพลงเหล่านั้น แต่ประเภทที่ฟังฟรี บางทีมันก็ไม่เข้าหัวเรา
เมธี: เหมือนบางทีซื้อดีวีดีหนังมาดูที่บ้านแล้วหลับน่ะ ต้องเข้าไปดูในโรงถึงจะสนุก บางทีต้องขับรถติดหน่อยหนึ่ง ลองไปจองตั๋ว ลองไปลุ้นดู
ป๊อด: ต้องเอาให้คุ้ม (หัวเราะ)
ในอีกแง่หนึ่ง เทคโนโลยีมันก็มีส่วนดีเหมือนกันหรือเปล่า อย่างเพลงโอน้อยออกตอนนี้ก็ขายผ่าน iTunes
ป๊อด: มันดีครับมันดี เราแค่ต้องปรับตัวไปกับมันแค่นั้นเอง
เมธี: จริงๆ ผมมองว่า มันอยู่ที่การใช้นะ สมมุติเราใช้พวก Youtube ในการสแกนสิ่งที่เราชอบ แต่ว่าพอเราชอบจริงๆ ผมว่าบางทีวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น การซื้อซีดี มันก็ไม่จำเป็นต้องไปปรับเปลี่ยนตามหมด
ป๊อด: อย่างเพื่อนรุ่นเดียวกัน ที่ซื้อกันมาตั้งแต่ชุดแรก ก็ Line คุยกันว่า เมื่อไหร่จะออกเป็นซีดี เพราะว่าจะได้ซื้อ ไอ้เราก็อยากขายพรุ่งนี้เลย แต่ในอีกมุมหนึ่ง ร้านขายซีดีก็หายากแล้วนะ มันก็เลยกลายเป็นว่าปัจจัยต่างๆ ในปัจจุบันมันไม่ได้สอดคล้องกับอดีต เหมือนเราก็ต้องมามองกันอีกทีหนึ่งว่า เอ๊ะ ลูกค้ากลุ่มเก่าซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ซื้อมาตั้งแต่เทป ตอนนี้เขาเปลี่ยนไปด้วยไหม อย่างคนรุ่นผมคงไม่ใช่คนดาวน์โหลดเท่าไหร่เนอะ
เมธี: ยังคิดเล่นๆ เลยว่า หรือเราจะออกเป็นแผ่นไวนิลอย่างเดียวดี (หัวเราะ)
จริงๆ แล้วคิดอย่างไรกับวงการดนตรีในยุคปัจจุบัน
ป๊อด: ผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้วเนี่ย ไม่ว่าเทคโนโลยีหรือวิธีการเสพสื่อใหม่ๆ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับเพลงหรอก พอถึงวันนี้จริงๆ แล้ว เราไม่ได้มีสื่ออะไรมากมายเลย เรียกได้ว่าแทบจะอินดี้ที่สุดด้วยซ้ำ คือทั้งบริษัทมีกันอยู่ 8-9 คน ควักเงินกองกลางไปทำเพลง แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่คนจะฟังก็คือเพลง ไม่ว่ามันจะถูกฟังผ่าน Youtube หรืออะไรก็ตาม ศิลปินต้องกลับมาหาตัวเอง แล้วก็ทำเพลง เขียนเพลงให้ดีที่สุดต่อไป
อัลบั้มนี้ใช้คำโปรยตอนเปิดตัวเพลงแรกว่า ‘การเดินทางครั้งใหม่’ ไม่คิดว่ามันเชยเหรอ สำหรับวงดนตรีอย่าง Moderndog
ป๊อด: เชยดี (หัวเราะ) คือครั้งนี้มันค่อนข้างชัดเจนที่สุดในแง่ของการเดินทาง เพราะมันเป็นการเดินทางที่เป็นการเดินทางจริงๆ ด้วย ข้ามน้ำข้ามทะเล 30 ชั่วโมงจากสุวรรณภูมิไปห้องอัด กว่าที่จะไปถึงจุดหมายปลายทาง
อันนี้คือการเดินทางทางกายภาพ แล้วการเดินทางภายในล่ะ
ป๊อด: ผมคิดว่า 5 ชุดที่ผ่านมาเราเดินทางภายในมาพอสมควร จนกระทั่งตอนนี้เราเริ่มออกไปข้างนอกแล้ว ผมรู้สึกอย่างนั้นนะ ในฐานะเป็นคนเขียนคำ ผมเริ่มรู้สึกว่าข้างในเราพอจะเห็นรอบด้านของมันแล้วล่ะ เราพอที่จะมีเวลาออกไปมองข้างนอก พอจะมีเวลาออกไปรับอิออนของน้ำตกไนแองการาที่มากระทบผิว คือถ้าเราหมกหมุ่นอยู่กับตัวเอง บางทีเราอาจจะไม่รู้สึกเลยนะว่ามันมีไอน้ำพวกนี้มากระทบตัวเรา หรือกระทบใบหน้าเรา อย่างตอนนี้น่ะ ทั้งอายุและประสบการณ์ในการทำงาน พอมาถึงจุดนี้ เรารู้สึกว่า เฮ้ย เวลาที่มันมีกระแสน้ำตกมาแตะหน้าเรา เราจะรู้สึกถึงความชุ่มฉ่ำของมันได้
สมัยก่อนในยุคดนตรี ‘เพื่อชีวิต’ รุ่งเรือง คนจำนวนหนึ่งจะมีความเชื่อที่ว่า ดนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ สำหรับนักดนตรียุคใหม่ยังมีความเชื่ออะไรแบบนั้นอยู่ไหม
ป๊อด: ถ้าถามผมเนี่ย สุดท้ายแล้วมันต้องเริ่มจากตัวเองก่อน อาจฟังดู individual มาก แต่ว่าโลกจะเปลี่ยนได้ เราต้องเปลี่ยนก่อน เพราะอันนี้มันคือสิ่งที่เราทำได้เลย ทำได้ทันที ในขณะเดียวกันเมื่อเราเต็ม แล้วเรามี quality พอ เราก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงโลกภายนอกได้ แต่ถ้าเราออกไปเรียกร้องให้โลกเปลี่ยน โดยที่จานที่บ้านตัวเองยังไม่ล้างเลย ผมว่าเราควรจะพิจารณาตัวเองก่อนด้วย
คิดอย่างไรกับคำว่า ‘ตำนานอัลเทอร์เนทีฟเมืองไทย’ ที่ใครต่อใครต่างพร้อมใจกันมอบให้
ป๊อด: ก็คงหนีคำนี้ไม่พ้นน่ะครับ อย่างไรก็ตาม Moderndog ก็จะมีคำโปรยปะหน้าว่าอัลเทอร์เนทีฟ
เมธี: ก็คือจากที่สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์ ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงเบเกอรี่) เคยแปลให้ฟังว่า มันคือทางเลือก คือ choice แต่จริงๆ เราก็ไม่รู้ว่า ความหมายที่เรายึดมันจะตรงกับสื่อที่เขาจะคิดว่ามันเป็นดนตรีที่คล้ายกับวง Nirvana หรือ Red Hot Chili Peppers อะไรแบบนั้นหรือเปล่า แต่เราก็มองเหมือนกับว่าเราทำเพลงให้มันเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง มันก็เลยกลายเป็นว่า เวลาเราออกอัลบั้มใหม่ เราก็อยากทำให้มันกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะว่าเรามี choice 1 2 3 แล้ว เวลาออกชุดใหม่เราก็อยากทำ choice 4 5 6
ในฐานะที่ Moderndog ได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘ตำนาน’ แต่ขณะเดียวกันอายุยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าไม่ได้หยุดคำว่าตำนานไว้ด้วยความตายเหมือนกับ Jimi Hendrix หรือ Kurt Cobain กังวลไหมว่าเวลาที่ผ่านไปจะลดทอนค่าของคำว่าตำนานให้หมดความสำคัญลง
ป๊อด: คือตอนนี้เราแทบจะไม่ได้กังวลกับเรื่องของนิยามด้วยซ้ำ เท่าที่ถาม หรือคุยกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัลเทอร์เนทีฟ หรือคำนิยามต่างๆ ที่ถูกมอบให้ เพราะว่าทุกอย่างมันกลับมาที่ความสนุกของงาน ส่วนมันจะไปเป็นตำนานไหม หรือจะเรียกว่าแนวอะไร เราไม่ได้ไปโฟกัสตรงนั้นเลย แค่ว่า เออ สนุกจังเลยชุดนี้ เรายังคิดเพลงใหม่ๆ ได้นะ เฮ้ย เพลงมันยังมันส์อยู่ว่ะ
โป้ง: ตอนที่เราทำงานเสร็จจากห้องอัด เราขับรถเข้าเมืองเป็นเวลา 10 ชั่วโมง เรานั่งฟังเพลง 10 เพลงนี้วนไปตลอด ประมาณ 20 รอบได้ โดยที่พอมันจบก็มองหน้ากัน แล้วปล่อยให้มันหมุนต่อไปเรื่อยๆ มันคืออารมณ์ที่สมบูรณ์แบบแล้วน่ะ คือไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านั้นแล้ว
ป๊อด: ผมว่าความสุขที่สุดของคนทำเพลงน่ะ ไม่ใช่ยอดดาวน์โหลดมันพุ่งไป 10 ล้านวิวแล้วหรืออะไรเลยนะ มันหมายถึงว่า ยอดวิวที่เราวิว คือยอดวิวที่เราฟังตัวเอง เรามีความสุขที่ฟังมันซ้ำๆ แค่ไหน ผมรู้สึกว่ามันโคตรแฮปปี้เลยนะ คือถ้าคนอื่นชอบแล้วเราเฉยๆ หรือว่าโคตรจะดังเลย แต่ตัวเองรู้สึกยังไม่พอใจ ผมว่าอันนั้นน่ะน่าเศร้ากว่า
เมธี: ระยะเวลากว่าที่เราจะออกเพลงแต่ละชุด มันค่อนข้างจะนานนะ มันเป็นความนานที่คล้ายๆ ว่ามันจะทรมาน แต่ว่าทุกครั้งที่พอได้ฟังเพลงที่เสร็จแล้ว ก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันคุ้มค่าที่มันนาน เพราะเราค่อยๆ ละเมียดกับมัน สุดท้ายต่อให้เราทำเพลงอัลบั้มละปี แล้วเราไม่ชอบ มันก็ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย
ป๊อด: มันสุดยอดมากถ้าคุณคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้โดยที่คุณคิดไม่ถึงว่ามันจะเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร
ระยะเวลายาวนานในวงการดนตรีมันทำให้เรื่องของ passion ต่อการงานลดลงบ้างไหม
โป้ง: มันก็มีช่วงที่ขาดหายไป บางทีการทำอะไรซ้ำๆ มันก็ทำให้ความตื่นเต้นมันลดน้อยลง แต่เราก็มีวิธีที่จะจัดการกับมัน คือต้องออกไปหาจุดสนใจอื่นของแต่ละคน แล้วเมื่อมันเกิดความอยากขึ้น มันก็จะกลับมาสู่ความตื่นเต้นอีกรอบ
ป๊อด: คือศิลปะของการทำเพลงมันไม่ได้อยู่แค่ดนตรีหรอก มันอยู่ที่การใช้ชีวิตทั้งหมดเลยว่า คุณจะบาลานซ์ตัวเองอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วชีวิตหรือการทำงาน มันเป็นฤดูอยู่แล้ว มันมีฤดูแล้ง ฤดูใบไม้ผลิ มีฤดูหนาว ทุกอย่างเป็นวัฏจักร เราแค่ต้องรู้วัฏจักรของมัน และทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ในแต่ละฤดูให้มันลงตัวที่สุด
เมธี: อีกอย่าง ดนตรีเป็นงานที่แปลกนะ ในความเป็นดนตรีมันไม่ใช่ว่าเราจะทุ่มแบบตั้งใจสุดๆ เอาผ้ามาผูกหัว แล้วมันจะออกมาดี เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติของความสนุกบางอย่าง ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจวาดรูปปีหนึ่ง แล้วรูปจะออกมาสุดยอด บางทีตวัดพู่กันไปแค่ 15 วิ มันอาจจะสวยกว่าก็ได้ ผมมองว่าเราอาจต้องลองไปใช้ชีวิตด้านอื่นดู เพราะรู้สึกว่าหลังๆ มาเนี่ย เราเริ่มเอาสิ่งที่เรารักมาเป็นอาชีพมากไป ถ้าเราไปทำมันเป็นอาชีพจริงๆ เราต้องคาดหวังว่าเราจะต้องอยู่ได้ หรือต้องเป็นแนวนี้ๆ แต่คราวนี้เราเริ่มหลวมๆ กับมันมากขึ้น มันกลายเป็นว่าเราไม่ต้องมีกรอบว่าเพลงมันจะต้องอย่างนู้นอย่างนี้
ป๊อด: มันจะมีอยู่เพลงหนึ่งในชุดนี้ ที่ตอนแต่งเอาผ้าผูกหัวจริงๆ นั่งอยู่ที่บ้านตอนตี 5 ครึ่ง ตื่นมานั่งเขียน แต่มันไม่ใช่ไง (หัวเราะ) มันไม่ได้ อุตส่าห์เอาผ้าผูกหัว แต่ว่ามันไปเสร็จเอาบนเครื่องบินน่ะ นั่งอยู่ 10 ชั่วโมงก็เขียนไม่ได้ ไอ้เพลงผ้าผูกหัวเนี่ย แต่มันไปเสร็จเอาตอนจะไปอัด เราก็ต้องยอมรับว่า ผ้าผูกหัวช่วงฤดูนั้นอาจจะไม่ใช่ช่วงผลิบานก็เป็นได้
บางส่วนจากคอลัมน์ Interview นิตยสาร mars
เรื่อง : ฆนาธร ขาวสนิท
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์